ฉบับที่ 255 คนกทมร้อยละ 60.8 ตัดสินใจซื้อรถยนต์จากราคาของรถยนต์ ร้อยละ 75 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสำรวจครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถิติข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมากถึง 8,218 ราย ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากก็คือ รถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของ มาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ ทั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (ACTIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยป้องกัน หรือหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และส่วนระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (PASSIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงอันตรายให้แก่ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถยนต์ทุกคันควรต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์โดยการกำกับจากหน่วยงานของทางภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ รวมไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องของการรับประกันอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ด้วย         ในกรณีของการรับประกับอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ ซึ่งจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์และการรับประคุณภาพรถใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ซึ่งกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถยนต์ได้รับการชี้แจงเงื่อนไขจากผู้ขายหรือไม่        การสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ และสอบถามถึงเรื่องของเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่าผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่าง กทม. นั้นมีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งพอที่จะสรุปภาพรวมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรถยนต์ประเภท รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ร้อยละ 33.1 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ร้อยละ 18.1 อันดับที่สาม คือ รถกระบะ (Pick-Up) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) ร้อยละ 10.5 และอันดับที่ห้า คือ รถอีโคคาร์ (ECO-Car) ร้อยละ 5.4        ในส่วนของการตัดสินใจซื้อรถยนต์จะพิจารณาจาก ราคาของรถยนต์ ร้อยละ 60.8 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รูปแบบการใช้งานของผู้ซื้อ ร้อยละ 60.1 อันดับที่สาม คือ ยี่ห้อรถยนต์ ร้อยละ 47.3 อันดับที่สี่ คือ รุ่นรถยนต์ ร้อยละ 47.1 และอันดับที่ห้า คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถยนต์ ร้อยละ 33.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า รถยนต์ใหม่ที่ซื้อจะมีเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา  โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ร้อยละ 83.2 ทราบว่า รถยนต์ใหม่จะมีเงื่อนไขการรับประกัน จะเป็นการรับประกันเฉพาะ “ชิ้นส่วนหลัก” ที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 76.3         และทราบว่า การรับประคุณภาพรถใหม่ มีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ร้อยละ 73.5 โดยเคยอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 72.0             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่มีความจำเป็นมากที่สุดคือ             เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 60.9            อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.3            อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 50.0            อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 37.3             และอันดับที่ห้า ระบบควบคุมความเร็ว ร้อยละ 37.1           โดยคิดว่ารถยนต์ควรมีอุปกรณ์ความปลอดภัย เพื่อช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่ มากที่สุดคือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 57.3 อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 52.7 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 47.7 และอันดับที่ห้า ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 44.0         เมื่อสอบถามความคิดเห็น ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ว่าขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ (รถยิ่งแพงมาตรฐานยิ่งสูง) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 61.2 และ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์ทุกคัน ร้อยละ 75.0 โดยคิดว่าอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในรถยนต์ทุกคันไม่ว่าราคา รุ่น หรือยี่ห้อใด คือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 59.7 อันดับที่สอง คือ ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 53.4 อันดับที่สาม คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.9 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 52.7 และอันดับที่ห้า ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 51.0 เก็บข้อมูลในวันที่ 17 - 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้านขายยางรถหมดอายุทำอะไรได้บ้าง

        คุณสุรชัยได้ขับรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมรถแห่งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนยางรถเส้นใหม่ แต่ร้านไม่มียางรถยนต์รุ่นที่คุณสุรชัยต้องการ ร้านจึงเสนอยางรถยนต์รุ่นอื่นและบอกว่าสามารถใช้แทนกันได้ โดยจะลดราคาให้พิเศษ คุณสุรชัยจึงได้เปลี่ยนยางเส้นใหม่ตามที่ร้านแนะนำ         ไม่กี่เดือนหลังเปลี่ยนยาง คุณสุรชัยรู้สึกว่ารถมีอาการขับกินซ้ายตลอด จึงตัดสินใจนำรถเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อ แต่อาการขับกินซ้ายก็ยังไม่ดีขึ้น         ผ่านไปกว่าครึ่งปีคุณสุรชัยได้นำรถเข้าศูนย์ซ่อมรถอีกครั้งเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ โดยพนักงานได้ให้ความเห็นว่า ยางรุ่นนี้แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนวันหนึ่งลูกชายของคุณสุรชัยได้นำรถไปล้าง แล้วสังเกตว่ายางรถน่าจะเป็นยางที่หมดอายุแล้ว คุณสุรชัยจึงปรึกษาว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        หากปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจาก ยางรถหมดอายุ ยางเสื่อมคุณภาพจากการเก็บรักษาที่ไม่ดี หรือ ทางร้านแนะนำยางรุ่นอื่นให้ใช้ทดแทนแต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยผู้บริโภคมาทราบทีหลัง และพิสูจน์ได้ว่าความผิดปกติจากการใช้รถที่เกิดขึ้นเกิดจากยางรถที่เปลี่ยนมา ก็สามารถขอคืนเงินได้         รวมถึงสามารถเรียกค่าใช้จ่ายจากความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการนำรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมได้ เช่น ค่าที่ผู้ร้องต้องนำรถเข้าตั้งศูนย์ถ่วงล้อ เพราะเข้าใจผิดว่าอาการขับกินซ้ายเกิดจากการตั้งศูนย์ เป็นต้น         ทั้งนี้การซื้อยางรถยนต์ ผู้บริโภคอาจสังเกตปีที่ผลิต สภาพของยางรถ ซึ่งสถานที่ที่เก็บรักษายางรถควรมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ไม่ตากแดดตลอดเวลาและเลือกซื้อยางรถยนต์จากร้านที่น่าเชื่อถือ และควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการร้องเรียนหากได้สินค้าไม่มีมาตรฐานหรือหมดอายุ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ญาติไม่จ่ายหนี้รถคนค้ำก็ช้ำไป

        เรื่องปวดใจสำหรับคนค้ำประกันคือ แม้ไม่ใช่ผู้ซื้อโดยตรงแต่ตามกฎหมายต้องรับภาระไม่ต่างจากผู้ซื้อ ซึ่งบางคนก็คาดไม่ถึงว่า การลงลายมือชื่อเพื่อค้ำประกันให้ญาติด้วยน้ำใจอันดี อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผิดใจกันมานักต่อนัก         คุณสนิท โทรศัพท์มาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้ญาติ ต่อมาภายหลังประมาณหนึ่งปีกว่า ญาติผิดนัดไม่ชำระค่างวดรถ ต่อมารถยนต์ถูกยึดและบริษัทไฟแนนซ์ได้ขายทอดตลาด แต่ยังมีเงินส่วนต่างอีกจำนวนหนึ่งค้างอยู่ 155,000 บาท ไฟแนนซ์ได้เรียกให้ตนเองและญาติชำระหนี้ ซึ่งตนเองพยายามติดตามให้ญาติใช้หนี้จำนวนดังกล่าวเสีย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว จึงกลายเป็นคดีความ         ตอนที่ไปฟังคำตัดสิน ศาลพิพากษาให้ญาติและคุณสนิทให้ฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ไม่นานก็มีหมายบังคับคดีถึงบริษัทของคุณสนิทเพื่อที่จะอายัดเงินเดือน “ผมพยายามหาหยิบยืมเงินมาเพื่อปิดหนี้ไม่อยากโดนบังคับคดี อยากทราบว่าผมต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะไม่ให้เสียเปรียบกับทางไฟแนนซ์ แล้วถ้าผมชำระหนี้หมดจะมีทางไหนเรียกเงินคืนจากญาติได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อต้องการปิดบัญชี คุณสนิทต้องขอเอกสารใบลดหนี้จากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อได้เอกสารแล้วให้อ่านข้อความให้ละเอียดว่า ตรงตามที่ได้ตกลงขอปิดหนี้กับทางไฟแนนซ์หรือไม่        2.หากข้อความเป็นไปตามที่ตกลง สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทไฟแนนซ์เพื่อให้มีหลักฐานคือยอดโอนเงินผ่านธนาคาร จากนั้นแจ้งให้ทางบริษัทฯ ทราบและขอใบปิดบัญชีจากทางไฟแนนซ์มาเก็บไว้        3.กรณีที่คุณสนิทซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนญาติ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 (ผู้ซื้อ) คุณสนิทมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับญาติได้ แต่ต้องดูว่าญาติมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้ามีก็ฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ในชั้นศาลก็สามารถบังคับคดีกับญาติต่อไป เพื่อนำทรัพย์ของญาติออกมาขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้กับคุณสนิท   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 เงินจองรถ ขอคืนได้ไหม?

        หลายท่านคงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อรถหรือจองรถมาบ้าง แต่หลายครั้งที่พบว่าเมื่อจองไปแล้ว เกิดปัญหาทำให้ผู้บริโภคต้องการเลิกสัญญาจอง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถจัดหารถยนต์ให้แก่ผู้บริโภคได้ ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ตามที่กําหนด ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น เมื่อส่งมอบรถยนต์มีรายการอุปกรณ์และของแถมไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในใบจอง ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขการจอง ซึ่งเหล่านี้ เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิขอเงินคืนกลับถูกปฏิเสธ ซึ่งหลายท่านไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเรื่องนี้อยู่        กฎหมายที่ว่า ก็คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2551 เป็นประกาศของสํานักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยประกาศดังกล่าวมีผลให้สัญญาจองรถยนต์ใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุรายละเอียดสาระสําคัญตามที่ได้กําหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีการจอง เช่น ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ (ถ้ามี) จํานวนเงิน หรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นเงินมัดจํา(ถ้ามี) ราคา กําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ฯลฯ        นอกจากควบคุมสัญญาจองรถแล้ว ยังกำหนดสิทธิให้แก่ผู้บริโภคที่สำคัญเลย คือทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาจองได้โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากผู้บริโภค ซึ่งเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคที่มีสิทธิได้รับเงินจองคืนมีดังนี้        1. ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2. ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลากําหนด        3. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กําหนดในสัญญา        4. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กําหนดในสัญญา        5. ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ส่งมอบสัญญาให้แก่ผู้บริโภคหรือส่งมอบสัญญาโดยไม่มีข้อสัญญาที่มีสาระสําคัญ หรือส่งมอบข้อสัญญาที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ ฉบับดังกล่าว จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ        ดังนั้น สำหรับคนที่เจอปัญหาไปจองรถ แล้วไฟแนนซ์ไม่ผ่านก็ไม่ต้องกังวล ตอนนี้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ชัดเจน ว่าบริษัทต้องคืนเงินจอง และต้องคืนภายใน 15 วันนับแต่ที่ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาด้วย ดังนั้น หากผู้ขายไม่คืนเงินจองก็สามารถร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน หรือหากไม่คืนก็สามารถดำเนินคดีต่อศาลได้ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551ข้อ 3 (4) ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ (5) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม (4) แล้วผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลวิ่งในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี !!!

       มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประเด็น “สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย”       โดยที่ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of European Union) พิพากษายืนยันมาตรการ การห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี ก็ได้มีคำพิพากษาห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบวร์ก  มิวนิค สตุ๊ตการ์ต โคโลญจน์  ดึสเซลดอร์ฟ เบอร์ลิน ดอร์ตมุน ฯลฯ และอีกกว่า 20 เมืองที่จะมีกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ประสบปัญหา มีปริมาณ NOx  (ออกไซด์ของไนโตรเจน) เกินค่ามาตรฐาน  มาตรการการห้ามรถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกวิ่งในเขตเมือง คือ การแบ่งโซนนิง พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ ก๊าซ NOx ที่มีค่าสูงจนเกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามผ่าน จะมีผลต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EUEO 4 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ก็จะขยายมาตรการห้ามรถยนต์ที่เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EURO 5 วิ่งในพื้นที่ ที่ได้ประกาศไว้ด้วยเช่นกัน       อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้น สำหรับ ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถเก่า และประชาชนที่อาศัยในเขตห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งผ่าน แต่อาจต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้า การห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานต่ำกว่า EUEO 6  วิ่งในพื้นที่ห้ามวิ่ง ภายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกด้วยรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับคำพิพากษาของศาลปกครอง-  รัฐบาล ไม่ห้ามรถยนต์ดีเซล มาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 แต่รถต้องปล่อย NOx ไม่เกิน 270 mg/ km -  รัฐบาลมีงบสนับสนุนการเปลี่ยนรถใหม่ (Exchange Premium) ในกรณีที่รถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 ที่ปล่อยก้าซ NOx เกินกว่า 270 mg/km โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสนับสนุนนี้จะให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่ง หรือต้องขับรถเข้ามาทำงาน ในพื้นที่ห้ามวิ่งและครอบครองรถยนต์มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์ในการชดเชย มูลค่ารถที่เสียไปจาก มาตรการทางกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำๆ วิ่งในพื้นที่ต้องห้ามวิ่ง-  มาตรการการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือระบบกรองอากาศ มาตรการนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ยกเลิกการพัฒนาระบบกรองอากาศ แต่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Volkswagen และ BMW พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในวงเงินไม่เกิน 3000 ยูโร ถ้า ลูกค้าไม่สนใจในมาตรการรับเงินสนับสนุน (Exchange Premium) จากรัฐบาล          ในกรณีที่ประชาชนละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการการห้ามรถวิ่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับ ประมาณ 80 ยูโร หรือ อาจต้องเสียค่าปรับถึง 160 ยูโร หากทางเจ้าหน้าที หรือ ศาลเห็นว่าจงใจฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เห็นใจกันบ้างไหม รถใหม่แต่ทำไมแอร์ไม่เย็น

            อากาศประเทศไทยร้อนแค่ไหน ถามใจดู ยิ่งนำรถมาวิ่งในสภาพการจราจรของเมืองหลวงที่รถติดสาหัส รถยนต์ใหม่เพิ่งถอยมาแท้ๆ แทนที่จะได้ไอเย็นของแอร์เย็นฉ่ำกลับร้อนจนเหงื่อตก อารมณ์จะไม่เดือดอย่างไรไหว             เรื่องนี้ยังไม่จบต้องยาวไปถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่ขอนำมาเล่าเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเริ่มจากที่คุณประภาส ซื้อรถยนต์ใหม่ปีที่แล้ว แต่ใช้งานได้ไม่นานประมาณปลายเดือน ก.ค. 60 ขับรถอยู่ดีๆ รถเกิดอาการแอร์ไม่เย็น จึงนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์ดังกล่าว ช่างระบุต้องเปลี่ยนอะไหล่ คุณประภาสไม่พอใจนักเพราะว่า รถยนต์ตนเองยังใหม่อยู่เลย นี่ถึงกับต้องเปลี่ยนอะไหล่แล้ว แต่ไม่อยากร้อนมากไปกว่านี้ จึงตกลงจ่ายค่าเปลี่ยนอะไหล่เป็นเงิน 12,386 บาท            ใช้งานมาได้จนถึงตุลาคม 60 อาการแอร์ไม่เย็นก็กลับมาอีกครั้ง ศูนย์ฯ ระบุว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่บางตัว แต่คราวนี้คิดที่ราคา 469 บาท “เอาน่าจ่ายก็จ่าย” คุณประภาสตัดใจ แต่เรื่องกวนใจนี้ไม่จบย่างเข้ามีนาคม 2561 แอร์ไม่เย็นอีก จึงต้องนำรถเข้าศูนย์ฯ เกิดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนอะไหล่อีก 6,524 บาท รวมว่าเสียเงินไปแล้ว 19,381 บาท  ทว่าในเวลาเพียงสิบกว่าวันถัดมา คุณประภาสต้องนำรถยนต์ไปศูนย์ฯ บริการซ้ำด้วยปัญหาเดิมแอร์ไม่เย็น ทายสิว่าทางศูนย์บริการบอกว่าอย่างไร ใช่แล้ว ศูนย์ฯ แจ้งต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่คราวนี้คุณประภาสไม่ยอม            คุณประภาสยื่นเงื่อนไขให้ศูนย์บริการคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด เนื่องจากดำเนินการหลายครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขอาการแอร์ไม่เย็นได้ แต่ทางศูนย์ฯ ปฏิเสธคืนเงินเต็มจำนวน จะคืนเงินเพียงแค่ในส่วนของการซ่อมครั้งที่สองและสาม  โดยต้องขอถอดอะไหล่ที่เปลี่ยนให้ในทั้ง 2 ครั้งคืนด้วย เนื่องจากการรับประกันการซ่อมตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่สาม มีระยะเวลาประกันแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งคุณประภาสรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะในใบเสร็จรับเงินแจ้งว่า “รับประกันงานซ่อมหรือผลงานซ่อม 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน” ทั้งในความเป็นจริงการซ่อมครั้งที่สองเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน แอร์รถยนต์ก็ไม่ดีขึ้นจากการซ่อมครั้งแรก หรือจนล่วงเข้าครั้งที่ 3 ก็เป็นระยะเวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งระยะเวลาทั้งสองครั้งนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินด้วยซ้ำเพราะเป็นไปตามเงื่อนไขการรับประกัน ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงควรต้องคืนเงินทั้งหมดให้            คุณประภาสติดตามเพื่อให้ทางศูนย์บริการดำเนินการคืนเงินทั้งหมดอีกหลายครั้ง แต่การเจรจาไม่ประสบผลทางศูนย์ฯ ยืนยันเหมือนเดิม คุณประภาสจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้นัดทั้งสองฝ่ายเจรจา คราวนี้ทางศูนย์บริการยื่นข้อเสนอจะซ่อมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะไม่คืนเงินจากการซ่อมที่ผ่านมาทั้งสามครั้ง ซึ่งคุณประภาสปฏิเสธโดยยืนยันเช่นกันว่าศูนย์บริการต้องคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด            ทางศูนย์บริการจึงได้อธิบายว่า เงื่อนไขการรับประกัน หมายถึงจะครอบคลุมเฉพาะอะไหล่อุปกรณ์ชิ้นที่เปลี่ยนเท่านั้น ไม่รับประกันไปถึงงานซ่อมแอร์ให้กลับมาทำงานได้  ซึ่งคุณประภาสรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา            การเจรจาที่ สคบ. เกิดขึ้นสองครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงมาปรึกษาที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ประสานงานกับทางศูนย์บริการเพื่อให้เกิดการเจรจา แต่ทางคุณประภาสเอง คิดว่าคงไม่สามารถตกลงกันได้อีกเพราะผ่านการเจรจาหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอคำปรึกษาเรื่องฟ้องคดีแทน             กรณีนี้จึงได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นว่า การรับประกัน(ในความหมายของศูนย์บริการรถยนต์แห่งนี้) หมายถึงรับประกันแค่อะไหล่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงรับประกันว่าซ่อมแล้วของจะใช้งานได้เหมือนเดิม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่าง

เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่างเมื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้วผ่อนต่อไม่ไหว ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ผู้บริโภคไม่ควรเพิกเฉยและคิดว่าถูกยึดไปแล้วก็ช่างมันเถอะ เพราะการที่รถยนต์ถูกนำไปขายทอดตลาดนั้น จำนวนเงินที่ขายได้จะมีผลต่อหนี้ที่ผูกพันกันอยู่ระหว่างผู้บริโภคกับสถาบันการเงิน บางทีความเผอเรออาจทำให้ถูกโกงส่วนต่างได้โดยไม่รู้ตัว         กรณีที่ถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินกว่าที่ควรจะเป็น คุณสัญญาเช่าซื้อรถกระบะในราคาประมาณ 800,000 บาท ทำสัญญากับไฟแนนช์ระบุการชำระค่างวดทั้งสิ้น 84 งวด  ซึ่งคุณสัญญาก็ชำระค่างวดได้ราบรื่นผ่านไปถึงงวดที่ 48 จากนั้นจำเป็นต้องหยุดผ่อนชำระเพราะมีปัญหาด้านการเงิน จึงถูกยึดรถและเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด ซึ่งขายได้ในราคา 340,000 บาท มีส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บจากไฟแนนช์ 290,000 บาท และเรียกให้คุณสัญญาชำระหนี้ในส่วนนี้         คุณสัญญาคำนวณแล้ว รู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบเพราะถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา         ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 3 (5) ก. กำหนดว่า ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (5) ข. กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อ จะรับผิดชอบส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทดอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น         ดังนั้นเมื่อถูกยึดรถ แนวทางปฏิบัติคือ         1.ถ้าได้รับแจ้งจากไฟแนนซ์ ให้รับผิดชอบส่วนต่าง หากเห็นว่าส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บนั้นไม่เป็นธรรมหรือสูงเกินสมควร ลูกหนี้สามารถเจรจาต่อรองกับไฟแนนซ์ โดยลูกหนี้จะต้องหาข้อมูลก่อนว่า รถยนต์ยี่ห้อ รุ่นและปีผลิตเดียวกันกับรถยนต์ของลูกหนี้มีราคาขายในตลาดมือสองเท่าไร เพื่อใช้ในการคำนวณให้ลดส่วนต่างได้ เช่น เช่าซื้อรถยนต์มาในราคา 300,000 บาท ราคารถยนต์ตามตลาดรถยนต์มือสองอยู่ที่ 200,000 บาท แต่ไฟแนนซ์กลับนำไปขายได้ราคาเพียง 100,000 บาท แล้วเรียกเก็บส่วนต่างกับลูกหนี้ 200,000 บาท เช่นนี้ลูกหนี้จะสามารถต่อรองได้ เนื่องจากขายทอดตลาดได้ราคาที่ต่ำเกินไป         2. หากไฟแนนซ์ฟ้องคดีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะฟ้องให้ลูกหนี้ชำระ ค่าส่วนต่างราคารถที่เช่าซื้อ ค่าบอกกล่าวทวงถาม ค่ายกเลิกสัญญา ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ค่ายึดรถ เป็นต้น ลูกหนี้จะต้องทำคำให้การเพื่อขอให้ศาลพิจารณาลดยอดหนี้ที่ฟ้องมา ให้เป็นไปตามความจริง เช่น ส่วนต่างราคารถยนต์ที่ไฟแนนซ์ขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่ควรได้จริงหรือไม่ หรือลูกหนี้เป็นผู้ไปคืนรถยนต์ด้วยตนเอง เท่ากับว่าบริษัทไม่มีการไปยึดรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกเก็บนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบเพื่อให้ศาลใช้ในการพิจารณาพิพากษา         3. เมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ยอดหนี้เท่าใดนั้น ก็อยู่ที่ลูกหนี้ว่าตนเองจะสามารถปิดบัญชีหนี้ได้ตามที่ศาลพิจารณาหรือไม่           ดังนั้นคำแนะนำของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคต่อคุณสัญญาคือ ถ้าเห็นว่าถูกเอาเปรียบโดนเก็บค่าส่วนต่างเกินจริงไป สามารถต่อรองกับทางไฟแนนซ์ได้ ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ไฟแนนซ์จะฟ้องศาลเพื่อให้ผู้ร้องจ่ายหนี้ส่วนต่างนี้ สิ่งที่ต้องทำคือหาทนายเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้คดี โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีทนายเพื่อผู้บริโภคช่วยทำคำให้การต่อสู้ได้ หากผู้ร้องต้องการ           กรณีโดนลักไก่ คุณสายัณห์ เช่าซื้อรถยนต์เมื่อเดือนเมษายนปี 2551 ในราคา 449,663.40 บาท สัญญาระบุการผ่อนชำระ 60 งวด แต่ด้วยสภาพทางการเงินที่ไม่เอื้ออำนวย คุณสายัณห์กัดฟันผ่อนไปได้เพียง 11 เดือนก็ต้องยุติการผ่อนชำระ แน่นอนว่ารถได้ถูกยึดไปเพื่อขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2561 คุณสายัณห์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ ค้ำประกัน และเรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 131,824.77  บาท จึงมาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยเหลือด้านคดี         เมื่อพิจารณาสำนวนฟ้องแล้ว ทนายเพื่อผู้บริโภคพบว่า ทางไฟแนนซ์เรียกเก็บค่าส่วนต่างเกินไปมาก เนื่องจากจำเลยผ่อนค่างวดไป 11 งวด รวมเป็นเงิน 88,205 บาท ยังคงค้างอีกประมาณ 271,515 บาท แต่โจทก์ทำสำนวนฟ้องว่า รถยนต์ขาดทอดตลาดได้ 228,000 บาท แต่เอกสารการขายทอดตลาดระบุชัดเจนว่า ขาดได้เงินทั้งสิ้น 288,000 บาท ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ส่วนที่เหลือจากการขายทอดตลาด เป็นเงิน 16,455 บาท ต้องคืนให้แก่จำเลย เมื่อศาลพิจารณาคำให้การแล้ว ได้แจ้งให้ทนายโจทก์ถอนฟ้อง ต่อมาในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561ทราบว่าโจทก์ถอนฟ้องแล้ว เนื่องจากการขายทอดตลาดในคดีนี้คุ้มทุนกับหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้

“ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้     รถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้สะดวกในเรื่องการเดินทาง การประกอบอาชีพ บางคนถ้าพอมีฐานะการเงินพอที่จะมีรถยนต์ส่วนตัวได้ ก็ไม่ลังเลที่จะมีไว้สักคัน แล้วถ้ายิ่งได้ครอบครองรถใหม่ป้ายแดงก็ยิ่งมีความคาดหวังที่สูง เพียงแต่ว่าหลายคนก็โชคไม่ดีเจอปัญหารถป้ายแดงทำพิษ     คุณสมหวังผิดหวังอย่างแรง เมื่อรถยนต์หรูราคา 3 ล้านบาทของเธอ ซึ่งใช้งานได้ยังไม่ถึงเดือนก็เกิดอาการผิดปกติเสียแล้ว “รถคันนี้ซื้อมาเมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็นำมาใช้งานทุกวันไม่มีปัญหาอะไร จนวันที่ 24 ก.พ. ขณะขับบนทางด่วน สังเกตที่ปุ่ม P มีไฟโชว์ขึ้นมา ตอนนั้นไม่ได้เอะใจอะไรคิดว่าเดี๋ยวคงหาย ทว่าสักพักพอจะเร่งความเร็วรถ กลับเร่งไม่ขึ้น  ไม่มีกำลัง”            เหตุคาดไม่ถึงนี้ทำให้คุณสมหวังต้องค่อยๆ ประคองรถขับเรื่อยๆ จนถึงบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ขับแบบสภาพไม่มีกำลังเร่งไปที่ศูนย์บริการของแบรนด์รถยนต์ดังกล่าว ช่างขอรับรถไว้ตรวจสภาพและหาสาเหตุก่อน ผลคือรถยนต์อยู่ในศูนย์ซ่อมถึง 3 สัปดาห์ เมื่อมารับรถยนต์คุณสมหวังยังรู้สึกดีกับบริการต่างๆ อยู่ เพราะเชื่อมั่นในแบรนด์และคุณภาพของช่างว่าจะจัดการปัญหาได้เรียบร้อย แต่เมื่อนำมาใช้งานตามปกติเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ปัญหาเดิมก็กลับมาอีก และเกิดขึ้นตอนอยู่บนทางด่วนเช่นเดิม    “ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” เป็นคำปรึกษาที่ทางคุณสมหวังแจ้งต่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางแก้ไขปัญหา   เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคต้องการคือ ให้บริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้หรือรับซื้อคืนคันที่มีปัญหา วิธีที่ต้องทำคือ ผู้บริโภคต้องทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ดังกล่าว แจ้งลักษณะของปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง ซึ่งรถยนต์หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพก็อาจส่งผลถึงชีวิตของผู้ขับขี่ได้  ดังนั้นจึงขอให้บริษัทดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้บริโภคร้องขอ พร้อมกับทำสำเนาส่งถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งจะดำเนินการต่อหากบริษัทปฏิเสธคำร้องของผู้บริโภค    ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณสมหวังว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับซื้อรถคืนแล้ว โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่งตรงนี้คุณสมหวังพอใจ จึงขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >