ฉบับที่ 195 ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนเลี่ยงการกินปลาคือ ปลานั้นต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาและน้ำเป็นแหล่งธรรมชาติที่มักมีสารพิษปนเปื้อน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความมักง่ายของคนในพื้นที่ที่ปลาถูกจับ จึงมีคำถามว่า แล้วอย่างนี้ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่การศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับผลของการกินปลาต่อการพัฒนาของระบบประสาทเด็กในท้องแม่นั้นมีมานาน เช่น การศึกษาในชุมชนบนเกาะซีเซลล์ (Seychelles) ซึ่งอยู่นอกฝั่งอัฟริกาด้านตะวันออกในมหาสมุทรอินเดีย(เมื่อปี 1998 และ 2003) และการศึกษาในชุมชนบนหมู่เกาะฟาโร (Faroe Islands) ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ในอาณัติของเดนมาร์ค (เมื่อปี 1997) แสดงให้เห็นว่า DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองส่วนสีเทา (grey matter) และผนังของลูกตาในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการท้องต่อเนื่องถึง 2 ปีแรกหลังคลอดของเด็ก และที่น่าสนใจเมื่อพบว่า แม่ที่กินปลาเป็นประจำระหว่างท้องได้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ผลการเรียนดี สายตาดี ความจำดี สามารถเรียนรู้และเข้าใจในการเรียนภาษาได้ดีตั้งแต่เด็ก ในทางระบาดวิทยาได้พบหลักฐานว่า การกินกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 จากปลาหรือน้ำมันปลานั้นลดความเสี่ยงต่อการตาย เนื่องจากโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary heart diseases) โดยมีข้อสรุปจากการศึกษาว่า การกินน้ำมันปลา 250-500 มิลลิกรัมของกรดไขมันชนิด EPA (Eicosapentaenoic) รวมกับ DHA ต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจร้อยละ 36 อย่างไรก็ดีการกินมากขึ้นกว่านี้กลับไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่ำลงไปอีก ซึ่งแสดงว่า ประโยชน์จากการกินน้ำมันปลาต่อการป้องกันโรคหัวใจนั้นไม่ได้แปรผันโดยตรง ดังนั้นผู้สนใจกินน้ำมันปลาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนด้วยเหตุที่การกินปลาเป็นเรื่องสำคัญของชาวโลกโดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ องค์การอาหารและเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งต่างก็สังกัดองค์การสหประชาชาติจึงได้ร่วมทำงาน(Joint Expert Consultation) อีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับ ความเสี่ยงและประโยชน์(Risks and Benefits) ของการกินปลา เมื่อวันที่ 25-29 มกราคม 2010 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประเด็นหลักของการประชุมคือ แม้ว่าปลาหลายชนิดอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปลาก็เป็นแหล่งของสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่เช่น เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ดังนั้นการชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่อประโยชน์จากการกินปลาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการถกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ 17 คน ถึงความเสี่ยงภัยและประโยชน์ที่ได้จากการกินปลานั้น เป็นการพูดคุยกันในกรอบความรู้ด้านโภชนาการ พิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง/ประโยชน์ในการกินปลา ซึ่งสุดท้ายได้มีรายงานการประชุมชื่อ Report of the Joint Fao/Who Expert Consultation On The Risks And Benefits Of Fish Consumption ออกมาให้เราได้อ่านงานหลักของผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้คือ การทบทวนข้อมูลของระดับสารอาหารและสารปนเปื้อนบางชนิดคือ เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ซึ่งปนเปื้อนในปลาหลากหลายสายพันธุ์ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในการพิจารณาประเมินถึงความเสี่ยงอันตรายจากสารพิษต่อประโยชน์ที่ได้จากน้ำมันปลามีการตั้งความหวังว่า ผลที่ได้จากการประชุมนั้น ควรถูกประเทศสมาชิกของสหประชาชาตินำไปใช้เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติงานเพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ในการกินปลาของประชาชน โดยในรายงานฉบับนี้กำหนดให้ “ปลา” หมายถึง ปลาที่มีครีบและสัตว์น้ำที่มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหรือน้ำจืด ทั้งที่เลี้ยงในฟาร์มและอยู่ในธรรมชาติหลังการประชุมเสร็จผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ควรมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อประโยชน์ที่ได้จากการกินปลาของแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ได้ออกมาจากการประชุมคือ ขอบข่ายงาน (Framework) ของการประเมินผลสุดท้ายที่ได้จากการกินอาหารปลา ทั้งด้านประโยชน์และโทษเพื่อเป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารระดับชาติของแต่ละประเทศและองค์กรที่กำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เช่น Codex Alimentarius Commission ใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในการบริโภคปลาสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปได้คือ การกินปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของแต่ละชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ เพราะปลาเป็นแหล่งของ โปรตีน พลังงาน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึง กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 และที่สำคัญคือ การกินปลานั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อให้การพัฒนาระบบประสาทของเด็กในครรภ์เป็นไปตามศักยภาพที่มีในแง่ของอันตรายจากสารปนเปื้อนนั้นพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเนื่องจากเม็ททิวเมอร์คิวรีนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเนื่องจากไดออกซิน(dioxin) นั้น แม้พบว่ามีอยู่แต่ก็ยังมีผลต่ำกว่าการรับได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินปลา นอกจากนี้ในการประชุมนั้น ได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 ต่อความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากเม็ททิลเมอร์คิวรีของลูกในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งพบว่า การกินปลาระหว่างการตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของการไม่พัฒนาของระบบประสาทของลูกแบบแอบแฝง (suboptimal neurodevelopment) ให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับลูกของสตรีที่ไม่กินปลาสำหรับระดับของการสัมผัสสารพิษไดออกซิน จากการกินปลาและอาหารอื่นของแม่โดยทั่วไปนั้น ยังไม่เกินระดับที่ยอมรับให้สัมผัสได้ในแต่ละเดือน (Provisional Tolerable Monthly Intake หรือ PTMI) ที่กำหนดโดย JECFA (เมื่อพิจารณาถึงสาร PCDDs, PCDFs และ PCBs) คือ 70 พิโคกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นการกินปลาจึงยังไม่น่าก่อให้เกิดความเสี่ยงในการพัฒนาด้านระบบประสาทของเด็กในครรภ์ อย่างไรก็ดีในกรณีที่มีการสัมผัสสารพิษไดออกซินของสตรีในบางประเทศเกินระดับที่กำหนดนั้น ความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถถูกตัดทิ้ง เมื่อมีการพิจารณาถึงกลุ่มทารก เด็กเล็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับการกินปลานั้น พบว่าข้อมูลในการประชุมดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างขอบข่ายการประเมินเกี่ยวกับปริมาณ(quantitative framework) สารพิษที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลา อย่างไรก็ดีรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งรวมถึงการกินปลานั้น ได้ถูกวางไว้ในวัยดังกล่าวแล้วเพื่อให้มีผลต่อเนื่องถึงชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อีกทั้งในปี 2007 นั้น The World Cancer Research Fund และ American Institute for Cancer Research ได้รายงานถึงผลของอาหาร โภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกายต่อการเกิดมะเร็ง โดยไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าการกินปลานั้นก่อความเสี่ยงอันตรายแต่อย่างไรสำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิกต้องหาทางลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อกลุ่มเป้าหมายตามกระบวนการที่แนะนำ ทั้งในเรื่องการประเมินและการจัดการความเสี่ยง/ประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลาตลอดจนถึงการสื่อสารส่งต่อข้อมูลสู่ประชากร มีการเน้นย้ำว่า เพื่อให้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์และแม่ให้นมลูกที่กินปลาเกิดขึ้นนั้น ประเทศสมาชิกต้องดำรงและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสารอาหารจำเพาะในปลาบางชนิดและโอกาสปนเปื้อนของสารพิษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน) ในปลาที่ประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิกกินและที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาและประเมินหลักการจัดการความเสี่ยงรวมถึงการสื่อสารข้อมูลในการลดความเสี่ยงอันตรายจากการกินปลาให้ต่ำสุดโดยได้รับประโยชน์จากการกินปลาสูงสุดสิ่งที่น่ากังวลจากการประชุมคือ มีบางประเทศที่เกิดความเสี่ยงในการยับยั้งการพัฒนาสมองของเด็กระหว่างที่อยู่ในท้อง เนื่องจากแม่กินปลาที่มีการปนเปื้อนเม็ททิลเมอร์คิวรี นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ผลกระทบด้านภูมิต้านทานและการสืบพันธุ์ก็ยังเป็นไปได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสมบูรณ์ในข้อมูลด้านอันตรายของไดออกซินที่ปนเปื้อนในปลาต่อสุขภาพเช่น ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ภูมิต้านทาน การพัฒนาระบบประสาทตลอดจนถึงมะเร็งนั้นยังไม่สมบูรณ์พอสุดท้ายนี้จึงมีคำถามซึ่งอยู่ในใจของผู้เขียนว่า สตรีมีครรภ์ในบ้านเราได้กินปลาที่ปลอดภัยจากสารพิษที่ปนเปื้อนในทะเลแล้วหรือไม่ เพราะปลาที่จับจากอ่าวไทยมันนั้นน่าจะมีสารพิษเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งสารพิษจากชุมชม โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการล่มของเรือบรรทุกน้ำมันและการรั่วไหลจากบ่อน้ำมันในทะเล อีกทั้งบนชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นก็กำลังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแถบทวารและมะริดของเพื่อนบ้านไล่ลงมาถึงความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ซึ่งยังไงๆ ก็ไม่มีทางสะอาด) แล้วสุขภาพทางสมองของเด็กไทยที่แม่ต้องกินปลาที่ปนเปื้อนจะเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >