ฉบับที่ 259 กินอย่างไรจึงอายุยืน

        นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการศึกษาด้านอาหารและโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมแคลอรีและโปรตีน ในอาหารว่า ความเหมาะสมของสารอาหารทั้งสองมีประโยชน์เกี่ยวกับช่วงอายุ (lifespan) ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในสัตว์ที่มีอายุไขสั้น เช่น หนอน Caenorhabditis elegans ไปถึงสัตว์ที่ใหญ่กว่าเช่น หนู กระต่าย ลิง ตลอดจนการศึกษาทางระบาดวิทยาและการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในคน         มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สัดส่วนในอาหารของโปรตีนที่ถูกควบคุมปริมาณให้ไม่มากแต่ต้องเพียงพอต่อความต้องการของการดำรงชีวิต หรือเป็นการบริโภคโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วในระดับแม้อาจสูงกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นอาจเพิ่มช่วงอายุและก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีโดยมีสมมุติฐานว่า เป็นการลดการบริโภคกรดอะมิโนบางชนิดซึ่งหมายถึง เมไทโอนีน (methionine) ทั้งนี้เพาะกรดอะมิโนเมไทโอนีนนั้นได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับกระบวนการที่เป็นวิถีทางของกระบวนการของการแก่ของเซลล์ต่างๆ ดังอธิบายไว้ในบทความเรื่อง Methionine Restriction Extends Lifespan in Progeroid Mice and Alters Lipid and Bile Acid Metabolism ในวารสาร Cell Reports ของปี 2018 โดยบทความนี้ได้ให้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในหนู mouse ว่า การจำกัดปริมาณกรดอะมิโนเมไทโอนีนลงระดับหนึ่งช่วยลดการถอดรหัสของดีเอ็นเอเพื่อสร้างโปรตีนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดการอักเสบและการตอบสนองเมื่อเกิดจากความเสียหายของ DNA และช่วยฟื้นฟูเซลล์เนื่องจากเกิดความผิดปกติของเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวกับไขมันและกรดน้ำดี สำหรับคำว่า progeroid ที่อยู่ในบทความที่กล่าวถึงนั้นเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายถึงกลุ่มอาการของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดน้อยมากในคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะทางคลินิกที่คล้ายคนแก่ทั้งที่ยังหนุ่มสาว เช่น ผมร่วง รูปร่างเตี้ย ความหนาแน่นและลักษณะของผิวหนังเป็นแบบคนแก่ มักเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน         ในประเด็นเกี่ยวกับการมีอายุยืนเพราะมีรูปแบบการกินอาหารเหมาะสมนั้น Wikipedia และเว็บไซต์ต่าง ๆ (ซึ่งมีเอกสารวิชาการอ้างอิงในแหล่งเหล่านั้น) กล่าวถึง ชาวโอกินาวา (Okinawa) ในญี่ปุ่น ชาวบาร์บาเกีย (Barbagia) ในอิตาลี และชาวโลมา ลินดา (Loma Linda) ในสหรัฐอเมริกา         ชาวโอกินาวา ซึ่งมักประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรมอื่นๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีอัตราการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงภาวะกระดูกพรุนที่ต่ำกว่าคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 90 ปีเท่ากัน สิ่งที่น่าสนใจคือ พบว่าการทํางานของสมองและร่างกายของคนญี่ปุ่นทั่วไปมักลดลงต่ำกว่า 50% ในขณะที่ชาวโอกินาวานั้น ยังมีสภาพร่างกายที่สามารถทํางานได้ราว 85 % ของเมื่อยังหนุ่มสาว โดยรูปแบบการกินของชาวโอกินาวา คือ        o  กินอาหารหลากหลายในแต่ละวันซึ่งตรงกับหลักการทางพิษวิทยาที่ว่า การได้รับสารเคมีทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์ในอาหารนั้น ถ้าไม่จำเจนักร่างกายควรกำจัดทิ้งได้จนไม่เกิดการสะสม        o  กินอาหารในแต่ละมื้อให้รู้สึกอิ่มเพียง 80% เท่านั้น หรือแค่ให้ไม่รู้สึกหิว (เพราะหลังจากนั้นร่างกายจะปรับกระบวนการทางสรีระวิทยาที่จะส่งข้อมูลไปสมองว่า อิ่มแล้ว) เพื่อเป็นการป้องกันการกินเกินจนเป็นโรคอ้วน        o  กินอาหารทํามาจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ มิโซะ ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว และถั่วหมักอื่น ๆ ซึ่งมีสารพฤกษเคมีช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และภาวะกระดูกพรุน        o  ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยในการนำของเสียหรือสารพิษที่ร่างกายปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วออกจากร่างกาย        o  กินอาหารเช้าเป็นอาหารหลักเพื่อให้ร่างกายปฏิบัติภาระกิจได้เต็มที่หลังจากอดอาหารในช่วงการนอนหลับทั้งคืน โดยลดปริมาณอาหารมื้ออื่นๆ ให้ต่ำลงในด้านพลังงาน        o  ปลูกผักกินเองและเผื่อแผ่เพื่อนบ้านเพื่อเลี่ยงสารเคมีตกค้าง        o  กินอาหารทะเลซึ่งอุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยกล่าวว่า โอเมก้า-3 อยู่ในกระบวนการที่ลดการสร้างพรอสตราแกรนดิน (prostraglandin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบ (inflammation) ของเนื้อเยื่อ         ชาวบาร์บาเกีย เป็นกลุ่มชนที่อาศัยในแคว้นซาร์ดิเนียของอิตาลีซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงถือว่ากิน อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (ซึ่งต่างจากอาหารอิตาเลียนแทบจะโดยสิ้นเชิง) ทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยที่สุดในโลก ซึ่งรูปแบบการกินของชาวบาร์บาเกีย คือ        o  กินอาหารมื้อเช้าเป็นหลัก โดยมีผักสด ผลไม้สด ธัญญาหาร ข้าวไม่ขัดสี เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่        o  ปรุงอาหารด้วยน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (ซึ่งมีโอกาสถูกเปลี่ยนให้เป็นอนุมูลอิสระน้อยมากต่างจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) ในน้ำมันถั่ว รำขาว และอื่น ๆ ซึ่งถึงมีประโยชน์สูงแต่ถ้ากินมากต้องกินร่วมกับพืชผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย) และมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล        o  กินอาหารที่มีถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ซึ่งมีวิตามินอีและวิตามินอื่น ๆ สูงเป็นประจำ        o  ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศในการปรุงอาหารกินเอง โดยหวังประโยชน์จากพฤกษเคมีในปริมาณที่เหมาะสม        o  ดื่มไวน์พร้อมอาหารมื้อเย็นไม่เกิน 2 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้ชาย และไม่เกิน 1 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้หญิง ซึ่งกล่าวกันว่าน่าจะส่งผลดีต่อร่างกายและลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ (อย่างไรก็ดีสำหรับพุทธมามกะแล้วการดื่มน้ำองุ่นหรือน้ำผลไม้/น้ำผักที่มีสีเข้มหน่อย ก็ได้ประโยชน์แทบไม่ต่างจากการดื่มไวน์เลย แถมยังดีกว่าที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเมาไร้สติ)        o  กินปลาและสัตว์ปีกโดยเลี่ยงการกินสัตว์ใหญ่ เลี่ยงการอาหารปรุงสำเร็จทางอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เค็ม        o  หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งจริงแล้วคือ องค์ประกอบปรกติในอาหารแต่อยู่ในปริมาณ megadose ที่เพิ่มภาวะงานในการกำจัดทิ้งของตับและไตโดยไม่จำเป็น ยกเว้นแต่ว่าได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการขายสินค้า        o  กินอาหารเมื่อหิวอย่างช้าๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด โดยใช้เวลาในการกินแต่ละมื้ออย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความสุขไม่ต้องเร่งรีบจนเกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น         ชาวโลมา ลินดา นั้นอาศัยในเมืองโลมา ลินดา ในเขตซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ชาวเมืองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Seventh-day Adventist Church ซึ่งมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ท่ามกลางมลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ดีกว่าคนทั่วไปในสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องอํานวยความสะดวก เครื่องมือสื่อสาร ใช้คอมพิวเตอร์เหมือนคนในเมืองใหญ่ทุกประการ มีเพียงรูปแบบการกินอาหารและแนวคิดในการดํารงชีวิตที่ดูแตกต่างคือ เป็นมังสวิรัติแบบกินไข่และนมและไปโบสถ์เป็นประจำ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทำให้มีอายุยืน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคมะเร็งและโรคเบาหวานน้อยกว่าคนทั่วไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรูปแบบการกินอาหารคือ        o  กินอาหารเช้าเป็นมื้ออาหารหลักและลดปริมาณของอาหารมื้ออื่น        o  กินเนื้อสัตว์เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 2 ครั้งโดยประมาณ (ซึ่งคล้ายคนอินเดียวรรณะพราหมณ์ที่ต้องการกรดอะมิโนบางชนิดที่พืชผักมีต่ำไปหน่อย) หรือไม่กินเลยถ้ามีความรู้ในการจัดการอาหารให้มีคุณค่าครบตามที่ร่างกายต้องการ        o  กินถั่วเปลือกแข็งวันละประมาณ 1 กํามือทุกวัน เพื่อเป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว ใยอาหาร วิตามินอี ฯลฯ ซึ่งช่วยทําให้อิ่มได้นานขึ้น        o  หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร (เลี่ยงหวาน มัน เค็ม)        o  ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหาเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ทดแทนได้ไม่ยาก        o  กินอาหารช้า ๆ ร่วมกับผู้อื่นเพื่อสร้างความสุขและสัมพันธภาพที่ดี        o  หยุดกินทันทีเมื่อรู้สึกอิ่ม ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ที่ไม่สนใจการกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์         โดยสรุปแล้วในกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนั้น แม้ว่าถิ่นฐานที่อยู่อาศัย รูปแบบการดํารงชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มาจากธรรมชาติคือ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไม่กินอาหารจนอิ่มมากเกินไปโดยเน้นอาหารเช้าเป็นมื้อหลัก และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ออกกําลังกายอย่างเป็นประจํา มีสุขภาพจิตที่ดีพอในการรับมือกับความเครียดได้ อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีสังคมเพื่อแบ่งปันความสุขให้แก่กันและกัน

อ่านเพิ่มเติม >