ฉบับที่ 243 สั่งบราวนี่แต่ได้ของแปลกมาเป็นท๊อปปิ้งแถม

        อาหาร คือ สิ่งที่นำเข้าสู่ร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงบำรุง ดังนั้นอาหารจึงควรเป็นสิ่งที่สะอาดและปลอดภัย แต่บางครั้งอาหารที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง จัดซื้อจัดหาจากแหล่งอื่นๆ ก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมที่ดูไม่ค่อยโสภานักหลุดรอดมาได้ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ต่ำ ซึ่งบางสิ่งที่ปนเปื้อนมาในอาหารนั้นก็แปลกใจมากๆ ว่า เอ...มันมาอยู่ในอาหารได้อย่างไร         เช้าวันหยุดจากการงานอันเหนื่อยล้า คุณภูผา ใช้บริการ Grab สั่งกาแฟเอสเปรสโซ 95 บาทและขนมบราวนี่ 85 บาท จากร้านกาแฟแบรนด์นกเอี้ยง(นามสมมติ)  มารับประทานที่บ้าน เมื่อได้มาก็เอาบราวนี่ใส่จานพร้อมหยิบเอสเปรสโซออกไปจัดวางเตรียมถ่ายภาพประกอบเฟซบุ๊กก่อนรับประทานที่สวนข้างบ้าน บรรยากาศช่างเหมาะอะไรเช่นนี้ แดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องต้นไม้กับเสียงนกร้อง คิดแล้วก็ฟินสุดๆ ไปเลย         แต่ความฟินก็หายไปทันทีเมื่อเขาได้ชิมบราวนี่ไปเพียง 2 คำ เพราะเขากัดบราวนี่แล้วรู้สึกว่ามันแข็งแปลกๆ เขี่ยดูก็พบว่า มีฟัน (ฟันคนนี่แหละ) อยู่ในบราวนี่ เขางงมาก ฟันอยู่ในบราวนี่ได้อย่างไร ไม่ใช่ฟันของเขาแน่ๆ เขาจึงเล่าเรื่องเจอฟันในบราวนี่บนเฟซบุ๊กของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานนักร้านการแฟนกเอี้ยงก็ติดต่อกลับมาว่าชดเชยเงิน 85 บาท ซึ่งเป็นค่าบราวนี่ และกาแฟฟรีหนึ่งแก้วให้         ภูผามีคำถามเกิดขึ้นว่า ร้านค้ารับผิดชอบแค่นี้ได้เหรอ   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ผู้บริโภคมีสิทธิสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ กล่าวคือ เมื่อรับประทานบราวนี่แล้วต้องปลอดภัย แต่เมื่อพบฟันซึ่งเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารนั่นแสดงว่า มาตรฐานการผิดต่ำและชวนให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อการบริโภค ดังนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องได้รับค่าสินค้าหรือบราวนี่คืน และค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หนังสือขอโทษจากบริษัท ซึ่งการชดเชยเยียวยาจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภคและผู้ขาย         กรณีพบสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ผู้ขายส่วนมากจะคืนเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น หรือถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลก็จะชดเชยแค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคไม่ได้เสียหายเพียงแค่นั้น ยังมีค่าเดินทาง การหยุดงาน ค่าเสียโอกาสอื่นๆ ดังนั้นผู้ขายควรชดเชยเยียวยามากกว่าราคาสินค้า และสิ่งสำคัญคือผู้ขายต้องกลับไปหาสาเหตุของปัญหาและมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคตกับผู้บริโภครายอื่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ฉลากมะเร็งในร้านกาแฟ

“ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวัน” ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านไปนั้น ผู้เขียนได้แว่วข่าว(ขณะนั่งพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์) จากโทรทัศน์ช่องหนึ่งประมาณว่า “ต้องมีการทำป้ายเพื่อแจ้งผู้ดื่มกาแฟในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็ง” ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ไม่น่ามีอะไร เพราะมันเป็นของรู้กันมานานแล้วในแวดวงนักพิษวิทยาจนต่อมามีเพื่อนที่เล่นแบดมินตันด้วยกันถามความเห็นเกี่ยวกับประกาศที่เกี่ยวกับกาแฟนี้ แต่ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้ตามข่าวเลยตอบเพื่อนไม่ได้ จึงต้องกลับบ้านเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงได้พบว่า ประมาณวันที่ 27 มกราคม 2518 ที่ผ่านไปนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายฉบับเช่น USA Today มีการพาดหัวข่าวว่า “Coffee must carry cancer warning label, California judge rules” ซึ่งแปลได้ประมาณว่า (ร้าน) กาแฟจะต้องติดประกาศเตือน ตามกฏหมายแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็งเนื้อข่าวที่ได้จาก USA Today กล่าวว่า องค์กรเอกชนชื่อ The Council for Education and Research on Toxics ได้ฟ้องบริษัทที่ขายกาแฟทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กราว 90 แห่งว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ California’s Proposition 65 (เดิมชื่อ The Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act of 1986) ที่ต้องมีคำเตือนผู้ดื่มเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการที่กาแฟมีสารเคมี ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้ โดยสารเคมีนั้นคือ อะคริลาไมด์(นอกเหนือไปจากสารพิษกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน)California’s Proposition 65 เป็นกฎหมายที่มีเป้าประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากการได้รับสารพิษในน้ำดื่ม(ปัจจุบันขยายความสู่อาหารที่เป็นของเหลวต่าง ๆ) ซึ่งอาจก่อมะเร็งและความพิการของทารก ดังนั้นเพื่อให้มีการลดหรือขจัดความเสี่ยงของผู้บริโภคเนื่องจากสารพิษในผลิตภัณฑ์ที่ทราบแน่ว่า มีสารพิษที่อาจก่อปัญหา ผู้ประกอบการต้องมีการเตือนผู้บริโภคก่อนการสัมผัสอาหารเหล่านั้น (โดยยังยึดหลักว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิซื้อสินค้าดังกล่าว บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับเอง) ซึ่งว่าไปแล้วก็ดีต่อผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดมีผู้บริโภคเป็นมะเร็งแล้วอ้างว่า เนื่องจากบริโภคสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการประกาศเตือนแล้วคงฟ้องได้แต่ชนะยากโดยหลักการตามกฎหมายแล้ว คำเตือนของฉลากมีลักษณะทั่วไปดังนี้ WARNING: This product contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm. (สินค้าที่ผู้บริโภคจะซื้อนั้นได้ถูกตรวจพบว่ามีสารเคมี ซึ่งเป็นที่รู้ต่อรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ก่อมะเร็งและความผิดปรกติของทารกแรกเกิดหรือความผิดปรกติอื่นต่อระบบสืบพันธุ์)   โดยอาจมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้กลับมาที่กรณีของร้านกาแฟในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลังการยื่นฟ้องศาลในปี 2511 แล้ว ได้มีการสืบพยานต่อๆ กันมาจนสุดท้ายในปีนี้ (2518) ผู้พิพากษาศาลในลอสแองเจลิสจึงได้ตัดสินว่า ร้านกาแฟจำต้องมีป้ายเตือนให้ผู้บริโภคระลึกว่า การดื่มกาแฟนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง (ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการคั่ว) ทั้งนี้เพราะบริษัทกาแฟขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายมากจนสามารถมองข้ามความเสี่ยงจากสารพิษในกาแฟได้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ ได้กล่าวพ้องกันประมาณว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมล็ดกาแฟคั่วแล้วมีการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่กำหนดตามรัฐบัญญัติ  the Emergency Planning and Community Right-to-Know Act) ในปริมาณน้อย ในความเป็นจริงแล้วสารอะคริลาไมด์นั้น เป็นสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในปริมาณน้อยๆ จนดูเป็นของธรรมดาในเมล็ดกาแฟคั่วและอาหารอื่นที่ปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น มันฝรั่งทอด บิสกิต และอาหารทารกของบางบริษัท แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ทนายความของบริษัทขายกาแฟ กลับมักง่ายอ้างด้วยความรู้สึกว่า ปริมาณของอะคริลาไมด์นั้นมีค่อนข้างต่ำ จนความเสี่ยงต่อสุขภาพเนื่องจากการดื่มกาแฟนั้นไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นขาดการสนับสนุนทางวิชาการที่หนักแน่นพอ ศาลจึงไม่รับฟัง เมื่อสืบดูข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟแล้ว ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพค่อนข้างเชื่อว่า กาแฟนั้นมีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งในผู้บริโภค ศักยภาพในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟนั้น อาศัยหลักการว่า หลังจากเมล็ดกาแฟถูกคั่วแล้วสีของเมล็ดจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งเกิดจากการไหม้และควันที่เกิดจากการคั่วลอยกลับลงมาเคลือบผิวเมล็ด ซึ่งทำให้กาแฟมีกลิ่นไหม้ที่มนุษย์ชอบ ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวันดังนั้นการที่รัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมพร้อมบังคับให้ร้านกาแฟติดประกาศเตือนดังกล่าว ดูไปก็เหมือนการเหวี่ยงแหโดยไม่ได้หวังปลาสักเท่าใดนัก เพราะผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ใคร่กังวลในเรื่องการติดประกาศนี้ อาจเป็นเพราะคนอเมริกันก็ไม่ได้ใส่ใจในการอ่านฉลากหรือประกาศเช่นกันข้อบังคับทางกฎหมายของ California’s Proposition 65 นี้ ปรากฏว่ามีคนอเมริกันนำไปทำให้ดูเป็นของเล่น ตัวอย่างเช่น ป้ายเตือนติดในที่สาธารณะที่ว่า WARNING: The Disneyland resort contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm หรือ WARNING: Breathing the air in this parking garage can expose you to chemicals including carbon monoxide and gasoline or diesel engine exhaust, which are known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm เป็นต้น ตัวอย่างตลกอื่นๆ สามารถหาดูได้จาก Googleเว็บไซต์เกี่ยวกับมะเร็งเว็บหนึ่งได้กล่าวเป็นเชิงว่า มีการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยปกป้องผู้ป่วยจากมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายคนได้กล่าวในอินเทอร์เน็ตประมาณว่า การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยป้องกันผู้ดื่มจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ดื่มกาแฟที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ไม่ดื่มกาแฟ” อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถตอบแบบ ฟันธง ให้ศาลยุติธรรมเข้าใจได้ เนื่องจากข้อสรุปที่ได้นั้นจำต้องอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า อาจจะ ซึ่งเป็นกรอบการพูดภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องรอบคอบ เนื่องจากการทดสอบหรือหาข้อมูลในมนุษย์นั้นมีปัจจัยแฝง(confounding factor) หลายประการที่อาจทำให้สิ่งที่ไม่น่าเกิดกลับเกิดขึ้นมาได้ในภาวะใดภาวะหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ร้านกาแฟก็ (ต้อง) แคร์สังคม

เรื่องทดสอบ 1 ความเดิมจากตอนที่แล้ว ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 103 เอาใจคอกาแฟด้วยการทดสอบ ‘คาเฟอีน’ ในกาแฟเอสเปรสโซ ของร้านกาแฟชื่อดังจำนวน 18 ร้าน พร้อมทั้งเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของเมล็ดกาแฟ ก่อนจะกลายมาเป็นกาแฟหอมๆ นอนอุ่นอยู่ในถ้วยให้เราได้ดื่ม นอกจากร้านกาแฟชื่อดังเหล่านี้จะมอบความหอมและรสชาติที่เข้มข้นของกาแฟ มาให้เราได้ดื่มกันแล้ว ฉลาดซื้อยังอยากรู้ลึกเข้าไปอีกว่า ร้านกาแฟเหล่านี้ยังมอบความห่วงใยใส่ใจให้กับสังคมด้วยหรือเปล่า เราจึงส่งแบบสำรวจเรื่องนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งก็มีร้านกาแฟใจดีตอบแบบสำรวจกลับมาหาเรา 5 ร้าน   ตารางแสดงนโยบายและแนวปฏิบัติต่อสังคมของร้านกาแฟ *** เชสเตอร์กริล, Au Bon Pian, Caf? Kaldi, ดอยตุง, คอฟฟี่เวิลด์, Segrfredo Sanetti, กาแฟ Suzuki, Mc Caf?, ร้านนายอินทร์, แบล็ค แคนยอน, Caf? Amazon, ดังกิ้น และ Caf? Mezzo ไม่สะดวกในการตอบแบบสำรวจ***   สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัดสตาร์บัคส์ มีนโยบายปฏิบัติเพื่อสังคม ภายใต้สโลแกนที่ว่า “Shared Planet” ซึ่งเป็นแนวทางในการร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับโลก โดยแบ่งเป็น 3 เรื่องได้แก่ การสรรหาอย่างมีจริยธรรม การลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมในชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม สตาร์บัคส์ได้สนับสนุนให้ลูกค้าหันมาใช้แก้วส่วนตัวเมื่อซื้อกาแฟหรือเครื่องดื่มที่ร้าน โดยในปี 2551 สตาร์บัคส์ประเทศไทย สามารถลดปริมาณแก้วกระดาษและแก้วพลาสติก ได้ถึง 300,000 ใบ การออกแบบตกแต่งร้านให้มีความสอดคล้องและพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งสตาร์บัคส์พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย สตาร์บัคส์ใช้เมล็ดกาแฟทั้งจากที่ผลิตในไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกาแฟในไทยได้มาจากหมู่บ้านห้วยส้มป่อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ สตาร์บัคส์ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDP) ในการเลือกเมล็ดกาแฟ สตาร์บัคส์ ยังให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกรผู้ผลิต รับซื้อกาแฟในราคาสูง พร้อมทั้งยังให้ความรู้แก่เกษตรกร ดูแลเรื่องสาธารณสุข และเงินทุนสนับสนุน บ้านไร่กาแฟ (บริษัท ออกแบบไร่นา (ประเทศไทย) จำกัด) บ้านไร่กาแฟรับซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มเกษตรที่ได้รับการฝึกอบรม และสามารถส่งวัตถุดิบให้กับโครงการหลวง โดยจะใช้เมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศไทย จากทางภาคเหนือ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อย โดยคุณภาพของเมล็ดกาแฟจะกำหนดให้อยู่ในระดับตามที่โครงการหลวงเป็นผู้ดูแล สำหรับการให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น บ้านไร่กาแฟได้รับเลือกจากสำนักงานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย จ.สระบุรี ให้เป็นแหล่งให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการศึกษา และสร้างความรู้ให้ชุมชน ส่วนเรื่องการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม บ้านไร่กาแฟมีนโยบายการกำจัดขยะ ด้วยการนำเศษพืชผักในร้านอาหารในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี จะถูกนำมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในนาข้าว กาแฟวาวี (บริษัท กาแฟวาวี จำกัด) กาแฟวาวีใช้เมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศไทย จาก ดอยอินทนนท์ ดอยช้าง และดอยหลวง โดยการจัดซื้อจากเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งยังสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพมากขึ้น เพื่อเป็นการลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช โดยร่วมมือกับทางศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟบนที่ราบสูงเชียงใหม่ในการให้ความ รู้กับเกษตรกร การใส่ใจสิ่งแวดล้อม กาแฟวาวีจะมีการคัดแยกขยะที่สามารถนำไป Recycle เช่น แก้วกาแฟเย็นซึ่งผลิตจากพลาสติก และแก้วกาแฟร้อนที่ผลิตจากกระดาษ เพื่อลดปริมาณขยะ  ทรู คอฟฟี่ (ทรู คอร์ปอเรชั่นส์)ให้กับสนับสนุนและช่วยเหลือสังคม ด้วยการจัดโครงการอมยิ้ม เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่ ให้มีโอกาสกลับมายิ้มได้เช่นเดียวกับคนปกติ โดยร่วมมือกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ผ่าตัดทำศัลยกรรมให้กับเด็กน้อยผู้ด้อยโอกาส และขาดทุนทรัพย์ ทรู จะเริ่มดำเนินโครงการอมยิ้ม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นไป โดยในอนาคต จะมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างพนักงาน และลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทรู คอฟฟี่ ใส่ใจในเรื่องการให้บริการลูกค้า โดยใช้โครงการอมยิ้มมาเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานใส่ใจในบริการ เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ รู้สึกดีจนเกิดรอยยิ้มเมื่อเข้ามาใช้บริการที่ร้าน ก่อนจะเชิญชวนลูกค้าให้มีส่วนร่วมกับโครงการอมยิ้ม กาแฟตุงฮู(ห.จ.ก. ตุงฮูสโตร์)กาแฟตุงฮู เป็นเพียงธุรกิจแบบครอบครัว นโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ จึงยังไม่มีความชัดเจน มีเพียงข้อมูลเรื่องของการเลือกใช้เมล็ดกาแฟ ที่เป็นเมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศไทย แต่ทางร้านไม่ได้ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง “กาแฟบนดอย” ถูกกว่าแถมยังช่วยเกษตรกร ใครที่อยากดื่มกาแฟแท้ๆ สดจากไร่ แถมยังได้ช่วยเหลือเกษตรกร ฉลาดซื้ออยากให้ลองทำความรู้จักกับ “กาแฟบนดอย” กาแฟที่ปลูกโดยชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันปลูกและผลิตกาแฟเองโดยไม่ผ่านบริษัท ยักษ์ใหญ่ที่ซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรในราคาถูก เพื่อนำไปผลิตเป็นกาแฟผงพร้อมชงแบบที่เราดื่มอยู่เป็นประจำ การซื้อกาแฟจากคนปลูกทำให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านบริษัทนายทุน แถมผู้บริโภคก็จะสามารถซื้อกาแฟได้ในราคาไม่สูงเกินจริง ได้ดื่มกาแฟที่สดใหม่ ปลอดสารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเกษตรชุมชน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อกาแฟได้ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ77/1 หมู่ 5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200โทร. 053-810623-4 อีเมล : sdf_cn@yahoo.com  ปี 2551 ประเทศไทยมีการส่งออกเมล็ดกาแฟดิบจำนวน 1,662 ตัน มูลค่า 150.9 ล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปถึง 2,893 ตัน คิดเป็นเงิน 641.6 ล้านบาท***ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือของ กรมศุลกากร http://www.oae.go.th/oae_report/export_import/export_result.php ข่าวดีของคอกาแฟนอกจากผลทดสอบปริมาณคาเฟอีนที่เราลงข้อมูลไปเมื่อฉบับที่แล้ว ฉลาดซื้อยังได้รับรายงานผลทดสอบเพิ่มเติมอีกหนึ่งเรื่องว่า กาแฟจากทั้ง 18 ร้านชื่อดังนั้น ไม่พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนมาแต่อย่างใด ทางร้านค้าคงจะมีวิธีการเก็บรักษาที่ดี ทำให้เมล็ดกาแฟไม่เกิดเชื้อราและมีสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนออกมา เมล็ดกาแฟก็เช่นเดียวกับพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสง ข้าว ข้าวโพด พริก ฯลฯ ที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อราที่ผลิตสารพิษอะฟลาท็อกซินได้ง่าย หากมีการเก็บเมล็ดกาแฟไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 103 กาแฟ…ทุกครั้งที่ดื่มอย่าลืมคนปลูก

เรื่องทดสอบ 1เดิมการดื่มกาแฟเคยเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงมาก่อน แล้วจึงค่อยแพร่มาสู่ชนชั้นกลางและประชาชนทั่วไป ในยุคที่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟแพร่หลายมาถึงคนระดับล่าง มีร้านกาแฟปรากฏขึ้นทั่วไปในบริเวณที่เป็นชุมชนหรือตลาดที่มีคนมากๆ การมานั่งดื่มกาแฟในตอนเช้าพร้อมทั้งพูดคุยถกปัญหาประจำวันได้กลายมาเป็นวัฒนธรรม “สภากาแฟ” ที่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่ปัจจุบัน สภากาแฟโดยอาแปะ อากง ได้ถูกท้าทาย โดยการมาถึงของร้านกาแฟแบรนด์หรูจากต่างประเทศ ในรูปแบบร้านกาแฟสดคั่วบด ที่มีการตกแต่งร้านให้หรูหราทันสมัย สะดวกสบาย และมีบรรยากาศที่รื่นรมย์ นิ่ง สงบ กว่า สภากาแฟ ที่เอะอะ ฮาเฮ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่ผู้คนมีลักษณะโดดเดี่ยวและมีโลกส่วนตัวสูง จากข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร บริโภคกาแฟของคนไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนไทยดื่มกาแฟคนละ 200 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งในช่วง 10 ปีก่อนนั้นคนไทยดื่มกาแฟเพียงปีละ 50 แก้วเท่านั้น ถ้ามองผ่านภาพธุรกิจร้านกาแฟสดเอาเฉพาะแบรนด์หรูจากต่างประเทศ ก็พบว่ามีการแข่งขันสูง แม้ราคาขายจะค่อนข้างแพง แต่ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นก็สามารถดึงดูดคนเข้าร้านได้ไม่ยาก ส่วนกลุ่มที่ชื่นชอบกลิ่นกาแฟสด แต่เงินน้อย เดี๋ยวนี้แฟรนส์ไชส์ร้านกาแฟสดแบบ “หัวมุมถนน” ก็มีให้เลือกมากมายเช่นกัน หากจะลองแบ่งประเภทของ ธุรกิจร้านกาแฟ อาจพอแบ่งคร่าวๆ ได้ ดังนี้1.ร้านกาแฟที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เช่น สตาร์บัคส์ ซึ่งร้านประเภทนี้ ส่วนใหญ่จับกลุ่มลูกค้าระดับบน ราคาสินค้าโดยเฉลี่ย 65 บาทขึ้นไป2.ร้านกาแฟของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาสร้างแบรนด์ในไทย อาทิ คอฟฟี่ เวิลด์ เน้นจับกลุ่มนักธุรกิจ คนทำงานมากขึ้น ราคากาแฟขายอยู่ที่ 45-65 บาทต่อแก้ว3.ร้านกาแฟที่เป็นจากเชนฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง เช่น แมคโดนัลด์ แบล็คแคนยอน เชสเตอร์กริลล์ ดังกิ้นและทรูคอฟฟี่ ราคากาแฟขายที่ 40-60 บาทต่อแก้ว4.ร้านกาแฟของคนไทยทั้งที่ลงทุนเองและเปิดสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ร้านกาแฟในกลุ่มนี้มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ร้านเหล่านี้จำหน่ายกาแฟที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับ กาแฟจากร้านใหญ่ๆ แต่ราคาถูกกว่า สิ่งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสำหรับการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น5.ร้านกาแฟของคนไทยที่เปิดร่วมกับปั๊มน้ำมัน เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเดินทาง ราคากาแฟจะไม่สูงนัก เฉลี่ยประมาณ 30-45 บาทต่อแก้วนอกจากการแบ่งเป็นกลุ่มดังกล่าวแล้ว ในตลาดยังมีธุรกิจร้านกาแฟรายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ร้านเหล่านี้จะลงทุนในรูปแบบมุมกาแฟ (Corner/Kiosk) หรือรถเข็น (Cart) ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ทำไมต้องคิดถึงคนปลูกกาแฟ ต้นกำเนิดของกาแฟนั้นอยู่ในทวีปอัฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่เป็นประเทศเอธิโอเปีย แต่เดิมประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมจะต้องปลูกกาแฟเพื่อส่งผลผลิตไปยังประเทศแม่ โดยการปลูกนั้นจะเป็นแบบดั้งเดิมคือการปลูกในแนวร่มเงาของไม้อื่น เมื่อถึงช่วงของการปฏิวัติเขียวระหว่างปีค.ศ. 1970 – 1980 นั้น สหรัฐได้เป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ด้วยการสนับสนุนประมาณ 80 ล้านเหรียญให้เกษตรกรปลูกต้นกาแฟในที่โล่งเพื่อเพิ่มผลผลิต จึงนำไปสู่การทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงก็ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ในปี 1988 เกิดกาแฟยี่ห้อ Max Havelaar โดยองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ Solidaridad ทำให้มีกาแฟที่จัดซื้ออย่างเป็นธรรมเข้ามาขายในซูเปอร์มาร์เกตของเนเธอร์แลนด์ ชื่อยี่ห้อ Max Havelaar นั้นเป็นชื่อของตัวละครที่คัดค้านการเอาเปรียบแรงงานของคนงานในไร่กาแฟในกลุ่มประเทศที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์นั่นเอง ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้ขยายไปยังประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นด้วย แนวคิดเรื่องแฟร์เทรด หรือการค้าที่เป็นธรรมนั้นมีจุดประสงค์เพื่อลดปัญหาความยากจน และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยหรือคนงานที่ถูกเอาเปรียบจากระบบการค้าทั่วไป ได้รับค่าตอบแทนจากการขายสินค้าเกษตรในราคาที่เป็นธรรม และเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยที่เพาะปลูกอย่างพอเพียงและปลูกกาแฟในไร่นาสวนผสมหรือปลูกแซมภายใต้ร่มไม้แบบดั้งเดิม จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่อง “การค้าที่เป็นธรรม” นั้นมีมากว่า 40 ปีแล้ว แต่การมีตราสัญลักษณ์ที่ชัดเจนเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังปีค.ศ. 1980 Fairtrade Labelling Organizations International คือองค์กรที่ตั้งขึ้นที่กรุงบอนน์ เยอรมนี เพื่อดูแลมาตรฐานและการรับรองระหว่างประเทศ มีการใช้เครื่องหมายรับรองแฟร์เทรด FAIRTRADE ขึ้นในปี 2002 สินค้าเกษตรที่มีตราแฟร์เทรดนั้น มีการกำหนดราคาซื้อขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมไว้ เช่น เมล็ดกาแฟอาราบิกาธรรมดานั้นจะรับซื้อที่กิโลกรัมละ 2.5 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 90 บาท) ในขณะที่เมล็ดกาแฟอาราบิกาที่ปลูกแบบออกานิกจะรับซื้อที่กิโลกรัมละ 3.2 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 108 บาท) และมีค่าธรรมเนียมแฟร์เทรดกิโลกรัมละ 22 เซ็นต์ (ประมาณ 7 บาท) รายได้จากการขายสินค้า FAIRTRADE จะถูกนำกลับไปใช้ลงทุนในด้านการสาธารณสุข การศึกษา การดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ กาแฟเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากปิโตรเลียม ในแต่ละปีมีการบริโภคกาแฟถึง 5,400 ล้านกิโลกรัม ประเทศที่มีการบริโภคกาแฟมากที่สุดในโลก ได้แก่ ฟินแลนด์ (คนละ 12 กิโลกรัมต่อปี) คนไทยนั้นสถิติบอกว่าบริโภคคนละ กิโลกรัมต่อปี ในขณะที่คนอเมริกันบริโภคกาแฟคนละ 4.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ข้อมูลจาก World Resource Institute 2007) ประเทศที่มีการผลิตเมล็ดกาแฟมากที่สุดในโลกได้แก่ บราซิล รองลงมาได้แก่ เวียดนาม โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ตามลำดับ   ประเภทของกาแฟเอสเพรสโซ (espresso) คือกาแฟที่มีรสแก่และเข้ม ซึ่งมีวิธีการชงโดยใช้แรงอัดไอน้ำหรือน้ำร้อนผ่านเมล็ดกาแฟคั่วที่บดละเอียด ที่มาของชื่อ เอสเพรสโซ มาจากคำภาษาอิตาลี "espresso" แปลว่า เร่งด่วน เอสเพรสโซเป็นกาแฟที่นิยมมากที่สุดในแถบประเทศยุโรปตอนใต้ โดยเฉพาะประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส การสั่งกาแฟ "caffe" ในร้านโดยทั่วไปก็คือสั่งเอสเพรสโซ อเมริกาโน หรือ คาเฟ่ อเมริกาโน (cafe americano) คือเครื่องดื่มกาแฟชนิดหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการชงโดยเติมน้ำร้อนผสมลงไปในเอสเพรสโซ. การเจือจางเอสเพรสโซซึ่งเป็นกาแฟเข้มข้นด้วยน้ำร้อน ทำให้อเมริกาโนมีความแก่พอ ๆ กับกาแฟธรรมดา แต่มีกลิ่นและรสชาติที่เข้มอันมาจากเอสเพรสโซ คาปูชิโน (cappuccino) เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มประเภทกาแฟซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอิตาลี คาปูชิโนมีส่วนประกอบหลักคือ เอสเพรสโซ และ นมลาเต้ (ภาษาอิตาลี: Latte) เป็นภาษาอิตาลีแปลว่านม ส่วนในประเทศอื่น จะหมายถึง กาแฟลาเต้ หรือเครื่องดื่มกาแฟที่เตรียมด้วยนมร้อน มอคค่า (Mocha) หมายถึงเครื่องดื่มกาแฟซึ่งมี เอสเพรสโซ่ และ โกโก้ เป็นส่วนประกอบ เสิร์ฟทั้งแบบร้อนและแบบเย็นใส่น้ำแข็ง คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ มีชื่อทางเคมีว่า 1,3,7 trimethylxanthine พบได้ในกาแฟ ชา น้ำอัดลมสีดำ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือโกโก้ มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและไม่ง่วงนอน แต่ว่าสมองจะมีปฏิกิริยาทางเคมีตอบสนองต่อกาเฟอีน เมื่อได้รับกาเฟอีนครั้งต่อไป ฤทธิ์ของมันจะทำงานน้อยลง เรียกว่า ภาวะทนต่อคาเฟอีน (caffeine tolerance) ทำให้จำเป็นต้องบริโภคกาเฟอีนมากขึ้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ การเสพกาเฟอีนมากๆ ในครั้งเดียวจะทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ พูดจาสับสน ปวดท้อง หัวใจเต้นแรง และอาจเลยเถิดถึงขั้นเสียชีวิตBiology Chemistry Food Chemistry Health Heart Disease Medical Yale University รายงานในวารสาร FASEB Journal ว่าการดื่มกาแฟเพียง 2 แก้ว หรือ 1 โดสของกาเฟอีนในระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของหัวใจของเด็กในครรภ์ได้ พ่อแม่มักไม่อนุญาตให้ลูกดื่มกาแฟเพราะกลัวผลจากกาเฟอีน แต่พบว่าเดี๋ยวนี้ในขนม ลูกอม เค้ก มีส่วนผสมของกาเฟอีนจำนวนมาก อาจทำให้เด็กมีสมาธิสั้น นอนไม่หลับ และกระทบต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ปริมาณคาเฟอีนในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ   ผลิตภัณฑ์ ปริมาตร(มล.) ปริมาณคาเฟอีน(มก.) กาแฟผงสำเร็จรูป 150 40-108 ชาซอง 150 28-44 ชาชงจากใบ 150 30-40 ชาเขียวสำเร็จรูป* 500 24-76 โกโก้ร้อน 180 5-30 เครื่องดื่มช็อกโกแลต 180 9-12 ดาร์กช็อกโกแลต แบบแท่ง 60 กรัม 40-50 ช็อกโกแลตนม แบบแท่ง 60 กรัม 3-20 เครื่องดื่มรสโคล่า 355 กรัม 38-46 กาแฟกระป๋อง*** 180 74-212 เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน** (เครื่องดื่มชูกำลัง) 100-150 50 ที่มา สำนักงานอาหารและยา สหรัฐอเมริกา*วารสารฉลาดซื้อ**สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)***สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point