ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >