ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ปุ๊นหนักหัวใจวายได้นะ

        ปุ๊นนั้นเป็นคำที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวในการหาเสียงสมัยเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผู้เขียนตีความทั้งจากฟังการหาเสียงและเคยอ่านพบในหลายบทความเกี่ยวกับกัญชาว่า “ปุ๊น” น่าจะหมายถึงการสูบกัญชา (กริยา) ก็ได้หรือหมายถึงตัวกัญชา (นาม) ก็ได้ ในประเด็นหลังนี้เว็บ https://siamrath.co.th เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 มีบทความหนึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า วัยรุ่นโบราณมักเรียกกัญชาว่า "เนื้อ" หรือ "ปุ๊น" หรือ "ใบหญ้าร่าเริง" และวัยรุ่นสมัยต่อมาบางกลุ่มเรียกกัญชาว่า "ชาเขียว" หรือ "หนม" เหตุที่เรียกกัญชาเพราะว่า"เนื้อ" เพราะกลิ่นกัญชาจากการสูบที่ลอยมาหอมคล้ายเนื้อวัวย่าง (ประเด็นนี้น่าจะขึ้นกับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า) บทความนั้นกล่าวต่อประมาณว่า สายเขียวมักไม่สูบกัญชาเพียว ๆ เลยเพราะแรงเกินไป ต้องเอากัญชามายำก่อนกับเครื่องยำหลากหลาย เช่น ยาเส้นในบุหรี่ โดยใช้นิ้วคลึงผสมในสัดส่วนที่พึงใจแล้วบีบอัดให้แน่น ก่อนใช้มีดซอยให้ละเอียด อาจพลิกแพลงเอาเหล้าพรมหรือใส่สารเสพติดอื่นๆ เข้าไป แล้วพันลำลงบ้องไม้ไผ่เพื่อสูบ ซึ่งหลังเสพในระยะแรกจะล่องลอย ร่าเริง หัวเราะง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของ Tetrahydrocannabinol (THC) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ลิ้นเริ่มพันกัน พูดไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม         เป็นที่ตระหนักกันดีว่าไม่มีอะไรในโลกที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับเหรียญย่อมมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพร่ำพรรณาถึงความดีของกัญชาในทางการแพทย์บางประการ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพย่อมมีออกมาบ้างเช่น มีงานวิจัยใหม่ที่แสดงถึงปัญหาของยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชาต่อโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในการศึกษาเชิงสังเกตตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง Cannabis, cocaine, methamphetamine, and opiates increase the risk of incident atrial fibrillation (กัญชา โคเคน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว) ในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งได้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) โคเคน ฝิ่น และกัญชา แล้วพบความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยงสำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)  ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะที่เกิดทันทีหรือไม่เกิดทันที อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ให้หลักฐานที่แสดงว่า การใช้สารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในแบบที่มักจะเป็นไปตลอดชีวิต         ข้อมูลทางการแพทย์ในบทความต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอธิบายประมาณว่า อาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นคือ ภาวะที่มีการกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องบนแบบผิดปรกติซึ่งมีการกระตุ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนไม่เป็นตามระบบที่ควรเป็น ตามมาด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วแบบไม่สม่ำเสมอ มีแรงบีบต่ำกว่าปรกติ ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกได้ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้การที่เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดแล้วหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักเกิดถึงร้อยละ 5-15 ของกลุ่มคนอายุ 80-90 ปี แต่การศึกษาใหม่ที่นำมาเล่าในบทความนี้พบว่า คนที่ใช้ยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการดังกล่าว         งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์เป็นบทความในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งนักวิจัยใช้แบบสอบถามหาข้อมูลจากชาวแคลิฟอร์เนียอายุเกิน 18 ปี จำนวน 23,561,884 คน ที่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือใช้บริการการผ่าตัดผู้ป่วยนอก หรือเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงธันวาคม 2015 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 98,271 คนเสพเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 48,701 รายเสพโคเคน, 10,032 รายเสพฝิ่น และ 132,834 รายเสพกัญชา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาการศึกษา 10 ปี ผู้ให้ข้อมูลที่เคยใช้ยาเสพติด 998,747 คน (4.2%) ซึ่งไม่เคยมีอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาก่อน ได้เริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากการติดตามนาน 10 ปี         สำหรับผลสรุปของการศึกษานั้นนักวิจัยพบว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 86% ถ้ามีมีการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 74% ถ้ามีการใช้ฝิ่น, 61% ถ้ามีการใช้โคเคน และ 35% ถ้ามีการใช้กัญชาซึ่งผู้ทำวิจัยได้กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชา (นอกเหนือไปจากยาเสพติดอื่น) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว         ในบทความดังกล่าวนั้นผู้ทำวิจัยได้พยายามอธิบายถึงกลไกที่สารเสพติดทั้งหลายมีอิทธิพลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วว่า เกิดเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับหนึ่งต่อการทำงานของหัวใจในลักษณะการปรับตัวทางไฟฟ้า (electrical remodeling) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของช่องทางเข้าออกของไอออนเฉพาะที่เซลล์ประสาท ดังที่เคยมีการศึกษาเรื่อง Cannabinoid interactions with ion channels and receptors (ปฏิสัมพันธ์ของแคนนาบินอยด์ต่อช่องไอออนและตัวรับ) ในวารสาร Channels ของปี 2019 ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า สารสำคัญดังกล่าวในกัญชาน่าจะมีผลต่อการปรับตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fluidity) ซึ่งส่งผลถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท         นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งใช้สัตว์ทดลองในบทความเรื่อง Cannabidiol Impairs Brain Mitochondrial Metabolism and Neuronal Integrity (แคนนาบิไดออลบั่นทอนเมตาบอลิซึมของไมโทคอนเดรียในสมองและความสมบูรณ์ของเส้นประสาท) ในวารสาร Cannabis and Cannabinoid Research ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า สาร CBD (ซึ่งมีในกัญชาเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลในการออกฤทธิ์ของสาร THC) ในระดับความเข้มข้นต่ำเป็นไมโครโมลาร์นั้นมีผลต่อการลดระดับการสร้างพลังงาน (mitochondrial respiration) ของไมโทคอนเดรียโดยปรับเปลี่ยนการซึมผ่านผนังของไมโทคอนเดรียของสารชีวเคมี ซึ่งรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมและยับยั้งช่องทางเข้าออกของอนุมูลคลอไรด์ของไมโตคอนเดรีย จนน่าจะทำให้ปริมาณแคลเซียมในไมโทคอนเดรียลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเซลล์ cardiac myocytes ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของเซลล์นั้นคงผิดปรกติหรือหมดประสิทธิภาพ         กล่าวกันว่าผลการศึกษาที่รายงานนั้นเป็นแนวทางสำคัญต่อการวิจัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในอนาคต โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพียงแต่มากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้สารเสพติดเหล่านี้ซ้ำๆ และเรื้อรังทำให้ผู้ทำวิจัยจำเป็นต้องทำการแยกแยะว่า รูปแบบการบริโภคกัญชาที่ต่างกันนั้นมีผลต่อภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงสังเกตแบบย้อนกลับ (เกิดผลแล้วตามหาเหตุ) เช่นนี้ คนที่มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาเป็นของดีอาจไม่ยอมรับ ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่วางแผนเพื่อดูผลที่เกิดในอนาคตหลังจากการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงปัญหา         ข้อจำกัดสำหรับการค้นพบในการศึกษานี้คือ เนื่องจากเป็นการศึกษาในลักษณะที่ต้องการตรวจสอบการใช้สารต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือในการรายงานด้วยตนเองของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งบางกรณีอาจไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อใดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายผู้ให้ข้อมูลอาจกังวลผลทางกฏหมายที่อาจตามมาหลังการให้ข้อมูล ดังนั้นการศึกษาที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ผู้วิจัยจึงใช้การเข้ารหัสด้านการดูแลสุขภาพจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจวัดทางคลินิกเป็นหลักฐานโดยไม่เชื่อมโยงไปถึงผู้ให้ข้อมูล         ในสถานะการที่ผู้คนซึ่งชื่นชอบการสูบกัญชาพบว่า มีการเพิ่มแง่มุมทางกฎหมายจนเสมือนเป็นการเปิดไฟเขียวในสิ่งที่เขาทั้งหลายชอบ การคำนึงถึงผลด้านสุขภาพที่เคยรับรู้กันมาในอดีตอาจถูกบิดเบือนให้ลืมไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะกลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง อีกทั้งสิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในงานวิจัยเกี่ยวกับสารเสพติดคือ ไม่สามารถระบุประเภทหรือปริมาณเมื่อมีการใช้สารเสพติดหลายชนิดผสมกันจนทำให้ยากที่จะระบุถึงปริมาณที่มีการใช้ต่อปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >