ฉบับที่ 247 รองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ

        การมาเยือนของโควิด-19 อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าการเดินห้างมัน “เอ้าท์” และการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงด้วยการบุกป่าฝ่าลำธารน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจ “ขาลุย” อีกครั้งด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบรองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงจากอาการเท้าแพลงเพราะสะดุดรากไม้หรือก้อนหิน (ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอผลการทดสอบรองเท้าเดินป่าแบบธรรมดาไว้ในฉบับที่ 222 แถมด้วย “เป้เดินป่า” ในฉบับที่ 216 และ 245)          ครั้งนี้มีรองเท้าถูกส่งเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 รุ่น (สนนราคาตั้งแต่ประมาณ 2,300 ไปจนถึง 11,200 บาท)* โดยองค์กรผู้บริโภคจากออสเตรีย สวีเดน สโลเวเนีย และ สาธารณรัฐเช็ค ข้อตกลงเบื้องต้นคือต้องเป็นรองเท้าเดินป่าที่เหมาะกับการสวมใส่ในทุกฤดูกาล  และมีทั้งรุ่นสำหรับผู้หญิงและผู้ชายคะแนนจากการทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ        1. คะแนนจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (ร้อยละ 70)             - การกันน้ำ (ทดสอบโดยการแช่รองเท้าที่ระดับความลึกของน้ำถึงกึ่งกลางระหว่างรูร้อยเชือกที่หนึ่งและสอง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก) การรักษาอุณหภูมิ และการระบายอากาศ              - ความทนทานต่อการขีดข่วนหรือสึกหรอ (กาว เชือกผูก พื้นรองเท้าด้านในและด้านนอก)             - ประสิทธิภาพในการกันลื่น บนพื้นผิวเซรามิกและกระเบื้องดินเผา ทั้งขณะเปียกและแห้ง (วัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน)            - การดูดซับแรงกระแทก         2. คะแนนจากความเห็นของผู้ทดลองสวมใส่  (ร้อยละ 30)ใส่/ถอดสะดวก ผูกเชือกง่าย สวมใส่สบาย กระชับ ไม่กัดเท้า เดินได้อย่างมั่นใจทั้งบนพื้นผิวที่เปียกและแห้ง ใส่แล้วรู้สึกไม่ร้อน ไม่อับชื้น และทำความสะอาดง่าย เป็นต้น          * อ้างอิงจากราคาที่ซื้อเป็นหน่วยยูโร          * ในการทดสอบครั้งนี้ใช้รองเท้ารุ่นละ 5 คู่ (1 คู่ ส่งเข้าห้องแล็บ  2 คู่สำหรับอาสาสมัครหญิง และอีก 2 คู่ สำหรับอาสาสมัครชาย) อัตราค่าทดสอบอยู่ระหว่าง 312.42 – 356.42 ยูโร (ประมาณ 12,000 – 14,000 บาท) ต่อตัวอย่าง รุ่นที่มีหนังเป็นส่วนประกอบจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 245 เชียร์ยูโรก็โอเคแต่รองเท้านั้น ก็นะ

        คุณมะปรางเมื่อได้ยินเพลงแอโร่ซอฟท์ เชียร์ยูโรครั้งแรกก็ประทับใจว่า บริษัทได้ทำให้คนไทยที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมีความสุขกับการชมกีฬาโปรด ซึ่งเธอคือหนึ่งในนั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการขอบคุณบริษัทจึงยินดีจะสนับสนุนบริษัทด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์รองเท้าสักคู่หนึ่ง         เมื่อขับรถกลับบ้านที่อยุธยา สายตาก็เห็นร้านรองเท้าในตลาดแห่งหนึ่งที่ขับผ่าน จึงแวะถามหาว่ามีรองเท้ายี่ห้อนี้ไหม เธอตั้งใจซื้อเพราะเห็นว่าเป็นร้านเก่าแก่และน่าจะช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจชุมชนไปด้วยในตัว จึงไม่ได้คิดจะสั่งซื้อจากห้างหรือร้านค้าออนไลน์ เผอิญว่า ร้านดังกล่าวมีรองเท้าแตะยี่ห้อนี้พอดี ความที่ดีใจไม่ได้ทันสังเกตตรวจสอบอะไรมาก สวมพอดีก็โอเคละ จึงจ่ายเงินซื้อมาทันทีแถมซื้อฝากพี่สาวอีกหนึ่งคู่ด้วย         หลายวันถัดมา คุณพี่สาวโทรศัพท์มาบอกว่า “รองเท้าแตะของเธอฉันใส่ได้แค่สามวัน พื้นรองเท้าแตกหมดสภาพแล้ว ฉันต้องทำอย่างไร” คุณมะปรางจึงให้พี่สาวถ่ายรูปมาให้ดูและเธอส่งภาพดังกล่าวไปให้ทางเพจแอโร่ซอฟท์ดูว่า พอจะทำอย่างไรได้บ้าง แต่ใจคุณมะปรางเองก็ไม่ได้คิดจะเคลมหรือขอเปลี่ยนคู่ใหม่ เพราะดูจากสภาพที่พี่สาวส่งมาให้เธอรู้ทันทีว่า น่าจะเป็นสินค้าหมดอายุหรือเก่าเก็บพอสมควร “ดิฉันคิดแค่จะแจ้งให้ทางบริษัททราบว่าควรบริหารสินค้าที่จะส่งมอบให้ผู้บริโภคดีขึ้นอีกสักนิด”         แต่ก็พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ จึงได้โทรศัพท์มาเล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคฟัง คือ สินค้าของทางแอโร่ซอฟท์จะมีสองแบบ “แบบที่คุณลูกค้าส่งภาพมาให้ดูนั้น เป็น ‘aerosoft’ ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร a ตัวเล็ก ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกต่างประเทศ ส่วนที่ทำการโปรโมตในขณะนี้นั้น จะเป็น ‘Aerosoft’ ที่ตัว a จะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ A (ซึ่งคุณลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ทาง shopee) นะคะ” เมื่อคุณมะปรางถามต่อว่า “อย่างนี้ก็ซื้อที่ร้านแบบที่ดิฉันซื้อไม่ได้เหรอคะ” ทางแอดมินเพจตอบว่า “ได้คะ เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเช่นกัน แต่วัสดุจะเป็นคนละประเภท...”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณมะปรางไม่ได้ต้องการร้องเรียนหรือเปลี่ยนสินค้า เพราะตนเองก็สะเพร่าที่ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องวันหมดอายุ แต่เห็นว่าสินค้าของบริษัทนี้มีสองเกรด ซึ่งสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคจึงมาเล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฟัง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของผู้บริโภคต่อไป         สินค้าประเภทรองเท้านั้นผู้บริโภคควรคำนึงถึงเรื่องอายุของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญนอกเหนือจากราคาและการสวมใส่ที่พอดีเท้า อย่ามุ่งเฉพาะเรื่อง ราคาถูกหรือรูปแบบที่ตนเองพอใจ อย่างไรก็ตามหากเป็นการซื้อสินค้าที่ยังไม่หมดอายุแต่ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพไม่เหมาะต่อการใช้งาน  ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ประกอบการหรือร้านค้าชำระเงินคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้ได้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 229 วิธีกำจัดกลิ่นเท้าที่ได้ผล

        กลิ่นเท้า คือกลิ่นที่รบกวนใจทั้งคนที่เป็นต้นตอและคนรอบข้าง ลองนึกถึงเวลาที่อยู่ในสถานที่ค่อนข้างปิดแล้วใครสักคนถอดรองเท้าที่แสนอับชื้นพร้อมปล่อยกลิ่นอันไม่พึงประสงค์แล้ว ช่างชวนกระอักกระอ่วนจริงๆ         หลายคนรู้ดีว่าตนเองมีปัญหาเรื่องกลิ่นเท้า เพราะความที่เป็นคนเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณเท้าแต่ไม่อาจเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าแบบปิดมิดชิดได้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องงานหรือวิธีการใช้งาน เช่น ท่องเที่ยว เล่นกีฬา เดินป่าหรือเดินทางติดต่อธุระกิจ บางคนพยายามดูแลเท้าเป็นอย่างดีแต่ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ เราลองมาค้นหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องกันเถอะ อาจไม่หายขาดแต่ก็น่าจะพอช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง  สาเหตุของกลิ่นเท้า         สาเหตุของเท้าเหม็นเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดกลิ่นเท้ามักจะมาจากแบคทีเรียและเหงื่อที่ออกบริเวณเท้าของเรา คล้ายกันกับการเกิดกลิ่นตัว ทั้งนี้อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยเช่นแผลที่บริเวณเท้าหรือเชื้อราจากโรคน้ำกัดเท้า  การกำจัดกลิ่นเท้า          การกำจัดกลิ่นเท้าก็ต้องกำจัดที่สาเหตุ คือเน้นที่ความสะอาดก่อนอื่นเลย ทั้งในส่วนของเท้า รองเท้าและถุงเท้า จะทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ต้องทำไปพร้อมกัน            -  การดูแลเท้าให้สะอาด ถ้าเป็นโรคต้องรักษาให้หายขาด (หากยังรักษาไม่หายคงต้องเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าที่ปิดมิดชิด)  การดูแลเท้าให้สะอาดมีการแนะนำไว้หลายวิธี เช่น การแช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเบคกิ้งโซดาหรือด่างทับทิม หรือน้ำยาที่ใช้ฆ่าแบคทีเรีย หรือที่นิยมกันมากคือการแช่น้ำผสมสารส้ม หมั่นทำบ่อยๆ สัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง ระหว่างแช่เท้าอาจขัดถูทำความสะอาดตามซอกเล็บซอกเท้า สำคัญต้องเช็ดให้แห้งสนิทหลังจากล้างทำความสะอาด            - ทำความสะอาดรองเท้าสม่ำเสมอ ควรให้ความสำคัญอย่าปล่อยไว้เพราะถึงแม้เท้าของคุณสะอาดแต่รองเท้าสกปรก ก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา รองเท้าที่สามารถซักล้างได้ควรซักล้างและแช่น้ำยาเช่นเดียวกับการทำความสะอาดเท้า ส่วนรองเท้าที่ซักล้างไม่ได้ควรเช็ดถูและตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อหรือพ่นแอลกอฮอล์ลดปริมาณแบคทีเรียลง            - ทำความสะอาดถุงเท้า อย่าบอกนะว่าคุณก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบม้วนถุงเท้าใส่ไว้ในรองเท้าเพราะไม่อยากซักบ่อย เชื่อเถอะถุงเท้าควรหมั่นซักทำความสะอาดเช่นกัน และเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน นอกจากนี้ควรเลือกใช้ถุงเท้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย จะช่วยระบายความอับชื้นได้ดีกว่าถุงเท้าราคาถูกที่ผสมเส้นใยจากพลาสติก วิธีอื่นๆ ที่ช่วยเสริมความมั่นใจ         1.อย่าใส่รองเท้าที่คับเกินไป จะยิ่งเพิ่มความอับชื้นหรือเกิดแผล          2.ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรเลือกสวมใส่รองเท้าที่ระบายเหงื่อได้ดี         3.ก่อนสวมรองเท้าอาจใช้สเปรย์ระงับกลิ่นกายหรือโรลออน ทาบริเวณเท้า ซอกนิ้ว เพื่อป้องกันเหงื่อออกมามากเกินไป         4.อาจใช้สเปรย์ระงับกลิ่นสำหรับใช้ฉีดลงไปในรองเท้า ซึ่งมีวางจำหน่ายหลายยี่ห้อ อาจเลือกใช้เพื่อเพิ่มความมั่นใจโดยสเปรย์ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำมาสวมใส่ หรือการโรยแป้งฝุ่นที่รองเท้าเพื่อช่วยดูดซับเหงื่อ         5.ขจัดกลิ่นในรองเท้าด้วยเบกกิ้งโซดา เบกกิ้งโซดาเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง รวมไปถึงการดูดซับกลิ่นเหม็นในรองเท้า     กลิ่นเท้าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการค้นหาสาเหตุและแก้ไขให้ถูกจุด แต่ในบางคนวิธีการข้างต้นอาจยังไม่ตอบโจทย์ แนะนำว่าอาจต้องพบแพทย์ เพราะอาจมาจากภาวะหลั่งเหงื่อมากที่นำสู่ความอับชื้นจนเกิดกลิ่นขึ้น หรือสภาวะบางอย่างที่เป็นสัญญาณของการเกิดโรคได้ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 รองเท้าผจญภัย

    ฉลาดซื้อ ฉบับฤดูฝนขอเอาใจคนรักธรรมชาติและการผจญภัยด้วยผลการทดสอบรองเท้าสำหรับการเดินท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าเขา หลายคนต้องคิดหนักก่อนตัดสินใจเพราะรองเท้าเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษที่มาพร้อมราคาที่ค่อนข้างพิเศษด้วย เรามีรองเท้า 15 รุ่น (สนนราคาระหว่าง 2,900 ถึง 6,800 บาท*) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติต่างๆ รวมถึงความพึงพอใจจากผู้ที่ได้ทดลองใส่ออกไปผจญภัยมาให้คุณได้พิจารณา        การทดสอบ (ที่มีค่าใช้จ่าย 360 ยูโร หรือประมาณ 12,300 บาทต่อหนึ่งตัวอย่าง) แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องแล็บเพื่อวัดคุณสมบัติต่างๆ เช่น การระบายอากาศ ความทนทาน ความสามารถในการกันน้ำ การกันลื่นของพื้นรองเท้าทั้งบนพื้นผิวที่แห้งและเปียก เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือคะแนนความพึงพอใจจากอาสาสมัครที่ทดลองสวมใส่เดินป่าจริงๆ         โดยรวมแล้วเราพบว่ารองเท้าที่แพงที่สุดไม่ไช่รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุด แต่รุ่นที่ราคาถูกมากๆ ก็ไม่มีประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจเช่นกัน         หมายเหตุ ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร ที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบฯ จ่ายในประเทศของตนเอง โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รองเท้าสำหรับขาลุย

         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาสมาชิกสายรักธรรมชาติบุกป่าฝ่าดงไปดูผลทดสอบรองเท้ารัดส้นแบบออฟโร้ดด้วยฟังก์ชันที่ “พิเศษ” ของมัน สนนราคาจึงค่อนข้างสูง หลายคนจึงยังลังเลว่าจะซื้อดีหรือไม่ ถ้าจะซื้อจะเลือกรุ่นไหน ตัวรองเท้าควรจะเป็นหนังแท้ หนังกลับ หรือหนังเทียม พื้นรองเท้าควรเป็นโฟม ยางพารา หรือเทอร์โทพลาสติก โชคดีที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ที่เราเป็นสมาชิก เขาทำการทดสอบเอาไว้ 18 รุ่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทยด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนนในการทดสอบแบ่งออกเป็น- ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ       70 คะแนนเป็นการวัดประสิทธิภาพทางเทคนิคของรองเท้า เช่น การกันลื่น (ทั้งบนพื้นดินและพื้นกระเบื้อง) ความแข็งแรงของส่วนประกอบ (ห่วง สายรัด และพื้นรองเท้า) และอายุการใช้งาน (ความทนทานต่อการเสียดสี การบิดงอ และความคงทนของสี) - ความพึงพอใจของผู้สวมใส่     30 คะแนนอาสาสมัครจะให้ความเห็นเรื่องความรู้สึกสบายในการสวมใส่ ความยากง่ายในการสวม/ถอด การระบายอากาศ การทรงตัวเมื่อเดินบนพื้นผิวต่างๆ รวมถึงความพึงพอใจต่อรูปลักษณ์ภายนอกของรองเท้า        โดยรวมแล้วรุ่นที่ได้คะแนนดีมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็มีรองเท้าราคาสูงบางรุ่นได้คะแนนอันดับล่างๆ เหมือนกัน พลิกหน้าต่อไปแล้วจะได้รู้กันว่ารองเท้ารุ่นไหนดีงามสมราคา (และคำร่ำลือ) กว่ากัน * ราคาที่แสดงเป็นราคาขณะที่ซื้อสินค้ามาทดสอบ และเป็นการแปลงจากค่าเงินยูโรเป็นเงินบาทโดยปัดเศษ ก่อนตัดสินใจซื้อโปรดตรวจสอบราคาอีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 182 รองเท้าใหม่ใช้ได้แค่วันเดียว

ของใช้ต่างๆ ย่อมเสื่อมสภาพตามวันเวลา แต่หากเราซื้อของมาแล้วใช้ได้แค่วันเดียว ถึงแม้จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่ายินดีสักเท่าไร  ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณมัลลิษาซื้อรองเท้าคู่ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ Kito ราคาเกือบ 400 บาท จากการออกบูทขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัย แต่วันแรกที่สวมใส่ก็พบว่ารองเท้าดังกล่าวชำรุด โดยพื้นรองเท้ากับรองเท้าได้แยกออกจากกัน ซึ่งเธอคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมาจากล็อต (Lot) การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมั่นใจในตราสินค้าว่ามีคุณภาพและเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้งานได้เป็นปี จึงส่งอีเมล์ร้องเรียนปัญหาดังกล่าว พร้อมแนบรูปถ่ายสินค้าที่ชำรุดไปยังบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบและชดเชยความเสียหาย เพราะถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตามภายหลังส่งเรื่องร้องเรียนไปก็ไม่มีการตอบรับจากบริษัท เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากับทางบริษัทฯ ซึ่งแจ้งว่ายังไม่พบการร้องเรียนดังกล่าว จึงขอให้ส่งรายละเอียดปัญหาไปอีกครั้งทางแฟกซ์ โดยภายหลังได้รับทราบปัญหาก็ขอโทษพร้อมชดเชยผู้ร้องด้วยการส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการข้อผิดพลาดทางการผลิต ซึ่งพนักงานฝ่ายการผลิตอาจลืมขัดพื้นรองเท้าที่สำหรับทากาวให้ยึดเกาะ ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับรองเท้าคู่ใหม่ก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 รองเท้าแตะคู่ 3 พัน ใช้ไม่กี่วันเจ๊ง

“ดิฉันได้ไปซื้อรองเท้า FITFLOP ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554” คุณเสาวรินทร์เริ่มเรื่องเธอบอกว่ารองเท้าคู่นี้ ราคา 3,290 บาท เป็นรองเท้าแตะ...“บ๊ะ!” เจ้าหน้าที่รับเรื่องของมูลนิธิฯ ร้อง รองเท้าแตะอะไรจะแพงขนาดนั้นเปิดดูภาพรองเท้าที่คุณเสาวรินทร์ส่งมาให้ ก็เห็นเป็นรองเท้าแตะหูหนีบ พื้นหนาหน่อย สไตล์โฉบเฉี่ยวเพรียวเท้าถูกใจสาวรุ่น คิดในใจก็ว่าราคายังไม่น่าถึงสามพัน ดูที่สายรองเท้าเห็นลวดลายมองได้เป็นทั้งหนังงูหรือไม่ก็หนังตัวเงินตัวทอง ดูใกล้เคียงกัน ไม่แน่ใจ“คงจะสายรองเท้ามั๊ง ที่ทำให้สมราคาสามพัน” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนคิดในใจคุณเสาวรินทร์เล่าปัญหาของเธอต่อไปว่า รู้ว่าเป็นรองเท้าราคาแพง พอซื้อมาก็สวมใส่ใช้งานอย่างทะนุถนอม ถามว่าทะนุถนอมยังไงเธอบอกว่า ใช้ใส่เดินในห้างเดินในตึกอย่างเดียว ไม่เคยเอามาใส่เดินบนถนน บนฟุตบาทให้แปดเปื้อนศักดิ์ศรีรองเท้าจากพารากอนเลยสักครั้ง เพราะเดี๋ยวเกิดไปสะดุดปุ่ม สะดุดตออะไรเข้าจะเกิดรอยฉีกรอยขาดเสียหายได้  เวลาเก็บก็เช็ดวางเข้าชั้นวางรองเท้าอย่างดี เรียกว่าแทบจะอัญเชิญเข้าหิ้งก็ไม่ปานอุตส่าห์ทะนุถนอมถึงขนาดนั้น ปรากฏว่าใส่ขึ้นห้างได้แค่ 6 วัน สายหนีบรองเท้าข้างหนึ่งก็ฉีกขาดเสียแล้ว จะปลอบใจตัวเองว่ายังเหลืออีกข้างราคาพันห้าทนใส่ข้างเดียวมันก็ยังไงๆ อยู่ จึงเอาใบเสร็จขึ้นมาดู ปรากฏข้อความเด่นหราว่า“รับประกันสินค้าภายใน 14 วัน” อ่านแล้วเหมือนได้รับข้อความจากสวรรค์ รีบโทรติดต่อไปที่บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในใบเสร็จรับเงินว่าเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายและนำเข้ารองเท้า ได้รับคำตอบว่า รองเท้ายังอยู่ในเงื่อนไขระยะเวลารับประกันขอให้ส่งใบเสร็จและนำรองเท้าส่งไปที่ร้านคุณเสาวรินทร์จึงได้ส่งรองเท้าและใบเสร็จไปและรอการติดต่อกลับมาเป็นเวลา 20 วัน แต่ต้องผิดหวังกับคำตอบที่ได้รับเป็นอย่างมาก“ดิฉันได้รับคำตอบว่า การฉีกขาดของหูรองเท้าไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของตัวสินค้า แต่เกิดจากการสวมใส่ จึงไม่สามารถรับผิดชอบ หรือซ่อม หรือเปลี่ยนรองเท้าให้ได้แต่อย่างใด”“ด้วยการสวมใส่ของดิฉันไม่ได้สะดุด หรือมีการกัดของสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด ดิฉันมั่นใจว่า รองเท้าของดิฉันมีปัญหาจากโรงงานเนื่องจากการผลิต อยากทราบว่า ถ้าทางบริษัทฯ รับประกันสินค้า และสินค้าเกิดความชำรุดภายในระยะเวลากำหนด และทางบริษัทฯ ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ดิฉันสามารถดำเนินการใดๆ ได้บ้างคะ” คุณเสาวรินทร์ร้องถามความเป็นธรรมให้เท้าของตนเอง แนวทางแก้ไขปัญหาขอว่าด้วยเรื่องหลักกฎหมายเป็นความรู้กันก่อนในความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวไว้ในมาตรา 472 ว่า กรณีสินค้าที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่จะใช้ได้เป็นปกติก็ดี หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิด ไม่ว่าในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่กรณีที่ผู้ขายสินค้าไม่ต้องรับผิดก็มีเช่นกัน กล่าวในมาตรา 473 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ(1)  ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่อิดเอื้อน(3) ถ้าทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาดทั้งนี้ ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พพ. มาตรา 474)สำหรับกรณีจึงสรุปได้ว่า เมื่อผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดจากการใช้ของผู้บริโภค ก็คงต้องรับผิดชอบในสินค้าที่ชำรุดเสียหายนั้น แม้จะมีเงื่อนไขว่ารับคืนหรือเปลี่ยนสินค้าภายใน 14 วัน แต่ในหลักกฎหมายก็ยังให้สิทธิในการฟ้องร้องในอายุความ 1ปี แต่นี่คือหลักกฎหมายเพราะในชีวิตมีเพียงน้อยรายที่จะยอมเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อแลกกับค่าเสียหายระดับหลักพันบาทเช่นนี้ดังนั้น การเจรจาไกล่เกลี่ยจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนสินค้าชำรุดบกพร่องถึงบริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และยังส่งหนังสือร้องเรียนอีกฉบับไปที่บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของพื้นที่ขายสินค้า เพื่อให้ช่วยกดดันลูกค้าของตนเองให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการของห้างผลปรากฏว่า บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) ยอมเยียวยาความเสียหายให้กับคุณเสาวรินทร์เป็น Gift Voucher มูลค่า 3,500 บาท มากกว่ามูลค่าราคารองเท้าที่เสียหายเล็กน้อย (รองเท้าซื้อราคา 3,290 บาท) คุณเสาวรินทร์บอกแค่นี้ก็พอใจมากแล้ว เพราะไม่คาดว่าจะเรียกร้องกับบริษัทได้ หลังจากนั้นจึงนำ Gift Voucher ไปแลกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 รองเท้ามือสอง เสน่ห์หรือภัยเงียบ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สินค้ามือสอง มีเสน่ห์สำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ถูกใจหรือราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะรองเท้ามือสอง ซึ่งคงไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่นิยมรองเท้ามือสอง คนอีกหลายวัยก็นิยมเช่นกัน เพราะสินค้ารองเท้ามือสองนั้นมีความหลากหลายของรูปแบบที่เข้าได้กับทุกกลุ่ม เพศ วัย ไม่ว่าจะเป็นผ้าใบยี่ห้อดัง รองเท้าหนังเท่ๆ หรือส้นสูงสุดเฉี่ยว   ถึงจะเป็นที่นิยมมากแค่ไหน แต่รองเท้ามือสองกำลังเป็นคำถามสำคัญที่ผู้บริโภคต้องใส่ใจมากขึ้น ว่าจะยังตระเวนซื้ออย่างสนุกสนานต่อไป หรือว่าควรมีรองเท้ามือสองไว้ในครอบครองแต่พอดี   เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เรื่อง ขยะรองเท้ามือสองกองสูงเป็นภูเขา(ฝ่ายที่กองไว้อ้างว่าอยู่ระหว่างรอการกำจัด) เป็นปัญหาเดือดร้อนรำคาญและก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ที่จังหวัดสระแก้ว ใกล้ตลาดโรงเกลือ ซึ่งถือเป็นแหล่งค้ารองเท้ามือสองที่ใหญ่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ขยะดังกล่าวได้ถูกกำจัดไปส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่ทันกับปริมาณของตัวขยะ(ใหม่)ที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน เพราะตลาดของรองเท้ามือสองนั้นติดลมบนและมีมูลค่ามหาศาลไปแล้ว คำถามก็คือ เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขยะรองเท้ามือสองต่อไป หรือเราจะเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการซื้อรองเท้ามือสองให้น้อยลงหรือแม้แต่รองเท้าใหม่ก็เช่นกัน และถนอมใช้รองเท้าที่เรามีอยู่ไปจนเปื่อยขาดหมดสภาพแล้วจึงค่อยซื้อใหม่ดี   “ปัจจุบันมีโรงเท้ามือสองถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ภายในตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ วันละ 6-10 ตัน เพื่อนำไปซ่อมแซม และตกแต่ง เพื่อจำหน่ายต่อไป ซึ่งจะมีชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องทิ้งเป็นขยะ ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของรองเท้าทั้งหมด”  นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว     พิสูจน์ความสะอาดของรองเท้ามือสอง ฉลาดซื้อฉบับนี้ไปช้อปปิ้งรองเท้ามือสองจากตลาดนัดที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของรองเท้ามือสองจำนวน 9 แห่ง โดยเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะกับการซัก แต่อาจต้องทำความสะอาดด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อส่องดู เชื้อโรคและเชื้อรา(standard plate count และ Mold) ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน  การทดสอบทำโดย บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (Standard plate count / วิธีตรวจนับจุลินทรีย์มาตรฐาน) ผลการทดสอบ   วิธีทำความสะอาดรองเท้ามือสอง 1.ถ้าเป็นรองเท้าที่ซักด้วยน้ำและผงซักฟอกได้ เมื่อซื้อมาแล้วให้ซักล้างทำความสะอาด ตากแดดให้แห้งสนิท ก่อนสวมใส่ 2.รองเท้าที่ซักด้วยน้ำและผงซักฟอกไม่ได้ ควรเช็ดถูด้านในรองเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือแอลกอฮอล์ และนำไปผึ่งแดดจัดๆ แต่ถ้าเป็นรองเท้าหนังไม่ควรผึ่งแดดจัด เพราะจะทำให้เสื่อมสภาพไวขึ้น ควรผึ่งในที่ร่มที่มีลมพัดผ่าน 3.ถ้าภายในรองเท้าเปียกชื้น การซับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยดูดความชื้นออกไปได้ 4.ควรหมั่นซัก ล้าง ทำความสะอาดรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขอนามัยอันดีและป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์   -------------------------------------------------------------------------------------------- สิ่งที่อาจมากับของใช้มือสอง 1.อาการภูมิแพ้ ทั้งจากวัสดุ ฝุ่น เชื้อโรคหรือแม้แต่น้ำยาปรับผ้า น้ำยารีดผ้า 2.โรคจากเชื้อรา ชื่นชอบอากาศและความอับชื้นเป็นพิเศษ จึงเจริญเติบโตได้ดีในรองเท้าที่ไม่ค่อยได้ซักทำความสะอาด กรณีรองเท้ามือสอง หากไม่ทำความสะอาดให้ดีก่อนสวมใส่ อาจก่อให้เกิดอาการเท้าเป็นเชื้อรา คันตามบริเวณง่ามเท้า ฝ่าเท้า 3.โรคผิวหนัง เชื้อโรคเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ และเมื่อแบคทีเรียรวมตัวกับความเปียกชื้นจากเหงื่อก็จะทำให้เกิดปัญหากลิ่นอับ ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 123 เลือก “รองเท้านักเรียน” คู่ใหม่ ต้อนรับเปิดเทอม

  ถึงเวลาเปิดเทอม ก็ถึงเวลาที่เด็กๆ และพ่อแม่จะต้องมองหาอะไรใหม่ๆ ไว้ต้อนรับการศึกษาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนใหม่ ชุดนักเรียนใหม่ เสื้อใหม่ กางเกงใหม่ และที่ลืมไม่ได้คือ “รองเท้าคู่ใหม่” ความสำคัญอันดับแรกของรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนในบ้านเรา คงหนีไม่พ้นเรื่องของความถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน และรวมไปถึงไว้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในชั่วโมงพละ ซึ่งแน่นอนว่ารองเท้านักเรียนแม้จะเป็นที่นิยมของเด็กๆ ในการเตะฟุตบอล เล่นตะกร้อ (เพราะราคาไม่แพงแถมถูกระเบียบ) แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานคงสู้ไม่ได้กับรองเท้าที่ผลิตขึ้นมาสำหรับใส่เล่นกีฬาโดยเฉพาะ  ฉลาดซื้อ ได้ส่งตัวอย่าง “รองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนชาย” ไปทดสอบยังกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อทดสอบโดยยึดตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบมีการกำหนดคุณลักษณะที่รองเท้าผ้าใบควรมีเอาไว้หลายข้อ แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดเตรียมชิ้นทดสอบทำให้บางรายการทดสอบไม่สามารถทำได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ให้ข้อมูลกับทางฉลาดซื้อ ว่าบางรายการทดสอบ เช่นการทดสอบความทนทานต่อการพับงอของส่วนพื้น ที่ต้องมีการเตรียมชิ้นทดสอบเป็นส่วนพื้นยางที่มีความหนาและความกว้าง เกินกว่าความหนาของพื้นรองเท้าผ้าใบที่ทางฉลาดซื้อส่งไปทดสอบ แถมยังต้องใช้ชิ้นทดสอบมากกว่า 1 ชิ้นต่อ 1 ตัวอย่าง  แต่ฉลาดซื้อก็ยังได้ผลทดสอบรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนชายมาฝากแฟนๆ ด้วยผลทดสอบ 3 เรื่องที่น่าสนใจ ประกอบด้วย  1.ความหนาของบัวส้น – ส่วนส้นเท้ามีความสำคัญ บริเวณบัวส้นของรองเท้าที่แข็งแรงจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อเท้า ความหนาของบัวส้นยังมีผลต่อการคงตัวของทรงรองเท้า บัวส้นที่มีความหนาก็จะช่วยทำให้รูปทรงของรองเท้าคงตัว ไม่บิดเบี้ยวหรือเสียรูปทรงขณะวิ่งหรือเดิน ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บ 2.ความหนาของวัสดุเสริมพื้น –  วัสดุเสริมพื้นที่ดีจะช่วยรับและกระจายแรงกระแทกจาก หลัง ขา และเท้า ก่อนลงสู่พื้น แถมยังช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเดินและวิ่ง ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้จะดูแค่เรื่องความหนาตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. เท่านั้น ไม่ได้ทดสอบไปถึงเรื่องวัสดุที่ใช้ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องความหนาของวัสดุเสริมพื้น  3.การติดแน่นของยางขอบกับผ้า – การติดแน่นของขอบพื้นยางกับส่วนผ้าของรองเท้าผ้าใบ มีผลต่อความแข็งแรงคงทนของตัวรองเท้า รวมถึงการทนทานต่อการพับงอ   ดังนั้นผลทดสอบรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนทั้ง 3 เรื่องนี้ จะบอกได้เฉพาะในเรื่องของ ความคงทน และลักษณะความคงรูปทรงของรองเท้าเท่านั้น ไม่ได้บอกถึงประสิทธิภาพในการใช้  ฉลาดซื้อหวังว่าผลทดสอบครั้งนี้ น่าจะพอมีประโยชน์สำหรับคุณพ่อ-คุณแม่และผู้ปกครองได้บ้าง อย่างน้อยก็เรื่องความแข็งแรงคงทน   ตารางผลทดสอบรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนตามมาตรฐาน มอก. ชื่อยี่ห้อ ชื่อรุ่น ราคา ตามที่แจ้งไว้ในฉลาก (บาท) ความหนาของบัวส้น (มม.) ความหนาของวัสดุเสริมพื้น (มม.) การติดแน่นของยางขอบกับผ้า (กรัมต่อ ซม.)   มาตรฐาน มอก.   ไม่น้อยกว่า 1.3 มม. ไม่น้อยกว่า 1.5 มม. ไม่น้อยกว่า 1,000 กรัมต่อ ซม.   1.Gold City 205S 249 1.3 7.0 3,219.1   2.นันยาง 205-S 274 1.3 8.0 283.4   3.Pan PF4136-AA 345 ไม่มี 3.5 -   4.Breaker BK-55 389 1.5 8.0 -   5.บาจา b-first - 299 1.0 4.0 1,720.1   6.Breaker futsal BK-30 385 1.5 8.0 -   7.Feebus F-111 249 1.4 8.0 3,411.1   8.Feebus F-599 179 ไม่มี 5.0 1,054.4   9.kito SSAM610 258 1.3 6.0 1,154.4   10.บาจา b-first - 269 2.2 7.0 2,823.1   11.Clicks CL-555 229 ไม่มี 4.0 1,943.6   12. Breaker futsal BK4/M+ 309 1.3 7.0 3,632.2   13.Breaker 4X4 4X4/M 289 1.4 5.5 2,650.6   14.Gerry Gang F-499 249 ไม่มี 5.0 702.1   15.Dynamic DU-111 295 1.0 4.0 1,795.4   16.Nike Zoom Alpha TR ครอส เทรนนิ่ง 2900 2.0 4.0 2,329.9   17.Adidas G21413 running men liquid 3390 1.4 6.0 1,560.4   18.Reebok Hosscat aluminum   3250 2.7 5.0 3,333.3     ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------รองเท้าผ้าใบที่ดีต้องมีอะไรบ้าง-ต้องมีความแข็งแรง ส่วนบนที่เป็นผ้าใบและส่วนพื้นที่เป็นยางของรองเท้าต้องยึดแน่นเข้าด้วยกัน-ทุกส่วนของรองเท้าต้องติดกันแน่นสนิท-ขอบยางต้องติดแน่นรอบพื้นและส้นรองเท้า และไม่ยื่นออกมานอกระดับของพื้นรองเท้า-ส่วนหัวรองเท้าต้องอยู่ตัวไม่บิดเบี้ยว-ส่วนบนของรองเท้าต้องมีความแข็งแรงและทนทานเพื่อป้องกันรอยย่นและโค้งงอ-พื้นรองเท้าด้านในต้องรองด้วยเศษยาง หรือแผ่นวัสดุที่ทำจากเศษผ้าและเศษยางบดรีดผสมกัน และบุด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง-พื้นรองเท้าต้องนุ่ม ไม่ลื่น -มีรูระบายอากาศช่วยระบายความร้อน---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องของ “เท้า” ที่เราควรรู้ 1.เมื่อรูปร่างของเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น อายุเพิ่มขึ้น ขนาดเท้าของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน2.เท้าของเราอาจเปลี่ยนขนาดตามสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อนทำให้เท้าขยายใหญ่ขึ้น3.ว่ากันว่าช่วงเวลาในแต่ละวันก็มีผลต่อขนาดของเท้าเช่นกัน 4.โรคภัยไข้เจ็บและอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับเท้า เช่น โรคข้ออักเสบ หรือมีบาดแผลที่เท้า ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้รูปเท้ามีการเปลี่ยนแปลง5.เวลาที่เท้าเรามีบาดแผล รองเท้าที่ใส่ประจำอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดอาการบาดเจ็บและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น6.เท้าเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่ถูกใช้งานหนัก แต่เรากลับให้ความสำคัญกับมันน้อยมาก เรียกว่าแทบไม่ได้ค่อยได้รับการดูแล ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจดูแลกับเท้าคู่น้อยๆ ของเรากันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องความสะอาด การออกกำลังในส่วนของข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า--------------------------------------------- เลือกซื้อรองเท้า-ต้องลองสวมร้องเท้าทุกครั้งก่อนซื้อ เพราะขนาดของรองเท้าแม้จะมีมาตรฐานระบุไว้ แต่รองเท้าแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ถึงจะเป็นเบอร์เดียวกัน ขนาดของรองเท้าก็อาจไม่เท่ากัน -เวลาลองรองเท้าต้องลองทั้ง 2 ข้าง เพราะเท้าของเราข้างซ้ายกับขวาอาจมีขนาดไม่เท่ากัน ต้องเลือกรองเท้าคู่ที่ลองใส่แล้วใส่ได้สบายทั้ง 2 ข้าง-เวลาลองรองเท้าอย่าลืมสวมถุงเท้า-พยายามลองรองเท้าหลายๆ แบบ หลายๆ รูปทรง เพื่อเลือกดูว่ารองเท้าแบบไหนเหมาะกับเท้าของเรามากที่สุด-เมื่อเลือกรองเท้าคู่ที่โดนใจได้แล้ว ให้ลองสวมแล้วลองเดินไปเดินมา เพราะรองเท้าที่ดีต้องใส่สบายทั้งตอนที่นั่ง ยืน และตอนเดิน ซึ่งถือเป็นตอนที่เราใช้งานเท้าของเรามากที่สุด-รองเท้าที่ดีที่สุด คือ รองเท้าที่สวมแล้วเข้ากับรูปเท้าของเรา ไม่คับหรือหลวมเกินไป ใส่สบาย -การเลือกรองเท้าควรเหลือพื้นที่ระหว่างปลายนิ้วเท้าและขอบในรองเท้าไว้บ้าง เพื่อไม่ให้เท้ารู้สึกอึดอัดเกินไป ป้องกันการเสียดสีของเท้ากับตัวรองเท้า และเผื่อไว้สำหรับการขยายของเท้า-เลือกรองเท้าที่สวมแล้ว ส้นเท้าพอดี ไม่หลวมและไม่หลุดในขณะเดินหรือวิ่ง-ควรเลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่จะทำ เช่น รองเท้าสำหรับใส่ประจำวัน หรือรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย ซึ่งกีฬาแต่ละประเภทก็มีการผลิตรองเท้าเฉพาะของแต่ละประเภทกีฬา  เพราะการเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำนอกจากจะช่วยในเรื่องความปลอดภัย ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ-ควรเลือกรองเท้าที่สามารถปรับความกระชับได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 175 แบรนด์รองเท้าวิ่งกับความรับผิดชอบต่อสังคม

งานสำรวจขององค์กรผู้บริโภคพบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของราคารองเท้ากีฬาแบรนด์ดังที่เราซื้อมา เป็นสิ่งที่เราจ่ายเป็น “ค่าแบรนด์” เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นตัวแทนของความดีงามต่างๆ นานา หลายปีมานี้ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่กำลังมาแรงก็เป็นอีกองค์ประกอบในการสร้างแบรนด์ของธุรกิจต่างๆ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมผ่านสินค้า/บริการที่ตนเองเลือกซื้อด้วยเช่นกัน แต่การดำเนินงาน “หลังบ้าน” ของบริษัทก่อนจะได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการนั้นมีรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขนาดไหนยังไม่ค่อยมีใครทราบ การรับรู้เรื่อง CSR ในบ้านเราค่อนไปทางการ “คืนกำไรสู่สังคม” หรือ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ผ่านการบริจาคเงิน สิ่งของ สร้างอาคาร หรือปลูกป่า ฯลฯ ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อ เสียมากกว่าสมาชิกฉลาดซื้อไม่ต้องวิตกไป เรามี “เรื่องหลังบ้าน” มาฝากคุณเป็นประจำ คราวนี้เรามีผลสำรวจโดยนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี Stiftung Warentest ที่เจาะลึกเบื้องหลังการผลิตรองเท้าวิ่งรุ่นยอดนิยม 9 แบรนด์ที่ขายในเยอรมนี (สนนราคาตั้งแต่ 110 – 180 ยูโร หรือ 4,500 – 7,300 บาท) ด้วยการหาข้อมูล สัมภาษณ์ และเยี่ยมชมโรงงาน (ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตพื้นรองเท้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ และโรงงานประกอบรองเท้า) ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อค้นหาแบรนด์ที่ให้ความสนใจกับสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมๆกับการดูแลผู้บริโภค และที่สำคัญคือใครมีความโปร่งใสในการดำเนินงานมากกว่ากัน แบรนด์ที่วิ่งนำหน้าเข้าเส้นชัยได้แก่ Brooks และที่ตามมาติดๆคือ Addidas  Reebok และ Salomon แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังได้คะแนนไปเพียง 3 ดาวเท่านั้น ส่วนแบรนด์ที่ถือว่าแพ้ฟาวล์ (เพราะไม่ให้ความร่วมมือในการสำรวจ) ได้แก่ Mizuno  New Balance  Nike  และ Saucony   ---------------------------------------------------------------------------------------------คะแนนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม 100 คะแนน คิดจาก นโยบายบริษัทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการดูแลผู้บริโภค            ร้อยละ 15สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานประกอบตัวรองเท้า        ร้อยละ 25สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตพื้นรองเท้า        ร้อยละ 25สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ         ร้อยละ 25ความโปร่งใส                                 ร้อยละ 10•    นโยบายบริษัทในที่นี้หมายถึง แนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน การฝึกอบรม การรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อ มลภาวะที่เกิดขึ้นในการผลิตหรือมลภาวะจากตัวรองเท้า การติดต่อสื่อสารกับองค์กรไม่แสวงหากำไร และการให้บริการลูกค้า  •    สภาพการทำงานในโรงงานผลิตพื้นรองเท้าและส่วนประกอบอื่นๆ หมายถึง มาตรการขั้นต่ำด้านแรงงาน การส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลด้านสังคม สวัสดิการและเงินเดือน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม•    ความโปร่งใส วัดจากความร่วมมือในการให้สัมภาษณ์ การอนุญาตให้ตรวจเยี่ยมโรงงาน และสัมภาษณ์พนักงาน                   ในบ้านเราการวิ่งออกกำลังกายกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ดูได้จากยอดขายรองเท้าวิ่งที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก CRC SPORTS เดือนมีนาคม 2558 ระบุว่า ร้อยละ 60 ของตลาดอุปกรณ์กีฬามูลค่า 22,000 ล้านบาทของประเทศไทยเป็นตลาดรองเท้ากีฬา และการวิ่งออกกำลังกายมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้ (ร่วมกับกีฬาอีก 3 ชนิด ได้แก่ จักรยาน ว่ายน้ำ และกอล์ฟ)-----------------------------------------------------มาวิ่งกันเถอะ ... มาวิ่งกันเถอะ•    สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ระบุว่าการวิ่งออกกำลังกายสัปดาห์ละ 75 นาที สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ •    การออกกำลังกายทุกชนิดล้วนดีต่อกระดูก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า ถ้าคุณวิ่งออกกำลังกายครั้งละ 12 -20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง  ความหนาแน่นของกระดูกจะเพิ่มขึ้น•    การวิ่งสามารถช่วยลดความดันเลือดได้ดีกว่ายาหรือการควบคุมอาหาร •    งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่า หนูทดลองอายุมากที่ต้องวิ่งเป็นประจำ แสดงอาการสมองเสื่อมช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้วิ่ง การวิ่งก็น่าจะช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในคนได้เช่นกัน  •    งานวิจัยจากโรด ไอแลนด์ คอลเลจ พบว่านอกจากจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นแล้ว การวิ่งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้วย•    เมื่อคุณวิ่ง คุณจะใช้งานกระดูก 26 ชิ้น ข้อต่อ 33 ข้อ และเอ็นกระดูก 112 เส้น รวมถึงเครือข่ายเอ็นกล้ามเนื้อ ปลายประสาท และเส้นเลือด (นี่แค่เท้าอย่างเดียวนะ)•    ... ทั้งนี้ คุณต้องวิ่งอยู่ในทางสายกลางนะจ๊ะ คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 20 -30 กิโลเมตรต่อสัปดาห์จะมีภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ในขณะที่คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 80 กิโลเมตร จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า •    โดยทั่วไปผู้ชายจะวิ่งได้เร็วกว่าผู้หญิง เพราะมีมวลกล้ามเนื้อและความจุปอดมากกว่า ปริมาณเทสโตสเตอโรนและฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดก็สูงกว่า แต่คุณผู้หญิงอย่าเพิ่งท้อ ... ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกายด้วยการวิ่งจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วและชัดเจนกว่าในผู้หญิง เช่น กล้ามเนื้อขาที่กระชับขึ้น หรือรอบเอวที่ลดลง  •    การสวมรองเท้าวิ่งราคาถูกช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์นซึ่งทำการวิเคราะห์นักวิ่งจำนวน 4,358 คน พบว่า คนที่ใช้รองเท้าราคาสูงกว่า 95 เหรียญ (ประมาณ 3,400 บาท) มีโอกาสบาดเจ็บเป็นสองเท่าของคนที่สวมรองเท้าวิ่งราคาไม่เกิน 40 เหรียญ (ประมาณ 1,400 บาท)  วารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ก็พบว่าผู้ที่ใส่รองเท้าที่มีฟีเจอร์แพรวพราว จะมีโอกาสได้รับบาดเจ็บมากขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 175 การเลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกาย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการวิ่งออกกำลังกายเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อ แต่ต้องลงมือทำเอง ภาพคนวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะในกรุงเทพ และต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่ว ๆ ไป สิ่งที่ควรคำนึงของนักวิ่งคือ เรื่องน้ำหนักร่างกายที่จะส่งผลต่อแรงกระแทกในขณะที่กำลังวิ่ง แรงที่กระแทกมีขนาดเท่ากับสองถึงสามเท่าของน้ำหนักตัว หากเราหนัก 60 กิโลกรัม แรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเท้า เข่า อาจสูงถึง 180 กิโลกรัม คนที่ชอบวิ่งเป็นประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องหารองเท้าสำหรับวิ่งที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกระแทกและป้องกันปัญหาเรื่องการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เข่าและสะโพกเสื่อมสภาพลงสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งโดยทั่วไป ได้แก่ ลักษณะของข้อเท้าในขณะที่วิ่ง กรณีที่เราวิ่ง การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) เราควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ neutral running shoes ดูรูปที่ 1 aกรณีที่การบิดของข้อเท้ามาก เข้าด้านใน หรือ ออกด้านนอก (over pronation) ควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ stability running shoes ดูรูปที่ 1 b และ c (คำแนะนำ สำหรับนักวิ่งที่ต้องการทราบลักษณะการวิ่งของตัวเองว่า การบิดข้อเท้าเป็นอย่างไร ในต่างประเทศจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิ่งในร้านขายรองเท้าเฉพาะนักวิ่ง (specialist running shoe shop) ให้คำปรึกษาได้ แต่สำหรับนักวิ่งในประเทศของเราอาจต้องลองหาคำปรึกษาจากหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ หมอทางด้านออร์โธปิดิกส์) หรือต้องให้เพื่อนร่วมวิ่งช่วยสังเกตข้อเท้าของเราขณะที่วิ่งก็ได้ โดยคนสังเกตจะคอยวิ่งตามหลังเรา)    ความสามารถในการรับแรงกระแทกการพิจารณาสมบัติของรองเท้าวิ่งในข้อนี้จำเป็นต้องใช้การทดสอบในห้องแลป ทาง biomechanics โดยใช้เซนเซอร์วัดแรงกระแทกติดไว้ที่รองเท้าวิ่ง แต่อย่างไรก็ตามทีมงานฉลาดซื้อ ก็มีผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง จากองค์กรทดสอบและวิจัยสินค้านานาชาติ ( International Consumer Research and Testing ICRT) มาเผยแพร่ให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับทราบเป็นระยะๆ สำหรับคอลัมน์นี้ขอนำผลการทดสอบขององค์กรทดสอบสินค้าเยอรมัน (Die Stiftung Warentest) มาเผยแพร่ผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง ซึ่งผลการทดสอบในประเด็นความสามารถในการรับแรงกระแทกของรองเท้าที่ได้คะแนนดี- ดีมาก ได้แก่•    รองเท้ากลุ่ม neutral running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics รุ่น Gel-Cumulus 16, New Balance 880 V4, Mizuno Wave Ultima 6, Solomon X-Scream 3D•    รองเท้ากลุ่ม stability running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics GT-1000 3, Mizuno Wave Inspire 11 และยี่ห้อ Brooks Adrenaline GTS 15สำหรับนักวิ่งสมัครเล่นที่ซ้อมน้อย ยิ่งควรเลือกรองเท้าวิ่งที่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกได้ดี เพราะจะช่วยป้องกัน ข้อเท้า และข้อเข่าได้ดีกว่า ช่วยลดปัญหาในการบาดเจ็บขณะวิ่งได้ เพื่อที่เราจะสามารถวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไปได้นานๆ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 8/ 2015)  รูปที่ 1 ลักษณะการบิดข้อเท้าแบบต่างๆ ของนักวิ่ง a) การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) b) การบิดของข้อเท้าแบบ เข้าด้านใน c) การบิดข้อเท้าออกด้านนอก

อ่านเพิ่มเติม >