ฉบับที่ 225 ถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจ ขายยาลดความอ้วน

        กรณีนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคีของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางศูนย์ฯ อยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริม         คุณเอกภพ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อไม่สบายคุณเอกภพจะใช้บริการของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เขาเข้าใช้บริการอยู่บ่อยจนคุ้นเคยกับบุคลากรในคลินิก วันหนึ่งแพทย์ที่คลินิกได้ชักชวนคุณเอกภพให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่ง โดยแพทย์คนดังกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของธุรกิจ ทั้งยังโน้มน้าวให้คุณเอกภพเชิญชวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย         หลังจากนั้นไม่นานคุณเอกภพก็ถูกเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ตัวแทนขาย ทำให้รู้จักตัวแทนคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คุณเอกภพเองสนใจในผลิตภัณฑ์ฯ ว่าจะดีจริงอย่างที่มีการส่งเสริมการขายหรือไม่ จึงได้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ปรากฎว่า เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ใจสั่น ปากและคอแห้ง จึงตกใจและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ทันที พร้อมรีบสอบถามเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไลน์ ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่เกิดอาการแบบเดียวกันมากกว่า 20 คน คุณเอกภพจึงอนุมานว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงตัดสินใจชวนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ เข้าร้องเรียนกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งเรื่องร้องเรียนของคุณเอกภพและเพื่อนๆ ต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักนั้น มีส่วนผสมของตัวยาลดน้ำหนักที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อาหารเสริม แต่คล้ายกับว่าคุณเอกภพและตัวแทนขายคนอื่นๆ ถูกหลอกให้ใช้และขายยาลดน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งทาง สสจ.อยุธยาจะได้ดำเนินการทางคดีกับนายแพทย์ท่านนั้นต่อไป         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค         เมื่อมีผู้มาชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบ เลข อย. ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถตรวจจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่         กรณีที่พบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีเลข อย.ที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อรับประทานแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียง ก็ควรรีบแจ้งให้ทางหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที         ทั้งนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลข อย. และกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักได้ นั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >