ฉบับที่ 202 รากนครา : เบ้าหลอมจิตสำนึกแห่งชาติบ้านเมือง

จิตสำนึกของบุคคลที่มีต่อสังคมนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่หรือจากสุญญากาศ หากแต่เกิดจากการหล่อหลอมขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลในแต่ละสังคม และถ้าเงื่อนไขมีที่มาต่างกันแล้ว การก่อตัวของจิตสำนึกทางสังคมที่คนแต่ละคนมีอยู่ก็คงแตกต่างกันตามไปด้วย และไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเงื่อนไขทางสังคมทำหน้าที่ไม่ต่างจากเบ้าหลอมที่ก่อรูปก่อร่างจิตสำนึกของบุคคลแล้ว หากเบ้าหลอมดังกล่าวเปลี่ยน จิตสำนึกของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน ตัวอย่างภาพแห่งการหลอมหล่อจิตสำนึกแบบนี้ ปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์ “รากนครา” กับภาพสะท้อนชีวิตและจิตสำนึกแห่งชาติบ้านเมืองของตัวละครอย่าง “แม้นเมือง” บุตรสาวที่ทั้งสวยและเฉลียวฉลาดของ “เจ้าหลวงแสนอินทะ” เจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงเงิน ในท่ามกลางบรรยากาศที่ลัทธิการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตกเป็นภัยคุกคามอาณาจักรบ้านพี่เมืองน้องทั้งหลายในดินแดนแถบล้านนาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชีวิตของแม้นเมืองก็มีเหตุต้องโคจรมาอยู่ในวังวนความสัมพันธ์กับตัวละครอีกสามคน ที่มีระบบคิดและจิตสำนึกแตกต่างกันไปคนละทิศคนละทาง เริ่มต้นจากตัวละครแรกคือพี่ชายของแม้นเมืองเอง หรือ “หน่อเมือง” ตัวอย่างของชายผู้สะท้อนให้เห็นจิตสำนึกที่ไม่เพียงแต่เป็นความรักในแผ่นดินบ้านเมือง หากแต่ยังเป็นความรักชาติแบบ “ชาตินิยมที่สุดขั้ว” จนสามารถนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้ในตอนท้ายเรื่อง เพราะถูกหล่อหลอมความคิดมาจากทั้งเจ้าหลวงแสนอินทะผู้เป็นบิดา และมี role model เป็น “เจ้าอุปราชสิงห์คำ” ผู้มีศักดิ์เป็นอา หน่อเมืองจึงบ่มเพาะจิตสำนึกรักชาติแบบสุดโต่ง จนบางนัยก็ดูไม่ต่างจากเป็นพวก “คลั่งชาติคลั่งบ้านเมือง” ซึ่งยึดมั่นในความคิดที่ว่า “จงอย่าถามเลยว่า ชาติบ้านเมืองจะมอบอะไรให้กับเรา แต่จงถามตัวเองว่า เราจะทำอะไรให้แก่ชาติบ้านเมืองบ้าง” โดยไม่สนใจต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวแต่อย่างใด ตัวละครถัดมาก็คือ พระเอกของเรื่องหรือ “ศุขวงศ์” บุตรชายของ “เจ้าราชบุตรศุษิระ” แห่งนครเชียงพระคำ แม้ว่าศุขวงศ์จะมีสำนึกรักแผ่นดินบ้านเกิด แต่เขาก็คิดต่างออกไปจากหน่อเมืองว่า ท่ามกลางคลื่นพายุของลัทธิอาณานิคมที่ซัดกระหน่ำถาโถมอยู่นั้น ชาติบ้านเมืองมิอาจคงอยู่โดยไม่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย เนื่องจากเบ้าหลอมความคิดของศุขวงศ์มาจากการที่เขาได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่สิงคโปร์หลายปี และเคยรับราชการในราชสำนักสยาม ศุขวงศ์จึงเห็นโลกที่กว้างออกไปกว่าแค่กำแพงนครเชียงพระคำบ้านเกิด และทางเดียวที่เขาเชื่อว่าจะทำให้ดินแดนล้านนาอยู่รอดจากการเป็นเมืองขึ้นได้ ก็ต้องปรับตัวและอาศัยการพึ่งบารมีของสยามเพื่อคานอำนาจของชาติจักรวรรดินิยม ส่วนตัวละครสุดท้ายก็คือน้องสาวของแม้นเมือง หรือ “มิ่งหล้า” ที่มีวิธีคิดแตกต่างไปจากบรรดาพี่ๆ โดยสิ้นเชิง เพราะเธอถูกอบรมสั่งสอนมาจาก “เจ้านางข่ายคำ” ผู้เป็นมารดา ที่ทั้งทะเยอทะยานและต้องการให้บุตรสาวเป็นอันดับหนึ่งเดียวของดินแดนล้านนา แม้จะมีสำนึกรักชาติและแผ่นดินแบบที่บิดาปลูกฝังมาให้ แต่มิ่งหล้าก็กลับมีโลกทัศน์ที่ต่างจากหน่อเมืองออกไปว่า “จงอย่าถามเพียงแค่ว่าเราจะทำอะไรให้กับชาติบ้านเมือง แต่จงถามด้วยว่าชาติบ้านเมืองพึงจะทำอะไรให้กับเราบ้าง”  ดังนั้น เมื่อมิ่งหล้าที่ต่อสู้เพื่อหัวใจอันมีจิตปฏิพัทธ์ต่อศุขวงศ์แต่กลับถูกบิดาส่งตัวไปถวายตัวเป็นนางสนมของ “กษัตริย์เมืองมัณฑ์” ด้านหนึ่งมิ่งหล้าก็จำใจทำเพื่อบ้านเมืองที่จะผูกสัมพันธ์ระหว่างเชียงเงินกับเมืองมัณฑ์ แต่อีกด้านหนึ่ง เธอก็ทะยานอยากที่จะขึ้นเป็นเจ้านางหลวงแข่งบารมีกับ “เจ้านางปัทมสุดา” ด้วยเหตุผลว่า ถ้าทำเพื่อชาติบ้านเมืองแล้ว เธอก็ควรจะได้อำนาจยศศักดิ์เป็นราคาตอบแทน โดยไม่สนใจว่านั่นจะทำให้เธอต้องทุกข์ทรมานจนเกือบปางตายในตอนจบก็ตาม ชะตากรรมของตัวละครทั้งสามที่ผูกโยงเอาไว้รอบตัวของแม้นเมืองนี้เอง เป็นประหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้แม้นเมืองได้ก่อรูปก่อร่างจิตสำนึกทางสังคมที่มีต่อชาติบ้านเมืองขึ้นมา เนื่องจากเติบโตมาในขอบขัณฑ์ของเชียงเงินที่บิดากล่อมเกลามาตั้งแต่วัยเยาว์ แม้นเมืองจึงมีสำนึกรักชาติบ้านเมืองอย่างเข้มข้น พลันที่เธอได้พบเจอรู้จักกับ “มิสเตอร์จอห์น แบร็กกิ้น” ที่เป็นคนอังกฤษผิวขาวหรือเป็นพวก “กุลาขาว” แม้นเมืองก็แสดงออกถึงอาการกระอักกระอ่วนที่ต้องมาสังเสวนากับคนต่างเผ่าต่างถิ่นอย่างเห็นได้ชัด แต่เพราะเธอเองก็แตกต่างจากพี่ชาย ด้วยเป็นหญิงที่รักการอ่านหนังสือเป็นอาจิณ แม้นเมืองจึงมิได้คลั่งชาติคลั่งแผ่นดินหรือเชื่อว่าเชียงเงินเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และยิ่งเมื่อเธอได้แต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงพระคำ โลกที่กว้างขึ้นกว่าแค่ตัวหนังสือ ก็ยิ่งทำให้แม้นเมืองค่อยๆ เห็นว่า โลกที่กว้างใหญ่นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเราเองก็มิอาจหลีกเลี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงไปได้เลย เพราะเบ้าหลอมที่ก่อตัวขึ้นมาผสมผสานกับประสบการณ์ที่สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ของโลกรอบตัว เมื่อแม้นเมืองต้องมายืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของจิตสำนึกต่อบ้านเมืองที่ต่างกันของคนสามคน เธอจึงเหมือนอยู่ในภาวะที่ “คราวนี้ทำใจลำบาก” เพราะถูกชักเย่อระหว่างขั้วประจุความคิดที่ลากกันอยู่ไปมาบนทางสามแพร่ง ดังคำพูดในฉากท้ายเรื่องกับน้องสาวก่อนที่แม้นเมืองจะตัดสินใจยอมรับความตายแทนศุขวงศ์สามีผู้เป็นที่รักว่า “ถ้ามองด้วยเหตุผลส่วนตัว ข้างหนึ่งก็คือพ่อ พี่ บ้านเมือง ภาระหน้าที่ ความเชื่อ และความหวังทั้งหมดที่เคยมีเคยหล่อหลอมตัวตนความคิดของเรา...และอีกฝั่งหนึ่งก็คือผู้ชายคนเดียวในชีวิตที่รักเขา...แต่เป็นเพราะโลกของพี่กว้างขึ้น มีความจริงใหม่ๆ ให้พี่ได้เรียนรู้ และมีความเปลี่ยนแปลงมากมายให้พี่ได้พบ พี่ก็มีทางออกที่จะขออุทิศชีวิตเพื่อชดใช้ให้ทุกเรื่องและทุกคน” หาก “รากนครา” เป็นเสมือนภาพจำลองของสำนึกแห่งชาติบ้านเมืองที่อยู่ในท่ามกลางแรงกระหน่ำจากความเปลี่ยนแปลงภายนอก และหากเราต้องมายืนเป็นตัวละครแม้นเมืองที่อยู่ท่ามกลางขั้วความคิดที่แตกต่างและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คำถามก็คือ ปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ จะหลอม “ราก” ก่อตัวจิตสำนึกแห่งชาติและ “นครา” กันขึ้นมาเยี่ยงไร

อ่านเพิ่มเติม >