ฉบับที่ 203 รักกันพัลวัน : เพราะ 1+1 ก็อาจไม่เท่ากับ 2 เสมอไป

สังคมมนุษย์ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วหรือแบ่งความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนมานานแล้ว ถ้าไม่ขาวก็ต้องเชื่อว่าดำ ถ้าไม่ดีก็ต้องแปลว่าเลว หรือถ้าพูดว่า “ใช่” แล้ว ก็จะบอกว่า “ไม่ใช่” ไม่ได้ อันมีนัยว่า สรรพสิ่งล้วนแต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ แม้แต่ในระบบคิดของคณิตศาสตร์หรือสถิติศาสตร์ ก็ยังกล่าวกันว่า O ไม่ใช่ 1 หรือ A ย่อมไม่ใช่ non-A และหากเรานำ 1 มาบวกกับ 1 ต้องได้คำตอบเท่ากับ 2 เสมอ จะผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากกฎเกณฑ์คำตอบนี้ไปไม่ได้เลยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วของสังคมเฉกเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอยู่แม้แต่ในระบบการควบคุมเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือเพศและเพศวิถีของมนุษย์เราแม้เรื่องเพศวิถีจะดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นรสนิยมและความรื่นรมย์เฉพาะตน แต่กับในระบบคิดของสังคมแล้ว ต่อให้เป็นเรื่องเพศที่ “ส่วนตั๊วส่วนตัว” นั้น สังคมก็ยังเข้าไปกำกับควบคุมความหมายให้เราคิดได้แค่เป็นสองแพร่งสองทางเช่นกันตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเพศชาย ก็ต้องแสดงลักษณะแบบชายที่แข็งแรง เป็นเพศแห่งการพิทักษ์ปกป้อง แต่หากเป็นเพศหญิง ก็ต้องอ่อนโยนและรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศ หรือหากเป็นรสนิยมรักต่างเพศแบบชายหญิง ก็จะมีลักษณะตรงข้ามอย่างชัดเจนจากกลุ่มรักเพศเดียวกันแบบชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือบรรดา LGBT ทั้งหลายแต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ระบบคิดแบบแบ่งขั้วตรงข้ามกันดังกล่าวได้ถูกท้าทาย และตั้งคำถามเสียใหม่ว่า แน่ใจแล้วหรือที่เส้นกั้นแบ่งขั้วต่างๆ จะไม่มีการข้ามเส้น หรือแม้แต่สลายเส้นแบ่งนั้นๆ ให้พร่าเลือนลงไปก็ได้ เหมือนกับที่ 1 บวก 1 ก็อาจเป็น 1 (แบบที่เราเอาทรายกองหนึ่งมารวมกับอีกกองหนึ่ง ก็ได้เป็นทรายกองเดียวกัน) โดยไม่จำเป็นต้องได้คำตอบเป็น 2 เสมอไปวิธีคิดเรื่องเส้นแบ่งที่ลางเลือนลงเช่นนี้ มีให้เห็นแม้แต่ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีและรักๆ ใคร่ๆ แบบที่ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถก่อกลายเป็นความ “รักกัน” ที่ “พัลวัน” อยู่ในละครโทรทัศน์ จนยุ่งเหยิงแทบแยกไม่ออกว่าจะแบ่งขั้วแบ่งวิธีคิดกันต่อไปได้เยี่ยงไรเริ่มต้นเมื่อสาวหล่ออย่าง “ตุลญาณา” พนักงานดูแลสวนสัตว์ Blue Planet เกิดอาการอกหักรักคุดจากสาวๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่า หญิงห้าวอย่างตุลญาณาที่ไม่อาจแบกรับความเจ็บปวดจากผู้หญิงด้วยกันได้ จึงตั้งปณิธานกับตนเองว่า นับจากนี้จะกลับมามองหาผู้ชายดีๆ สักคนเพื่อคบเป็นแฟนหนุ่มให้ได้อย่างไรก็ตาม แม้จะ “คิดใหม่ทำใหม่” กับการคบหามนุษย์เพศชาย แต่ความคิดของตุลญาณาก็ช่างย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลึกๆ เธอเองก็ต่อต้านบุรุษเพศ เพราะตั้งแต่เด็กก็เกลียดพ่อที่ขี้เมาไม่เป็นโล้เป็นพาย กอปรกับการก่อตัวของบุคลิกภาพที่ห้าวและแกร่งเกินหญิงทั่วไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็อยากลบภาพสาวหล่อ โดยเลือกเดินเกมรุกจีบหนุ่มอย่างเต็มตัวผู้ชายคนแรกที่ก้าวเข้ามาในชีวิตได้แก่ หนุ่มรุ่นพี่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอย่าง “ฐานัท” ที่ตุลญาณาหวังว่า เขาจะช่วยปลุกเร้าสัญชาตญาณความเป็นหญิงที่อยู่หลืบลึกในตัวเธอให้ปรากฏออกมา แต่ปัญหาก็คือ ฐานัทเองกลับจัดวางนางเอกของเราไว้เพียงสถานะเป็นแค่น้องสาวหญิงห้าวผู้แสนดีเท่านั้น ส่วนชายหนุ่มคนที่สองก็คือ “โตมร” เพื่อนร่วมงานผู้ดูแลสิงสาราสัตว์ใน Blue Planet ด้วยกัน แม้จะเป็นคนที่ขยันขันแข็งและแอบรักตุลญาณามานานแสนนาน โดยไม่สนใจว่าเพศสภาพหรือเพศวิถีของเธอจะเป็นเช่นไร แต่ในทางกลับกัน ตุลญาณาก็เห็นว่าโตมรเป็นได้แค่เพื่อนที่แสนดีคนหนึ่งเท่านั้นและแน่นอน ชายหนุ่มคนสุดท้ายที่เข้ามาเป็นตัวเลือกของตุลญาณาก็คือ “เมธากวิน” พระเอกหนุ่มของเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นซีอีโอคนใหม่ของ Blue Planet แล้ว เจ้านายหนุ่มยังเป็นอดีต “ศัตรูหัวใจ” ที่เธอเคยมีคดีแย่งแฟนเก่ากับเขามาก่อน อันนำไปสู่สูตรพ่อแม่แม่งอนที่เขม่นกันตลอดแทบจะทั้งเรื่องยิ่งเมื่อเมธากวินเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลาว่า ตุลญาณาแอบมีจิตปฏิพัทธ์ต่อทั้ง “สโรชินี” แฟนสาวคนล่าสุดของเขา และ “พนิตพิชา” ลูกพี่ลูกน้องของตน ตุลญาณาจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนรักๆ ใคร่ๆ ของชายสามหญิงสองที่อลวน “พัลวัน” กันยิ่งกว่า “ลิงพันแห” เสียอีกยิ่งเมื่อผนวกกับตัวแปรเรื่องเพศวิถีของตุลญาณาที่ดูคลุมเครือยิ่งนักว่า นางเอกสาวหล่อจะเป็น “ทอม” หรือจะเป็น “เธอ” พร้อมกับคำทำนายของหมอดูที่บอกว่าคู่แท้ของเธอจะต้องเป็นคนที่มอบจุมพิตแรก มอบลมหายใจ และมอบชีวิตใหม่ให้กับตุลญาณา “รักกันที่พัลวัน” ก็ยิ่ง “พัลวันแสนพัลวัน” กันหนักเข้าไปอีกหากดูผิวเผินแล้ว โครงเรื่องของละครก็เหมือนจะสร้างขึ้นบนสูตรของการ “เปลี่ยนทอมให้เธอ” แต่เพราะเหตุที่ว่า 0 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 1 หรือ A ก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ non-A ดังนั้น ความซับซ้อนที่ “พัลวัน” ยวดยิ่งจึงมิใช่แค่การแบ่งขั้วกันระหว่าง “ทอม” กับ “เธอ” หรือมิใช่การแบ่งความคิดตรงข้ามกันเป็นแบบ “รักต่างเพศ” หรือเป็นแบบ “รักเพศเดียวกัน” เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับที่ 1 บวก 1 ก็สามารถออกมาเป็นคำตอบตัวเลขใดๆ ที่อาจไม่ใช่ 2 เสมอไป เรื่องของเพศวิถีจึงขึ้นอยู่กับสองมือมนุษย์ที่จะเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นได้ในทุกๆ ทาง เหมือนกับที่ “หญิงรักหญิง” อย่างตุลญาณาก็อาจพึงใจที่คบหากับหญิงหรือชาย และผู้ชายอย่างเมธากวินเองก็อาจจะเลือกคบหากับหญิงที่ออกแบบเพศวิถีมาแบบใดก็เป็นได้ เพราะทั้งคู่เชื่อในตอนจบของเรื่องว่า “เคมีที่เข้ากันของคนสองคน” ต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่าเพศวิถีซึ่งถูกจัดกรอบไว้แล้วด้วยกฎกติกาของสังคมบทเรียนที่ทั้งตุลญาณาและเมธากวินเคยเผชิญเมื่อครั้งที่หมีควายหลุดออกไปจากกรงขัง และวิ่งไล่ล่าโตมรและใครต่อใครในสวนสัตว์ ก็ชี้ให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า สัญชาตญาณ (อันรวมถึงเรื่องเพศวิถีแห่งปุถุชน) นั้น ต่อให้จับขังกรงเพื่อกำกับวินัยควบคุมเอาไว้ แต่มันก็ไม่ต่างจากหมีควายที่ยากจะทำให้เชื่องหรือให้สั่งซ้ายหันขวาหันไปได้ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมจริงๆ หรอกไม่ว่าจะเรื่อง “รัก” หรือเรื่อง “ใคร่” คำตอบของมนุษย์เราทุกวันนี้ดูแสนจะ “พัลวัน” เสียยิ่งกว่าที่ 1+1 จักต้องได้ 2 เป็นคำตอบสุดท้ายเช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >