ฉบับที่ 216 การเยียวยาจากเหตุรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาบอกกัน

คล้อยหลัง 7 วันอันตรายไม่กี่วัน กลางดึกเวลาตีสี่ของวันที่ 6 มกราคม 2562  สายด่วนข่าวอุบัติเหตุรายงานว่า เกิดเหตุรถโดยสารสองชั้นของบริษัทประหยัดทัวร์เสียหลักพลิกคว่ำที่จังหวัดปทุมธานี มีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุรุนแรงของรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นครั้งแรกของปี 2562         รายงานข่าวระบุว่า รถโดยสารคันที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถโดยสารสองชั้นของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-8175 นครราชสีมา ที่ให้บริการในฐานะผู้ประกอบการรถร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งบริการในเส้นทางกรุงเทพ – พนมไพร  มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร แต่เกิดเสียหลักพลิกคว่ำสภาพรถหงายท้อง บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เสียก่อน ตรวจสอบแล้วมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 24 รายและเสียชีวิตรวมจำนวน 6 ราย        หลังเกิดเหตุทีมสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่านอกจากสภาพถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว  พฤติกรรมของคนขับก็เป็นสาเหตุที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ มีการเปลี่ยนตัวคนขับระหว่างทางจากพ่อมาเป็นลูกที่อายุเพียง 24 ปี แต่ต้องมารับผิดชอบคนเกือบครึ่งร้อยบนรถโดยสาร คนขับคนที่สองขับรถเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เครื่องรูดบัตรร้องเตือนตลอดเวลา และพบว่ามีประวัติขับรถเร็วจากกล้องตรวจจับของตำรวจทางหลวงมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ารถโดยสารคันนี้บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 50 คน ทั้งที่มีที่นั่งบนรถเพียง 46 ที่เท่านั้น        จากอุบัติเหตุครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการของรัฐที่ยังใช้ไม่ได้จริงในสองประเด็นหลัก คือ การกำหนดให้รถโดยสารทุกคันต้องติด GPS เพื่อควบคุมความเร็ว ควบคู่ไปกับเครื่องรูดบัตรใบขับขี่ของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องขับรถได้ต่อเนื่องกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักอย่างน้อย 30 นาที และการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนด        นอกจากมาตรการทางกฎหมายในสองส่วนข้างต้นที่ใช้ไม่ได้จริงแล้ว ระบบการกำกับติดตามรถโดยสารไม่ปลอดภัยของรัฐก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันทีอีกด้วย ทั้งที่เป้าหมายการติดตั้ง GPS tracking คือการควบคุมกำกับให้รถโดยสารที่ติดตั้งระบบมีความปลอดภัยจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีด้วยระบบออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบว่ากำลังขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายขึ้นได้        และที่สำคัญปัญหาที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง คือ การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหาย โดยพบว่ามีวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ในส่วนค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน  80,000 บาท ส่วนกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิตจ่ายทันที 300,000 บาท และความคุ้มครองตามประกันภัยภาคสมัครใจมีค่ารักษาพยาบาล PA 200,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนอีก 300,000 บาท ซึ่งหากมีผู้เสียชีวิตทายาทจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นเงินรวม 800,000 บาทนั้น        แต่ในความเป็นจริงการจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาของผู้ประสบเหตุไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ในทันที แต่ละรายต้องมีความยากลำบากในการจัดทำเอกสารต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ เพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และถึงแม้จะได้เอกสารมาแล้วแต่ก็ต้องถูกบังคับให้เจรจาต่อรองตามฐานานุรูปและอาการบาดเจ็บ บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงเพื่ออยากให้เรื่องจบ จะได้เอาเวลาต่อจากนี้ไปรักษาตัวและทำมาหากินตามปกติที่เคยทำ ทั้งที่คนเหล่านั้นเพิ่งจะเฉียดความตายจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุมา           นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 800,000 บาท ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ว่ากันง่ายๆ คือ ถ้าลงชื่อในสัญญาประนีประนอมแล้วก็จะไม่สามารถไปใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก ทั้งที่ผู้ประสบเหตุมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทรถโดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานได้ เพราะความเสียหายของเขายังมีอยู่        อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจะยังไม่มีวันหมดไป หากยังไม่มีการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการกำกับรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัย มาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นการซ้ำเติมความเสียหายของผู้ประสบเหตุ  และโดยเฉพาะเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดซ้ำซากจากหน่วยงานและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 2!!

แม้ว่าประเด็นความเสี่ยงในความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จะเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยกันแน่ ทั้งที่รถโดยสารสองชั้นที่วิ่งกันทุกวันนี้ ล้วนผ่านการรับรองการใช้งานจากกรมการขนส่งทางบกมาแล้วทุกคัน แต่ด้วยความสูงของรถโดยสารสองชั้นที่สูงมากถึง 4.30 เมตร ในทางวิศวกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ยิ่งหากมีปัจจัยความประมาทเลินเล่อของคนขับ และปัจจัยเสี่ยงจากสภาพถนนโค้ง ลาดชัน หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยรวมกันแล้ว ย่อมมีส่วนทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่ได้ใช้ความเร็วมาก จากความสูญเสียในหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการป้องกันสำหรับรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ การทดสอบการทรงตัว หรือที่เรารู้จักกันว่า การทดสอบความลาดเอียง 30 องศานั่นเอง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการ ลำดับการจัดการปัญหารถโดยสารสองชั้นเริ่มแรกในปี 2555 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกำหนดให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร ขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์การทรงตัวหรือผ่านทดสอบความลาดเอียง 30 องศา มีผลให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร (ส่วนใหญ่คือรถโดยสารสองชั้น) ที่จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ส่วนรถที่จดทะเบียนใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ต่อมาในปี 2557 กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงระยะเวลาการบังคับใช้เกณฑ์การทรงตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ประกาศฉบับนี้ก็ไม่ได้การยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการ จนนำไปสู่การยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออก ผ่อนผันจากมาตรการบังคับให้ต้องนำรถเข้ารับการทดสอบตามประกาศฉบับนี้ ทำให้ในช่วงปลายปี 2558 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศฉบับที่ 2 กรมการขนส่งทางบก ต้องออกประกาศฉบับที่ 3 ยกเลิกข้อความตามประกาศฉบับที่ 1 และที่ 2 เพื่อผ่อนผันให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม 2556 จำนวนกว่า 5,700 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถโดยสารสองชั้นทั้งหมด ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบความลาดเอียงตามกำหนดระยะเวลาเดิม แต่ต้องนำรถไปติดระบบ GPS ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วแทน และหากรถในกลุ่มนี้ แจ้งยกเลิกการใช้หรือนำรถมาจดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนแปลงตัวถังรถ รถในกลุ่มนี้ก็ต้องบังคับให้เข้ารับการทดสอบความลาดเอียงก่อนวิ่งให้บริการเช่นเดียวกัน และในปี 2560 นี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรการคุมกำเนิดรถโดยสารสองชั้นเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่มาจดทะเบียนใหม่จะต้องมีความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีการจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นเพิ่มใหม่ในระบบอีก ซึ่งจะเป็นการจัดระบบรถโดยสารสองชั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย อนาคตของรถโดยสารสองชั้นจากมาตรการต่างๆ ของกรมการขนส่งทางบก จะเห็นได้ว่าเป็นแนวทางจัดการที่มุ่งเน้นไปกับกลุ่มรถจดทะเบียนใหม่ที่ควบคุมได้ง่ายมากกว่า ในขณะที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือเป็นทางออกร่วมกันกับกลุ่มรถเก่าหรือรถที่ใช้งานมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่เป็นรถกลุ่มใหญ่ในระบบตลาดทุกวันนี้ แม้ทางออกในวันนี้ คือ การติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็ว รวมถึงมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนขับรถด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีผลช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์โครงสร้างของตัวรถโดยสารสองชั้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในเส้นทางเสี่ยงได้ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกอบต่อรถโดยสารขนาดใหญ่ของอู่ต่อรถในบ้านเรา ยังต่อกันตามแบบที่สั่งกับแบบที่มี ไม่ใช่ต่อตามแบบมาตรฐานที่กรมฯ ควรจะกำหนดไว้ ดังนั้นหากกรมการขนส่งทางบก ปรับนโยบายใช้แนวทางการหาทางออกแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการกำหนดแบบมาตรฐานโครงสร้างรถโดยสารที่ปลอดภัย การสนับสนุนอาชีพพนักงานขับรถที่มีประสิทธิภาพ และระเบียบข้อบังคับความปลอดภัยที่จะออกมาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการทบทวนมาตรการต่างๆเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่ายมากกว่าการบังคับเพียงฝ่ายเดียวแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้แบบที่ผ่านมา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ภัยไม่เงียบ รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 1!!

เข้าใกล้สิ้นปีเมื่อใด นั่นหมายความว่าเทศกาลเดินทางการท่องเที่ยวเริ่มมาแล้ว และแน่นอนเมื่อมีการท่องเที่ยวกันมากขึ้น การต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเดินทางก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามการใช้งานไปด้วย และรถโดยสารยอดนิยมที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการเลือกใช้โดยสารนั่นก็คือ รถโดยสารสองชั้น! แล้วทำไมรถโดยสารสองชั้นถึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ??ตอบได้เลย เพราะตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรองรับคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก และประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องเช่ารถโดยสารจำนวนหลายคัน เช่น นักท่องเที่ยวเพื่อทัศนาจร นักเรียน-นักศึกษาเพื่อทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเพื่อศึกษาดูงาน หรือการรับส่งพนักงานในกลุ่มบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และด้วยความต้องการใช้รถโดยสารสองชั้นของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ที่ผ่านมาปริมาณรถโดยสารสองชั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการจากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่  31 ธันวาคม 2559  พบว่า มีรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนทั่วประเทศทั้งหมด 7,324 คัน   โดยแบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 1,947 คัน  รถโดยสารไม่ประจำทาง 5, 314 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคล 63 คัน สาเหตุที่กลุ่มผู้ใช้บริการนิยมเลือกใช้รถโดยสารสองชั้นพบว่า ส่วนใหญ่เลือกจากความสะดวกสบายของตัวรถ สภาพรถใหม่  ที่นั่งชั้นสองมองเห็นวิวข้างทางได้  มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆรองรับความต้องการครบครัน  เช่น เบาะนวดไฟฟ้า คาราโอเกะ ดนตรี อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ขณะที่มีพื้นที่ชั้นล่างในการทำกิจกรรมร่วมกันในขณะเดินทางได้แต่หลายคนจะรู้หรือไม่ว่า รถโดยสารสองชั้นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนใหญ่มีความสูงขนาดไหนกัน  กฎกระทรวง ฉบับที่ 60 ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก  พ.ศ. 2522  กำหนดคุณสมบัติของรถโดยสารสองชั้นไว้ว่า เมื่อวัดส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง จะต้องไม่เกิน  2.55 เมตร ความสูงภายนอกของตัวรถที่ใช้ในรถโดยสารเมื่อวัดจากพื้นที่ราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน  4.30 เมตร และความยาวต้องไม่เกิน 12 เมตร  ซึ่งเมื่อดูจากขนาดของรถโดยสารสองชั้นที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันต้องบอกเลยว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรถโดยสารชั้นเดียวที่มีขนาดเล็กกว่า  สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย  ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า รถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นนั้น ก็สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน สาเหตุของอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้นเมื่อวิเคราะห์ถึงอุบัติเหตุรถโดยสารที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทางมากกว่ารถโดยสารสองชั้นประจำทาง ด้วยจำนวนและปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่า ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทาง จึงเป็นส่วนที่น่าเป็นห่วงและต้องให้ความสำคัญ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้าเป็นรถโดยสารประจำทางจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน มีกฎหมายควบคุมเส้นทางที่ขออนุญาตประกอบการเดินรถ ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางได้  แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางแล้วนั้น เป็นการว่าจ้างให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ  ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง ซึ่งบางครั้งผู้ขับรถอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางนอกพื้นที่ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อลองพิจารณาปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้นทั้งหมดแล้ว แม้ปัจจัยความเสี่ยงของผู้ขับขี่จะดูเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งหลับใน ขับรถเร็ว ประมาทเลินเล่อ ไม่เคารพกฎจราจร แต่สภาพรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูง โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชัน ก็มีส่วนที่ทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย ด้วยเหตุผลจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถโดยสารสองชั้นเอง (ติดตามต่อในตอนที่ 2) 

อ่านเพิ่มเติม >