ฉบับที่ 264 กำจัดยุงด้วยยุง

        ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มีข่าวจากสหรัฐอเมริกาในหลายเว็บไซต์ว่า คณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในรัฐฟลอริดาได้อนุมัติการปล่อยยุงที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมหลายล้านตัวบน Florida Keys (ซึ่งเป็นกลุ่มหมู่เกาะปะการังราว 4,500 เกาะอยู่ที่ปลายคาบสมุทรฟลอริด้า รัฐฟลอริด้า) โดยใช้เวลา 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564 ถึง 2565 เพื่อให้ยุงดัดแปลงพันธุกรรมหรือ ยุง GMO ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติปะปนอยู่กับยุงทั่วไปโดยหวังว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้ช่วยลดปริมาณยุงที่เป็นพาหะของเชื้อ ไวรัสเดงกี (Dengue virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก อาการคือ ไข้สูง 3-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เมื่อยแขนขา ปวดกระดูก และอาจมีผื่นแดงตามตัว เนื่องจากเส้นเลือดฝอยแตก เซื่องซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน และ ไวรัสซิก้า (Zika virus) ที่ก่อให้เกิดโรคซิก้า อาการคล้ายไข้เลือดออก เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นขึ้น และอีกลักษณะที่พบได้บ่อยกว่าคือ ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา         การอนุมัติโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่มีการถกเถียงและถูกคัดค้านโดยกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จำนวนมากด้วยกังวลว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่คาดคิดต่อระบบนิเวศและอาจมีศักยภาพที่ก่อให้เกิดยุงลูกพันธุ์ทางที่สามารถต้านยาฆ่าแมลงได้ในอนาคต ผู้ไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติในครั้งนี้มีจำนวนมากเกือบ 240,000 คน ได้ลงชื่อในคำร้องทางเว็บไซต์ Change.org ที่กล่าวหาบริษัท Oxitec กำลังใช้รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นฐานทดลองแมลงกลายพันธุ์ ยุง GMO นี้มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร         บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Oxitec ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอาบิงดัน (Abingdon) ของสหราชอาณาจักร ได้ทำการทดสอบยุงดัดแปลงพันธุกรรมในที่โล่งเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยวางกล่องที่มีไข่ยุงที่ผสมพันธุ์แล้วไว้ในจุดที่เลือกใน Florida Keys โดยยุง GMO ของบริษัท Oxitec นั้นมีชื่อทางการค้าว่า Oxitec's Friendly™ เป็นยุงสายพันธุ์ Aedes aegypti หรือยุงลายซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มียีนที่เมื่อผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียแล้วป้องกันไม่ให้ลูกน้ำตัวเมียรอดชีวิตเป็นยุงตัวเมียที่กัดคนและก่อโรคอันตราย แต่ไม่เกิดปัญหากับลูกน้ำที่กลายเป็นยุงตัวผู้         จากบทความเรื่อง Description of OX5034 Aedes aegypti Mosquito, including Active and Inert Ingredients ที่ดาว์นโหลดได้จาก www.regulations.gov ซึ่งเป็นจดหมายจากผู้บริหารของ Oxitec ถึงผู้บริหารของ US.EPA มีข้อความอธิบายว่า ในยุงดัดแปลงพันธุกรรมนี้ในกรณีที่ลูกน้ำเป็นเพศเมียจะมียีน OX5034 rDNA (recombinant DNA) ที่ถอดรหัสได้โปรตีนชื่อ tTAVOX5034 ซึ่งจะเจริญเป็นยุงตัวเต็มวัยได้เฉพาะในสภาวะที่มียาปฏิชีวนะ tetracycline หรืออนุพันธ์ของ tetracycline เท่านั้น ดังนั้นในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติลูกน้ำเพศเมียจึงตายในระยะเป็นตัวอ่อนช่วง L2/L3 ในขณะที่ลูกน้ำเพศผู้สามารถมีชีวิตรอดจนโตเต็มวัย ซึ่งหมายความว่ายุงลาย OX5034 ที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติที่เลี้ยงโดยไม่มี tetracycline จะมีแต่ตัวผู้ที่ไม่กัดและไม่ดูดเลือดคนจึงไม่เป็นพาหะของโรค อธิบายง่ายๆ คือ การเลี้ยงยุงสายพันธุ์นี้ในห้องปฏิบัติการต้องมีการเติม tetracycline ลงไปในน้ำด้วยจึงจะได้ยุงตัวเมียรอดมาเป็นแม่พันธุ์         เป้าประสงค์สำคัญของการใช้ยุง GMO นั้นคือ การลดทอนจำนวนยุงตัวเมียไปเรื่อยๆ ยุง Oxitec's Friendly™ นั้นมี marker gene ที่ทำให้เรืองแสงในที่มืดจึงทำให้มันถูกแยกออกจากยุงพื้นบ้านอื่นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นในการลงทุนใช้ยุงพิเศษนี้ ผลการทดลองที่เริ่มในปี 2020 จนถึงปี 2022 นั้นเป็นอย่างไร         นักวิจัยได้เสร็จสิ้นการศึกษายุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมในที่โล่งเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ตามที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพทำการทดลองนั้นเป็นไปในเชิงบวก แต่ยังจำเป็นต้องมีการทดสอบที่ใหญ่ขึ้นเพื่อพิจารณาว่า สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการยับยั้งประชากรยุงที่อาจเป็นพาหะนำไวรัสได้หรือไม่         บทความเรื่อง First Results From Us Trial Of Genetically Modified Mosquitoes ในวารสาร Nature ของปี 2022 กล่าวว่า การทดลองนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ใน Florida Keys โดย Oxitec ได้ติดตามประเมินผลในพื้นที่ที่ปล่อยเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีการรายงานผลการทดลองครั้งแรกระหว่างการสัมมนาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 แม้ว่าจะยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลเป็นทางการก็ตามว่า ปฏิบัติการได้ผลหรือไม่         ในการประเมินผลนั้น หลังจากที่นักวิจัยได้วางกล่องที่มีไข่ยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่ที่กำหนดไว้แล้วก็ได้วางกับดักล้อมรอบพวกมันในรัศมีมากกว่า 400 เมตร กับดักเหล่านี้บางส่วนถูกใช้เป็นแหล่งให้ยุงวางไข่ และบางส่วนใช้จับยุงตัวเต็มวัย ซึ่งนักวิจัยพบว่า ยุงตัวผู้ที่ฟักออกจากไข่มักบินไปมาภายในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (10,000 ตารางเมตร) รอบจุดที่ถูกปล่อย ซึ่งเป็นแนวเดียวกับที่ยุงลายป่าบินและเกิดการผสมพันธุ์กัน จากนั้นยุงป่าตัวเมียได้วางไข่ในกับดักของ Oxitec รวมถึงในกระถางดอกไม้ ฝาถังขยะและกระป๋องน้ำอัดลม ในบริเวณนั้น         นักวิจัยของ Oxitec เก็บไข่ยุงที่ได้จากยุงป่าตัวเมียที่ผสมกับยุงตัวผู้ของบริษัทได้มากกว่า 22,000 ฟอง แล้วนำไข่ทั้งหมดกลับไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อฟักให้ออกเป็นตัวซึ่งพบว่า ยุงตัวเมียตายหมดก่อนโตเป็นยุงเต็มวัย (ยุงตัวเมียทุกตัวมียีนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งเป็น lethal gene) นอกจากนี้ทีมงานยังพบว่ายีนที่ทำให้ยุงตัวเมียตายยังคงอยู่ในยุงป่าตัวผู้เป็นเวลาสองถึงสามเดือน หรือ ประมาณสามชั่วอายุของยุงและจากนั้นก็หายไป ทำให้ไม่พบยุงที่มียีนที่ทำให้ตายนั้นเกินกว่า 400 เมตรจากจุดปล่อย โดยตรวจสอบด้วยการวางกับดักเป็นเวลาสิบสัปดาห์หลังจากพบยุงตัวผู้ที่มียีนที่ทำให้ตายได้ครั้งสุดท้าย ผลจากการศึกษาที่ Florida Keys นั้นถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่แล้วหรือไม่         การศึกษาที่ Florida Keys เป็นเพียงการศึกษานำร่องเพื่อหาข้อมูลมาใช้พิจารณาว่า วิธีการนี้ยับยั้งประชากรยุงป่าได้ดีเพียงใด บริษัท Oxitec วางแผนที่จะรวบรวมข้อมูลเหล่าที่ได้จาก Florida Keys ไปใช้ในส่วนขยายของการศึกษาที่อื่น ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐนั้นๆ ล่าสุดเว็บของ Delta Mosquito and Vector Control district ใน Tulare county (เทศมณฑลทูแลร์) ของรัฐแคลิฟอร์เนียให้ข้อมูลว่า บริษัทกำลังรอการอนุมัติจาก US.EPA ในแผนงานที่จะปล่อยยุงตัวผู้ของบริษัทจำนวน 2.4 พันล้านตัว ในการศึกษาแห่งที่สองในเมืองวิเซเลีย (Visalia) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบริษัทกำลังสร้างตึกศูนย์วิจัยและพัฒนา         ในความเป็นจริงนั้นการระบาดของโรคที่ยุงลายเป็นพาหะอาจเกิดขึ้นได้แม้เป็นพื้นที่ที่ประชากรยุงลายมีจำนวนน้อย ดังนั้นการลดจำนวนประชากรยุง จึงไม่อาจแปลได้ผลว่าเป็นการยับยั้งโรคแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามปฏิบัติการของบริษัท Oxitec นั้นยังดูดีกว่าปล่อยให้มียุงนี้เกิดกันตามบุญตามกรรมแล้วฉีดหมอกควันเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งดูไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างไร         ประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ การลดจำนวนยุงลายไม่ทำให้ความต้องการยาฆ่าแมลงลดลง เพราะยุงลาย Aedes aegypti นั้นคิดเป็นเพียงประมาณ 4% ของประชากรยุงใน Florida Keys ยุงอีกสายพันธุ์คือ black salt marsh mosquito หรือ Aedes taeniorhynchus ซึ่งก่อความรำคาญมากกว่ายุงลายนั้น คิดเป็นประมาณ 80% ของประชากรยุงบน Florida Keys ดังนั้นบริษัทขายยาฆ่าแมลงจึงยังสบายใจอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ยุงกัดต้องจัดการ

        ยุง เป็นสัตว์อยู่คู่บ้านคู่เมืองคนในประเทศแถบร้อนมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เห็นได้จากการที่มุ้งนั้นถูกใช้เป็นเครื่องใช้ประจำบ้าน ยกเว้นบ้านคนที่ทันสมัยหน่อยมีการติดมุ้งลวดพร้อมเครื่องปรับอากาศ ยุงก็ได้แต่คอยกัดเมื่อคนหรือสัตวเลี้ยงเดินพ้นเขตมุ้งลวด ส่วนสัตว์ที่ใหญ่กว่าหมาและแมวนั้นการถูกยุงกัดดูเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ดีความที่คนไทยเป็นคนมีเมตตา จึงหาทางไล่ยุงให้สัตว์เลี้ยงด้วยควันที่ก่อจากเชื้อเพลิงเช่น ฟางข้าว ซึ่งน่ารำคาญมากและจริงแล้วเราไม่รู้เลยว่าได้ผลจริงในการใช้ควันไล่ยุงหรือไม่         การถูกยุงกัดนั้นไม่ได้เป็นเพียงการก่อความรำคาญเท่านั้น แต่นำความตายมาสู่ผู้ถูกกัดได้ เพราะยุงหลายชนิดเป็นพาหะของการก่อโรคร้ายแรง เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง ไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เราจึงมักได้รับคำแนะนำว่า ถ้าต้องใช้เวลาทำกิจกรรมนอกบ้านในเวลากลางคืน ควรหาวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด ด้วยการแขวนเครื่องดักแมลง (bug zapper) ชนิดที่ใช้แสงจากหลอดแบล็คไลท์ (black light) ไว้ในบริเวณที่ยุงชุม คำแนะนำนี้คือ คำโฆษณาขายสินค้าในโทรทัศน์ที่คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผู้เขียน) เชื่อ         หลักการทำงานของเครื่องดักแมลงชนิดใช้แบล็คไลท์นั้น เมื่อถามอากู๋ (google) แล้วจะได้คำตอบประมาณว่า โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เห็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 400-800 นาโนเมตร ในขณะที่แมลงเห็นแสงในช่วง 300-600 นาโนเมตร (ซึ่งรวมเอาแสงอัลตราไวโอเลตที่เป็นหลอดแบล็คไลท์สร้างเข้าไปด้วย) ดังนั้นแมลงจึงมองไม่เห็นแสงสีเหลือง ส้ม และแดง ซึ่งเป็นแนวทางว่า ถ้าต้องการใช้แสงสว่างที่ไม่ล่อยุงก็ควรซื้อหลอดไฟสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งมีความสว่างค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลอดไฟให้แสงสีขาว ดังนั้นเครื่องดักแมลงจึงใช้หลักการดึงดูดแมลงด้วยแสงอัลตราไวโอเลตที่สร้างจากหลอดแบล็คไลท์ (ราคาไม่แพงนัก) ที่ถูกล้อมรอบด้วยกรงตาข่ายมีกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำแต่พอจะฆ่าแมลงได้ แมลงต่าง ๆ จึงถูกดึงดูดเข้าหาแสงยูวีโดยบินผ่านตาข่ายไฟฟ้าจนถูกไฟฟ้าช็อตตาย ดังนั้นตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า เจ้าของบ้านที่มีเครื่องดักแมลงวางไว้นอกบ้าน จะได้ยินเสียงแมลงถูกไฟช็อตดังเปรี้ยะ ๆ ก้องกังวานต่อเนื่องอย่างน่าพอใจว่า ได้กำจัดยุงตัวแสบไปบ้างแล้ว         มีข้อมูลมากพอสมควรที่แสดงให้เห็นว่า เครื่องดักแมลงส่วนใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยในการล่อยุงมากำจัด และที่แย่กว่านั้นเครื่องดักแมลงมักจะกำจัดแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แมลงที่เป็นอาหารแก่นก ค้างคาว และปลา เป็นต้น ดังมีบทความเรื่อง Snap! Crackle! Pop! Electric Bug Zappers Are Useless For Controlling Mosquitoes, Says UF/IFAS Pest Expert ในเว็บ https://news.ufl.edu ของ University of Florida ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 1977 นั้นมีแมลงราว 71 พันล้านตัวซึ่งไม่ใช่แมลงก่อความรำคาญต้องตายไปด้วยเครื่องดักแมลงโดยใช่เหตุทุกปี ซึ่งมีบทความเรื่อง A field evaluation of electrocutors for mosquito control in southern Ontario. ซึ่งพิมพ์แจกจ่ายเป็นเอกสารประกอบการประชุมชื่อ Proceedings of the Entomological Society of Ontario ในปีเดียวกันให้ข้อมูลว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Guelph ได้ทำการศึกษาเพื่อพิจารณาว่า เครื่องดักแมลงมีประสิทธิภาพในการฆ่ายุงและลดจำนวนยุงในจุดที่วางเครื่องหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 4.1 ของแมลงที่ถูกฆ่าในเครื่องดักแมลงเท่านั้นที่เป็นยุงตัวเมีย (ที่กัดและดูดเลือดมนุษย์) นอกจากนี้ในการศึกษายังพบว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้เชื้อเชิญให้ยุงตัวเมียเข้ามาในบริเวณนั้นมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์         ต่อมาในปี 1982 นักวิจัยของ University of Notre Dame สหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยในปี 1977 แล้วตีพิมพ์ผลงานเป็นบทความเรื่อง Failure of an insect electrocuting device to reduce mosquito biting. ในวารสาร Mosquito News ของปี 1983 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า เมื่อวางเครื่องดักแมลง 1 เครื่องในเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินเดียนา พบว่าในคืนหนึ่งสามารถฆ่าแมลงได้ 3,212 ตัว แต่ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้นที่เป็นยุงตัวเมีย และนักวิจัยยังพบอีกว่า แสงยูวีนั้นดูเหมือนจะดึงดูดยุงต่างๆ เข้าสู่บริเวณนั้นมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การถูกยุงกัดมากขึ้นทั้งคนและสัตว์ที่ต้องอยู่บริเวณนั้น ทำให้ดูเสมือนว่า ยุงได้เลือกให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่นที่ล่อมันจากคนและสัตว์มากกว่าแสงจากหลอดแบล็คไลท์         จริงแล้วยุงตัวเมียหาแหล่งอาหารได้อย่างไร คำตอบนั้นพบได้ในบทความเรื่อง Mosquito receptor for human-sweat odorant ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี 2004 ให้ข้อมูลว่า มนุษย์ สุนัข ม้า นก ตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่มีอุณหภูมิร่างกายอุ่นคงที่นั้นเป็นแหล่งอาหารของยุงตัวเมีย เนื่องจากในการหายใจออกนั้นได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นเมื่อยุงตัวเมียได้กลิ่นของคาร์บอนไดออกไซด์ผสมกับสารระเหย 1-octen-3-ol หรือ octenol ซึ่งเป็นอัลกอฮอลที่พบได้ในลมหายใจออกและเหงื่อของมนุษย์ในอากาศจึงบินเข้าหา นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมยุงตัวเมียจึงชอบเข้าหาคนที่มีเหงื่อเยอะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะขี้เมาที่โดนเมียไล่ให้ออกไปนอนนอกบ้าน และมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ยุงที่กระหายเลือดสามารถตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดคือ มนุษย์ซึ่งอยู่กลางแจ้งได้ไกลถึง 35 เมตร         ในกรณีของกลิ่นเหงื่อนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์เองว่า เสื้อผ้าที่ใส่ออกกำลังกายแล้วไม่สามารถซักได้ในวันนั้น ต้องตากค้างคืนในโรงรถเพื่อให้เหงื่อแห้งก่อนหาวันเหมาะๆ ซักนั้น ในตอนเช้าจะพบยุงตอมที่เสื้อผ้าเยอะมากจนต้องเอาไม้ตียุงไปจัดการเป็นประจำ         จากความรู้เกี่ยวกับกลิ่นล่อยุงนั้น ส่งผลให้นักผลิตเครื่องดักแมลงได้ออกแบบสร้างเครื่องดักแมลงชนิดใหม่ที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอลออกมาเพื่อดึงดูดยุงให้บินเข้าหาเครื่องดักแมลงมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่มีข้อมูลไม่เป็นทางการกล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอลนั้นช่วยเพิ่มจำนวนยุงที่ฆ่าต่อคืนได้เพียงเล็กน้อย แต่กลับดึงดูดยุงเข้าสู่บริเวณวางเครื่องกำจัดแมลงมากขึ้น ดังนั้นหมาที่ต้องนอนนอกบ้านที่วางเครื่องดักยุง จึงถูกยุงกัดมากขึ้น ผู้เขียนได้เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์บ้านเราซึ่งอธิบายถึงเครื่องดักยุงแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเช่นกัน ในตอนแรกที่ได้เห็นก็คิดเช่นกันว่า น่าลองซื้อมาใช้ดู แต่สุดท้ายคิดว่าลองตากเสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อไปวางข้างเครื่องดักแมลงในตอนกลางคืนดีกว่า         จากเอกสารชื่อ Biopesticides Fact Sheet for 1-Octen-3-ol ซึ่งพบได้ในเว็บของ US.EPA นั้น ได้แบ่งรับแบ่งสู้ในประสิทธิภาพของเครื่องดักแมลงแนวใหม่นี้ โดยบอกเพียงว่า สารเคมี (ซึ่งคงหมายถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอล) นั้นไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในปริมาณที่มีการใช้และห้ามโฆษณาว่า ควบคุมปริมาณยุงได้ แต่ยอมให้กล่าวว่า ช่วยกำจัดยุงเพิ่มได้ (The statements do not claim to control mosquitoes, only to make the electronic insect killers more effective.)         ดังนั้นเรายังคงควรเป็นลูกค้าเครื่องดักแมลงหรือไม่ สำหรับผู้เขียนแล้ว เนื่องจากหลายครั้งขณะที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน มักมีแมลงที่หลุดรอดจากมุ้งลวดเข้ามาก่อกวนการทำงานเป็นประจำ เพราะแมลงมันคงต้องการอ่านข้อมูลที่ผู้เขียนสืบเสาะจากโลกอินเทอร์เน็ตกระมัง ที่สำคัญคือ เวลาแมลงบินผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมันมักทำขนจากขา ลำตัวและปีกหลุดลอยในอากาศ ทำให้ผู้เขียนเกิดอาการแพ้โดยเฉพาะตอนหัวค่ำซึ่งแมลงออกมาเยอะมาก ดังนั้นผู้ค้าเครื่องดักแมลงจึงยังได้ผู้เขียนเป็นลูกค้าราวปีละครั้ง เนื่องจากหลอดที่สร้างแสงยูวีนั้นมีอายุใช้งานจำกัด เวลาผ่านไปแมลงมันก็เมินเพราะความเข้มของแสงยูวีลดลง จึงต้องซื้อใหม่เพราะไม่มีปัญญาไปหาหลอดมาเปลี่ยนใหม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ผลิตภัณฑ์กันยุงชนิดปลอดจาก DEET

        เข้าหน้าฝนยุงเริ่มเป็นปัญหากวนใจ ดังนั้นแม้โรคโควิด-19 ยังต้องระวัง แต่ต้องไม่ลืมปัญหาไข้เลือดออกจากยุงลายที่เป็นพาหะ หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุง การป้องกันยุงทำได้หลายวิธี ทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ การฉีดพ่นสเปรย์สารเคมีเพื่อฆ่ายุงโดยตรง หรือการใช้ยาจุดกันยุงแบบขดให้เกิดควันเพื่อไล่ยุง เรายังมีผลิตภัณฑ์ทากันยุงทั้งชนิดสเปรย์ ชนิดโลชั่นหรือปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ชนิดแผ่นแปะไล่ยุงออกมาเป็นทางเลือกเพื่อความสะดวกอีกด้วย  อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ทากันยุงส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่เรียกว่า DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ เพราะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงสูง แต่ก็มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เช่นกัน จึงมีผลิตภัณฑ์ชนิดปลอด DEET หรือการใช้สารธรรมชาติพวกน้ำมันหอมระเหยออกมาแข่งขันในตลาดมากขึ้น        ฉลาดซื้อเคยสำรวจผลิตภัณฑ์ทากันยุงไว้ในฉบับที่ 187 (ผู้อ่านสามารถดูผลการสำรวจได้ที่ www.ฉลาดซื้อ.com) ซึ่งส่วนใหญใช้ DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ และตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพิ่มขึ้น ดังนั้นฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสำรวจเพิ่มในส่วนของผลิตภัณฑ์ทากันยุง/ป้องกันยุง ที่ปลอดจากสาร DEET พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อปริมาตรเพื่อเป็นข้อมูลใน สารทากันยุงชนิดอื่นนอกจาก  DEET        ·  น้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) เป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอม จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม ควรปิดฝาให้สนิท อย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟหรือความร้อน        ·   พิคาริดิน (Picaridin, KBR3023) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง หากมีความเข้มข้นสูง เช่น 20% จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ DEET แต่ระยะเวลาสั้นกว่า        ·   น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of Lemon eucalyptus) ซึ่งมีพีเอ็มดี (PMD: P-menthane-3,8-diol) เป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพเป็นครึ่งหนึ่งของ DEET เช่น PMD 30% มีประสิทธิภาพเทียบเท่า DEET 15%        ·   ไออาร์ 3535 (IR3535: Ethyl butylacetylamino propionate) เป็นสารสังเคราะห์ จากการศึกษาหนึ่งพบว่า IR3535 มีประสิทธิภาพรองจาก DEET และ Picaridin         ·   ไบโอยูดี (BioUD: 2-undecanone) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) การใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงเพื่อความปลอดภัยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดไม่ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอตหรือพิคาริดิน มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเข้มข้นของสารเคมีในระดับดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงมากขึ้นและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ทายากันยุง (แต่อาจต่ำกว่า 4 ปีได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์)ควรคอยเฝ้าดูขณะเด็กใช้ยาทากันยุง และหลีกเลี่ยงการทายากันยุงบริเวณมือเด็ก เพราะเสี่ยงต่อการนำนิ้วเข้าปากหรือขยี้ตาไม่ควรทายากันยุงบริเวณที่เป็นแผลไม่ควรใช้สเปรย์กันยุงฉีดใบหน้าโดยตรง ควรฉีดพ่นลงบนฝ่ามือก่อนนำมาทาบนใบหน้า หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตาและริมฝีปากไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างครีมกันแดดและยาทากันยุง เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการทายากันยุงซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไปที่มา https://www.pobpad.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ประสิทธิภาพ “โลชั่นและสเปรย์ฉีดกันยุง”

คำเปรียบเปรยที่ว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ” นั้นไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด อย่าได้ปรามาสเห็นยุงตัวเล็กกระจิริดแค่ใช้ 2 มือตบก็จบชีวิต แต่ยุงตัวเล็กๆ พิษสงเหลือร้ายทำคนตายหลายสิบรายต่อปี!!! เพราะยุงเป็นพาหะนำโรคติดต่อร้ายแรง ทั้ง ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา หรือแม้แต่ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่กำลังเป็นข่าวว่าระบาดในหลายประเทศ ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยแล้วหลายรายข้อมูลจากสำนักควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเฉพาะในปี 2559 จนถึงเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวน 31 คน และมีผู้ป่วยสะสมจำนวน 38,031 ราย ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2559 มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 11,144 ราย (เป็นคนไทย 8,531 ราย และชาวต่างชาติ 2,613 ราย) สำหรับโรคชิคุนกุนยา หรือ ไข้ปวดข้อยุงลาย ในปี 2559 ข้อมูลจนถึงเดือนสิงหาคม มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 13 ราย แต่ยังน้อยกว่าปีที่แล้วที่รวมทั้งปีมีผู้ป่วยทั้งหมด 25 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต การหาวิธีป้องกันและกำจัดยุงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราทุกคนควรทำ ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับปกป้องเราจากยุงหลายเดี๋ยวนี้ก็มีให้เลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยาจุดกันยุงแบบขด หรือ ยาฉีดไล่ยุง ที่พบเห็นมีใช้กันอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ไล่ยุงแบบใหม่ๆ ที่เริ่มนิยมใช้กันมากขึ้นอย่าง โลชั่นทากันยุง และ สเปรย์ฉีดกันยุง ซึ่งถ้าไปเดินดูตามซูเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อเลือกใช้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลยขออาสารวบรวม โลชั่นทากันยุง และ สเปรย์ฉีดกันยุง ยี่ห้อต่างๆ มาลองดูกันสิว่าแต่ละยี่ห้อมีคุณสมบัติในการไล่ยุงและมีส่วนประกอบที่ใช้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ผลที่ได้จากการสำรวจ-ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโลชั่นทากันยุง จากทั้งหมด 8 ตัว มีถึง 6 ตัวอย่าง ที่ใช้สารเคมี ดีอีอีที DEET ซึ่งเป็นสารเคมียอดนิยมในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง เป็นส่วนประกอบสำคัญ มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ใช้สารที่สกัดจากธรรมชาติ คือยี่ห้อ เบลล์ ที่ใช้ น้ำมันตะไคร้หอม Citronella oil เป็นส่วนประกอบ-ต่างจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสเปรย์ฉีดกันยุง ที่มีการใช้สารเคมีสกัดจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบมากกว่า โดยจากตัวอย่างผลิตภัณฑ์สเปรย์ฉีดกันยุงทั้งหมด 7 ตัวอย่าง มีถึง 5 ตัวอย่างที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ทั้ง  น้ำมันตะไคร้หอม Citronella oil และ น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส Eucalyptus Oil-ระยะเวลาในการป้องกันยุงของผลิตภัณฑ์ชนิดโลชั่นทากันยุง เฉลี่ยอยู่ที่ 6 - 7 ชั่วโมง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ชนิดสเปรย์ฉีดกันยุงระยะเวลาในการป้องกันยุงตามที่แจ้งบนฉลากเฉลี่ยอยู่ที่ 2 - 3 ชั่วโมง มีเพียง 2 จาก 7 ตัวอย่างที่มีระยะเวลาในการป้องกันยุงอยู่ที่ 7 ชั่วโมง คือ ยี่ห้อ Mos Away ที่มีส่วนผสมเป็นสารเคมี ดีอีอีที DEET และยี่ห้อ POKPOK ป๊อกป๊อก ที่มีส่วนประกอบเป็นสารสกัดจากธรรมชาติอย่าง น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร Citronella Oil-จากการเปรียบเทียบพบว่า ส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นสารเคมีหรือสารที่สกัดจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยมากกว่า ไม่มีผลต่อระยะเวลาในการป้องกันยุง เพราะส่วนประกอบทั้ง 2 ประเภทต่างก็มีระยะเวลาในการป้องกันยุงสูงสุดที่ 7 ชั่วโมงเท่ากัน-ผลิตภัณฑ์ชนิดที่ใช้สำหรับเด็กเล็ก ใช้ติดตามเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ห้ามติดโดยตรงลงบนผิวหนังของเด็กโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงชนิดอื่นๆ ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือ 4 ปี ตามแต่ข้อกำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปิดกันยุงสำหรับเด็กทั้ง 2 ตัวอย่าง ต่างก็ใช้ส่วนประกอบที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติทั้ง 2 ตัวอย่าง-คำแนะนำในการเลือกซื้อ ควรเปรียบเทียบข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันยุง ปริมาณ และ ราคา เลือกตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องของส่วนประกอบ ไมว่าจะเป็นชนิดที่ใช้สารเคมีหรือใช้สารสกัดจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบต่างก็ต้องใช้ตามคำแนะนำและคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน แต่ส่วนประกอบที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติแน่นอนว่ามีความปลอดภัยมากกว่า ผู้ใช้เสี่ยงต่อการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังน้อยกว่าข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ของผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุงผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี (เช่น ดีอีอีที (DEET) และ เอทิล บิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl Butylacetylaminopropionate)) ที่จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องมีการแสดงเลขทะเบียน อย.วอส. (วัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข) บนฉลากผลิตภัณฑ์ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมของสารที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น citronella oil หรือน้ำมันตะไคร้หอมเป็นสารสำคัญ ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ตามพระราชบัญญัตวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการแจ้งข้อเท็จจริงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และต้องมีการแสดงเลขที่รับแจ้งบนฉลาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่ใช้ส่วนประกอบของ citronella oil ควรมีประสิทธิภาพในการออกฤทธ์ไล่ยุงลายบ้านได้ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง มีฤทธิ์ไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของยุง ทำให้ยุงไม่บินมาดูดเลือดบนผิวหนังของเรา แต่ไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่ายุงแต่อย่างใด.ผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบสำคัญ เวลาใช้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำและคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด ป้องกันการเกิดอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ฉลากของผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุง ต้องมีการแสดงฉลากที่ให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนี้ 1.ประโยชน์ 2.วิธีเก็บรักษา 3.คำเตือนในการใช้ 4.อาการเกิดพิษ และ 5.วิธีแก้พิษเบื้องต้น นอกเหนือข้อมูลชื่อและชนิดสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย และวัน เดือน ปี ที่ผลิต ใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงและสเปรย์ฉีดกันยุงอย่างไรให้ปลอดภัย-ควรใช้ผลิตภัณฑ์เมื่อมีความต้องการใช้เพื่อป้องกันยุงเท่านั้น-ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงประเภทแป้งและโลชั่น ห้ามนำไปทาแทนแป้งและโลชั่นสำหรับทาผิวทั่วไปโดยเด็ดขาด-ก่อนใช้ควรทาหรือพ่นที่ข้อพับแขนดูก่อน เพื่อดูว่าเรามีอาการแพ้ต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าหรือไม่ หากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้ทันที-การทาหรือฉีดสเปรย์กันยุง ควรเน้นทาและฉีดให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่อยู่ภายนอกเสื้อผ้า ไม่จำเป็นต้องทาและฉีดให้หนาเกินไป เพราะไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพในการป้องกันยุงเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด-ไม่ควรใช้ทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณที่เป็นแผล เพราะอาการแพ้หรือระคายเคืองได้-หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร-ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง-หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม ควรปิดฝาให้สนิท อย่าให้ถูกแสงแดด อย่าวางใกล้เปลวไฟหรือความร้อน-อ่านฉลากก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำและคำเตือนบนฉลาก ทั้งเพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันยุง-ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงส่วนใหญ่ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 หรือ 4 ปี ขึ้นกับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงประเภทอื่นๆยาจุดกันยุงแบบขดเป็นผลิตภัณฑ์กันยุงที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมีราคาถูก หาซื้อง่าย สารเคมีที่ใช้ในยาจุดกันยุงแบบขดเป็นสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการกำจัดแมลงทั้งในทางสาธารณสุขและทางการเกษตร สำหรับส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตยาจุดกันยุงแบบขด ประกอบด้วย ผงขี้เลื่อย ผงกะลาบด ผลแป้งที่ได้จากมันสำปะหลัง ฤทธิ์ของยาจุดกันยุงคือส่งกลิ่นและควันออกไปไล่ยุงไม่ให้เขามาใกล้ในพื้นที่ที่จุดยากันยุงไว้ ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่ายุงยาฉีดกันยุงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่นิยมใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ฆ่าหรือไล่แมลงได้หลากหลายไม่ใช่แค่เฉพาะยุงเท่านั้น สารเคมีที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) เช่นกัน การใช้ยาฉีดกันยุงหรือไล่แมลงในบ้าน ควรเลือกประเภทให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะจะมีการแบ่งการใช้ไว้สำหรับแมลงที่บินเท่านั้น เช่น ยุง แมลงวัน กับแบบที่ใช้ได้เอนกประสงค์แต่เน้นไปที่แมลงที่อาศัยอยู่ตามพื้น เช่น มด ปลวก แมลงสาบ เพราะละอองของชนิดที่ฉีดได้อเนกประสงค์จะมีขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ทำให้ตัวสารไม่ได้ลอยในอากาศได้ทั้งหมด ประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงบินจึงมีน้อยกว่าไม้ตียุงไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่หลายคนนิยมใช้จัดการยุง ซึ่งเมื่อไม่นานนี้คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ไม้ตียุงไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุเรื่องของคำแนะนำในการใช้งาน คำเตือน ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าใครจะซื้อหาไม้ตียุงไฟฟ้ามาใช้ต้องเลือกที่มีข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนชัดเจน เพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >