ฉบับที่ 195 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2560เตรียมบังคับแท็กซี่ติดตั้งปุ่มฉุกเฉินและกล้องวงจรปิดเราได้เห็นข่าวคราวในแง่ลบของบริการแท็กซี่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในคราบคนขับแท็กซี่ หรือพนักงานขับรถที่พูดจาไม่ดี หรือแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสมกับผู้โดยสาร แม้จะมีหน่วยงานให้ร้องเรียนอย่างกรมขนส่งทางบก แต่ก็ดูเหมือนปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกล่าสุดปัญหานี้น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง(หรือไม่) เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการหารือเรื่องความคืบหน้าการจัดระเบียบแท็กซี่ โดยเตรียมประกาศใช้กฎกระทรวงที่จะบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันต้องติดตั้งระบบจีพีเอส ติดตั้งกล้องซีซีทีวีภายในรถ และมีปุ่มกดฉุกเฉินสำหรับผู้โดยสาร เพื่อส่งข้อมูลเข้ามายังศูนย์ควบคุมที่จะมีการตั้งขึ้นเพื่อบริการผู้โดยสารแท็กซี่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค.2560 นี้เป็นต้นไป โดยรถแท็กซี่ใหม่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กำหนดไว้ทันทีก่อนนำมาให้บริการ ส่วนแท็กซี่ที่ใช้มาแล้ว 3-6 ปี จะขยายเวลาติดตั้ง 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนแท็กซี่เก่าที่กำลังจะถูกปลดระวางภายใน 1-2 ปี จะได้รับการยกเว้น“อาหารเสริม” – “กาแฟลดน้ำหนัก” แอบใส่ยาอันตรายเพียบใครที่ชอบกินกาแฟลดน้ำหนัก ระวังให้ดี เพราะมีผลทดสอบยืนยันแล้วว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันที่อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร โดยเฉพาะในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งพบเห็นมีการจำหน่ายอยู่มากมายตามสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง โดยผลการตรวจสอบพบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของยากลุ่มที่รักษารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 นอกจากนี้ยังพบทั้งยาลดความอ้วน (ร้อยละ 13.7) และกลุ่มยานอนหลับ (ร้อยละ 0.5)ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง ก็พบกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศทั้งแบบยาชนิดเดียวและสองชนิดรวมกัน มากถึงร้อยละ 42.9 รวมทั้งกลุ่มยาลดความอ้วน ยาระบาย และยาลดความยากอาหาร นอกจากนี้ยังพบกลุ่มยาอันตรายอย่าง สเตียรอยด์ และ ไซบูทรามีน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่มีผลทางการบำบัด บรรเทา หรือรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ทั้งสิ้น อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจึงถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผิดกฎหมาย รวมทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่รับประทาน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้หัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก ความดันโลหิตสูง ส่วน ไซบูทรามีน ที่เป็นสารอันตราย แต่ผู้ผลิตที่ไม่หวังดีชอบเอามาใส่ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ทำมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ใช้ “รีเทนเนอร์” เถื่อนเสี่ยงติดเชื้ออันตรายถึงชีวิตอย.ฝากเตือนถึงคนที่กำลังคิดจะใส่เครื่องมือที่ช่วยรักษาสภาพฟันหลังการจัดฟัน หรือ“รีเทนเนอร์” (Retainer) ต้องได้รับบริการจากทันตแพทย์เท่านั้น โดยทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟันของผู้ป่วยและส่งข้อมูลของผู้ป่วยให้ผู้ผลิต ผลิตรีเทนเนอร์ออกมาเพื่อให้ตรงกับสภาพฟันของผู้ป่วย เพราะเรื่องในช่องปากเป็นเรื่องเฉพาะคน จึงต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ตรวจและหล่อบล็อกออกมาเฉพาะคนหลังจากเกิดดราม่าบนโลกออนไลน์กรณีที่ “จ๊ะ อาร์สยาม” หรือ น.ส.นงผณี มหาดไทย นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง รับบริการทำรีเทนเนอร์โดยตรงกับแฟนคลับ ที่อ้างว่ามีใบอนุญาตผลิตรีเทนเนอร์ จึงหลงเชื่อให้แฟนคลับคนดังกล่าวพิมพ์ฟันให้และช่วยโปรโมตร้านผลิตรีเทนเนอร์ ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ร้านดังกล่าวมีใบอนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์จริง แต่เป็นเพียงการผลิตฟันปลอม ไม่ครอบคลุมถึงรีเทนเนอร์นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจะผลิตรีเทนเนอร์ให้คนไข้หรือคนจัดฟันใส่นั้น ผู้ผลิตจะต้องผลิตตามใบสั่งของทันตแพทย์เท่านั้น ส่วนที่มีการโฆษณารับทำรีเทนเนอร์ทางโซเชียลมีเดีย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรม ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เฉพาะผู้มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมเท่านั้นที่สามารถจะพิมพ์ฟันได้ และต้องทำภายในสถานพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมเท่านั้นสคบ.สั่ง “กระทะโคเรียคิง” หยุดโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคสคบ.สั่ง “กระทะโคเรียคิง” หยุดโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยการใช้ข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดให้ผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิงที่ต้องการขอคืนสินค้าและขอคืนเงินสามารถแสดงความจำนงเข้ามาเพื่อร่วมดำเนินการตามกฎหมายในการฟ้องคดีแบบกลุ่มกระแสดราม่ากระทะโคเรียคิง จุดเริ่มต้นมาจากที่มีคนไทยไปพบกระทะยี่ห้อดังกล่าววางจำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ในราคาที่ตีเป็นเงินบาทแล้วแค่ 600 บาท แต่ในเมืองไทยกลับจำหน่ายอยู่ที่ราคาสูงถึง 2,000 กว่าบาท แถมในโฆษณายังมีการอ้างว่าเป็นราคาที่ลดลงมาจากราคา 30,000 กว่าบาท ซึ่งนอกจากความสงสัยของผู้บริโภคในเรื่องของราคาแล้ว ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มขึ้นในเรื่องของคุณสมบัติของกระทะ ทั้งเรื่องการเคลือบผิวกระทะ 8 ชั้น การใช้หินอ่อนเคลือบกระทะ ตามที่ระบุในโฆษณาสคบ.จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการและสถาบันด้านการทดสอบ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของกระทะโคเรียคิง ซึ่งจากการทดสอบพบว่า 1.เนื้อกระทะทำมาจากอะลูมิเนียมเสริมเหล็ก 2.เนื้อกระทะเคลือบด้วยพอลิเมอร์ และ 3.ตรวจสอบดูชั้นเคลือบของกระทะ พบว่าไม่ได้มี 8 ชั้น และไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะเป็นที่มาให้ สคบ.มีคำสั่งให้กระทะโคเรียคิงชะลอการโฆษณา เนื่องจากมีการใช้ข้อความไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 และ พรบ.ขายตรง 2545 ซึ่งขณะนี้ พบว่า โฆษณามีลักษณะจูงใจ เช่นการใช้คำว่า กระทะโคเรียคิงมีความลื่นไหลกว่า 300% หรือ 3 เท่า เคลือบ 8 ชั้น หรือ กำหนดเงื่อนไขราคาที่สูงแต่ขายจริงในราคาต่ำ ไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่มาของราคา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีผลต่อการจูงใจผู้บริโภค แต่ทว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิงแล้วต้องการขอคืนสินค้าและขอคืนเงิน โดยการยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีแบบกลุ่ม สามารถส่งหลักฐานการซื้อกระทะโคเรียคิง เช่น ใบเสร็จการซื้อ หลักฐานการโอนเงินสั่งซื้อ และสำเนาบัตรประชาชน ได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือทางอีเมล์ complaint@comsumerthai.org       

อ่านเพิ่มเติม >