ฉบับที่ 274 ชวนคิดเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

        นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2567 จะสูงกว่าของปีที่แล้วซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจดบันทึกมา  สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) แล้วลอยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ดังนั้นเมื่อเรายังคงปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ้าห่มก็จะหนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นตามกลไกที่ตรงไปตรงมาที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว         คราวนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะด้วย เนื่องจากเราอยู่ในเขตร้อนของโลก เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  แต่ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่มากขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นอัตราก้าวหน้า นั่นคือยิ่งใช้จำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าก็จะกระโดดขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันได บางคนพูดตลกว่า “เห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าแล้วจะหนาว”         เรื่องที่ผมขอชวนคิดในวันนี้เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน หากท่านใดพิจารณาแล้วเห็นว่าพอจะปฏิบัติได้ก็ลงมือทำเลยครับ ท่านที่ไม่สามารถทำได้ก็ขอเพียงรับรู้และบอกเล่ากันต่อไป         เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือนควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU  ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าคิดตามเวลาที่ใช้ (Time of Use)         กล่าวคือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 9 โมงเช้าของวันจันทร์ถึงวันศุกร์และตลอด 24 ชั่วโมงของวันเสาร์และอาทิตย์ (เราเรียกว่าเป็นช่วงนอกพีค Off Peak) อัตราค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกและเป็นอัตราคงที่ด้วย จะใช้มากหรือใช้น้อยก็มีอัตราเท่าเดิม (เฉพาะค่าไฟฟ้าอย่างเดียวหน่วยละ 2.6369 บาทต่อหน่วย) แต่ถ้าใช้นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว(ช่วงพีค) อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น (ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว 5.7982 บาทต่อหน่วย) ในขณะที่มิเตอร์แบบธรรมดาประเภทผู้อยู่อาศัย 1.2 อัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วยและเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตรายิ่งเพิ่มขึ้น        โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้งครับ         ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU ถ้าเราใช้ไฟฟ้าไม่มากพอ เราจะไม่ได้ประโยชน์ บางกรณีค่าไฟฟ้าจะมากกว่ามิเตอร์แบบเดิมเสียด้วยซ้ำ  สมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย หากใช้มิเตอร์แบบเดิม (ประเภท 1.2) จะเสียค่าไฟฟ้ารวมในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เดือนละ 4,941 บาท   เมื่อเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU  และมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในพีคและนอกพีค ดังตาราง         อนึ่ง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์ TOU ประเภทแรงดันต่ำ เท่ากับ 6,640 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ดังนั้นหากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 200:800 การเปลี่ยนมิเตอร์ก็จะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 7 เดือน  หากเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เป็น 300:700 ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะคุ้มทุน         เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้น ผมจึงลองสมมุติสถานการณ์ใหม่ คือ ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 800 หน่วย ถ้าใช้มิเตอร์เดิมจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,910 บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น TOU แล้วมีสัดส่วนการใช้เป็น 200:600 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็น 3,300 บาท ลดลง 610 บาท นั่นคือ ระยะเวลาคุ้มทุนจะเป็น 11 เดือน         ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย มิเตอร์เดิมจะจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 2,878 บาท แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ TOU โดยมีสัดส่วน 200:400 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเท่ากับ 2,651 บาท ลดลง 227 บาท ดังนั้นต้องใช้เวลานาน 29 เดือน จึงจะคุ้มทุน ข้อควรระวังและคำแนะนำ          (1)        ต้องมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามเวลาที่กำหนด เช่น ซักผ้า (ด้วยเครื่อง) ก่อน 8 โมงเช้า เปิดแอร์นอนหลัง 4 ทุ่ม และรีดผ้าวันเสาร์ เป็นต้น ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านหรือในบ้าน         (2)        จากผลการคำนวณดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยเดือนละ 600 หน่วย ต้องใช้เวลา 29 เดือนจึงจะคุ้มทัน แต่ถ้าใช้ตั้งแต่เดือนละ 800 หน่วยขึ้นไปยิ่งมีความน่าสนใจ ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้น        (3)        ผู้บริโภคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ครับ รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 20 หน่วย สามารถแล่นได้ 100 กิโลเมตร ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่หลัง 4 ทุ่ม ก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้นอกพีคเพิ่มขึ้น ความคุ้มทุนก็จะยิ่งเร็วขึ้น ใช้ไฟฟ้าอัตรา 2.64 บาทต่อหน่วย แล่นได้ 5 กิโลเมตร เฉลี่ยรถยนต์คันนี้ใช้เชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ถูกกว่าการใช้น้ำมันหลายเท่าตัว         ถ้าไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร          อ้อ ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการคิดบนฐานของการประหยัดค่าไฟฟ้าเท่านั้น อันเนื่องมาจากกติกาของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ตอนต่อไปผมจะชวนคิดเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลก โปรดติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 กระแสต่างแดน

คิดก่อนทิ้ง                 ผู้สื่อข่าวรายการ Capital ทางช่อง M6 ของโทรทัศน์ฝรั่งเศส ปลอมตัวไปทำงานอยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่งของอเมซอนที่เมืองซารอง แล้วแอบถ่ายคลิปพนักงานขณะกำลังโยนเครื่องทำกาแฟ ชุดของเล่นเลโก้ และผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อดัง ลงถัง            ภาพถ่ายจากโดรนที่ติดตาม “ขยะ” หลายพันชิ้นเหล่านี้ไป แสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกส่งเข้าเตาเผาหรือไม่ก็ถูกฝังกลบ            บริษัทอ้างว่านี่เป็นสิ่งที่ทำได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ค้าปลีกที่นำสินค้ามาวางขายบนเว็บอเมซอน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งกลับ นำไปบริจาค หรือรีไซเคิล            แน่นอนต้องมีเสียงก่นด่าจากนักสิ่งแวดล้อม แต่เสียงที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐบาลฝรั่งเศสที่เตรียมออกกฎหมายห้ามการทิ้งสินค้าสภาพดี เพื่อกดดันให้ธุรกิจร้านค้าออนไลน์แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น            อเมซอน ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์ ตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อถูกเปิดโปงว่านำสินค้าค้างสต็อก ซึ่งไม่ได้ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด ไปทิ้งเสียดื้อๆใครต้องจ่าย?                สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์เพิ่งจะสร้างสนามกีฬายิ่งใหญ่อลังการมูลค่า 850 ล้านปอนด์ (เกือบ35,500 ล้านบาท) ไว้เอาใจมิตรรักแฟนบอล                เนื่องจากสนามนี้ตั้งอยู่ในย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม สโมสรจึงเรียกร้องให้เทศบาลท้องถิ่นจัดการกับข้าวของที่กองเกะกะริมทาง รวมถึงดูแลเรื่องความสะอาด นอกจากนี้ยังขอให้ซ่อมแซมถนนที่แฟนบอลจะใช้เดินทางมายังสนาม (ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 500,000 ปอนด์) ด้วย                ชาวบ้านแถบนั้นบอกว่าเมื่อจบการแข่งขัน ก็เป็นหน้าที่ของสโมสรที่จะต้องเก็บกวาดอยู่แล้ว ทำไมจะต้องใช้งบของเทศบาลด้วย  เงินแค่ 8,000 ปอนด์ (330,000 บาท) ต่อครั้ง ไม่น่าจะระคายเคืองสโมสรที่มีกำไรถึงปีละ 58 ล้านปอนด์ ( 2,300 ล้านบาท)                และสิบปีที่ผ่านมาเทศบาลนี้ก็ถูกตัดงบมาตลอด ชาวบ้านตัดพ้อ... ทำไมสโมสรที่รวยเป็นอันดับ 11 ของอังกฤษถึงไม่ยอมรับรู้ปัญหาพวกเราบ้าง “ทำไมสเปอร์ไม่เซนซิทิฟ?”เห็นแล้วไม่กล้า                อีกไม่นานเราอาจได้เห็นมิเตอร์แสดงปริมาณการใช้พลังงานในห้องพักตามโรงแรมทั่วไป เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่จะทำให้คนเราประหยัดได้ คือการได้เห็นว่ากำลัง “บริโภค” ไปมากแค่ไหนนั่นเอง                จากการติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ไว้ในห้องพักของโรงแรมหกแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ และบันทึกผลการใช้พลังงานจากการอาบน้ำทั้งหมด 20,000 ครั้ง ผู้วิจัยพบว่าแขกที่พักในห้องที่มีสมาร์ตมิเตอร์นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าแขกที่เข้าพักในห้องทั่วไปถึงร้อยละ 11.4                ทีมวิจัยซึ่งเผยแพร่งานนี้ในนิตยสาร Nature Energy ตั้งข้อสังเกตว่า คนเราใช้พลังงานอย่างประหยัดได้แม้จะไม่มีแรงจูงใจเรื่องเงิน และการรณรงค์ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้ผลเพราะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเงินก็เป็นได้                ทั้งนี้เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์มาหักลบกับค่าน้ำที่ประหยัดได้ ก็จะพบจุดคุ้มทุนภายในสองปีแจ้งก่อนหัก                เมื่อเราต้องการ “ทดลองใช้” บริการข้อมูลหรือแอปพลิเคชันใดๆ สิ่งที่ต้องทำคือการให้หมายเลขบัตรเครดิตกับผู้ประกอบการไว้ล่วงหน้า                ปัญหาคือหลังจากใช้ฟรีไปเพลินๆ สถานภาพเราอาจเปลี่ยนเป็น “ผู้ใช้แบบจ่ายเงิน” ที่ถูกหักเงินจากบัตรไปโดยไม่รู้ตัว หากเราไม่ต้องการใช้ต่อ ก็ต้องวุ่นวายติดต่อธนาคารเพื่อยกเลิกเองอีก                ถือเป็นข่าวดีที่บริษัทบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดลุกขึ้นมาประกาศกฎเหล็กว่าต่อไปนี้ผู้ประกอบการที่รับ บัตรเครดิตของเขาจะต้องส่งอีเมลหรือข้อความสั้นแจ้งลูกค้าก่อนจะทำการหักเงิน                โดยจะต้องแจ้งราคา  วันชำระเงิน ชื่อผู้ประกอบการ รวมถึงเว็บไซต์และเบอร์โทรศัพท์ ที่ขาดไม่ได้คือต้องแจ้งช่องทางและวิธีการยกเลิกบริการให้ชัดเจนด้วย                โชคดีเป็นของเรา เมื่อการทดลองใช้ฟรีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปสแกนกู้โลก                  วันนี้เราสามารถตรวจสอบที่มาของอาหารที่เราเลือกบริโภคได้แล้ว ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน                กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมมือกับบริษัท BGC Digital Ventures จากออสเตรเลียจัดทำเว็บไซต์ OpenSC เพื่อให้ผู้บริโภค ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารต่างๆ ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของอาหาร เช่น ปลานี้จับได้จากที่ไหน  พื้นที่นั้นจัดอยู่ในเขตการทำประมงอย่างยั่งยืนไหม สภาพการผลิตเป็นไปตามเกณฑ์ด้านแรงงานและการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมหรือไม่                สมาร์ตโฟนที่เราถือกันอยู่สามารถตอบข้อสงสัยเหล่านี้ได้ เพียงเราสแกนคิวอาร์โค้ดบนตัวสินค้า หรือเมนูในร้านอาหาร ข้อมูลต่างๆ ก็จะปรากฏ                นอกจากจะดีต่อผู้บริโภคแล้วยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดีและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องในการผลิตอาหารของเราด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ

 เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...”อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติการไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว“ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...!ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้งกรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันทีนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เรื่องเพี้ยน ๆ ของค่าไฟฟ้า

ผู้บริโภคเป็นงง ระหว่างหม้อมิเตอร์กับการไฟฟ้า...ไม่รู้ใครเพี้ยนแน่ร้องมิเตอร์ไฟฟ้าเพี้ยน คิดค่าไฟสูงผิดปกติ แจ้งให้มาตรวจสอบ การไฟฟ้าบอกเพี้ยนจริงหม้อคิดค่าไฟฟ้าต่ำไป 3% ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่ยอมคิดค่าไฟใหม่เปลี่ยนบิลและลดค่าไฟฟ้าให้ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบ้านของคุณเพียรเงิน อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 500-600 กว่าหน่วย คิดเป็นเงินตกราวสองพันบาทต้นๆ“ที่บ้านก็มีคุณพ่อวัยแปดสิบ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่หรอกค่ะ กับเด็กอีกหนึ่งคน เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็มีแอร์สองตัว ตู้เย็นสองตัว หม้อข้าว พัดลม ทีวี ก็ใช้ไฟตามปกติ ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเย็นๆ ค่าไฟก็อยู่ราวๆ เดือนละสองพันบาทต้นๆ ไม่เคยขึ้นไปถึงสามพัน”“พอมาในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 53 ตกใจมากค่ะ ใบแจ้งค่าไฟปาเข้าไปตั้งแปดพันบาท บอกว่าบ้านเราใช้ไฟไปถึง 1,982 หน่วย ไม่อยากจะเชื่อค่ะ เพราะเคยใช้กันแค่ 500-600 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ก็เลยรีบไปแจ้งเรื่องไปที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน”การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแจ้งผลกลับมาว่า ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานมาติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เครื่องวัดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านคุณเพียรเงินแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนเครื่องวัดให้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้านครหลวงจะคิดค่าไฟฟ้าเพิ่มเดือนละ 3.03% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ เจอคำตอบของการไฟฟ้ากลับมาเช่นนี้ คุณเพียรเงินเลยเซ็งไปใหญ่ ร้องเรียนไปว่าค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ แต่มาตรวจสอบแล้วดันบอกว่าค่าไฟฟ้าต่ำเกินจริง เลยไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยให้การไฟฟ้าส่งคนมาเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ให้ใหม่ ส่วนค่าไฟก็ยังค้างจ่ายกันอยู่เพราะเคลียร์กันไม่ได้ เรื่องล่วงเลยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2554 มีบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมาโดยมีหน่วยการใช้อยู่ที่ 848 หน่วยเท่ากันทั้งสองเดือน ก็เลยสงสัยว่าทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้ายังสูงอยู่และเท่ากันทั้งสองเดือนแบบนี้ สอบถามพนักงานการไฟฟ้า ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การไฟฟ้าใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบประมาณการ เพราะมิเตอร์ที่ติดใหม่อยู่สูงเกินไปไม่สามารถปีนขึ้นไปดูตัวเลขได้คุณเพียรเงินไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่กระจ่างชัดดังกล่าว เลยโทรศัพท์มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือสอบถามไปที่ผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน              และพ่วงจดหมายเนื้อความเดียวกันส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2554ปลายเดือนกันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มาทำเรื่องขอตรวจสอบเครื่องวัดฯ ผิดปกติที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน และแผนกตั้งเทียบเครื่องวัดฯ การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ ได้ตั้งเทียบเครื่องวัดฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ผลจากการตรวจสอบเครื่องวัดฯ ตั้งเทียบ พบว่า เครื่องวัดฯ ชำรุด แสดงค่าคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องวัดฯใหม่และแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าให้ถูกต้อง จาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  โดยใช้หน่วยเฉลี่ยจากเครื่องวัดฯใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2554 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขอ่าน พบว่าสภาพเครื่องวัดฯใช้ไฟได้ปกติ จึงขอยืนยันว่า เลขอ่านและหน่วยการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว(ของเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2554) ถูกต้องแล้วผลของการแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าจาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  ทำให้เงินค่าไฟที่จะต้องจ่ายในเดือนธันวาคม 2553 จาก 8,080.30 บาท ลดลงเหลือ 3,109.98 บาท หรือลดลงไป 4,970.32 บาทปัญหาการถูกคิดค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนจากการใช้จริง โดยที่การไฟฟ้าใช้วิธีประมาณการเอาจากเดือนอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาพอากาศหรือฤดูกาลที่แตกต่างกันก็ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแตกต่างไปด้วยแม้จะเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดเดียวตัวเดียวกันก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง สมควรที่หน่วยงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะต้องนำไปพิจารณาสร้างระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 กระแสต่างแดน

ผู้อาวุโสไม่โอเค    จำนวนประชากรผู้สูงอายุในปักกิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รถเมล์ในตัวเมืองต่างก็แน่นขนัดไปด้วยประชากรสูงวัยทางการจีนระบุว่าร้อยละ 23 ของประชากรปักกิ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี และร้อยละ 80 ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในใจกลางเมือง รัฐจึงต้องเตรียมแผนรองรับเทรนด์นี้โดยด่วน เพราะนครหลวงแห่งนี้จะมีคนอายุ 60 ปีเพิ่มขึ้นวันละ 500 คน และมีคนอายุ 80 ปีเพิ่มขึ้นวันละ 120 คน ว่าแล้วก็เคาะออกมาเป็นแผนชักชวนคนกลุ่มนี้ให้ย้ายไปพำนักที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในเมืองเทียนจิน และเหอเป่ย ด้วยโปรโมชั่นทั้งลดทั้งแถม อีกทั้งการอำนวยความสะดวกสารพัด แต่แผนนี้ไม่เข้าตาผู้สูงอายุสักเท่าไร ใครจะอยากทิ้งปักกิ่งที่มีทั้งรถเมล์ฟรี สวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกายและพบปะเพื่อนฝูง แถมด้วยโรงพยาบาลดีๆ ไปอยู่ที่อื่นกันล่ะ ไม่ประกันก็คุ้มครอง    ชายสิงคโปร์คนหนึ่งซื้อรถเล็กซัส ไฮบริด GS 450 มือสองมาในราคา 138,000 เหรียญ(ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ซึ่งเป็นราคาที่ทางร้านลดให้จาก 139,800 เหรียญ เพราะเขาไม่ต้องการ “การขยายประกัน”สองเดือนต่อมาปัญหาเริ่มเกิด ผู้ซื้อติดต่อทางร้านเพื่อแจ้งความผิดปกติของแบตเตอรี่ไฮบริด จานดิสเบรกหน้าและยางทั้งสี่ล้อ แต่ทางร้านไม่รับผิดชอบโดยอ้างว่าเขาไม่ได้ซื้อประกัน เขาจึงนำรถไปซ่อมเองและเสียค่าใช้จ่ายไป 8,500 เหรียญ(2 แสนกว่าบาท) แต่ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ เขายังคงสามารถร้องเรียนได้แม้รถคันนี้จะเป็นสินค้ามือสองที่ไม่มีประกันเพิ่มศาลตัดสินให้ผู้ขายจ่ายค่าซ่อมแซมแบตเตอรี่ไฮบริดแก่ชายผู้นี้เป็นเงิน 4,500 เหรียญ เพราะผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวไม่มีความบกพร่องก่อนจะถึงมือผู้ซื้อ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนยางและจานเบรกไม่เข้าข่ายได้รับการชดเชยเพราะเป็นวัสดุสึกหรอที่ต้องมีการเปลี่ยนเป็นระยะอยู่แล้ว ได้เวลาตุ๊ก มิเตอร์    สามล้อพ่วงมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนพนมเปญต้องหลีกทางให้กับ “ตุ๊กๆ มิเตอร์” - ผู้เล่นหน้าใหม่สำหรับผู้โดยสารที่เพลียกับการต่อรองราคา รถตุ๊กๆ สีเหลืองภายใต้แบรนด์อีซี่โก จะเป็นทางเลือกใหม่ที่คิดค่าโดยสารตามระยะทาง(ไม่ใช่เวลา)  เริ่มต้นที่ 25 บาทสำหรับระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก และค่อยๆ เพิ่มขึ้น 3 บาท สำหรับทุกๆ 300 เมตรต่อจากนั้น เจ้าของกิจการอีซี่โกบอกว่าราคานี้สู้กับผู้ประกอบการรถประเภทอื่นได้สบาย เพราะรถของเขาใช้ก๊าซ LPG ที่ราคาถูกกว่าเบนซินหรือดีเซล คนขับยังสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นพนักงานขับรถของบริษัทกินเงินเดือน 7,000 – 10,000 ตามความขยัน หรือจะเช่ารถไปขับด้วยค่าเช่า 250 บาท/วัน ก็ได้วิน-วินกันทุกฝ่าย ยกเว้นสมาคมผู้ประกอบการรถตุ๊กๆ พ่วงแบบเดิมที่มีสมาชิกอยู่ 6,000 คันนั่นหละ  ร้องเพราะมีเรื่อง    ปีนี้ผู้คนในรัฐนิวเซาท์เวลส์มีเรื่องร้องเรียนมากเป็นประวัติการณ์ ก็อย่างว่านะ ผู้บริโภคเขามีช่องทางที่สะดวกในการร้องเรียน แถมยังมีความเชื่อมั่นว่าร้องเรียนแล้วจะได้ผลด้วย ปีงบประมาณ 2558 -2559 มีกรณีร้องเรียนถึง 51,221 กรณีปัญหาผู้บริโภคอันดับหนึ่งคือเรื่องที่อยู่อาศัย (4,548 กรณี) ตามด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (3,300 กรณี) รถมือสอง (2,773 กรณี) การรับเหมาสร้างบ้าน (2,536 กรณี) เฟอร์นิเจอร์ (2,339 กรณี) เป็นต้น อีก 5 เรื่องที่ติดอันดับท็อปเท็นคือ เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ รถยนต์ บริการท่องเที่ยว อู่ซ่อมรถ และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่จบแค่นั้น ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้แจ้งว่า ต่อไปนี้จะเปิดเผยข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผู้ประกอบการเจ้าไหนถูกร้องเรียนเกิน 9 ครั้งในรอบหนึ่งเดือนด้วย  ความผอม “เสมือน”    แพทย์ประจำคลินิกลดน้ำหนักแห่งหนึ่งในออสเตรเลียอยู่ในระหว่างถูกสวบสวน และถูกสั่งห้ามจ่าย “ยาลดน้ำหนัก” ที่ไม่มีผลในการทำให้น้ำหนักลดแต่อย่างใดคนไข้รายหนึ่งบอกว่าเธอจ่ายไป 2,500 เหรียญ(ประมาณ 66,000 บาท) เพื่อบริการที่อ้างว่าสามารถช่วยให้เธอลงน้ำหนักได้ 15 กิโลกรัมภายใน 10 สัปดาห์ แต่ทั้งๆ ที่กินยาโดยสม่ำเสมอและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด น้ำหนักเธอกลับหายไปเพียงแค่ 2 กิโลกรัม การตรวจสอบพบว่า ยาที่คลินิกนี้จ่ายไม่ได้มีสรรพคุณโดยตรงในการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนที่อ้างว่าสามารถกดความอยากอาหารหรือเพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย ยารักษาเบาหวานเมทฟอร์มิน หรือแม้แต่สารสกัดจากกาแฟและส้มแขกและยาพวกนี้ส่งถึงบ้านเธอก่อนที่เธอจะส่งผลการตรวจร่างกายให้กับทางคลินิกด้วยซ้ำ สรุปว่าผู้บริหาร “สถาบันลดน้ำหนัก” นี้ คงต้องเลิกกิจการอีกครั้ง หลังจากที่ปิดกิจการคลินิกรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปเมื่อห้าปีก่อนเพราะมีเรื่องร้องเรียนถึง 200 กรณี    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >