ฉบับที่ 260 จะรักษาทั้งที อย่าให้ยา”ตีกัน”

        คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปหาแพทย์ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษานั้น  ก็บอกแค่อาการป่วยและข้อมูลแพ้ยาอะไรก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องสำคัญมากอีกอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมและการกินยาหรืออาหารอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย ก็เพื่อว่า “ป้องกันยาตีกัน” นั่นเอง         ไม่ใช่แค่บอกว่าแพ้ยาอะไร ผู้ป่วยควรจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงนี้ตนใช้ยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรร่วมอยู่ด้วย เพราะยาบางตัวเมื่อนำไปใช้ร่วมกับยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมตัวอื่นๆ มักจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา บางครั้งอาจเกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปหรือบางครั้งก็ไปทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดต่ำลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นในภายหลัง  ปฏิกิริยาแบบนี้ ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ยาตีกัน”         ตัวอย่าง คนไข้ เอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้รับยาฆ่าเชื้อคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) จากแพทย์มารับประทาน  อีก 2 วันต่อมา คนไข้มีอาการปวดไมเกรน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คนไข้ไม่ได้แจ้งว่า ตนเองกำลังใช้ยาคลาริโทรมัยซินอยู่  โรงพยาบาลจึงจ่ายยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)  เพื่อรักษาไมเกรนมาให้  เมื่อคนไข้กลับบ้านจึงรับประทานยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน  ปรากฎว่ายาทั้ง 2 ตัว  “ตีกัน”  ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว  เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง  กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิต          กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในโลกนี้ยังมียาจำนวนมากที่สามารถเกิด “ยาตีกัน” กับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณและอาหารเสริมได้  การบอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รักษา “ทราบชื่อ” ยาหรือ อาหารเสริมที่คนไข้ใช้อยู่  นอกจากป้องกันยาตีกันได้แล้วยังป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  ยาซ้ำซ้อนกับยาเดิมที่มีอยู่อีกด้วย และยังช่วยให้ประเมินได้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่หรือไม่  ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวนอกจากจะรักษาโรคได้ ก็ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน   หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ที่รักษาก็จะเปลี่ยนยา ลดขนาดหรือปรับวิธีรับประทานยา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติม         ท่องจำย้ำเตือนให้ขึ้นใจเลยครับ เวลาไปโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากในช่วงนั้นผู้ป่วยมีการใช้ ยา ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมอยู่ด้วย ขอให้นำติดตัวไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ หากมีฉลากหรือเอกสารต่างๆ ก็ขอให้นำติดไปด้วยจะยิ่งดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >