ฉบับที่ 266 จะไปซับพอร์ตนักร้องคนโปรด เจอผู้จัดโหดซะงั้น

        แฟนคลับนักร้องเกาหลีกลุ่มหนึ่งร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า คอนเสิร์ต Mark TUAN the other side Asia Tour 2023 ซึ่งจัดที่ กรุงเทพฯและขอนแก่น (มาร์ก ต้วน เป็นหนึ่งในสมาชิกก็อตเซเวน บอยแบนด์เกาหลีใต้) ที่พวกเขาได้จ่ายเงินจองตั๋วไปนั้น ผู้จัดงานประกาศเปลี่ยนผังเวทีกะทันหัน อ้าวเฮ้ย... ที่จองและจ่ายเงินกันแพงๆ ก็เพราะอยากจะอยู่ในโซนที่พร้อมฟินกับนักร้องนะเฮ้ย ทำกันแบบนี้ได้อย่างไรละเมิดสิทธิกันชัดๆ         น้องแพรวหนึ่งในกลุ่มคนที่เสียหายไม่พอใจการทำงานของผู้จัดคอนฯ มาก จึงรวมตัวนับร้อยคนมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลว่า ตนเองและเพื่อนซื้อบัตรคอนฯ รอบการเปิดขายบัตรรอบปกติวันแรก 2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นบัตรราคา 6,500 บาท ซึ่งเป็นบัตรยืนและจะได้ใกล้ชิดศิลปินแบบติดขอบเวที แต่พอวันที่ 4 เมษายน บริษัทผู้จัดงานกลับประกาศเปลี่ยนผังเวทีใหม่ ซึ่งผังเวทีใหม่นี้ทำให้ผู้ซื้อบัตรราคา 6,500 บาท ถูกร่นมาอยู่ด้านข้างแต่ผู้ซื้อบัตรราคา 5,500 บาท กลายเป็นผู้ที่ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ชิดกับศิลปินแทน (บัตรราคาข้างต้นเป็นรอบการแสดงที่จะจัดที่กรุงเทพฯ 5-7 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี)         ดังนั้นพวกเขาจึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเหลือ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะที่ตัดสินใจซื้อบัตรราคาแพง เพราะผังเวทีเป็นตัวจูงใจได้ใกล้ชิดศิลปิน แต่ผู้จัดเวทีกลับมาเปลี่ยนผังเวทีเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา กลายเป็นว่าคนที่ซื้อตั๋วราคาแพง “ได้เห็นแต่ก้นของศิลปิน” แต่คนซื้อตั๋วราคา 5,500 บาท กลับได้อยู่ได้อยู่หน้าเวทีแทน ทั้งที่การจะจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งต้องผ่านการพูดคุยกับศิลปินและทีมงานจากต่างประเทศจนเบ็ดเสร็จหมดแล้วจึงค่อยเปิดขายตั๋วแต่นี่กลับมาลักไก่ทำแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การซื้อตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่พบว่า ผู้บริโภคโดนละเมิดสิทธิมากขึ้นโดยเฉพาะความไม่พอใจที่เกิดจากผู้จัดคอนเสิร์ตไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุในการขายตั๋วได้ เมื่อรับเรื่องราวจากผู้บริโภคแฟนคลับนักร้องดังท่านนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงช่วยเหลือด้วยการช่วยเจรจากับผู้จัดคอนเสิร์ต Mark TUAN ( มาร์ก ต้วน ) ให้ผู้ซื้อบัตรที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่ สามารถแจ้งเรื่องเพื่อรับเงินคืนได้         โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหาย โดยสอบถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยนผังเวทีโดยไม่แจ้งลูกค้าล่วงหน้า ทางเจ้าหน้าที่ของ brite_panther ที่เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตอ้างว่า การจัดผังเวทีใหม่เป็นความต้องการของ Mark TUAN ที่ต้องการให้ใกล้ชิดศิลปินมากยิ่งขึ้น ทั้งจากเวทีกรุงเทพฯ และขอนแก่น จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นข้อเสนอให้ผู้จัดฯ ควรออกประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อตั๋วที่ไม่พอใจกับผังเวทีใหม่ซึ่งทางผู้จัดฯ รับปากดำเนินการ         ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2566 ผู้จัดฯ ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก Brite Panther โดยระบุข้อความว่า จากผลกระทบของการปรับผังเวทีต่อความรู้สึกของแฟนคลับที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพและบัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE HALL) ทางผู้จัดได้มีการเปิดให้ผู้ประสงค์จะขอคืนเงิน ผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/2EBm5cTUdGQBjgnN8 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. นอกจากนี้ หากมีความประสงค์จะอัพเกรดที่นั่งผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/SHnC1Q29msDCYsoB9 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. ทั้งนี้ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนทำรายการ         อย่างไรก็ตามผู้จัดฯ ระบุเงื่อนไขการคืนเงินต้องไปดำเนินการ ที่เซเว่น-อีเลฟเว่น เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ทำไมไม่ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ของผู้ซื้อโดยตรง เพราะบางคนมีที่พักอยู่ไกล เช่น ในต่างจังหวัด ที่สำคัญการจัดทำผังเวทีหรือรูปแบบใดของการจัดคอนเสิร์ตต้องดำเนินการให้เบ็ดเสร็จและรอบคอบก่อนเปิดขายบัตรไม่ใช่มาเปลี่ยนรายละเอียดระหว่างทาง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและที่สำคัญการแจ้งให้ผู้คืนบัตรคอนเสิร์ตต้องมาลงทะเบียนผ่านช่องออนไลน์ อาจรับรู้ไม่ครอบคลุมทุกคนเพราะผู้ซื้อบัตรที่เป็นผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กและ ทวิตเตอร์มีน้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ใครบ้าง มีสิทธิร้องศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

เรื่องน่าสนใจคราวนี้เกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับคดีหลังศาลมีคำพิพากษากันนะครับ  หลายคนอาจไม่ทราบ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะหากวันหนึ่งเราตกเป็นลูกหนี้ แล้วถูกฟ้อง จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับผิด เราจะถูกบังคับคดี ซึ่งเราก็ควรรู้ขั้นตอนการบังคับคดีของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ ซึ่งในตอนนี้เป็นคดีที่มีผู้ร่วมรับผิดมากกว่าหนึ่งราย รู้ไว้เผื่อต้องใช้สิทธิต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้นะครับ   โดยประเด็นที่หยิบยกมาเล่า เป็นคดีที่มีเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยสี่คนร่วมรับผิดใช้เงิน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระเงิน หากผิดนัดยอมให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดที่ดินเพื่อนำออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 131 แปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศเรื่องการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้องรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือ ขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งต่อมาคดีนี้ได้ขึ้นสู่ศาลฏีกา โดยมีประเด็นที่ศาลฏีกาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 3 ทราบ และมีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่  โดยศาลฏีกาได้ตัดสินว่า กรณีมีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้น ที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1   ก็ตาม ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มีเหตุเพิกถอน ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 19419/2557คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19419/2557 คำร้องของจำเลยที่ 3 ระบุชัดว่าประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้ตนทราบ เท่ากับเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะจำเลยที่ 3 เห็นว่าเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเห็นได้ว่าในมาตราดังกล่าว กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้เจ้าของหรือผู้มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ยึดได้ทราบถึงการขายทอดตลาดเท่านั้น หมายความว่า หากมีกรณีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้นที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ ด้วยเหตุนี้ ความในมาตรา 306 จึงบัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียน มิได้หมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในวิธีบังคับคดีตามมาตรา 280 แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 รับมาในคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งทราบได้จากเอกสารท้ายคำร้องและเอกสารในสำนวนว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ก็ตาม ผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องแจ้งวัน เวลา และสถานที่ในการขายทอดตลาดจึงมีเพียงจำเลยที่ 1 ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ถูกคิดค่าไฟย้อนหลัง

คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งเรื่องการปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้าให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งได้มีการคิดค่าบริการย้อนหลัง 6 เดือนเป็นจำนวนเงิน 2,733 บาท แต่เมื่อเธออ่านรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจเกิดจากการตั้งค่าอ่านมาตรวัดไฟฟ้าผิดพลาด หรือการเปลี่ยนมาตรวัดใหม่ของทางการไฟฟ้าเอง ซึ่งคุณสมใจสงสัยว่าทำไม เธอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำไมไม่เป็นเรื่องที่เกิดจากความบกพร่องของการไฟฟ้าเอง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ขอรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบิลค่าไฟย้อนหลัง 6 เดือนที่ผู้ร้องชำระไปแล้ว และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าที่อยู่อาศัยของผู้ร้องจัดอยู่ในประเภท 1115 หรือ บ้านที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก โดยมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน เพราะเหตุใดจึงต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง ภายหลังทางการไฟฟ้าฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟใหม่ให้ที่บ้านของผู้ร้องจริง เนื่องจากมิเตอร์เดิมเกิดการเสื่อม จากอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ซึ่งทำให้มีการชำรุดและหมุนผิดปกติ โดยหลังการเปลี่ยนมิเตอร์ก็ได้แจ้งให้ทางบ้านของผู้ร้องรับทราบไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยการแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เมื่อผู้ร้องได้รับคำชี้แจงดังกล่าว ทางผู้ร้องยินดีชำระค่าบริการย้อนหลัง และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สิทธิของผู้ซื้อบ้าน กรณีเจอบ้านชำรุดบกพร่อง

ในชีวิตคนเรา ไม่ว่าใครก็ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง หรือบางท่านก็ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นเรือนหอ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังหนึ่งราคาไม่ใช่น้อยๆ  ต้องเก็บเงิน ทำงานทั้งชีวิตกว่าจะได้มา ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวคู่รักชาวเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยเหลือ หลังซื้อบ้านใหม่ราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือนหอ แต่ยังไม่ทันเข้าอยู่ กลับมีสภาพเหมือนโรงเพาะเห็ด  เมื่อมาเจอปัญหาซื้อบ้าน แต่ได้บ้านที่มีเห็ด มีเชื้อราขึ้นทั่วบ้าน ใครจะกล้าอยู่  จ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องการบ้านที่ดี สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่เหมือนคนอื่นๆ    เรื่องของการซื้อขายบ้าน คนขายไม่ใช่เพียงแต่ขายบ้าน รับเงินแล้วจบ  แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบบ้านในสภาพที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงด้วย  หากส่งมอบบ้านมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย พบว่าบ้านมีเห็ด มีเชื้อราขึ้น สอบถามจนทราบว่าเกิดจากความชื้นจากใต้ดิน ทำให้บ้านเกิดเชื้อรา แบบนี้ถือว่า บ้านที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคนั้น เกิดความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ กล่าวคือ บ้านซื้อมาประโยชน์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกหลายสิบปี แต่กลับใช้อาศัยไม่ได้ ไม่ปลอดภัยเพราะมีแต่เชื้อโรค บ้านปกติเขาไม่เป็นแบบนี้  กรณีแบบนี้ ต่อให้ตรวจสอบก่อนรับมอบบ้าน ก็คงไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความชำรุดเสียหายที่เห็นเป็นประจักษ์ขณะส่งมอบบ้านกัน จะให้ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านรับผิดชอบคงไม่ได้ (ฏีกาที่   5584/2544, 17002/2555) โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อ เมื่อพบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายมีความชำรุดบกพร่องเช่นนี้ มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1.สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 472)2.สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กล่าวคือ ไม่ต้องชำระเงินค่าบ้านส่วนที่เหลือจนกว่าจะได้รับการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 488) 3.สิทธิบอก(ปัด)เลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย  รวมถึงเงินมัดจำ และให้ชำระหนี้บางส่วน (ถ้ามี) ( มาตรา 386 และ 391 )แต่อย่างไรก็ตามสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดนั้นก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดังนั้นในเบื้องต้น หากท่านรู้ว่าบ้านที่ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง มีความเสียหายส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำหนังสือแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เช่น ภายใน 15 วัน หากผู้ขายไม่รีบดำเนินการแก้ไข ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบทำเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิท หรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามา จึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้าน เป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ผู้บริโภคร้อง ถอดแผ่นป้ายโฆษณาปิดบังบริเวณกระจกหน้าต่างรถไฟโดยสาร ได้ไหม?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดบนรถไฟโดยสาร บางท่านอาจเคยสังเกต เวลาเรามองรถไฟจากภายนอกรถก็เห็นภาพป้ายโฆษณาสวยงามประดับอยู่ที่ตัวรถไฟโดยสาร แต่สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในรถไฟ อาจไม่รู้สึกดีด้วยเท่าไหร่ เนื่องจากแผ่นป้ายดังกล่าว เมื่อมองจากข้างในรถไฟจะมีลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านได้ ซึ่งบางครั้งเกิดอาการตาลาย เวียนหัวได้ หรือ จะมองหาป้ายบอกทาง ทิวทัศน์ต่างๆ ก็เห็นไม่ชัด ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงเจอกันนะครับ แล้วมันเป็นคดีสู่ศาลได้ยังไง เรามาดูกันครับเรื่องเกิดขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษเป็นประจำ ขึ้นรถไฟโดยสารขบวนด่วนพิเศษกรุงเทพ – เชียงใหม่ เขาเดินไปนั่งริมหน้าต่างของรถไฟที่มีแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวแปะอยู่ และมองออกไปข้างนอก ก็ไม่สามารถเห็นทิวทัศน์ข้างทางได้ชัดเจน แถมยังเกิดอาการตาพร่ามัว และคลื่นไส้ ระหว่างการเดินทาง หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภครายนี้ก็ทำหนังสือร้องทุกข์ไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากหน้าต่างผู้โดยสาร แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องว่าการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากกระจกหน้าต่างของตู้รถโดยสารทุกสายทั่วประเทศและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างรถตู้โดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนให้สะอาดต่อมา ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจาก ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 กำหนดหน้าที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องดูแลรักษาส่วนต่างๆ ของตู้รถไฟโดยสารของขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการทำบริการสาธารณะดังกล่าว เช่น ที่นั่ง ที่นอนของผู้โดยสาร รวมทั้งประตู หน้าต่างของรถโดยสารให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร และหน้าต่างรถโดยสารมิได้มีไว้เพียงเพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกรถเข้าไปภายในรถเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่นอกรถเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระแวดระวังภยันตรายที่อาจจะมีจากภายนอกรถอีกด้วย รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรถโดยสาร ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนมีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างรถตู้โดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาภายนอกรถโดยสารโดยยินยอมให้ติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสารได้ด้วย จึงเป็นการใช้หน้าต่างรถโดยสารแสวงหารายได้จนทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่างได้ตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารรถไฟทุกคันให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ( คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.231/2550)จากคดีตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า เรื่องใกล้ตัวเราบางครั้ง เราอาจมองข้ามไปทั้งที่มันก็เป็นปัญหากับเรา หลายท่านอาจเคยเกิดความเดือดร้อนรำคาญจากแผ่นป้ายโฆษณาลักษณะนี้ แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิของตนเองเหมือนผู้ฟ้องคดีรายนี้ ที่ทำหนังสือถึงหน่วยงานให้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด จัดการแก้ไข จนไปถึงขั้นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ผลคดีเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนที่ใช้บริการรถไฟโดยสารของไทย ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นปัญหาจากบริการสาธารณะ ไม่ใช่แค่รถไฟโดยสาร แต่รวมถึงรถตู้โดยสาร รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ฯลฯ แต่ปัญหานั้นจะลดลงหรือหายไปก็ต่อเมื่อมีคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เราต้องช่วยกันครับเพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 อาหารหมดอายุ

แม้เราจะเคยเสนอประเด็นเรื่องอาหารหมดอายุมาแล้วหลายครั้ง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั้ง 2 รายนี้กรณีที่หนึ่ง โยเกิร์ตหมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปาริชาติ เธอได้ซื้อโยเกิร์ตยี่ห้อหนึ่งจำนวน 2 แพ็ค จากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ในราคาที่ลดกระหน่ำเหลือเพียงแพ็คละ 7.50 บาท แต่ด้วยความเร่งรีบจึงทำให้เธอลืมตรวจสอบ ว/ด/ป หมดอายุของสินค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังนำมารับประทานจึงพบว่าสินค้าทั้ง 2 แพ็ค หมดอายุไปแล้ว ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยต้องการให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวรับผิดชอบที่นำอาหารหมดอายุมาวางจำหน่ายแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้สามารถอ้างอิงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง การจำหน่ายอาหารหมดอายุได้ว่า เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเตรียมเอกสารประกอบการร้องเรียน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน รูปถ่ายผลิตภัณฑ์ – ตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้หากมีอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียน สามารถไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้ และศูนย์ฯ จะช่วยทำหนังสือร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยตามข้อเสนอของผู้ร้อง ซึ่งภายหลังการเจรจาได้มีเสนอชดเชยผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียนกรณีที่สอง เบียร์หมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อเบียร์ต่างประเทศ จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุวันที่ผลิตว่าปี 2015 อย่างไรก็ตามภายหลังซื้อมาดื่ม เขาพบว่ามีอาการปวดท้องและท้องเสีย และเมื่อมาค้นหาข้อมูลเรื่องวันหมดอายุของเบียร์ก็พบว่า โดยปกติเบียร์ต่างประเทศจะมีอายุได้เพียง 1 ปีเท่านั้น ทำให้เขาคาดว่าเบียร์ดังกล่าวน่าจะหมดอายุไปแล้ว และเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดขึ้น จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องโทรศัพท์ไปสอบถามยังบริษัทผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องซื้อมามีอายุการบริโภคเท่าไร และหมดอายุไปแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าหมดอายุแล้วจริง แต่มีการนำสินค้ามาจำหน่ายจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค หรือหากพบว่าอาหารยังไม่หมดอายุแต่เสื่อมสภาพแล้วก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน เช่น ข้อมูลเอกสารผลิตภัณฑ์ ใบรับรองแพทย์ บันทึกประจำวัน มาให้ทางศูนย์ฯ ช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการฟ้องร้องต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย

แม้ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้การทวงหนี้มีความเป็นธรรมต่อลูกหนี้มากขึ้น โดยมีการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่างๆ แต่เราก็ยังพบว่าการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณยุพาเป็นหนี้บัตรเครดิต อิออน เนื่องจากการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยมียอดค้างชำระจำนวน 5,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องตกลงกับทางบริษัทว่าจะแบ่งผ่อนชำระ 2 งวด อย่างไรก็ตามภายหลังเธอไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามวันและเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ จึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทางบริษัทรับทราบและขยายเวลาให้เรียบร้อย แต่ไม่นานพนักงานของบริษัทก็มาทวงหนี้ถึงสถานที่ทำงาน ในขณะที่เธอกำลังทำงาน รวมทั้งโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ในเวลางานอีกด้วย ทำให้เธอรู้สึกอับอายและส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาว่าการทวงหนี้ด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ทวงหนี้ที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่ายว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดได้ ทั้งนี้ตาม พรบ. ดังกล่าวได้มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าหนี้ไว้ ดังนี้1.ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท- เปิดเผยความเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท - ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท2. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด- ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท- ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท- ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- แอบอ้างว่าเป็นการทวงถามหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใดๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ3. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด- เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 4. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด5. ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รถใหม่ขึ้นสนิม

รถขึ้นสนิมเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ทุกคนไม่ปรารถนา ยิ่งถ้าเป็นรถใหม่ด้วยแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าหลังซื้อรถมาได้ไม่กี่ปี แต่มีสนิมเกาะเสียแล้ว เราควรจัดการอย่างไรคุณสุชาติซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อฮอนด้า อย่างไรก็ตามหลังใช้งานตามปกติไป 1 ปี เขาก็พบว่าเกิดคราบสนิมขึ้นบริเวณภายในห้องเครื่องยนต์ ขอบประตูทั้ง 4 บานและรูระบายน้ำ จึงนำรถยนต์เข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการของยี่ห้อดังกล่าว เนื่องจากไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ภายหลังการซ่อมแซมและแก้ไข คุณสุชาติพบว่ารถยังคงเป็นสนิมทั้งในบริเวณเดิมและบริเวณใหม่ จึงนำรถเข้าศูนย์บริการอีกรอบ โดยครั้งนี้ทางศูนย์ได้เปลี่ยนประตูหน้าซ้าย-ขวา ทำสีและเคาะพ่นสี ในบริเวณที่เป็นสนิมให้หลายครั้ง แต่เมื่อเขานำรถกลับมาใช้งานก็ยังพบปัญหาสนิมเช่นเดิม เขาจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยมีข้อเสนอต่อบริษัทดังนี้1. ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด 2. ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้น เพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้สอยโดยปกติของผู้บริโภค 3. ขอให้ศาลห้ามบริษัทจำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้ห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย 4. ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการดำเนินการ เช่น รูปถ่ายบริเวณที่เกิดสนิม เอกสารการซื้อรถ และเตรียมออกหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องแจ้งว่า ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการแล้ว และไม่เกิดปัญหาสนิมขึ้นอีก นอกจากนี้ทางบริษัทได้เพิ่มการรับประกันคุณภาพเฉพาะสีและตัวถัง(กรณีเกิดสนิม) โดยนับจากวันส่งมอบรถใหม่ จากเดิม 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เป็น 5 ปีแล้ว จึงไม่ติดใจร้องเรียนต่อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รักษาไม่หาย

หลายคนเมื่อไม่สบายมักไปพบแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการที่แน่ชัด และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีหายจากโรคภัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ลูกชายของคุณสมใจเพิ่งอายุได้เพียง 1 เดือน มีอาการไอตลอดเวลา เธอจึงพาไปตรวจที่อนามัยแถวบ้าน ภายหลังตรวจเรียบร้อยหมอก็ได้ให้ยาแก้ไอมารับประทาน อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีผื่นขึ้นเต็มตัว ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย โดยหมอได้รักษาด้วยการพ่นยา แต่อาการยังคงเหมือนเดิม ภายหลังจึงนำไปเอ็กซเรย์ และพบว่าเด็กมีอาการปอดติดเชื้อ จึงรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ แต่ลูกชายของคุณสมใจก็ยังคงมีไข้สูง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่นานอาการก็แย่ลงถึงขั้นหมดสติเหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อวันถัดมาลูกชายของเธอเริ่มมีอาการตาบวมและชัก จนในที่สุดก็มีอาการปอดติดเชื้อ ความดันต่ำและหัวใจวายเฉียบพลัน ภายหลังลูกชายเสียชีวิต คุณสมใจจึงร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าว และไปติดต่อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) หนองคาย พร้อมส่งสำเนาประวัติการรักษาและใบมรณะบัตรมาที่มูลนิธิด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องไปติดต่อ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องรอผู้อำนวยการอนุมัติก่อน ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องว่า สามารถดำเนินการยื่นเรื่องได้ภายใน 1 วันตั้งแต่ทราบความเสียหาย และควรรีบไปดำเนินการเพื่อที่จะได้เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดหรือผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยส่งเรื่องผู้ร้องต่อเครือข่ายหนองคายให้ช่วยดำเนินการ ล่าสุดผู้ร้องจึงแจ้งกลับมาว่าได้รับการดำเนินการยื่นเรื่อง ม.41 ชดเชยเยียวยา เป็นเงิน 360,000 บาท ซึ่งเธอยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 นมเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุ

วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าดังกล่าวยังคงมีคุณภาพหรือไม่ และจะเสื่อมสภาพเมื่อใด อย่างไรก็ตามใช่ว่าเราจะมั่นใจเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่พบปัญหาสินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุคุณพรพรรณซื้อนมจืดยี่ห้อไทยเดนมาร์ค จากห้างท๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 200 มล. จำนวน 1 ลัง ราคา 315 บาท มาให้หลานชายรับประทาน ซึ่งเธอได้ตรวจสอบ ว/ด/ป ที่หมดอายุข้างกล่องแล้วว่าอีกหลายเดือนกว่าจะครบกำหนด อย่างไรก็ตามหลังนำมาเทใส่ขวดนมให้หลานรับประทาน กลับพบว่านมดังกล่าวมีลักษณะจับตัวเป็นก้อนคล้ายนมบูด เมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา โดยต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียนมาเพิ่มเติม คือ สำเนาใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งรูปถ่ายลักษณะผิดปกติของนมดังกล่าว พร้อมส่งตัวอย่างของสินค้าให้ผู้ผลิตนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลางพบว่า ผลการวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเสื่อมคุณภาพเฉพาะกล่อง ซึ่งมีสาเหตุจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษาหรือการขนส่งทั้งนี้ทางบริษัทจึงแจ้งว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพการขนส่งโดยปฏิบัติตามระบบคุณภาพ มาตรฐาน GMP HACCP ISO และ HALAL อย่างเคร่งครัด เพื่อปรังปรุงพัฒนาให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่กล่องบุบหรือชำรุดสามารถส่งคืนที่ อ.ส.ค. ให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ได้ชดเชยให้ผู้ร้องเป็นผลิตภัณฑ์นมจำนวน 5 ลัง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอและไม่ติดใจปัญหาแล้วจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 มาช่วยร้องเรียนแท็กซี่กันเถอะ

ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องการใช้บริการแท็กซี่เป็นที่พูดกันบ่อยมาก เมื่อช่วงเดือนมกราคมประเทศไทยได้มีข่าวฮิตในโลกออนไลน์ในเรื่องการให้บริการแท็กซี่  ที่มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นประจำ เพื่อแจกขนมและของเล่นให้กับเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสภายในประเทศไทย  และได้ใช้บริการแท็กซี่ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยรู้สึกไม่พึงพอใจกับการได้รับบริการนั้น จนทำให้เกิดการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเองว่า “สนามบินสุวรรณภูมิคือความอับอายของประเทศไทย ทั้งการบริการที่แย่ เจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ และยังถูกแท็กซี่โกงค่าโดยสาร”  ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งต่อไปทั่วโลกออนไลน์  จนนำไปสู่การจัดระเบียบแท็กซี่สุวรรณภูมิ แต่เมื่อไม่นานมานี้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวยังได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ในเรื่องการบริการของแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิที่เก็บค่าโดยสารเกินจริง และยังกล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องที่น่าอายของประเทศไทย หลังจากได้อ่านข่าวนี้ หลายคนคงคิดอยู่ในใจว่า ไม่ใช่แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นที่โดนรู้สึกแย่กับการใช้บริการแท็กซี่หรอก คนไทยอย่างเราก็โดนเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการในการควบคุมการให้บริการของแท็กซี่มากแค่ไหน แต่ดูจะไม่ได้ผลมากนัก ทั้งเรื่องสนับสนุนให้มีการร้องเรียน จนทำให้เกิดสายด่วน แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก ได้ออกแอพพลิเคชั่น “DLT Check-In” เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้ามาร้องเรียน โดยได้ปรับรูปแบบการใช้งานให้มีความสะดวกมากขึ้น  ซึ่งหวังว่าจะมีผู้ใช้บริการแท็กซี่ทั้งที่มีปัญหาในการใช้บริการและมีความพึงพอใจในการใช้บริการ แจ้งร้องเรียนต่างๆ และรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น เข้ามายังกรมการขนส่งทางบก ภายในแอพพลิเคชั่น จะให้กรอกหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของเครื่อง เพื่อนำเป็นข้อมูลเผื่อมีการติดต่อสอบถามกลับถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการร้องเรียนได้รวดเร็วขึ้น  เมื่อมีการกรอกหมายเลขโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ให้คลิกลงทะเบียนการใช้แท็กซี่ จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะมีวิธีการให้เลือก  2 รูปแบบ คือ ให้กรอกทะเบียนรถแท็กซี่ หรือ ให้ถ่ายรูปทะเบียนแท็กซี่ ต่อจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะมีแบบสอบถามให้กรอกรายละเอียดต่างๆ ถึงความพึงพอใจในการใช้แท็กซี่ และมีช่องข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกรอกรายละเอียดนอกเหนือจากแบบสอบถามนั้นได้ จากข่าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยในเรื่องการให้บริการของแท็กซี่นั้น คิดว่าคงทำให้คนไทยอย่างเรารู้สึกเสียหน้ากันพอสมควร แม้ว่าเหตุการณ์การให้บริการของแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เกิดขึ้นกับคนไทยเองเช่นกัน แต่ถ้าทุกคนพยายามที่จะร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น โดยใช้วิธีการร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือผ่านสายด่วนของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ก็อาจจะทำให้การปรับเปลี่ยนให้การให้บริการของแท็กซี่ได้ผลในระดับหนึ่งก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 แพ้ครีม ร้องเรียนได้หรือไม่

“อยากบอกว่าครีมนี้ใช้แล้วหน้าขาวใสขึ้นจริง ปลอดภัยแน่นอน” นี่เป็นตัวอย่างคำโฆษณาที่แสนจะคุ้นหู ตามช่องเคเบิลทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคหลายคนที่หลงเชื่อซื้อครีมดังกล่าวมาใช้ แล้วมาค้นพบความจริงภายหลังว่าครีมไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาผ่านทางเคเบิลทีวีมาบำรุงให้ผิวหน้าขาวใส เพราะเห็นว่าคนที่มาแนะนำครีมดังกล่าวมีผิวหน้าดีจริง เธอจึงเชื่อว่าหากใช้บ้างหน้าจะเด้งและดูดีขึ้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเธอใช้ครีมดังกล่าวกลับว่า มีอาการแพ้ บวมแดงและแสบคัน เธอจึงติดต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าครีมให้ แต่ไม่เยียวยาค่ารักษาอื่นๆ ที่เรียกร้องไป ทำให้เธอร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาแม้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ โดยให้ตรวจสอบว่าครีมดังกล่าวผสมสารที่อันตรายต่อใบหน้าหรือไม่ แต่เมื่อศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานมาให้เพิ่มเติมคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หลักฐานการซื้อขาย และใบรับรองแพทย์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ครีมดังกล่าวจริง ผู้ร้องก็แจ้งว่าเธอส่งครีมดังกล่าวคืนไปให้บริษัทแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการแพ้ แต่ซื้อยามาทาเอง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถช่วยผู้ร้องต่อได้ เนื่องจากขาดหลักฐานที่มากพอ ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้ที่ซื้อครีมไม่ว่ายี่ห้อใดมาใช้ว่า ควรเก็บหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ก่อน และหากพบว่าใช้แล้วมีอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ควรทดสอบการแพ้เบื้องต้นด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าเสียโฉม ด้วยการทาครีมทิ้งไว้ในส่วนที่บอบบางของร่างกายอย่าง ใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู ประมาณ 24 ชม. ซึ่งหากพบว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือคัน แสดงว่าเราแพ้ และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 เครื่องปั๊มวันที่ ต้องการสองแถว แต่ได้มาแถวเดียว

ผู้ร้องรายนี้ปรึกษามาทางออนไลน์เช่นกัน ปัญหาของผู้ร้องคือ อยากได้เครื่องปั๊มวันที่บนซองบรรจุอาหาร ตอนแรกเห็นผ่านเฟซบุ้คหนึ่งแต่เขาไม่มีของให้ แต่แนะนำเว็บไซด์หนึ่งให้ จึงตามไปที่เว็บดังกล่าวเมื่อคุยไปตามเบอร์โทรบนหน้าเว็บ พร้อมทั้งส่งภาพวิดีโอลักษณะของเครื่องปั๊มที่อยากได้ไปให้ทางผู้ขายดู ทางนั้นก็บอกให้มารับของได้เลยจึงให้หลานไปรับสินค้าและจ่ายเงินไป 2,900 บาท แต่เมื่อหลานนำกลับมาปรากฏว่าเป็นเครื่องปั๊มคนละแบบกับที่อยากได้ เพราะเป็นแถวเดียว แถมเป็นภาษาจีน ไม่ใช่แบบสองแถวที่ส่งภาพวิดีโอไปให้ดู “รีบโทรกลับไปเพื่อขอเปลี่ยนเพราะไม่ใช่ของที่เราต้องการ นอกจากไม่ยอมเปลี่ยนให้แล้ว อ้างว่าหลานเห็นของแล้ว คนขายยังด่าว่าอย่างหยาบคายกลับมาและท้าให้ไปแจ้งความอีกด้วย” การแก้ไขปัญหาเมื่อได้ติดต่อกลับไป พบว่าผู้ร้องไม่อยากเอาความต่อแล้ว เพราะรับไม่ได้ที่โดนว่าอย่างหยาบคายและยังมามาราวีต่อให้หน้าเฟซบุ้คของบริษัทด้วย “จริงๆ ก็ตั้งใจจะเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่น แต่พอเจอคนขายแบบนี้ก็ไม่อยากค้าขายด้วยแล้ว ของมูลค่าไม่มาก ช่างมันเถอะ” เจอคนขายแบบนี้เข้าไป เล่นเอาขยาดกันไปทีเดียว ดังนั้นหากว่าสั่งซื้อสินค้าใดไปแล้ว เกิดได้สินค้าที่ไม่ตรงกับรายการที่ทางผู้ขายแสดง หรือผู้ขายทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสินค้า เราสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ แต่ว่าการใช้สิทธิในบ้านเรายังติดๆ ขัดๆ เพราะผู้ประกอบการไม่ค่อยรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ถูกคุกคาม บางทีก็เสียเวลา เสียเงินทองจนเลยมูลค่าของสินค้าไปมาก ผู้ร้องที่จะฝ่าด่านเหล่านี้ไปได้จึงมีอยู่ไม่มาก ดังนั้นผู้ประกอบการที่แย่ๆ จึงยังคงแย่อยู่ได้ตลอดโดยไม่มีการปรับปรุง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 ซื้อคอนโดมาใหม่ 1 ปี ร้าวทุกเดือนทำยังไงดี

เรื่องมาทางกระทู้ร้องเรียนในเว็บ consumerthai.org ผู้บริโภคคงเหลืออดจริง จึงโพสต์ร้องทุกข์และระบายความคับข้องใจมาได้แสบๆ คันๆ แท้คุณบุญโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 55 ว่า ซื้อคอนโดของ AP มา 1 ปี ร้าวทุกเดือนทำยังไงดี เป็นคอนโดใหม่เพิ่งสร้างเสร็จชื่อ Life 18 หลังจากโอนเข้าอยู่มีร้าวแทบทุกเดือนไม่หยุด รอยล่าสุดเพิ่งเกิดเดือนนี้ตรงขอบประตูทางเข้าห้อง โครงการฯ แจ้งหมดประกันเมื่อไหร่ลูกบ้านก็ไปซ่อมเอง น่ากลัวจังตอนที่ซื้อ sale บอกเป็นแบรนด์เดียวกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ดูโครงการก็น่าเชื่อถือ แต่พอเข้าอยู่ ปัญหาร้าวไม่เว้นแต่ละเดือน ซ่อมก็ช้าชอบรอให้ร้าวหลายรอบแล้วซ่อม แต่ก็มีรอยใหม่ตามมาอีก กังวลว่าปีแรกเป็นขนาดนี้ ถ้าตึกเก่าไปจะขนาดไหน17 กรกฎาคม 55 เดือนนี้ฝนตก ท่อน้ำดันขยะไปถึงเพดาน กระเบื้องในห้องน้ำร้าวอีกแล้ว ผนังฝั่งครัวก็ไม่รอด เมื่อเช้าไปตากผ้า ร้าวเพิ่มตรงระเบียง...จะบ้าตาย...27 กรกฎาคม 55 พื้น laminate ปูขอบเกยกันทั้งห้องและมีขอบบวม แจ้งซ่อมไปตั้งแต่เช้า โครงการฯ ผัดวันประกันพรุ่งมาปีกว่าแล้ว ก็สรุปว่า ไม่แก้ ผนังห้องน้ำคนละสีและปูไม่ได้ระดับ ส่วนนอกห้องก็ไม่รอด โครงการเนียนเอาหินโรยถนนมาโรยแทนหินแม่น้ำได้ใจจริงๆผนังเตียงนอนมีหรือจะรอด โครงการฯ อะไรทำไมมันร้าวได้ทุกส่วน...ดูแล้วมันต้องเป็นผู้รับเหมาเดียวกันกับสนามบินสุวรรณภูมิแน่นอน การแก้ไขปัญหาครั้งแรกที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกลับไปยังไม่สามารถคุยรายละเอียดกับทางผู้ร้องคุณบุญได้ แต่เมื่อติดต่อได้ภายหลังและเริ่มประสานกับทางโครงการ AP ก็ทราบว่าทางคุณบุญได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางโครงการฯ จัดการซ่อมแซมรายการร้าวๆ และปัญหาต่างๆ ที่พบ รวม 7 รายการ ซึ่งทางโครงการฯ ได้เข้ามาจัดการและขอให้ทางคุณบุญลงลายมือรับรอง ซึ่งบางรายการคุณบุญไม่ได้ลงลายมือรับรอง ทราบต่อมาภายหลังว่า “รับไม่ไหว รายการซ่อมบางรายการไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงว่ามีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด”   คุณบุญอธิบายกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีท่าทีรับผิดชอบกับปัญหาน่าอึดอัดใจของคุณบุญ สุดท้ายก็สามารถจัดการปัญหาในจุดต่างๆ จนเป็นที่พอใจของผู้บริโภคได้ แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการปัญหานี้เกือบ 1 ปีทีเดียวหวังว่ารอยร้าวจะไม่มาสร้างปัญหาให้กับคุณบุญอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มันมาในรูปของ sms

มีเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกส่ง sms มารบกวน และต้องจ่ายค่าบริการเยอะมาก  และที่มากไปกว่านั้นยังมีการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครเข้ามารับบริการ เช่น หากสนใจกดหมายเลข .... แต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าหากต้องการยกเลิกจะกดอะไร ? ได้บ้าง  สิ่งที่เห็นคือเมื่อสมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแทบไม่มีช่องให้ทำได้  หรือทำได้ก็มีการกำหนดขั้นตอนให้ยุ่งยากซับซ้อน ยากลำบากในการใช้สิทธิขอเลิกใช้บริการ ซึ่งอาจคาดเดาว่านี่คงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคเบื่อหน่าย และยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆองค์กรที่กำกับดูแล ก็เหมือนไม่ใยดีกับปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แถมองค์กรกำกับของเรายังมีพฤติกรรมคล้ายๆ กรรมการห้ามมวยปล้ำที่มักเอนเอียงไปทางด้านผู้ประกอบการซะอีก  ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายมีพฤติกรรมแบบว่า ออกแนว ขี้โกงสารพัด  มากกว่าจะยึดกติกาที่เป็นธรรม(ที่กสทช.กำหนดขึ้นมาเองแต่ไม่บังคับใช้)   หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบริการ 3G เต็มรูปแบบ และองค์กรกำกับยังเป็นอย่างนี้   เราคงต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปที่กล่าวมาข้างต้นคงสื่อให้เห็นปัญหากันบ้างแล้ว    สาเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน   หากนำปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์ อาจจะทำให้เห็นภาพของต้นเหตุได้ชัดเจนพอสมควร   เช่น กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า  ต้องการยกเลิกข้อมูลที่ส่งมาแล้วถูกเก็บเงินโดยไม่เคยเปิดใช้บริการ  คำตอบที่ได้มาชวนให้คิดต่อได้มาก  คือ บริการเสริมเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแต่เป็นบริการเสริมจากผู้ประกอบการรายอื่น(contantprovider) คำตอบนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหกคำโตกันแน่?     เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ   ผู้ให้บริการเสริมไม่ได้มาเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง  แต่เป็นการจ่ายผ่านระบบบริการ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนของทั้ง  เอไอเอส,ดีแทค,และทรู “ทั้ง 3 ผู้ประกอบการได้นำเลขหมายที่ขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไปขายให้กับผู้ให้บริการเสริมเพื่อให้ได้กำไรหลายต่อหรือไม่?”เพราะหากเป็นเรื่องจริง ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข  กสทช.ต้องไม่ปล่อยให้บริษัทผู้ประกอบการนำเลขหมายที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >