ฉบับที่ 221 แก้วขนเหล็ก : รักและทุนที่ไม่มีวันตาย

               วาทกรรมที่ว่า “ความรักย่อมไม่มีวันตาย” “เราจะรักกันชั่วนิจนิรันดร” หรือ “ไม่มีวันที่ใครจะพรากความรักไปจากกัน” จะถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ ก็คงจะมีเพียงบุคคลที่สิ้นลมหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้หลังความตายแล้วเท่านั้น ที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างประจักษ์จริง         กับการพิสูจน์ความรักแท้ดังกล่าวนี้เอง ได้กลายเป็นโครงหลักของละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีอย่าง “แก้วขนเหล็ก” ที่ผูกเรื่องให้ตัวละคร “เมฆินทร์” ประมุขแห่งผีแวมไพร์ เฝ้ารอคอยความรักข้ามภพชาติก่อนที่จะได้พานพบกับ “บุญปลื้ม” หญิงคนรักที่กลับมาเกิดอีกครั้ง เพื่อยืนยันให้เห็นว่า “รักแท้ย่อมไม่มีวันตาย” จริงๆ         เรื่องราวความรักอมตะข้ามเวลาถูกโยงไปตั้งแต่อดีต เมื่อครั้งเมฆินทร์เป็นตำรวจมือปราบผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ เขามีความรู้ด้านไสยเวทและคาถาอาคมซึ่งใช้ปราบปรามได้ทั้งเหล่าคนร้ายและบรรดาวิญญาณร้ายต่างๆ จนได้สมญานามว่าเป็นมือปราบผู้แข็งกร้าวและไม่เคยยอมใคร         ในอีกด้านหนึ่ง เมฆินทร์เองก็คือบุตรชายของ “เจ้าคุณเทวรักษ์” คหบดีเจ้าของปราสาทพยับเมฆ และเนื่องด้วยเจ้าคุณต้องการเลือกคู่ครองที่คู่ควรให้กับเมฆินทร์ ท่านจึงหมั้นหมายบุตรชายเพื่อให้แต่งงานกับสตรีที่สมฐานะศักดิ์ชั้นอย่าง “รำพึง” แม้ว่านั่นจะเป็นการคลุมถุงชนที่เมฆินทร์เองก็ไม่ได้สมยอมแต่อย่างใด         จนกระทั่งเมฆินทร์ได้มาพบและเกิดผูกจิตปฏิพัทธ์กับบุญปลื้ม แม้ความรักที่มีหญิงสาวชาวบ้านจะทำให้เมฆินทร์เปลี่ยนจากบุรุษผู้หยาบกระด้างกลายเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน แต่ทว่าความรักที่ต่างชั้นชนเช่นนี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าคุณเทวรักษ์ ซึ่งต่อมาได้วางแผนให้ชายหนุ่มอย่าง “เที่ยง” ซึ่งแอบรักบุญปลื้มอยู่ลึกๆ พาหล่อนหลบหนีไปจากปราสาทพยับเมฆ และสาบสูญไปจากชีวิตของเมฆินทร์         เมื่อต้องถูกบิดาพรากนางอันเป็นที่รักไปจากชีวิตของเขา ทั้งความรักและความแค้นที่รุมเร้ารอบด้านเยี่ยงนี้ ทำให้มือปราบอย่างเมฆินทร์เลิกยึดมั่นในคุณธรรมความดี และหันมาปวารณาตัวเข้ากับด้านมืดที่ซ่อนเร้นอยู่ จนกลายเป็นปีศาจแวมไพร์ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดื่มเลือดของมนุษย์ด้วยกัน และถูกเจ้าคุณเทวรักษ์จองจำไว้ในปราสาทพยับเมฆที่ปิดตาย วิญญาณของเมฆินทร์จึงเฝ้าแต่รอคอยวันกลับมาแก้แค้นและทวงคืนคนรักข้ามภพชาติ         ด้วยพล็อตแฟนตาซีเหนือจริงที่ผูกเรื่องราวให้มนุษย์คนหนึ่งได้กลายเป็นผีดิบแวมไพร์ และรอคอยวันฟื้นคืนชีพเพื่อกลับมาครองคู่อยู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ ด้านหนึ่งผู้สร้างก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมตะวันตกฉบับคลาสสิกอย่าง Bram Stoker’s Dracula อะไรทำนองนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน ละครแฟนตาซีแนวนี้ ก็เป็นประหนึ่งจินตกรรมที่ลึกๆ แล้วฉายภาพด้วยว่า ผู้คนในโลกความจริงกำลังสะท้อนย้อนคิดถึงชีวิตตนเองและสังคมรอบตัวกันอย่างไร         เพราะเมฆินทร์เป็นตัวละครที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สังคมยุคจารีตดั้งเดิม โดยในยุคศักดินานั้น ผู้คนต่างผูกพันกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เฉกเช่นที่เจ้าคุณเทวรักษ์ก็คือตัวแทนของระบบมูลนายและไพร่ ซึ่งมีอำนาจกำหนดความเป็นความตายของทุกชีวิตในปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงการกำกับแม้แต่ชะตากรรมการครองคู่ของบุตรชายกับหญิงคนรักด้วยเช่นกัน         แต่เมื่อระบอบจารีตเดิมได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมใหม่ ในระบอบแห่งทุนซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่บนฐานคิดแบบปัจเจกชนนิยมนั้น มนุษย์ต่างล้วนถูกตัดสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน         จากผู้คนที่เคยถูกยึดโยงเข้าไว้ในสังกัดหรือในกลุ่มมูลนายเดียวกัน ก็เริ่มถูกริดสายสัมพันธ์และตกอยู่ในสภาวะที่แปลกแยกต่างคนต่างอยู่ แบบเดียวกับที่เมฆินทร์พยายามสลัดตัวให้หลุดออกจากกรงขังของบิดา สถาบันครอบครัว และระบบจารีตที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เขากลายเป็นปีศาจที่ถูกจองจำเอาไว้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง และความรักที่ถูกพรากไปก็คือสิ่งที่เขาเฝ้าตามหากันแบบข้ามภาพข้ามชาติ         จนเมื่อระบอบทุนเติบโตมาถึงยุคปัจจุบัน ตัวละครเมื่อครั้งอดีตอย่างบุญปลื้มก็ได้กลับมาเกิดใหม่เป็น “รมณีย์” ในขณะที่เที่ยงเองก็กลับมาเกิดเป็น “วิทวัส” ชายหนุ่มคู่ปรับที่พยายามใช้คุณธรรมความดีกำจัดปีศาจเมฆินทร์ และยังกลายมาเป็นศัตรูหัวใจของเขาอีกครั้งในชาตินี้         ขณะเดียวกัน เมื่อถูกปลุกวิญญาณให้คืนชีพขึ้นมาอีกครา เมฆินทร์ในโฉมใหม่หาได้เพียงแต่แปลกแยกและโหยหาหญิงคนรักที่พลัดพรากกันมาแต่อดีตเท่านั้น หากแต่เขายังเริ่มออกอาละวาดสูบเลือดมนุษย์เพื่อต่อชีวิตอันเป็นอมตะของตน ไม่แตกต่างจากบรรดานายทุนที่เฝ้าสูบเลือดขูดรีดเพื่อพรากปัจจัยการผลิตของแรงงานมาต่อลมหายใจแห่งระบอบทุนนิยมออกไป         ภาพฉากที่เมฆินทร์ออกล่าสูบเลือดของโสเภณีและตัวละครหลายคนตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คงไม่ต่างจากคำยืนยันว่า ในวิถีการผลิตแบบนี้ นายทุนเองก็อาจไม่เคยเห็นโสเภณีหรือมนุษย์เป็นมนุษย์แบบเดียวกับตน หากแต่เป็นเพียงแรงงานในระบบที่สามารถขูดรีดเลือดเนื้อได้อย่างชอบธรรมและไม่ต้องรู้สึกผูกพันแต่อย่างใด         และเพื่อสืบทอดให้ระบอบทุนดำเนินต่อไปได้เช่นนี้ เมฆินทร์ก็ได้สร้างสมาชิกใหม่ขึ้นมาช่วยค้ำจุนรักษาระบบในฐานะบริวารของเขา ไม่ว่าจะเป็น “นฤดม” ทายาทผู้สืบมรดกปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงผีดิบหญิงสาวอีกสามคนคือ “โชติรส” “ลำเจียก” และ “ผู้หมวดตอง” ที่หลังจากได้ลิ้มรสดื่มเลือดมนุษย์คนอื่นแล้ว ก็รู้สึกอิ่มเอมจนสมยอมขายวิญญาณของตนเป็นอมนุษย์เช่นเดียวกับปีศาจเมฆินทร์ไปในที่สุด         เพราะฉะนั้น ในโลกแฟนตาซีเหนือจริงเช่นนี้ ไม่เพียงแต่สภาวะแปลกแยกที่ทำให้ผู้คนยึดมั่นความรักเป็นสรณะ และโหยหา “ความรักที่ไม่วันตาย” เท่านั้น หากแต่วิถีแห่งระบอบทุนเองก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบ “ไม่มีวันตาย” ดุจเดียวกับความรักที่เป็นอมตะด้วยเช่นกันเมื่อ “รักและทุนที่ไม่มีวันตาย” ต้องแลกมาด้วยเลือดและวิญญาณของมนุษย์ผู้อื่น คงไม่แปลกที่ตลอดทั้งเรื่องละคร เราจะได้เห็นภาพมนุษย์บางคนอย่างวิทวัสและผองเพื่อนที่ยังไม่สมาทานให้กับระบอบแห่งทุน ต่างร่วมมือกันเสาะแสวงหา “แก้วขนเหล็ก” หินศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังแห่งคุณธรรมซึ่งใช้ปราบปีศาจเมฆินทร์ได้        ด้วยความมุ่งมั่นแห่งตัวละครที่จะกำจัดจอมปีศาจ และด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญลักษณ์ของ “แก้วขนเหล็ก” เช่นนี้ คงบอกกับเราผู้ใช้ชีวิตแหวกว่ายในระบอบแห่งทุนได้ว่า ถึงเวลาแล้วกระมังที่ความศักดิ์สิทธิ์และคุณธรรมความดีจะกลายเป็นความหวังเล็กๆ ที่ช่วยมนุษย์ให้สลัดหลุดออกจากชีวิตที่แปลกแยกและการขูดรีดยังคงดำรงอยู่แบบ “ไม่มีวันตาย”

อ่านเพิ่มเติม >