ฉบับที่ 276 กระแสต่างแดน

aติดเก้าอี้        การสำรวจ “ชั่วโมงนั่ง” ใน 10 ประเทศในยุโรป (กรีซ ไซปรัส สวีเดน ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม ฟินแลนด์ โรมาเนีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชก) พบว่าตำแหน่ง “แชมป์นั่งนาน” ตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งร้อยละ 26 ของประชากรวัยเกิน 16 ปี มีชีวิตติดเก้าอี้เกิน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 11         นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรประมาณ 3.7 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงาน นั่งนานกว่าวันละ 6 ชั่วโมง โดยอาชีพที่นั่งนานที่สุดคือทนายความ นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ด้วยสถิติ 7.3 ชั่วโมงต่อวัน แซงคนขับรถบรรทุกที่นั่งประมาณ 7.2 ไปอย่างฉิวเฉียด         งานวิจัยของ TNO พบว่าการนั่งนานซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้คนดัทช์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละไม่ต่ำกว่า 21,000 คน ด้วยโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเบาหวานชนิดที่สอง คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1,000 ล้านยูโรขอแค่สอง     การรถไฟฝรั่งเศส SNFC ประกาศระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะโดยสารไปกับรถไฟความเร็วสูง TGV  InOui  และ Intercite’  ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะสามารถนำสัมภาระติดตัวไปด้วยได้สองใบเท่านั้น (หนึ่งใบใหญ่และหนึ่งใบเล็ก)          คำจำกัดความของ “ใบใหญ่” คือสัมภาระขนาด 70x90x50 ซม. ส่วน “ใบเล็ก” ต้องมีขนาดไม่เกิน 40x30x15 ซม. แต่มีข้อยกเว้นให้กับสัมภาระอย่างรถเข็นเด็ก กระเป๋าเครื่องดนตรี หรือกระเป๋าอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น         ช่วงแรกยังอยู่ในระยะตักเตือน แต่หลังจาก 15 กันยายน การฝ่าฝืนระเบียบนี้มีค่าปรับ 50 ยูโร (ประมาณ 2,000 บาท)        ระเบียบลักษณะนี้ใช้กับรถไฟระหว่างเมืองทั่วไปอยู่แล้ว ผู้สามารถนำกระเป๋าขึ้นรถไฟได้คนละสองใบ (ขนาด 55x35x25 และ 36x27x15) หากมีสัมภาระมากกว่านี้ก็สามารถจ่ายเงินเพิ่มได้          ส่วนรถไฟท้องถิ่น TER ไม่มีลิมิต ใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน เพียงแต่ต้องดูแลไม้ให้เกะกะคนอื่น  เช่นเดียวกับรถไฟ Eurostar ก็ไม่มีข้อจำกัด แต่ขออยู่ในปริมาณที่ถือและยกขึ้นวางด้วยตัวเองได้ เสี่ยงสูงขึ้น         จีนเป็นตลาดรถอีวีอันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีภาพลักษณ์ประเทศไฮเทค พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถช่วยสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ         แต่งานสำรวจโดยหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศกำลังชี้ให้เห็นว่าสุขภาพของคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้กำลังแย่ลง           การทำงานในโรงงานผลิตแบตเตอรีมีอันตรายหลายด้าน และอุตสาหกรรมนี้จัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูง และมีงานวิจัยในปี 2019 ที่พบว่าอุตสาหกรรมนี้เกิดภาวะสารเคมีเป็นพิษบ่อยที่สุดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 90         แม้ว่าแบตเตอรีรถอีวีซึ่งเป็นลิเธียมไอออนจะมีอันตรายน้อยกว่าแบตเตอรีตะกั่วกรดแบบเดิม แต่คนทำงานยังมีโอกาสได้รับอันตรายจากฝุ่นกราไฟท์ เขม่าที่เกิดขึ้นขณะผสมหรือกวนวัตถุดิบ อิเล็กโทรดขั้วลบขั้วบวก หรือแม้แต่โอโซนในพื้นที่เชื่อมโลหะ รวมถึงระดับเสียง 90 เดซิเบลที่สูงเกินระดับปลอดภัย (85 เดซิเบล) ต้องคืนเงิน         คณะกรรมาธิการการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิเสธการคืนเงินหรือปฏิเสธการรับประกันสินค้าได้         ความจริงแล้วผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการประกันโดยอัตโนมัติตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย แม้ผู้ขายจะอ้างว่าเลยระยะเวลารับประกัน หรือได้แจ้งแล้วว่าไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอเงินคืนได้         จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 98,000 เรื่องที่คณะกรรมาธิการได้รับในปี 2023 มีประมาณร้อยละ 30 ที่เกี่ยวกับการรับประกันสินค้า (28,000 เรื่อง)         ผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอันดับต้นๆ คือ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมักได้รับคำตอบว่า “สินค้าหมดประกันแล้ว คุณต้องรับผิดชอบค่าซ่อมเอง” หรือในบางกรณี เช่น การขอให้ผู้ประกอบการซ่อมรถมือสองให้ ผู้บริโภคต้องมีธุระจัดการไม่ต่ำกว่า 60 ขั้นตอน ได้หมดถ้าสดชื่น         ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการแต่งตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในประเทศ         เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ ในปี 2022 บริษัท Pan Pacific International Holding เจ้าของกิจการห้างอย่าง “ดองกี้” ยอมประกาศยกเลิกระเบียบเรื่องการย้อมสีผมตามที่พนักงานร้องขอ         ปีต่อมาครึ่งหนึ่งของพนักงานในห้างล้วนมีสีผมที่ไม่ใช่สีดำตามธรรมชาติ และในจำนวนนั้นร้อยละ 20 เป็นสีแบบจี๊ดจ๊าดหรือไม่ก็บลอนด์ไปเลย ผู้คนมีความสุขขึ้นเมื่อได้ทำงานในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง         เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ต BELC ในโตเกียวก็ยกเลิกกฎเรื่องสีผม ทรงผม หรือการเจาะหู รวมถึงการทาเล็บ ลดการลาออกของพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ต้องการย้อมสีผม         เรื่องรวมไปถึงแรงงานต่างประเทศด้วย เครือร้านอาหารซูชิโร ที่มีการจ้างงานคนจาก 60 ประเทศ อนุญาตให้พนักงานสวมฮิญาบ (กรณีผู้หญิง) หรือไว้หนวดเคราได้ถ้าสวมหน้ากากอนามัย (กรณีผู้ชาย) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 BKK Rail รวมเส้นทางรถไฟฟ้า

        ระบบสาธารณูปโภค ด้านการให้บริการการเดินรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ได้เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2542 เพื่ออำนวยความสะดวกและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งระบบรถสาธารณะประเภทรถไฟฟ้า ได้เข้ามาเป็นตัวเลือกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก จนแทบจะไม่รู้จักการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกันแล้ว        เมื่อกล่าวถึงการเดินทางในรูปแบบรถไฟฟ้านั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคุ้นเคยต่อการเดินทางในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ใช่ว่าจะคุ้นเคยกับทุกเส้นทาง รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่แทบจะไม่มีความคุ้นเคยกับการเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าเลย ดังนั้นฉบับนี้ขอเอาใจทุกคนที่ยังสับสนกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในทุกรูปแบบ          เพียงกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BKK Rail ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android บนสมาร์ทโฟนได้เลย         การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก มีให้เลือกเส้นทางรถไฟทั้งหมด 9 สี 9 สาย ได้แก่ สายที่ 1 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (สีเขียวอ่อน) เดินทางจากสถานีคูคตไปสถานีเคหะฯ สายที่ 2 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม (สีเขียวเข้ม) เดินทางจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีบางหว้า สายที่ 3 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เดินทางจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีบางแค และสถานีบางซื่อไปสถานีท่าพระ สายที่ 4 รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เดินทางจากสถานีเตาปูนไปสถานีคลองบางไผ่ สายที่ 5 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงเข้ม เดินทางจากสถานีกลางบางซื่อไปสถานีรังสิต สายที่ 6 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงอ่อน เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีตลิ่งชัน สายที่ 7 รถไฟฟ้าสายสีทอง เดินทางจากสถานีกรุงธนบุรีไปสถานีคลองสาน สายที่ 8 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ ARL เดินทางจากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ และสายที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือ YL เดินทางจากสถานีลาดพร้าวไปสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู เดินทางจากสถานีแครายไปสถานีมีนบุรี         เมื่อกดเลือกเส้นทางรถไฟจากทั้งหมด 9 สี 9 สายแล้ว แอปพลิเคชันจะปรากฎสถานีทั้งหมดของสายรถไฟนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกสถานีที่ต้องการ โดยจะแสดงช่วงตารางเวลาที่รถไฟฟ้าจะเดินทางมาถึงสถานี พร้อมกับรายละเอียดสิ่งอำนาวยความสะดวก นอกจากนี้ยังสามารถกดเชื่อมต่อไปยัง Google Map เพื่อแสดงแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานีนั้นได้อีกด้วย         อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ จะเป็นการค้นหาข้อมูลของเส้นทางเดินทาง โดยเลือกสถานีจุดเริ่มต้น และสถานีจุดหมายปลายทางที่จะไป เพียงเท่านี้แอปฯ ก็จะแนะนำเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดให้ผู้ใช้เลือก แถมยังคำนวณเวลาที่ใช้เดินทาง ราคาค่าโดยสาร และจำนวนสถานีเพิ่มเติม         เมื่อเดินทางไปไหนไม่ถูก ลองเปิดใช้แอปพลิเคชัน BKK Rail ที่ได้รวบรวมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สี 9 สายมาไว้ที่เดียวกันดู แล้วจะรู้ว่าแอปพลิเคชันนี้เป็นตัวช่วยให้กับนักเดินทางที่ไม่ชำนาญเส้นทางได้มากเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2566

เตือน! “อย่าซื้อขนมโรลออน” ที่ลักลอบนำเข้าไทย        3 กันยายน 2566 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า พบขนมบรรจุขวดที่มีหัวเป็นลูกกลิ้ง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โรลออน” วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน และช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต สังเกต คือ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลข อย. รวมถึงไม่ทราบส่วนประกอบหรือส่วนผสม และไม่มีผู้นำเข้า         ทางอย.จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมาบริโภค ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงได้รับอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งอาจมีสารปนเปื้อนจากการผลิตจากภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ขนมที่ได้รับอนุญาตต้องมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วน  สำหรับ ผู้นำเข้าและจำหน่าย ขนมที่ไม่ขออนุญาตนำเข้ามีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  BTS ชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าขัดข้องไม่ยอมปิดขณะเดินทาง         จากกรณีที่มีดราม่าระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง โดยได้มีผู้ใช้ติ๊กต๊อกบัญชี @star111042 ได้โพสต์คลิปประตูรถไฟฟ้า BTS เปิดขณะวิ่งอยู่ พร้อมแคปชันระบุว่า "เมื่อคนซวยๆ อย่างฉันมาขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเลยซวยไปด้วย” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่มีประตูรถไฟฟ้าเปิดค้างไว้ ขณะเดินทางระหว่างสถานีบางจาก-สถานีปุณญวิถี หลังเกิดเหตุ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบความปลอดภัยมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า (TC) จึงรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) และประสานเจ้าหน้าที่ไปยืนดูแลบริเวณประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้ประตู พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการแก้ไขประตูดังกล่าวที่สถานีถัดไป        อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว และประตูที่ขัดข้องอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก อย่าซื้อ นมแม่แช่แข็งให้ลูกกิน         20 กันยายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์เตือนกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์ ซื้อ-ขาย นมแม่แช่แข็ง โดยมีการระบุข้อความว่า "มีคนไปโพสต์ในกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง บอกว่ามีนมแม่แช่แข็งเหลือ จะขาย คนก็แชร์ไปหลายพันละ อันนี้เตือนแม่ๆ ว่า นมแม่นี่ ของใครของมัน ไม่ควรเอานมแม่คนอื่นมาป้อนให้ลูกตัวเอง ถ้าไม่ผ่านการตรวจเชื้อ และผ่านธนาคารนมแม่มาแล้ว เพราะนมแม่ เป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสที่จะมีเชื้อต่างๆ จากแม่ที่ผลิตนมนั้น เช่น HIV ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี EBV CMV herpes  ซึ่งหากเด็กติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่” นอกจากนี้  ปกติหากนมแม่เหลือและอยากแบ่งปันให้คนอื่น  จะมีธนาคารนมแม่ ที่เขาจะตรวจสอบว่าแม่ติดเชื้อไหม นมปลอดภัย มีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยาต่างๆ หรือไม่ เพื่อให้เด็กที่กินนั้นปลอดภัย Bangkok Airways ประกาศ “ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร สัมภาระก่อนบิน”         17 กันยายน 2566 หลังจากที่สายการบินต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ได้มีการออกกฎชั่งน้ำหนักและสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อสำรวจและนำมาคำนวณกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิงนั้น         ทางบางกอก แอร์เวย์ส สายการบิน ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย โดยระบุข้อความดังนี้ “เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนสากล เรื่องการใช้ข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับคำนวณน้ำหนักผู้โดยสารและสัมภาระถือขึ้นเครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักของเที่ยวบินอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำหนดน้ำหนักอากาศยานสำหรับการวิ่งขึ้นสูงสุด (Maximum Take-Off Weight) และทำการบินได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งแต่ 15 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. 66 เป็นต้นไป บริษัทขออนุญาตเก็บข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารรวมสัมภาระถือขึ้นเครื่อง ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง จึงขอความร่วมมือจากท่านผู้โดยสารชั่งน้ำหนัก นอกจากนี้  บริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานเท่านั้น มพบ.เผยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดจะได้รับเงินคืนจาก “Thai Air Asia X”         หลังจาก วันที่ 31 สิงหาคม 66 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัสเที่ยวบิน XJ บริการสายการบินราคาประหยัด เส้นทางไปต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี         15 กันยายน 2566 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ)” มีผลครอบคลุมเจ้าหนี้ทุกคนที่เป็นผู้โดยสาร ทั้งผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่างได้สิทธิรับคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องทั้ง 2กรณี ส่วนที่ก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 11 คน พากันมายื่นร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนบาทนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนให้ดำเนินการหาทนายฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทาง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ยื่นคำร้องค้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำหน่ายคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเพราะศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น คดีอื่นๆ ที่มีการยื่นฟ้องหรือบังคับคดีจึงต้องหยุดชั่วคราวเพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ศาลมีข้อแม้ว่า หากสายการบินไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา ก็จะเดินหน้าในกระบวนการทางศาลต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 กระแสต่างแดน

ขอที่ปูผ้า        ชาวบ้านบนเกาะพารอส ประเทศกรีซ พากันนุ่งผ้าเช็ดตัวออกมาเรียกร้องการเข้าใช้พื้นที่บนหาดทราย หลังกิจการบาร์ชายหาดรุกพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง จนไม่เหลือที่ให้คนท้องถิ่นมาปูผ้านอนอาบแดดได้โดยไม่ต้องเสียเงิน         กิจการ “ให้เช่าเก้าอี้อาบแดด” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ใครก็อยากเข้ามาลงทุน เพราะเรียกเก็บค่าเช่าแพงๆ จากนักท่องเที่ยวได้ แค่เตียงผ้าใบสองตัวกับร่มอีกหนึ่งคัน ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ยูโร (ประมาณ 3,800 บาท) แล้ว         โดยทั่วไปร้านค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจะให้บริการเช่าเตียงและร่มได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่เกินจากที่ขอไว้         “ม็อบผ้าเช็ดตัว” ทำให้เกิดกระแสขอคืนพื้นที่บนชายหาดของเกาะยอดนิยมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ มีทั้งการเดินประท้วงและการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ         ชายหาดกว่า 16,000 กิโลเมตรของกรีซ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายล้านคนในช่วงวันหยุดฤดูร้อน พกร่มให้หล่อ        ตลาดร่มสำหรับผู้ชายในญี่ปุ่นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ชายเริ่มหันมาใช้ร่มกันมากขึ้น         ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นบอกว่าปีนี้ยอดขาย “ร่มผู้ชาย” เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ห้างบอกว่าจากร่มในสต็อก 600 รุ่น มีถึง 80 รุ่น ที่เป็นร่มสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ         ร่มที่ลูกค้าชายชอบคือร่มสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า และน้ำเงิน เป็นแบบพับได้หลายตอนและมีขนาดเล็กใส่กระเป๋าสะดวก (ในขณะที่ผู้หญิงชอบร่มที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพื่อให้เปิด/ปิดได้ง่าย ไม่เกี่ยงขนาด)         สาเหตุที่ผู้ชายนิยมกางร่มมากขึ้นเพราะเหตุผลด้านการดูแลผิว ผู้อยู่เบื้องหลังได้แก่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางที่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดลูกค้าผู้ชายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายของญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30  ตลาดผลิตภัณฑ์กันแดด/แก้ผิวไหม้ ก็โตขึ้นร้อยละ 20 เช่นกัน         ห้างวิเคราะห์ต่อว่าการประชุมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้ชายใส่ใจรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น เพราะได้เห็นหน้าตัวเองบนจอภาพพร้อมกับหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่น   ไม่รับเงินสด         เป็นอีกเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้บริโภคเสมอ เมื่อผู้ประกอบการยืนยันว่า “ไม่รับเงินสด” โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริการรถสาธารณะ         กฎหมายของเดนมาร์ก จึงกำหนดให้ธุรกิจขนส่งไม่สามารถปฏิเสธเงินสดได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยการชำระเงิน ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องรับชำระเงินเป็นเงินสด แม้แต่การปฏิเสธ “แบงค์ใหญ่” เพราะไม่มีเงินทอน ก็ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้         แต่ Midttrafik ผู้ประกอบการรถเมล์สาธารณะในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก กลับยืนยันว่าตั้งแต่พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่รับชำระค่าโดยสารเป็นเงินสดแล้ว          เทศบาลเมืองออฮุสแถลงว่าบริษัทไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารเป็นเงินสดกับเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ประตูกลางหรือประตูหลังของรถ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องยกเครื่องเหล่านี้ออกไปทำลาย ช่องทางชำระด้วยเงินสดจึงหมดไปโดยปริยาย อยากระบาย         บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันจัดให้ฟรีสามครั้งสำหรับคนอายุ 15 ถึง 30 ปี ได้รับการตอบรับดีเกินคาด         ผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กล่าวว่าโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ “คนไข้” จำนวน 6,000 คน ปัจจุบันมีคนมาจองพบจิตแพทย์ในคลินิกและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเต็มหมดแล้ว         สาเหตุที่มีโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะ นอกจากภาวะหดหู่และโดดเดี่ยวในช่วงที่มีการระบาดของโควิดที่ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับเพื่อนแล้ว คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะจมอยู่กับอินเทอร์เน็ต ขาดทักษะทางสังคมและคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาก็มีสถิติการหย่าร้างสูงขึ้น         กรมฯ มองว่า การตอบรับอย่างท่วมท้นนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ไม่กลัวที่จะเล่าปัญหาตนเองให้คนอื่นฟัง ต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าที่เลือกจะไม่ปรึกษาใครเพราะกลัวเสียภาพพจน์   แก้ขาดทุน         ปีหน้าผู้โดยสารรถไฟในเนเธอร์แลนด์จะต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมชั่วโมงเร่งด่วน” ร้อยละ 7 หลังรัฐบาลอนุมัติแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของการรถไฟเนเธอร์แลนด์ (NS) ที่ต้องการนำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยกับรายได้ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อย         รัฐบาลยังเว้นการเรียกเก็บภาษีปีละ 80 ล้านยูโรจากบริษัท และให้เงินช่วยเหลือปีละ 13 ล้านยูโรด้วย ซึ่งกรณีหลังนี้องค์กร Alliance of Passenger Rail New Entrants (ALLRAIL) ออกมาค้านว่าน่าจะผิดกฎสหภาพยุโรป ที่ระบุว่ากิจการแสวงหากำไรที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยค่าโดยสารและรายได้อื่น ไม่สมควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป         ที่แน่นอนคือสัญญาการเดินรถระหว่างประเทศของ NS กำลังจะสิ้นสุดลง สหภาพยุโรปกำหนดว่าตั้งแต่ 25 ธันวาคมปีนี้เป็นต้นไป ต้องมีการประมูลรับสัมปทานกิจการรถไฟระหว่างประเทศกันใหม่ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากเยอรมนี อิตาลี รวมถึงบริษัทร่วมทุนเนเธอร์แลนด์/เบลเยียมก็แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 กระแสต่างแดน

ปรับปรุงมารยาท          หนึ่งในเรื่องร้องเรียนบริการแท็กซี่กรุงโซลอันดับต้นๆ คือ มารยาทของคนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดจาไม่ดีกับผู้โดยสาร เพื่อสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริการขนส่งสาธารณะ เทศบาลกรุงโซลจึงออกระเบียบที่เข้มขึ้น ก่อนหน้านี้ค่าปรับอยู่ที่ 100,000 วอน (2,700 บาท) แต่ระเบียบใหม่เพิ่มค่าปรับเป็น 200,000 วอน และเพิ่มโทษให้ “หยุดขับ” เป็นเวลาหนึ่งเดือน รวมถึงอาจยกเลิกใบอนุญาตขับแท็กซีด้วย คนขับแท็กซีบุคคลยังต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และถูกตัดเงินช่วยเหลือรายเดือนจากเทศบาล (2,500 วอน หรือ 65 บาท) เป็นเวลาหกเดือน ส่วนคนขับที่สังกัดบริษัทจะถูกตัดเงินช่วยเหลือ (5,000 วอน) เป็นเวลา 2 เดือน หากถูกร้องเรียนเข้ามา 10 ครั้ง ผู้โดยสารก็มีโอกาสถูกปรับเช่นกัน ระเบียบที่เริ่มใช้เมื่อแปดปีที่แล้วกำหนดให้ผู้โดยสารที่อาเจียนในรถแท็กซีต้องจ่ายค่าปรับ 150,000 วอน เช่นกัน งดจ่ายยา         ข่าวครูอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตนิวไทเปให้ยากล่อมประสาทกับเด็ก จนเด็กมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง นำไปสู่การรวมตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองหน้าศาลากลางเมืองไทเป เพื่อเรียกร้องให้รัฐดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และกำหนดบทลงโทษให้หนักขึ้น สารที่ตรวจพบในเลือดของเด็กคือฟีโนบาร์บิทัล ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มักใช้ในการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล คาดว่าเด็กน่าจะได้รับยาดังกล่าวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา ข่าวนี้ส่งผลให้สังคมไต้หวันออกมาวิพากษ์วิจารณ์รวมถึง “บุลลี่” โรงเรียนและคุณครูอนุบาลอย่างหนัก และเกินเลยไปจากโรงเรียนและครูที่เป็นข่าว สหภาพโรงเรียนอนุบาลจึงออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้สมาชิกยกเลิกรับภาระดูแล “ให้ยา” กับนักเรียนที่ป่วย โดยขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้านเอง รถไฟเชื่อมสัมพันธ์         ประชาชนและผู้อยู่อาศัยถาวรในฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีอายุระหว่าง 18 – 27 ปี สามารถลงทะเบียนขอรับ “ตั๋วรถไฟฟรี” เพื่อใช้เดินทางเป็นเวลา 7 วันโดยไม่กำหนดจำนวนเที่ยว ตั๋วดังกล่าวมีทั้งหมด 60,000 ใบ (แจกในเยอรมนี 30,000 ใบให้ไปขึ้นรถไฟเที่ยวในฝรั่งเศส และแจกในฝรั่งเศส 30,000 ใบเพื่อให้นำไปใช้เดินทางในเยอรมนี) ใครมาก่อนได้ก่อน โดยเขาจะส่งตั๋วในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปทางอีเมล โครงการดังกล่าวเป็นการฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก และยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศด้วยรถไฟ ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มากขึ้นด้วย เงื่อนไขการใช้ตั๋วก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ไปได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกขบวน ไม่เว้นแม้แต่รถไฟความเร็วสูง เพียงแต่ถ้าขึ้นขบวนที่มี “ค่าธรรมเนียมการจอง” ก็ต้องจ่ายเอง   ไม่ง่ายตลอด          คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission ฟ้องบริษัท Amazon ต่อศาลเมืองซีแอตเทิล ด้วยข้อกล่าวหาว่าบริษัท “หลอก” ให้ผู้บริโภคต่ออายุบริการ Amazon Prime โดยไม่ได้ให้ความยินยอม (เพราะไม่รู้ตัว) และยังออกแบบระบบให้การขอยกเลิกบริการเป็นเรื่องยาก FTC ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องความซับซ้อนของระบบ ที่ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนกว่าจะยกเลิกได้(หากใช้คอมพิวเตอร์) และ 6 ขั้นตอน (หากทำผ่านมือถือ) ทั้งนี้ FTC ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าวในอนาคตด้วย บริษัทให้ข้อมูลว่าเขาตั้งใจออกแบบให้ทั้งการสมัคร ต่ออายุ และการยกเลิกบริการเป็นเรื่องง่ายเพื่อเอาใจสมาชิก และบอกว่าการฟ้องร้องดังกล่าวมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง Amazon Prime เป็นผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และมีรายได้ต่อปี 25,000 ล้านเหรียญ ค่าเสียหายหนักมาก        นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนชาวอิตาลีสองคนจากองค์กร Last Generation ถูกศาลวาติกันสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 28,000 ยูโร (หนึ่งล้านกว่าบาท) หลังไปประท้วงชูป้าย “ไม่เอาก๊าซ ไม่เอาถ่านหิน” ใต้ประติมากรรมหินอ่อนโบราณ “เลโอคูนและลูกชาย” ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีค่าปรับ 1,620 ยูโร (62,400 บาท) และโทษจำคุกรอลงอาญาอีกเก้าเดือน พวกเขาบอกว่าโทษดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้แตะต้องตัวรูปปั้นเลย แค่พยายามใช้กาวเพียงเล็กน้อยติดเข้ากับฐานของรูปปั้นเท่านั้น และการกระทำของพวกเขาก็สะท้อนเจตนารมณ์ของพระสันตปาปาฟรานซิสที่ต้องการให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปปั้นดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์วาติกัน เป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประติมากรรมเดวิด และวีนัส  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2566

พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ใน “ก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูป”        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดผลทดสอบก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปร่วมกับทางสาธารณสุข จ.นนทบุรี พบตัวอย่างอาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุว่า “เลอรส” เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือเส้นเล็ก โดยเลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 วันผลิต 01/02/23 และวันหมดอายุ 01/05/23 พบจุลินทรีย์เกิดโรค Bacillus cereus  6,600 CFU/กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 พ.ร.บ. พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ Bacillus cereus ในเครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต่อมาทางบริษัทก๋วยเตี๋ยวเรือเลอรสได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็ก”ดังกล่าวได้มีการให้ทาง อย. อายัดล็อตดังกล่าวแล้วและไม่นำออกมาจำหน่ายอีก หิ้วผลไม้เข้าไทย มีโทษปรับ 2 หมื่น-คุก 1 ปี        กรมวิชาการเกษตร แจ้งถึงการนำเข้าผลไม้สดเข้ามายังประเทศไทย ระบุหากไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 (และแก้ไขเพิ่มเติมมีโทษทั้งจำและปรับ)         อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้าประเทศให้ระวังการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเจตนากระทำผิดเพราะหากมีการตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับและสินค้าจะทำการยึดเพื่อไปทำลายตามกฎหมายกักพืช ที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวมักจะซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังเพื่อไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้และฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 21 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตือนซื้อตั๋วรถไฟนอกระบบ เสี่ยงถูกโกง         นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำตั๋วรถไฟปลอมมาจำหน่ายหรือมีการเปิดรับจองตั๋ว การให้โค้ดจองหรือการซื้อขายตั๋วโดยสารนอกระบบ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลา โดยไม่สามารถเดินทางได้จริง ที่ผ่านม พบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นผู้โดยสารได้ซื้อตั๋วมาทางเฟซบุ๊ก  ดังนั้นการรถไฟฯ จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อตั๋วจากคนภายนอกหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ใช่ของการรถไฟฯ โดยตรง เพราะอาจเป็นตั๋วที่ปลอมแปลงขึ้นมา และระวังอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นพนักงานการรถไฟฯ และนำตั๋วไปขายต่อเพราะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"         เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน         ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่เสียชีวิต 44,810 คนและบาดเจ็บ 1,945,345 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี เสียชีวิต 7,526 คน บาดเจ็บ 179,978 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5         ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนานโยบายและสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เรื่อง "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" ช่วง 1 ม.ค. - 2 เม.ย. 2566 พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 60 คน พาหนะที่ชนมากที่สุดคือรถยนต์และรถกระบะ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนพลุกพล่านทั้งเพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะหรือออกไปซื้อของที่ตลาดหรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า ทำให้ผู้เดินเท้าอาจขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนนหรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระตุ้นรัฐให้ความสำคัญการโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย         11 เมษายน พ.ศ.2566  นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า จากประเด็นข่าวเผยแพร่ถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัททัวร์บังคับให้คนขับรถ ขับรถไป-กลับ ระหว่าง ชัยภูมิ-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 รอบติดกันโดยไม่ได้พักนั้น น่ากังวลว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสารและรถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุแต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวทั้งในช่วงสงกรานต์ และรวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิมเพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึงกรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่งแต่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในการตรวจจับรถที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาและเสนอให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร เพิ่มจำนวนรถและกำลังคนขับเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 กระแสต่างแดน

แทนน้ำเปล่า         ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นการใช้น้ำอัดลมในพิธีกรรมโบราณของคนพื้นเมืองในเม็กซิโก ทั้งพ่อหมอแม่หมอ ต่างยืนยันว่าทวยเทพทั้งหลายล้วนพอใจกับสิ่งนี้          ไม่ต่างอะไรกับคนเม็กซิโกทั่วไปที่นิยมดื่มน้ำอัดลมกันจนเป็นนิสัย แม้พื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ยังมีน้ำอัดลมขาย         ที่แปลกคือน้ำสะอาดสำหรับดื่มเป็นสิ่งหาได้ยาก แต่บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม เช่น โคคาโคลา กลับมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ผลิตเครื่องดื่มออกมาตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างไม่รู้จบ         รายงานระบุว่ารัฐบาลอนุญาตให้บริษัทใช้น้ำได้วันละประมาณหนึ่งล้านลิตร แต่เนื่องจากไม่มีการกำกับดูแลปริมาณน้ำที่ใช้จริง ผู้คนจึงสงสัยว่าสาเหตุที่น้ำดื่มขาดแคลน อาจมาการใช้น้ำของบริษัทเหล่านี้         อัตราการเป็นโรคเบาหวานในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ประชากรเกือบร้อยละ 17 เป็นโรคเบาหวาน และหนึ่งในสามของเยาวชนมีภาวะน้ำหนักเกิน  ของมันต้องขึ้น         ประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 9 ล้านคนในเกาหลีใต้ มีสิทธิขึ้นรถไฟใต้ดินฟรี         นโยบายนี้ถูกใจวัยเก๋า งานวิจัยก็พบว่ามันช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตาย เพราะการเดินทางออกจากบ้านทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย และการพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดีต่อสุขภาพจิต         แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ “โซลเมโทร” หน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการรถไฟไต้ดินของกรุงโซล เพราะขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละแสนล้านวอน (ประมาณ 26,700 ล้านบาท) ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด         เนื่องจากรัฐบาลไม่มีแผนจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเกรงจะกระทบกับฐานเสียง (ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุนั้นมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 23)  โซลเมโทร จึงประกาศขึ้นราคาค่าตั๋วจาก 1,250 เป็น 1,550 วอน (ประมาณ 42 บาท) ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป   มาเฟียรุกทะเล         เมืองแถบชายฝั่งอัฟริกาใต้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกหอยเป๋าฮื้อไปยังหลายประเทศในเอเชีย ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน         หอยส่วนหนึ่งมาจากฟาร์มที่เลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะและจับขายตามกำหนด ปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่ราคาค่อนข้างแพง         อีกส่วนหนึ่งมาจาก “ตลาดล่าง” ที่ดำเนินการโดยมาเฟียท้องถิ่น โดยอาศัยแรงงานราคาถูกของคนหนุ่มสาวที่ยินดีเสี่ยงคุกออกไปลักลอบจับหอยเป๋าฮื้อในทะเล ด้วยราคาที่ถูกลง “ลูกค้า” จึงให้การอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะสุ่มเสี่ยงเรื่องสุขอนามัย           หากไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง หอยเป๋าฮื้อจะหมดไปจากทะเลแถบนั้นภายใน 10 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แนวชายฝั่ง 2,850 กิโลเมตรนี้ไม่มีเจ้าภาพทำหน้าที่เป็น “ยามชายฝั่ง”  กองทัพเรือของเขาซึ่งปราบโจรสลัดเป็นงานหลักก็ไม่มีเขตอำนาจหน้าที่ในระยะ 100 เมตรจากชายฝั่ง  ของถูกยังมี         ปีที่แล้วราคาเนยในเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เป็นไปในทิศทางเดียวกับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ ที่แพงขึ้นร้อยละ 13.4 โดยเฉลี่ย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.9 ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่ “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อน          แต่อยู่ดีๆ ปีนี้ราคาเนยก็ลดฮวบ จาก 2.29 ยูโร (ประมาณ 85 บาท) ลงมาเหลือ 1.59 ยูโร (58 บาท) สำหรับเนยขนาด 250 กรัม         รายงานระบุว่าเป็นเพราะเยอรมนีผลิตน้ำนมวัวได้มากขึ้น แต่คนบริโภคนมน้อยลง และเนยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกแบรนด์ผลิตออกมาในขนาดเดียวกัน ทำให้เปรียบเทียบง่ายเวลาเลือกซื้อ ไม่ว่าร้านไหนก็ไม่ยอมให้ใครถูกกว่า         แต่ข่าวดีจบเพียงแค่นั้น ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างชีส หรือโยเกิร์ตยังคงแพงเหมือนเดิม น้ำมันดอกทานตะวันขนาดหนึ่งลิตร ก็ขึ้นราคาเป็น 5.99 ยูโร (220 บาท) จากราคาเดิม 1.29 ยูโร  รักต้องโอน         ธนาคาร TSB ของอังกฤษเปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ผ่านการโอน ระหว่างผู้เสียหาย (ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร) กับมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รัก ตามสูตรโรแมนซ์สแกม         ในช่วงโควิด กรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91 และมีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ประมาณหนึ่งในสามของเหยื่อได้รับการติดต่อผ่านเฟซบุ๊ค และเกือบร้อยละ 25 ติดต่อกันทางแอปทินเดอร์ ทั้งนี้อายุเฉลี่ยของผู้เสียหายคือ 47 ปี         สองในสามของเหยื่อเป็นผู้หญิง ที่โดยเฉลี่ยแล้วสูญเงินคนละประมาณ 6,300 ปอนด์ (250,000 บาท) ในขณะที่เหยื่อผู้ชายเสียไปคนละ 4,600 ปอนด์ (190,000 บาท)              สถิติระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่โอนเงินไปถึง 8 ครั้ง ก่อนจะ “รู้ตัว” โดยร้อยละ 32 รู้ตัวหลังคุยกันได้ประมาณสองสัปดาห์ อีกร้อยละ 27 รู้ตัวประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง อีกร้อยละ 11 “คบ” กันเกินครึ่งปี เขายังพบอีกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว การโอนครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายห่างกันประมาณ 62 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 กระแสต่างแดน

หาเงินง่าย         ปีที่แล้วมีหนุ่มสาวออสซี่ที่ต้องการหางานทำ ถูกหลอกให้ “วางเงิน” ไปไม่ต่ำกว่า 3,000 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 44 ปี) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.7 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 200 ล้านบาท คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) เตือนผู้ที่กำลังหางานทำให้ระวัง “ข้อเสนอจ้างงาน”​ ที่พบเห็นในโซเชียลแพลตฟอร์ม ที่มักอ้างว่าเป็นงานเบา งานง่าย แต่รายได้ดีสุดๆแค่นั่งคลิกส่งคำสั่งซื้อสินค้าในแอปฯ หรือกดส่งรีวิว ก็ได้เงินวันละ 1,000 เหรียญแล้ว และถ้าขยันทำทุกวัน ก็ได้ปีละ 365,000 เหรียญ (8.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว นอกจากจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครงานตอนที่ “ลงทะเบียน” เช่น ชื่อ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ แล้ว มิจฉาชีพซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายบุคคลของบริษัทชื่อดังที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก จะขอให้ผู้สมัครวาง “เงินประกัน” ไว้ด้วยนั่นเอง  เหนือการควบคุม         เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณะรัฐเช็ก สั่งห้ามการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการลดความเดือดร้อนรำคาญของคนในพื้นที่ แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อฟัง ตำรวจจับและปรับผู้ฝ่าฝืนแทบไม่ไหว เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุคนบาดเจ็บจากการเล่นพลุถึง 83 สาย ยังมีกระจกหน้าต่างอาคารกว่า 30 หลังแตกกระจาย แถมด้วยเหตุไฟลุกไหม้บนหลังคาซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้พลุและดอกไม้ไฟยังเป็นของที่หาได้ง่าย ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกพลุรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกด้วย สาธารณรัฐเช็กเคยเป็น “ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เสรีมาก” ผู้คนซื้อหาเหล้าบุหรี่ราคาถูกมาดื่มหรือสูบกันได้ทุกที่ ใครจะปลูกกัญชาที่บ้านกี่ต้นก็ได้แม้จะมีกฎหมายห้าม รัฐบาลยุคนั้นมองว่าอิสระเล็กน้อยพวกนี้ทำให้ผู้คนไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ แต่มันกลับส่งผลให้รัฐบาลยุคต่อมาไม่สามารถควบคุมเรื่องใดได้อย่างจริงจังอีกเลย  ภาษีบินบ่อย         งานวิจัยพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาบนโลกใบนี้เกิดจากร้อยละ 1 ของประชากรเท่านั้น พฤติกรรมการเดินทางของคนกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 124,000 ยูโร หรือ 4.4 ล้านบาทต่อปี จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของรายได้จากค่าโดยสารเครื่องบินมาจากร้อยละ 20 ของคนรายได้สูง ไม่ต่างกันกับที่อเมริกาเหนือ ทำให้ข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีแบบบินมากจ่ายมาก ถูกพูดถึงอีกครั้ง นักวิจัยเสนอว่าภายในปี 2050 รัฐจะมีรายได้จากภาษีนี้มากถึง 121,000 ล้านเหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีจากเหล่าซูเปอร์ริช ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็สร้างคาร์บอนได้ในปริมาณที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีอย่าง ไคลี เจนเนอร์ ที่มักไปไหนมาไหนใกล้ๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว หรือโรมัน อับราโมวิช เจ้าของเรือยอทช์ที่มีทั้งสระว่ายน้ำและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อยู่ก่อนขาย         โฆษณาขายแฟลตมือสองในราคา 688,888 เหรียญ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ในเว็บไซต์ สร้างความสงสัยให้กับชาวเน็ตในสิงคโปร์อย่างมาก ไม่ใช่เพราะราคาแฟลตขนาด 5 ห้อง ที่แพงขึ้นจาก 50,000 เหรียญ (ประมาณ 4 แสนกว่าบาท) ที่ Housing Development Board (HDB) ขายให้กับผู้ซื้อเมื่อปี 2017 แต่เพราะสภาพใหม่เอี่ยมเหมือนไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนต่างหาก ตามกฎหมายสิงคโปร์ เจ้าของแฟลตไม่มีสิทธิขายห้องก่อนจะได้อยู่อาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี หากไม่ต้องการอยู่ ก็จะต้องคืนห้องให้กับ HDB ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม (มีข้อยกเว้นกรณีของบุคคลล้มละลายหรือคนที่ต้องการหย่าร้างจากคู่สมรส ที่สามารถขออนุญาตเป็นพิเศษได้) การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีค่าปรับสูงสุด 50,000 เหรียญ และอาจถูกรัฐบาลริบห้องคืนด้วย   มาเร็วกว่ารถไฟ         ในปี 2024 ฝรั่งเศสจะเริ่มโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อรองรับขบวนรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางระหว่างเมืองบอร์โดและตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สามารถเป็นไปได้ใน 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในระยะขับรถถึงใน 1 ชั่วโมงจากสถานีรถไฟ (ทั้งหมด 2,340 ชุมชน) จะถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2023 รัฐบาลประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษี SET หรือ Special Equipment Tax ได้ถึงปีละ 29.5 ล้านยูโร (ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดใช้ในปี 2032 มีมูลค่า 14,300 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท) งบประมาณร้อยละ 40 มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป เพราะรถไฟดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับสเปน ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลกลาง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดยสารด่วนที่ยังด่วนไม่ได้ของ รถไฟฟ้า BTS

        ในเวลาเร่งด่วน  เชื่อว่าหลายๆ คนก็มักจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ทันใจ รถออกตามเวลาที่กำหนดเพราะคาดหวังว่าจะช่วยให้สามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ แต่เรื่องของคุณนิคสะท้อนว่า แม้ผู้บริโภคจะจ่ายค่าโดยสารในราคาเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่ได้รับบริการที่สามารถเดินทางไปได้ด่วนอยู่ดี         เรื่องมีอยู่ว่า  คุณนิค ก็เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ต้องจำเป็นต้องใช้ รถไฟฟ้า BTS ในเวลาเร่งด่วนคือช่วงเวลา 17.00- 17.30 น. ในเวลาดังกล่าวคุณนิคสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวนมากต่อแถวรอซื้อบัตรจนเป็นแถวยาว คุณนิคจึงพยายามหลีกเลี่ยง และเพื่อความรวดเร็วจึงซื้อบัตรจากตู้ระบบอัตโนมัติ ด้วยการสแกน QR CODE ไม่ต้องแลกเหรียญ ไม่ใช้เงินสด แต่ครั้งนี้ คุณนิคกลับพบว่า ระบบตู้อัตโนมัติทำงานได้ล่าช้าอย่างมาก หลังจากที่ได้สแกนจ่ายแล้ว  คุณนิครอรับบัตรโดยสารเป็นเวลากว่า 10 นาที เพราะเกรงใจคนที่ยืนต่อแถวข้างหลัง และด้วยความรีบที่จะไปทำธุระต่อ คุณนิคจึงตัดใจเดินออกมาและก็พบว่า ทั้งช่องซื้อบัตรโดยสารกับพนักงาน  ช่องแลกเหรียญแถวยาวมาก จึงหาจังหวะกลับไปซื้อบัตรโดยสารจากระบบตู้อัตโนมัติอีกครั้งในตู้ใหม่ที่อยู่ถัดออกมา การซื้อครั้งที่ 2 คุณนิคยังใช้เวลารอนานกว่า 5 นาทีกว่าบัตรโดยสารจะจ่ายออกมา เมื่อได้รับบัตรแล้ว  คุณนิคจึงรีบวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนเมื่อมองลงมายังพบว่า ตู้ระบบอัตโนมัติที่คุณนิคได้สแกน QR CODE ในครั้งแรกหน้าจอยังคงหมุนค้าง  ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีผู้โดยสารมาต่อแถว และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการอะไรแต่อย่างใด         คุณนิคติดใจการทำงานของตู้ระบบอัตโนมัติอย่างมาก เพราะระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับบัตรโดยสาร ที่สำคัญ BTS สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการโดยสารด่วน ทันสมัยแต่ในครั้งนี้ คุณนิคกลับใช้เวลาซื้อบัตรโดยสารทั้ง 2 ครั้ง เกือบครึ่งชั่วโมง !!           ปัญหาตู้ระบบอัตโนมัติยังมีต่อมาในครั้งที่ 2  คุณนิคเป็นผู้โดยสารที่ต่อแถวรอซื้อบัตรโดยสาร ด้วยการสแกน QR CODE อีกครั้ง  ครั้งนี้ คนข้างหน้าเจอปัญหาเหมือนที่คุณนิคเคยเจอมาทุกอย่าง คุณนิคเห็นเธอสแกนเงินแล้ว และได้แต่รอบัตรโดยสาร คุณนิครู้ว่าหากยืนรอก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าระบบจะทำงานได้ตามปกติได้เมื่อไหร่ คุณนิคจึงตัดใจเดินไปต่อแถวซื้อบัตรโดยสารจากพนักงานเพราะขณะนั้นมีคนจำนวนไม่มากนักและคงจะเร็วกว่าได้แต่รอตู้อัตโนมัติที่ยังมีปัญหาอยู่แน่นอน  คุณนิคได้บัตรโดยสารแล้วและยังเห็นคนข้างหน้าเธอยังคงยืนรอบัตรโดยสารออกมาจากตู้!         ครั้งที่ 3 ที่ทำให้คุณนิคสุดทนจนมาเล่ากับฉลาดซื้อครั้งนี้ คือเธอซื้อบัตรโดยสารด้วยการ สแกน QR CODE และเจอกับเหตุการณ์ที่เหมือนกับครั้งแรกทุกอย่างคือ ระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้วแต่บัตรโดยสารไม่ออกมา คุณนิคโมโหมาก เพราะรับปากว่าจะไปทำธุระสำคัญให้ทันเวลา ซึ่งหากครั้งนี้ไปสแกนซื้อบัตรครั้งใหม่ เท่ากับว่าเธอจะเสียเงินฟรีให้ระบบซื้อตั๋วเป็นครั้งที่ 2 เธอจึงเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าตู้ไม่ยอมจ่ายบัตรจะต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า พนักงาน BTS แจ้งให้คุณนิคไปต่อแถวผู้โดยสารที่กำลังรอซื้อบัตรโดยสารกับพนักงานเพื่อแสดงหลักฐานการจ่ายเงินแลกกับบัตรโดยสารได้ต่อไป    คุณนิคมองไปเห็นแต่แถวยาว จึงโมโหมากและบอกกับพนักงานไปว่า “กว่าจะได้สแกน ฉันก็ต่อแถวนานแล้ว พอสแกนแล้วระบบก็ไม่จ่ายบัตร  คุณก็ให้ไปต่อแถวใหม่ที่ยาวมาก ระบบมันมีปัญหาไม่ใช่ความผิดของฉันเลย ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วจะโดยสารด่วนได้ยังไง ถ้าต่อแถวใหม่กว่าจะถึงฉัน ฉันใช้เวลาซื้อบัตรเกือบ 40 นาทีนะ” แล้วคุณนิคก็จำต้องเดินไปต่อแถวที่ยาวมากดังกล่าว  จึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนิคและทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ BTS ดังต่อไปนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วนได้จริง คือ   1. BTS ควรหมั่นตรวจสอบระบบตู้ซื้อบัตรอัตโนมัติทั้งแบบ สแกน QR CODE และหยอดเหรียญ ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ซื้อบัตรจำนวนมากยังสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่  หากตู้มีปัญหาควรติดประกาศว่า ‘หยุดให้บริการชั่วคราว’เพราะหากเกิดปัญหา ล่าช้า ตู้ไม่สามารถจ่ายบัตรได้ ผู้โดยสารจะเสียเวลาซื้อบัตรนานมากกระทบต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง เสียเงินโดยที่ไม่ได้รับบริการอีกด้วยBTS ควรจัดให้มีพนักงานและช่องบริการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานีขึ้นมาโดยเฉพาะ การที่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากระบบของ BTS เองและให้ผู้โดยสารต่อแถวร่วมกับช่องขายบัตรเพื่อรอรับการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การให้บริการที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขึ้นได้แต่อย่างใด อีกทั้งการเสนอช่องทางให้ร้องเรียนการให้บริการใน 3 ช่องทางผ่านทาง Message  Line และ Call ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าให้แก่ผู้โดยสารได้แต่อย่างใด ช่องทางดังกล่าวจึงไม่พอเพียง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 กระแสต่างแดน

 แน่นจนน่ากลัว         เหตุการณ์ที่อิแทวอนทำให้ผู้โดยสารรถไฟไต้ดินของกรุงโซลเริ่มวิตก เพราะในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้คนหนาแน่น เบียดเสียดกันทั้งในสถานีและในขบวนรถเช่นกัน         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางสาย 1 ช่วงระหว่างสถานีกูโรและสถานีกิล การสำรวจโดยบริษัท SK Telecom  พบว่า มีความหนาแน่นของผู้โดยสารถึงร้อยละ 252 หรือเท่ากับ 403 คนต่อคัน (ทั้งที่ควรเป็น 160 คนเท่านั้น)         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการรถไฟใต้ดินมีแผนจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบแจ้งความหนาแน่นในตัวรถ รวมถึงจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะผ่าน “ประตู” สถานีเข้ามา ด้านนักวิชาการเสนอให้มีการปรับปรุงตารางรถ ไม่ให้รถไฟเข้าชานชาลาพร้อมกัน รวมถึงเพิ่มเส้นทางรถเมล์ด้วย          ระหว่างนี้เขาจะใช้มาตรการชั่วคราวไปก่อน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่มา “ยืน” ให้มากขึ้น นักวิชาการของเกาหลีบอกว่าแผนนี้ใช้ได้ เมื่อคนเกาหลีเห็นเจ้าหน้าที่ ก็จะเกรงใจและขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ไม่เบียด ไม่ผลัก และไม่พยายามแทรกเข้าขบวนรถที่เต็มแล้ว ตั๋วเดือนกลับมาแล้ว         ผลตอบรับที่ดีของ “ตั๋ว 9 ยูโร” ในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเยอรมนีเตรียมขาย “ตั๋วเดือน 49 ยูโร”  (ประมาณ 1,800 บาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ตามแผนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้มากขึ้น         ตั๋วที่ว่านี้สามารถใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ทั้งรถราง U-Bahn (รถไฟใต้ดิน)  S-Bahn (รถไฟในเมือง) และรถไฟข้ามเมืองของ Deutsche Bahn เช่นเดียวกับตั๋ว 9 เหรียญ         ตั๋วเอื้ออาทรนี้ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3 ล้านยูโร โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันจ่ายคนละครึ่ง   นอกจากนี้เยอรมนียังเตรียมขยายระบบขนส่งมวลชนโดยจัดสรรงบประมาณไว้ปีละหนึ่งพันล้านยูโร (และเพิ่มให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี         ผลโพลล์พบว่าร้อยละ 55 ของคนเยอรมันชอบตั๋วแบบนี้มากถึงมากที่สุด เพราะทุกวันนี้จ่ายอยู่เดือนละ 80 - 100  ยูโร แต่ก็มีถึงร้อยละ 23 ที่ไม่ชอบแนวคิดนี้         บ้างก็ว่าราคานี้ยังแพงไป ที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือ “ตั๋วปี” ในราคา 365 ยูโรรถสะอาด อากาศดี         ฝรั่งเศสเล็งเพิ่มพื้นที่ “มลพิษต่ำ” จาก 11 พื้นที่ในปัจจุบันเป็น 43 พื้นที่ภายในสิ้นปีหน้า         พื้นที่ดังกล่าวไม่อนุญาตให้รถรุ่นเก่าเข้ามาวิ่ง หรือวิ่งได้เพียงบางช่วงเวลา และรถที่จะเข้าพื้นที่ได้ต้องมีสติกเกอร์ Crit’Air ซึ่งทางการจะออกให้หลังตรวจประเมินระดับการปล่อยมลพิษ (ระดับ 0 ถึง 5) การขับรถที่ไม่มีสติกเกอร์เข้าเขตดังกล่าวจะมีค่าปรับระหว่าง 68 ถึง 750 ยูโร         รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายขณะนี้ยังไม่ดีพอและไม่มีมาตรฐาน แต่เขากำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติโดยใช้กล้องวงจรปิดเข้ามาช่วยในเร็วๆ นี้         ด้านประชาชนที่เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (ค่ามลพิษระดับ 0) จะได้ “โบนัส” 7,000 ยูโร โดยรถที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนต้องมีราคาระหว่าง 7,000 - 47,000 ยูโร โดยเจ้าของจะต้องใช้รถอย่างน้อยหกเดือน หรือขับอย่างน้อย 6,000 กิโลเมตร ก่อนจะขายต่อได้         ความนิยมรถไฟฟ้าในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการจดทะเบียนในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 93,344 คัน  รีวิวหลอกดาว         อเมซอนยื่นฟ้องบริษัทนายหน้าจัดหาผู้มารีวิวสินค้าในประเทศสเปนและอิตาลี หลังพบว่า “ลูกค้า” ที่เข้ามารีวิวสินค้าในอเมซอนไว้อย่างเลิศเลอนั้นไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง         อเมซอนบอกว่าเขาตรวจสอบได้ว่าใคร “ถูกจ้าง” โดยทั่วไปลูกค้าจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่กรณีนี้ผิดสังเกต เพราะลูกค้าที่พึงพอใจมากกลับทำเรื่องขอเงินคืน แล้วก็ได้คืน “เต็มจำนวน” เสียด้วย สุดท้ายพบว่าเงินดังกล่าวคือค่าตอบแทนนั่นเอง         บริษัทที่เป็นจำเลยอ้างว่า พวกเขาเพียงแต่เลือกคนที่พวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่ายินดีจะซื้อสินค้า และจะมีความพึงพอใจขนาดโพสต์รีวิวให้ถึงห้าดาว วิธีการแบบนี้แพร่หลายมากขึ้นช่วงโควิดระบาดที่ผู้คนนิยมเดินห้างออนไลน์ ก่อนหน้านี้อเมซอนยุโรป ได้ส่งคำเตือนไปยังเว็บไซต์ 5 เว็บในเยอรมนี ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งเว็บเหล่านั้นก็ยินยอมเพราะไม่ต้องการถูกฟ้อง   ร้อน แล้ง เครียด         ปัจจุบันจำนวนคนชั้นกลางที่มีฐานะดีและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมีจำนวนมากขึ้นทั่วโลก แต่อากาศที่ร้อนแล้งขึ้นทุกปีส่งผลให้วัวให้น้ำนมได้น้อยลงเพราะ “ความเครียด” และการขาดแคลนทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากนมวัวจึงมีแนวโน้มจะลดลงและมีราคาแพงขึ้น         มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจากนมวัวของออสเตรเลียจะลดลงไปถึงร้อยละ 50 เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกกิจการไปเพราะเจอกับคลื่นความร้อนหลายปีติดต่อกัน  ด้านอเมริกาก็มีรายงานว่าหากสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ก่อนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมวัวนมที่นั่นอาจขาดทุนถึงปีละ 2,200 ล้านเหรียญ         ในขณะที่ฝรั่งเศสประกาศหยุดผลิตชีสยอดนิยมที่เรียกกันว่า  Salers เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” เพียงพอ วัตถุดิบที่ว่านั้นคือน้ำนมจากแม่วัวที่กินหญ้านั่นเอง         ส่วนอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำนมวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก สถานการณ์ก็ย่ำแย่เช่นกัน เกษตรกรรายย่อย จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์หรือสร้างโรงเรือนเพื่อทำความเย็นให้กับวัวนั่นเอง     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2565

สังเกตเครื่องหมาย +66 แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโดยมีมาตรการดังนี้  1. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือเบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก เบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย 2. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด 3. ให้ดำเนินการตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่าเลขหมายมีการดัดแปลงหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator อย่างต่อเนื่อง 4. กรณีสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่มีกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ทราบว่าโทรมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการของ กสทช. นี้เพื่อย้ำให้ผู้ให้บริการระหว่างประเทศดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับเครื่องเครื่องสำอางปลอม 18 ยี่ห้อดัง         กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ดังปลอมหลายยี่ห้อ ซึ่งภายในบ้านได้ดัดแปลงเป็นโกดังสินค้าย่านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยสามารถจับกุมหญิงชาวเวียดนามผู้ดูแลบ้านได้ และจากการตรวจสอบบ้านได้ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางยี่ห้อดัง 18 รายการ จาก 7 บริษัท มูลค่า 70 ล้านบาท ต่อมาทางหญิงชาวเวียดนามได้สารภาพว่า แฟนหนุ่มคนไทยได้ร่วมมือกับนายทุนชาวเวียดนาม รับจ้างดูแลสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้า ส่วนสินค้าคือสินค้าปลอมที่ผลิตมาจากประเทศจีน และมีการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. ได้เปิดเผยว่า ต้นเหตุในการจับกุมมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีราคาถูกกว่าปกติ 50-70% มีโปรโมชัน 1 แถม 1 เมื่อได้รับกลับพบว่าเป็นสินค้า ด้อยคุณภาพ เมื่อใช้เกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้นและหน้าพัง จึงขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบให้รอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เสี่ยงอันตรายจากแบคทีเรีย         จากกรณีข้อมูลเผยแพร่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ มีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากแบคทีเรียสะสมนั้น เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยจากผู้ป่วย หน้ากากอนามัยจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นขยะที่ติดเชื้อ ต้องนำไปกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545  และหน้ากากอนามัยที่ติดเชื้อหากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแหล่งเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ที่จะเจริญเติบโตและก่อโรคให้แก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้น ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก เมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง  พาณิชย์ไม่อนุญาตขึ้นค่าส่งสินค้าออนไลน์         หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ได้ปรับราคาค่าขนส่ง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าขนส่งได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าสินค้าหรือบริการต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาหรือปริมาณสินค้า แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ  มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือค้านเร่งต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว         เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี โดยไม่ได้ศึกษาหรือทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานอาจจะทำให้ประชาชนขาดประโยชน์ไปอีกถึง 37 ปี         การยื่นหนังสือคัดค้านนี้ มีนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับทาง มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ  ทั้งนี้ ทาง มพบ. เครือข่ายภาคประชาชน ยังขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่าง กทม. กับ BTSC  ตลอดจนขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 “ราคารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าใด ทำไมคมนาคมเสนอ 36 บาทและทำไมสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ 25 บาท”

        ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บางส่วนยังตั้งคำถามกับราคา 25 บาทที่สภาองค์กรของผู้บริโภคนำเสนอว่าทำได้มั้ย มาจากอะไร         ราคาตั้งต้นของกระทรวงคมนาคมกำหนดค่าโดยสารที่ 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ลดราคาค่าโดยสารลงเหลือ 50% เฉลี่ยที่ 25 บาทโดยยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรถไฟฟ้าจำนวนเท่าเดิมตามตัวเลขของกระทรวงคมนาคม พบว่ากทม. ยังมีรายได้ในปีพ.ศ. 26020 จำนวน 23,200 ล้านบาท ทั้งยังได้รับการยืนยันจาข้อมูลของนักวิชาการว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของสายสีเขียวระหว่างปี2557-2562 อยู่ระหว่าง 10.10-16.30 บาท เท่านั้น หรือหากติดตามข้อมูลเรื่องนี้ก็จะพบว่า ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือพรรคการเมืองต่างๆ ยืนยันว่าราคา 20 บาทขึ้นไปเป็นราคาที่ทำได้จริง         แต่สิ่งที่สำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหารถไฟฟ้าราคาแพงถึงคนรุ่นต่อไป คือโอกาสของประเทศในการจัดการรถไฟฟ้าทั้งระบบ ระบบตั๋วร่วมการยกเว้นค่าแรกเข้า การกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุด เพราะถึงแม้สายสีเขียวจะถูกลงแต่หากสัญญาสัมปทานไม่มีข้อกำหนดหรือกติกาเหล่านี้ ประชาชนก็ต้องจ่ายราคาแพงในการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี ซึ่งสัญญาสัมปทานสายสีเขียวที่นำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้เลย และหากจะมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอนคต คงหลีกเลี่ยงค่าโง่ในการดำเนินการมิได้         การดำเนินการครั้งนี้จึงมีความสำคัญกับประชาชน ในการทำให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพและการเชื่อมต่อกับจังหวัดรอบๆ ปริมณฑลเป็นจริงเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ฝุ่น PM 2.5และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน         ล่าสุดจากการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงคมนาคมวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าสามารถใช้ราคา 36 บาทในการดำเนินการได้จากรายได้ที่กรุงเทพมหานครได้รับ         นอกจากนี้การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ได้ถูกตั้งคำถามปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ดำเนินการตามพรบ. ร่วมทุน และปัญหาค่าโดยสารราคาแพงที่เป็นภาระหนักของผู้บริโภคในอนาคตนานถึง 37 ปี ที่สูงถึง 65 บาท หรือ 39% ของรายได้ขั้นต่ำของ ประชาชน จะมีทางออกอย่างไร ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะยังชะลอการนำเข้าพิจารณาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา         ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีมีความเสี่ยงในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งข้อเท็จจริงหรือรายได้ ราคาค่าโดยสารที่ขาดที่ไปที่มา ไม่ครบถ้วน ซึ่งราคาที่กำหนดยังได้รับการยืนยันว่า เป็นการเหมารวมระบบสัมปทานแบบทั้งการเดินรถและสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การโฆษณาตลอดระยะเวลา 37 ปี จึงมั่นใจว่า ราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาทที่นำเสนอจึงเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและหากจะรวมค่าโดยสารรถเมล์หรือบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ อีกไม่เกิน 8 บาท รวม 33 บาทจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 #ถ้าการเมืองดี

        ในช่วงเวลาหนึ่งของปี 2563 มีแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า #ถ้าการเมืองดี เกิดเป็นกระแส ซึ่งเป็นเสมือนการแชร์ไอเดียกันว่าหากประเทศไทยการเมืองดี คุณภาพชีวิตและสังคมไทยจะเป็นอย่างไร         ทันทีที่แฮชแท็กนี้ถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์ ชาวโซเชียลจำนวนมากช่วยกันดันจนแฮชแท็กนี้ติดอันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์ และกับเรื่องเด่นหลายเรื่อง เช่น การศึกษาที่เด็กควรได้เรียนอย่างอิสระไม่ต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายของคนยุคเก่า การรักษาพยาบาลควรดีกว่านี้คนจะได้ไม่ต้องมาเข้าคิวรอหมอนัดข้ามคืน รวมถึงถ้าการเมืองดีคนไทยจะได้ไม่ต้องทนใช้รถโดยสารเก่า มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีฟุตบาททางเท้าได้มาตรฐาน เดินได้ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเป็นความเชื่อและความฝันของคนจำนวนมากที่คิดว่า ถ้ากรุงเทพมีระบบขนส่งสาธารณะดีบริการทั่วถึงเพียงพอ การจราจรบนท้องถนนเบาบางลง ผู้คนยอมจอดรถยนต์ส่วนตัวไว้ที่บ้านแล้วออกมาใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างที่ในต่างประเทศนิยมใช้กัน ผลประโยชน์ที่ตามมาคือ มลภาวะเป็นพิษทางอากาศจะลดน้อยลง คุณภาพชีวิตคนเมืองและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ ผู้คนจะมีความสุข ได้เดินบนฟุตบาทอย่างปลอดภัย ปั่นจักรยานโดยไม่ต้องกลัวรถมาชนท้าย นั่งรถเมล์ต่อรถไฟฟ้าไปทำงานแบบมีโปรโมชั่นส่วนลด ที่สำคัญจะไม่มีใครต้องมาเสียเวลารถติดเปลืองพลังงานอยู่บนถนนแบบไร้คุณค่าเหมือนทุกวันนี้         แล้วสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจริงได้ไหม? เพราะปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สามารถทำให้ไร้รอยต่อได้จริง อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องเดินออกจากที่พักในระยะทางมากกว่า 1,000 เมตร เพื่อมาที่ป้ายรถเมล์ คุณภาพรถเมล์ยังสวนทางกับราคาค่าบริการ คนรายได้น้อยที่ต้องการใช้รถไฟฟ้ายังไม่มีโอกาสได้ใช้บริการเพราะสู้ราคาไม่ไหว เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองไทยนั้นติดอันดับแพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพ          ในบรรดาของที่แพงขึ้นๆ นั้น ค่ารถไฟฟ้าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเพราะขึ้นราคามาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน เมื่อผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศแจ้งยกเลิกตั๋วรายเดือน 30 วัน อ้างว่าเป็นโปรโมชั่นส่วนลดของบริษัทมานาน 15 ปีแล้ว และได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคมาแล้ว พบว่า พฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง การเดินทางที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน ทำให้ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค จึงต้องยกเลิกโปรโมชั่นนี้        ฟังเหตุผลของบีทีเอสแล้วคงต้องซาบซึ้งใจในความห่วงใยที่มีต่อผู้โดยสาร แต่การอ้างถึงผลกระทบจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้นไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ทุกชีวิตทุกระบบของระบบขนส่งสาธารณะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์กรุงเทพทำให้อัตราการใช้ขนส่งสาธารณะมีจำนวนน้อยลดลง แต่เมื่อรัฐบาลประกาศคลายมาตรการล็อคดาวน์จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าก็เริ่มกลับมาคึกคักเพิ่มมากขึ้น การอ้างพฤติกรรมของผู้โดยสารช่วงล็อคดาวน์จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ หรือการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะมีเหตุผลอื่นแฝงซ่อนอยู่….?         การยกเลิกโปรโมชั่นตั๋วรายเดือนนี้ นอกจากไม่ได้ช่วยเหลือลูกค้าประจำของบีทีเอสเองแล้ว ยังเป็นการผลักให้มิตรกลายเป็นศัตรู ซ้ำเติมสร้างวิกฤตใหม่ ผลักภาระให้กับประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะคนที่เลือกใช้บริการตั๋วรายเดือนส่วนใหญ่ คือ ลูกค้าประจำหรือคนที่เดินทางบ่อยเกือบทุกวัน ซึ่งถือว่าค่าโดยสารบีทีเอสเป็นหนึ่งในรายจ่ายประจำวันอยู่แล้ว ที่สำคัญการยกเลิกตั๋วรายเดือนส่งผลโดยตรงให้คนส่วนใหญ่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น บางรายเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “บีทีเอสกำลังจับผู้บริโภคเป็นตัวประกันต่อรองรัฐบาลเพื่อต่อสัญญาสัมปทานใช่หรือไม่” เพราะที่ผ่านมาบีทีเอสได้พยายามออกมาทวงหนี้กรุงเทพมหานครที่ยังไม่ต่อสัญญาสัมปทาน (ตามที่คุยกันไว้แล้ว) จนโด่งดังไปทั่วโลก และกดดันรัฐบาลให้เร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องก็ยังไม่ไปไหน         แม้ต่อมาผู้บริหารบีทีเอสจะออกมาปฏิเสธทันทีว่า การยกเลิกตั๋วรายเดือนไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานกับกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกเลิกตั๋วรายเดือนมีผลเชื่อมโยงกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานจริง และเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองใช่หรือไม่?  โดยมีข้อเท็จจริงที่กรุงเทพมหานครติดหนี้ค้างจ่ายบีทีเอสเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ จำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางแล้ว และยอดหนี้ค่าจ้างก่อสร้างงานระบบอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ฟ้องต่อศาลแต่คาดหมายว่าจะต้องฟ้องต่อในอนาคต        ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยตัดสินใจถอนเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอสออกจากวาระเพื่อพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขระเบียบมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามกระทรวงคมนาคมและสังคมได้ว่า เหตุใดจึงต้องยอมเสียเปรียบเอกชนต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสทั้งที่ยังเหลือเวลาอีก 8 ปี และทำไมต้องเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท รวมถึงรายละเอียดในสัญญาสัมปทานฉบับใหม่มีผลกระทบต่อรัฐและประชาชนอย่างไร          ถ้าประเด็นคำถามข้อสงสัยต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ผลประโยชน์นับแสนล้านจากการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มหาดไทย คมนาคม ก็ยังไม่ควรต้องเร่งรีบพิจารณาอนุมัติ จากเรื่องขนส่งสาธารณะกลายเป็นเรื่องวุ่นๆ ของนักการเมือง สรุปแล้วแบบนี้ประเทศไทยเราการเมืองดีแล้วหรือยัง ?

อ่านเพิ่มเติม >