ฉบับที่ 165 เตรียมตัว รู้ทัน รับมือ ป้องกัน “สังคมก้มหน้า”

กลายเป็นภาพชินตาในสังคมยุคนี้ไปเสียแล้ว กับภาพที่ผู้คนต่างก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตัวเอง ทั้งติดต่อสื่อสารพูดคุย ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ท่องอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ไม่ว่าจะบนรถเมล์ รถไฟฟ้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ตามท้องถนนทั่วไป จนมีการให้คำจำกัดความกับยุคที่ผู้เอาแต่ก้มหน้าเข้าหาจอมือถือและแท็บเล็ตว่าเป็น “สังคมก้มหน้า” (Phubbing) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ผู้คนเลือกใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์หรือโซเชียลเดีย (social media) มากกว่าจะปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องเปิดเฟซบุ๊ค เช็คทวิตเตอร์ตลอดเวลา เฝ้าแต่จะกดถูกใจในอินสตาแกรม วันไหนไม่ได้เซลฟี่แล้วรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ เหล่านี้คืออาการที่บอกให้รู้ว่าคุณได้เป็นพลเมืองของสังคมก้มหน้าแบบเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว   “สังคมก้มหน้า” สังคมของคนป่วย “โรคติดจอ” เป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีคือการทำให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น เรื่องของการติดต่อสื่อสารที่ทุกวันนี้เราสามารถพูดคุย ส่งข้อความ หรือรูปภาพต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เรามีสังคมออนไลน์หรือที่เรียกกันว่าโซเชียลเน็ตเวิร์ค เอาไว้คอยติดตามข่าวสารต่างๆ หรือพบปะแลกเปลี่ยนพุดคุยในเรื่องราวที่เราสนใจกับกลุ่มคนที่มีความสนใจแบบเดียวกับเรา ที่สำคัญคือเป็นแหล่งหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ที่กล่าวมาทั้งหมดคือข้อดีที่เราได้รับจากใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพื่อท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ตหรือโลดแล่นอยู่ในสังคมออนไลน์ ...แต่ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ...เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสียที่ถูกซ่อนเอาไว้ รอเวลาปรากฏตัวออกมาให้เห็น หากว่าเราใช้ของสิ่งนั้นอย่างขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือใช้อย่างไม่เหมาะสม เพราะการที่เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนมือถือและแท็บเล็ต ทำให้หลายคนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือและแท็บเล็ต มากกว่าจะสนใจเหตุการณ์รอบๆ ตัว หลายคนอยากพูดคุยกับคนที่ไม่เคยพบเจอกันมากกว่าที่จะสื่อสารกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว หลายคนรู้สึกมีความสุขที่ได้โพสรูปภาพหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์ มากกว่าที่จะเล่าให้เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักฟัง การที่เราค่อยๆ ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์หรือที่หลายคนเรียกว่า “โลกเสมือนจริง” (หมายถึงโลกที่ถูกสมมติขึ้น แต่ว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตจริง) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง และรวมถึงสุขภาพ  ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ   สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น “โรคติดจอ” -เป็น “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ที่ย่อมาจาก “no mobile phone phobia” แปลว่า “โรคกลัวไม่มีมือถือใช้” จัดเป็นโรคจิตประเภทหนึ่ง อยู่ในกลุ่มของพวกที่มักวิตกกังวลมากเกินไป เป็นที่อาการของคนติดมือถือแบบสุดๆ จะเริ่มรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจทันทีที่โทรศัพท์มือถือแบตหมด หรือไปอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพราะปกติจะเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ต คอยแต่จะเช็คข้อความ จดจ่ออยู่กับเฟซบุ๊ค เฝ้าหน้าจอว่าใครจะมากดไลค์เราบ้าง ถ้าได้ยินเสียงเตือนจากมือถือเมื่อไหร่จะต้องรีบคว้ามือถือขึ้นมาเช็คทันที หรือตื่นเช้าปุ๊บก็ต้องรีบคว้ามือถือขึ้นมาดูเป็นสิ่งแรก ใครที่กำลังมีพฤติกรรมแบบนี้ขอเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็น “โนโมโฟเบีย”   -อัพสเตตัส คือ กิจวัตรประจำวัน หลายคนให้คำนิยามว่า เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ คือไดอารี่ของคนในยุคปัจจุบัน รู้สึกอะไร คิดอะไร ก็เขียนระบายลงไปในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เขียนปุ๊บก็โพสต์ปั๊บออนไลน์ทันที กลายเป็นไดอารี่ที่ต้องการสื่อสารสู่โลกภายนอก ไม่ได้แค่อยากเขียนระบายเงียบๆ เก็บไว้อ่านคนเดียวเหมือนการเขียนไดอารี่แบบเมื่อก่อน เพราะมีความอยากบอกต่อให้คนอื่นได้รู้ แถมบางครั้งก็ต้องการการโต้ตอบกลับจากคนอื่นๆ ในสังคมออนไลน์ เกิดเป็นความคาดหวัง การต้องการความสนใจ ซึ่งบางคนเมื่อไม่ได้รับการสนองตอบหรือได้รับแต่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ความรู้สึกไม่ดี ความทุกข์ใจ ไม่พอใจ ก็อาจเกิดขึ้นตามมา กลายเป็นว่าต้องมาทุกข์ใจกับสิ่งที่ตัวเองโพสต์ไว้   -อะไรมาใหม่ก็ต้องขอมีส่วนร่วม พฤติกรรมอย่างหนึ่งของคนที่คอยเฝ้าอยู่แต่หน้าจอ ก็คือกลัวตามกระแสไม่ทัน เรื่องไหนที่โลกออนไลน์กำลังนิยมกัน ก็ต้องขอเข้าไปมีส่วนรวม ต้องขอแชร์ ขอเขาไปคอมเม้นต์ บางคนก็เอาใจไปฝักใฝ่กับเรื่องนั้นๆ มากเกินไป ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวกับข้องใดๆ กับเรา ไม่ได้มีผลกับชีวิต กลายเป็นว่าต้องไปเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญกับตัวเอง แถมบางคนก็จริงจังเอาเก็บมาคิดให้ปวดหัวให้เป็นทุกข์กับตัวเองโดยใช่เหตุ   -“เฟซบุ๊ค” ทุก (ข์) เวลา หลายคนอาจจะคิดว่าเฟซบุ๊คช่วยให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้น ได้เจอกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน แล้วก็ยังได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ อยู่เสมอ คนที่เล่นเฟซบุ๊คก็น่าจะเป็นคนที่มีความสุข มีเพื่อนเยอะ แต่ก็มีนักจิตวิทยาหลายคนที่ระบุว่าจริงๆ แล้วคนที่ติดเฟซบุ๊คหลายคนมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Facebook Depression Syndrome) เพราะคนเหล่านั้นยึดติดอยู่กับโลกในสังคมออนไลน์มากเกินไป จนลืมคิดถึงโลกของความเป็นจริง เวลาที่ไม่ได้รับการตอนสนองจากสังคมออนไลน์ก็จะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง รู้สึกเหงา ไม่มีคนสนใจ เมื่อยิ่งรู้สึกไม่ดีมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหาทางระบายผ่านในโลกออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น ในโลกของสังคมออนไลน์หลายอย่างเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ในเฟซบุ๊คคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครที่อยากจะโพสต์ภาพหรือเรื่องราวแย่ๆ หรือส่วนที่ไม่ดีของตัวเองให้คนอื่นรู้ เราจึงได้เห็นแต่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของใครต่อใครอยู่ในสังคมออนไลน์ บางคนนำสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเองแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ก็กลายเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง   -รู้สึกเหงาใจถ้าไม่มีใคร line มาหา โปรแกรมไลน์ (line) ถือเป็นโปรแกรมสื่อสารผ่านข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ในเวลานี้ หลายคนสื่อสารผ่านไลน์มากกว่าที่จะพุดคุยโดยตรงด้วยการโทรศัพท์เพราะสะดวกกว่า ที่สำคัญโปรแกรมไลน์สามารถส่งข้อความคุยพร้อมกันแบบเป็นกลุ่มครั้งละหลายๆ คนได้ ส่งภาพ ส่งวิดีโอ และมีลูกเล่นต่างๆ ที่น่าสนใจ หลายคนจึงเลือกใช้ไลน์เป็นโปรแกรมแรกๆ ในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ไลน์ยังกลายมาเป็นโปรแกรมที่หลายคนนิยมใช้สำหรับหาเพื่อนใหม่ ผ่านเว็บไซต์ที่มีการโพสไอดีไลน์หาเพื่อนคุย หาเพื่อนแชท ทำให้หลายๆ คนติดการสื่อสารในไลน์ บางคนแชทคุยไลน์ได้เป็นวันๆ แต่บางครั้งการที่เราแชทไลน์ไปหาเขาใช่ว่าเขาจะต้องไลน์ตอบกลับมา บางคนถึงขั้นทุกข์หนักหากเวลาที่แชทไลน์ไปแต่อีกฝ่ายแค่เปิดอ่านไม่ยอมตอบกลับ   -ยอด like ไม่กระเตื้อง เห็นแล้วเคืองใจ คนที่ติดเฟซบุ๊ค ชอบโพสต์ชอบแชร์สิ่งต่างๆ มักจะเป็นคนที่โหยหาการกด “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (like) จากคนในสังคมออนไลน์ บางคนที่ขั้นนั่งเฝ้านั่งคอยยอดไลค์ เพราะถ้าเห็นคนมากดไลค์มาคอมเม้นต์เยอะๆ แล้วรู้สึกดีมีความความสุข แต่ถ้าเป็นตรงกันข้ามโพสต์อะไรไปก็ไม่มีคนมาไลค์ แชร์อะไรไปก็ไม่มีคนสนใจ ก็จะกลายเป็นไม่สบอารมณ์ขึ้นมาทันที รู้สึกแย่ รู้สึกตัวเองด้อยค่า ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค -“เซลฟี่” นี้เพื่อทุกคน การเสพติดการถ่ายภาพตัวเอง หรือที่นิยามกันแบบสากลว่า “เซลฟี่” (selfie) กำลังเป็นพฤติกรรมของคนติดจอทั่วโลก ซึ่งการรักการถ่ายภาพตัวเอง ความอยากที่จะแสดงตัวตนในสังคมออนไลน์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากมีอาการถึงขั้นที่จะต้องเซลฟี่ในทุกๆ เรื่องที่ทำ บอกโลกให้รู้ในทุกอย่างที่ตัวเองทำ แถมยังต้องเป็นรูปที่ตัวเองต้องดูดีที่สุดเท่านั้น หากไม่ดีพอก็จะต้องขอถ่ายใหม่ หรือจะต้องใช้โปรแกรมแต่งภาพช่วยก็ยอม ขอแค่รูปที่โพสต์ไปมีคนมากดไลค์กดถูกใจ มีคนมาคอมเม้นต์ชื่นชมจนตามอ่านไม่ทัน แต่ถ้ารูปไหนโพสต์ไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับก็จะรู้สึกแย่ทันที นักจิตวิทยาหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงคนที่ชอบเซลฟี่แล้วซีเรียสกับการปรับแต่งรูปภาพของตัวเองให้ดูดี ดูสวย ดูขาว กว่าความเป็นจริงว่า อาจกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในโลกความเป็นจริง แม้ในสังคมออนไลน์จะดูเป็นคนมีความมั่นใจกล้าแสดงออก แต่นั่นเป็นเพราะได้ผ่านการปรุงแต่งจนตัวเองพอใจแล้ว แต่พอมาในโลกความเป็นจริงไม่มีโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นมาช่วย ก็คอยแต่รู้สึกกังวลใจว่าตัวเองจะดูไม่ดี คนที่มองมาจะคิดกับเราแบบไหน กลายเป็นว่าชีวิตจริงก็อาจจะหันไปหาวิธีช่วยอย่างการผ่าตัดศัลยกรรมหรือพึ่งพวกอาหารเสริมนู้นนี่นั่นที่ขายกันเกลื่อนในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีข่าวอาหารเสริมเครื่องสำอางปลอมใช้แล้วหน้าพัง กินแล้วป่วย หรือพวกหมอศัลยกรรมเถื่อนทำคนไข้เสียชีวิตให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวของคนที่เสพติดเซลฟี่และแสวงหาความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ----------------------------------   รีบจัดการตัวเองก่อนเป็น “โรคติดจอ” -วิธีที่จะทำให้เราไม่เป็นโรคติดจอในยุคสังคมก้มหน้า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการต้องรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักใช้อุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ เท่าที่จำเป็น เลือกใช้ในด้านที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา ไม่ใช่ใช้จนไปเบียดบังกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน -เราสามารถเลือกใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดียเท่าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเรา ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่างที่มี ไม่จำเป็นต้องตามกระแส -อย่าไปจริงจังหรือยึดติดกับเรื่องราวในโซเชียลมีเดีย -รู้จักที่จะใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น เวลาไปกินข้าวกับเพื่อนๆ คนในครอบครัว ก็ควรเก็บมือถือไว้บ้าง ไม่ต้องเอาขึ้นมาวางไว้ใกล้ตัว -ไม่จำเป็นต้องพกมือถือตลอดเวลา -ปิดมือถือเวลาที่เข้านอน -ไม่ต้องตั้งเตือนเมื่อมีข้อความเข้า เราจะได้ไม่ต้องคอยพะวงว่ามีใครส่งอะไรมาหาเรา ค่อยมาอ่านเมื่อมีเวลาว่างก็ได้ -หากิจกรรมอย่างอื่นทำนอกจากแค่เล่นมือถือหรือแท็บเล็ต อย่างเช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ไปดูหนัง ฯลฯ -ใช้วิธีโทรศัพท์คุยกันบ้าง แทนที่จะส่งเพียงข้อความ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นธุระสำคัญๆ -ลองหาวันหยุดสัก 1 วันใน 1 สัปดาห์หรือใน 1 เดือน ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดียใดๆ ลองดูสิว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรบ้าง   10 เรื่องที่  “ไม่” ควรทำ เมื่อใช้โซเชียลมีเดีย 1.ไม่โพสข้อมูลสำคัญของตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัตรเครดิต ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้แต่อีเมล เพราะอาจมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในโซเชียลมีเดีย นำข้อมูลสำคัญเหล่านี้ของคุณไปใช้หาประโยชน์ ทำให้คุณเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง ใครที่ยังคิดว่าเฟซบุ๊คคือพื้นที่ส่วนตัว อยากจะโพสต์อะไรก็ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ โพสต์นะโพสต์ได้แต่คุณก็ต้องพร้อมจะรับผิดชอบในผลที่ตามด้วยเช่น ที่สำคัญคือเฟซบุ๊คไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว ถึงแม้คุณจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่คุณโพสต์ก็จะถูกบันทึกไว้โดยผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเหล่านั้นไป ไม่ว่าจะเป็นการกดไลค์กดแชร์ใดๆ ในเฟซบุ๊ค ทุกสิ่งจะถูกระบบนำไปประมวล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นที่ได้จากคุณไปขายหรือแลกเปลี่ยนให้บริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งบริษัทวิจัย บริษัทสถิติ บริษัทโฆษณา 2.ไม่ส่งต่อ รูปภาพ ข้อความ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น เพราะในโลกของโซเชียลมีเดียทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งความเร็วอาจสร้างความเสียหายอย่างที่คุณเองอาจคาดไม่ถึง การส่งต่อข้อมูลต่างในโซเชียลมีเดีย จึงต้องมีความระมัดระวัง เพราะการกดแชร์เพียงครั้งเดียวของคุณ อาจสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวคุณเอง หากสิ่งที่คุณแชร์เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อมูลที่สร้างความความใจผิดในสังคม หรือเป็นข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับผู้อื่น เพราะใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีการระบุไว้ชัดเจนว่า แม้คุณจะใช้คนต้นคิดที่สร้างความเสียหายนั้น แต่ในฐานะคนที่ส่งต่อก็มีความผิดด้วยเช่นกัน 3.ไม่รับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน ยิ่งคุณมีเพื่อนในเฟซบุ๊คมากเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น คนที่รู้สึกดีกับการที่มีเพื่อนเป็นพันๆ คนในเฟซบุ๊ค จงตระหนักไว้ให้ดีว่าในเพื่อนจำนวนหลายพันคนนั้น อาจจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหวังหาประโยชน์จากตัวคุณก็เป็นได้ เชื่อแน่ว่าคนที่มีเพื่อนในเฟซบุ๊ค 1,000 คน อาจมีคนที่คุณรู้จักจริงๆ ไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าสิ่งที่คุณโพสต์ลงในเฟซบุ๊ค มีคนจำนวนหลายพันคนเห็นสิ่งนั้น หากมันเป็นข้อมูลสำคัญของคุณอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างความเสียหายให้กับคุณ 4.ไม่คลิ้กหรือโหลดโปรแกรมที่ไม่น่าไว้ใจ ในโปรแกรมโซเชียลมีเดียมักจะมีโปรแกรมเสริมอื่นๆ คอยมาเสนอให้เราโหลดเพิ่มอยู่เสมอ หรือจะเป็นพวกคลิปวิดีโอแปลกๆ ที่ชอบโผล่ออกมาล่อใจให้คนใช้โซเชียลมีเดียต้องเผลอคลิ้กเข้าไปดู ซึ่งมันอาจเป็นไวรัสทำลายมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของคุณ หรืออาจเป็นโปรแกรมของแฮ็กเกอร์ที่หวังจะมาล้วงข้อมูลต่างๆ ของคุณไปหาประโยชน์ 5.ไม่โพสต์หรือให้ข้อมูลของญาติ เพื่อน หรือคนที่คุณรู้จัก นอกจากข้อมูลของตัวคุณเองที่ไม่ควรเปิดเผยในโซเชียลมีเดียแล้ว ข้อมูลสำคัญๆ ของคนใกล้ตัวคุณอย่างญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ก็ไม่ควรนำมาเปิดเผยในโซเชียลมีเดีย เพราะเคยมีกรณีที่มิจฉาชีพนำข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไปแอบอ้างสร้างเรื่องโกหกกับญาติของผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนนั้น แล้วหลอกให้โอนเงินไปเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ เพราะฉะนั้นการแสดงข้อมูลที่ระบุถึงตัวเราและคนใกล้ตัวจึงต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก 6.ไม่แสดงสถานที่ที่คุณอยู่หรือกำลังจะไป ในโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค หรือ อินสตาแกรม จะมีส่วนที่เรียกว่า “check in” หรือการแสดงตำแหน่งที่อยู่ของเรา ซึ่งการแสดงที่อยู่ ณ ขณะนั้นของเราอาจกลายเป็นภัยแก่ตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าอาจมีมิจฉาชีพหรือผู้ที่ไม่หวังดีต่อเรา จ้องคอยทำร้ายเราอยู่ ซึ่งหากใครไม่ต้องการแสดงตำแหน่งที่อยู่ในเวลาที่โพสต์สิ่งต่างๆ ในโซเชียลมีเดียสามารถเลือกปิดการแสดงตำแหน่งที่อยู่ได้ โดยปิดในมือถือหรือแท็บเล็ตที่เมนูตั้งค่าความเป็นส่วนตัว 7.ไม่ตั้งรหัสผ่านที่เดาง่ายเกินไป สิ่งแรกๆ ที่เหล่าแฮ็กเกอร์จะขโมยในระบบโซเชียลก็คือ รหัสผ่าน (password) เพราะถ้าสามารถรู้รหัสผ่านได้ก็สามารถเจาะเข้าไปหาข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันขั้นแรกคือต้องตั้งรหัสผ่านให้มีความยากต่อการคาดเดาของพวกแฮ็กเกอร์และมิจฉาชีพ วิธีที่นิยมใช้กันก็คือ ตั้งรหัสผ่านที่มีทั้งตัวอักษรและตัวเลขผสมกัน มีทั้งตัวอักษรเล็กและอักษรใหญ่ 8.ไม่พิมพ์แอดเดรสของโซเชียลเว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ลงบนเบราเซอร์ที่ไม่น่าไว้วางใจ อีกหนึ่งกลยุทธ์ของพวกแฮ็กเกอร์ก็คือสร้างหน้าเบราเซอร์ (web browser) หรือลิงค์ (link) ปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกให้ผู้ใช้คลิ้กหรือกดเข้าไปยังเว็บโซเชียลมีเดียที่ใช้งานอยู่ เพื่อลอบขโมยข้อมูลอย่าง ชื่อผู้ใช้งาน (username) และรหัสผ่าน (password) ไปใช้งานในทางที่ผิด 9.ไม่เปิดโปรแกรมโซเชียล มีเดียทิ้งไว้ในเวลาที่คุณไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ การล็อคอินหน้าเว็บโซเชียลมีเดียของคุณทิ้งไว้ ขณะที่คุณไม่ได้อยู่ตรงหน้าจอ อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุณคาดไม่ถึง หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์เปิดเฟซบุ๊คทิ้งเอาไว้ แล้วมีเพื่อนมาแอบเล่นโฟสต์อะไรบ้าๆ บอๆ แกล้งเรา กลายเป็นภาระให้ต้องตามแก้ตัว ตามลบสิ่งที่เพื่อนโพสต์แกล้งเราไว้ แต่หากบังเอิญว่าคนที่แอบใช้โซเชียลมีเดียของเราไม่ใช่เพื่อนเรา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพ เข้ามาขโมยข้อมูลสำคัญๆ ของเราไป อาจนำความเสียหายร้ายแรงมาสู่เราได้ 10.ไม่เชื่อข้อความแปลกๆ ที่ส่งมาโดยเพื่อนของคุณในทันที การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไป เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีข้อความที่มาจากเพื่อนของคุณหรือในคนที่คุณรู้จักในโซเชียลมีเดีย แต่ก็อย่าเพิ่งแน่ใจว่านั้นเป็นเพื่อนของคุณจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นข้อความที่น่าสงสัย หรือเป็นลิงค์ที่ต้องมีการโหลดหรือคลิ้กต่อ ห้ามคลิ้กดูทันทีโดยเด็ดขาด เพราะนั้นอาจเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือของพวกแฮ็กเกอร์ ที่หวังมาลวงข้อมูลหรือสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อความแน่ใจที่สุด คุณควรสอบถามกับเพื่อนของคุณก่อนว่านั้นคือข้อความที่เขาตั้งใจส่งมาหาคุณหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ควรใช้วิธีโทรศัพท์ถามกับเพื่อนของคุณโดยตรง   สังคมก้มหน้ากับผลเสียต่อสุขภาพ สายตา – การมองภาพในมือถือ แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์นานๆ จะทำประสาทตาล้า ตาแห้ง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสาเหตุให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้น คอ – เวลาที่นั่งก้มหน้าเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตนานๆ จะทำให้คอและบ่าเกิดอาการเมื่อยล้า ถ้าอาการหนักมากๆ ก็อาจจะส่งผลรุนแรงถึงขั้นปวดคอ ขยับคอลำบาก ไปจนถึงทำให้รู้สึกหัวหรือเวียนหัว หลัง – การนั่งในท่าเดิมนานๆ อาจทำให้หลังเกิดอาการเกร็ง ซึ่งการก้มคอนานๆ ก็ส่งผลให้หลังเกิดอาการปวด เมื่อยล้า ได้ด้วยเช่นกัน ระบบการหายใจ – การนั่งเล่นมือถือ แท็บเล็ต ในท่าเดิมนานๆ นอกจากจะทำให้ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่แล้วนั้น ยังส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบการหายใจ การนั่งหลังงุ้มจะทำให้หายใจไม่สุดปอด หายใจสั้นติดขัด ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นิ้วมือ – การใช้นิ้วมือกด พิมพ์ จิ้ม บนจอมือถือและแท็บเล็ตนานๆ จะทำให้นิ้วรู้สึกชา ปวดข้อมือ ปวดที่บริเวณโคนนิ้วโป้ง หากทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เกิดอาหารนิ้วล็อก เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ สภาวะอารมณ์ – การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างในโลกความจริง อาจทำให้กลายเป็นคนเก็บตัว บางคนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ขาดทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่น หากหมกมุ่นในโลกโซเชียลมีเดียมากเกินไป หรือเจอเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจในโลกโซเชียล ก็จะมีอาการเครียดและเป็นทุกข์ใจมากกว่าเวลาที่อยู่ในโลกความจริง   อย่าปล่อยให้สมาร์ทโฟน – แท็บเล็ตเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พ่อ-แม่หลายคนเต็มใจซื้อสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตให้ลูก เพราะคิดว่าลูกจะได้มีความรู้ เป็นเด็กทันสมัย ลูกจะได้มีกิจกรรมทำเวลาว่าง ซึ่งเหตุผลที่ยกมาก็ต้องบอกว่าพ่อ – แม่คิดไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะแท็บเล็ตแม้จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ดีๆ ที่เด็กสามารถค้นหาได้จากในอินเตอร์เน็ต มีโปรแกรมดีๆ ที่ใช้ฝึกความรู้ของเด็กๆ ได้ แต่เรื่องที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นอันตรายต่อเด็กก็มีซ้อนเร้นอยู่มากไม่แพ้กัน การปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเราจะวางใจได้อย่างไรว่าเด็กจะไม่ถูกสิ่งที่ไม่ดีทำร้าย? เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากเกินไป จะส่งผลให้กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย นอกจากนี้ยังทำให้ขาดปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหา ขาดการคิดไตร่ตรองในการวิเคราะห์ข้อมูล บางคนก็มีปัญหาในเรื่องทักษะการพูด การสื่อสารกับผู้อื่น เด็กบางคนติดมากจนไม่ยอมกินข้าว ไม่ทำกิจกรรมอื่น ในระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพทั้งเรื่องของสายตา นิ้วมือ ข้อมือ การควบคุมการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกับเด็กๆ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อ – แม่ ควรมีการกำหนดเวลาในการใช้ให้กับเด็กๆ ไม่ควรเกินวันละ 1 – 2 ชั่วโมง เวลาที่เด็กใช้ควรอยู่ในสายตาของพ่อ – แม่ ถ้าเป็นไปได้พ่อ – แม่ควรเล่นไปพร้อมกันกับเด็ก คอยสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี สอนให้เด็กรู้ว่าอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และโซเชียลมีเดียมีอะไรบ้าง -ประเทศไทยมีผู้ใช้ facebook สูงถึง 28 ล้านคน หรือคิดเป็น 42% ของประชากรทั้งประเทศ -ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ facebook มากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยอันดับ 1 คือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จำนวน 180 ล้านราย -โซเชียลมีเดีย 3 อันดับยอดนิยมของคนไทย คือ 1.facebook 28 ล้านราย, 2.instagram 1.7 ล้านราย และ 3.twitter  4.5 ล้านราย -สิ่งคนไทยนิยมใน facebook มากที่สุดคือ  โพสต์รูปภาพ 57% รองลงมาคือ เช็คอิน 33% โพสต์พร้อมลิงค์ 21% วิดีโอ 3% และ โพสต์สถานะเฉยๆ 2% ที่มา : ข้อมูลจากงาน Thailand Zocial Awards 2014 โดย Zocial inc

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point