ฉบับที่ 266 ผลสำรวจฉลากยาดมสมุนไพร

        ฉลาดซื้อฉบับที่แล้ว นำเสนอผลสำรจฉลากยาดมในรูปแบบหลอด น้ำ และขี้ผึ้งกันไปแล้ว ฉบับนี้เราจะมาดูฉลากยาดมสมุนไพรกัน ซึ่งจะแตกต่างจากยาดมทั่วไปตรงที่มีชิ้นส่วนสมุนไพรแห้งที่มีกลิ่นหอมเติมลงไปในส่วนประกอบด้วย เช่น กานพลู ดอกจันทน์ พริกไทยดำ กระวาน และผิวผลส้มมือ เป็นต้น         ในปัจจุบัน กระแสการแพทย์ทางเลือกที่บำบัดอาการป่วยด้วยสมุนไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ยาดมสมุนไพรได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากและมีต้นทุนที่ไม่สูง จึงมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยผลิตยาดมสมุนไพรออกมากันหลายสูตรหลายกลิ่น ทำให้บางครั้งผู้บริโภคมองจนตาลายก็ยังตัดสินใจเลือกไม่ได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก ยาดมสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้สูดดมแก้วิงเวียนและคัดจมูก ที่บรรจุทั้งในขวด/กระปุกแก้ว พลาสติกและโลหะ จำนวน 15 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากยาดมสมุนไพร 15 ตัวอย่าง แบ่งเป็นแบบบรรจุในกระปุกแก้วและพลาสติกอย่างละ 7 ตัวอย่าง และกระปุกโลหะ 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง (กระปุกพลาสติก) เป็นตัวอย่างเดียวที่มีข้อความที่ควรแสดงบนฉลากอยู่ครบ (ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต คำว่า “ยาสิ้นอายุ” และวัน/เดือน/ปี ที่ยาสิ้นอายุ  ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบ คำว่า “ยาแผนโบราณ” “ยาสามัญประจำบ้าน” และ “ยาใช้เฉพาะที่” )        ·     มี 9 ตัวอย่าง ระบุว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” โดยปรากฏสัญลักษณ์  คิดเป็น 60% ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 6 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาแผนโบราณ” ได้แก่ ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราวังว่าน  ตราราสยาน และตราโบว์แดง (ทั้งแบบกระปุกแก้ว กระปุกพลาสติก และสูตร 2)          ·     มี 4 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาสิ้นอายุ” พร้อมแสดงวัน/เดือน/ปีที่ยาสิ้นอายุ โดยระบุไว้ไม่เกิน 3 ปี ได้แก่    ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราโบว์แดง(กระปุกแก้วและพลาสติก) และยาดมชุติภา        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ แพงสุด คือ 32.50 บาท ส่วนยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (กระปุกพลาสติก) ถูกสุด คือ 0.70 บาทข้อสังเกต        ·     ตัวอย่างที่แสดงข้อความที่ควรมีบนฉลากไว้ไม่ครบ มีดังนี้            (1) ไม่มีชื่อทางการค้ากำกับไว้ ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ            (2) ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, ยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (3) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ ได้แก่ ยาดมชุติภา และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์            (4) ไม่ระบุเลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา ได้แก่  5 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา และยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง(กระปุกแก้ว)            (5) ไม่ระบุจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก            (6) ไม่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (7) ไม่ระบุคำว่า “ยาใช้ภายนอก” หรือ “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยอักษรสีแดงเห็นได้ชัด ได้แก่ ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่, ยาดมชุติภา, ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพร ไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยาดมชุติภา ระบุอายุยาอยู่ที่ 33 ปี (วันผลิต 25/8/2022 ยาสิ้นอายุ 25/8/2055) น่าจะเป็นการพิมพ์ผิด        ·     ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์ ไม่ระบุส่วนประกอบไว้        ·     มี 7 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบไว้        ·     มี 5 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมทีเอฟดี, ยาดมชุติภา, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยี่ห้อสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ มีหน่วยปริมาณเป็นซีซี ในขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ ระบุเป็นกรัม        ·     ส่วนใหญ่จะมีพิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ และน้ำมันยูคาลิปตัส เป็นส่วนประกอบเหมือนยาดมทั่วไป ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่นำมาใช้มากสุด 3 ลำดับแรก คือ กานพลู (กลิ่นหอมจัด น้ำมันหอมระเหยมาก ช่วยขับลม) ดอกจันทน์ (แก้ลม ขับลม) และผิวมะกรูด (มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลม วิงเวียน)        ·     3 ใน 5 ของตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา ใช้คำว่า ‘สมุนไพร’ นำหน้าชื่อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้อแนะ        ·     ยาดมสมุนไพรจัดเป็นยาแผนโบราณ หากผลิตเพื่อจำหน่ายต้องทำการขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาแผนโบราณให้ถูกต้อง แต่ไม่บังคบหากเป็นในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีส่วนประกอบและลักษณะการใช้สูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียน คัดจมูก คล้ายกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง หากเลือกได้ผู้บริโภคควรเลือกยาดมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดมที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องหรือมีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน หรืออย่างน้อยๆ ควรมีแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตหรือซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้          ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน        ·     ระวังการสัมผัสถูกกับบริเวณริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณผิวหนังอ่อน อาจทำให้ระคายเคืองได้ และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กด้วย        ·     การสูดดมนานๆ บ่อยๆ อาจทําให้เกิดอาการระคายเคืองจมูกและทางเดินหายใจได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์        ·     มีคำแนะนำจากผู้ผลิตบางรายว่า หากกลิ่นยาดมสมุนไพรเริ่มจางแล้ว ให้นำไปตากแดด จะทำให้กลิ่นสมุนไพรกลับมาหอมขึ้นได้ (ผู้บริโภคลองทำตามดูว่าได้ผลจริงหรือไม่)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ผลสำรวจฉลากยาดม ตอนที่ 1

        อากาศเมืองไทยตลอดปีมีทั้งร้อน ร้อนมาก ร้อนสุดๆ ทำให้หลายคนเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม จึงต้องมียาดมพกไว้ให้พร้อมเพื่อผ่อนคลายอาการซึ่งนี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดยาดมเติบโตมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านต่อปี โดยนอกจากสำรวจพบว่าคนไทย 10% ใช้ยาดม และใช้อย่างน้อยเดือนละ 2 หลอดแล้ว (ข้อมูล : Nielsen ประเทศไทย) ปัจจุบันยาดมของไทยยังเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องหิ้วกลับไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย เพราะยาดมในรูปแบบต่างๆ นั้น หาซื้อได้ง่ายในราคาไม่แพง         ส่วนประกอบหลักๆ ในยาดม คือเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเย็นซ่าในโพรงจมูก สดชื่น ตื่นตัวได้ แต่การสูดดมสารเหล่านี้บ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกที่สัมผัสกับกลิ่นที่เข้มข้นเป็นประจำเกิดการระคายเคืองได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้ดมหรือทาแก้วิงเวียนและคัดจมูก ทั้งแบบหลอด แบบน้ำ และแบบขี้ผึ้ง จำนวน 22 ตัวอย่าง 16 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลการสำรวจฉลาก        จากยาดม 22 ตัวอย่าง แบ่งเป็น รูปแบบหลอด 8 ตัวอย่าง แบบน้ำ 13 ตัวอย่าง และแบบขี้ผึ้ง 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ทุกตัวอย่าง ระบุ ‘ชื่อยา’ ‘เลขทะเบียนตำรับยา’ ‘เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา’ ‘วัน เดือน ปี ที่ผลิต-หมดอายุ’ และ ‘คำเตือน เช่น  ยาใช้ภายนอก  ยาใช้เฉพาะที่ ห้ามรับประทาน หรือ For external use only’ ไว้บนฉลาก         ·     มี 16 ตัวอย่าง ระบุเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ โดยปรากฏสัญลักษณ์ คิดเป็น 72.73 %  ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 18 ตัวอย่าง แสดง ‘คำระบุบนฉลาก’ ว่าเป็น ยาแผนโบราณ หรือ ยาแผนไทย        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 หน่วย (ซีซี / มิลลิลิตร / กรัม)            - จากตัวอย่างยาดมทั้งหมด พบว่า ยาดมพิมเสนน้ำ ตราหงส์ไทย(ขวดแก้ว) แพงสุด คือ 16.88 บาท / ซีซี  ส่วนยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม  ถูกสุด คือ 2.86 บาท / กรัม            - จากตัวอย่างยาดมแบบหลอด พบว่า ยาดมตราพาสเทล แพงสุด คือ 16.67 บาท / มิลลิลิตร  ส่วน ยาดมพีเป๊กซ์  ถูกสุด คือ 8 บาท / ซีซี / หลอด            - จากตัวอย่างยาดมแบบน้ำ พบว่า พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ถูกสุด คือ 4 บาท /ซีซี ข้อสังเกต        ·     มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมพีเป๊กซ์ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ พิมเสนน้ำและยาหม่องน้ำ ตราขาวละออ        ·     ยาดมพีเป๊กซ์ มีเมทิล ซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ปริมาณ 0.05% ในส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติแก้ปวดเมื่อย            ·     ยาหม่องน้ำเซียงเพียวอิ๊ว สูตร 1 มีอายุยาอยู่ที่ 5 ปี (ผลิต 21/7/22 หมดอายุ 21/7/27) ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ มีอายุยาอยู่ที่ 2 - 3 ปี          ·     ยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม และยาดมตราพาสเทล แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ไว้บนฉลาก โดยไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้าน        ·     เมื่อดูตามเกณฑ์ข้อความที่ต้องแสดงบนฉลากในกลุ่มที่เป็น’ยาสามัญประจำบ้าน’ พบว่า            - ยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (หลอด) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ            - ยาดมสมุนไพร ตราอภัยภูเบศร และยาหม่องน้ำขาวละออ ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบ            - มีเพียง 2 ตัวอย่าง ที่แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ได้แก่ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ และยาดมท่านเจ้าคุณ            - พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ไม่ระบุชื่อผู้ผลิตและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ฉลาดซื้อแนะ        ·     หลายคนเลือกซื้อยาดมเพราะติดกลิ่นและใช้แล้วเห็นผลดั่งใจ แต่ก็อย่าลืมเลือกที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องด้วย หรือเลือกที่มีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง        ·     เภสัชกรแนะนำว่า ยาหม่องน้ำซึ่งมีข้อบ่งใช้คือทาแก้อาการปวดเมื่อย ที่มีเมทิล ซาลิไซเลต เป็นตัวยาหลักนั้น ไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ        ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ติดเชื้อในโพรงจมูก ไซนัสอักเสบ เยื่อบุโพรงจมูกเสียหาย และการระคายเคืองที่อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นหลีกเลี่ยงพฤติกรรมติดยาดม คือหยิบมาสูดดมหรือทาเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการวิงเวียนหรือคัดจมูกใดๆ เพราะอาจเสี่ยงได้รับสารต่างๆ ในยาดมเกินความจำเป็น  และทำให้เสียบุคลิกอีกด้วยข้อมูลอ้างอิง  mahidol.ac.th บทความ ยาดมมีอันตรายหรือไม่BrandAge Onlinehttps://wizsastra.com/2017/10/15/householddrugs/

อ่านเพิ่มเติม >