ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 มหกรรมยารักษาโควิด?

        ท่ามกลางสงครามการระบาดของโควิด 19 ที่คงจะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง มหกรรมยารักษาโควิดก็กระหน่ำสะพัดกระจายไปทั่วในสังคม จนหลายฝ่ายต้องออกมาช่วยกันเตือนและขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าว เตรียมตุนยาฟาวิพิราเวียร์ไว้กินป้องกันตัว?        ด้วยเหตุที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยายาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด 19 มาบ้าง ทำให้มีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสนี้ หลอกขายยาให้แก่ประชาชนตามอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด และเป็นยาดีที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน         อันที่จริงแล้วการกินยาฟาวิพิราเวียร์ล่วงหน้าไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่แพทย์ต้องพิจารณาจ่ายตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละราย และต้องสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง  และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การนำยาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด           การลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขาย หรือเจตนานำยาอื่นมาปลอม เพื่อให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และหลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอม สามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน?         มีการส่งต่อข่าวเรื่อง ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน คือ ยาพาราเซตามอล แอมบรอกซอล เดกซ์โทรเมทอร์แฟน คลอเฟนิรามีน วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร  ซึ่งต่อมาทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ  ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน)  จะต้องได้รับการประเมินอาการรายบุคคล และได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสมตามความจำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในระหว่างกักตัวที่บ้าน  การนำยามาเตรียมไว้รับประทานเองโดยไม่ตรงตามอาการ อาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของยา จนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเองได้ยาชุดรักษาโควิด?         นอกจากนี้ยังมีการหลอกขายชุดยาต้านโควิด โดยมีการแอบขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตในราคาชุดละประมาณ 4,000 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อและโอนเงินไปปรากฎว่าได้รับวิตามินซี และยารักษาเริมมาแทน เสียทั้งเงินและอาจเสียสุขภาพด้วยในสถานการณ์นี้ สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับความปลอดภัย ไม่มีความทุกข์จากผลิตภัณฑ์ที่ และไม่ถูกหลอกลวงซ้ำเติมจนเสียเงินเสียทอง ขอให้ผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบในการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (1)

        การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน         ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้         นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19         ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน         จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด         ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19         ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >