ฉบับที่ 267 จองรถทัวร์แต่ขึ้นไม่ได้ เพราะรถออกก่อนกำหนดเวลา

        จู่ๆ ถูกเท มันก็จะเคว้งคว้างหน่อยๆ นี่คือเรื่องราวของ “คุณเมฆ”ที่จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งพอถึงเวลากลับไม่เจอรถที่จุดจอดตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเพราะ “รถทัวร์ออกไปก่อนเวลา” เสียแล้ว ทำให้คุณเมฆต้องรีบซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับ เพราะต้องมาทำงานให้ทัน รวมมูลค่าความเสียหายที่ซื้อตั๋วรถทัวร์แต่ไม่ได้รับบริการและซื้อตั๋วเครื่องบินเกือบ  5,500 บาท         ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา “คุณเมฆ” เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต  ขากลับวันที่ 16 เมษายน  2566 ได้จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ เป็นรถทัวร์ Premium first class VIP24  ตั๋วราคา 1,192 บาท  นัดหมายขึ้นรถเวลา 18.10 น. ตามที่พนักงานของบริษัทรถทัวร์โทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้า   “คุณเมฆ” ไปถึงสถานีขนส่งก่อนเวลารถออกด้วยซ้ำเผื่อไว้เพราะไม่ชำนาญทาง แต่กลับไม่พบรถทัวร์คันที่ตนเองจองไว้  สอบถามรถทัวร์คันอื่นๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น  บอกตรงกันว่ารถคันที่ผู้เสียหายจองไว้  ขับออกไปแล้ว คุณเมฆงงใจมาก ฉันมาก่อนเวลาด้วยซ้ำทำไมออกไปก่อน ทำไมไม่รอ นี่ทิ้งฉันใช่ไหม เรียกว่าสารพัดคำถามผุดขึ้นมาในหัวอยู่ตลอดเวลา         คุณเมฆพยายามติดต่อหาบริษัทขนส่งรายนี้ทุกช่องทางเพื่อแก้ปัญหา ทว่าติดต่อไม่ได้เลย  เมื่อล่วงเลยมา 1 ทุ่มเศษ  ตั๋วรถทัวร์บริษัทอื่นๆ ก็ไม่มีขายแล้ว  คุณเมฆจึงจำต้องซื้อตั๋วเครื่องบิน ราคา 4,250 บาท และขึ้นเครื่องเวลา 21.20 น. เพื่อให้ทันกลับมาทำงานที่กรุงเทพในวันรุ่งขึ้น “ผมทำอะไรได้บ้าง” คือคำขอที่ส่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “เอาเปรียบกันเกินไป ผมต้องการค่ารถทัวร์คืนและชดเชยค่าเครื่องบินให้ผมด้วย”  แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำ ดังนี้  (1) ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ  ส่งถึงบริษัททัวร์เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด (2) รวบรวมหลักฐานนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการทางคดีร้องเรียนเรื่องรถโดยสารสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก ขณะเดียวกันทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัททัวร์ให้เร่งดำเนินการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค  โดยขอรับทราบผลดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรและได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลบริการขนส่งสาธารณะเพื่อหาข้อตกลงในการเยียวยาผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 สงสัยจริงจังราคาวีไอพี แต่ทำไมไม่มีบริการพิเศษ

หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด หลายคนต้องพึ่งพาบริการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์โดยสารหรือเครื่องบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสะดวกเดินทางแบบไหน แต่ไม่ว่าจะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทใด ก็ควรต้องได้รับการบริการที่ปลอดภัย พร้อมบริการที่คุ้มค่าและได้มาตรฐาน        คุณนิชรัตน์ มีธุระต้องไปทำงานที่จังหวัดขอนแก่นแบบเร่งด่วน ในช่วงเย็นจึงรีบเก็บกระเป๋าและนั่งรถเมล์มาที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เธอซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นตั๋ววีไอพีของรถเสริมในราคา 700 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาปกติเกือบสองเท่า คุณนิชรัตน์ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะว่าวันนั้นถ้าไม่จ่ายราคานี้ก็จะไม่มีเที่ยวรถอื่นบริการอีก         หลังจากรถออกจากสถานีขนส่งหมอชิตมุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดินทางคุณนิชรัตน์ ไม่ได้รับการบริการอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงผ้าห่มที่เธอคุ้นเคยว่าต้องมีบริการเหล่านี้ หรือเพราะว่าเป็นรถเสริม แต่ทว่าราคาตั๋วที่จ่ายนั้นมีราคาแพง และก็เรียกว่า วีไอพี แต่ทำไมบริการถึงได้แย่ขนาดนั้น ไม่สมกับราคาเลย คุณนิชรัตน์คิดว่าสิ่งนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงได้ร้องกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา         สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้ประสานงานกับศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า ทางศูนย์ฯ พบว่า ผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารที่คุณนิชรัตน์เดินทางนั้น จำหน่ายตั๋วในราคาแพงกว่าปกติจริง ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ คืนเงินส่วนต่างค่าตั๋วโดยสารให้กับผู้บริโภค และดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภคหากมีข้อสงสัยว่า บริการรถทัวร์ที่ท่านใช้งานนั้นกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ไม่แสดงอัตราค่าโดยสาร ณ บริเวณจุดจำหน่ายตั๋ว หรือพนักงานขายตั๋วออกตั๋วโดยสารโดยไม่มีใบเสร็จ หรือท่านต้องจ่ายเงินค่าโดยสารเกินกว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนตั๋วหรือใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งการนำรถเสริมมาให้บริการ หรือการปรับค่าตั๋วโดยสารโดยไม่มีเอกสารอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งงานบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ท่านสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารฯ กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1584 และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเก็บตั๋วโดยสารไว้ด้วยทุกครั้งที่เดินทาง และภ่ายภาพเลขรถโดยสารคันที่ท่านใช้บริการไว้ด้วย จะช่วยให้จดจำเลขประจำรถได้สะดวกขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 โชว์แค่ภาพถ่ายตั๋ว ขึ้นรถทัวร์ได้ไหม ?

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเรื่องมีอยู่ว่า          คุณนิตยา ได้ซื้อตั๋วรถทัวร์โดยสารระหว่างจังหวัด จากจุดขายตั๋วของบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา เพื่อให้หลานชายใช้เดินทางจากเชียงใหม่กลับบ้านที่พะเยา เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแล้ว คุณนิตยาก็ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพตั๋วโดยสาร ส่งไลน์ไปให้หลานชายที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่         เมื่อถึงวันเดินทาง หลานชายคุณนิตยา ได้แสดงภาพถ่ายตั๋วโดยสารในมือถือ ให้พนักงานประจำรถที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ดู แต่พนักงานประจำรถกลับปฏิเสธไม่ให้ขึ้นรถ โดยให้เหตุผลว่า ต้องใช้ตั๋วโดยสารฉบับจริงเท่านั้น และบอกให้หลานชายคุณนิตยาซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่ช่องขายตั๋ว หลานชายคุณนิตยาจึงจำต้องเสียเงินซื้อตั๋วโดยสารใบใหม่เพื่อให้ได้ขึ้นรถกลับบ้าน         เมื่อหลานชายเดินทางกลับถึงบ้าน ก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้คุณนิตยาฟัง คุณนิตยาจึงสอบถามมายัง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ถึงประเด็นที่ว่า ก่อนหน้านี้ ก็เคยใช้รูปถ่ายตั๋วโดยสารขึ้นรถจากพะเยาไปเชียงใหม่ได้ แต่ทำไมไม่สามารถใช้ขึ้นรถโดยสารบริษัทเดียวกันจากเชียงใหม่กลับพะเยาได้ อยากให้บริษัทมีมาตรฐานการให้บริการที่เหมือนกัน และช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าสามารถเดินทางได้ มากกว่าการให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วโดยสารใหม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อประสานงานกับบริษัทรถทัวร์โดยสาร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริการให้มีมาตรฐานเดียวกัน  ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ตอบกลับมาว่า จะดำเนินการปรับปรุงการบริการให้มีมาตรฐานดีขึ้นต่อไป  ข้อแนะนำ          การซื้อตั๋วรถโดยสาร มีทั้งแบบที่ต้องใช้บัตรประชาชน พร้อมระบุชื่อผู้โดยสาร กับ แบบที่ไม่ระบุชื่อ ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการนั้นๆ ซึ่งการแสดงตนเพื่อใช้บริการควรใช้ตั๋วโดยสารฉบับจริง        ในกรณีข้างต้น ผู้บริโภคเคยใช้ภาพถ่ายตั๋วเพื่อเดินทางในบริษัทเดียวกันมาก่อน แต่พอมาขึ้นรถโดยสารจากต้นทางอีกแห่ง กลับไม่สามารถใช้ภาพถ่ายตั๋วเพื่อเดินทางได้ ทำให้ผู้บริโภคสับสน ดังนั้นบริษัทฯ ควรกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนได้มาตรฐานในทุกสาขา         นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรเก็บตั๋วเอาไว้ให้ดี หากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างเดินทาง ตั๋วโดยสารจะเป็นหลักฐานสำคัญในการใช้สิทธิต่างๆ ในภายหลัง         ทั้งนี้ หากท่านต้องการคำแนะนำเรื่องสิทธิผู้บริโภค สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา www.phayaocivil.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีที่นั่งในวันเดินทาง

        ปัญหาคลาสสิกของเรื่องการเดินทางช่วงวันหยุดยาวคือ การหารถโดยสารเพื่อเดินทาง เพราะคนมาก ความต้องการสูงแต่รถน้อย ดังนั้นหลายท่านจึงแก้ไขด้วยการจองตั๋วล่วงหน้า และถ้าได้ตั๋วมาไว้ในมือแล้ว ซึ่งมีพร้อมรายละเอียดทั้งเที่ยวรถและเลขที่นั่ง ย่อมจะมั่นใจว่าตนเองไม่พลาดการเดินทางแน่ แต่ระบบรถโดยสารประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้        คุณเนตรนภาและหลานสาวเป็นชาวจังหวัดแพร่ มีแผนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าตั๋วโดยสารจะเต็มเพราะเป็นช่วงเทศกาล คุณเนตรนภาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วล่วงหน้าจากบริษัทรถทัวร์เชิดชัยทัวร์ จากท่ารถอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในราคาใบละ 450 บาท ซึ่งตั๋วได้ระบุเวลาเดินทางและเลขกำกับที่นั่งไว้ชัดเจน 1 เอ และ 1 บี โดยมีรอบเดินทางเวลา 20.50 น.         เมื่อถึงวันเดินทางก่อนเวลาแค่ 20 นาที คือ 20.30 น. คุณเนตรนภาได้รับแจ้งจากพนักงานขายตั๋วโดยสารทางโทรศัพท์ว่า รถทัวร์คันที่คุณเนตรนภาได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้นั้น เต็มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ขอให้คุณเนตรนภารีบเดินทางไปซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่สถานีขนส่งแพร่         เมื่อคุณเนตรนภาเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัด ก็ได้โต้เถียงกับพนักงานขายตั๋วว่า รถจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อตั๋วที่ซื้อมาระบุที่นั่งและเวลาไว้ชัดเจน ตนเองควรได้สิทธิในการนั่งเพราะตนเองจองและจ่ายเงินไปแล้ว  ไม่ควรต้องถูกปฏิเสธิการใช้บริการและไปเที่ยวหาซื้อตั๋วใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ไหม  การที่บริษัททำแบบนี้ เอาเปรียบตนเองและหลานสาวมาก หากตนเองซื้อตั๋วใหม่ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่พัก และอื่นๆ ที่จองไว้ก็จะพลาดทั้งหมด         คุณเนตรนภาพยายามใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับเงินค่าโดยสารคืนกลับมา เพราะการบริษัทปล่อยให้มีคนอื่นโดยสารในที่ของตนเองไปแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้  เมื่อพาหลานสาวเดินหาตั๋วใหม่ในคืนนั้น ก็เป็นอย่างที่คิดคือ เที่ยวรถที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเต็มหมดทุกเที่ยว คุณเนตรนภาและหลานสาวจึงต้องพลาดการเดินทางในคืนนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณเนตรนภาตัดสินใจร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทรถทัวร์ จากการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ระบุเลขที่นั่งชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง กลับไม่สามารถเดินทางได้เพราะที่นั่งเต็ม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีดังกล่าว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเชิดชัยทัวร์ และขนส่งจังหวัดแพร่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่พบว่ามีการตอบกลับมาจากทั้งสองแห่ง         อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางคุณเนตรนภาขอยุติเรื่องไปก่อน ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้         1. ถ่ายภาพตั๋วโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋ว และสอบถามชื่อพนักงานจำหน่ายตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐาน        2. แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจที่สะดวก กรณีเกิดความเสียหายจากการพลาดเที่ยวรถ เช่น ค่าปรับจากการผิดนัดติดต่องาน หรือเสียโอกาสจากการว่าจ้างงาน โดยท่านสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารได้        3. ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์, ขนส่งประจำจังหวัด และ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2555 ใบจองต้องเป๊ะ ซื้อรถคันแรก หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายรถคันแรกซึ่งเอื้อให้ประชาชนสามารถมีรถยนต์เป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น จากเงื่อนไขที่ภาครัฐที่จ่ายภาษีคืนให้กับผู้ซื้อ ทำให้ยอดการจองรถยนต์มีอัตราสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยการทำสัญญาจองรถยนต์นั้นผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญกับ “ใบจอง” เพราะเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เคยทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ทุกค่ายพิจารณาการออกใบจองรถยนต์ให้ลูกค้าให้มีมาตรฐาน เป็นประโยชน์กับผู้ซื้อ โดยต้องแสดงรายละเอียดสำคัญให้ครบถ้วน ตั้งแต่รายละเอียดของรถยนต์ สี รุ่น ราคา ระยะเวลาการผลิตรถ ขนาดของเครื่องยนต์ และกำหนดเวลาส่งมอบรถ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ หากค่ายรถยนต์ใดไม่แสดงรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วน ถือว่าอาจเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค จากข้อมูลของ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ทั้งสิ้น 889 เรื่อง เป็นกรณีขอเงินจองคืนเนื่องจากไม่ได้รถยนต์ 100 รายการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 69 รายการ ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 53 รายการ ชำรุด 231 รายการ คืนรถ ค้างค่างวด 91 รายการ ยึดรถคืน 40 รายการ ขอชดใช้ค่าเสียหาย 38 รายการ ค่าปรับสูง 31 รายการ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 31 รายการ ขอคำปรึกษา 30 รายการ     ที่พักแพงแจ้ง สคบ. ปีใหม่นี้หลายๆ คนคงเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องคิดและวางแผนเลือกกันอย่างดีก่อนที่จะออกไปเที่ยวก็คือ “ที่พัก” แม้จะมีให้เลือกมาก แต่รูปแบบและราคาก็แตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น บรรดาที่พักต่างๆ ก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ถือว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจับมือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ โดยหนึ่งในมาตรการที่อยากขอร้องกับให้ผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัททัวร์ ก็คือ ให้จัดทำโบรชัวร์แสดงราคาของที่พักที่ต้องมีความชัดเจน แจ้งทั้งราคาช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นและตัดสินใจได้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัททัวร์ ที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยว จัดอยู่ในกลุ่ม 26 สินค้าที่ สคบ. มีโครงการจะมอบตราสัญลักษณ์ให้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้หากผู้นักท่องเที่ยวคนใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคาทั้งที่พัก สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 บะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีไม่มีสารก่อมะเร็ง หลังจากมีที่มีข่าวออกมาว่า มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งในบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังจากประเทศเกาหลี “นองชิม” (nongshim)  ที่วางจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลมาถึงประเทศไทยเราเพราะบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวก็มีวางขายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยงานนี้ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงออกมาตรการด่วนด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนองชิมที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้และฮ่องกง จำนวน 20 ตัวอย่าง พร้อมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จำนวน 3 ตัวอย่าง รวม 23 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่าทุกตัวอย่างปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ผู้บริโภคสามารถหาซื้อมารับประทานได้อย่างสบายใจ โดยการตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการตรวจหาสารก่อมะเร็ง (สารเบนโซ (เอ) ไพรีน) ที่อยู่ในเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเต้าเจี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสปลาหมึก, บะหมี่  กึ่งสำเร็จรูปรสอาหารทะเล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารก่อมะเร็งในเครื่องปรุงรสแต่อย่างใด คปภ. แนะซื้อประกันภัยสุขภาพอย่างถูกต้อง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะนำผู้ที่จะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกซื้อ อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าระหว่างการประกันชีวิตและการประกันภัยสุขภาพนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับการประกันชีวิตนั้น เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านชีวิตโดยตรง บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิต (จากทุกกรณี) หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆ กรมธรรม์ประกันชีวิต ส่วนการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ และหากผู้ขอเอาประกันภัย มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาและควรรู้สำหรับผู้ที่จะทำประกันสุขภาพก็คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการทำประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น การซื้อประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องซื้อหลายๆ กรมธรรม์ แต่ควรพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำอยู่แล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยต้องการหรือไม่ และควรศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยทุกครั้ง ว่าตรงกับที่บริษัทประกันภัยเสนอขาย     รถทัวร์เตรียมใช้ “จีพีเอส” ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป รถโดยสารสาธารณะเตรียมนำระบบจีพีเอสมาใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นที่รถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กว่า 800 คัน ก่อนจะขยายผลไปยังรถร่วมบริการของ บขส. และรถตู้โดยสาร ซึ่งระบบจีพีเอสน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุของรถโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ระบบจีพีเอสมีเป็นระบบสื่อสารกับดาวเทียม สามารถรู้จุดตำแหน่งของรถที่ติดตั้ง การใช้ความเร็ว สามารถควบคุมให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของผู้บริโภค หลังจากที่องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยบนท้องถนนหลากหลายภาคส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เห็นหรือยังว่าพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ความคืบหน้ากรณี รถทัวร์ตกเหว แล้วหลอกให้ผู้เสียหายทำยอมรับเงิน

ความคืบหน้าหลังการฟ้องคดี จากเสียงผู้บริโภค ฉบับที่ 165 ตอน บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหาย ทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว ครับจากเหตุการณ์ ที่กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุ จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเหมารถยนต์โดยสารรับจ้างจำนวน 3 คัน เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว และกำลังเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมาถึงบริเวณเส้นทางถนนสายพะเยา – วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทางลาดลงเขา รถยนต์โดยสารคันที่ 2 ที่ขับรถมาด้วยความเร็ว ได้เสียหลัก ก่อนจะพุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึก มีผู้เสียชีวิตทันที 22 คนและบาดเจ็บ 17 คน นั้นหลังเกิดเหตุ ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารและตัวแทนบริษัทประกันภัยได้เข้าเยี่ยมดูแลผู้เสียหายทั้งหมดด้วยความปรารถนาดี พร้อมมอบของขวัญอันล้ำค่าที่ไม่ลืมเลือนให้กับผู้เสียหายที่บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตแต่ละราย ด้วยการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน พร้อมสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยดังกล่าวไม่ได้อธิบายถึงข้อเสียของการทำสัญญาประนีประนอมให้กับผู้เสียหายแต่อย่างใด ว่าเมื่อผู้เสียหายรับเงินและลงชื่อรับเงินไปแล้วจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ เพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคนขับ เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัยทันทีจากกรณีดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ในการลงพื้นที่รวบรวมข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือทางคดีเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดและถูกหลอกลวงจากข้อมูลของบริษัทประกันภัย จึงได้ยื่นฟ้องนายวิวัฒน์ โนชัย , ห้างหุ้นส่วนวีระพันธ์ทัวร์แอนด์ทราเวล , นายวีระพันธ์ เหลืองทอง , บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด มหาชน และ บริษัท สหมงคลประกันภัย จำกัด มหาชน เป็นคดีผู้บริโภค จำนวน 26 คดี ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557   และ 16 มกราคม 2558  ตามลำดับ โดยในวันนัดดังกล่าวคู่ความทั้งหมดประกอบด้วยผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ทั้ง 26 คดี และจำเลยทั้งห้ามาศาล เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย แต่คู่ความทั้งสองฝ่ายเจรจากันไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถแถลงต่อศาลว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายตามที่โจทก์ทั้ง 26 คดีเรียกร้องได้ และให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยให้จ่ายค่าเสียหายแทน  ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะบริษัทประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ ก็ออกตัวชัดเจนว่าได้จ่ายเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้กับผู้เสียหายและทายาททั้งหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มให้อีกแต่อย่างใด  เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ศาลจึงกำหนดให้นัดสืบพยานเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าโดยศาลใช้กระบวนพิจารณาคดีแบบกลุ่ม คือ รวมทั้ง 26 คดีเป็นคดีเดียวกัน โดยให้สืบโจทก์แต่ละคดีให้เสร็จสิ้นก่อน ค่อยให้จำเลยทั้งห้าสืบแก้ แต่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์  คู่ความทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ยกันโดยตลอดซึ่งภายหลังการสืบพยานโจทก์ได้ 10 วัน  จำเลยที่ 2 และ 3 เสนอเงื่อนไขการเจรจา ยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 26 คดี เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยภาคสมัครใจของรถยนต์คันเกิดเหตุ เสนอเงื่อนไขการเจรจา ช่วยเหลือชำระค่าเสียหายเพิ่มเติมให้กับโจทก์ที่บาดเจ็บตามการเรียกร้องของแต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง (สำหรับกรณีคนที่เสียชีวิตนั้น จำเลยที่ 4 ไม่ได้จ่ายเพิ่ม เนื่องจากเต็มวงเงินตามหน้ากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว)  โจทก์ทั้ง 26 เห็นชอบด้วยกับเงื่อนไขของจำเลยดังกล่าว จึงยอมรับและยินยอมถอนฟ้องจำเลยทั้งหมดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาหลังคดีสิ้นสุด จำเลยที่ 3 เจ้าของรถ ได้แถลงต่อหน้าศาลแสดงความเสียใจและขออโหสิกรรมในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และผู้เสียหายทุกคนไม่ติดใจ ยินยอมอโหสิกรรมให้ตามที่จำเลยที่ 3 แถลง คดีจึงยุติลงด้วยดีบทสรุปของคดีนี้ หากมองถึงเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับแล้ว อาจจะไม่สมหวังเท่าใดนัก เหตุเพราะคดีนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องจำนวนเงินค่าเสียหายไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการฟ้องคดี  อาทิ เจ้าของรถไม่มีเงินเพราะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย และผู้เสียหายเกือบทุกคนถูกบิดเบือนข้อมูลหลอกให้รับเงินทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่หากมองถึงเรื่องกระบวนการต่อสู้ของผู้เสียหายทุกคนที่ ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงขั้นตอนการฟ้องคดี ที่ชาวบ้านผู้เสียหายทั้งหมดได้เรียนรู้โดยตรง ในการเจรจาไกล่เกลี่ย และการรวมคดีเพื่อพิจารณาแบบกลุ่มนั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและที่สำคัญ ผู้เสียหายทุกคน รู้ตัวเองดีว่าโอกาสที่จะได้รับค่าเสียหายได้ยาก เพราะถูกสัญญาประนีประนอมยอมความปิดปากไว้แล้ว แต่ทุกคนก็ไม่ยอมแพ้ ไม่มีถอย พร้อมที่จะสู้ เพราะทุกคนต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง ต้องการฟ้องคดีเพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ  เป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานสัญญารถเช่าต่อไปกรณีนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภครายอื่นๆ ได้เรียนรู้ได้ว่า อย่าเพิ่งยอมแพ้กับสิ่งที่ยังไม่เกิด แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคขวางอยู่ข้างหน้า ขอให้เราได้เริ่ม รับรองมีทางออกแน่นอน...  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 เหยื่อรถทัวร์ผี ความสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน

เทศกาลสงกรานต์หลายครอบครัวคงมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับครอบครัว นันตะนะ นี่คือการสูญเสียอย่างไม่มีวันได้คืน...เช้า 13 เมษายน 2553  บุญถม นันตะนะ ได้รับงานด่วนให้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี   บุญถมจึงรีบโทรศัพท์จองตั๋วกับ บ.รถทัวร์ แต่ทุกที่บอกเพียงว่า “ ให้มาก่อน บางทีเผื่อจะมีคนยกเลิกตั๋ว ไม่ก็มีรถเสริม ”  คล้อยบ่ายบุญถม จึงรีบเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2  โดยหวังว่าจะมีตั๋วว่างสำหรับคืนนี้ค่ำวันนั้น “  พ่อได้ตั๋วแล้วนะแม่ ซื้อที่ช่องขายตั๋วเลย รถจะออกตอนสี่ทุ่มครึ่ง เดี๋ยวถึงแล้วจะโทรหาแม่นะ ” ...นี่คือเสียงสุดท้ายที่ ชุติกาญจน์ ได้ยินเสียงจากสามี  เพราะเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน 2553  รถทัวร์ที่บุญถมนั่งไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดนครราชสีมา บุญถม พร้อมผู้โดยสารอีกหลายราย เสียชีวิตทันที และมีคนบาดเจ็บจำนวนมากหลังการเสียชีวิตของบุญถม ชุติกาญจน์ได้รับจดหมายแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ช่วยเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้ชุติกาญจน์ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่มีก่อนนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเรื่องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อมีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชุติกาญจน์ตามกรมธรรม์โดยทันที ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทยอมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับชุติกาญจน์ได้สำเร็จ ส่วนข้อเท็จจริงทางคดีจากทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุ พบว่า รถทัวร์คันที่เกิดเหตุนั้น เป็นรถโดยสารไม่ประจำทางของบริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด ที่นำมาเสริมวิ่งรับคนโดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับบริษัท ขนส่ง จำกัด  แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลับปฏิเสธ อ้างไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ เพราะรถคันนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งรับคนโดยสารในวันดังกล่าว ทำให้การเจรจาไม่สามารถยุติได้ ชุติกาญจน์ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องนายชำนาญ มหาสังข์ คนขับ จำเลยที่ 1 , บริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด เจ้าของรถ จำเลยที่ 2 และ บริษัท ขนส่ง จำกัด  จำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554ในชั้นพิจารณาคดี ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ฝ่ายโจทก์ มีชุติกาญจน์ เบิกความยืนยันถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายหลังที่สามีเสียชีวิต โดยมีคุณวิลาวรรณ  ผู้รอดชีวิตที่ขึ้นรถคันเดียวกับบุญถม มาเป็นพยานนำชี้จุดซื้อตั๋วและทางเดินไปที่ชานชาลา พร้อมยืนยันการขึ้นรถในสถานีขนส่ง ขณะที่ฝ่ายจำเลย  บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3  ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท มาเป็นพยานเบิกความถึงขั้นตอนการขออนุญาตนำรถเสริมเข้ามาวิ่งร่วมรับส่งคนโดยสารกับบริษัทในเทศกาลดังกล่าวศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่จะนำพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความทำนองว่า รถยนต์โดยสารที่จะนำเข้ามาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 และกรมการขนส่งทางบกก่อน ตามหนังสือขออนุญาตของจำเลยที่ 3 และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจใบอนุญาตตั้งแต่ปากทางเข้าและทางออกอยู่ตลอดเวลานั้นแต่ตามหลักฐานเอกสารการขออนุญาตนำรถเข้าวิ่งร่วมของจำเลยที่ 3 ที่นอกจากจะระบุให้เจ้าของรถร่วมหมวด 2 มาร่วมวิ่งแล้ว ยังระบุให้สมาคมผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางมาร่วมวิ่งเสริมได้ด้วย ซึ่งรถยนต์คันเกิดเหตุอาจอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำรถเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 และได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ได้ แม้จะไม่มีตราหรือสัญลักษณ์ใดๆ ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคงไม่สามารถเข้ามาวิ่งร่วมรับคนโดยสารได้เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมยึดรถได้นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าให้เจ้าของรถร่วมและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคันต้องใช้ตั๋วรถโดยสารตามแบบตั๋วโดยสารที่จำเลยที่ 3 กำหนด นั้น ก็เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าได้ซื้อตั๋วโดยสารที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถที่ชานชาลาในสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกด้วยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุญาตจำเลยที่ 2 รถโดยสารเข้าร่วมวิ่งรับขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราวโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2  เมื่อพิเคราะห์จากความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 1,312,000 บาท เมื่อหักจากเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายทั้งสิ้นจำนวน  682,000 บาทกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภคที่อาจจะไม่มีทางเลือก และหลงใช้บริการรถทัวร์ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว อาจจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ แต่กรณีนี้โชคดีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียชีวิตซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2ซึ่งแม้คดีจะจบลงด้วยศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย แต่คดีก็ใช้เวลานานกว่า 3 ปี อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อได้ ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด ชุติกาญจน์ จึงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริงแต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชุติกาญจน์ยอมแพ้  แม้จะเจ็บช้ำ แต่เธอยังมีหน้าที่ต้องสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวเธอต่อไป  สู้จนกว่าเธอจะชนะ   //

อ่านเพิ่มเติม >