ฉบับที่ 270 ‘บัญชีรายรับ-รายจ่าย’ ทำเถอะ ดีต่อเงินของเรา

        คนที่เริ่มศึกษาการจัดการการเงินส่วนบุคคล เรื่องแรกๆ ที่มักได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินหรือหนังสือหนีไม่พ้นการรู้จักตนเอง การวางเป้าหมาย บลาๆๆ และที่ขาดไม่ได้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะรู้สึกยุ่งยาก ไม่เข้าใจ แล้วก็ชอบลืม         ก็แค่ใช่จ่ายประหยัดๆ กับแบ่งเงินไปออม ไปลงทุนไม่ได้รึไง? ได้ แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เวลาที่บอกว่าใช้จ่ายประหยัดบางทีก็ไม่รู้ว่าเราประหยัดจริงหรือเปล่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไรบ้าง เอาเงินไปออมแล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ         บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเลยคล้ายๆ งบการเงินของบริษัทที่คอยบอก คอยเตือนเราว่าตอนนี้ใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยเยอะไปแล้ว ตอนนี้สภาพคล่องเหลือเฟือจะทำยังไงกับเงินที่เหลือดี เป็นต้น มันคอยช่วยบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราว่ายังอยู่ในลู่ในทางที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของเราหรือเปล่า         ปัญหาต่อมาคือแล้วจะทำบัญชียังไง อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องไปเลือกว่าแอปไหนเหมาะกับตัวเอง         เรื่องที่ต้องรู้คือรายรับ-รายจ่ายต่างหาก เราต้องรู้ว่ารายรับในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อะไรไม่ใช่รายรับ ตรงกันข้ามแล้วรายจ่ายล่ะคืออะไร อย่าสับสนเป็นอันขาด เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นตัวช่วยบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ         ยกตัวอย่าง คุณคิดว่าเงินออมเป็นรายรับหรือรายจ่าย เอาล่ะสิ ถึงตรงนี้ชักเริ่มสับสน เงินที่เราเอาไปฝากธนาคารไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ก็ยังอยู่กับเรา มันก็น่าจะเป็นรายรับสิ ผิด มันคือรายจ่าย เพราะมันคือเงินสดที่เราจ่ายออกไปจากกระเป๋า เหมือนสมการที่นำเสนอกันว่า รายรับ-เงินออม-รายจ่าย=เงินคงเหลือ แม้เงินออมจะไม่ใช่รายจ่าย แต่ก็เป็นเงินที่เรานำออกไปและมีผลต่อสภาพคล่อง         แล้วถ้าเดือนนั้นเราใช้จ่ายมือเติบ ชักหน้าไม่ถือหลัง เลยยืมเงินเพื่อนมา อันนี้ถือเป็นรายรับที่เข้าเพิ่มสภาพคล่องซึ่งมีภาระต้องจ่ายคืนทีหลัง แล้วตอนที่จ่ายคืนนั่นแหละมันคือรายจ่าย         ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET แบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร 3 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เฉลย         ลองไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดู ในเว็บยังแนะนำวิธีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย รู้แล้วก็ทำซะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กลับมาฝึกจดบันทึกรายรับรายจ่ายกันดีกว่า

หลายวันก่อนผู้เขียนแอบเห็นเพื่อนคนหนึ่งในเฟส แชร์รูปภาพวิธีการเก็บออมเงิน โดยให้แต่ละวันลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย อย่างเช่น การซื้อกาแฟ การรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น พออ่านแล้วรู้สึกว่าข้อความนี้ใช่เลย เพราะคนรอบข้างที่รู้จักส่วนใหญ่ จะเสียเงินไปกับกาแฟแก้วละร้อยกว่า และนิยมรับประทานบุฟเฟ่ต์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี ตามสไตล์คนอินเทรนด์ พูดถึงความเป็นจริงของการออมเงินในแต่ละเดือนกันดีกว่า มนุษย์เงินเดือนที่ต้องใช้จ่ายเงินในแต่ละวันที่มีราคาสูงขึ้นๆ ในปัจจุบัน จะมีสักกี่คนที่มีภาระค่าใช้จ่ายประจำจะสามารถออมเงินได้ทุกเดือน สุดท้ายก็ได้แค่พยายามควบคุมการใช้เงินในแต่ละเดือนไม่ให้เงินถูกควักไปอยู่ตามแก้วกาแฟ มื้ออาหารเสื้อผ้า รองเท้า และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างน้อยการบริหารเงินเพื่อให้สมดุลในแต่ละเดือนก็ช่วยให้พ้นจากการเป็นหนี้ที่จะสมทบไปเดือนต่อไปได้บ้าง  การจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยบริหารจัดการเงินได้เช่นกัน และเมื่อเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเข้ามา เราก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์การจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น วันนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นการบันทึกรายรับรายจ่ายเพื่อใช้ในการบริหารเงิน 2 แอพพลิเคชั่น 1. แอพพลิเคชั่น  Weple Money เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ง่าย พอเข้าไปในแอพพลิเคชั่นนี้ จะปรากฏปฏิทินเดือนนั้นๆ โดยเราสามารถเลือกมุมมองว่าจะให้ปรากฏเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายวัน   กรณีที่เป็นรายเดือน เพียงคุณแตะวันที่ต้องการจดบันทึกค่าใช้จ่าย อย่างเช่น คุณรับเงินเดือนวันที่ 15 เดือนมิถุนายน คุณแตะที่วันที่ 15 ของเดือนมิถุนายน แล้วกรอกรายรับ และถ้าในวันนั้นคุณมีรายจ่าย ก็สามารถกรอกเพิ่มไปเรื่อยๆ จนครบรายการของวันนั้น แอพพลิเคชั่นจะคำนวณโดยการหักลบค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน ทำให้คุณทราบว่าคุณเหลือเงินจำนวนเท่าไรในวันปัจจุบัน 2. แอพพลิเคชั่น CoinKeeper หน้าตาของแอพพลิเคชั่นนี้จะไม่เป็นปฏิทิน แต่จะเน้นสีสันไอคอน ที่แยกออกเป็นประเภทของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่น ค่าอาหาร  ค่ารถโดยสาร  ค่าช้อปปิ้ง  ค่าเช่าบ้าน  ค่าสังสรรค์ เป็นต้น โดยแบ่งส่วนของรายรับเป็นเงินในกระเป๋า และเงินในธนาคาร อย่างแรกจะต้องไปตั้งตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายของเดือนนี้ในแต่ละประเภทการใช้จ่ายไว้ให้เรียบร้อยก่อน  เมื่อมีค่าใช้จ่ายจริงเกิดขึ้น ก็ให้แตะไปที่ไอคอนประเภทนั้น เพื่อกรอกตัวเลข ระบบจะคำนวณโดยการหักลบค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน ซึ่งจะปรากฏอยู่บนสุดของแอพพลิเคชั่นนี้ แอพพลิเคชั่นนี้ จะเพิ่มลูกเล่นของไอคอนด้วยการแบ่งแยกสีของปริมาณการใช้จ่าย ถ้ายังไม่มีการใช้จ่ายใดๆ ไอคอนจะปรากฏเป็นสีขาวธรรมดา เมื่อมีการใช้จ่ายจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวและจะเพิ่มสีขึ้นเรื่อยๆ ในไอคอนเมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ถ้าใช้จ่ายเกินจำนวนที่ตั้งใจไว้ ไอคอนนั้นจะกลายเป็นสีแดง แอพพลิเคชั่นทั้ง 2 แอพพลิเคชั่น มีรูปร่างหน้าตาคนละแบบ อยู่ที่จะเลือกใช้ หรืออาจจะลองใช้ทั้ง 2 แบบเลยก็ได้ การกลับไปจดบันทึกรายรับรายจ่าย เหมือนตอนที่คุณครูฝึกให้ทำตอนเด็กๆ สามารถช่วยเรื่องการบริหารเงินของเราได้จริงๆ  อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวตลอดว่าในกระเป๋ามีเงินมากน้อยแค่ไหนสำหรับการเลือกใช้จ่ายในแต่ละกิจกรรม และช่วยลดการใช้จ่ายที่เกินตัว ส่งผลให้เกิดหนี้ตามมา ถ้ายังบริหารเงินในกระเป๋าของตนเองไม่เป็น //

อ่านเพิ่มเติม >