ฉบับ 269 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเป็นรถอีวี หรือยัง

        ปรากฎการณ์อีวีหรือยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในปี 2565 ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านคัน เทียบกับสามล้านคันเมื่อสามปีก่อนหน้า ปัจจุบันในบรรดารถยนต์ที่จำหน่ายออกไปทุกๆ 20 คัน จะมี 3 คันที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และองค์การพลังงานระหว่างประเทศยังคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคัน           ในจำนวน 10.2 ล้านคันที่ว่านั้น หากแยกออกมาดูจะพบว่า 5.9 ล้านคันคือยอดขายในประเทศจีน ตามด้วย 990,000 คัน ในสหรัฐอเมริกา อันดับถัดมาคือเยอรมนี (830,000 คัน) และอังกฤษ (370,000 คัน) ในขณะที่เกาหลีใต้เข้ามาเป็นอันดับ 8 ด้วยยอดขาย 131,000 คัน         อีกประเทศที่มาแรงแม้จะไม่ติดอันดับเรื่องยอดขายคือนอร์เวย์ เพราะมีสัดส่วนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก (ร้อยละ 88 จากยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในปี 2565)         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอชวนคุณไปสำรวจสถานการณ์ “การยอมรับ” รถอีวีของผู้บริโภคในหลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เราได้ทำการสำรวจไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย         เริ่มจาก ประเทศจีน ที่บรรลุเป้าหมายการมียอดขายรถยนต์ “พลังงานใหม่” ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 (ก่อนกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ถึงสามปี)  ในขณะที่ปีนี้ยอดจองรถดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคที่เคยตั้งใจจะรอให้รถอีวีราคาถูกลง ก็เริ่มตัดสินใจซื้อแล้วเพราะสถานการณ์เริ่มชัดเจนว่าราคารถคงจะไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว นอกจากจากนี้ยังรีบซื้อเพราะช่วงนี้มี “โปรโมชัน” จากรัฐบาล ทั้งเรื่องการลดหย่อนภาษี คูปองเงินสด หรือการยกเว้นค่าจดทะเบียน เป็นต้น        ความคึกคักของตลาดรถไฟฟ้าในจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ เห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น Xpeng  Nio  และ Li Auto ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ดีดตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปีนี้รายได้จากการจำหน่ายรถไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรีและชนิดปลั๊กอินของผู้ประกอบการในจีนที่ขยันทำรถรุ่นใหม่ๆ พร้อมฟังก์ชันดึงดูดใจออกมาให้เลือกมากมาย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอีกด้วย         แต่ใน อเมริกา รถอีวียังไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากเท่าที่ควร การสำรวจล่าสุดโดยสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับสำนักข่าวเอพี พบว่าร้อยละ 47 ของคนอเมริกัน ยังคิดว่า “เป็นไปได้น้อยมาก” ที่รถคันต่อไปที่พวกเขาจะซื้อจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลหลักสองข้อคือพวกเขาคิดว่ายังมีสถานีชาร์จไม่เพียงพอ และรถก็ยังมีราคาค่อนข้างแพง        มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ตอบว่า “เป็นไปได้มาก” หรือ “เป็นไปได้อย่างยิ่ง”แต่ความพยายามของภาครัฐและเอกชนก็ไม่ด้อยไปกว่าจีน รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ร้อยละ 50 ของรถยนต์ที่จำหน่ายจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะต้องมีสถานีชาร์จอย่างน้อย 500,000 สถานีทั่วประเทศ         หน่วยงานของรัฐบาลกลางก็มีแผนจะจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางและเล็กจำนวน 13,000 คันในปีงบประมาณ 2566 ก่อนจะเปลี่ยนรถที่ใช้ในราชการทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2570 สำหรับรถเล็ก และปี 2578 สำหรับรถขนาดกลางและใหญ่        ภาคธุรกิจก็มีส่วนร่วม เช่น Amazon นำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการจัดส่งสินค้าแล้วกว่า 3,000 คัน และประกาศว่าจะเพิ่มเป็น 100,000 คันภายใน 7 ปีข้างหน้า บริษัทที่ทำธุรกิจด้านวัสดุในการผลิตแบตเตอรี Cirba Solutions ก็ให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการผลิตรถอีวีหนึ่งล้านคันภายใน 5 ปี         ด้าน Walmart มีแผนจะติดตั้ง “สถานีชาร์จเร็ว” ตามสาขาต่างๆ ของห้างหลายพันสาขาภายในปี 2573 ส่วน Google ก็รับปากว่าจะให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลผ่านเครื่องมือค้นหาตัวใหม่ที่นำข้อมูลของรัฐเข้ามาประมวลผลด้วย มาดูกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปกันบ้าง         สหภาพยุโรปประกอบด้วย 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 477 ล้านคน ร้อยละ 75 ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง             ปลายปี 2565 มีรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี จดทะเบียนในสหภาพยุโรปทั้งหมด 3,056,849 คัน คิดเป็นร้อยละ 1.19 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในสหภาพยุโรป         ในปี 2565 องค์กร EAFO (European Alternative Fuels Observatory) ได้ทำการสำรวจความตั้งใจของผู้บริโภคเรื่องการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้และการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงปัญหาและความท้าทายที่พบ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดมมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สโลเวเนีย และสเปน         การสำรวจครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 16,664 คน ประกอบด้วยคนใช้รถอีวี (380 คน) และคนไม่ได้ใช้รถอีวี (16,284 คน)        เมื่อถามถึงทัศนคติและแรงจูงใจที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี พบว่าหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างรู้จักรถประเภทนี้เป็นอย่างดี ร้อยละ 41 มีความสนใจในรถอีวี ในขณะที่ร้อยละ 54 ของคนที่ยังไม่เคยใช้รถอีวี ก็มีทัศนคติที่ดีต่อรถชนิดนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่ารถอีวีมีข้อดีเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกที่ประหยัด แต่เมื่อถามถึงเหตุผลที่จะไม่เลือกใช้รถอีวีก็พบว่า อันดับหนึ่งคือราคาที่ยังแพงเกินไป (ร้อยละ 26) ตามด้วยความกังวลว่ายังมีสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ (ร้อยละ 18) ส่วนหนึ่งไม่อยากซื้อมาใช้เพราะที่บ้านไม่มีจุดชาร์จ (ร้อยละ 10) และบางคนก็กลัวจะขับไปไกลไม่ได้ (ร้อยละ 7)         ที่น่าสนใจคือมีถึงร้อยละ 31 ที่ตั้งใจจะซื้อรถอีวีภายในห้าปี อีกร้อยละ 9 มีแผนจะซื้อในช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า ร้อยละ 13 ตอบว่าคิดจะซื้อแต่ยังไม่ได้กำหนดเวลา ส่วนอีกร้อยละ 47 ที่เหลือยังไม่คิดจะซื้อรถอีวี         การสำรวจส่วนที่สองมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น “ผู้ขับขี่รถอีวี” 1,387 คน ในภาพรวมพบว่า “บุคลิกของคนขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป” คือ ชายอายุ 35 ปี พักอาศัยในบ้านเดี่ยว มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 2,000 ถึง 3,999 ยูโร (ประมาณ 76,000 ถึง 152,000 บาท) และมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป         เมื่อแยกดูพฤติกรรมการใช้รถพบว่า ร้อยละ 62 ใช้รถอีวีมาไม่เกินสามปี ร้อยละ 97 ใช้ทุกวันหรือหลายครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อไปซื้อของ หรือกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเดินทางไปพบแพทย์ระยะทางเฉลี่ยต่อวันคือ 126 กิโลเมตร         ในเรื่องของความเป็นเจ้าของ ร้อยละ 70  เป็นเจ้าของรถเอง ในขณะที่ร้อยละ 22 ใช้วิธีเช่ารถขับ ที่เหลืออีกร้อยละ 8 ใช้รถของบริษัท กลุ่มที่เป็นเจ้าของรถเอง        ร้อยละ 41               ซื้อมาในราคาระหว่าง 20,000 ถึง 40,000 ยูโร (760,000 ถึง 1,500,000 บาท)        ร้อยละ 31               จ่ายมากกว่า 40,000 ยูโร         ร้อยละ 18               จ่ายระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 ยูโร (380,000 ถึง 760,000 บาท) กลุ่มที่เช่าขับ ค่าเช่าอยู่ที่เดือนละไม่เกิน 500 ยูโร (19,000 บาท)         ร้อยละ 67 เป็นรถอีวีใหม่ อีกร้อยละ 33 เป็นรถอีวีมือสอง         เรามาดูพฤติกรรมการชาร์จของผู้ใช้รถกลุ่มนี้กันบ้าง จากคำถามเรื่องระยะเวลาที่ผู้ใช้รถยินดีจะรอคิวชาร์จ พบว่ามีถึงร้อยละ 37 ที่ตอบว่า “ไม่รอ”  ตามด้วยร้อยละ 33 ที่ตอบว่ายินดีรอ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง อีกร้อยละ 25 ที่เหลือตอบว่าระยะเวลาที่ยินดีรอคือ 15 นาที         สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากสถานีชาร์จมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ความเร็วในการชาร์จการเข้าถึงสถานีชาร์จและการจ่ายเงินที่สะดวกผ่านแอปฯ หรือบัตรเงินสด ตามด้วยการคิดค่าบริการตามกระแสไฟฟ้าที่ชาร์จ (ไม่ใช่ต่อนาทีหรือต่อครั้ง)         มาดูที่ ประเทศไทย ของเรากันบ้าง ตลาดรถไฟฟ้าบ้านเรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในช่วงห้าเดือนแรกของปีพ.ศ. 2566 อยู่ที่ 32,450 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่าร้อยละ 470          คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือ “บอร์ดอีวี” คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาไม่ต่างจากรถยนต์สันดาป บอร์ดตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (จักรยานยนต์ รถยนต์ รถปิกอัพ รถบัส รถบรรทุก) รวม 1,055,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 15,580,000 คันในปี 2578         ไม่เพียงการใช้ในประเทศเท่านั้น ประเทศไทยยังต้องการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งเอเชียภายในปี พ.ศ. 2573 และผลักดันให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 30 ในปีดังกล่าว ขณะนี้มีอย่างน้อยสองบริษัทจากประเทศจีน (BYD และ Great Wall Motor) ที่ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยที่ระยองแล้ว  ตัวอย่างมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและการลงทุนของไทย    -  เงินอุดหนุน 150,000  บาทสำหรับรถ EV ที่ผลิตในประเทศ    - การลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ ร้อยละ 2    - การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ    - การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 13 ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย    - การขยายโครงข่ายสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีพ.ศ. 2573          นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น บ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ 1,125 คน* เรื่องความรู้พื้นฐานและความคิดเห็นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 25 - 30 เมษายน ที่ผ่านมา         เราพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.9 เชื่อว่าไทยมีความพร้อมสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยังพบว่า ร้อยละ 64.7 คิดว่าราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีแล้ว และคนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83.8) เห็นด้วยว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เหลือ 2% ของภาครัฐ สามารถส่งเสริมให้คนซื้อรถยนต์อีวีมาใช้งานมากขึ้น         ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีถึง ร้อยละ 85.8 ที่เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศได้         ขณะเดียวกันเราพบว่ามีเรื่องที่ผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น         กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.8 ไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้ามี 4 ประเภท (ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV Plug-in Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV Fuel Cell Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี หรือ BEV Battery Electric Vehicle)        ร้อยละ 61.5 ไม่ทราบว่าวิธีการชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Quick Charger ในสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2. Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ 3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน        ร้อยละ 60.5 ไม่ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกให้การลดหย่อนภาษีประจำปี สำหรับรถประเภท BEV (รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว)                       ร้อยละ 57.4 ไม่ทราบว่าระยะเวลารับประกันแบตเตอรีโดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำกัดอยู่ที่ประมาณ 8 ปี          ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.5) มองว่าภาครัฐควรให้ข้อมูลด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น         ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเรื่องข้อจำกัดของรถอีวี และความพร้อมของสถานีชาร์จ         ร้อยละ 86.4 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป         ร้อยละ 73.3 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่        ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดในการขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขัง         ร้อยละ 64.6 เชื่อว่าปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียงพอ เอกสารอ้างอิง https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/04/17/fact-sheet-biden-harris-administration-announces-new-private-and-public-sector-investments-for-affordable-electric-vehicles/ https://www.cnbc.com/2023/04/11/nearly-half-of-americans-say-its-unlikely-theyll-buy-an-ev-next-poll.html https://www.iea.org/energy-system/transport/electric-vehicles https://www.scmp.com/business/companies/article/3230136/chinas-ev-frenzy-drives-carmaker-stocks-outperformance-hang-seng-index-red-hot-sales-show-no-signs https://alternative-fuels-observatory.ec.europa.eu/system/files/documents/2023-06/2022%20EAFO_CountryReport_EU.pdfhttps://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1073646https://techsauce.co/news/board-ev-aim-thailand-electric-vehicle-production-base https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4up-when-thailand-wants-to-move-towards-electric-vehicle-hub

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 269 ความเปราะบางของสิทธิผู้บริโภคในหนี้รถยนต์

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายสุรพล โอภาสเสถียร ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูง  มีรถยนต์เสี่ยงจะถูกยึดถึงกว่า 1 ล้านคัน เป็นสัญญาณเศรษฐกิจพัง ไม่ใช่แค่หงอย หรือ ซึม!         กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 190,000  ล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 180,000 ล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มมีมูลหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในจากปีก่อนถึงกว่า 40,000 ล้านบาท        กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหนี้เสียคือกลุ่ม GEN Y ช่วงอายุ 18 – 32 ปี  มีพฤติกรรมจ่ายค่างวด 1- 3 งวด หรือค้าง 2 งวด และกลับมาจ่ายในงวดที่สามเพื่อประคับประคองหนี้ และไม่ให้รถถูกยึด!         นี่เป็นเพียงสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 เท่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงสถานการณ์ตลอดทั้งปีที่จะเกิดขึ้น         ผู้คนจำนวนมากกำลังตกในสถานการณ์เป็นหนี้เสียในกลุ่มหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กลุ่มหนี้ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อทำให้ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีผลบังคับใช้กับสัญญาหลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นทำให้ยังเกิดความ ‘ไม่พอดี’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ในการกำกับดูแลทำให้ผู้บริโภคยังถูกเอาเปรียบ เช่น กรณีคุณยุพิน อายุ 45 ปี ทำอาชีพค้าขาย ใน จ. สุรินทร์ ที่เริ่มมีปัญหาค้างส่งงวดรถตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา          “ก่อนที่ยังไม่เกิดปัญหาโควิด พี่ยังหารายได้ได้คล่อง แต่เมื่อเกิดโควิดแล้วทางจังหวัดสั่งให้หยุดตลาดนัด 3 เดือน ทั้งเช้า- เย็น เราก็หมดโอกาสทำมาหากินแล้ว ตอนนั้นเราผ่อนรถอยู่กับอีกธนาคาร รายจ่ายเราเท่าเดิมแต่รายได้เราไม่มี ทั้งค่าบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารถโรงเรียน ค่าเช่าบ้าน แล้วมีรายได้ทางเดียวเราเลยต้องไปพึ่งเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยรายวันมาช่วยเราส่งเคลียร์หมด พอเราหมุนเงินไม่ทัน ค้างงวดรถ เราต้องจ่ายแบบค้าง 2 งวด และจ่ายงวดที่ 3 เพื่อให้รถยังอยู่เพราะเราต้องเอารถใช้ขับขายของ ”         “พอเข้างวดที่ 3 เราก็ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ) เขาบอกว่าหลังจากค้างถึงงวดที่ 3 แล้วต้องบวกไปอีกไม่เกิน 30 วัน  สัญญาจะยกเลิกอัตโนมัติแล้วถึงจะมีสิทธิยึดรถ เราก็เชื่อแบบนั้น แต่พอค้างงวดที่ 3 ผ่านไปวันเดียวเขามาที่บ้านเลย เราก็บอกว่า คุณจะยึดไม่ได้นะ เขาก็ไม่ฟัง เราบอกว่ายังมีกฎหมายที่ยังคุ้มครอง  เราไม่ให้ยึดเขาก็ไม่ยอม  เราเลยบอกว่าจะหาเงินมาให้ 1 งวด เขาบอกไม่ได้  คุณต้องเคลียร์ทั้งหมด  อย่างสมมุติเราผ่อนเดือนละ 10,000 เราก็ต้องหาเงินไปให้เขา 30,000 บาท พร้อมค่าติดตามอีก หลังจากนั้นไม่เกิน 1 อาทิตย์เราก็ส่งเข้าไปอีก 1 งวด เป็น 2 งวด เขาก็หยุดตามแต่บอกให้จ่ายเพิ่มให้คนติดตามอีก 1,200 เราก็ไม่ได้ให้ ”         หลังจากนั้นด้วยมีรายได้ไม่แน่นอน แม้เมื่อเริ่มกลับมาขายของในตลาดได้ แต่เมื่อเข้าช่วงหน้าฝน ขายของในตลาดนัดไม่ได้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ คุณยุพินเริ่มกลับมาค้างจ่าย แต่เมื่อหาเงินกลับไปโปะค่างวดรถกลับมีปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ คุณยุพินจึงตัดสินใจรีไฟแนนซ์กับอีกสถาบันการเงินหนึ่ง         “เราเอาเงินไปจ่ายค่างวด 16,000 บาท จ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารแต่เขาตัดเป็นค่าติดตามทวงถามทั้งหมดไม่ตัดงวดให้เรา เราเลยไม่เอาแล้ว พอมารีไฟแนนซ์กับอีกที่ เราไม่จ่ายหน้าเคาน์เตอร์แล้ว อันนี้คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้”         “ตอนนี้รถยังอยู่ เพราะเรายังพยายามจ่ายงวด 3 ไว้ เพื่อเอารถไว้ทำมาหากิน เราไม่คิดว่าจะเอารถไปแอบซ่อนไว้ที่ไหน เราชัดเจนว่าเราทำมาหากิน ถามว่าเราเสียเปรียบไหมเรารู้อยู่แล้วไฟแนนซ์เป็นแบบนี้  การจัดแบบนี้เราก็ยอมรับแต่ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ดีแบบนี้ เราจ่ายอยู่แล้ว เพราะเราอยากเอารถไว้ใช้ทำมาหากิน เราคิดว่ามีประชาชนแบบเราเยอะ เราถาม สคบ. เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ นี่เป็นช่องว่างที่ประชาชนยังขาดความคุ้มครอง”         กรณีของคุณยุพินเป็นตัวอย่างสะท้อนว่า ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้เช่าซื้อที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามกันได้    สรุปปัญหา ที่ยังขาดการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์        · ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ มีการคิดไม่เป็นธรรม        · ไม่มีการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจน  ผู้ทวงถามหรือไฟแนนซ์คิดตามใจ        · การคิดยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดไม่ชัดเจน และสูงกว่าที่ศาลจะพิพากษาให้ได้        · กฎหมายยังให้อำนาจกับผู้ให้เช่าซื้อมากเกินไป กล่าวคือยังไม่มีการนำสัดส่วนของการผ่อนชำระมาคิดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้อ เช่น แม้ผู้เช่าซื้อบางรายจะผ่อนชำระมาจนใกล้จะหมดแล้ว แต่เมื่อขาดส่ง รถก็ถูกยึดไปอย่างง่ายดายแนวทางการต่อสู้ในชั้นศาล เมื่อถูกไฟแนนซ์ฟ้องคดี   ทนายความ กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์  ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้รถยนต์ และการเงินการธนาคารโดยเฉพาะ ได้สรุปข้อควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไว้ดังนี้         · ผู้เช่าซื้อสามารถคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว หากไม่มีค่างวดรถค้างจ่าย เรื่องนี้ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว ใน  ฎ 1203/2565 , ฎ 5239/2561        · หากค้างจ่าย 3 งวดซ้อน กฎหมาย มีเงื่อนไขกำหนดให้ไฟแนนซ์ ต้อง” ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา “แจ้งมาถึงผู้เช่าซื้อ “ และต้องนับไปอีก 30 วัน นับจากที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ นั่นถึงจะทำให้ การบอกเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์ตามสัญญาและตามกฎหมาย  หากไฟแนนซ์ มายึดรถไปก่อน  “ค่าส่วนต่างผู้เช่าซื้อไม่เสียแม้แต่บาทเดียว ” แต่ผู้เช่าซื้อ ยังต้องรับภาระ นั่นคือ “จ่ายค่าขาดประโยชน์ “ ในช่วงที่ค้างจ่ายค่าเช่าซื้อรถ 3 งวด        · เมื่อผู้เช่าซื้อถูกฟ้องร้องในชั้นศาล  ผู้เช่าซื้อควรยื่นคำให้การสู้คดีในชั้นศาลเพื่อร้องให้ศาลพิพากษาโดยการคำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยแยกจากกัน  เช่น ราคาเช่าซื้อรถ 1 ล้านบาท ต้นทุนรถจริงอยู่ที่ราคา 6 แสนบาท บวก ดอกเบี้ย 60 งวด หรือ 5 ปี เท่ากับ 4 แสนบาท  สมมุตเมื่อจ่ายเงินงวดให้ไฟแนนซ์ ไปแล้ว 5 แสนบาทและไฟแนนซ์ ได้ยึดรถไปขายทอดตลาดได้เงิน 2.5 แสนบาท ไฟแนนซ์จึงได้กำไรแล้วส่วนหนึ่ง ศาลจึงจะพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบให้อีกตามความเหมาะสมซึ่งจะไม่สูงตามที่ไฟแนนซ์ได้ร้องขอต่อศาล           · ดังนั้นหากผู้เช่าซื้ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สามารถสู้คดีในศาล เพื่อลดหนี้ได้ แต่สิงสำคัญคือต้องไปศาล  นี่คือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อพิทักษ์สิทธิของท่านเองเพื่อให้ ศาลมีข้อมูลเพียงพอที่ใช้คัดง้างกับคำขอของไฟแนนซได้          · เมื่อถูกไฟแนนซ์ยึดรถเอาไปขายทอดตลาด  ไฟแนนซ์จะต้องมีหนังสือแจ้ง ผู้เช่าซื้อ ให้รับทราบ วัน - เวลา และ สถานที่ขาย ล่วงหน้า อย่างน้อย 7 วัน หากไฟแนนซ์ ไม่ยอมแจ้ง , ศาล ยกฟ้อง ทุกกรณี คณะกรรมการสัญญา “ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ต้องทำตามระเบียบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด   ความเคลื่อนไหว เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในปัจจุบัน   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค        ช่วงเดือน มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ออกมาตรฐานกลางเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียมในการให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของ สคบ. คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 15% สำหรับรถยนต์มือสอง และไม่เกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์ การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้ซื้อรถได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ โดยผู้ซื้อรถที่ทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 จะใช้ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว         หากลูกหนี้นำเงินก้อนมาโปะปิดก่อนกำหนด เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เกิน 40% (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50%) ของยอดดอกเบี้ยคงเหลือ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนค่างวดที่ชำระไปแล้วด้วย เช่น หากชำระค่างวดมาเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด แล้วนำเงินก้อนมาโปะปิดได้ก่อนกำหนด จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ รวมทั้งลดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่างวดเหลือไม่เกิน 5% จากเดิมไม่เกิน 15% และปรับการคิดติ่งหนี้กรณีรถที่โดนยึด ให้คิดได้เฉพาะค่างวดที่ผิดนัดชำระ ค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ก่อนมีการบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องแจ้งสิทธิเรื่องการซื้อรถคืนและการขายทอดตลาดให้ลูกหนี้ทราบชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)         ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” (พ.ร.ฎ. ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง) เพื่อให้การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการกำกับตรวจสอบเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินที่ไม่ส่งเสริมให้ก่อหนี้สินเกินตัว รวมทั้งมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับข้อมูลโปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเข้าถึงบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ. นี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566 นี้          มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความหวังและจะติดตามต่อไปว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง ...ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ นวัตกรรมแห่งอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ

        กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในเวทีงาน Innovation Keeping The World ที่จัดไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ซึ่งรวมทั้ง BEV Plug-In Hybrid และรถไฮบริด BEV ในปี 2565 มากกว่า 20,816 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับปี 2564         ขณะที่ https://marketeeronline.co/archives/311702  ระบุข้อมูลจากกรุงศรี ออโต้ (Krungsri Auto) ว่า สัดส่วนสินเชื่อใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่ที่ 4,624 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 217 ซึ่งเกินเป้าไปแล้วจากยอดสินเชื่อใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล มกราคม-พฤษภาคม 2566 ที่ 1,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดสินเชื่อใหม่ EV ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน         สองย่อหน้าข้างบนเหมือนกำลังส่งสัญญาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ทั้งยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในบางมิติ แต่ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในบางมุมซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขอย่างไร         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสิ่งที่ต้องเตรียมไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋า แต่กินความถึงวิธีคิด (mindset) ใหม่ๆ กับอีกหลายเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อวางกติกากับเทคโนโลยีที่มาแน่ๆ ชิ้นนี้ รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า รู้จักตัวเอง         สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งได้ 4 ประเภทคือ ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) เป็นลูกผสมที่ใช้น้ำมันทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่        ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งใช่ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นกัน แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟ (plug-in)         ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว         และสุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก สามารถจุพลังงานจำเพาะได้สูงกว่าแบตเตอรี่ในปัจจุบัน แต่สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีน้อยมาก         นอกจากการรู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบบไหนบ้างแล้ว ก่อนจะซื้อผู้บริโภคควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากและพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน ตั้งแต่จุดประสงค์ในการใช้งาน ถ้าทำอาชีพเซลล์ต้องขับระยะทางไกลๆ ติดต่อกัน การวางแผนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีพลังงานเพียงพอตลอดก็อาจยุ่งยากกว่าคนที่ใช้แค่ขับไปทำงานทั่วไป         เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจุของแบตเตอรี่กับระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุด ระยะเวลาในการชาร์จเพราะการชาร์จไฟกระแสสลับกับกระแสตรงกินเวลาต่างกัน รวมถึงพิจารณาหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้กับรถ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นออกแบบที่ชาร์จแบตเฉพาะของตนทำให้หาหัวชาร์จยากจึงอาจทำให้ไม่สะดวก ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจด้วยว่าในเมืองที่ตนพักอาศัยมีแหล่งชาร์จจุดใดบ้าง         ส่วนการบริการหลังการขายเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิถามเพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้     ศึกษาและวางแผนก่อนซื้อ         ปารัช ทวีศักดิ์ ยอมไม่มีรถขับอยู่หลายปีเพื่อรอซื้อรถไฟฟ้า สาเหตุเพราะน้ำมันมีราคาแพงและเธอเชื่อว่ามันจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เธอเล่าว่า         “ใช้เวลานานเหมือนกัน ยอมที่จะไม่ใช่รถเลย น่าจะประมาณหกเจ็ดปีได้ แต่หมายถึงว่าเราก็ใช้รถกับแฟน เราให้เขาใช้โดยที่ไม่ซื้อคันใหม่ เก็บเงินไว้ก่อนเพื่อรอรถไฟฟ้าอย่างเดียวเพราะเรารู้ว่ารถไฟฟ้าเข้ามาแล้ว แล้วทั่วโลกให้การยอมรับ ระหว่างนี้ก็ศึกษาเรื่องระบบไฟว่าต้องเติมยังไง ก็ค่อยๆ ศึกษา สอบถามจากพนักงานขาย เสิร์ชดูบ้าง เข้าไปอยู่ตามกลุ่มเฟสบุ๊ค เป็นกลุ่มรถของยี่ห้อนี้ ยี่ห้ออื่นด้วย ค่อยๆ หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรับรถ”         รถยนต์ไฟฟ้าที่ปารัชซื้อมาในเวลานั้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล เธอจึงซื้อมาในราคาล้านต้นๆ แต่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเธอคิดว่าคุ้มเมื่อเทียบกับการจ่ายค่าน้ำมัน เธอยกตัวอย่างว่าถ้าวิ่ง 2,000 กิโลเมตรต่อเดือนเธอจะจ่ายค่าไฟแค่ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมันตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึง 6,000 บาท         สำหรับคนที่ลังเลกับการซื้อรถไฟฟ้า หนึ่งในความลังเลใหญ่คือจุดชาร์จ เพราะต่อให้เป็นการชาร์จที่บ้าน ปารัชก็ยังรู้สึกยุ่งยากเนื่องจากต้องไปทำเรื่องกับการไฟฟ้าเพื่อนำมิเตอร์มาติด         “มิเตอร์มีสองแบบด้วย แบบทีโอยูกับแบบธรรมดา ธรรมดาก็ราคาปกติ จ่ายเท่าที่เราจ่ายค่าไฟ แต่ถ้าเป็นทีโอยู หลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าเรทราคาจะลดไปครึ่งหนึ่ง แต่จะเสียค่าหม้อแปลงเพิ่ม นี่เลือกแบบทีโอยูแล้วติดเฉพาะรถไฟฟ้าอย่างเดียว แยกหม้อกับของที่บ้านเลย”         ปารัชยอมรับว่าหลังจากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ไม่อยากกลับไปใช้รถยนต์น้ำมันอีกเลย ส่วนหนึ่งคงเพราะเธอสามารถปรับตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว ใช่ การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การศึกษาข้อมูล แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการปรับวิธีคิด (mindset) ปรับ mindset         การเติมพลังงานให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์น้ำมัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมและวางแผนพลังงานที่จะใช้กับรถของตนให้เพียงพอ ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าการชาร์จที่บ้านถือว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จเวลาใด ช่วงไหน ควรติดตั้งมิเตอร์แบบใด         “เราควรชาร์จไฟรถเวลาไหนอย่างไร ชาร์จให้เต็มพอดีๆ แล้วก็ตัดหรือถนอมแบตเตอร์รี่ มันก็ต้องคิดว่าถ้าจะถนอมให้ใช้ได้นานก็ควรหลีกเลี่ยงการชาร์จกระแสตรงถ้าไม่จำเป็น บริหารการชาร์จกระแสสลับที่บ้าน เป็นวิธีคิดที่อาจจะต้องเรียนรู้ซึ่งผมคิดว่าไม่ยาก เพียงแต่จะซับซ้อนกว่าการเติมน้ำมัน”         แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและจะมากขึ้นอีก แต่ก็ยังมีจำกัดกว่าปั๊มน้ำมัน ผู้ขับขี่จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงให้รัดกุม ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าถ้าแบตใกล้หมดจะเติมจุดไหน อย่างไร เพราะต่อให้มีจุดชาร์จก็อาจใช้ไม่ได้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซม มีคนจองไว้ หรือหัวชาร์จใช้ไม่ได้กับรถที่ขับ         ประเด็นนี้สอดคล้องกับปารัช เธอเล่าว่าเราจะต้องหาจุดเติมไฟใกล้บ้าน ต้องคำนวณว่ารถจะต้องวิ่งได้กี่วัน เพราะตัวรถแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน รถของเธอวิ่งได้ประมาณ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ก็มีคำแนะนำว่าถ้าชาร์จแบบเร็วไม่ชาร์จเต็มถึง 500 กิโลเมตร และถ้าต้องเดินทางออกจากบ้านและชาร์จไฟระหว่างทางก็ต้องรอทำให้ต้องคำนวณเรื่องเวลาด้วย เธอสรุปว่า         “มีรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการวางแผนค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนรถน้ำมันที่วิ่งเข้าปั๊มเติมปุ๊บปั๊บเสร็จ”         การขับด้วยความเร็วเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน คนขับรถยนต์น้ำมันจะรู้รอบเครื่องเมื่อเร่งความเร็วซึ่งเป็นการเตือนผู้ขับให้รู้ตัวว่าขับเร็วเกินไปหรือไม่และชะลอความเร็วลง ในทางกลับกัน ความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ไม่มีเสียงเตือนจากเครื่องยนต์ ผู้ขับอาจไม่รู้ตัวจึงเสี่ยงทั้งต่ออุบัติเหตุและการทำผิดกฎจราจร        ความเงียบยังก่อความไม่ราบรื่นอีกประการหนึ่ง หากเป็นการขับในชุมชน คนที่สัญจรไปมา สัตว์จร หรือสัตว์เลี้ยงอาจไม่รู้ตัว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นจะสร้างเสียงเทียมขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะดังเพียงพอต่อการได้ยิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับที่ต้องคอยระมัดระวังในส่วนนี้ ความยุ่งยากของผู้บริโภคในเวลานี้         นอกจากความคิดและพฤติกรรมที่ต้องปรับยังมีประเด็นที่แผ่กว้างกว่าเรื่องเชิงปัจเจก ตัวอย่างเช่นเบี้ยประกัน ชัยภวิศร์ กล่าวว่า         “ถ้ารถมูลค่าเท่าๆ กัน ในความเข้าใจผม เบี้ยประกันรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถน้ำมันระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขนาดสองสามเท่า ประกันภัยในช่วงแรกที่ปีล่าสุดจะแถมประกันภัยประเภท 1 มาให้ ส่วนปีที่ 2 เราจ่ายเองบางทีค่าประกันสูงทำให้ผู้บริโภคตกใจได้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรณรงค์คุยกันว่าค่าประกันภัยจำเป็นต้องแพงขนาดนี้หรือไม่         “หรือถ้ามีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยรถที่เรียกว่า active safety ทำยังไงไม่ให้รถเกิดอุบัติเหตุเสียก่อน ไม่ว่าจะเบรกเองอัตโนมัติ มีระบบเลี้ยวหักหลบอัตโนมัติ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุ จะช่วยลดเบี้ยประกันได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปทำงานเชิงนโยบายกัน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ทำให้เบี้ยประกันลดลงมา เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องเผื่อเงินไว้สำหรับการซื้อประกันภัยรถในปีต่อๆ ไป”         อะไรอีก? เบื้องต้นการชาร์จนับเป็นจุดยุ่งยากที่สุดในเวลานี้ นอกจากเรื่องหัวชาร์จที่ไม่เหมือนกันแล้ว ตู้ชาร์จบางแห่งเขียนว่า low priority แปลว่าถ้าไฟบริเวณนั้นตกตู้นั้นจะชาร์จไม่ได้เร็วตามที่ระบุไว้ โดยเฉพาะที่ห่างไกลหรือชนบท ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการชาร์จยาวนานออกไป         และเนื่องจากตู้ชาร์จไฟมีหลายแบรนด์แต่ละแบรนด์มีแอปพลิเคชันของตนเอง ผู้บริโภคต้องโหลดแอปฯ จำนวนมากเพื่อใช้กับตู้ชาร์จแต่ละเจ้าทำให้เกิดความยุ่งยาก บางแอปฯ ยังขอข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากทั้งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรับบริการ เช่น ขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งบัตรประชาชน มันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมากไปมั้ย แค่จะจ่ายเงินซื้อไฟ ทำไมต้องรู้ที่อยู่ เบอร์โทร บางแอปฯ ถึงกับต้องรู้เลขบัตรประชาชนโดยไม่จำเป็น         อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องก่ำกึ่งว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ก็คือ จุดชาร์จในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นกระแสสลับและคิดค่าชาร์จเป็นชั่วโมง ไม่ได้คิดเป็นจำนวนหน่วยกระแสไฟ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคชาร์จไฟให้ห้างสรรพสินค้า 3 ชั่วโมงแต่ได้ไฟไปเพียง 30 กิโลวัตต์ แต่ค่าชาร์จชั่วโมงละ 40 บาท ทั้งที่เงิน 120 บาทถ้าชาร์จตามจุดชาร์จข้างนอกเรียกว่าได้พลังงานแทบจะเต็มสองรอบ         ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คาดว่าต้องอาศัยเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง เพื่อสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดความยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เตรียมรับมือพลวัตจากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า         มิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกมุ่งจัดระเบียบรถยนต์น้ำมัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มปริมาณขึ้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกันไปหรือไม่         ชัยภวิศร์คิดว่ากฎหมายเดิมส่วนใหญ่ยังคงใช้ได้ เช่น การจำกัดความเร็ว เมาแล้วขับ เป็นต้น มีเฉพาะเรื่องเสียงที่เขาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเขียนกฎหมายกำกับว่าในที่ที่ใช้ความเร็วต่ำหรือในเขตชุมชน เสียงเทียมควรจะดังหรือมีลักษณะกระตุ้นเตือนทั้งคนและสัตว์ได้มากพอเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ         นอกจากนี้ อนาคตที่รถยนต์เปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุว่าเจ้าของรถหรือบริษัทรถยนต์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ นี่ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตระเตรียมแนวทางเอาไว         สุดท้ายของท้ายสุด แบตเตอรี่ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างหละหลวม ตรงนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหากไม่เตรียมการรับมือ        “เรื่องนี้ฝรั่งคุยกันเยอะ เขาทำก่อนเรา เห็นปัญหาก่อนเรา เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายชนิดและกำลังปรับอยู่เรื่อยๆ กระบวนการจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นถูกเอาไปรียูสได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูให้ครบ life cycle ว่าจะเอากลับไปใช้ใหม่ได้กี่รอบ กี่ครั้ง และถึงจุดที่ต้องถูกทำลายจะทำยังไง ต้องบอกว่าบ้านเราการจัดการของเสียพวกนี้ยังด้อยมากๆ แต่ไม่ใช่แค่แบตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดยังไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการพูดคุย และยังผลักภาระเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ประกอบการ         “บางประเทศผู้ประกอบต้องมีแผนเอาแบตเตอรี่มือถือของตัวเองออกจากตลาดอย่างไร จัดการยังไง เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งเมืองไทยยังทำน้อยมาก ต้องมีมาตรการ แรงจูงใจ สนับสนุนผู้ประกอบการที่จัดการเรื่องพวกนี้ได้ดี รวมถึงออกแบบนวัตกรรมที่แบตเตอรี่หรือตัวเครื่องสามารถรีไซเคิล รียูสในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ในโลกหลายรุ่นจุดขายคือใช้วัสดุเหลือใช้มาผลิตตัวรถ แบตเตอรี่ เอามาเป็นจุดขายว่ารีไซเคิลง่ายขึ้น”         ชัยภวิศร์เสนอข้ามไปอีกขั้นว่า รัฐอาจออกมาตรการสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิ้ล การรับจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วของผู้ประกอบ หรือตู้ชาร์จไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังคงมีพลวัตต่อเนื่อง ผู้ใช้หรือผู้ที่กำลังคิดจะซื้อควรศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ได้เวลาต้องปรึกษาหารือว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 กระแสต่างแดน

จ่ายแล้วจ่ายอีก        ตำรวจไต้หวันเตือนนักช้อปออนไลน์ให้ระวัง “โทรศัพท์แอบอ้าง” หลังมีผู้มาแจ้งความเรื่องดังกล่าวมากกว่า 2,725 ครั้งในไตรมาสที่สองของปีนี้กองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมของไต้หวันระบุว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้าของร้านดังหรือแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น ร้านหนังสือ books.com.tw ร้านอุปกรณ์กีฬา Decathlon Group หรือ Shopee เป็นต้น ลูกค้าจะได้รับแจ้งให้ชำระเงินซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากครั้งแรก “ทำรายการไม่สำเร็จ” หรือมีปัญหาในการทำ แบ่งผ่อนชำระ บ้างก็ได้รับข้อมูลว่าทำแล้วจะได้รับของแถม หรือได้อัปเกรดเป็นสมาชิกระดับวีไอพี ตำรวจจึงขอให้เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้กำกับดูแลบริษัทที่รับจ้างดูแลฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการรั่วไหล หรือการแฮคข้อมูล และให้แจ้งเตือนผู้ใช้ที่หน้าแรกของร้านด้วยส่วนผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการรับสายจากหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย +2 หรือ +886   จมด้วยกัน        ฝันร้ายของบริษัทประกันรถยนต์กลายเป็นจริง เมื่อมีการเคลมประกันเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยเจ้าของรถยนต์ในกรุงโซล หลังเกิดน้ำท่วมหนักเพราะฝนที่ตกหนักสองวันติดต่อกันเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการแจ้งเคลมประกันยานพาหนะที่เสียหายเข้ามากว่า 7,000 คัน และในจำนวนนั้นมีไม่ต่ำกว่า 1,500 คัน ที่เป็นรถนำเข้าราคาแพงของคนมีฐานะที่อาศัยอยู่ในย่านกังนัม   กรณีของบริษัทซัมซุงไฟร์แอนด์มารีนอินชัวรันส์ จากรถที่แจ้งเคลมเข้ามา 2,371 คัน มี 939 คัน (เกือบร้อยละ 40) ที่เข้าข่ายเป็นรถหรู ที่มีทุนประกันรวมกันไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านวอน หรือประมาณ 680 ล้านบาท แม้บริษัทประกันรถยนต์จะไม่เดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดตัวไปเหมือนธุรกิจประกันสุขภาพในบางประเทศ เพราะได้กำไรดีมาตลอดแม้ในช่วงโควิดระบาด แต่คนที่ฝันสลายคือผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าจะได้จ่ายเบี้ยประกันถูกลง ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ตลาด อะไรอยู่ในกระเป๋า            เทรนด์ใหม่มาแรงใน Tiktok ขณะนี้คือคลิปลุ้นเปิดกระเป๋าไม่มีเจ้าของ ที่คนทำคอนเทนท์อ้างว่าได้มาจากสนามบิน สถานีรถไฟ หอพักนักศึกษา หรือบ้านเช่า เป็นต้น ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้นว่าข้างในมีอะไร มูลค่าเท่าไร เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งนำกระเป๋าที่อ้างว่าซื้อผ่านแอปฯ ขายของมือสองมาในราคา 1,000 หยวน (ประมาณ 5,250 บาท) มาเปิดในคลิป นอกจากข้าวของทั่วไปของผู้หญิงแล้ว เธอยัง “เซอร์ไพรซ์” ที่เจอสร้อยคอแบรนด์เนม ราคาไม่ต่ำกว่า 40,000 หยวน (ประมาณ 200,000 บาท) ตามกฎหมาย การซื้อขายกระเป๋าดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของถือเป็นความผิด และทั้งสนามบินและสถานีรถไฟต่างก็ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายนำกระเป๋าไม่มีเจ้าของออกมาขายหรือเปิดประมูล ผู้ค้ารายหนึ่งบอกว่ากระเป๋าที่เขาขายนั้นส่วนใหญ่มาจากบ้านเช่าหรือหอพักนักศึกษา แต่ “ของมีค่า” นั้นถูกใส่เพิ่มเข้าไปภายหลัง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเป็นอุบายขายของมือสองในราคาสูงขึ้น    เข้ากลุ่มอัตโนมัติ        ศาลสูงออสเตรเลียมีคำสั่งให้ผู้เสียหายจากการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมโดยธนาคาร ANZ และธนาคาร ASB เป็นผู้ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกร้องเงินคืน เดือนมีนาคม ปี 2563 ธนาคาร ANZ ยอมรับว่าคำนวณดอกเบี้ยผิดเพราะข้อบกพร่องของโปรแกรมที่ใช้ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 และตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าประมาณ 100,000 คน รวมเป็นเงิน 29.4 ล้านเหรียญ  ด้านธนาคาร ASB ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยหลังการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 ถึง 2019 ก็ตกลงยินยอมจ่ายเงินรวม 8.1 ล้านเหรียญให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 73,000 ราย คำสั่งศาลครั้งนี้ทำให้ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้อุ่นใจได้ว่าจะมีการดำเนินคดีและมีโอกาสได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ต้องการร่วมฟ้องก็สามารถขอถอนตัวจากคดีนี้ได้ ฟังก์ชันเหลือเชื่อ        กรมยานยนต์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานพิจารณาคดีปกครองด้วยข้อ กล่าวหาว่าโฆษณารถยนต์เทสลาว่าด้วยระบบช่วยเหลือในการขับขี่ เข้าข่ายเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของฟังก์ชัน “ออโตไพล็อต” และฟีเจอร์ “ขับอัตโนมัติ” โฆษณาในเว็บไซต์บริษัทระบุว่า “สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่เข้าไปนั่ง แล้วบอกรถคุณว่าจะให้ไปที่ไหน ถ้าคุณไม่พูดอะไรเลย รถจะเปิดดูปฏิทินของคุณ แล้วพาคุณไปยังที่ๆ คาดว่าคุณมีนัดหมาย” ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่ารถเทสลาไม่ใช่ยานยนต์ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาขณะนี้หรือในขณะที่ทำการโฆษณา หากถูกตัดสินว่าผิดจริง เทสลาจะไม่มีสิทธิจำหน่ายรถในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแบรนด์และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกต่อไป ขณะนี้บริษัทกำลังถูกสอบสวนกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นขณะรถอยู่ในโหมดออโตไพล็อตด้วย        

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 252 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถ

ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แน่นอนว่าประวัติทางการเงินของผู้เช่าซื้อก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะนำมาพิจารณา หากประวัติไม่ดี บริษัทหรือสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้เช่าซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้แล้ว ผู้เช่าซื้อจะไปหาบุคคลอื่นที่มีประวัติการทางด้านการเงินดีกว่าตน มาเป็นผู้เช่าซื้อแทน ที่เห็นกันอยู่เสมอคือคนใกล้ชิดหรือใช้บุคคลในครอบครัวมาทำสัญญาเช่าซื้อ เช่น คนเป็นแฟนกัน หรือพี่น้องกัน ก็ ทำให้การทำสัญญาเช่าซื้อไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะผู้เช่าซื้อในสัญญา ไม่ใช่ผู้เช่าซื้อตัวจริง         ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้เช่าซื้อตัวจริงผิดนัดไม่จ่ายเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อที่มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงถูกทวงถามจากบริษัทหรือธนาคารที่เช่าซื้อหรือให้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน  เช่นนี้เองผู้เช่าซื้อ (ตามสัญญา) จึงไปเอารถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เช่าซื้อ (ตัวจริง) โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง กลายเป็นปัญหาว่า การกระทำของผู้เช่าซื้อตามสัญญาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่        เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดเรื่องราวจนฟ้องร้องกันถึงศาลฏีกา ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้น ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง เพราะมองว่าผู้เช่าซื้อที่ทำสัญญาเช่าซื้อ ไม่มีเจตนาทุจริต  การกระทำจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ศาลฏีกาพิพากษากลับให้ผู้เช่าซื้อมีความผิดฐานลักทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยคือผู้เช่าซื้อผู้มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตัวจริง เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริษัทผู้จำหน่าย และเมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็หาทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่สำเร็จแล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562                 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว         ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อรถยนต์มือสองชำรุดใครต้องรับผิดชอบ

        รถยนต์มือสอง ตัวเลือกที่หลายคนเลือก อาจเป็นเพราะราคาที่ถูกกว่ารถใหม่มาก เรียกว่าเป็นราคาที่เอื้อมถึง และหลายคนก็พบว่า หากเลือกได้ดีการมีหรือซื้อรถยนต์มือสองที่สภาพดีไว้ใช้งานก็คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่ใช้ไปนานๆ แล้วเกิดปัญหาของสภาพเครื่องยนต์ขึ้นมา ค่าซ่อมอาจมากกว่าราคาที่ซื้อมาก็เป็นได้ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดี เรามาดูกรณีของผู้บริโภคท่านนี้เผื่อจะได้ไว้เป็นข้อคิดเตือนใจ           คุณอำพนเป็นอีกคนที่เลือกซื้อ รถยนต์มาสด้ามือสอง จากเต็นท์ขายรถยนต์มือสองแห่งหนึ่งไว้ใช้งาน ซึ่งตอนไปเลือกซื้อรถ เขาเจอรถที่ถูกใจและรุ่นที่ต้องการอยู่พอดี จึงตกลงซื้อรถด้วยเงินสดในราคา 290,000 บาท เขาตรวจสอบสภาพตัวรถยนต์และเครื่องยนต์ระดับหนึ่งก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร สภาพดูดีพร้อมใช้งานเลยแหละว่างั้นเถอะ         แต่...เมื่อได้รับรถยนต์มาแล้วปัญหาที่คาดไม่ถึงก็ปรากฎ คุณอำพนนั้นเมื่อได้ใช้รถยนต์คันนี้ไปได้สักพัก เขาก็พบว่ารถคันนี้มีอาการผิดปกติ คือเมื่อเข้าเกียร์ว่างแต่รถกลับเคลื่อนที่ได้เองโดยเคลื่อนที่ถอยหลัง และเครื่องยนต์มีอาการสั่นรุนแรง  เขาเริ่มไม่แน่ใจกับสภาพรถยนต์มือสองคันนี้ว่าจะปลอดภัยต่อการใช้งานหรือไม่  จึงนำไปรถเข้าเช็คที่ศูนย์รถยนต์มาสด้า เบื้องต้นช่างระบุว่า ตัวหัวฉีดและกระบอกสูบของรถยนต์มีปัญหา ส่วนเกียร์ก็มีปัญหาแต่ต้องใช้เวลาเพื่อตรวจดูอย่างละเอียดอีกรอบหนึ่งก่อน         เมื่อรู้ถึงปัญหาความชำรุดบกพร่อง คุณอำพนรีบแจ้งไปยังเต็นท์รถทันทีเพราะมองว่าควรเป็นความรับผิดชอบของทางเต็นท์ ที่รถยนต์มีสภาพผิดปกติ แต่ทางเต็นท์ได้แจ้งว่า ไม่ขอรับผิดชอบในความชำรุดที่เกิดขึ้น เพราะรถยนต์คันดังกล่าวได้มีการขายเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  อ้าว..ไหงงั้นล่ะ จะทำอย่างไรดี เมื่อคุณอำพนเจอคำปฏิเสธของเต็นท์รถมือสอง เขาจึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นดังนี้        1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่ทำการซื้อขายรถยนต์ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่าสิ่งที่ผู้ร้องได้พูดมานั้นเป็นความจริง เพราะถ้าไม่จริงก็ถือว่าแจ้งความเท็จซึ่งผู้ร้องจะต้องมีความผิดทางกฎหมาย        2. ทำจดหมายหรือหนังสือไปยังเต็นท์รถยนต์มือสองที่ผู้ร้องซื้อรถมา ให้รับผิดชอบกับความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โดยส่งจดหมายแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ        3. ถ้าเต็นท์ขายรถยนต์มือสองไม่ตอบรับหรือไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่เยียวยาแก้ไขปัญหาผู้ร้องสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยนำหลักฐานการตรวจสภาพรถ บันทึกประจำวัน จดหมายขอให้รับผิดชอบ มาใช้เป็นพยานในการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         เมื่อดำเนินการในข้อ 1 และ 2 แล้ว ทางมูลนิธิฯ จะช่วยผู้บริโภคในเรื่องการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติต่อไป ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ไม่มีทรัพย์สินจะถูกบังคับคดีได้ไหม

        ภูผา เช่าซื้อรถยนต์ ราคา 265,000 บาท โดยต้องผ่อนชำระทั้งหมด 74 งวด งวลละ 7,400 บาท เขาชำระไปได้เพียง 36 งวด แต่ไปต่อไม่ไหว เพราะเขาตกงาน สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ต่อมาไฟแนนซ์ฟ้องคดีให้เขาชำระค่าส่วนต่าง เพราะรถที่ยึดไปขายทอดตลาดนั้นได้เงินมา 90,000 บาท ขาดไป 175,000 บาท ถึงจะเท่ากับราคาของรถยนต์ที่ได้เช่าซื้อมา         ภูผาได้ไปทำสัญญาประนอมหนี้กับไฟแนนซ์ที่ศาลว่าจะผ่อนกับไฟแนนซ์เป็นจำนวนเงิน 6,8000 บาท ทุกเดือน แต่ผ่อนได้แค่ 1 ปี ก็ผ่อนต่อไม่ไหวเพราะสถานการณ์โควิดทำให้แทบไม่มีรายได้เหลือพอผ่อนหนี้ ทางไฟแนนซ์เร่งให้เขาหาเงินมาจ่าย มิฉะนั้นจะทำเรื่องบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของเขาเสีย ภูผาคิดว่าตนเองก็ไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องค้างคาหรือมีปัญหาในอนาคต เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคอธิบายให้คุณภูผาฟังว่า เมื่อผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องเอง เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์และเงินเดือนเกิน 20,000 บาท ขึ้นไป ผู้ร้องไม่ต้องรู้สึกกดดันในเรื่องของการบังคับคดี เพราะถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะทำการสืบทรัพย์อย่างไรก็จะไม่พบ เนื่องจากผู้ร้องไม่มีทรัพย์สิน เมื่อไม่พบทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้อง เจ้าหนี้ก็ต้องแขวนหนี้ไว้ 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งภายใน 10 ปี ผู้ร้องไม่สามารถมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องได้ ถ้าผู้ร้องมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องและเจ้าหนี้ทราบ เจ้าหนี้จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดมาชำระหนี้ต่อไป         อีกวิธีหนึ่งที่ผู้ร้องสามารถทำได้ ในช่วงเวลา 10 ปี ผู้ร้องต้องสะสมเงินเพื่อที่จะปิดบัญชี (หนี้) ในอนาคต โดยอาจปิดด้วยเงินก้อนเดียวและเจรจาต่อรองเพื่อขอลดยอดหนี้ลงมา แต่ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้ เมื่อใกล้ระยะเวลาในการบังคับคดีจะหมดลง  ผู้ร้องก็อาจจะต่อรองขอปิดบัญชีตามจำนวนเงินที่ผู้ร้องสามารถจะปิดได้ในขณะนั้น ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้ก็จะรับไว้ เพราะถ้าไม่รับเงื่อนไขที่ผู้ร้องเสนอให้ เมื่อครบระยะเวลาในการบังคับคดีเจ้าหนี้ก็อาจจะไม่ได้อะไรจากผู้ร้องเลย          และเมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีไปแล้วผู้ร้องก็สามารถมีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องได้ โดยที่เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีได้ เนื่องจากหมดระยะเวลาในการบังคับคดีแล้ว แต่หนี้ยังคงอยู่ไม่ได้หมดไปพร้อมกับระยะเวลาในการบังคับคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แค้นรักสลับชะตา : คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ “วิทยาศาสตร์” ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นระบบคิดหลักของสังคมมนุษย์ วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อในเรื่องเหตุผล การพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ และความก้าวหน้าของการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเอื้อให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง         ในโลกตะวันตก “ยุคมืด” แห่งการผูกขาดความรู้โดยคริสตจักรและความเชื่อเหนือธรรมชาติตามลัทธิเทวนิยมได้ถือครองโลกตะวันตกมานับหลายร้อยปี แต่ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติทางความรู้ วิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้ออ้างว่า เหตุผลและความจริงเชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในกาลสมัยใหม่ได้ ในขณะที่ศาสนาและความเชื่อพระเจ้าแบบดั้งเดิมได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย พิสูจน์จับต้องไม่ได้ และค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจในการอธิบายโลกแห่งความรู้ของมนุษย์ลงไป        ทว่า คำอธิบายข้างต้นนั้นดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักสำหรับปรากฏการณ์ของการสลับร่างระหว่างตัวละคร “เตช” กับ “ภศวรรษ” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แค้นรักสลับชะตา”         เปิดฉากของเรื่องขึ้นมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับเตช ตัวละครหนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้หัวแหวนของ “ธนภพ” และ “ฐิติยา” เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ร่ำรวย หลังจากเรียนจบวิศวกรรมการบินจากต่างประเทศ เตชก็มุ่งมั่นที่จะเป็นกัปตันเครื่องบิน และคาดหวังจะลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “กุลนิษฐ์” คุณหมอนิติเวชสาว         ตัดสลับกับภาพของภศวรรษ ดาราชายหนุ่มหล่อ ผู้ที่ทั้งเจ้าชู้ กะล่อน เห็นแก่ตัว และรักใครไม่เป็น เพราะตั้งแต่เด็กนั้น เขาได้รับแต่ “พลังด้านลบ” จากการตั้งแง่รังเกียจของ “สุนัย” ผู้เป็นบิดา โดยที่ตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนเลือกชีวิตอีกด้านเป็นคนรับเดินยาเสพติดให้กับแก๊งมาเฟีย และแม้เขาจะคบหาอยู่กับแฟนนางแบบสาวอย่าง “จินนี่” แต่ลึกๆ ภศวรรษก็ไม่เคยเชื่อว่า โลกนี้จะมีใครที่จริงใจและรักเขาจริงๆ         กับชายหนุ่มสองคนที่อยู่กันคนละโลกและคนละเงื่อนไขชีวิต แต่ก็เหมือนถูกสวรรค์เบื้องบนลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกัน เพราะในคืนหนึ่งซึ่งเป็นวันพระจันทร์กลายเป็นสีแดง ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ชนกัน ทำให้เตชกับภศวรรษเกิดการสลับร่าง โดยที่วิญญาณของพระเอกหนุ่มทั้งคู่ได้สลับไฟล์ไปอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง         จากนั้น ปมขัดแย้งของเรื่องก็ผูกขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ “ร่าง” จะต้องสลับกัน แต่ “ชะตาชีวิต” ของทั้งคู่ก็ต้องสลับปรับเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เตชผู้ที่ถูกพรากไฟล์ชีวิตไปทั้งหมด จึงพยายามหาทางกลับคืนร่างของเขา ในขณะที่ภศวรรษผู้ซึ่งได้ลิ้มรสชีวิตใหม่เป็นลูกเศรษฐีไฮโซ แถมมีคนรักเป็นหมอสาวแสนสวย ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปเดินทางบนชะตาชีวิตเส้นเดิม         แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของเส้นเรื่องที่ดำเนินไปนี้ ละครก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วทั้งเตชและภศวรรษเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นของความสับสนในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปรพลิกผันมาจากความรักความแค้นที่สืบเนื่องมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเอง         จุดชนวนเริ่มต้นมาจากความรักที่มีรอยแค้นสลักฝังอยู่ เพราะครั้งหนึ่งสุนัยกับฐิติยาเคยเป็นคนรักเก่ากันมา แต่ด้วยสถานะที่ยากจนกว่า ธนภพจึงใช้อำนาจเงินพรากฐิติยาไป จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความแค้น สุนัยก็ได้แต่รอวันที่จะกลับมาทำให้ธนภพต้องเจ็บปวดแบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกอีกฝ่ายกระทำมา         หลังเรียนจบและได้มาเป็นหมอทำกิฟต์ชื่อดัง ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ผนวกกับแรงรักแรงแค้นที่ฝังแน่นเอาไว้ ทำให้หมอสุนัยผู้มีอหังการว่า ตนสามารถเป็นประหนึ่ง “พระเจ้า” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ รอคอยวันที่จะใช้ความรู้ของเขาล้างแค้นธนภพกับอดีตหญิงคนรักของตน         ดังนั้น เมื่อธนภพกับฐิติยามาขอคำปรึกษาเรื่องที่ทั้งคู่มีบุตรยาก สุนัยจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยการแอบทำกิฟต์เด็กทารกชายขึ้นมาสองคนพี่น้อง ซึ่งก็คือเตชกับภศวรรษ ที่คนแรกเป็นลูกชายของเขา กับอีกคนที่เป็นบุตรของธนภพ จากนั้นจึงสลับชาติกำเนิดของเด็กทั้งสองให้ไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ลูกของตนได้ไปใช้ชีวิตในครอบครัวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และตนก็เลี้ยงลูกชายของศัตรูหัวใจให้เผชิญอยู่แต่กับทุกขเวทนา         ในทางหนึ่ง เส้นเรื่องหลักของละครจะเน้นให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื้นเต้นไปกับชะตาชีวิตที่พลิกผัน เพราะเตชก็ต้องมาเผชิญกับด้านมืดในชีวิตที่ภศวรรษก่อไว้ ในขณะที่ภศวรรษก็ได้เปลี่ยนสถานะสลับมาใช้ชีวิตอันอู้ฟู่หรูหรา จนไม่อยากจะสลับคืนกลับไปอยู่ในร่างเดิม ซึ่งนั่นก็คือการให้คำตอบแบบที่ตัวละครต่างก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชีวิตเราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ในร่างของใคร”         แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครเองก็ได้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามไปด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบคืนวันพระจันทร์แดงที่ดูเหนือจริง และทำให้ชายหนุ่มสองคนสลับชะตาชีวิตกันได้เยี่ยงนี้ ก็ช่างท้าทายคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ที่ธำรงพลานุภาพในโลกแห่งความรู้ของสังคมสมัยใหม่         ในขณะที่เตชผู้เติบโตมากับโลกความจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นทั้งวิศวกรการบินและมีหมอนิติเวชสาวเป็นแฟน ส่วนภศวรรษก็มีชีวิตอยู่กับโลกสมมติและอารมณ์ความรู้สึก ที่เขาเป็นดารานักแสดง แถมมีแฟนสาวเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง เมื่อได้สลับร่างกัน ทั้งคู่ก็พบว่า ความจริงและเหตุผลหาใช่จะอยู่เหนือกว่าสิ่งสมมติและอารมณ์ แต่ทว่าพรมแดนของทั้งสองโลกนี้อาจมีเพียงเส้นกั้นบางๆ ที่พร้อมจะผนวกข้ามไขว้ไปมาได้เช่นกัน         และพร้อมๆ กันนี้ ในขณะที่ละครได้เผยในท้ายเรื่องว่า เศรษฐีผู้มั่งคั่งอย่างธนภพก็มีเบื้องหลังเป็นผู้บงการใหญ่ของธุรกิจค้ายาเสพติด ตัวของหมอสุนัยเองที่เชื่อมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชะตาชีวิตของคนเราไม่อาจกำกับให้อยู่ใต้อาณัติของมนุษย์ไปได้เลย เพราะแม้วิทยาการการแพทย์จะให้ปฏิสนธิตัวอ่อนชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาได้ก็ตาม แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคืนวันพระจันทร์แดงก็พร้อมที่จะทำให้ชะตาชีวิตของคนเราผันไปตามที่เบื้องบนกำหนดเอาไว้แล้ว         ภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวเอาไวว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” คำกล่าวนี้ก็อาจใช้เตือนผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ว่า แม้วิทยาการความรู้จะทำให้มนุษย์คิดคำนวณและมีอหังการอยู่เหนือธรรมชาติขึ้นได้ก็จริง แต่ลิขิตแห่งสรวงสวรรค์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือเงื้อมมือเล็กๆ ของคนเราอยู่วันยังค่ำ         และในฉากจบของเรื่อง ชายหนุ่มสองคนได้ตัดสินใจไม่สลับร่างกลับคืน ก็เพราะ “ทุกอย่างมันถูกที่ถูกทางของมันไปแล้ว” แต่ที่สำคัญ คำกล่าวของ “ลุงชาติ” บ่าวรับใช้ของหมอสุนัยที่ผ่านชีวิตมานานช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “ทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่มีใครฝืนโชคชะตาได้…คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นจริง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ย้อมแมวรถยนต์มือสอง

        คุณภูผา อยากได้รถยนต์คันใหม่แต่เมื่อคำนวณรายได้ ค่าใช้จ่ายตัวเอง ยี่ห้อ รุ่น ของรถยนต์ ที่อยากได้แล้วก็ตกลงใจว่าจะซื้อรถยนต์มือสอง เขาก็เริ่มดูเต้นท์รถยนต์มือสองจากอินเทอร์เน็ตและตระเวนดูเต็นท์รถยนต์มือสองที่เปิดขาย จนไปเจอเต็นท์ดูน่าเชื่อถือและมีรถยี่ห้อและรุ่นที่เขาอยากได้พอดี คือรถยนต์มิตซูบิชิ รุ่น ปาเจโร่          เต็นท์รถมือสองร้านนี้คุณภูผา พบว่า “ดูดี” เมื่อเช็คประวัติในอินเทอร์เน็ตแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร เขาจึงตกลงใจซื้อรถยนต์คันที่ชอบใจในราคา 650,000 บาท หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือนมีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาสงสัยว่า เขาอาจจะถูกย้อมแล้วขายรถยนต์มือสองคันนี้ เขาจึงไปตรวจเช็คเลขกิโลเมตรรถยนต์ที่ศูนย์มิซูบิชิ แล้วก็พบจริงๆ ว่าเขาถูกย้อมแมวเข้าแล้ว         เพราะว่ารถยนต์ที่ซื้อมามีการกรอกเลขกิโลเมตรถอยหลัง เพื่อให้เห็นว่ารถยังใหม่อยู่ มีการใช้งานไม่เยอะ ตอนซื้อรถยนต์เลขกิโลเมตรอยู่ที่ 93,840  กิโลเมตร  แต่เมื่อไปเช็คที่ศูนย์มิตซูบิชิ พบว่าเลขกิโลเมตรจริงเป็น 273,480  กิโลเมตร ซึ่งรถยนต์ต้องได้รับการเปลี่ยนสายพาน ตั้งแต่ 100,000 กิโลเมตร ทำให้ไม่ทราบว่าอยู่ในระยะที่ต้องเปลี่ยนสายพานแล้ว หากใช้งานต่อไปอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ และเมื่อรถยนต์ที่เลขกิโลเมตรเพิ่มขึ้น เป็น 200,000 กิโลเมตร ก็จะต้องเสียค่าบำรุงรักษาเพิ่มมากกว่าระยะ 100,000 กิโลเมตร เขาคิดว่าเต็นท์รถยนต์มือสองหลอกลวงเขา เขาจึงแจ้งมายังมูลนิธิฯ เพื่อให้ช่วยเหลือและเตือนให้ผู้บริโภคทราบ  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า การกระทำของเต็นท์รถยนต์มือสอง เป็นการกระทำทุจริตหลอกลวงผู้ร้อง โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบ เพื่อให้ผู้ร้องซื้อรถยนต์มือสอง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดีเต้นท์รถยนต์นี้ได้ข้อหาฉ้อโกง         ศูนย์พิทักษ์ได้ทำหนังสือเชิญเจ้าของเต็นท์รถและผู้ร้องมาเจรจา เพื่อตกลงแก้ไขปัญหา ผลการเจรจาไปในทางที่ดี คือเต็นท์รถยนต์มือสองชดเชยเงินค่าเปลี่ยนสายพานไทมมิ่ง จำนวน 13,000 บาท และเปลี่ยนฝาเปิดปิด บริเวณห้องเก็บแม่แรง เปลี่ยนมือจับเคฟล่า แก้ไข ซ่อมแซมซุ้มล้อหน้า รถยนต์ด้านขวา และส่งมอบกุญแจให้เพิ่มอีก 1 ดอก เรื่องนี้จึงจบลงกันได้ด้วยดี..........ข้อแนะนำการซื้อรถยนต์มือสองอายุเกินห้าปี        1.รู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อน คือดูข้อมูลจากรูปเล่มทะเบียนว่าคันนี้รุ่นอะไร ปีอะไร เลขไมล์เท่าไร        2.ดูรอบๆ ตัวรถ ดูเรื่องโครงสร้าง ลองเปิดปิดประตู ถอดยางประตูออกมาดูจุดกลมๆ ถ้าเกิดว่าไม่มีจุดไหนบิดเบี้ยวนี่มั่นใจได้เลยว่ารถไม่เคยชน ดูสภาพภายใน เช่น สภาพเบาะ ทดลองนั่งแล้วก็ปรับดูว่ายังใช้การได้ไหม เข็มขัดนิรภัยยังใช้ได้ดีหรือเปล่า        3.ลองสตาร์ทรถฟังเสียงเครื่องยนต์ เช็คระบบไฟฟ้าว่ายังทำงานไหม กระจกไฟฟ้า ไฟเลี้ยว ไฟหน้า ที่ปัดน้ำฝน แล้วก็ดูที่หน้าปัดว่ามีสัญญาณไฟอะไรขึ้นเตือนบ้าง        4.ตรวจเช็คแบตเตอรี        ขอบคุณข้อมูลจาก one2car inspection

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 เมื่อโดนฟ้องปิดปาก

        เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา แจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายแล้ว แต่วิธีการแก้ไขปัญหาของบริษัทก็ยังไม่ตอบโจทย์  ผู้บริโภคจึงไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องต่อสื่อมวลชน หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจะให้บริษัทสนใจหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้ได้จริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคถูกบริษัทฟ้องคดีกลับ เพื่อให้หยุดร้องเรียน เรามาดูบทเรียนจากเรื่องนี้กัน        ผู้บริโภคท่านหนึ่งซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ มาใช้ ต่อมาพบว่าเครื่องมีปัญหาเริ่มจากโช้ครั่ว โดยพบปัญหานี้หลังใช้รถเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ต่อมาก็พบปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาดอีก ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เขาได้แจ้งไปยังบริษัทเพื่อให้แก้ไขปัญหา บริษัทก็นำรถไปซ่อมแล้วหลายครั้งอาการต่างๆ ก็ยังไม่หาย เขารู้สึกว่าเขาซื้อรถป้ายแดงก็อยากได้รถที่มีคุณภาพดี ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อซ่อม แถมยังต้องระวังอันตรายขณะขับรถเพราะ รถมีปัญหา ซึ่งเขาก็แทบจะไม่ได้ใช้รถเลยเพราะรถต้องเข้าศูนย์เพื่อซ่อมบ่อยครั้ง ถ้ารถยนต์คุณภาพไม่ดีแบบนี้เขาขอให้บริษัทมาสด้าคืนเงินให้เขาและเอารถยนต์กลับคืนไปดีกว่า         เมื่อเขายื่นขอเสนอไปแล้วแต่บริษัทก็ปฏิเสธกลับมา จึงเกิดการเจรจากับบริษัทขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ เชิญบริษัทเจรจาอีกครั้ง และพาผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และออกสื่อเพื่อให้บริษัทมาสด้าแก้ไขปัญหา โดยขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้นำพาแก้ไขปัญหาตามที่ผู้บริโภคขอ แต่กลับเล่นงานผู้บริโภคกลับ ด้วยการฟ้องคดีอ้างว่า ใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท          แนวทางการแก้ไขปัญหา        การฟ้องคดีผู้บริโภคลักษณะนี้ เรียกว่า การฟ้องปิดปาก/การฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPPs) Strategic Lawsuit against Public Participation หรือที่นิยมเรียกว่า SLAPPs คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน เพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือหยุดการแสดงออกของประชาชนในบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทำให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นสาธารณะนั้นเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือทำให้เกิดความกลัว จนในที่สุดประชาชนเหล่านั้นก็จะละทิ้งความตั้งใจที่จะออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีของผู้ร้องเป็นการที่บริษัทฟ้องปิดปากผู้ร้องไม่ให้ร้องเรียนหรือหยุดพูดถึงปัญหาการใช้งานของรถยนต์ ข่มขู่ ทำให้ผู้ร้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังเรียกค่าเสียหายจำนวนมากถึง 84 ล้านบาท         กรณีนี้ผู้ร้องต้องตั้งสติ ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องคดี เมื่อถูกฟ้องคดีแล้วติดต่อทนายความเพื่อทำคำให้การ ยื่นให้แก่ศาลเพื่อต่อสู้คดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ทำคำให้การว่า  การออกมาฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธิว่าละเมิดใช้สิทธิเกินส่วน โดยยกข้อความจากเฟซบุ๊กว่า ข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความไม่ตรงกับความจริงนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ปกติการใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนบ้างก็ตาม การที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว จึงจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร จึงไม่เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน         ต่อมาผู้ร้องได้มีทีมทนายความเข้ามาช่วยเหลือให้การสืบคำให้การ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้น เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         หลังจากนั้นคดียังไม่จบ เพราะว่าบริษัทอุทธรณ์คำพิพากษศาลชั้นต้น ศาลอุทธณณ์ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น บริษัทก็ยังฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท จึงส่งผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ร้องใช้สิทธิตามปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วน ไม่มีความผิดตามที่บริษัทฟ้อง ไม่ต้องจ่ายเงิน 84 ล้านบาทให้แก่บริษัท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมื่อผู้ค้ำประกันถูกฟ้องให้ใช้หนี้

คุณสุภาพร  พันธุ์เลิศวิไล เป็นผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณพ่อ  เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงทำหนังสือแจ้งขอพักชำระหนี้ถึงบริษัทฯ  แต่บริษัทฯ ไม่ตอบ คุณสุภาพรในฐานะผู้ค้ำประกันจึงผ่อนชำระต่อ  แต่กลับถูกบริษัทฟ้องคดี  เธอเล่าเรื่องราวให้ฉลาดซื้อฟังว่า         หนูเป็นผู้ค้ำประกันให้คุณพ่อค่ะ ทีนี้เราผ่อนชำระมาเกินครึ่งทางแล้ว แล้วมีสถานการณ์โควิดรอบแรก คุณพ่อเลยไปทำหนังสือขอพักชำระหนี้หกเดือน เสร็จแล้วพอยื่นไปใช่ไหมคะ บริษัทเขาก็มีการเซ็นต์รับทราบกลับมาค่ะ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ร่วมโครงการ (โครงการพักชำระหนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้) หรืออะไร ทีนี้พอมันใกล้ๆ ถึงกำหนดชำระที่เราขอยื่นไป เขาก็โทรมาแจ้งว่าเขาไม่ได้ร่วมโครงการนะ พอเขาไม่ได้ร่วมเราก็ต้องส่งต่อใช่ไหมคะ เราก็ส่งต่อไปประมาณสักสองเดือน สองสามเดือนนี่แหละค่ะ         หลังจากนั้นก็มีหนังสือแจ้งมาที่ผู้ค้ำประกันว่าขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แล้วขอให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ประมาณแสนนิดๆ เราเห็นแล้วว่าเราจ่ายมาประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าจะให้เราจ่ายอีกแสนกว่าบาทก็คิดว่าเรามีเงินก้อนอยู่สำหรับมาเติมตัวนี้ได้ น่าจะปิดดีลรถคันนี้ได้ เราก็เลยไปเจรจาตั้งแต่วันที่เขาส่งจดหมายแจ้งมาเลยว่าขอปิดยอดรถคันนี้ โดยที่จะเอาเงินสดไปจ่ายให้ ทางบริษัทเขาอยากให้เราไปเจรจาก่อน เขาก็พูดว่าถ้าไปเจรจาลดได้เยอะ อย่างโน้นอย่างนี้            เราคุยกับพนักงานของบริษัทใช่ไหมคะ         ใช่ค่ะ พอเราไปถึงบริษัทเราไปดูยอดจริงๆ ปรากฎว่ายอดของเขามันไม่เคยตรงกับยอดที่เราส่งเลย เพราะว่าเขาหักต้นหักดอกแบบไม่ใช่ร้อยละ 15 ตามที่เคยสัญญาไว้ ซึ่งเขาบอกว่าการหัก การคิดของเขามันเป็นการคิดทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ว่ามันไม่ใช่ แล้วเราก็บอกว่ามันควรจะเหลือยอดเท่านี้สิ เราขอจ่ายยอดเท่านี้ เพราะเราจ่ายล่วงหน้าสองปี ก็ไม่ควรที่จะคิดดอกเบี้ยเรา แต่เขาก็ไม่ยอมลดค่ะ พอไม่ลดเราก็จ่ายของเราปกติก็คือไม่เจรจาแล้ว เราก็ผ่อนของเราไปตามปกติ พอเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็คือเท่ากับผ่อนหลังโควิดมาประมาณสี่ถึงห้างวดแล้วนะคะ พอเดือนมกราคมเขาก็ไปฟ้องศาล ฟ้องขอรถคืนหรือให้ชำระราคารถ         ทั้งที่เราผ่อนส่งตามปกติแต่เขาก็ยังเดินหน้าฟ้องเรา        เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรตอนที่เข้าไปเจรจา เขาก็โอเค ไม่ได้ปิดยอด เราก็ผ่อนไปตามปกติ แต่เขาฟ้องคดีค่ะ ทนายที่คุยด้วยบอกว่าฟ้องแล้วก็ให้เราไปเจรจาในศาลแทน ซึ่งเราต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว อยากจะไปเจรจาเพื่อปิดยอดรถคันนี้ในศาลแทน เพราะว่าศาลท่านลดให้มากกว่า ถูกไหมคะ คือศาลท่านจะเมตตากว่า อะไรที่มันเกินความเป็นจริง เขาจะไม่ได้มาคิดจากเราไม่ได้หรอก         ทีนี้พอขึ้นศาล นัดแรกเลย ขึ้นไปนัดเดียวนะคะ ศาลบอกว่าท่านสามารถพิพากษาให้ได้ว่าจ่ายตามที่เราต้องการได้ แต่รู้ไหมว่าบริษัทไม่ยอมโอนรถให้ ศาลท่านพูดแบบนี้ ศาลพูดขึ้นมาให้ก่อนเลย คือศาลคำนวณมาให้คร่าวๆ เลย ก็ตรงกับที่เราคำนวณไป คือเราทำการบ้านคำนวณไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ ตรงกันใกล้เคียงกันมากเลย ผู้พิพากษาท่านก็พูดว่าเคสแบบนี้บริษัทไม่โอนหรอก ท่านไม่ได้เจอมาเคสแรกนะ  ท่านเจอมาหลายเคสแล้ว ทนายบริษัททำหน้างงว่า ไม่นะเขาเคยได้ ศาลก็บอกไม่จริงไม่เชื่อให้โทรถามที่บริษัทเดี๋ยวนี้เลยว่าโอนหรือไม่โอน ให้ทนายโทรหน้าบัลลังก์เลย แล้วทางบริษัทก็บอกว่าไม่โอนให้จริงๆ ด้วย         บริษัทให้เหตุผลว่าอย่างไรคะ         ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทนายบอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคสเป็นอย่างนี้ไม่โอนรถให้ ซึ่งเราไม่เชื่อไงว่าไม่รู้ แต่เราก็ไม่อะไรนะเพราะว่าเราทำตามศาลท่านมีคำวินิจฉัย ศาลบอกให้ไปคุยเลยให้ไปคุยกับที่บริษัทนี้อีกครั้งหนึ่ง เราก็เลยไปเจรจาอีกรอบ ซึ่งต้องขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ส่งผู้แทนคือคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ไปกับเราด้วย  พอไปคุยแล้ว ทางเราบอกตัวเลขไป เขาไม่โอเค เราก็เลยบอกว่าไม่เอาแล้วค่ะ คืนรถไปเลย         บริษัทกำหนดให้เราจ่ายเท่าไหร่         เขาก็ยังให้ตัวเลขมาเท่าเดิมกับที่เจรจาครั้งแรกก่อนไปศาลอยู่ดี ตัวเลขที่เราคุยกับเขารอบแรก มีการบอกว่านี่เป็นยอดหลังฟ้อง นี่เป็นยอดก่อนฟ้อง ซึ่งเราคิดว่าคุณจะให้เป็นยอดไหนเราก็ไม่โอเคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขาลดให้หนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม เราก็จ่ายดอกเบี้ยมาให้เยอะแล้ว สรุปคือเราเอารถไปคืนแล้ว ตอนนี้เขากำลังทำเรื่องถอนคดี         ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีการขายทอดตลาดนั้น ในกรณีเราก็คือ ในส่วนของค่าขาดประโยชน์ ก็คือจะเป็นแค่ในช่วงที่รถอยู่กับเรา อันนี้เราก็จ่ายปกติคือเราจ่ายไปแล้ว แล้วบริษัทคุณรับเงินในตรงนั้นไปแล้ว โดยไม่แจ้งอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเราเลย จุดนี้คือถือว่ามันเป็นลาภไม่ควรได้ที่บริษัทจะได้อยู่แล้ว ดังนั้นมันต้องหักกันตั้งแต่ตอนที่คุณบอกว่าไม่เอาไม่ให้จ่ายแบบนี้ แล้วก็ยกเลิกสัญญาไป ถูกไหมคะ ไม่ให้ผ่อนผันตอนโควิด  แต่ว่าคุณให้เราผ่อนมาตลอดๆ ตอนนั้น         ฝากบทเรียนต่อผู้บริโภคท่านอื่นๆ         อยากจะฝากว่าการคำนวณเรื่องค่างวด ค่าดอกเบี้ย  เราต้องคำนวณของเราไว้เองด้วย โดยที่ว่าเขามีในเอกสารมาว่า เวลาที่เราผ่อนชำระต่อเดือนเท่านี้ มันจะเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าภาษี 7 เปอร์เซ็นต์อะไรของเขา คือเราก็ทำตามสูตรเขานั่นแหละ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ถ้าเขามาอ้างตัวเลขกับเรา เขาก็จะบอกว่าเป็นหักเงินต้นแค่เท่านี้หักดอกแค่เท่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะว่าอัตราของเขามันคือ อัตราคงที่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเท่ากันทุกเดือน มันไม่ใช่ลดต้นลดดอก ตรงนี้ต้องตามเขาให้ทัน แล้วตอนนี้มีกฎหมายใหม่ที่ออกมาแล้ว ว่าต้องมีการลดต้นลดดอก         แล้วส่วนหนึ่งที่เป็นข้ออ้างของบริษัทคือ เขามักอ้างว่า รถแท็กซี่กับรถยนต์ส่วนบุคคล มันไม่เหมือนกัน แต่ในเมื่อคดีที่เขาฟ้องเรามันก็เป็น “คดีผู้บริโภค” เหมือนกัน อย่างแรกเลยคุณใช้กฎหมายตัวไหนในการฟ้องคดีผู้บริโภค เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ คนที่เป็นผู้ค้ำประกันแบบเรา หรือจะเป็นคนที่เป็นลูกหนี้เองก็ตาม ถ้าหากว่าเราจ่ายหรือทำอะไรไปเช่นการเจรจา คุณก็ต้องเก็บหลักฐานตรงนั้นไว้ให้หมดทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหนังสือสัญญาต่างๆ เราต้องเก็บไว้ทั้งหมดเก็บทุกเดือน หรือสิ่งที่เรายื่นอะไรให้ทางบริษัท แล้วบริษัทเซ็นรับทราบกลับมาเราก็เก็บเอาไว้ ตอนก่อนที่จะเอารถไปคืน ก็เช็คสภาพมาอย่างไรโดยมีช่างให้หนังสือรับรอง (จริงๆ กรณีของเราก็ไม่ได้บอกที่บริษัทนะว่าเราเช็คสภาพรถมาก่อนคุณอีก แต่เราทำเช็คสภาพเผื่อไว้ก่อน) แล้วถ้าบริษัทเขาเช็คส่วนอะไรบ้าง เราก็ต้องคอยดูเขาเพื่อเปรียบเทียบกัน เออ...ตอนมามันเป็นอย่างไร เราก็จะต้องมีการยืนยันกับเขาได้ แล้วหลังจากนี้เมื่อบริษัทถอนฟ้องเสร็จแล้ว   เราควรจะต้องไปคัดสำเนาถอนฟ้องไว้นะคะ         การเป็นผู้ค้ำประกันต้องดูละเอียดแบบเดียวกับคู่สัญญาเลยนะคะ             อย่างแรกเลยคือคงต้องมองที่บริษัท เพราะว่าพูดตามตรงนะคะว่าตรงนี้ก็พลาดไปเหมือนกัน เพราะว่าคุณพ่อเขาก็ไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาเลย นอกจากการชักชวนกันไปแล้วบอกว่าอันนี้โอเค แต่จริงๆ แล้วเราควรดูข้อมูลบริษัท เพราะบริษัทพวกนี้มันมีตั้งเยอะแยะเราสามารถเลือกได้ ถ้าเราไม่โอเคกับบริษัทนี้ เราเป็นผู้ค้ำประกันก็คงจะบอกได้ว่าอย่าไปทำกับบริษัทนี้เลยไปทำกับที่อื่นดีกว่า         พอรู้ว่าจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันแล้วก็ควรที่จะหาข้อมูล หาข้อมูลทั้งบริษัท หาข้อมูลทั้งคนที่เราจะค้ำประกันให้ด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ญาติ ควรจะเก็บเอกสารทุกอย่างให้ดี คือถ้าเป็นผู้ค้ำประกันคงต้องคอยติดตามลูกหนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มาผู้ค้ำก็เดือดร้อน กรณีนี้คือเป็นคุณพ่อเราสามารถคุยได้ว่าเอกสารเอามาให้เราเก็บนะ เอกสารอยู่ที่ไหน อะไรอย่างไร แต่ถ้าเกิดเขาเป็นผู้ค้ำอย่างเช่นช่วยเพื่อนอย่างนี้ จะได้ติดตามเรื่องว่าเอกสารเรียบร้อยไหม หรือถ้าเพื่อนไม่ได้ชำระตามเวลาเราจะได้ไปตาม จริงๆ การเป็นผู้ค้ำก็ต้องใส่ใจเขานิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นผู้ค้ำแล้วจบ         ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ก็ควรที่จะเผชิญหน้าสู้กับมัน คุณมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ปรึกษาผู้ที่รู้ ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ค่ะ เราไม่ควรจะหนีหนี้ ทุกอย่างมันมีทางออก แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เราจะได้เริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด พอเราตั้งต้นใหม่ได้เร็ว ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับมัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รถยนต์ชำรุดซ่อมไม่หาย ฟ้องให้ชดใช้เป็นเงินได้

        ในเล่มนี้ก็มีความรู้ดีๆ มาแบ่งปันอีกเช่นเคย สำหรับช่วงนี้เราก็ยังอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ทั้งโรคโควิด 19 ที่ยังระบาดและฝุ่น PM 2.5 ที่ยังแก้ไม่ได้  และหลายท่านอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ ผู้เขียนก็มีความห่วงใย ขอให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพกันให้ดีๆ นะครับ         ปัญหาคลาสสิคที่เกิดอยู่บ่อยๆ คือ เวลาซื้อรถยนต์ ใช้ได้ไม่นานก็ต้องซ่อมบ่อยๆ ทั้งที่เพิ่งซื้อมา หลายคนคงปวดหัวเพราะการซื้อรถยนต์คันหนึ่งต้องใช้เงินไม่น้อย บางคนซื้อมาเพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน พอเจอรถเสียต้องซ่อมก็ทำให้กระทบกับการหารายได้ แน่นอนว่าเมื่อซ่อมหลายครั้งไม่หายคงต้องอยากขอเรียกเงินคืนซึ่งผู้ขายก็มักไม่ยอมจนเกิดคดีฟ้องร้องต่อศาล          เราในฐานะผู้บริโภคเองมีกฎหมายช่วยฟ้องคือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 สามารถฟ้องเป็น “คดีผู้บริโภค” เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้ อีกทั้งยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ หากผู้ผลิตและผู้ขายรถยนต์นั้นไม่สามารถจัดการปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เราซื้อมาได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท        ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้         เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลฏีกาข้างต้นคงจะสังเกตเห็น ว่าการที่เราเป็นผู้บริโภคแล้วใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลมีกฎหมายช่วยเราในหลายประการ เช่น แม้เราจะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เพราะเรายังผ่อนกับธนาคารก็ตาม แต่เมื่อเราได้สมุดคู่มือการรับบริการ ทำให้เรามีสิทธิรับบริการเกี่ยวกับรถยนต์ก็ถือว่าเรามีสัญญากับบริษัทแล้ว จึงฟ้องทั้งผู้ขายและผู้ผลิตได้  เมื่อรถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานไม่ได้ตามที่ตกลงสัญญาไว้ เราก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล         อีกอย่างคือ ภาระการพิสูจน์ว่ารถยนต์ได้รับการซ่อมจนหายเป็นปกติหรือไม่ กฎหมายกำหนดให้เป็นภาระของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อสืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า คดีนี้รถยนต์พิพาทมีปัญหาความชำรุดบกพร่องตามฟ้องและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 หยุดเร็ว หยุดตาย หยุดประกาศ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

        ทำไมเสียงคัดค้าน ความเร็วรถยนต์ 120 กิโมตรต่อชั่วโมง ของรัฐมนตรีคมนาคมถึงเงียบเชียบมาก คงไม่ต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร แน่นอนว่าถ้าประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราไม่ควรยอมให้เพิ่มความเร็วในการขับขี่รถยนต์         ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดความเร็วในการขับรถในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน รวมทั้งการกำหนดความเร็วขั้นต่ำ สำหรับการขับรถในช่องเดินรถช่องทางขวาสุดในทางหลวง โดยรถยนต์สามารถให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันได้กำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องขวาสุดของทางเดินรถในทางหลวง ซึ่งแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไปไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการขนส่งและจราจรของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น         ต้นเดือนมีนาคมผ่านมา ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศเพิ่มเติมให้ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 32 บางปะอิน-พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง         ความเร็ว เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุรุนแรงที่สำคัญ นอกเหนือจากปัญหาคนขับรถหลับใน ถนนที่ไม่ปลอดภัย และรถยนต์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหลาย         ข้อมูลรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้ข้อมูลว่า หากคนขับรถมอเตอร์ไซด์ที่ขับเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่ากับการตกจากตึกสูง 8 ชั้น         อันตรายและกระทบจากการขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูง ที่สำคัญ คือ แรงปะทะ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เมื่อใช้ความเร็วสูง แรงปะทะย่อมสูงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ปัญหาต่อการหยุดรถ การขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูง แล้วไปพบเจอเหตุที่ไม่คาดฝันจะทำให้ระยะการเบรก หรือหยุดรถสั้นลง อาจทำให้ตนเอง และเพื่อนร่วมทางได้รับอันตราย ปัญหาการตัดสินใจ ทำให้ระยะเวลาในการตัดสินใจสั้นลงจากความเร็ว ทั้งหมดย่อมเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ         หลายเรื่อง องค์กรผู้บริโภค สนับสนุนคุณศักดิ์สยาม เช่น ราคารถไฟฟ้าที่ถูกลง หรือการมีแนวทางให้ประชาชนสามารถใช้ขนส่งมวลชนแต่ละวันไม่เกิน 30 บาท แต่การเพิ่มความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอค้านหัวชนฝา เพราะการเพิ่มความเร็วย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับทุกคนบนท้องถนน ทั้งคนขับ คนโดยสาร บุคคลที่ 3 ความเสี่ยงอีกมากมาย จะอ้างว่า คนชับ 120 กิโลเมตรอยู่แล้ว เพียงทำให้ถูกต้องคงฟังไม่ขึ้น เหมือนกับบอกว่า คนไม่สามารถทำตามกฎหมายได้ ต้องแก้กฎหมาย แทนที่จะช่วยกันทำให้คนรู้กฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น คนขับรถเร็วลดลง เพิ่มความปลอดภัยในท้องถนนมากขึ้น หรือถ้าไปถึงรากของปัญหา ทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รถยนต์ที่น้ำเข้าห้องโดยสารทุกครั้งที่ล้างรถและฝนตก

        หากรถยนต์ที่ซื้อมาได้ไม่นานสร้างปัญหากวนใจให้ท่านทุกครั้งที่ขับรถฝ่าฝนหรือแม้แต่จะล้างรถ ด้วยอาการน้ำรั่วซึมเข้าไปในห้องโดยสาร ท่านจะทำอย่างไร        คุณทิชาพาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเป็นรุ่นลิมิเต็ด เมื่อเดือนธันวาคม 2560 แรกเริ่มใช้งานก็ยังไม่พบปัญหาอะไรจนวันหนึ่ง ขับรถไปติดฝนอยู่ที่แยกไฟแดงแล้วก็สังเกตว่ามีน้ำค่อยๆ ซึมเข้าในรถ คุณทิชาพาตกใจที่เกิดเหตุนี้ขึ้นเพราะรถยนต์ของตนแม้จะใช้งานมาได้สักพักแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในอายุประกัน ทำไมปัญหาแบบนี้จึงเกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นจึงพารถยนต์ไปศูนย์ซ่อมใหญ่ของบริษัทรถ         ช่างตรวจสอบอาการแล้วระบุว่า ขอบยางอาจจะเสื่อมสภาพจะทำการแก้ไขให้ “เชื่อไหมคะว่า ดิฉันต้องนำรถคันนี้เข้าๆ ออกๆ ศูนย์ซ่อมกี่ครั้งแล้ว” 4 ครั้งคือฟางเส้นสุดท้ายที่คุณทิชาพาไม่อยากทนอีกกับปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าห้องผู้โดยสาร ทุกครั้งทีรถอยู่ในสายฝนหรือแม้แต่การล้างรถ         เธอจึงนำเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามความประสงค์ของคุณทิชาพา เธอต้องการให้บริษัทรับผิดชอบด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไหล่หรืออะไรก็ตามที่มันสร้างปัญหานี้ให้จบเสียที เพราะไม่ต้องการนำรถเข้าอู่ซ่อมแล้วซ่อมอีก   ทางศูนย์ฯ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน บริษัทรถยนต์ขอโอกาสนำรถยนต์เข้าซ่อมอีกครั้ง (ครั้งที่ 5) คุณทิชาพาตกลงแต่ขอให้รับหลักการว่า หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางบริษัทฯ ต้องซื้อรถยนต์คืนไป         หลังจากรถถูกนำเข้าอู่ซ่อมครั้งที่ 5 ตอนที่ได้รับการนัดหมายให้รับรถยนต์คืน เหมือนอาการต่างๆ ดีขึ้น มีการทดลองฉีดน้ำก็ไม่พบอาการรั่วซึมคุณทิชาพาสบายใจยินดีรับรถยนต์กลับมาใช้งาน แต่พอผ่านมาได้สัก 4 เดือน อาการรถมีน้ำซึมได้หวนกลับมาอีกเมื่อเธอล้างรถ คุณทิชาพาจึงขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเรื่องคดีเพื่อให้บริษัทฯ ซื้อรถยนต์คืนไปเถอะ         ผลของคดีจบกันที่ ทางบริษัทรถยนต์คืนเงินให้ผู้ร้องหรือคุณทิชาพา ในราคาที่คุณทิชาพารับได้เพราะก็มีค่าเสื่อมต่างๆ ที่เกิดจากการใช้งาน เรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เมื่อระบบความปลอดภัยของรถยนต์มีปัญหา Accord Generation 9

เมื่อประมาณเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กฤษณะ น้ำดอกไม้ เจ้าของเพจ ‘Accord G9 หนึ่งในตัวแทนกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 เดินทางมาร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาเล่าถึงปัญหาปั๊ม ABS’ ว่า มีผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 ที่ผลิตในปี 2013 - 2018 จำนวนมากที่พบปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมความปลอดภัยในการขับขี่รถ จึงได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์บริการแต่ละสาขา และร้องเรียนผ่านทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและประกอบรถยนต์รุ่นดังกล่าว แต่มีการแก้ไขปัญหาให้กับเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังมีผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นแนวปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนของแต่ละศูนย์บริการและการชี้แจงถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีปรากฎต่อสาธารณะ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนอะไร  วางแผนจะทำอย่างไร         จริงๆ กลุ่มที่รวมตัวกันปีกว่ามันเกิดจากที่เราไปเจรจากับบริษัทฯ และเราได้เงื่อนไขมา ทีนี้เรามองว่าเราได้การชดเชยตามเงื่อนไข ถ้าเกิดเรารับจบไปตอนนั้นเลยคันอื่นก็จะไม่ได้ เราก็คิดว่ามันก็จะมีคนที่ถูกทิ้งอยู่ คนที่เกิน (ไม่เข้า) เงื่อนไข เราเลยคิดว่าเราควรต้องแยกสองประเด็น ประเด็นแรกอะไหล่มันมีคุณภาพพอหรือเปล่า อีกอันหนึ่งคือความรับผิดชอบของค่ายรถยนต์         Page สร้างมาเพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ให้ ผู้ใช้ทุกคัน ทราบสิทธิว่ามีเคลมฟรีและเขาควรใช้สิทธิเคลมฟรี หรืออย่างน้อยได้รับการพิจารณาให้ส่วนลดนะครับ เราจึงมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นระบบ จะร้องเรียนอย่างไรให้เป็นระบบเพราะว่าผมเคยไปที่ สคบ.เขาบอกว่าผมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งผมก็พยายามบอกว่าผมก็คือผู้ใช้คันหนึ่งที่มีความกังวลแล้วเราก็รวมตัวกันมา ตอนนั้นประมาณ 70 กว่าคันที่มีเสียหาย แต่ทาง สคบ.เขาก็บอกว่าไม่ได้ คุณต้องไปเอาผู้ใช้ที่มีปัญหามา ให้ผู้เสียหายมาร้องเรียนใครที่ไม่ใช่ก็ร้องเรียนไม่ได้ และเขาก็บอกว่ารถมันหมดประกันไปแล้วจะไปให้เขาทำอะไร เขาก็พูดในลักษณะของแง่กฎหมาย ตอนนั้นก็เลยมาหามูลนิธิฯ ทางมูลนิธิฯ มองว่ามันมีเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในการดูแล ตอนนี้ก็คือทางมูลนิธิก็ช่วยจัดการเรื่องแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนให้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ท่านอื่นๆ อีกประมาณ 40,000 กว่าคันที่เขาเป็นเจ้าของรุ่นนี้ทราบสิทธิ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563         หลังออกสื่อก็มีผู้ใช้จำนวนมากเพิ่งทราบข่าว เขาก็มาติดต่อผม บอกว่าเขาจ่ายไปแล้วสี่หมื่นกว่า บางคนก็ได้ส่วนลดบ้างแต่น้อยมาก ซึ่งตรงนี้เองเราก็ตั้งใจไว้อย่างนี้ว่าคือถ้าเกิดสื่อหลักให้พื้นที่ข่าวมันก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ เพราะว่าผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายหมื่นคันที่ยังไม่รู้เรื่องเลย คนที่มีปัญหาแบบนี้จะเข้ามาร่วมอย่างไร ท่าทีของบริษัทเป็นอย่างไร         จริงๆ อยู่ที่บริษัทฯ นะ เขามีข้อมูลผู้ใช้ทุกอย่าง  ทำอย่างไรจะให้บริษัทแจ้งผู้ใช้ทุกคนที่เขาใช้รถรุ่นนี้ เราไม่มีทางอยู่แล้วที่เราจะแจ้งทุกคนให้ทราบได้นะครับ เราไม่มีรายชื่อผู้ขับขี่ ชื่อเจ้าของรถ บริษัทเขารู้ดีเพราะสามารถโทรไปแจ้งว่าต้องมาเช็คระยะตามกำหนดนะ มีฐานข้อมูลตรงนี้ แต่ความที่เราต้องการช่วยเหลือให้ได้มากที่สุดเราเลยพยายามประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีที่เราพอจะทำได้  ทุกวันนี้ผมบอกเลยนะมีคนติดต่อมาทุกวัน   เดือนล่าสุด (ตุลาคม) นี่ห้าสิบหกสิบคัน มันไม่ใช่น้อยๆ นะ ตัวเลขมันสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายคันที่เขาไม่ทราบแล้วเขาก็ไปซ่อมเอง ถ้าเขาทราบว่ามีกลุ่มที่เราทำขึ้นมา เขาได้ฟรี        “บางคนไม่รู้ไปซ่อมเองจ่ายสี่หมื่นกว่า บางคนไปซ่อมข้างนอกไม่จบก็มี และมันเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยไง หลายๆ คนเอาไปซ่อมเขาก็บอกเลยว่าเขาไม่สบายใจ” ล่าสุดบริษัทฮอนด้าก็ยังไม่มีอะไรเป็นทางการ มีก็แค่การชี้แจงผ่านรายการโทรทัศน์บ้าง แต่ยังไม่มีอะไรเลยที่เขาจะยอมรับ (อย่างเป็นทางการ) เลยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเขาจะนำไปพิจารณาแล้วจะกำหนดอะไรต่างๆ ให้มันชัดเจน ความยากของเรื่องนี้คืออะไร         คือกลุ่มของผมลักษณะผู้ใช้รถคือ คนวัยทำงานและก็อายุค่อนข้างเยอะ พอหลายคนเห็นว่ามันมีขั้นตอนเยอะ เช่น ต้องรวมตัวต้องออกตัวอะไรอย่างนี้ หลายคนไม่สะดวกอันนี้ยอมรับเลยนะครับว่า ไม่สะดวก เพราะว่าหนึ่ง เขาไม่มั่นใจในเรื่องหน่วยงานของรัฐที่จะช่วยเหลือเขา เพราะว่ามีคนเคยติดต่อไปทางหน่วยงาน หน่วยงานก็เงียบกลายเป็นว่าแนะนำให้ไปรับข้อเสนอฮอนด้าเถอะ บอกว่าไม่มีกฎหมายที่จะไปเอาผิดบริษัทฯ เขา คนที่ได้รับคำแนะนำแบบนี้เขาก็พูดต่อๆ กัน กลายเป็นว่าเขาก็เอาไปซ่อมเองข้างนอก จบๆ กันไป หลายคันก็ขายทิ้งเพราะว่ารถมันอายุเยอะแล้ว         อย่างที่ผมบอกความช่วยเหลือของฮอนด้า (อย่างเป็นทางการ) นั่นคือประเด็นหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือแนวทางของเราเอง ของผู้บริโภคคือทำอย่างไรจึงจะกดดันให้บริษัทเขายอมรับว่า อะไหล่ชิ้นนี้มันมีปัญหาจริง ซึ่งจากเอกสารแม้แต่ตัวผมเองผมก็รู้ว่ามันมีปัญหาต้องจัดการอย่างไร การเสียหายแบบนี้มันเกิดจากไหน  เรารู้ ฮอนด้าก็รู้ ทุกคนก็รู้ แต่บริษัทฯ เขาไม่รับว่าเป็นความผิดพลาด บริษัทฯ จึงควรแสดงความรับผิดชอบ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริโภค มันเป็นหน้าที่ที่บริษัทฯ ต้องดำเนินการ ชี้แจงสิ รับผิดชอบสิ เหนื่อยไหมกับการออกมาใช้สิทธิ         ผมว่าเวลาเราร้องเรียนอะไรเราต้องออกตัว ออกตัวมากหรือมีขั้นตอนมากต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนในการร้องเรียน ซึ่งบางทีมูลค่าของความเสียหายมันไม่เยอะ พอมันไม่เยอะหรือมันสามารถแลกกับการที่จ่ายๆ ไปเพื่อซื้อเวลา ซื้อการตัดจบปัญหาอย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่คนที่เกิดความเสียหายคิด เพราะอย่างนั้น เลยกลายเป็นว่าพลังของผู้บริโภค มันก็จะค่อยๆ แผ่วไป มันก็จะเหลือคนที่ยืนหยัดจริงๆ ว่าสิ่งตรงนี้มันไม่ถูกต้องอยู่แค่หยิบมือหนึ่ง พอเป็นอย่างนี้ผู้ประกอบการมั่นใจว่ามูลค่าเท่านี้ (ไม่มาก) ผู้บริโภคคงไม่มาเรียกร้องอะไรมากมายเจรจาเป็นรายๆ ไปก็จบ  แต่มันไม่ใช่นะผมคิด         คืออย่างผมนี่แม้กระทั่งค่ายมือถือเขาหักเงินผมไป 30 บาท ด้วยเหตุผลว่าอยู่ ๆ ผมไปสมัครอะไรก็ไม่รู้ ผมยอมโทรศัพท์คุยกับเขาเสียเงินห้าสิบหกสิบบาทเพื่อให้เขายอมรับให้ได้ว่าตรงนี้คุณผิด แต่กลับกันในประเทศ เราหลายคนจะรู้สึกว่ารัฐไม่ช่วยหรอก กฎหมายไม่ช่วยหรอก ตัวอย่างก็มีอะไรอย่างนี้ ไปฟ้องศาลเป็นปีสองปีสามปีอะไรอย่างนี้ เหนื่อยก็เหนื่อย เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่นดีกว่าตัดจบไป มันก็เลยกลายเป็นว่าเรื่องนี้มันก็ส่งต่อไปรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ ทำให้พลังผู้บริโภคอ่อนแอ         อย่างกรณีกฎหมาย LEMON LOW ถ้าเกิดออกมาผมว่า ต้องไปดูเรื่องของกระบวนการด้วยว่ามันจะเอื้อผู้บริโภคให้เขากล้าออกมาหรือเปล่า มีค่าเสียเวลา มีอะไรที่เขารู้สึกว่าหรือว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีหน่วยงานหรืออาจจะเป็น หน่วยงานพิเศษ หน่วยงานเร็ว ที่เข้ามาตรวจสอบอะไรอย่างนี้ คือทุกวันนี้เรามีสมาคม มีหน่วยงานเยอะมาก สมาคมยานยนต์ ซึ่งจุดประสงค์เขาก็มีอยู่แล้วเรื่องคุณภาพการผลิตอะไรอย่างนี้แต่ทุกวันนี้เขาก็เงียบ สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ก็เงียบ กรณีรถยนต์นี้อุปสรรคของผู้บริโภคอย่างหนึ่งคือ ค่ายรถยนต์ใหญ่มันมีผลประโยชน์เรื่องของการโฆษณาอยู่ เชื่อไหมว่า สื่อใหญ่รายการดังผมติดต่อไปหมดแล้วทั้งเมล์ ทั้งแชท ทั้งทุกช่องทางโทรไปก็เงียบ มีนักข่าวจากบางช่องมาติดต่อถามช่วงแรกๆ แล้วจากนั้น เขาก็เงียบ คือทุกอย่างเงียบหมด   ผมเลยมองว่าในเมื่อค่ายรถยนต์มันมีผลประโยชน์หรือผู้ประกอบการมีผลประโยชน์ในสื่อโฆษณากับทางสถานีโทรทัศน์ ที่ควรทำหน้าที่บอกความจริงทางใดทางหนึ่งให้กับประชาชน กลายเป็นว่าเขามีผลประโยชน์เอื้อกันตรงนี้มันก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคยากไปใหญ่         เพราะว่าการรวมตัวกันมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ การที่เราจะบอกให้คนมารวมตัวกันมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่การรวมกลุ่มผู้เสียหาย มีประโยชน์มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อโจมตีบริษัทฯ เลยนะแต่มันคือการสร้างพลังในการสื่อสาร ทำให้เราแจ้งข้อมูลจำเป็นต่างๆ ได้ อย่างน้อยผู้เสียหายควรรู้สิทธิว่า เขาคือผู้ใช้รถรุ่นนี้ เมื่อเขามีปัญหาเขาควรที่จะไปเข้าศูนย์เพื่อให้ศูนย์ตรวจสอบ   เมื่อคันหนึ่งได้เคลมฟรี คนที่เข้าข่ายเงื่อนไขเดียวกันก็ควรเคลมฟรีด้วย ไม่ใช่ว่าเขาแค่ไม่รู้ข่าวเลยต้องจ่ายเต็มทุกอย่าง อันนี้มันก็เป็นความไม่เท่าเทียมกันแล้วมันก็สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานในการให้บริการตามที่เขากล่าวอ้างหรือโฆษณาว่ามาตรฐานฮอนด้าทุกศูนย์เท่าเทียมกันหมดไม่จริง ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นได้บทเรียนอะไรบ้าง         หนึ่งคือเราไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของรถไงครับ เราไม่รู้ว่าใครประสบปัญหาอย่างเราบ้าง เราได้แต่ปากต่อปากเราคอยมองตามหน้า Page ว่า ณ วันนี้มีคนแจ้งมาไหมว่ามีปัญหา มีคนมาปรึกษาไหมว่าทำอย่างไรดีครับมันเสีย เราต้องตามเก็บพวกนี้ทุกวันๆ เราจึงเกิดพลังขึ้น แค่ว่าผมไม่เข้า Page แล้ววันนั้นนะมีคนบอกพี่ครับรถผมเสีย สิ่งที่คนนั้นเขาจะได้ข้อมูลกลับไปคือเอาไปซ่อมข้างนอกเลยครับ 5,000 บาทจบ อู่จะมาพิมพ์ติดต่อผมได้เลยครับรับซ่อม คราวนี้โพสต์นั้นก็ไหลลงไหลลง เราก็ไม่ได้ไปตามเห็นอีก เราก็เสียผู้บริโภคที่เขากำลังเดือดร้อนไปอีกหนึ่งคน แต่กลับกันถ้าเกิดผมเจอเขาก่อน ลองเข้ามาอ่าน Page ร้องเรียนครับ ถ้าเกิดเห็นด้วยกับแนวทางมาร่วมลงชื่อนะครับ ผมจะยินดีแนะนำแนวทางให้         สิ่งง่ายๆ คือเราไม่รู้ว่าเราจะประชาสัมพันธ์ช่องทางไหนได้ ถ้าเกิดสื่อหลักเขาไม่เล่น อย่าง Thai PBS วันเดียวมีคนแจ้งผมมาสิบกว่า รายบอกว่าพี่ผมเพิ่งเห็นผมไม่รู้ผมจ่ายเงินไปแล้ว ทุกวันนี้ก็มีคนแจ้งมาว่าผมจ่ายเงินไปแล้ว นี่แค่ ThaiPBS นะ แต่สื่ออื่นค่อนข้างเงียบ แต่ถ้าเกิดสื่อหลักอย่างรายการดังๆ ที่เรารู้ ถ้าเกิดเขาเชิญไป เราต้องการไปบอกนะว่า เขามีนโยบายเคลมฟรีแค่นั้นเอง         เรื่องเดือดร้อนขนาดนี้มูลค่าความเสียหายก็เยอะ มันเป็นเรื่องความปลอดภัย ที่ต่างประเทศถึงขั้นมันอยู่ๆ รถก็เบรคเองกลางถนน บ้านเราโชคดียังไม่มีเหตุการณ์นี้ มีแต่เพียงว่าพวงมาลัยมันหนัก หนักขึ้นจากปกติ มีเคสเฉี่ยวชนแล้ว แต่อันนั้นผมคิดว่าบริษัทเขาก็รู้ ผมก็เคยโพสต์แล้วแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะว่าหนึ่งคือ เหมือนกับเขาคงรอว่าให้มีคนเสียชีวิตก่อนให้เป็นข่าวดังก่อน แล้วถามว่าใครอยากจะเป็นศพแรกถูกไหมครับ คือในต่างประเทศผมบอกเลยนะเขา Recall แม้ยังไม่มีการเฉี่ยวชนเลยนะ มันเป็นคดีความในต่างประเทศ แต่รถนี้ผลิตในประเทศ ขายในประเทศ คุณจะไปรอให้ต่างประเทศมีคดีความทำไม ในเมื่อทั้งหมดทั้งมวลมันคืออยู่ในประเทศไทยแล้ว คุณจะบอกว่าต้องรอให้ต่างประเทศเขามีเรื่องมีคดีความก่อนถึงจะเรียกคือ มันคือไม่ใช่นะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เรื่องต้องระวังการค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์

        หลายคนคงเคยค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้กับญาติพี่น้อง ถ้าญาติเราส่งค่างวดครบ เราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเขาขาดส่งหรือไม่จ่ายค่างวดเลย เราให้ฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องถูกทวงให้ชำระหนี้แทน ถ้าตามเขามาจ่ายได้เราก็รอด แต่ถ้าตามไม่ได้จนต้องถูกฟ้องเราจะต้องทำอย่างไร ผู้ค้ำประกันหลายคนเข้าใจผิดว่า เราไม่ใช่คนซื้อไม่เกี่ยวกันถ้าจะทวงหนี้ต้องไปทวงกับคนซื้อ ถูกฟ้องร้องขึ้นมาก็ไม่ไปศาล ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ เราต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่า คนซื้อกับคนค้ำประกันนั้นถือว่าเป็นผู้ที่ถูกฟ้องได้ทั้งคู่         ลูกชายของคุณสุทธิต้องการซื้อรถยนต์กระบะมือสอง ราคา 690,000 บาท จึงขอร้องให้พ่อและญาติอีกหนึ่งคนช่วยเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะกับธนาคารแห่งหนึ่ง เขาก็รักลูกจึงช่วยค้ำให้พร้อมวานให้ญาติช่วยค้ำให้ด้วย หลังจากถอยรถออกมาและผ่อนส่งได้ประมาณ 3 งวด ลูกชาย (ตัวดี) ของเขาก็หยุดส่งค่างวดรถ โดยเขาไม่ทราบเหตุนี้เลย จนผ่านไป 3 ปี ลูกชายของเขาถูกฟ้องดำเนินคดีจากผิดสัญญาเช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อ เขาและญาติ เป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน         ธนาคารได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังลูกชายของคุณสุทธิแล้วและได้เข้ายึดรถยนต์ดังกล่าว ไปขายได้เงิน 360,000 บาท ยังขาดอยู่อีกจำนวน 230,000 บาท จึงมาฟ้องเรียกส่วนต่างเป็นจำนวน 320,000 บาท และรวมค่ายึดรถ 6,000 บาท ค่าขาดประโชน์จากการใช้รถคิด 3 เดือน 15,000 บาท เป็นยอดหนี้ทั้งสิ้น 341,000 บาท พอเห็นจำนวนเงินตั้งหลายแสน คุณสุทธิลมแทบจับเขาไม่มีเงินจ่ายหนี้ก้อนนี้แน่นอนและไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรด้วย จึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องคือคุณสุทธิต้องทำคำให้การต่อสู้คดีไปยื่นต่อศาลในวันนัดครั้งแรก ห้ามละเลยไม่ไปศาล ทั้งนี้ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยผู้ร้องทำคำให้การโดยมีประเด็นต่อสู้ ดังนี้        1.    ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่ธนาคารไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวมายังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ทำให้ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากพ้น 60 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 686        2.    ลูกหนี้ได้คืนรถยนต์สภาพสมบูรณ์ ตามสภาพรถยนต์มือสอง        3.    ราคารถยนต์ท้องตลาดขณะธนาคารขายอยู่ที่ 460,000 บาทขึ้นไป ธนาคารขายถูกกว่าราคาตลาดเอง ซึ่งถ้าขายราคาสูงกว่านี้ ส่วนต่างของราคารรถยนต์ก็น้อยลง        4.    การคิดราคาขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ เป็นการอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐาน         ดังนั้นถึงแม้ต้องจ่ายหนี้ แต่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงินส่วนต่างราคารถยนต์เพียง 150,000 บาท ค่ายึดรถ 3,000  บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 9,000 บาท แต่ให้ผู้ค้ำประกันคือคุณสุทธิและญาติชำระเงินค่ายึดรถ 2,000  บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไม่เกิน 6,000 บาท เพราะธนาคารไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงผู้ค้ำประกันภายใน 60 นับจากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ จึงไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ หลังจาก 60 วันไปแล้ว         การที่ผู้บริโภครายนี้ไปศาลและต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงก็ทำให้หนี้ที่เขาถูกฟ้องมาลดลง การไปศาลจึงสำคัญเพราะว่าผู้พิพากษาจะได้รู้ข้อเท็จจริง ถ้าไม่ไปผู้พิพากษาท่านจะทราบเฉพาะข้อความที่เจ้าหนี้ฟ้องไป เมื่อถูกฟ้องคดี เราจึงควรไปศาลเพื่อเล่าความจริงให้ผู้พิพากษาฟัง ซึ่งจะมีประโยชน์ในการลดยอดหนี้ของเรา เพราะว่าส่วนมากเจ้าหนี้จะเรียกค่าเสียหายมาเกินจริงกันทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทำสัญญายอมในคดีแพ่งจะมีข้อตกลงยกเว้นให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ จริงหรือไม่

ช่วงนี้เรายังอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง เน้นอยู่บ้าน ถ้าออกไปไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งนะครับ  ในฉบับนี้ผมก็อยากจะพูดถึงกฎหมายในเรื่องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาเราตกลงกันได้เพื่อให้เรื่องยุติและมีหลักฐาน เราก็จะทำสัญญายอมกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าผลของการทำสัญญายอม กฎหมายจะถือตามสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลให้หนี้เดิมที่เคยโต้แย้งกันระงับไปด้วยผลของสัญญายอมนะครับ อย่างเช่นในคดีตัวอย่างที่จะยกมาพูดถึงกันในวันนี้         เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยจ่ายหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์เป็นเช็ค ต่อมาเช็คเด้งทำให้ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็เอาเรื่องมาฟ้องศาลทั้งคดีแพ่งและอาญา ต่อมาในคดีแพ่ง โจทก์กับจำเลยเขาตกลงกันได้ ก็ทำสัญญายอมกันไว้ และในสัญญายอมมีข้อตกลงว่า สัญญายอมไม่ผูกพันคดีอาญา คือโจทก์ยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ศาลฎีกาก็มองว่า เมื่อทำสัญญายอมกันแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คที่พิพาทกันหมดไป และต้องรับผิดกันตามสัญญายอมที่เกิดขึ้น มีผลให้คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปด้วย ดังนั้นการทำข้อตกลงที่ให้คดีอาญายังมีอยู่ ก็เป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีผลใช้บังคับ และข้อตกลงนี้สามารถแยกออกต่างหากได้จากข้อตกลงอื่นในสัญญายอม จึงไม่ทำให้สัญญายอมโมฆะทั้งหมด ยังมีผลใช้บังคับได้ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2788/2562         มูลหนี้ซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งจําเลยที่ 2 ชําระหนี้ด้วยเช็คพิพาท ถูกโจทก์ นําไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทําให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระเงินตามมูลหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์ รถยนต์จากการออกเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอม ยอมความเท่านั้น แม้จําเลยที่ 2 จะไม่ชําระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก จึงต้องถือว่าหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ที่จําเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลในคดีนี้ มีคําพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุไว้ว่า การทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่วินิจฉัยอยู่นี้ เป็นทํานองยกเว้น มิให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งข้อตกลง ดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทําให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         จากตัวอย่างคดีนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้นะครับว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใดๆ ก็ตาม แม้คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายด้วย ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยก่อนทำสัญญา หากไปกำหนดข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วและมีข้อตกลงนั้นขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่มีผลใช้บังคับเหมือนในคดีนี้ 

อ่านเพิ่มเติม >