ฉบับที่ 207 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลเยอรมนี โดย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนที่ 3)

ตามที่กล่าวไว้ สำหรับตอนที่สามนี้ จะเป็นความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคราวนี้จะกล่าวถึง ระบบการให้บริการสุขภาพ (Health service and Health care market) ซึ่งสหพันธ์ฯ เป็นผู้จัดทำขึ้น นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น ระบบการให้บริการสุขภาพ (Health service and Health care market)ทางคณะรัฐมนตรีเสนอให้กลับไปใช้ระบบประกันสุขภาพแบบเดิมที่ให้ อัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสุขภาพภาคบังคับ (Gesetzlich Krankenversicherung) ของนายจ้างและลูกจ้างในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 แต่ก็เปิดโอกาสให้กับคนที่สนใจ สามารถจ่ายเงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความคุ้มครองได้ด้วยเช่นกัน (individual Zusatzversicherung)ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า นโยบายนี้จะช่วยลดภาระของลูกจ้างหรือคนทำงาน ในการที่จะแบกรับอัตราการจ่ายเงินที่จะสูงมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้มาตรการอื่นๆ ที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใส (Transparency and Governance) การตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทที่รับประกันสุขภาพ ซึ่งมีหลายบริษัทในตลาด ก็มีความจำเป็นเพื่อให้นโยบายนี้เป็นจริงในทางปฏิบัติในส่วนของนโยบาย Health care service market .ในสัญญาการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ บทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพ Health care serviceต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การให้ความสำคัญกับนโยบาย Health care service เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมา เพื่อยกระดับการให้บริการ ทางด้าน Health care service ให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกังวลว่า หากไม่มีการบริหารจัดการทางการเงินที่ดี ก็มีความเสี่ยงที่ประชาชน ผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสุขภาพ อาจเผชิญภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเสนอว่า ให้แก้กฎหมายประกันสังคม (Sozialen Pflegeversicherung) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบ Health care service นโยบาย การจัดทำแฟ้มบันทึกข้อมูลผู้ป่วยดิจิทัล (Electronic Patient Record) โดยจะเริ่มในปีงบประมาณนี้ เพื่อตอบโจทย์ การรักษาแบบทางไกล (Telemedicine) และแฟ้มบันทึกข้อมูลนี้จะช่วยในเรื่องการวางแผนในการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการ Health Care service โดยเฉพาะ ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ Health Care Service สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ในยุคดิจิทัล จะเป็นประโยชน์ต่อระบบการให้บริการทางด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริการทางด้าน Health care service“การซื้อขายยาออนไลน์ รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ร้านขายยาในชุมชนมีความเข้มแข็ง ดังนั้นรัฐบาลมีนโยบายจะห้ามการซื้อขายยาที่ต้องการใบสั่งยาจากแพทย์” ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การห้ามซื้อขายยาออนไลน์ แบบเหมารวม ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว และไม่ได้เพิ่มความเข้มแข็งให้กับร้านขายยา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่ได้เพิ่มบทบาทให้กับเภสัชกรในร้านขายยา ที่มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการใช้ยาสิทธิของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความสำคัญให้กับสิทธิของผู้ป่วย การตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางด้าน Health care service เพื่อที่จะลดปัญหาการดำเนินคดีความ ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย การรับผิดจากการละเมิด (Patientenrechtegesetz) ที่ไม่คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในเรื่องภาระการพิสูจน์บทสรุปของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายการให้บริการสุขภาพ คือ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุน และรัฐบาลควรที่จะให้ความสำคัญกับมุมมอง และความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะกระบวนการออกแบบนโยบายทางด้านสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องระบบการเงินการคลัง ใน Health care service ทั้งหมดจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคดิจิทัล และมองว่าการห้ามการซื้อขายยาออนไลน์ เป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องฉบับนี้ขอจบตรงนี้ก่อน  ครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอาหาร (Food market policy) ครับ--------------------------------------เอกสารเพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็น ได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving) ดู ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิตัล (Digital  world) ดู ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market) ดู ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 206• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ (International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance)(ที่มา เว็บไซต์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี https://www.vzbv.de/.../ausfuehrliche_bewertung_koav_vzbv.pdf) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 1)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประชานิยม โดยสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านให้ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้นั้น สิ่งที่สังเกตเห็นคือ มีหลายพื้นที่นำเงินมาลงทุนตั้งเป็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มขึ้นมากมาย โดยมักจะมีบริษัทมารับจัดการสถานที่และติดตั้งระบบกรองโดยขายไอเดียว่าจะดำเนินงานต่างๆ ให้เสร็จเลย แต่การผลิตอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียวนั้น แม้จะดูไม่ยุ่งยากแต่มันก็มีรายละเอียดที่เราต้อระมัดระวังและใส่ใจมากพอสมควรเช่นกัน มิฉะนั้น เราอาจเผลอไปผลิตน้ำดื่มสูตรผสมเชื้อโรคโดยไม่ตั้งใจก็ได้อย่างแรกที่เราต้องตั้งสติคือ อย่าเพิ่งตัดสินในเชื่ออะไรง่ายๆ (โดยเฉพาะบริษัทที่จะมาเอาเงินเรา) ต้องพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำให้เข้าใจก่อน อันที่จริงขั้นตอนการขออนุญาตผลิตน้ำไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย มีเพียงสองขั้นตอนเท่านั้นเอง ขั้นตอนแรกคือการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารประเภทน้ำดื่ม เมื่อผ่านการตรวจสอบและขออนุญาตแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนที่สองคือ การขอ อย.ของน้ำดื่มแต่ละตรา ซึ่งเราจะทำกี่ตราก็ได้ในขั้นตอนแรกที่จะขอสถานที่ผลิตน้ำดื่มนั้น เราต้องทำให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด เรียกง่ายๆ ว่า เกณฑ์จีเอ็มพี (GMP) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต หากเราทำได้ตามเกณฑ์นี้แล้วรับรองว่าคุณภาพอาหารเราจะสม่ำเสมออย่างมีมาตรฐาน หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือสถานที่เราต้องเป็นสัดส่วนแยกให้ห่างไกลจากแหล่งสกปรก มีการปิดกั้นมิให้สิ่งโสโครกหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาป้วนเปี้ยนในสถานที่ผลิต ห้องน้ำห้องส้วมก็ต้องแยกให้ชัดเจนอย่าเข้ามาอยู่ใกล้สถานที่ผลิต มีการติดตั้งอ่างล้างมือทั้งหน้าห้องส้วมและบริเวณผลิต มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะห้องบรรจุต้องแยกให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในห้องนี้ส่วนการตัดสินใจจ่ายเงินค่าเครื่องมือไม้เครื่องมือเกี่ยวกับระบบการกรองน้ำก็ต้องพิจารณาให้ดี อย่าเพิ่งไปเชื่อผู้ขายเครื่องกรองต่างๆ มิฉะนั้นจะเสียเงินไม่คุ้มค่าหรือไม่ได้ผลให้เจ็บใจที่เสียรู้เขา อันดับแรกคือ เราต้องรู้ว่าน้ำที่จะมาผลิตนั้นมีคุณภาพดีเลวขนาดไหน จะได้เลือกใช้เครื่องกรองให้เหมาะสม ซึ่งจะรู้ได้ก็โดยการตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถส่งตรวจวิเคราะห์ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตพื้นที่ (หากส่งห้องปฏิบัติการของเอกชน ก็ต้องเลือกห้องที่ได้รับการรับรองคุณภาพในการตรวจจากทางราชการ) ถ้าไม่อยากเสียเงินเอง ก็ให้คนที่จะมาขายเครื่องกรองออกเงินให้เลย ไหนๆ ก็จะขายแล้วนี่ และจะเป็นประโยชน์ด้วย เพราะต้องใช้ผลวิเคราะห์แสดง เวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจในลำดับต่อๆ ไปด้วย (แนะนำให้ตรวจก่อนผลิตเลยครับ)เมื่อทราบผลวิเคราะห์น้ำแล้ว เราก็เลือกวิธีการกรองน้ำให้เหมาะสม เช่น น้ำที่จะนำมาใช้ผลิตมีสารอะไรมาก ควรเลือกใช้เครื่องกรองแบบไหน หรือถ้าเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก อาจต้องเปลี่ยนแหล่งน้ำ (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำคลองเพราะคุณภาพน้ำไม่แน่นอน บางช่วงอาจดี บางช่วงอาจแย่) ส่วนมากชุดกรองแรกๆ ที่จะติดตั้งจะเป็นเป็นกระบอกใหญ่ๆ สามกระบอก แต่ละกระบอกก็จะมีตัวกรองแตกต่างกัน ตัวแรกมักจะเป็นตัวกรองแอนทราไซด์และแมงกานิส ซึ่งจะกรองพวกเหล็กและสารบางอย่างที่เจือปนอยู่ในน้ำ ส่วนอีกกระบอกจะเป็นตัวกรองเรซิน (ลักษณะข้างในจะเป็นเม็ดใสๆ คล้ายไข่ปลาดุก) จะเป็นตัวขจัดความกระด้างและสารเคมีบางตัวที่ละลายอยู่ในน้ำให้น้อยลง กระบอกต่อมาก็จะเป็นเครื่องกรองถ่าน ซึ่งข้างในจะมีผงถ่านละเอียดๆ บรรจุอยู่ เพื่อดูดกลิ่น และคลอรีนในน้ำ (มีต่อฉบับหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ขายหวยชุดเกินราคา

แม้รัฐบาล คสช. จะประกาศห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด คือ คู่ละ 80 บาท แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังพบปัญหาราคาสลากกินแบ่งแพงอยู่ดี โดยพ่อค้าแม่ค้าหัวใสบางรายมีการจำหน่ายหวยชุด หรือสลากกินแบ่งที่มีตัวเลขเดียวกันจำนวน 5 -10 ใบ แล้วนำไปบวกราคาเพิ่มอีก 50 – 200 บาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเลือกซื้อหวยชุดจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ใน จ.อุบลราชธานี เมื่อสอบถามราคาก็พบว่าจำหน่ายอยู่ที่ชุดละ 450 บาท โดยมีสลากกินแบ่งทั้งหมด 5 ใบ ซึ่งเมื่อคิดราคาต่อฉบับแล้วอยู่ที่ 90 บาท เธอจึงลองไปดูร้านอื่น ก็พบว่าทุกร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งชนิดดังกล่าวในราคาพอๆ กัน โดยราคาสลากในชุดจะมีตั้งแต่คู่ละหรือใบละ 90 -120 บาท ทำให้เธอเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดหวยชุดจึงต้องขายราคาสูงกว่าปกติ และเมื่อสอบถามคนขายก็ได้รับคำตอบแค่ว่า เจ้าอื่นก็ขายราคานี้กันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้คุณสมพรจึงรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กฎหมายกำหนด เพราะตามมาตรา 39 ของคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาคู่ละ 80 บาทเท่านั้น ซึ่งหากพบว่าผู้ใดเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศูนย์ฯ จึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าดังกล่าว ภายหลังกองสลากได้รับเรื่องก็ประสานงานให้กองสลากประจำพื้นที่อุบลราชธานีเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งได้แจ้งกลับมาว่าไม่พบการจำหน่ายสลากเกินราคาตามที่ผู้ร้องแจ้งมา อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องพบเห็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาอีก สามารถร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานกองสลากในพื้นที่ๆ อาศัยอยู่ หรือโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์เบอร์ 02-345-1466 และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเดินทางหรือส่งจดหมายไปร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล: 359 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 เบอร์โทรศัพท์ 02-528-8888 หรือโทรสาร 02-528-9228

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 รัฐบาลโหมโฆษณากล่อมชาวบ้าน เมษานี้ขึ้นแน่...แก๊สหุงต้ม 100 บาท/ถังใน 1 ปี

 มีผู้บริโภคหลายรายถามมาว่า แก๊สหุงต้มจะขึ้นจริงหรือเปล่า เห็นบอกว่าจะขึ้นช่วงปีใหม่ แต่ผ่านมาแล้วยังไม่เห็นขึ้นซะที แล้วถ้าขึ้นจริงราคาจะขึ้นเป็นเท่าไรแน่“เสียงจากผู้บริโภค” ในฉลาดซื้อ ฉบับรับปีใหม่ ได้นำเสนอข่าวที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดชงแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอต่อนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 27.76 บาท/กก. และราคาขายปลีก 36.35 บาท/กก.)มาใช้อ้างอิง แต่พอมีเสียงทัดทานจากผู้บริโภคออกไป รมต.พลังงานคงเห็นว่าขึ้นราคาแบบนี้คงไม่เนียน ใส่เกียร์เจ้าตูบถอยหลังปรับทัพสักหน่อย สั่งเลื่อนเวลาปรับขึ้นราคาไปอีก 2 เดือน และให้ สนพ. ไปจ้างสวนดุสิตทำการศึกษาหามาตรการบรรเทาช่วยเหลือกับผู้มีรายได้น้อยและร้านค้าหาบเร่เพื่อลดแรงต้านรมว.พลังงานส่งสัญญาณมาแบบนี้ ก็กระจ่างชัดเจนแล้วว่า แก๊สหุงต้มปรับขึ้นราคาแน่...พี่น้อง มาตรการปรับราคาแก๊สหุงต้มของรัฐบาลก่อนการปรับขึ้นราคา LPG กระทรวงพลังงานได้จัดพิมพ์แผ่นพับ “ความจริงวันนี้ของ LPG” จำนวน 2 ล้านชุด เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนยอมรับ LPG ราคาใหม่ด้วยความสงบสาระสำคัญคือ จะมีการปรับราคา LPG กับภาคครัวเรือนและรถยนต์เริ่มเดือนเมษายน 2556 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งดังนี้1.ภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นราคาจาก 18.13 บาท/กก. ขึ้นเป็น 24.82 บาท/กก. หรือเพิ่ม 100 บาท/ถัง(15 กก.) ภายในสิ้นปี 25562.ภาครถยนต์ จะปรับขึ้นราคาจาก 21.38 บาท/กก. เป็น 24.82 บาท/กก. เช่นเดียวกัน ส่งผลให้ก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์จากปัจจุบันอยู่ที่ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร) จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 13.42 บาท/ลิตร ภายในปี 2556(เอกสารไม่แจ้งว่าจะใช้วิธีทยอยปรับขึ้นราคาหรือไม่)3.กระทรวงพลังงานจะลดแรงต้านทานจากประชาชนด้วยการให้ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 9 ล้านครัวเรือน และร้านหาบเร่แผงลอยประมาณ 500,000 ร้าน ได้ใช้ LPG ในราคาเดิมคือ 18.13 บาท/กก. (คาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนเข้าไปจ่ายชดเชยให้) ใครได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคา LPG บันไดปรับราคาก๊าซ LPG (แก๊สหุงต้ม) ขั้นที่ ราคา ต้นทุนที่โรงแยกได้ ราคาขายปลีก เหรียญสหรัฐ/ตัน บาท/กก. บาท/กก. 1 ราคาปัจจุบัน 333 10.26 18.13 2 ราคาโรงแยก 550 16.96 24.82 3 ราคาตลาดโลก 900 27.76 36.35   LPG ราคาที่ 24.82 บาท/กก. ซึ่งกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณจะปรับขึ้นราคาในไตรมาสที่ 2/2556 หรือเมษายนนี้ เป็นการปรับราคาตามแผนขั้นที่ 2 โดยตัวเลขที่ 24.82 บาท/กก. นี้เป็นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่รวมภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินจ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อแยกออกมาให้เหลือเฉพาะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท ได้รับจะอยู่ที่ 16.96 บาท/กก. (550 เหรียญสหรัฐ/ตัน)ปตท.อ้างว่า ตัวเลข 16.96 บาท/กก.นี้เป็นราคาต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของตน (ปัจจุบันยังไม่เคยมีหน่วยงานวิชาการที่เป็นกลางตรวจสอบว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่) แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพบว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ซื้อและใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิตก๊าซ LPG ในราคาเฉลี่ย 8.42 บาท/กก. (เป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ประชาชนซื้อก๊าซธรรมชาติผ่านราคาค่าไฟฟ้า) ดังนั้น การที่รัฐบาลกำหนดราคา LPG จากโรงแยกก๊าซไว้ที่ 10.26 บาท/กก. (333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามบันไดขั้นที่ 1)ก็ถือว่าเป็นราคาที่โรงแยกก๊าซได้กำไรพอสมควรอยู่แล้ว (มีส่วนต่าง 1.84 บาท/กก.)แต่เมื่อรัฐยอมให้โรงแยกก๊าซขยับราคาต้นทุนขึ้นมาที่ 16.96 บาท/กก.ตามบันไดขั้นที่ 2 จะทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาขายก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบมากถึง 8.54 บาท/กก.หรือสูงราว 1 เท่าตัวของราคาวัตถุดิบ ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไปอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับธุรกิจผูกขาดอย่างกิจการก๊าซธรรมชาติ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้รายงานปริมาณการใช้ LPG ของประเทศในปี 2555 ว่า ภาคครัวเรือนใช้ LPG ประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนรถยนต์ใช้ประมาณ 1 ล้านตัน ดังนั้น ผลของการปรับราคาก๊าซ LPG จะทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ป ตท มีรายได้เป็นเงินสดๆจากการจำหน่าย LPG ให้ภาคครัวเรือนและรถยนต์เพิ่มขึ้นราว 23,540 ล้านบาทภายใน 1 ปี (ไม่ต้องเสียเวลารอเบิกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง) และนั่นยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะกระทรวงพลังงานยังคงมีแผนบันไดขั้นที่ 3 ปรับราคา LPG ให้ขึ้นตามราคาตลาดโลก ไว้รอประชาชนอยู่เห็นแผนการทยอยปรับขึ้นราคาแบบนี้ ทำให้นึกถึงการทดลองวิทยาศาสตร์สมัยเรียนหนังสือ การทดสอบเรื่องปฏิกิริยาของกบในหม้อน้ำร้อน คือถ้าเราโยนกบลงไปในหม้อที่ต้มน้ำร้อนเดือดอยู่แล้ว กบจะรู้สึกร้อนและกระโดดหนีทันที แต่ถ้าปล่อยให้กบอยู่ในหม้อน้ำอย่างสบายใจไปก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิความร้อนของน้ำทีละนิดๆ กบจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรและนั่งอยู่ในหม้อต่อไป จนเมื่อน้ำร้อนจนถึงขั้นเดือดปุดๆ กว่ากบจะรู้ตัว น้ำร้อนก็ลวกกบตายเสียแล้ว ขอไว้อาลัยกับกบไทยทุกตัว ตารางแสดงรายได้ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคครัวเรือน รายได้จาก LPG ภาคครัวเรือน ราคาปัจจุบัน ราคาใหม่ โรงแยกมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก 18.13 บาท/กก. 24.82 บาท/กก.   ราคาที่โรงแยกได้ 10.26 บาท/กก. 16.96 บาท/กก. 6.70 บาท/กก. ครัวเรือนใช้ 3,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี โรงแยกจะมีรายได้ 30,780 ล้านบาท 50,880 ล้านบาท 20,100 ล้านบาท   ตารางแสดงรายได้ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคครัวเรือน รายได้จาก LPG ภาครถยนต์ ราคาปัจจุบัน ราคาใหม่ โรงแยกมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก 21.38 บาท/กก. 24.82 บาท/กก.   ราคาที่โรงแยกได้ 14.34 บาท/กก. 17.78 บาท/กก. 3.44 บาท/กก. รถยนต์ใช้ 1,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี โรงแยกจะมีรายได้ 14,340 ล้านบาท 17,780 ล้านบาท 3,440 ล้านบาท หมายเหตุ : ราคาขายปลีก และราคาที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ รวบรวมจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ก.พลังงาน   จริงหรือไม่ แหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นแหล่งเล็ก ขุดหายาก ต้นทุนสูงช่วงนี้มีคำถามเรื่องพลังงานของประเทศไทยเข้ามาเยอะ คงเพราะประเด็นเรื่องพลังงานกำลังเป็นเรื่องร้อนและสร้างผลกระทบกับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องราคาเชื้อเพลิงมีข้อสงสัยเรื่องพลังงานมาอีกหนึ่งเรื่อง ถามมาว่า เห็นกระทรวงพลังงานทำเอกสารประชาสัมพันธ์ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ บอกว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ยากที่จะทำการค้นหา ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสำรวจและมีความเสี่ยงสูง การคิดผลตอบแทนให้กับรัฐ จึงต้องกำหนดให้เหมาะสม มิเช่นนั้นจะไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน จริงหรือไม่ ตอบข้อสงสัยจากเอกสารเผยแพร่ที่ชื่อว่า ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ใน http://www.chevronthailand.com/knowledge/history.asp ได้กล่าวถึงเทคนิคการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole drilling ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขอคัดมาให้อ่านกันชัดๆ เพื่อคลายข้อสงสัยที่ถูกปกปิดกันมานานในการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีความลึกแต่ละหลุมประมาณ 9,000 – 9,500 ฟุต (2,700 – 2,900 เมตร) จากระดับความลึกของผิวน้ำทะเล การขุดเจาะหลุมแคบ หรือ Slim hole เป็นวิธีการขุดเจาะหลุมที่มีขนาดหลุมเล็กกว่าการเจาะแบบปกติ ที่ต้องขุดเจาะหลุมขนาดใหญ่ 26-30 นิ้ว และ 17 ½ นิ้ว ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 12 ¼  นิ้ว แล้วจึงทำการขุดเจาะหลุมเล็กขนาด 8 ½ นิ้ว และใส่ท่อผลิตขนาด 7 นิ้ว แต่ในการขุดเจาะแบบหลุมแคบ หรือ Slim hole นี้ จะแบ่งเป็นสามชั้น ขนาด 12 ¼ นิ้ว และ 8 ½ นิ้ว ขนาดหลุมผลิตที่ต้องขุดเจาะเล็กลงเหลือ 6 ½ นิ้ว  และใส่ท่อขนาด 2 ¾ นิ้วหรือ 3 ½  นิ้ว เท่านั้นจากประสบการณ์ในการพัฒนาแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยของกลุ่มบริษัทเชฟรอนฯ พบว่า ทั้งแหล่งก๊าซหรือแหล่งน้ำมันที่มีกาขุดเจาะด้วยวิธีดังกล่าว จะมีขนาดเล็กกว่าแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแหล่งปิโตรเลียมในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่ปิโตรเลียมมักถูกพบอยู่รวมกันเป็นกระเปาะเล็กๆ ตามแนวแตกของหิน ดังนั้น การจะพัฒนาแหล่งผลิตเพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด จึงจำเป็นต้องขุดเจาะหลุมจำนวนมาก และแต่ละหลุมควรต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ซึ่งขาดขุดเจาะด้วยวิธีนี้นั้นทำได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และสามารถออกแบบแท่นผลิตให้เล็กลงจากปกติได้ ส่งผลให้มีต้นทุนการเจาะหลุมที่ต่ำกว่าการเจาะหลุมแบบปกติ หรือ Conventional hole drilling (เป็นแท่นเจาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อุปกรณ์และส่วนประกอบมีขนาดใหญ่ และสามารถเจาะได้ลึกมาก อาจถึง 35,000 ฟุต หรือ 10-11 กิโลเมตร ในขณะที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยอยู่ลึกเพียง 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้ การนำเทคนิคการเจาะหลุมแบบแคบมาใช้จึงเป็นคำตอบสำหรับแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่บริษัท เชฟรอนฯ นำมาใช้พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีอยู่นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เนื่องจากสามารถเจาะหลุมสำรวจและผลิตได้จำนวนมาก และสอดคล้องกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาใต้ดินในอ่าวไทย แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย เจาะง่ายและไวที่สุดในโลก ลึก 3 กิโลเมตรใช้เวลาแค่ 46 ชั่วโมงในด้านความเร็วของการขุดเจาะ สถิติที่น่าจดจำที่ถูกบันทึกไว้สำหรับในการนำเทคนิคการขุดเจาะหลุมแคบ (Slim hole) มาใช้คือ การเจาะหลุมฟูนาน เจ-13 ในอ่าวไทยเมื่อปี 2542 ของทางเชฟรอน (หรือยูโนแคลไทยแลนด์ในช่วงนั้น) โดยอาจเรียกได้ว่า เป็นการเจาะหลุมที่เร็วที่สุดในโลก โดยสามารถเจาะได้ด้วยอัตราความเร็ว  5,145 ฟุตต่อวัน( 1,568 เมตรหรือ 1.5 กม.ต่อวัน) ทำลายสถิติที่เคยเจาะหลุมสตูล เอ-17 ที่เคยทำได้ 4,720 ฟุตต่อวัน (1,439 เมตร หรือ 1.4 กม.ต่อวัน) เมื่อปี 2540 ซึ่งหลุมฟูนาน เจ-13 นี้ เจาะถึงความลึกที่ 9,882 ฟุต หรือ 3,012 เมตร (ความลึกตามแนวดิ่ง 7,900 ฟุต หรือ 2,408 เมตร) ภายในเวลาเพียง 46 ชั่วโมงเท่านั้น จากหลุมแบบใหญ่ เปลี่ยนเป็นหลุมเล็กหลายหลุม ต้นทุนถูกกว่า ผลิตก๊าซได้มากกว่าบริษัทเชฟรอนฯ ยังมีแท่นผลิตเก่าที่เคยออกแบบไว้เป็นหลุมใหญ่ 12 หลุม ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยเทคนิคการเจาะแบบหลุมแคบ โดยแบ่งหลุมใหญ่ดังกล่าวออกได้เป็น 3-4 หลุมย่อย ทำให้ได้จำนวนหลุมเพิ่มขึ้นเป็น 24 หลุมหรือ 36 หลุม ซึ่งช่วยให้ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง (เอกสาร เรื่อง “วิธีการเจาะสำรวจ“ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่าเทคนิคการเจาะแบบนี้ ช่วยให้การปฏิบัติงานเจาะเร็วขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงมากกว่า 30%)ผลของเทคนิคการขุดเจาะดังกล่าวที่นำมาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย ได้ผลที่น่าตื่นใจตรงกันข้ามกับที่กระทรวงพลังงานทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไป โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้รวบรวมจำนวนหลุมสำรวจปิโตรเลียม ในแหล่งในทะเลของไทย ตั้งแต่ปี 2515-2554 ซึ่งรายงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ประเทศไทยมีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลทั้งหมด 852 หลุม พบปิโตรเลียมมากถึง 679 หลุม หรือคิดเป็นร้อยละ 80 และมีหลุมที่สำรวจไม่พบปิโตรเลียมเพียง 173 หลุม หรือร้อยละ 20 เท่านั้น โดยพบก๊าซธรรมชาติ 495 หลุม (73%) คอนเดนเสท 97 หลุม(14%)   และ น้ำมันดิบ 87 หลุม (13%)นับตั้งแต่ปี 2524 ถึง 2554  อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตปิโตรเลียมรวมเวลา 30 ปี ปิโตรเลียมที่ผลิตได้มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.4 ล้านล้านบาท รัฐยอมให้เอกชนผู้รับสัมปทานนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาทมาหักออก ก่อนจะนำรายได้ส่วนที่เหลือประมาณ 2 ล้านล้านบาทมาหักแบ่งกันอีกครั้ง  โดยรัฐได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายของเอกชนแล้วตกราว 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนนอกจากจะได้รับเงินลงทุนคืนไปทั้งหมดแล้วยังได้รับผลตอบแทนเพิ่มอีกกว่า 9 แสนล้านล้านบาทเป็นรางวัลอีกด้วย สรุปว่ามูลค่าปิโตรเลียมทั้งหมด 3.4 ล้านล้านบาท ตกเป็นของรัฐเพียง 30% ส่วนที่เหลือ 70% ตกเป็นของเอกชนทั้งในรูปของเงินลงทุนและผลกำไรล่าสุดกำลังจะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และมีความพยายามที่จะขยายเวลาสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุไปแล้ว คำถามคือว่า รัฐจะมีการแก้ไขเงื่อนไขผลตอบแทนให้รัฐได้รับมากไปกว่านี้หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่สังคมควรจับตาเป็นอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ช่วยทำให้คนไม่คิดก่อหนี้ด้วยนะรัฐบาล

คงต้องยอมรับกันว่าปัจจุบันเรื่องหนี้ๆ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ในระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หนี้นอกระบบ” นั้น มีการกระพือโหมข่าวนี้กันมากในสื่อสารมวลชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์ มีการนำเสนอให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยกันแบบบ้าระห่ำชนิดว่าบ้านนี้เมืองนี้มันไม่มีขื่อมีแปกันเลยทีเดียว รวมถึงวิธีการทวงหนี้แบบมหาโหด ทั้งชกต่อยเตะตี และสุดท้ายของความรุนแรงคือ ถึงกับฆ่าแกงกัน จนทำให้รัฐบาลก้นร้อนนั่งไม่ติดต้องหาวิธีด้วยการหยิบยกปัญหาหนี้นอกระบบ ขึ้นมาเป็นปัญหาระดับชาติ โดยกระทรวงการคลังแอ่นอกมารับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ให้พ้นทุกข์พ้นร้อนจากวังวนดอกเบี้ยมหาโหดนั้นคือ ให้สถาบันการเงินในระบบเข้ามาช่วยเหลือ โดยให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถกู้เงินไปใช้หนี้ได้และมาเป็นหนี้สถาบันการเงินแทนในราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและระยะเวลาการผ่อนชำระก็ยืดเวลาให้ยาวขึ้น เรียกว่ามาตรการครั้งนี้ น่าจะสามารถช่วยให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากขอบเหวแห่งความทุกข์ร้อนของกระบวนการหนี้นอกระบบได้ เรียกง่ายๆ ว่า หลุดพ้นจากขุมนรกกันเลยทีเดียวก็ว่าได้ผู้เขียนเห็นมาตรการนี้แล้วก็รู้สึกโล่งอกโล่งใจและชื่นใจแทนลูกหนี้เหล่านั้น และนึกขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกระดับแบบได้ใจกันไปเต็มๆ กันเลยล่ะ (นี่ชมนะ ชมจริงๆ) แต่มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสระผมที่ร้านแห่งหนึ่งแถวสมุทรสงคราม พอดีในร้านนั้นมีคนนั่งพูดคุยกันอยู่เรื่องหนี้นอกระบบและการช่วยเหลือของรัฐ ก็เลยนั่งฟังเขาคุยกันจับใจความได้ว่า ดีจังเลยที่รัฐบาลช่วยเหลือในครั้งนี้ธนาคารออมสินก็ดี๊ดีๆให้เรากู้ง่ายมากแค่เรารวมกลุ่มกันไป 3 คน และค้ำประกันกันเองก็กู้ได้แล้ว งวดแรกเขาให้กู้คนละสองหมื่น หากเรามีประวัติดีเขาจะเพิ่มให้เป็นคนละห้าหมื่น แต่ในกลุ่มเราต้องส่งตรงเวลานะอย่าให้เสียประวัติ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่เพิ่มวงเงินให้ ตอนนี้เอาไปใช้หนี้นอกระบบได้แล้วโล่งไปเลยดีจัง ผู้เขียนก็เลยถามเขาว่าทำไมถึงต้องกู้นอกระบบล่ะ เขาบอกว่าก็ตอนแรกลงทุนค้าขายมันไม่มีเงินทุนก็เลยต้องกู้เขา ก็คิดว่าจะส่งทันแต่มันขายของไม่ดีการส่งเลยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้เขียนก็พยักหน้าแบบเข้าอกเข้าใจกันแหละ สักพักเขาก็เปลี่ยนเรื่องคุยตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ตั้งใจฟังแต่มาสะดุดตรงที่ เสียงเจ้าของร้านคุยว่า แหม..เมื่อคืนดวงไม่ดีเสียป๊อกเด้งไปสามพัน เดี๋ยวคืนนี้แก้ตัวใหม่ เสียงอีกคน(ที่คุยเรื่องเป็นหนี้นอกระบบ)ก็ตอบมาว่าฉันก็ดวงไม่ดีงวดนี้ตาม 41 ไป 2,000 บาท ไม่กระทบเลย งวดหน้าเอาใหม่ ผู้เขียนฟังแล้วอึ้งทึ่งไปเลย...อะไรเนี่ย เมื่อกี้ยังคุยเรื่องความทุกข์ของการเป็นหนี้อยู่เลย แป๊บเดียวคุยเรื่องการพนันกันและ โอ้ย..ยังงี้เขาจะหลุดพ้นวังวนของการเป็นหนี้ได้อย่างไร หากลูกหนี้เหล่านั้นยังไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงินสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีกจนได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะช่วยเขาคงไม่ใช่แค่หาแหล่งเงินกู้ให้ใหม่เหมือนที่ทำอยู่ แต่คงต้องมีการฝึกอบรมวินัยการบริหารจัดการเงินรวมถึงวิธีคิดให้เขาด้วย ไม่อย่างนั้นการช่วยเหลือของรัฐคงเป็นได้แค่ไฟไหม้ฟาง สุดท้ายเขาเหล่านั้นก็ต้องกลับไปเป็นลูกหนี้นอกระบบอีกเหมือนเดิม หากจะช่วยเขาจริงคงต้องคิดมากกว่านี้นะ รัด-ทะ-บาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ตั้งใจให้มีส่วนร่วมจริงเปล่าคะ…รัฐสภา

ในกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ประดุจน้ำที่หลั่งไหลจากเขื่อนแตก กระแสหนึ่งที่ถาโถมการเมืองไทยคือประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ(นี่ยังไม่บวกประเด็นป๋า/ประเด็นพี่ไหนๆ นะ) ถึงกับต้องบอกว่า ร้อน......เจงๆ นั่นแน่คิดว่าเราจะเขียนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีกแล้วละซิ.. ถ้าคิดอย่างนั้นขอบอกว่า คุณ...คิดผิด แฮ่ๆ เพราะเราจะเขียนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับระบบนิติบัญญัติของชาติไทยตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นต้นมากระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนก็โดดเด่นขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และกระแสนี้ก็ยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีหน่วยราชการมากมาย วิ่งมาหาแกนนำภาคประชาชน เพราะการมีประชาชนเข้าร่วมเป็นหนึ่งเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จในการทำงาน หน่วยงานไหนที่สามารถนำประชาชนเข้าร่วมได้มากถือว่ามีผลงานมาก ทำให้ทุกหน่วยราชการต่างแย่งชิงกลุ่มองค์กรภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานของตนผ่านตัวชี้วัด ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลย ว่าทำไมชาวบ้านมี ชุดฟอร์ม ที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของจากหน่วยงานราชการหลายหน่วย(จนชาวบ้านกลายเป็นคนของรัฐไปหมดน่าเหนื่อยใจจริงๆ)และยิ่งไปกว่านั้นกระแสการมีส่วนร่วมได้ลุกลามเข้ามาถึงสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต้องบอกก่อนนะเรื่องที่เขียนอาจมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง แต่มิใช่ประเด็นหลักเป็นเพียงประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นว่าจริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ มีความจริงใจให้ประชาชนเข้าร่วมจริงหรือไม่ พอดีผู้เขียนได้ถูกเชิญเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งในวุฒิสภา(โอ้ย...หากใครได้รับเชิญเข้าไปอาจคิดว่ามันเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลไปเลยก็ว่าได้ ว่า...เข้าไปนั่น...) ผู้เขียนถูกเชิญเข้าไปก็รู้แต่ว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และในชุดนี้ยังมีการเชิญพี่น้องจากต่างจังหวัดเข้าร่วมด้วย ไกลที่สุดก็คือมาจากปัตตานี ทุกคนมากด้วยความเต็มใจและมุ่งมั่น แต่เชื่อไหมว่า การมีส่วนของประชาชนมันเป็นแค่เรื่องที่เขียนไว้เท่ๆ ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่นๆเท่านั้นเอง.... เพราะกฎระเบียบอื่นๆ ไม่ได้แก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเกณฑ์การจ่ายค่าเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมไม่มี มีแต่ เกณฑ์เก่าสมัยพระเจ้าเหาได้มั้งที่เอามาใช้ และถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ ในระเบียบของรัฐสภา ผู้ที่ถูกเชิญเข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ครั้งละ 500 บาทจะมาจากไหนก็ช่างเธอ...ฉันให้เท่านี้ล่ะตามระเบียบ ผู้เขียนไม่เดือดร้อนอะไรเพราะอยู่แค่สมุทรสงคราม ชิลล์ๆ อยู่แล้ว แต่คิดถึงคนที่มาจากปัตตานี คิดไหมว่าเขาจะเดือดร้อน คิดดูชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่มีเงินเดือนไม่มีรายได้มั่นคงจะเข้ามาร่วมได้ไหม บางคณะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง บางคณะประชุมทุกอาทิตย์ชาวบ้านที่ไหนจะมีเงินออกค่าเดินทางเองเข้ามาร่วมได้จริงไหมล่ะท่านถ้าชี้ให้เห็นชัดๆ ก็คือเกณฑ์ของรัฐสภาคือเกณฑ์ที่ผู้เข้าร่วมเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. หรือสว. อยู่แล้ว หรือราชการระดับหัวๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือกลุ่มทุนที่ไม่เดือนร้อนเรื่องค่าเดินทาง ชี้ให้เห็นว่าคนที่คิดเกณฑ์นี้ไม่ได้คิดเผื่อสำหรับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่เคยคิดว่าจะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ซะด้วยซ้ำ และนี่คือเรื่องที่อยากนำเสนอว่าอย่าว่าแต่หน่วยการราชการในพื้นที่ไม่จริงใจกับการมีส่วนร่วมของประชาชน รัด-ฐะ ก็เหมือนกัน มีแต่ปากดีว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนต้องมาก่อนอย่างนั้นอย่างนี้...(มาแล้วเดือดร้อน.จะมายังไง...) เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นหัวชาวบ้าน แม้แต่จะคิดกฎเกณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดยังไม่ทำเลย ดีแต่พล่ามกันไปวันๆ น่าเหนื่อยจริงนะประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถได้เวลาแก้ใหม่แล้ว

ช่วงนี้หากใครได้ดูข่าวทีวีนอกจากข่าวเรื่องการเมือง เรื่องสนุกสนานของรัฐบาล และเครือข่ายของอดีตนายกทักษินที่ต่อสู้กันด้วยการสาดน้ำลายใส่กันบนหน้าจอทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีถล่มกันอย่างเมามันแล้ว ก็ยังมีข่าว(ที่ต้องพยายามดู) ของเครือข่ายผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาจากการใช้ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ เพราะ พรบ.ฉบับนี้เป็น พรบ.ที่บังคับทุกคนที่มีรถต้อง ทำพรบ.ทุกคนทุกคัน การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัยเอกชน ที่เวลารับเงินเราแสนจะอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีตัวแทนไว้คอยรับทำประกันทุกที่ ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เวลาจะจ่ายสินไหมคืนเราเมื่อเราประสบอุบัติเหตุ กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเทคนิคมากมายที่จะประวิงเวลาและทำทุกวิถีทาง ที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ยิ่งดี (ว่าไปนั่น)ผู้บริโภคเลยสุดทนกับกฎหมายที่แสนจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ชาวบ้านอย่างเราๆแสนจะเสียเปรียบ เสียเปรียบอย่างไรนะหรือ หากพูดไปเรื่อยๆ อาจจะเห็นภาพได้ยาก จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 มีโทรศัพท์มาร้องทุกข์กับผู้เขียน กรณีคนถูกรถชนตาย 3 ศพ โดย พ่อ-แม่ ตายหมดเหลือลูกสาวคนเดียวน่าสงสารมาก ผู้เขียนได้ขับรถไปฟังเรื่องราว จึงทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้เสียชีวิตคือนายสำเริง จันทร์รอด(ผู้ขับขี่) โดยมีนายสมโภช ณ บางช้าง และนาง ยุวดี ณ บางช้าง ซ้อนท้ายกลับจากตลาดแม่กลอง มาบนถนนวงแหวนรอบนอก ดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม(ที่มีรถไม่หนาแน่น) โดยขับมาปกติ แต่จู่ๆ ก็มีรถฟอร์จูนเนอร์(โตโยต้า) ขับสวนมาด้วยความเร็วสูงและแหกโค้งมาชน ทำให้ทั้ง 3 คนตายคาที่ และรถคันดังกล่าวขับหนีไป แต่ถูกตำรวจสกัดจับไว้ได้ในสภาพมึนเมาเต็มที่รถมอเตอร์ไซด์คันที่ถูกชนได้ทำพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเมื่อประสบเหตุอย่างนี้ เขาต้องทำอะไรบ้าง เมื่อผู้เขียนถามว่าตำรวจไม่แนะนำอะไรบ้างหรือ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี ไม่เห็นตำรวจบอกอะไรเลย ผู้เขียนถามต่อว่ารู้ไหมว่าพรบ.รถที่เราทำนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำพรบ.ไม่อย่างนั้นจะถูกตำรวจจับ ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจจริงๆ นี่ล่ะชาวบ้านตัวจริง คือไม่รู้อะไรเลยทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของตัวเอง กลายเป็นว่าที่ทำประกันเพราะกลัวตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย ไม่สนใจทุกข์ร้อนของชาวบ้านเลย ตามพรบ.แล้วผู้ซ้อนซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้ค่าปลงศพ ศพละ 100,000 บาท ผู้ขับขี่ต้องได้รับค่าปลงศพเบื้องต้น 35,000 บาทภายใน 7 วัน(ที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด) แต่นี่ดูรึคนตาย 3 คน 7 วัน แล้วการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก พรบ.ยังไม่มีเลยสักบาท (ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แล้ว) เป็นไงล่ะเรื่องที่เล่ามาพอจะเห็นปัญหากันบ้างหรือยัง อาจจะมีบางคนบอกว่าช่วยไม่ได้อยากโง่เอง ก็ให้ลองคิดดูว่าเด็กผู้หญิงที่อายุแค่ 15 ปี ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาจะเอาสมองที่ไหนมาคิด และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือทบทวน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านอย่างเราๆ บ้าง เพราะปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลการประกันภัย เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในพรบ.ฉบับนี้จะรอรัฐบาลก็ไม่ได้ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนกฎหมายในชื่อใหม่คือ “กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ” โดยโอนค่ารักษาพยาบาลไปใช้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยพรบ.นี้จะจ่ายเพียงค่าสินไหม กรณีบาดเจ็บต่อเนื่อง ทุพลภาพ เสียชีวิต เท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างล่ารายชื่อนะ ใครเห็นด้วยเร่งมาลงชื่อโดยไว

อ่านเพิ่มเติม >