ฉบับที่269 หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการ คือ การที่เราเมื่อมีอาชีพ มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามสัดส่วนของรายได้ โดยเงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงิน ในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้าง ก็สามารถได้รับเงินทดแทนจนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพ เราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน         เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าซึ่งรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น          ปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่อง หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes)         ในประเด็นและแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขที่ผมได้เคยนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วนั้น เป็นรายงานและข้อสรุปการศึกษาและดำเนินการของ สมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น ของประเทศเยอรมนี โดยได้พูดถึงประเด็นว่า หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) คืออะไร         โครงการของสมาคมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับรายได้แบบไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น 1514 คนโดยได้รับเงินประจำเดือน 1000 ยูโรเป็นเวลานาน 1 ปี         บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้         1 ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นประเด็นของความเป็นอิสระทางการเงินระดับหนึ่งของคนที่ได้รับเงินรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข การที่ได้รับเงินหมายถึง คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการเงินส่วนตัวของคุณไม่ว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคไปลงทุน เก็บออมไว้หรือนำไปบริจาคให้คนอื่น การได้รับความไว้วางใจนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองซึ่งเงินที่ได้รับหรือที่สมาคมให้ไปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง         2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษา มาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์หรือมีอาชีพอิสระ เริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ         สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วและได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้ พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย (ข้อสรุปเดิมของปี 2023)         3 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนที่ได้รับโอกาสมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้างานของที่ทำงานเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายคนคิดที่จะเปลี่ยนงานแต่เมื่อได้รับโอกาสหลักประกันทางรายได้ก็ยังคงเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป ภายใต้อำนาจต่อรองและจิตวิญญาณของการทำงานแบบใหม่ กรณีที่เปลี่ยนที่ทำงานพบว่า ก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนต่อหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการทำงานในที่ทำงานหรือตำแหน่งใหม่ ไม่มีประเด็นเรื่องความขี้เกียจหรือเกี่ยงการทำงาน         4 ลดความเครียดจากการทำงานลง เมื่อมนุษย์ทำงานภายใต้เงื่อนไขการกดดัน มีความเครียดสะสมทำให้คนเราอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคนรอบข้าง การหลบหลีก การหนีปัญหา หรือการแกล้งตาย ซึ่งเป็นโหมดของคนทำงานเพียงเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง         5 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นโดยเฉพาะในสังคมของประเทศเยอรมนีที่ 50% ของคนทำงานมีโอกาสเกิดอาการ Burn out และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการนี้ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลหายขาดจากโรค ภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการกดดันในที่ทำงาน         6 การมีหลักประกันทางรายได้ทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บริโภคอย่างมีสติซึ่งอาหารที่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้รับประทานเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มชีววิถี (Bio) และเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่         ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ว่าจะมีแนวความคิดทางการเมืองใด เป็นคนเจนไหน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เงินแต่เป็นประเด็นของเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในจิตใจ         สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งในเบื้องต้นเสนอว่าการลองใช้การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดสรรรางวัล แบบไม่ให้เงินก้อนโต แต่จัดสรรเงินรางวัลแบบการประกันรายได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้คนเราเกิดความโลภและใช้การเสี่ยงโชคในการที่จะยกสถานะของตัวเองจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินไม่สามารถทำให้คนสามารถรักษาความมั่งคั่ง หรือความมั่นคงไว้ได้ยืนยาว ....................................แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 รัฐสวัสดิการ เมืองไทยต้องไปให้ถึง

รัฐสวัสดิการ (welfare state) คือ มโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง โดยอาศัยหลักความเสมอภาคของโอกาส การกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และความรับผิดชอบต่อสาธารณะแก่ผู้ไม่สามารถจัดหาขั้นต่ำสำหรับชีวิตที่ดีได้ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ รวมอยู่ในรัฐสวัสดิการสมัยใหม่รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเงินทุนจากรัฐสู่บริการที่จัดให้ (เช่น สาธารณสุข การศึกษา) ตลอดจนสู่ปัจเจกบุคคลโดยตรง ("ผลประโยชน์") รัฐสวัสดิการจัดหาเงินทุนจากการเก็บภาษีแบบแบ่งความมั่งคั่ง (redistributionist taxation) และมักเรียกว่าเป็น "เศรษฐกิจแบบผสม" ประเภทหนึ่ง การเก็บภาษีดังกล่าวปกติรวมการเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เรียก ภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งช่วยลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน (ที่มา วิกิพีเดีย) รัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเป็นได้ต้องปฏิรูประบบภาษี        ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี และงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยถ้วนหน้า ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการอนาคตประชากรไทยอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะคนรายได้น้อยและคนที่มีรายได้ปานกลาง        หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง บวกกับความเชื่อมั่นว่า “คนชั้นกลาง” ในประเทศสามารถทำมาหากินและสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม” แต่มีบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2561 ที่ชี้ให้เห็น “การจมลงของชนชั้นกลาง” อันเนื่องมาจากปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านการศึกษา 2. ด้านการสาธารณสุข และ 3. ด้านที่อยู่อาศัย โดยทั้ง 3 ด้านนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คนชั้นกลางมีเงินเหลือเก็บน้อยลง และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้การจ้าง “คนชั้นกลาง” ทำงานประจำน้อยลงเรื่อยๆ        ดังนั้น เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย “ด้านการศึกษา” พบว่าเดิมมีการจัดระบบการศึกษาฟรี จนถึง 12 ปี กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. การศึกษาฟรีลดลงมาเหลือเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น และเมื่อพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริงว่า “โรงเรียนบางแห่ง” ไม่ใช่การศึกษาฟรีจริง เพราะยังมีการบังคับในเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งกายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ รวมถึงมีการเปิดห้องเรียนพิเศษเพื่อเก็บเงินเพิ่มเติม          และที่มีปัญหาหนักคือระดับ “มหาวิทยาลัย” ที่รัฐบาลมีการอุดหนุนงบให้นักศึกษาปีละ 10,000 บาทต่อคน แต่จากข้อมูลพบว่าในจำนวนกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศ 20% นั้นมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ที่เหลือคือ เข้าไม่ถึง นี่คือสิ่งที่คนชั้นกลางไปไม่ถึง และไม่ได้รับสิทธิได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว รวมกว่า 95% แปลว่าเงินที่รัฐอุดหนุนเพื่อการศึกษาตกอยู่กับคนที่รวยที่สุด 20%           “เหมือนรัฐบาลยังมีกำแพงการช่วยเหลืออยู่ ช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเต็ม เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจให้แบบนี้ แต่การที่ไม่ได้คิดครบทั้งระบบกลายเป็นการกีดกันคนจนโดยทางอ้อม และยังเบี่ยงไปจ่ายให้คนรวยทางอ้อมด้วยเช่นกัน”  “ด้านสุขภาพ” แน่นอนว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามี 2 เรื่องคือ ประชาชนต่างจังหวัด แม้จะเข้าระบบหลักประกัน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปรับการรักษา และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่          “หากแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% จะพบว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายส่วนมากกลับมาอยู่ที่คนกลุ่มที่รวย 20% บวกกับคนที่รวยที่สุดที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีงบประมาณค่ารักษาเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาท ในขณะที่คนทั่วไปได้รับเพียง 3.4 พันบาทต่อหัว นี่คือปัญหาของการใช้งบประมาณที่สรุปแล้วเป็นการช่วยเหลือคนที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่พี่น้องคนจนได้รับการช่วยเหลือน้อยแถมเข้าถึงยาก” ขณะที่ “คนชั้นกลางของไทย” ก็จะเป็นกลุ่มเดือดร้อนไปด้วย เพราะถ้าพูดถึง “เรื่องการศึกษา” มีการเรียนฟรีก็จริง แต่ก็มีสิ่งล่อคือ ทัศนคติว่าเรียนโรงเรียนธรรมดาคุณภาพจะไม่ถึง ต้องเรียนคลาสพิเศษ หรือไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะมีคอร์สอินเตอร์ ซึ่งไม่มีมาตรการควบคุมเรื่องการเก็บค่าบริการพิเศษเหล่านี้ว่าต้องเป็นเท่าไร เหมือนอเมริกามีการทำข้อมูลค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาสูงกว่ารายได้เยอะมาก แต่ประเทศไทยไม่มีการทำตรงนี้ รัฐบาลใช้กลยุทธ์เวลาใครวิจารณ์ก็ระบุว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง แต่เมื่อถามหาตัวเลขที่ถูกต้องรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี  “ส่วนค่ารักษา” หากอยู่ในระบบบัตรทองแล้วรู้สึกรอนาน ก็ต้องไป รพ.เอกชน ที่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา ซึ่งก็ยังหวังว่าจะเริ่มควบคุมได้ในปีนี้ เช่นเดียวกับ “ที่อยู่อาศัย” ไม่มีการควบคุมเลย         นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของไทยต้องต่อสู้คล้ายๆ กับคนชั้นกลางในอเมริกา จึงต้องถามคนชั้นกลางในประเทศไทยว่า จะสู้อย่างไรดี มาร่วมกันลงทุนเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการดีกว่าหรือไม่ เช่น มีการเสนอว่าไม่ต้องมีการลดหย่อนภาษี จำพวกกองทุนแอลทีเอฟ แต่จ่ายภาษีเต็มๆ ไปแล้วรัฐนำเงินนั้นมาสร้างสวัสดิการที่เพียงพอ  เพราะการมีรัฐสวัสดิการ คือการสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนว่าจะสามารถเดินต่อไปได้         แต่สิ่งที่ต้องพูดเพื่อให้เข้าใจกันเกี่ยวกับระบบภาษี นั้นเรียนว่า ทุกคน รวมถึงคนจนต่างก็เสียภาษีกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าภาษีเงินได้ เมื่อลองคำนวณแล้วคนชั้นกลางเสียภาษีประมาณปีละ 60,000 บาท ถือว่าเยอะต่อครอบครัว แต่ใน 60,000 บาทนั้น เป็นภาษีรายได้แค่นิดเดียว ที่เหลือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทางอ้อม ขณะที่คนจนอาจไม่ได้เสียภาษีเงินได้  เพราะเงินได้ไม่ถึงตามระบบจัดเก็บภาษี แต่ย้ำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจ่ายกันทุกคน ซึ่งหากคำนวณแล้วคนจนต้องจ่ายแพงกว่าด้วยซ้ำ        “ใน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ใช้บริโภคประมาณ 40,000 บาทเบ็ดเสร็จเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น เมื่อหารด้วย 60,000 บาทของรายได้ แปลว่าเสียภาษีแค่ 3% ของรายได้ แต่คนจนมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 12,000 บาท แล้วต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเบ็ดเสร็จประมาณ 500 บาท คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้”           ดร.เดชรัต ย้ำว่า ดังนั้นจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ ตอนที่เคยไปอยู่เดนมาร์คและเสียภาษีประมาณ 40% ของเงินได้ แต่ไม่ต้องไปซื้อรถยนต์ เพราะระบบรถเมล์ดี นั่งแล้วสบายใจ ในขณะที่อยู่เมืองไทยเสียภาษี 10% แต่ทันทีที่กลับมาต้องซื้อรถยนต์ เพราะที่บ้านรถสาธารณะไม่มีออกมา ดังนั้นหากให้เอาเงิน 6 แสนที่จ่ายให้กับบริษัทรถมาจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาระบบขนส่ง พัฒนารถเมล์ให้ดี อยากให้เมืองไทยลงทุนกับสิ่งเหล่านี้          สิ่งที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ คือภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปัจจุบันจ่ายน้อยมาก อย่างตนเองมีที่ที่บางบัวทองประมาณ  10 ล้านบาทต่อไร่ แต่เสียภาษี 40 บาทเท่านั้น พอเก็บภาษีน้อย คนก็ซื้อที่ตุนไว้          อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี คนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองว่า การเก็บภาษีคือ การเก็บจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในต่างประเทศไทยที่เชื่อเรื่องสวัสดิการเขามองต่างจากเรา โดยเขาจะมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศเข้มแข็งไปพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าการลงทุนเดี่ยวๆ แล้วจะรอดนั้นเป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่คนชั้นสูงไม่มีทางรอด ดังนั้นหากจะรอดพร้อมกันคือ ต้องมาลงทุนในรัฐสวัสดิการพร้อมกัน.รัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม        นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ณ วันนี้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ อย่างน้อยใน 3 ด้าน คือ การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้  หลักประกันด้านการศึกษา        การสร้างหลักประกันสุขภาพ        เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันรัฐสวัสดิการในข้อนี้ ถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งโดยหลักคิดเบื้องต้นต้องรวม 3 กองทุนนี้เข้าด้วยกัน เพราะการมี 3 กองทุนเป็นเหตุให้มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ละระบบโดยรวมแล้วใช้งบประมาณจากรัฐ 100% อยู่แล้ว แต่ได้รับงบไม่เท่ากัน        อย่างกองทุนประกันสังคมนับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบดับเบิ้ลไปอีก เพราะในขณะที่รัฐจ่ายให้กับกองทุนบัตรทองประมาณ 3 พันบาทต่อหัว จ่ายให้ข้าราชการประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อหัว แต่พอเป็นประกันสังคมต้องมาหาร 3 คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เท่ากับรัฐจ่ายให้ผู้ประกันตนเพียงพันกว่าบาท จะเห็นว่ารัฐใช้เงินในเรื่องเดียวกัน แต่ให้ไม่เท่ากัน ผู้ประกันตนจึงถูกรัฐละเลยเรื่องสุขภาพมากที่สุด เป็นคนที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน แถมต้องจ่ายเงินเพิ่มเองด้วย ดังนั้นควรเอาเงินที่รัฐจ่ายอยู่เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยทั้ง 3 กองทุนมารวมกัน แล้วกระจายไปทุกหัวประชากร แต่ละกองทุนจะได้งบเพิ่มทั้งหมด       “ใน 3 กองทุนนี้มีภาพลวงตาอยู่ คือกองทุนข้าราชการที่ดูเหมือนว่ารัฐจ่ายให้มากกว่ากองทุนอื่นๆ ได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วต้นทุนค่ารักษาไม่ได้ต่างจากสิทธิอื่นเลย เพียงแต่โรงพยาบาลที่รักษาข้าราชการในโรคเดียวกันนั้น มีการเรียกเก็บเงินเกินไปเยอะกว่ากองทุนอื่นๆ เพราะคิดว่าชาร์จได้ ก็ชาร์จโอเว่อร์ เลยถูกมองว่าในโรคเดียวกันทำไมถึงจ่ายไม่เท่ากัน”        อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า การรวมกองทุนไม่ได้ไปลดทอนสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้ แต่จะไปช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาที่เท่ากัน ตามที่ควรจะได้ ทั้งนี้จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา(2561) สิทธิข้าราชการเป็นสิทธิที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกเรียกเก็บเยอะขนาดนี้ แต่กลับถูกเรียกเก็บเยอะมากเกินกว่าที่ควรจะต้องเป็น แต่ที่ผ่านมาตัวข้าราชการก็ไม่รู้ กรมบัญชีกลางก็เพิ่งรู้ตัวหลังจากมีการเขย่าเรื่องนี้มากขึ้น จึงเริ่มมีการตรวจสอบ กำกับใบเบิกแต่ละใบมากขึ้น        สำหรับสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง และประกันสังคมนั้นก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มอะไรอีก เพียงแต่การรวมกองทุนแบบนี้ คนที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ สถานพยาบาล เพราะปัจจุบันบัตรทองได้งบรายหัวประมาณ 3.4 พันบาท ประกันสังคม 3.3 พันบาท ข้าราชการปลายเปิด โดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 หมื่นบาท ถ้าเอา 3 กองทุนนี้มารวมกันแล้วเขย่าค่าหัวใหม่ จะพบว่าทุกคนได้ค่าหัวประมาณ 6 พันกว่าบาท แสดงว่าหน่วยบริการที่เคยได้รับงบจากบัตรทองก็ได้เงินเพิ่มขึ้นเกือบ 100% แล้วถ้าใช้ระบบการเหมาจ่าย และมีการกำกับผู้ป่วยใน กำกับควบคุมราคายา ก็ทำให้หน่วยบริการรู้ว่าตัวเองได้เงินเหมาจ่ายไปเท่าไร มีรายรับที่ชัดเจน แน่นอนล่วงหน้า 80% นั่นหมายความว่ามีรายรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนกรณีมีผู้ป่วยในก็ไปคิดตามค่าใช้จ่ายจริง โดยดูค่าจ่ายตามรายโรคว่าเท่าไร ก็เหมือนทำให้หน่วยบริการที่มีปัญหากับบัตรทองดีขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่ต้องไปต่อรองของบประมาณทุกปีๆ        นิมิตร์ย้ำว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากยังไม่เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่ได้รายรับอย่างที่ควรจะได้ เพราะเวลาที่ สปสช.ทำงบประมาณขาขึ้น สมมติว่า 3.7 พันบาทต่อคน กรมบัญชีกลางคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ครม.คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ไม่เคยอนุมัติงบให้ตามจำนวนที่ขอ ทั้งที่จำนวนเงินที่ขอไปนั้น ขออยู่บนความสมเหตุสมผล จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่ายาเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่กลับไม่เคยอนุมัติเต็ม และเป็นปัญหารากเหง้าที่ทำให้สถานพยาบาลรู้สึกว่าได้รับงบประมาณไม่เท่าที่ควรจะได้รับ ดังนั้นต้องจัดการปัญหานี้ มีปัญหาทะเลาะ ต้องรีดศักยภาพจากหน่วยบริการ สถานพยาบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่อง วนเวียนไม่จบ             หลักประกันด้านรายได้        เพราะทุกคนที่เกิดมามีรายจ่ายทันที แต่กลับไม่รู้ว่าจะมีรายได้จากไหนมาจ่าย ดังนั้นรัฐจะต้องดูแลให้คนแต่ละช่วงวัยมีรายได้เพียงพอที่จำรับผิดชอบชีวิตของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้ เช่น เด็กที่เกิดมาแต่ละคน จะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นมีหลักประกันรายได้ที่ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเป็นทุกข์ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ค่าอาหาร ค่าอื่นๆ ที่จะมาบริหารจัดการให้ลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี       ดังนั้นการสร้างหลักประกันด้านรายได้นั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของคนที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการอยากให้เกิด แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งมีการเสนอว่าต้องเริ่มตั้งแต่ “เกิดยันตาย” หมายความว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาควรมีหลักประกันรายได้อยู่บนเส้นความยากจนคือ เด็กเกิดมาต้องไม่จน ถ้าไม่จนคือต้องมีเงิน 3 พันบาทต่อเดือน ครอบครัวที่จะมีลูกก็จะมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะมีรายได้ให้ 3 พันบาทต่อเดือนสำหรับดูแลลูก แน่นอนว่า 3 พันบาทนั้นไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยก็มีเงินบริหารจัดการที่เกินเส้นความยากจนของคน 1 คนอยู่แล้ว       พอเข้าสู่วัยรุ่น อาจจะขยับมาเป็น 3.5 พัน พอถึงวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามจะมีรัฐสวัสดิการอยู่ที่ 3 พันบาท ถ้าคิดว่าอยู่ได้ด้วยเงินเท่านี้ โดยไม่ทำงานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องทำงานเพิ่ม เชื่อว่าวิธีคิดการทำหลักประกันด้านรายได้ จะทำให้คนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้คล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวลว่าจะอยู่อย่างไรก็อาจจะลดลงได้ เพราะมีเงินแน่ๆ อย่างน้อย 3 พันบาท แล้วไปบริหารจัดการต่อเพื่อให้มีเงินมากขึ้น       สรุปทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายจะมีรายได้ต่อเดือนอยู่บนฐานความยากจน เช่น ชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคาตกมากๆ อาจจะหยุดกรีดหรือกรีดยางให้น้อยลง เพื่อให้พอมีเงินมาสมทบกับเงินที่ได้รับนี้ บริหารจัดการให้อยู่ได้ แล้วเมื่อราคายางสูงขึ้นก็กลับมากรีดยางใหม่ ซึ่งจะทำให้คนบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้ แทนที่จะไปโค่นสวนยางเพื่อไปปลูกอย่างอื่นที่ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นหลักประกันด้านรายได้น่าจะเป็นเครื่องมือให้เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความจนเรื้อรังได้       แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะมีคำถามตามมาว่าประเทศไทยพร้อมที่จะทำแบบนี้จริงหรือ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก นิมิตร์ ระบุว่า สิ่งที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงการใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อลองมาดูแล้วจะพบว่า ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คนพิการปีละประมาณ หมื่นกว่าล้านบาท และเงินสงเคราะห์อีกมากที่กระจัดกระจายกันอยู่รวมๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเห็นว่ามีเม็ดเงินอยู่พอสมควรที่พอให้บริหารจัดการได้ แล้วก็มาบริหารจัดการ หรือรัฐจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละกระทรวงใหม่ มาเขย่า บริหารจัดการใหม่ ซึ่งเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่อย่างเป็นธรรม ทำให้ประเทศมีเงินพอที่จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้       โจทย์ที่สอง หากเขย่าแล้วยังไม่พอ ก็มาดูระบบภาษี บริหารจัดการ การลดภาษีที่รัฐให้กับส่วนนั้น ส่วนนี้มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอะไรหรือไม่ ก็มาเขย่าเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งคนที่ผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้มองเรื่องนี้แล้วประเทศมีเงินพอ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมีเจตจำนงที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการหรือไม่         รัฐสวัสดิการด้านการศึกษา        รัฐต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กไม่ต้องไปกู้เงินจาก กยศ. ณ วันนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางพรรคพยายามคิดแต่ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของตัวเอง บางพรรคคิด แต่ก็เป็นการจัดสรรให้คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด บางพรรคคิดจะทำแต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจน ได้แต่ขายมุกเก่าว่ามีความสามารถในเชิงบริหารจัดการ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่บางพรรคไม่เอาเรื่องนี้เลย            อย่างไรก็ตามคนที่กุมอำนาจรัฐมักมองเรื่องนี้เป็นภาระของประเทศ เพราะฉะนั้นการจะหวังพึ่งนักการเมืองเพื่อทำเรื่องนี้ เป็นเรื่องยาก เพราะนักการเมืองเองก็มองเรื่องนี้เป็นภาระ ส่วนข้าราชการที่บริหารจัดการเรื่องนี้ก็มองเป็นภาระ เพราะคนพวกนี้ไม่ได้อยู่บนความทุกข์ยาก และยังอยู่บนฐานความกังวลว่า หากทำแล้วอาจจะกระทบรัฐไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้ ดังนั้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเขย่าสังคมทั้งสังคมให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องกดดันให้รัฐบาลทำให้ได้ หากไม่มีพลังของประชาชนออกมากดดัน เรื่องเหล่านี้ก็ไม่เกิด และสิ่งที่จะทำให้เกิดพลังของประชาชนก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเรื่องเหล่านี้และช่วยกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง อย่างการเลือกพรรคการเมืองที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ส่วนพรรคใดที่ไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องเลือก--------- ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR)        ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การศึกษา 2.สุขภาพ 3.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.งาน รายได้ ประกันสังคม 5. ระบบบำนาญถ้วนหน้า 6. สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ 7. การปฏิรูประบบภาษี        1. ด้านการศึกษา เสนอดังนี้ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี 3,000 บาท/เดือน 2) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. 3,000 บาท/เดือน 3) ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อายุ 0-3 ขวบ งบฯ รายหัว 10,000 บาท/คน/ปี 4) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบฯ รายหัว 16,000 บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้ 5) มหาวิทยาลัยพัฒนามาตรฐานกลาง ควบคุมค่าหน่วยกิต เรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย /ปวส.นำร่องด่วน 6) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร โดยจะใช้ประมาณ 600,000 ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ประมาณ 260,000 บาท        2. ด้านสุขภาพ ข้อเสนอ คือ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง 2) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัว 8,000-8,500 บาท/คน/ปี โดยงบประมาณที่ใช้ ประมาณ 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานงบฯ เดิม 311,000 ล้านบาท แต่จะมีงบฯ เพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบฯ สุขภาพจากส่วนราชการ ประมาณ 60,000 ล้านบาท        3. ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ข้อเสนอคือ 1) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 2) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง 3) เกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร 15 ไร่ ต่อครอบครัว 4) เข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 5) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งงบฯ จะใช้ประมาณ 108,000 ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบฯ ส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง        4. ด้านงาน รายได้ ประกันสังคม ข้อเสนอคือ 1) ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2) ค่าจ้างแรงงาน ให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2% 3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า 4) การสมทบเงินเพดานสูงสุดประมาณ 30,000 บาท/เดือน 5) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ กรณีรายได้สูง สามารถสมทบเพิ่มเติม 1,800 บาท หรือ 2,700 บาท/เดือน จากอัตราส่วน 9% จากฐานเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท กรณีรายได้น้อย สมทบ 100 บาท รัฐสมทบ 900 บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ขาดสมทบได้สูงสุด 12 เดือน เมื่อยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี รัฐสมทบให้เพื่อเป็นหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ ตามฐานเงินเดือน 10,000 บาท 6) การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก 1 คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ และ 7) การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานให้ 6 เดือน ให้ได้ค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งเข้างานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบมรม สัมภาษณ์และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน สำหรับงบประมาณใช้ จากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ 2 แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม         5 ระบบบำนาญแห่งชาติ ข้อเสนอคือ 1) เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” 3,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 2) มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค 3) รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง ซึ่งงบประมาณใช้เพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ 223,762 ล้านบาท เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ        6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ ข้อเสนอ คือ 1) เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน 2) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ 3) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่า จะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น 4)  ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮอร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 5) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ(พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539) 6) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง 7) ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆ ที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 8) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น 9) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการของประชาชนและชุมชน        7. การปฏิรูประบบภาษี เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบฯ โดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 240,000 ล้านบาท 2) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น 30% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 3) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 4) ภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร 20 ไร่ (ปัจจุบันที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท/ปี 5) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 10,000-50,000 ล้านบาท 6) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด 45% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 50,000 ล้านบาท 7) ปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม 70 % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 180,000 ล้านบาท 8) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 220,000 ล้านบาท 9) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 63,000 ล้านบาท 10) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 11)  การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากการมีรัฐสวัสดิการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 12. ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์           รวมงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

อ่านเพิ่มเติม >