ฉบับที่ 244 ปัญหารถรับส่งนักเรียน ยังรอมาตรการที่จริงจังจากรัฐ

        รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีนโยบายทางการศึกษาให้เด็กเรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิของเด็กและเป็นบริการของรัฐ ที่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาภาคบังคับรวม 12 ปี  ซึ่งนโยบาย “เรียนฟรี” ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึงสามฉบับติดต่อกัน (รัฐธรรมนูญปี 40 , 50 และ 60)           แม้บทบัญญัติด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญทั้งสามจะถูกสลับจับย้ายประโยคไปมา แต่ความหมายโดยรวมคือการเรียนฟรี 12 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงการศึกษาของรัฐที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นใช้ไม่ได้จริง ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางไปโรงเรียนด้วย ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงเป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้ปกครองฝ่ายเดียว         สำหรับนักเรียนใน กทม. ด้วยการคมนาคมที่ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการขนส่งมวลชน เด็กนักเรียนดูจะมีทางเลือกมากกว่าเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด         ระบบขนส่งสาธารณะที่ไร้ทิศทาง อีกทั้งบ้านเรือนที่อยู่ไกลจากโรงเรียนมาก หากผู้ปกครองไม่สามารถไปส่งถึงโรงเรียนได้ ทางออกจะมีเพียงสองทาง คือ หนึ่ง ออกรถจักรยานยนต์ให้ลูกขับขี่ไปโรงเรียน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง และ สอง จัดหารถรับส่งนักเรียนให้ลูกโดยสารไปโรงเรียนแทน แต่ก็กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ผู้ปกครองไม่เคยรู้ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับบุตรหลานไปนั้นส่วนใหญ่ “ไม่ปลอดภัย”         ทำไมรถรับส่งนักเรียนถึงไม่ปลอดภัย ?          จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ชัดว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) มีความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน  เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้นักเรียนได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบนั้นกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น  และยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถ ซึ่งผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด         ทั้งยังพบว่าในหลายพื้นที่ รถรับส่งนักเรียนถูกดัดแปลงสภาพรถต่อเติมที่นั่ง และเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาต  ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ  รวมถึงความประมาทเลินเล่อและพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับรถบางคน เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ขับรถเร็ว หรือ ลืมเด็กไว้ในรถ นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจ และแรงสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกตรงเกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         ตอกย้ำความเสี่ยงที่เกิดกับการเดินทางของนักเรียนทุกวันนี้ คือ รัฐขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา กลไกของรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ที่ผ่านมาจึงมุ่งแต่ออกกฎระเบียบบังคับให้ทำตาม แต่ขาดการประเมินว่าปฏิบัติตามได้หรือไม่ หรือแม้แต่จำนวนรถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันรัฐก็ยังไม่รู้จำนวนที่แท้จริง เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ยินยอมนำรถมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด สะท้อนถึงความผิดผลาดของระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ต้องการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยสิ้นเชิง         อย่างไรก็ดีแม้การเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียนในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัย และอาจทำให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนได้ แต่หลักการสำคัญของระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย คือ         การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีประสานงาน  ให้ความรู้  สื่อสารที่เป็นระบบ รวมถึงเป้าหมายการทำให้เรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยเป็นมาตรการองค์กรหรือนโยบายของโรงเรียน เพื่อความต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนของการจัดการ รวมถึงผลักดันไปสู่การเป็นแผนจังหวัดในการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย เพื่อเป้าหมายร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับนักเรียน ซึ่งเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนคิดช่วยกันจริง ๆ เพื่ออนาคตของลูกหลานเราทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >