ฉบับที่ 269 หมอหลวง : กว่าจะเป็นนักรบเสื้อกาวน์

        วิชาแพทยศาสตร์ของไทย แต่เดิมพัฒนาองค์ความรู้มาจากการใช้ยาสมุนไพรและตำรับยาตำราหลวง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “แพทย์แผนไทย” จนเมื่อราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ระบบสาธารณสุขและความรู้แพทย์แผนใหม่ได้ลงรากปักฐานในสยามประเทศ และกลายมาเป็นชุดวิทยาการการแพทย์แผนหลักจวบจนปัจจุบัน         ที่สำคัญ ทุกวันนี้ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์แผนใหม่จะมีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทเป็นชนชั้นนำหรือ “คีย์แมน” ที่แทรกซึมเข้าไปในอีกหลากหลายแวดวงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และอีกมากมาย         เพราะแพทย์แผนใหม่ได้สถาปนาอำนาจและบทบาทนำในสังคมไทยมาเกินกว่าศตวรรษเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ละครโทรทัศน์จะหยิบเรื่องราวมาผูกเป็นเรื่องเล่าในความบันเทิงแบบมวลชน และล่าสุดก็ผูกโยงเป็นละครแนวพีเรียดที่ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคณะมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาและวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตก พร้อมๆ กับการริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนไทย เป็นฉากหลังของเรื่องราว ดังที่เราได้มองผ่านละครเรื่อง “หมอหลวง”         ละครกึ่งดรามากึ่งคอมเมดี้เรื่อง “หมอหลวง” เริ่มต้นด้วยภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “อัคริมา” หรือ “บัว” นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ ที่เหมือนจะไร้ญาติขาดพี่น้อง และแม้มุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งจะได้สวมเสื้อกาวน์เป็นหมอที่ดีในอนาคต แต่ในชั้นเรียนเธอกลับถูกตีตราจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นว่า เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เรียนรั้งท้าย ไม่มีสติ ไม่มีวิจารณญาณที่จะเป็นหมอรักษาโรคได้ดี         กับชีวิตที่ดูแปลกแยกและไร้แรงเกาะเกี่ยวเช่นนี้ ปาฏิหาริย์ก็บังเกิดขึ้นเมื่อเกิดลมพายุใหญ่พัดหอบบัวออกจากห้องพักอันคับแคบ ทะลุมิติข้ามภพข้ามกาลเวลาประหนึ่งเมตาเวิร์ส มาโผล่ในจุลศักราช 1202 สมัยรัชกาลที่ 3 กันโน่นเลย         ปกติแล้วในความเป็นเรื่องละครแนวเดินทางข้ามเวลา หรือที่รู้จักกันว่า “time travel stories” นั้น ในฟากหนึ่งก็สะท้อนความรู้สึกโหยหาอดีตที่แสนหวานแต่ห่างหายไปแล้วจากสำนึกคนรุ่นปัจจุบัน แต่ในอีกฟากหนึ่ง ก็เป็นช่วงจังหวะที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลร่วมสมัยได้ทบทวนหวนคิดถึงตนเองในทุกวันนี้ โดยใช้ฉากทัศน์ของกาลอดีตมาเป็นภาพที่วางเปรียบเทียบเคียง         ด้วยเหตุดังนั้น หลังจากที่บัวได้หลุดมิติมาสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ก็ได้พบกับ “ทองอ้น” พระเอกหนุ่ม ลูกชายผู้ไม่เอาถ่านของตระกูลหมอหลวงสาย “หลวงชำนาญเวช” หรือที่ผู้คนเรียกขานว่า “หมอทองคำ” ผู้สืบทอดความรู้แพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า         แม้ทองอ้นจะเป็นคนเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี แต่ด้วยเหตุผลที่เขาไม่ต้องการเด่นเกิน “ทองแท้” พี่ชายต่างมารดา จึงแกล้งทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย เพื่อปิดบังความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตน         แต่แล้วชีวิตทองอ้นก็ต้องมีอันพลิกผัน เมื่อมีพระราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหมอหลวงขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนหมอหลวงในกรุงสยาม และเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวบ้านทั่วไปได้เข้ามาร่ำเรียนเพื่อเป็นหมอ ซึ่งอดีตเคยเป็นวิชาความรู้ที่ผูกขาดอยู่เฉพาะในสายตระกูลหมอหลวง และก็แน่นอนที่พระเอกหนุ่มทองอ้นก็คือหนึ่งในผู้สมัครเป็นนักเรียนหมอหลวงรุ่นแรกนั้นด้วย         จากนั้น ผู้ชมก็ได้เห็นภาพกระบวนการกลายมาเป็นหมอหลวงในยุคเก่าก่อน ผ่านสายตาและการรับรู้ของบัวหญิงสาวผู้ข้ามภพกาลเวลามาจากปัจจุบัน โดยผูกเล่าผ่านโครงเรื่องความขัดแย้งย่อยๆ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของหมอทองคำ ความวุ่นวายของชีวิตนักเรียนในโรงเรียนหมอหลวง ชีวิตหมอหลวงที่ต้องผูกพันกับทั้งราชสำนักและผู้ไข้ที่ขัดสน หรือแม้แต่เกี่ยวพันเข้าไปในสงครามสู้รบจริงๆ จากกลุ่มจีนอั้งยี่ และสงครามโรคภัยจากการระบาดของไข้ทรพิษ         และเพื่อให้ดูสมจริงในสายตาของผู้ชม ละครจึงตัดภาพสลับไปมา โดยให้ผู้หญิงร่วมสมัยอย่างบัวได้เรียนรู้วิทยาการสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ ไปจนถึงได้เห็นฉากการผ่าตัดครั้งแรกในสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ตัวละครในอดีตอย่างทองอ้นและสหายได้ใช้จินตนาการหลุดมาสัมผัสเหตุการณ์จริงของระบบการจัดการสุขภาพผู้คนในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ให้พวกเขาได้เข้าไปเยี่ยมเยือนในห้องยิมออกกำลังกาย ไปจนถึงห้องผ่าตัดของศัลยแพทย์ในโรงพยาบาล         การสลับเรื่องราวไปมาของตัวละครสองห้วงเวลาที่หลุดเข้าสู่โลกเสมือนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็เชิญชวนให้ผู้ชมได้ลุ้นกับฉากสรุปตอนท้ายว่า บัวจะตัดสินใจเลือกครองคู่อยู่กับทองอ้นในกาลอดีต หรือจะเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือแบบแปลกแยกโดดเดี่ยวกันอีกครั้ง หากแต่พร้อมๆ กันนั้น ละครข้ามเวลาเรื่องนี้ก็ชี้ชวนให้เราทบทวนถึงคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ ผู้มีบทบาทในการกำหนดความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน         แม้หมอเองก็คือปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง แบบที่นักเรียนหมอหลวงก็มีการแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง มีความอิจฉาริษยา มีเรื่องพรรคพวกเส้นสาย หรือแม้แต่ออกอาการงกวิชาความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นปุถุชนที่มีกิเลสรักโลภโกรธหลงนี้ แวดวงวิชาชีพหมอในอดีตก็มีการติดตั้งรหัสจริยธรรมที่กำกับควบคุมด้านมืดทั้งหลายมิให้ครอบงำกัดกร่อนจิตใจของบรรดาหมอหลวงเหล่านั้นไปได้โดยง่าย         คุณค่าหลักของหมอในอุดมคติที่ปรากฏในละคร มีตั้งแต่การต้องเคารพครู ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย ไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีรักษาโรคให้เจอ รู้จักขวนขวายความรู้จากทั้งตำราดั้งเดิมและความรู้ใหม่ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้รอบตัว ตลอดจนคุณธรรมอีกหลากหลายที่คนเป็นหมอพึงมี         แต่ที่ละครดูจะตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ก็คือ หมอที่ดีพึงยึดเอาประโยชน์ของ “ผู้ไข้” เป็นหลัก แบบที่ครูหมอรุ่นก่อนได้สอนอนุชนนักเรียนหมอหลวงว่า “จรรยาข้อแรกของหมอคือ ต้องมีเมตตาต่อผู้ไข้ไม่แยกชนชั้นวรรณะ” หรือ “ความรู้ด้านการแพทย์ไม่ได้มีไว้แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน” หรือแม้แต่วิธีคิดต่อยาสมุนไพรหายากในโรงหมอหลวงที่ว่า “ยาหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้”         เพราะฉะนั้น ฉากที่หมอทองคำลดตนก้มกราบคารวะ “หมอทัด” คู่ปรับในวิชาชีพแพทย์ที่ใช้ความรู้ช่วยเหลือผู้ไข้ให้ผ่านพ้นการระบาดของโรคฝีดาษได้ ก็อรรถาธิบายอยู่ในตัวว่า หากหมอหัดลดหรือวางอัตตาและทิฐิลงเสียบ้าง และพร้อมจะยอมรับความรู้ความสามารถคนอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ไข้ ก็เป็นรหัสจรรยาบรรณที่คนโบราณวางไว้ให้กับบรรดาหมอหลวงได้ยึดถือปฏิบัติ         กว่าศตวรรษได้ผ่านพ้นไป กับสังคมไทยที่มีแพทย์ชนชั้นนำเป็นกลจักรขับเคลื่อนอยู่นี้นั้น สถาบันการแพทย์ที่มีบทบาทและตัวตนอยู่ในสปอตไลต์ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามไปถึงจรรยาบรรณใต้เสื้อกาวน์อยู่เป็นเนืองๆ หากเราลองผาดตาเล็งเห็นคุณค่าที่ทองอ้นกับการก่อตัวของสถาบันหมอหลวงมาแต่อดีต ก็อาจจะเห็นหลักจริยธรรมที่นำมาตอบโจทย์ของแพทย์ที่มีต่อผู้ไข้และสังคมไทยอยู่ในนั้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2562

11 องค์กรร่วมเคลื่อนขบวนผลักดันกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด        เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน โดยระหว่างทางจะมีเวทีบรรยายพิเศษและเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชารักษาโรค โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง        อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเดินครั้งนี้มีด้วยกันสาม ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แม้จะผ่อนผันให้ทำยาได้แต่ขอบเขตจำกัดมาก ทำให้การผลิตและแจกจ่ายเข้าถึงผู้ป่วยได้น้อย ประการต่อมา ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นยารักษาโรค การใช้ที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะการรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพซึ่งมีราคาถูก สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยเฉพาะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย ระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตยาสำหรับแจกฟรี และหากยังทำไม่ได้มากก็ใช้ทุนก้อนนี้ในการรณรงค์ในการปรับกฎหมาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรม และจัดครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้น และมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้โดยการอบรม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี พาณิชย์ ยันค่ายา "รพ.เอกชน" สูงเกินจริงหลายเท่าตัว        12 พ.ค. 62  คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็นสามส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กล่าวว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 30,000 รายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500%        “ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่ายจะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ" บุณยฤทธิ์ กล่าว        ทั้งนี้ข้อมูลบางส่วนจากคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายาสามรายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาท ส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมร้องสอดคดี รพ.เอกชนฟ้อง พณ.ยกเลิกประกาศควบคุมค่ายา-ค่ารักษาแพง        เครือข่ายผู้บริโภค ประกาศร่วมร้องสอดคดี สมาคม รพ.เอกชน และ 41 รพ.ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา เป็นสินค้าและบริการควบคุม เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงหากยกเลิก หากถูกเอาเปรียบทำ พณ. ตรวจสอบเอาผิด รพ.ไม่ได้ ยัน รพ.เอกชนร่วมออกประกาศ ขณะที่มาตรการควบคุมเป็นของเดิมยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ        14 พ.ค. เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคม รพ.เอกชน โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 กระทั่งปลาย เม.ย. 2562 สมาคม รพ.เอกชน และสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น รพ.เอกชนอีก 41 แห่ง ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวไม่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งถ้ามีการยกเลิกประกาศ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการพูดคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงเห็นว่าเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจะต้องร้องสอดเข้าใปในคดี และขอให้กระทรวงพาณิชย์และ กกร.เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง        "เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกอย่าง ในการที่จะมีมาตรการทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลดลง เพราะการออกประกาศและให้ติดราคายังไม่แก้โจทย์เรื่องแพง ที่จะให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและโรงพยาบาล” น.ส.สุภัทรา กล่าว        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า คดีนี้สมาคมฯ กับพวกเป็น รพ.เอกชน 41 แห่งเป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 4 คน ได้แก่ 1.กกร. 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.ปลัดพาณิชย์ และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งมพบ.และองค์กรผู้บริโภคถือเป็นบุคคลภายนอกคดี ที่ไม่ใช่คู่ความ แต่อาจจะเข้ามาร่วมได้ด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจในการเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับอีก 4 คน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำพิพากษาในคดีนี้ ถ้าหากมีการยกเลิกเพิกถอนประกาศจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงร้องสอดเป็นฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เพี่อเข้าไปร่วมต่อสู้กับสมาคมรพ.เอกชน มพบ. เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 62 ปัญหาโฆษณาเกินจริงยังคงครองแชมป์อันดับ 1         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย        ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย  คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82        สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย        ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุดสี่อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง        สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561        จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรังหรือมีเพิ่มมากขึ้น โดยไร้การแก้ไขเยียวยา ตลอดจนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน และกระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยา บางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 รู้เท่าทันการใช้เท้าเหยียบรักษาโรค (ตอนที่ 1)

ระยะนี้มีข่าวดังทั้งในโลกออนไลน์และโทรทัศน์ มีการแชร์ภาพชายที่อ้างตัวว่ามีพลังจิต ใช้เท้าเหยียบหัว หน้า หรือตามร่างกายเพื่อบำบัดรักษาโรคได้  ชายดังกล่าวอ้างว่า ตนมีพลังจิตที่สามารถบำบัดผู้ป่วยให้หายจากโรคได้ ด้วยพิธีการสื่อสารพลังจิตจาก สมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรก โดยการใช้มือ หรือเท้า เป็นสื่อกลางไปที่ผู้ป่วยให้หายจากโรคหรือดีขึ้นในทันที โรคหรือการป่วยไข้ต่างๆ มาจากโรคเวรโรคกรรมที่ต้องอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ทำให้หายจากโรคได้หลายชนิด เช่น กระดูกหัก เอ็นขาด ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อรับบำบัดแล้วก็สามารถลุกขึ้นเดินได้ปกติในทันที เรามารู้เท่าทันการรักษาโรคด้วยการใช้เท้าเหยียบกันเถอะพระพุทธเจ้าโปรดการรักษาโรคด้วยการใช้เท้าเหยียบจริงหรือ  ชายผู้นี้อ้างการรักษานี้ว่าใช้การสื่อสารพลังจิตจากสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรก  เราต้องมาดูหลักฐานกันว่า พระพุทธเจ้าโปรดการใช้เท้าเหยียบเพื่อการรักษาโรคจริงหรือไม่ การแพทย์ดั้งเดิมในอินเดียก่อนกำเนิดพระพุทธศาสนานั้นเป็นการแพทย์ในยุคพระเวทตอนต้น คือ เชื่อว่า โรคเกิดจากภูติผีปีศาจและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์  จะมีการท่องคาถาที่มีพลัง รวมทั้งการใช้เครื่องรางของขลังเพื่อขับไล่ภูติผีปีศาจที่ทำให้เจ็บป่วยและป้องกันไม่ให้มารบกวนอีก เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาขึ้น ได้มีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพภายในวัดวาอาราม ทำให้ การแพทย์อายุรเวทของฮินดูที่เป็นการแพทย์แบบไสยศาสตร์-ศาสนา เปลี่ยนมาเป็นการแพทย์แบบประจักษ์นิยมและเหตุผล ซึ่งพัฒนามาจากจากปรัชญาคำสอนของพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎก พบหลักฐานสำคัญว่า1) พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องดูแลพระภิกษุที่อาพาธ โดยตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดาผู้คอยพยาบาล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะคอยพยาบาลพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะพยาบาลเราก็จงพยาบาลภิกษุไข้เถิด  สงฆ์ต้องพยาบาลภิกษุไข้นั้น ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฎ”2) พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา โดยเฉพาะ การแก้บน ร่ายมนต์ขับผี ปรุงยา ทำการผ่าตัด เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก เป็นต้น  3) พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้การนวดในหมู่ภิกษุณีทั้งหลาย (ใช้ภิกษุณี สิกขมานา สามเณรี คฤหัสถ์ ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ) เป็นอาบัติ ยกเว้นการนวดในภิกษุณีที่อาพาธ  จากหลักฐานต่างๆ แสดงว่า • การแพทย์ในสายพระพุทธศาสนาเป็นการแพทย์ที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่การแพทย์แบบไสยศาสตร์ เพราะไม่ใช่หนทางสู่ความจริงแท้และเป็นอิทัปปัจจยตา• พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุดูแลพระภิกษุที่อาพาธ แต่ไม่ส่งเสริมให้ภิกษุประกอบวิชาชีพที่เป็นแพทย์โดยตรง• พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้การนวดในหมู่ภิกษุณีที่ไม่อาพาธเป็นอาบัติ ดังนั้นการใช้เท้าเหยียบเพื่อความงามจึงเป็นอาบัติพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงการแพทย์จากไสยศาสตร์ของฮินดูมาสู่การแพทย์แบบประจักษ์นิยมของพุทธศาสตร์ การอ้างพลังจิตของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะองค์ไหนก็ตาม  จึงเป็นมิจฉาทิฎฐิติดตามฉบับหน้าครับ ว่าการใช้เท้าเหยียบนั้นมาจากการการแพทย์แผนไทยหรือไม่ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2560“เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” รักษาโรคไม่ได้ใครที่กำลังคิดจะซื้อ “เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” เพราะเชื่อตามโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ขอให้เปลี่ยนความคิดเดี๋ยวนี้ เพราะล่าสุด อย. ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า อุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตย์ไม่ได้มีไว้เพื่อผลในการรักษาโรคแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์บำบัดด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าสถิตอุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขออนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ซึ่ง อย.กำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ว่าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตเฉพาะที่ชั่วคราว หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหรือบำบัดบรรเทาโรคได้ และต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เรื่องการรักษา บรรเทา และป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ส่งผลกระทบที่อาจทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยต้องสูญเสียโอกาสและเวลาในการรักษาโรคให้หายด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องเสียเงินในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวโดยเปล่าประโยชน์อย.ได้กำหนดโทษการโฆษณาที่เป็นเท็จทำให้ผู้บริโภคเข้าใจของสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ คือจำคุกไปเกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ อะลูมิเนียมใส่อาหารได้ไม่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งต่อเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ห่ออาหารที่มีความร้อน ว่าจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยอ้างว่าอะลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายปนลงในอาหาร เมื่อบริโภคเข้าไปจะส่งผลต่อระบบสมอง ทำให้ความจำลดลงและเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งจะทำลายแคลเซียมในร่างกายมีผลต่อกระดูก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค จนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมด้วยผลการทดสอบ ยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ใช้ในการห่อหุ้มอาหารปลอดภัย และไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม แบ่งเป็นภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่าง และแผ่นเปลวอะลูมิเนียม(ฟอยล์) 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบในภาวะที่สุดโต่ง ด้วยสารละลายกรดอะซิติก ที่อุณหภูมิน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่า มีอะลูมิเนียมละลายจากภาชนะหุงต้ม ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้งหมด ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1,032 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรนอกจากนี้ยังมีการทดสอบเรื่องการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาที เพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่า การละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากๆ อยู่ในช่วง 0.047 - 0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่อยู่ในภาชนะหรือห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ครีมกันแดดในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อผู้ป่วยเอสแอลอีเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี(SLE) มีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อหาครีมกันแดดให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกปี ล่าสุดในงาน “แดดจ๋า อย่ารังแกหนู หนูเป็นโรคเอสแอลอี” จึงได้มีข้อเสนอที่อยากให้มีการเพิ่มครีมกันแดดเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในระบบประกันสุขภาพของรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเอสแอลอี สามารถเข้าถึงครีมกันแดด ซึ่งถือเป็นเวชภัณฑ์สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ที่ปรึกษาชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี กล่าวว่า แดดในเมืองไทยแรงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่คนไทยจะเป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วมากขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยอาการของโรคกำเริบ อาจจะต้องได้ยาขนานสูง บางคนได้สเตียรอยด์ หรือแรงกว่านั้น ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนไม่มา กระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องความสูงและความสมบูรณ์ของร่างกาย ดังนั้นตรงนี้จึงสำคัญมาก หากครีมกันแดดสามารถเบิกได้ในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายระบบหรือหลายอวัยวะในร่างกาย ทั้ง ปวดบวมตามข้อ อาการต่อระบบไต ระบบเลือด และระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่ง 1 ในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบเกิดจากการที่ผิวหนังถูกแสงอัลตราไวโอเลต คัดค้านขยายสิทธิผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปีจากการที่สำนักงานประกันสังคมมีนโยบายที่จะขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานที่อยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม ได้รับการดูแลคุ้มครองตามสิทธิต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปีแต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านจากองค์ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) โดยทั้ง 2 องค์กรเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นลดทอนสิทธิมากกว่าสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน การขยายระยะเวลาในการอยู่ภายใต้สิทธินั้น หากมีการนำมาใช้จริงก็ควรเป็นไปแบบสมัครใจ สำหรับประเด็นที่ว่าสำนักงานประกันสังคมต้องการที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เพราะสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้นานขึ้น องค์กรที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมองว่าเป็นคนละประเด็นกัน การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นเตรียมทำมาตรฐานน้ำดื่มแห่งชาติกรมอนามัยเตรียมทำร่างมาตรฐานน้ำบริโภค ที่จะเป็น “มาตรฐานกลาง” ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคได้อ้างอิงเกณฑ์คุณภาพที่แตกต่างกัน อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในประเทศของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย โดยใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย ร้อยละ 60 จำนวนนี้แบ่งเป็นมาตรฐานด้านกายภาพร้อยละ 30 เคมี ร้อยละ 15 และชีวภาพ ร้อยละ 70โดยกรมอนามัยจะเป็นแกนหลักในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ทั้ง น้ำประปา น้ำประปาภูเขา น้ำบ่อบาดาล น้ำผิวดิน และน้ำฝน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 รู้เท่าทันปลิงบำบัด

กระแสความตื่นตัวเรื่องปลิงบำบัดในไทยเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ถ้าเราเข้าไปดูในยูทูปจะเห็นการใช้ปลิงบำบัดเต็มไปหมด ใช้ตั้งแต่การรักษาสิว แผลติดเชื้อ ไมเกรน  ในเว็บไซต์สุขภาพจำนวนมากใช้ปลิงบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่ ผมร่วง หัวล้าน ข้อเข่าอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การได้ยิน ต้อหิน เหงือกอักเสบ ความดันเลือดสูง แม้กระทั่งมะเร็ง  ดาราดังในฮอลีวูดเช่น เดมี่ มัวร์ ก็เคยใช้ปลิงในการล้างพิษในเลือดเมื่อปีค.ศ. 2008  ปัจจุบันดาราฮอลลีวูดมีการใช้ปลิงบำบัดในการทำให้ใบหน้ากลับมาเต่งตึงโดยไม่ต้องผ่าตัด  เรามารู้เท่าทันปลิงบำบัดกันเถอะความเป็นมาของปลิงบำบัด การใช้ปลิงบำบัดมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอารยธรรมเมือง  เมืองโบราณเช่น อียิปต์ อินเดีย กรีก และอาหรับ มีการใช้ปลิงในการรักษาโรคโดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดเสียหรือเป็นพิษออกไป จึงใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ระบบประสาท ความผิดปกติของระบบขับปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การอักเสบ โรคฟัน การบันทึกเกี่ยวกับปลิงบำบัดที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในคำภีร์ศูสรุตสัมหิตตา เขียนขึ้นโดย ศูสรุตในปี ค.ศ. 800 ก่อนคริสตกาล โดยกล่าวว่าเป็นวิธีการเอาเลือดออก ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง อาการปวดร้าวไปที่ขา และอาการปวดกล้ามเนื้อ   เขาอธิบายว่า ปลิงมี 12 ชนิด เป็นพิษ 6 ชนิด และไม่เป็นพิษ 4 ชนิด การแพทย์แผนไทยก็มีตำราแผนปลิง และได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ แต่พบว่า แพทย์แผนไทยไม่มีประสบการณ์การใช้ปลิงรักษาเหมือนแพทย์อายุรเวทของอินเดียปลิงรักษาโรคได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ การศึกษาจำนวนมากพบว่า ในน้ำลายของปลิงประกอบด้วยสารโปรตีนจำนวนมาก ได้แก่ แอนติทรอมบิน (สารต้านการแข็งตัวของเลือด สารสำคัญมีชื่อว่า ฮิรูดิน ทำให้ปลิงบำบัดมีชื่ออีกชื่อว่า Hirudin Therapy)  แอนติเพลตเลต สารต้านแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกมาก  การพบว่ามีสารต้านการแข็งตัวของเลือดทำให้ปลิงบำบัดหวนกลับมาเป็นวิธีการรักษาที่นิยมอีกครั้งเพื่อใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคติดเชื้อ  ในคริสตศตวรรษที่ 20 วงการศัลยกรรมตกแต่งและจุลศัลยกรรมเริ่มใช้ปลิงบำบัดในการป้องกันการบวมจากหลอดเลือดดำ และการต่อนิ้วและเนื้อเยื่อต่างๆ  ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เพื่อความงาม  ในปีค.ศ. 2004  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา ได้รับรองการใช้ปลิงเป็นอุปกรณ์การรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่งปลิงรักษาโรคได้จริงหรือไม่  รายงานการวิจัยจำนวนมากในวารสารวิชาการ PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และการทบทวนของห้องสมุด Cochrane ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิงบำบัด โดยเฉพาะในการรักษาข้อเสื่อม ช่วยลดอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น และลดการติดขัดของข้อ  การทบทวนพบว่า มีการใช้ในการบำบัด ฝีหนอง ต้อหิน เส้นเลือดดำอุดตัน  และมีการใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อแก้ปัญหาการไหลเวียนของเลือด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิง แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนของการใช้ปลิงบำบัด เพราะยังคงมีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ปลิงบำบัดอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด และผู้ใช้ขาดความรู้ความชำนาญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รู้เท่าทันการกินกระดูกเสือ

กว่าหลายศตวรรษที่ผู้คนนับถือเสือว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทรงพลัง และมีอำนาจเร้นลับ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นทั่วไปจึงยำเกรงและบูชาเสือ  เสือเป็นเสมือนเทพเจ้า ปีศาจ และเป็นทั้งยาในการรักษาโรค  การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่า การได้กินส่วนต่างๆ ของเสือจะทำให้เกิดพลังชีวิต เรี่ยวแรง ความแข็งแรง และอื่นๆ อีกมากมาย  แทบทุกส่วนของเสือ ตั้งแต่จมูกจรดหาง สามารถใช้เพื่อรักษาโรคยาวเหยียด ตั้งแต่ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก หัวล้าน ปวดฟัน ปวดข้อ ไข้ ปวดศีรษะ เป็นต้น  แม้กระทั่งอวัยวะเพศผู้ของเสือก็ใช้เป็นยาโด๊ปในการแพทย์จีน  กระดูกเสือเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด ใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ และความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย  กระดูกต้นขาหน้าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะเชื่อว่ามีพลังในการเยียวยามากที่สุด  กระดูกจะถูกบดเป็นผง บรรจุเป็นยาเม็ด พลาสเตอร์ และเป็นส่วนผสมกับยาตัวอื่น รวมทั้งผสมในเหล้า  ปริมาณการใช้กระดูกเสือ คือ 3-6 กรัมต่อวัน คิดเป็น 2.95-5.9 กิโลกรัมต่อปี  จากความเชื่อดังกล่าวทำให้เสือถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2529 เสือถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  ในปีต่อมา ไซเตส (CITES) ได้ห้ามการค้าขายชิ้นส่วนของเสือข้ามประเทศ  ในปีพ.ศ. 2533-2535 จีนได้ส่งออกยาและเหล้าดองที่มีส่วนประกอบของเสือ 27 ล้านหน่วยไปยัง 26 ประเทศ  และจีนได้ห้ามการค้าขายเกี่ยวกระดูกเสือภายในประเทศในปี พ.ศ. 2536   ส่วนประกอบของกระดูกเสือ กระดูกเสือก็เหมือนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตระกูลแมวใหญ่ในป่า   ตำราการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือมีกลิ่นฉุนและมีคุณสมบัติ “ร้อน”  จึงใช้ในการลดอาการปวดและเสริมสร้างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ  นิยมใช้ในการรักษาอาการลีบของขา เข่า และข้ออักเสบต่างๆ กระดูกของเสือและสุนัขมีความเหมือนกัน ประกอบด้วย คอลลาเจน ไขมัน แคลเซียมฟอสเฟตและแคลซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต  คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ  ส่วนประกอบของกรดอะมิโนของเจลลาตินของเสือและสุนัขคล้ายกัน เสือมี 17 กรดอะมิโน ส่วนสุนัขมีเพิ่มอีกหนึ่งคือ ไทโรซีนในตำราการแพทย์จีน บอกว่า ประสิทธิผลของกระดูกเสือและสุนัขมีความคล้ายคลึงกัน  มีผลในการ ลดการอักเสบ ลดปวด ช่วยให้สงบและอยากหลับ และช่วยการติดของกระดูกที่หัก กระดูกเสือมีสรรพคุณจริงหรือไม่ มีงานวิจัยรองรับมากน้อยเพียงใด?จากการสืบค้นงานวิจัยต่างๆ  ไม่พบว่ามีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระดูกเสือต่อการรักษาโรค  แต่มีงานทบทวนเอกสารของห้องสมุดคอเครนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาจีนกับการรักษาโรคกระดูกพรุน  มีงานศึกษาทั้งหมด 108 รายงาน อาสาสมัครในการวิจัย 10,655 คน ทบทวนเอกสารตั้งแต่ต้นจนถึงมกราคม พ.ศ. 2556  พบว่า มีการใช้ยาจีนกว่า 99 รายการ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ย 5.7 เดือน โดยดู กระดูกหักที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิต มวลกระดูก  สรุปผลว่า ประสิทธิผลของยาจีน 99 รายการต่อมวลกระดูก ยังไม่ชัดเจน  ต้องมีการศึกษาที่รัดกุมมากกว่านี้ สรุป ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของกระดูกเสือว่าจะช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำราการแพทย์แผนจีน  ที่สำคัญ กระดูกเสือและกระดูกสุนัขนั้นมีส่วนประกอบเหมือนกันมาก เราอาจหลงซื้อกระดูกสุนัขแทนกระดูกเสือก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 รู้เท่าทันสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด

มีการโฆษณาสมุนไพรเพื่อรักษาเบาหวานหรือช่วยลดน้ำตาลในเลือดจำนวนมากในเว็บไซต์ต่างๆ  บางรายโฆษณาการได้ขึ้นทะเบียน อย.  บางรายโฆษณาว่าสมุนไพรนั้นปลูกแบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ  บางยี่ห้อก็ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว โดยจับเอาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลมาใส่รวมกัน  เมื่อผู้อ่านไปค้นข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวก็จะพบว่าลดน้ำตาลได้  จึงเชื่อว่าสมุนไพรยี่ห้อนั้นมีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้จริง  เรามารู้เท่าทันสมุนไพลดน้ำตาลกันเถอะการขึ้นทะเบียนอย. ถ้ามีการอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนอย.  ขอให้เราอ่านให้ละเอียดว่าขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือไม่  หรือเป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะการจะขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันนั้น ต้องมีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ มีการวิจัยตั้งแต่ในสัตว์ทดลอง ในมนุษย์ ว่ามีประสิทธิผลจริงๆ  จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาได้  นอกจากนี้การสั่งจ่ายยานั้นต้องสั่งโดยแพทย์หรือไม่  เพราะยารักษาโรคเรื้อรังนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์  ไม่ใช่ซื้อได้ทั่วไป ยกเว้นเป็นยาสามัญประจำบ้านเท่านั้นยาสมุนไพรลดน้ำตาลยี่ห้อต่างๆ มักจะมีสัญลักษณ์ของอย.  แต่จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดว่าขึ้นทะเบียนยาอะไร มีเลขทะเบียนยาอะไร  ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยา เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น  แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้นจะโฆษณาเป็นยารักษาโรค  ซึ่งตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 นั้น ไม่สามารถโฆษณายาทางสื่อสาธารณะ หรือโอ้อวดสรรพคุณยาการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์เป็นหลักประกันว่าสมุนไพรนั้นไม่มีสารพิษตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี  ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า สมุนไพรยี่ห้อนั้นสามารถรักษาเบาหวานได้ ค้นคว้าข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัว เราควรค้นหาข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวว่ามีสรรพคุณและโทษอย่างไร  ข้อมูลที่ค้นง่ายและน่าเชื่อถือคือสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เพราะจะกระชับ เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ  เราอาจค้นเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ตัวอย่างเช่นอบเชย มีรายงานการวิจัยทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับผงอบเชยขนาด 1, 3 และ 6 ก./วัน นาน 40 วันหรือแคปซูลของสารสกัดน้ำจากอบเชย (เทียบเท่ากับอบเชยขนาด 3 ก./วัน) นาน 4 เดือน และอาสาสมัครที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ระหว่าง 100-125 มก./ดล. เมื่อรับประทานสารสกัดน้ำของอบเชย (Cinnulin PF®) ครั้งละ 2 แคปซูล (250 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (เทียบเท่ากับผงอบเชย 10 ก.) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สรุป อบเชยมีแนวโน้มที่อาจที่อาจมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เนื่องจากการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเพื่อรักษาเบาหวานในขณะนี้ จนกว่าจะมีผลการวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดเพียงพอผักเชียงดา มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่ระบุว่าผักเชียงดาและสารสกัดจากผักเชียงดา มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ลำไส้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาในคนเพื่อยืนยันผลดังกล่าวโดยสรุปแล้ว เราต้องรู้ให้ทันกับการโฆษณาสมุนไพรลดน้ำตาลและลดเงินในกระเป๋าของเราว่า มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้จริงหรือไม่ ขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลเพียงพอหรือยัง  เพื่อที่เราจะใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและได้ผล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ตะเกียงรักษาโรค ทำอับโชคจนอาจหมดตัว

“ตะเกียงผีบ้า  ผีบอ อะไรจะมารักษาคนได้ พวกนี้หากินบนความทุกข์ของชาวบ้าน ไม่นานมันก็ฉิบหาย  เงินทองที่เสียไปไม่ได้เสียดงเสียดายมันหรอก ขอแค่ได้ลูกสาวกลับมาเป็นผู้เป็นคนเหมือนเดิมก็พอใจแล้ว” เสียงก่นด่าอย่างโกรธแค้นของของคุณลุงท่านหนึ่งในอำเภอโคกเจริญ ถูกถ่ายทอดผ่านมาทาง เภสัชกรภูริทัต ทองเพ็ชร เภสัชกรประจำโรงพยาบาลโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี “ลุกสาวลุงแกไปทำงานย่านนวนคร ระหว่างนั้นได้หลงไปเข้าไปอบรมที่บริษัทย่านพระรามเก้าเกี่ยวกับธุรกิจเครือข่ายขายตะเกียงบำบัดโรค หลังจากอบรมไม่นาน ก็กลับมาคะยั้นคะยอให้พ่อแม่เข้ารับการอบรมด้วย แต่เมื่อไม่สำเร็จ เธอกับเพื่อนก็พากันมาหาแกที่บ้าน พร้อมทั้งนำตะเกียงบำบัดโรคมาจุดให้แกและภรรยาทดลองดมควัน” “ตะเกียงนี้สามารถรักษาได้สารพัดโรค ทั้งมะเร็ง  เบาหวาน  ความดัน  โรคที่หมอโรงพยาบาลรักษาไม่หาย  ตะเกียงนี้เอาอยู่ เพื่อนลูกสาวบรรยายสรรพคุณ แต่หลังจากสูดดมควันไปชั่วครู่  ภรรยาของแกกลับเกิดอาการเวียนหัว และ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง  แกจึงรีบโทรติดต่อหลานชายซึ่งเป็นตำรวจในพื้นที่ให้มาดูว่าการกระทำแบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้เพื่อนของลูกสาววิ่งหลบหนีไป ส่วนลูกสาวแกยังยืนยันที่จะเอาเงิน 2 แสนบาทจากแกเพื่อไปซื้อตะเกียงบำบัดโรค และยังจะหาสมาชิกรายอื่นมาซื้ออีก” “ลุงแกเล่าว่า ลูกสาวบอกว่าหากหาสมาชิกใหม่มาซื้อตะเกียงบำบัดโรคราคา 2 แสนบาทนี้ได้สำเร็จ  จะได้เงินส่วนแบ่งจากบริษัท  46,000 บาท  สุดท้ายแกจะได้มีรถคันใหญ่ๆ  มีบ้านหลังใหญ่ๆ  ให้พ่อแม่ ได้อยู่อย่างสบาย” “สุดท้ายลูกสาวแกก็แอบขโมยโฉนดที่ดิน 1 ไร่ ไปขายและจำนอง ได้เงินมาประมาณ 2 แสนกว่าบาทและได้ให้บริษัทไปทั้งหมด แต่ผลที่ได้กลับได้ความสูญเสียตอบแทนกลับมา  ต้องคอยวิ่งหลอกผู้คนให้ซื้อตะเกียงบำบัดโรค  ไม่มีแม้เงินที่จะกินข้าว  ลูกสาวแกทนอยู่ในวังวนแชร์ตะเกียง อยู่ 6 เดือน ในที่สุดจึงตัดสินใจออกจากวังวนที่เลวร้ายนี้ และหมดหนทางที่จะเอาที่ดินกลับคืนมา นี่ยังมีคนในหมู่บ้านอีกประมาณ 10 กว่าราย ที่ถูกหลอกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้อย่างไม่มีวันถอนตัวได้  จนกว่าทรัพย์สมบัติจะหมด  ” “ยังมีอีกหลายรายนะครับ ที่อำเภอพิมาย โคราช ก็มีคนหลงเป็นเหยื่อแชร์ตะเกียงแบบนี้ เท่าที่ทราบเสียที่นา หมดเนื้อหมดตัว ไปตามๆ กัน” เภสัชกรภูริทัต เล่าเรื่องราวอย่างอ่อนใจ   บทเรียนแสนแพงของแชร์ตะเกียงบำบัดโรค คงไม่ใช่แค่การหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์สุขภาพเท่านั้น มันเข้าข่ายการต้มตุ๋นคนซื่อๆ ให้หลงเป็นเหยื่ออย่างน่ากลัว ใครพบเห็นรีบแจ้งตำรวจจัดการได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 สมุนไพรหมื่นแปดหายทุกโรค!

  หากมีคนมาขายยาสมุนไพร ชุดละ 18,000 บาทต่อเดือน โดยโฆษณาว่ารักษาหายได้ทุกโรค ท่านคิดว่าผู้ป่วย จะซื้อหรือไม่ ? น้องเภสัชกรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลำปางแจ้งข้อมูลให้ผมทราบว่า มีบุคคลอ้างว่าตนเป็นหมอสมุนไพร จบจากเมืองนอก มาจัดการโฆษณาขายยาสมุนไพรที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยในการจัดกิจกรรมนั้นได้เชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซื้อยาสมุนไพรที่อ้างว่ารับประทานแล้วหายได้ทุกโรคนำไปใช้รับประทาน สมุนไพรที่ว่านี้ราคาสูงถึงชุดละ 18,000 บาท (มีทั้งแบบซองสำหรับชงและแบบแท่งสำหรับต้มดื่ม) ผู้บริโภครายหนึ่งที่ได้เข้าไปฟังการโฆษณาจึงหลงเชื่อ ซื้อกลับมา 1 ชุดเพื่อให้ญาติของตนที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ ลองใช้รักษาอาการป่วย หลังจากนั้นไม่นาน ทางโรงพยาบาลก็ได้รับตัวผู้ป่วยชาย อายุ 58 ปี ซึ่งป่วยเป็นเนื้องอกร้ายของมะเร็งท่อน้ำดีในตับ กลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คราวนี้ ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการปวดขาข้างขวามาก เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจึงพบว่าเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันที่ขา เภสัชกรที่โรงพยาบาลได้ไปซักประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติม ได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมการบริโภคอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิมเลย นอกจากกินยาสมุนไพร 18,000 บาทที่โฆษณาว่าหายทุกโรคนี่แหละ เมื่อขอยาสมุนไพรที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 2 แบบมาดู ก็พบว่า ยาสมุนไพรทั้ง 2 แบบนี้ มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยาดองเหล้าสมุนไพรแอนนี่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาแต่กลับโฆษณาสรรพคุณมากมาย ส่วนยาสมุนไพรแอนนี่ แม้ไม่ได้ระบุสรรพคุณยาบนฉลาก แต่ก็เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน หากแสดงเลขที่ใบอนุญาตตั้งคลินิกที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถมาเร่ขายยาตามโรงแรมได้ เพราะเขาอนุญาตให้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่รับบริการจากคลินิกเท่านั้น ล่าสุดทราบว่า เภสัชกรได้แจ้งข้อมูลไปให้ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางและจังหวัดอุบลราชธานีทราบ เพื่อช่วยกันติดตามดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว หากใครเจอการเร่จัดมหกรรมโฆษณาขายยาที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ อย่าหลงเชื่อนะครับ อาจจะเสียทั้งเงินและได้รับอันตรายได้ ช่วยๆ กันเตือนเพื่อนฝูงและแจ้งข้อมูลให้หน่วยราชการทราบด้วยนะครับ จะได้ช่วยกันจัดการให้ยาหายทุกโรคแบบนี้ หายไปจากการหลอกลวงซะที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปวดร้าวเพียงใด

ฉบับที่แล้วผมให้ข้อมูลไปว่า ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่มีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษาเพียงใด โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำหน่ายในทำนองนี้ด้วย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร หากเราสังเกตชื่อที่ระบุประเภทว่า “เครื่องดื่ม” เราจะทราบว่ามันคือเครื่องดื่ม ไม่ใช่ยา ดังนั้นมันจึงไม่สามารถ บำบัด บรรเทา รักษาโรคได้ ล่าสุดเภสัชกรสาวสวยคนเดิมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้ส่งข้อมูลมาอีกแล้ว เธอเล่าว่าผู้ป่วยชาย อายุ 60 ปี ได้ซื้อเครื่องดื่มสมุนไพรจีน มิทเชลล์ฉาง มารับประทาน โดยดื่มวันละ 2 อึก แก้พังผืด ข้อตึง (สรุปง่ายๆ คือซื้อมากินเพื่อรักษาโรคนั่นแหละ) หลังจากรับประทานมาประมาณ 1 เดือน ก็มีอาหารผิดปกติเกิดขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เภสัชกรสาวสวยขี้สงสัยคนนี้ จึงได้ส่งเครื่องดื่มชนิดนี้ไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลปรากฏว่าคราวนี้เธอร้องกรี๊ดดดดด ดังกว่าเดิม (ไม่รู้ตกใจหรือโกรธ) เพราะผลการตรวจปรากฏว่าพบยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ผสมอยู่ด้วย เธอจึงรีบแจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามให้ติดตามตรวจสอบต่อไป ในเบื้องต้นพบว่า เครื่องดื่มสมุนไพรชนิดนี้มีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด ในราคา ขวดละพันกว่าบาท โดยโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่ม สูตรสมุนไพรแบบองค์รวม ปรุงขึ้นตามตำรับจีนโบราณ โดยเน้นความสมดุลของระบบหยิน-หยาง และธาตุทั้ง 5 (ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพ สามารถขจัดอนุมูลอิสระ(Antioxidant) อันเป็นเหตุของความชราภาพและโรคภัยต่างๆ มากมาย(ในโฆษณาไม่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันนะครับ) ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบเชิงลึกอยู่นะครับว่า ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล มันเข้ามาอยู่ในขวดได้อย่างไร แต่เผอิญเมื่อวานได้มีโอกาสนั่งประชุมกับน้องๆ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม น้องเล่าว่าผลการตรวจยาสมุนไพรมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมๆ ที่พบแค่สารสเตียรอยด์โดยพบว่าเริ่มมีการผสมยาแผนปัจจุบันบางชนิดแล้ว และยังพบในผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลูกกลอนด้วย เช่น พบในยาผงสมุนไพร หรือยาน้ำหรือเครื่องดื่มอีกด้วย {xtypo_info}เรื่อง ที่เล่ามานี้คงเป็นข้อมูลเตือนภัยอีกทางหนึ่งว่า แม้การดูแลสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเลือกผลิตภัณฑ์มาใช้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่ง และถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่ยา (เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ) ยิ่งต้องระวัง ไม่ใช้อย่างสับสน ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “มันคืออาหาร ไม่ใช่ยา มันจึงรักษาโรคไม่ได้” เราจะได้ปลอดภัยทั้งตัวและปลอดภัยทั้งตังค์นะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ช้อนตวงยา อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

  การกินยาสำหรับเด็กๆ อาจเป็นเรื่องยากและลำบากใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ “ยาน้ำ” จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็กๆ หรือคนที่ไม่ชอบกินยาเม็ดหรือแคปซูล ซึ่งการกินยาน้ำแม้จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ข้อพึ่งระวัง โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามอย่าง “ช้อนและถ้วยตวงยา” ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตยาที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด จึงทำให้ลักษณะของช้อนและถ้วยตวงยาก็มีความหลากหลายทั้ง ขนาด รูปทรง วัสดุ ซึ่งความแตกต่างทั้งหมดของช้อนและถ้วยตวงยาที่กล่าวมาอาจมีผลต่อปริมาณของยาที่รับประทาน และอาจกลายเป็นผลเสียกับร่างกาย ฉลาดซื้อ จึงอยากชวนทุกคนใส่ใจและให้ความสำคัญกับช้อนและถ้วยตวงยาน้ำมากขึ้น ด้วยผลทดสอบความจุของช้อนและถ้วยตวงยาพลาสติก โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม มาดูกันซิว่าช้อนและถ้วยตวงยาที่เราใช้กันอยู่ได้มาตรฐานหรือเปล่า      ตารางแสดงผลทดสอบความจุของช้อนตวงยาพลาสติก ที่ปริมาตร 5 มิลลิลิตร ในยาน้ำสำหรับเด็ก      เครื่องหมายถูก = มี     เครื่องหมาย x = ไม่มี ผลทดสอบโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามหมายเหตุ : * ทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่มีจำหน่ายในร้านยา จังหวัดสมุทรสงคราม **  ตามเกณฑ์มาตรฐานช้อนตวงยาพลาสติกของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ มอก. 1411-2540 ***ผลทดสอบปริมาตรถ้วยตวงยา Dimetapp ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตัวอย่างถ้วยยาพลาสติกของตัวอย่าง lot การผลิตเดียวกัน มีความจุแตกต่างกันมาก มีทั้งผ่านมาตรฐาน และไม่ผ่านมาตรฐาน   สรุปผลทดสอบ - ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกที่นำมาทดสอบ มี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ รูปแบบช้อน และรูปแบบถ้วย ซึ่ง ช้อนยาตวงพลาสติกในรูปแบบถ้วยยานั้น ไม่เข้ามาตรฐานถ้วยตวงยาพลาสติกของ มอก. เนื่องจากมีปริมาตรสุทธิ ไม่ถึง 30 มิลลิลิตร ในการทดสอบนี้จึงใช้เกณฑ์มาตรฐานความจุของช้อนตวงยาพลาสติกโดยไม่สนใจลักษณะทางกายภาพ (คำนิยามของช้อนตวงยาพลาสติกของ มอก. หมายถึง ช้อนพลาสติกมีด้ามจับ ใช้สำหรับตวงยาน้ำเพื่อรับประทาน) - ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของช้อนตวงยาพลาสติก  มอก. ที่ 1411-2540 ระบุ ให้ช้อนตวงยาพลาสติกขนาด 1 ช้อนชา มีความจุ 5 ลูกบาศก์เซนติเมตร (มิลลิลิตร หรือซี.ซี.) โดยมีความคลาดเคลื่อนได้ ± 0.25 ลูกบาศก์เซนติเมตร นั่นเท่ากับว่า ช้อนตวงยา 1 ช้อนชา มีความจุอยู่ระหว่าง 4.75 – 5.25 มิลลิลิตร - ช้อนตวงยาพลาสติกส่วนใหญ่ มีปริมาตรความจุ เกินกว่า 5 มิลลิลิตร ยกเว้น ช้อนตวงยาของยาที่มีช่วงการรักษาแคบ ที่มีปริมาตรความจุสุดท้ายน้อยกว่า 5 มิลลิลิตร - ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกที่ทำการทดสอบมีทั้งหมด 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็นรูปแบบช้อนยา 12 ตัวอย่าง และรูปแบบถ้วยยาจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยการทดสอบ ผู้ทดสอบจะไม่ทราบว่า ช้อนมีเลขรหัสการผลิตหรือไม่อย่างไร ผู้แปรผลสุดท้ายจะทราบรายละเอียดทั้งหมดของช้อน ซึ่งพบว่า ตัวอย่างในรูปแบบช้อนยา ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 3 ตัวอย่าง และตัวอย่างในรูปแบบถ้วยยาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยในจำนวนตัวอย่างที่ผ่านมาตรฐานทั้งหมด มีเพียงตัวอย่างเดียวที่ไม่ระบุหมายเลขการผลิตของช้อนตวงยาพลาสติก (ช้อนตวงยาพลาสติกในผลิตภัณฑ์ BEE-COL ซึ่งเป็นตำรับยาบรรเทาหวัดสูตรผสมของ ห้างหุ่นส่วนจำกัด โบร์วู๊ด ฟาร์มาซูติคอล ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ที่ผ่านมาตรฐาน ได้แก่ ช้อนตวงยาพลาสติกของผลิตภัณฑ์ PARACAP ของบริษัท ยูเมด้า จำกัด มีความจุ 5.13 มิลลิลิตร, DENAMOL 120 ของบริษัท ที.โอ. ฟาร์ม่า จำกัด มีความจุ 5.08 มิลลิลิตร, Tempra Kids ของ PT Taisho Pharmaceutical Indonesia Tbk. ผลิตให้กับ Taisho Pharmaceuticsl Co., Ltd. นำเข้าโดย DKSH (Thailand) Limited และ Calpol TM ของ SmithKline Beecham, Rizel, Philippines. นำเข้าโดย GlaxoSmithKline (Thailand) Limited. ที่มี Paracetamol 120 มิลลิกรัม เป็นส่วนประกอบ) - อย่างไรก็ตามมีตัวอย่าง ที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจาก ช้อนตวงยาพลาสติกที่นำมาทดสอบ ที่เก็บตัวอย่างจากรุ่นการผลิตเดียวกัน มีความจุสุทธิที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกในผลิตภัณฑ์ Dimetapp  ของบริษัทอินเตอร์ไทย ฟาร์มาซูติเคิ้ล แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นตำรับยาผสม ประกอบด้วย Brompheniramine Maleate 2mg และ Phenylephrine HCl 5 mg) - เป็นที่น่าสังเกต บริษัทผู้ผลิตยาส่วนใหญ่ ใช้ช้อนตวงยาพลาสติกเป็นของตนเอง โดยระบุชื่อผู้ผลิตหรือชื่อของผลิตภัณฑ์ไว้ที่ช้อนตวงยาพลาสติก อาทิเช่น บริเวณด้ามจับของช้อน พื้นที่ผิวด้านในของตัวช้อน ขอบบนของถ้วย และก้นถ้วย -BEE-COL มีส่วนผสมของยาแก้ปวด 2 ชนิด คือ N-Acetyl-p-aminophenol และ Salicylamide ซึ่งคือ Salicylic acid ที่มีคำสั่งกระทรวงที่ 193/2536 ให้ถอนออกจากตำรับ -ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นตัวยาที่นิยมผลิตเป็นยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก โดยมักจะต้องรับประทานยาทุก 4 – 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 5 วัน นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำว่าไม่ควรรับประทานยา 2 ชนิดนี้พร้อมกัน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ----------------------------------------------------------------------------------------   ลักษณะทั่วไปของช้อนและถ้วยตวงยา -ช้อนหรือถ้วยตวงยาต้องเป็นสีขาว มีลักษณะโปร่งใสหรือโปร่งแสง-พื้นผิวต้องเรียบ-ขอบของช้อนหรือถ้วยต้องมีลักษณะโค้งมน ไม่มีมุมหรือส่วนที่เป็นคม-ช้อนหรือถ้วยตวงยาต้องสามารถตั้งวางได้โดยไม่ทำให้ยาหก-ที่ช้อนหรือถ้วยตวงยาควรมีอักษรหรือเครื่องหมายแจ้งปริมาณ เช่น “1” หรือ “1 ช้อนชา”   การรับประทานยาโดยใช้ช้อนหรือถ้วยตวงยานั้น มีความจำเป็นอย่างมากับยาชนิดที่เป็นน้ำ ซึ่งยาน้ำมักจะเป็นยาสำหรับเด็กเพราะรับประทานง่ายกว่ายาชนิดเม็ด แถมเดี๋ยวยาน้ำรักษาโรคต่างๆ ก็นิยมผลิตออกมาให้มีรสหวานเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเวลาที่เด็กต้องรับประทานยา เด็กไม่ได้เป็นคนที่ตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกว่าจะรับประทานยาชนิดไหน แต่เป็นหน้าที่ของพ่อ – แม่ ผู้ปกครองที่จะต้องเป็นคนเลือกว่าจะให้ลูกรับประทานยาอะไร จะพาไปหาหมอหรือซื้อยามารับประทานเอง การให้เด็กรับประทานยาเป็นเรื่องที่ต้องให้ความระมัดระวัง เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองการรับประทานยาอย่างขาดความเข้าใจ ไม่ตรงกับโรค หรือรับประทานในปริมาณที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งหากเป็นเด็กผลเสียก็จะยิ่งมากกว่า   สิ่งที่ควรรู้เรื่องการใช้ยาสำหรับเด็ก 1.ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ระบบการทำงานต่างๆ ยังด้อยกว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดูดซึมยาไปใช้หรือการการเผาผลาญหรือการขับยาส่วนเกินออกจากร่างกายยังทำได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ การกำหนดปริมาณสำหรับเด็กจึงมีความสำคัญมาก 2.ก่อนที่จะให้เด็กรับประทานยาใดๆ ต้องอ่านฉลากยา ศึกษาข้อควรระวังหรือคำเตือน ปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละวัย รวมถึงอาการผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมวิธีรักษาหรือแก้ไข 3.การให้เด็กรับประทานยาควรใช้อุปกรณ์ตวงยาที่มาพร้อมกับยา หรือเป็นอุปกรณ์สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ ควรหลีกเลี่ยงช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่ใช้อยู่ เพราะอาจทำให้ปริมาณยาคลาดเคลื่อนได้ 4.ไม่ควรใส่ยาลงในขวดนมหรือใส่ไปพร้อมกับอาหารที่เด็กรับประทานเป็นประจำ เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารเหล่านั้นอีก ถ้าอยากให้ยามีรสหวานเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายขึ้น สามารถเติมน้ำเชื่อมเพิ่มลงไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 116 รักษาโรคทางโทรศัพท์

ฉบับนี้มีเรื่องเกี่ยวกับคดีเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์มาฝากท่านสมาชิกฉลาดซื้อ ไม่อยากโม้มากเดี๋ยว บก.หาว่าอู้บทความมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ มาดูเรื่องจริงกันเลยดีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552 จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง  แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง  แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามจากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม  ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่  ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด  ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ   เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ  หลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง  โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน  อาการแพ้ยาดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายโจทก์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการทำละเมิด  จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์  โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย  ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงาม  ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน  ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่  หมายเหตุผู้เขียน 1.คดีนี้ฟ้องคดีก่อนที่ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 จะมีผลใช้บังคับ ปัจจุบันคดีพิพาทที่คนไข้ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลโดยมีสาเหตุเกิดจากการรักษาพยาบาลแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นคดีผู้บริโภคตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 58/2551 2.เมื่อเป็นคดีผู้บริโภคแล้วภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายแพทย์หรือโรงพยาบาลที่จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองรักษาตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องรับผิด ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 บัญญัติว่า ประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น 3.คดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิด รักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า โจทก์ยินยอมให้ยอมรับผลการรักษาแล้ว และจำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามในเรื่องความยินยอมของโจทก์ในการรักษาเป็นการอ้างข้อต่อสู้ตามหลัก “ ความยินยอมไม่เป็นละเมิด “ เห็นว่าคดีนี้แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 3 รักษาก็ต้องถือว่า เป็นการยินยอมให้รักษาตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ามีการรักษาบกพร่องผิดจากมาตรฐาน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ 4.คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียทั้งสิ้น 2,000,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน  จำเลยที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จ่าย  

อ่านเพิ่มเติม >