ฉบับที่ 257 ยาสัตว์แอบขายออนไลน์ สัตว์เลยได้ใช้อย่างเสี่ยงๆ

        ยาสำหรับสัตว์ก็เหมือนกับยาสำหรับคน เพราะก่อนจะอนุญาตให้นำมาใช้ได้ผู้ผลิตจะต้องมาขอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องจัดทำฉลากให้มีข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับยาสำหรับคน เช่น เลขทะเบียนยา ชื่อตัวยาสำคัญ วันผลิต วันหมดอายุ  ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต แต่จากการลงไปสำรวจในพื้นที่กลับพบยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พูดง่ายๆ ก็ยาปลอม วางจำหน่ายตามร้านค้าหรือชายในออนไลน์มากมายหลายชนิด  เช่น         ยาที่ใช้ในการเลี้ยงปลา (พบยาปฏิชีวนะ  Amoxycillin ชนิดผง Chlormycin ชนิดผง)         ยารักษาไก่ ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณหลายชนิด เช่น ยาฆ่าพยาธิ  หวัดหน้าบวม คอดัง ขี้ขาว ขี้เขียว  ท้องเสีย อหิวาต์  คลายกล้ามเนื้อ ข้อบวม กระตุ้นกำลังไก่ชน ขับเสมหะ  รักษาหวัด หลอดลมอักเสบ ขี้ขาว ช้ำใน ถ่ายเป็นน้ำ ไข้ เหงาซึม  ยาฉีดแก้หวัด ยาฉีดแก้ไข้ ยารักษาหวัดคอดัง ในไก่  ยาหยอดตาไก่           ยาฉีดฆ่าพยาธิ กำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข (พบยาฆ่าพยาธิ Ivermectin 150 mg/10 ml ซึ่งหลายยี่ห้อที่ไม่มีทะเบียนยา)         ยาสูตรผสมในซองเดียว ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและวิตามิน (Amoxycillin + Indomethacin + Vitamin B12) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด นก หมู วัว         ตามกฎหมายยานั้นกำหนดว่าร้านขายยาสัตว์จะต้องมีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรอยู่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา (เหมือนร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำการใช้ยา)  แต่ปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาสัตว์อย่างผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่มากมาย ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สั่งยาจากช่องทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ส่งผลทำให้สัตว์ได้รับยาที่ไม่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาและยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาปลอมจนเสียชีวิตได้ หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องไม่ครบขนาดการรักษา ใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจส่งผลจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้         จริงหรือปลอม : สองข้อง่ายๆ ในการตรวจสอบยาสำหรับสัตว์         1. ตรวจสอบเลขทะเบียนยาบนฉลาก  เลขทะเบียนยาสำหรับสัตว์ จะระบุเป็นตัวอักษร D หรือ E หรือ F (D เป็นยาสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ , E เป็นยาสัตว์ที่แบ่งบรรจุ , F เป็นยาสัตว์ที่นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ) ตัวอย่างเช่น 1D 10/30   คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ ได้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาเป็นลำดับที่ 10 ในปีพ.ศ.2530           2. ตรวจสอบฉลากยา นอกจากชื่อยาทางการค้าแล้ว จะต้องมีชื่อสามัญทางยา ระบุชื่อและปริมาณของยาที่เป็นส่วนประกอบ มีเลขแสดงครั้งที่ผลิต (หรือ Lot. Number) มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ (Exp)  มีข้อความระบุประเภทของยา (ยาอันตราย  ยาควบคุมพิเศษ ยาแผนโบราณ) รวมทั้งระบุด้วยว่าเป็นยาสำหรับสัตว์         ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของยาและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ควรเลือกซื้อยาสำหรับสัตว์จากร้านขายยาที่มีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อส่งมอบยาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >