ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สั่งผ้าโรงงานแล้วได้ผ้าผิดสเปก

        หลายคนคงมีร้านค้าที่สั่งซื้อของกันอยู่เป็นประจำ จนเกิดความไว้เนื้อเชื้อใจ พาให้ชะล่าใจและวางใจว่าของที่ส่งมาให้คงจะตรงปก ไม่จกตา สมราคา อย่างที่เคยเป็นมา แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ อาจจะด้วยเจตนาหรือความพลั้งเผลอก็ตาม ผู้บริโภคควรตรวจสอบสินค้าทุกครั้งที่มาส่งว่าตรงตามที่สั่งไปหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นอาจต้องมาเสียรู้เพราะความไว้ใจอย่างคุณป้างก็เป็นได้            เรื่องของเรื่องคือ คุณป้างเพิ่ง​เริ่ม​ทําธุรกิจ​เกี่ยว​กับ​เสื้อผ้า​ แล้ว​สั่งผลิต​ผ้า​จาก​โรงงาน​สกรีน​เสื้อ​ที่​เคยสั่งประจำ ครั้งนี้เขาสั่งผ้า Cotton Comb เบอร์ 32 ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายคุณภาพดีที่สุดที่นิยมใช้สำหรับคนเริ่มต้นสร้างแบรนด์เสื้อผ้า เมื่อผ้ามาส่ง เขาก็ใช้ผ้า​บาง​ส่วน​ใน​การ​ขึ้น​ตัวอย่าง​เสื้อตามปกติ จนผ่านไป 5 เดือน วันหนึ่งขณะที่เขานําผ้า​ออก​มา​จากถุงเพื่อจะแบ่ง​ผ้า​ให้​เพื่อน เขาก็เพิ่งรู้ว่าตัวเองได้ผ้าผิดสเปกมา เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็น​​ข้อมูล​หน้า​ถุงที่เก็บ​​ผ้า​นั้น​ไว้ระบุว่าเป็น ​ Cotton Semi เบอร์ 40 ที่เป็นผ้าฝ้ายเกรดปานกลาง         คุณป้างจึงโทร.ไปคุยกับทางโรงงาน แต่ทางนั้นกลับ​บอก​ว่า​ผ้า​ตามสเปกที่เขาสั่งนั้น​ไม่​สามารถ​ผลิต​ได้​และอาจ​จะแจ้ง​ราย​ละเอียด​ผิดไป ซึ่ง​จริงๆ ก่อนหน้านี้​​ทางโรงงาน​สกรีน​ไม่​เคย​แจ้ง​ราย​ละเอียด​อะไร​​เกี่ยว​กับ​การ​เปลี่ยน​สเปกผ้าลอตนี้เลย แล้วเขายังจ่ายเงินที่ได้​สรุป​ราคากันตาม​สเปกผ้า​ที่​เขา​ต้องการ​ไปครบแล้วด้วย เขาจึง​ได้​ขอ​เคลม แต่ทาง​โรงงานปฏิเสธ​​​ว่าทำไม่ได้​เพราะ​ผ่าน​มา​นาน​แล้ว​ เขา​รู้สึก​ว่า​​ไม่​ได้รับ​ความยุติธรรม ​เพราะ​จ่ายเงินไปแล้ว แต่กลับได้ผ้าผิดสเปกมา แถมโรงงานยังปัดความรับผิดชอบอีก ​คุณป้างจึงส่งอีเมลมาถึง มพบ.เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         มพบ​.​แนะนําให้คุณป้าง​ทําหนังสือ​ถึง​ผู้รับ​จ้าง​ผลิต​ เสนอข้อเรียกร้องของตนว่าต้องการให้อีกฝ่ายแก้ไขอย่างไร และสำเนาถึง มพบ. แต่ทางคุณป้างเห็นแก่ความสัมพันธ์ที่ยังต้องสั่งผลิตผ้าจากโรงงานนี้อยู่เป็นประจำ จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อ         ในกรณีนี้เข้าข่ายเป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญารวมกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 465(3) กำหนดให้ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะที่สั่ง หรือปฏิเสธไม่รับทั้งหมดได้ โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ถุงเท้า 1 แถม 1 ที่ราคาไม่ตรงกับป้ายที่ติดไว้

        ผู้บริโภคคงเคยเจอเหตุการณ์ร้านค้าขายสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคาที่แจ้งไว้ แล้วได้จัดการปัญหานี้อย่างไรหรือว่าปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ผ่านไป ถ้าเราอยากจัดการปัญหาลองมาดูกันสิว่าผู้บริโภคที่พบเจอเหตุการณ์แบบนี้เขามีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร         คุณจันจิราพนักงานบริษัทผู้แข็งขันได้รับมอบหมายให้จัดประชุมกรรมการบริหารของบริษัท จึงไปเตรียมการจัดประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อถึงห้องพักเธอนำเสื้อผ้าออกจากประเป๋า เพื่อเตรียมชุดสำหรับประชุมวันรุ่งขึ้น แต่กลับพบว่า เธอไม่ได้นำถุงเท้ามาด้วย จึงต้องออกไปซื้อถุงเท้าที่ร้านสะดวกซื้อใกล้โรงแรม เบื้องต้นก็ถามพนักงานว่า มีถุงเท้าขายไหม อยู่ตรงไหน พนักงานพาเธอมาตรงชั้นสินค้าที่วางถุงเท้า เธอเห็นป้ายราคาติดไว้ 35 บาท ซื้อ 1 แถม 1 “เออก็ถูกดีนะ” เธอจึงหยิบมา 2 คู่ ตามป้ายที่ระบุไว้ คือ 1 แถม 1 (ถุงเท้า 2 คู่ ราคา 35 บาท)        เมื่อพนักงานชำระเงินสแกนบาร์โค้ดสินค้า ราคาถุงเท้าจาก 2 คู่ 35 บาท เป็น 2 คู่ 49 บาท เธอจึงแย้งพนักงานว่า ที่ชั้นวางสินค้าติดราคาไว้ว่า 2 คู่ 35 บาท ทำไมราคาไม่ตรงกัน พนักงานจึงเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า พบว่าป็นอย่างที่เธอพูดจริงๆ คุณพนักงานรีบกล่าวขอโทษ แต่แจ้งเธอว่า “สินค้าหมดโปรโมชั่นแล้วค่ะ” คุณจันจิราคิดในใจ “ไม่เล่นแบบนี้นะคะน้อง” แล้วจึงหยิบป้ายที่ติดราคาไว้มาดูและชี้ให้พนักงานดูว่า “ยังไม่หมดโปรโมชั่นค่ะ” พนักงานจึงกล่าวขอโทษอีกครั้งและแจ้งว่าน่าจะติดราคาสินค้าผิด        คุณจันจิราเริ่มหงุดหงิด จึงบอกให้พนักงานเอาป้ายราคาที่ติดผิดออก พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวจะดำเนินการนำป้ายราคาที่ผิดออก “แน่ะ ยังจะเดี๋ยวอีก” คุณจันจิราแจ้งว่าให้นำออกทันทีสิคะ เพราะอาจจะมีคนอื่นซื้อเพราะเข้าใจผิดอีกก็ได้ เป็นพนักงานของร้านเมื่อพบว่า ป้ายสินค้ามีปัญหาก็ควรรีบแก้ไข และควรระวังการติดป้ายราคาผิดพลาดด้วย  หลังจากจัดพนักงานไปหนึ่งชุด สุดท้ายเธอก็จำต้องซื้อถุงเท้ามาในราคา 49 บาท เพราะจำเป็นต้องใช้งาน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ในใจว่าถ้าเธอหรือคนอื่นเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร ที่เธอทำไปถูกหรือไม่ จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า จริงๆ แล้ว ผู้ร้องสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ร้านค้าติดป้ายไว้ เพราะเป็นความผิดของทางร้านค้า การที่ผู้ขายขายสินค้าไม่ตรงกับราคาตามป้ายแสดงราคา มีความผิดต้องโดนปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผู้ร้องสามารถแจ้งไปได้ที่กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง         นอกจากร้องเรียนไปยังหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาของตัวเองแล้ว ยังสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของร้านค้า ทั้งนี้หน่วยงานยังมีรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสถึง 25 เท่าของค่าปรับ เมื่อหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเบาะแสแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรจะร้องเรียนไปยังหน่วยงาน เพื่อใช้มาตรการทางอ้อมในการให้ร้านค้าคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ร้านพลังรักษ์ เมื่อความรักทำงาน

มาค่ะ ฉลาดซื้อจะพาไปช็อปปิ้งในร้านค้าชุมชนแห่งหนึ่ง ที่สินค้ามี “ราคา” และ “คุณภาพ” ดีเท่าเทียมกัน เป็นร้านที่รับหน้าที่เป็นผู้คัดสรรของดีแทนผู้บริโภค แบบที่เรียกได้ว่า ” กินอย่างไร ขายอย่างนั้น ” หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ และหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับร้านนี้ “พลังรักษ์”  ร้านอาหารมังสวิรัติ ย่านถนนนวมินทร์ (ปัจจุบันมี 3 สาขา ตั้งอยู่ระหว่างซอยนวมินทร์ 44 ถึง 46 แต่ละร้านจะจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างกัน ร้านพลังรักษ์ สาขา 1 และสาขา 2 อยู่ในซอย 46 เป็นร้านอาหารและร้านขายวัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหาร ส่วนสาขา 3 ตั้งอยู่ที่ปากซอยนวมินทร์ ซอย 44 เป็นร้านขายผักสด ผลไม้ และเครื่องปรุงรส รวมทั้งน้ำผักปั่นและนมอัลมอนด์)         สุวรรณา  สุมณฑา ผู้จัดการร้านพลังรักษ์  เล่าอย่างมีความสุขเมื่อเราถามว่าตั้งราคาเป็นมิตรแบบนี้มีกำไรบ้างไหม “เราก็เอากำไรบางส่วนไง เราสงสารเกษตรกร ท่านอุตส่าห์ทำลำบาก ตลาดก็ปิดหมดไม่มีที่ลง เราก็ให้ท่านลง ช่วยท่าน เราก็คิดเปอร์เซ็นต์ถูกไม่แพง เอาแค่ให้เราพออยู่ได้ เป็นค่าอะไรต่ออะไรของเรา” สินค้าที่ขายมาจากที่ไหน         ของตามฤดูกาลของญาติธรรม คือเราเป็นนักปฏิบัติธรรมนะ ที่เรามาตรงนี้เสียสละเพราะว่าเราเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ไหว้ครูก่อน คือท่านสอนให้เราพึ่งตนเองและก็ช่วยผู้อื่นเมื่อเราเต็มที่แล้ว เราเพียงพอแล้ว เราก็หัดอยู่แบบพอเพียงเหมือนพ่อหลวงแล้วเราก็ปลูกกินเอง ทั้งทำเองเสร็จแล้วเราก็มีเหลือ เรามีเหลือแล้ว บางคนเขาไม่มาค้าขายอย่างนี้เขาจะมีที่ดินของเขา เขาก็ปลูกอยู่ปลูกกินแล้วก็เอามาขาย สินค้าเป็นสินค้าสุขภาพ        ใช่ค่ะเราเน้นเลย โดยเฉพาะถ้าไม่มีสารพิษเลยยิ่งดี ดีกว่าปลอดสารฯ ปลอดสารนี่ยังมีระยะเวลาในการที่ฉีดแล้วรอเวลา ของเรานี่ไม่ใส่เลยเอาน้ำไปตรวจเอาดินไปตรวจบริสุทธิ์เพราะบางทีมันโกหกได้ไง พอเกิดโควิดมันก็เลยพลิกกลับว่าเราต้องมาพึ่งตนเอง ที่พ่อหลวงสอนก็เลยมีความสำคัญ พ่อครูก็เลยได้สอน 3 อาชีพที่ท่านบอก 3 อาชีพกู้ชาติ ต้องทำกสิกรรมไร้สารพิษ ต้องเอาขยะมาเป็นปุ๋ย มันก็เลยกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิม เรากินแบบไหน ก็ขายแบบนั้น         ใช่ๆ ก็เป็นการขายสินค้าที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เป็นมังสวิรัติของดีราคาถูก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ถือว่าเป็นโมเดลหนึ่งนะ จะมีทั้งหมด 3 ร้านใหญ่ๆ ก็คือร้านผัก ผลไม้ แล้วมีน้ำปั่นเป็นโมเดลนะ น้ำปั่นคือสูตรผักพื้นบ้าน สูตรผลไม้และสมุนไพรเป็นผักพื้นบ้านของไทย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นที่ตอบโจทย์ของลูกค้ามาก ลูกค้ามีสุขภาพดีได้ดื่มน้ำผัก         นอกจากนี้เรามีข้าวสวยจากเลิงนกทา ที่พวกเราเองที่เป็นเกษตรกร 5 กระสอบต่อสัปดาห์  บางคนต้องการกับข้าวเราก็ขายพวกนี้ด้วย พวกนี้เป็น Food for Health มีน้ำปั่นสูตรที่เราคิดขึ้นมากันเองเป็นสูตรผักพื้นบ้านเพราะเราว่ามันเหมาะกับคนไทย ผักพื้นบ้านยีนมันแข็งแรง ทานแล้วก็แข็งแรงแล้วต้นทุนราคาก็จะถูก จุดเด่นที่ให้เอาภาชนะมาใส่เอง         ลูกค้ามาครั้งแรกถ้าไม่ได้เอาภาชนะมาเราก็ให้บริการถุงกระดาษ แต่ว่าเราก็ขอคิดสตางค์ถุงละ  1-2  บาท เพราะถ้าไม่คิดลูกค้าจะไม่ยอมเอามาเลยแล้วก็มาหาข้างหน้าตลอดเวลา แต่พอเราคิดบาทหนึ่ง ครั้งต่อไปเขาก็จะเอาภาชนะของเขามา เป็นถุงอะไรของที่เขามีอยู่เขาก็จะเอามาใส่กัน มันลดปริมาณขยะไปโดยปริยาย สินค้าก็จะราคาไม่แพงเพราะมันไม่มี Package มันจะตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะช่วงโควิดนะ แล้วเขาจะซื้อทีละเล็กทีละน้อย คนละนิดคนละหน่อย ยุคนี้เงินเขาน้อย         ทำไมพลังรักษ์ถึงขายดี ทำไมพลังรักษ์ถึงขายได้เยอะ ลูกค้าเยอะมาก ของดีราคาถูกแล้วก็ขายปริมาณน้อยก็ได้ ไม่อย่างนั้นเขาซื้อข้าวไปถุงหนึ่งบางทีนะแล้วมันก็เหลือก้นถุง อันนี้เขาซื้อแค่ต้มข้าว ต้มพอกิน เขาซื้อพอกินบางทีเขามีเงินมาสักห้าสิบบาท เขาพอซื้อได้เยอะเลย เขาตักเองได้ตามปริมาณที่เขาต้องการ อันนี้นะคือเป้าหมาย  เราหักปริมาณภาชนะก่อนนะ ชั่งแล้วเขียนปริมาณภาชนะไว้ แล้วพอไปชั่งมารวมแล้วก็หักภาชนะออก เครื่องมันจะหักโดยอัตโนมัติมันก็จะคิดราคาออกมาเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถามว่าโควิดนี่ตอบโจทย์ได้ดีมาก ถ้าพูดตรงๆ นะ หลายร้านอาจจะบอกว่ายากๆ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ของถั่วพวกนี้ ธัญพืช ซึ่งมันเป็นโปรตีนจำเป็นมากสำหรับเรา แต่ทำไมอันนี้ขายได้ถูกเพราะเราซื้อปริมาณมากๆ แล้วเราอบเอง ก่อนอบล้างให้สะอาดแล้วอบเองจะตอบโจทย์ลูกค้าเช่นเดียวกับพวกน้ำยาซักผ้าล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ ผลิตเองแล้วก็ขายได้ในราคาถูกๆ เพราะฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ลูกค้าตรงนี้ได้ ควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างไรคะ         ตรวจสอบกันประจำและคนทำก็คือคนมีศีล วันต่อวันนะ ถั่วอบวันต่อวันคือถ้าไม่มีคุณภาพเราถือว่าเป็นบาปนะ เราเอาของไม่ดีให้กับลูกค้า เราเน้นเรื่องศีลเพราะฉะนั้นคนที่มาอยู่ที่นี่ก็ถามว่าพนักงานจะมี 3 ระดับ หนึ่งจิตอาสา สองจิตอาสาและก็มีรายได้บ้าง อย่างที่สามคือพนักงาน พนักงานก็คือรับเงินไปมีเงินเดือนอย่างเช่นเขาเป็นคนต่างด้าวเราอาศัยแรงงานเขา เราก็ไม่ได้จ้างแพงมาก แต่มีข้าวกิน เป็นอาหารมังสวิรัติ เรามีที่พักให้ มันจะลงตัวตรงที่ว่าพอสินค้าเราดูว่ามันจะเก่าแล้วอะไรแล้ว เราจะรีบนำมาทำอาหาร เพราะฉะนั้นมันจะมีของใหม่มาทดแทน ผักผลไม้เก็หมือนกัน เราขายเสร็จเหลือเราก็เอาไปเข้าโรงครัวเอามาปรับ ไม่ทิ้งมันจะไม่มีคำว่าเสียวัตถุดิบอะไร เหลือวันนี้เราออกอาหารที่มันเป็นเมนูนั้นเลย อะไรเยอะเราจะทำเมนูนั้นก่อนออกขาย แล้วอาหารของเราก็ไม่ใส่ชูรส เป็นอาหารสุขภาพ ( คุณสุวรรณาเสริมว่า  คนจีนเขานับถือนะถ้าทำแบบนี้เขาว่าคนไทยว่ากินทิ้งกินขว้างแต่เราไม่เลย ทุกอย่างของเราเป็นประโยชน์หมดเลย)  เครือแก้ว คุณะวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการการลดขยะจากสินค้าไร้หีบห่อ         คือแต่ละคนก็จะเอาภาชนะของตนเองมา จะเอากล่องเอาถ้วยอะไรอย่างนี้แล้วก็มาตักของ เขาก็สนุก สนุกกับการที่จะได้ตักแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง พอตรงนี้บางทีเรามีของมา มีของที่จะใช้ซ้ำได้พวกกล่องภาชนะต่างๆ เราก็มาใช้ซ้ำ อย่างขวดอย่างนี้ ลูกค้าบางทีลูกค้าก็เอาให้เรานะ อย่างขวดพอดีเห็นเราหิ้วมาอย่างนี้ ขวดไม่เอาเหรอ รับบริจาคไหม เราบอกรับค่ะ รับหมด พอมาซื้อก็กลายเป็นมีขวดมา ลูกค้าบางคนก็นอกจากมาซื้อของก็มาสละเหมือนกับที่เราสละ  บางทีอย่างนี้ตรงนี้จะเป็นมุมแบ่งปันก็จะมีคนเอาซอง เอาพลาสติก ถุง หรือเอาซองที่แบบว่ายังสะอาดอยู่เอามาให้เราใช้ซ้ำอีก ภาชนะที่เป็นซองอย่างนี้ เอามาใส่ถั่วดิบได้ มันก็ไม่ได้เลอะอะไร แล้วขวดก็เอามาใส่น้ำยาล้างจานซึ่งเป็นน้ำ ก่อนหน้านี้เราจะมีแชมพูด้วยนะคะ ลูกค้าชอบเพราะว่าเขาเอาขวดของเขามากรอกใช้ซ้ำ ลูกค้าประทับใจ         ขยะแต่ละชิ้นมันมีที่ไป มันมีที่ไปที่มันจะไปต่อได้หรือว่ามันเป็นประโยชน์อะไร ตอนนี้ปัญหาของโลกคือขวดเยอะที่สุดในโลก มันก็กลายเป็นแพขยะ ถ้าเราแยกและทำความสะอาดมันก็เอาไปขายได้ หรือตอนนี้เราใช้ขวดสะอาดมาเติมเป็น Refill ของให้ลูกค้าได้ คือมันมีหลายตัวที่มันสามารถจัดการกับเขาได้โดยที่ไม่ต้องทิ้งไป แล้วมันก็ยังได้ประโยชน์อีกหลายๆ อย่าง ล่าสุดยังแบ่งเอาไปบริจาคทำน้ำมัน และตัวเองเน้น Eco bricks ด้วย คือขยะพลาสติกบางตัวที่มันไม่สามารถจะใช้ได้อย่างพวกของที่มัน Refill ตัวนั้นขายไม่ได้ ราคาสุดท้ายถ้าไปอยู่ในทะเลก็จะเป็นอาหารปลาอาหารเต่า แต่ว่าถ้าเรามาลงขวดแล้วเรามาทำเป็นอัดใส่ขวดให้มันแน่นๆ เขาเรียกขวด Eco bricks  มันก็สามารถเอาไปต่อได้ทำเป็นชิ้นงานได้ ทำเก้าอี้ ทำเป็นโต๊ะ ทำเป็นจัดแต่งสวนสวยงาม สมมติถ้าไปปลูกผักก็ไม่ต้องไปซื้อล้อยางมาทำกระถาง เอาขวด Eco bricks วางเป็นกลมๆ หรือจะทำทางเดิน ทำอะไรได้หลากหลาย ที่ผ่านมาเราทำเรื่องนี้ เห็นว่าขยะทุกอย่างมันไม่ใช่ขยะเลย มันคือทรัพยากรแต่ละชนิดแต่ละชิ้นที่มันจะไปต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อๆ ได้แม้กระทั้งกล่องโฟม กล่องโฟมถ้าเราล้างสะอาดเอามาทำเป็นหินเทียมก็ได้ ตรงนี้ส่วนใหญ่บางทีเราก็รวบรวมเอาทุกอย่างก็พยายามทำทุกอย่างให้มันเกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด สำคัญคือ เราปฏิบัติธรรมเราใช้ความประณีต ประณีตในทรัพยากรทุกๆ ตัวแล้วมันจะเกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อที่นอนผิดขนาด เปลี่ยนได้ไหม

การซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกรวดเร็ว มีโปรโมชันน่าสนใจมากมาย บางร้านยังมีบริการจัดส่งฟรีอีก บริการขนาดนี้จะ (ทน) ไม่สั่งได้อย่างไร         คุณภู เป็นลูกค้าประจำของร้าน Index มีไลน์ออฟฟิศเชียวของ Index ด้วย เฟอร์นิเจอร์ในบ้านแทบทุกชิ้นก็สั่งที่นี่ ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เคยสั่งซื้อสินค้าผ่านไลน์มาแล้ว รอบนี้ในไลน์เด้งขึ้นมาว่าที่นอนลดราคา เขาสนใจจึงทักไปในไลน์ สอบถามเรื่องขนาดที่นอน และการวัดขนาดที่นอนว่าวัดอย่างไร เพื่อจะได้สั่งซื้อไม่ผิดขนาด พนักงานขายแนะนำว่าวัดความกว้าง โดยวัดจากความยาวหัวเตียงถึงปลายเตียง โดยวัดจากขอบด้านข้างเตียงจากซ้ายไปขวา         คุณภูเขาก็วัดตามคำแนะนำของแอดมินที่ในไลน์ เมื่อวัดได้เรียบร้อยแล้วก็แจ้งแอดมินไป แอดมินบอกกลับมาว่าขนาดที่วัดได้คือที่นอน 5 ฟุต เขาจึงชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และรอสินค้าด้วยใจจดจ่อ         งานมาเข้าตอนที่สินค้ามาส่ง คุณภูพบว่าที่นอนนั้นเข้ากับขนาดความกว้างของเตียงได้ แต่ขนาดความยาวไม่ได้ เตียงยาวกว่าที่นอนเยอะมากเหลือช่องไว้จนไม่น่ามอง เขาจึงสอบถามไปทางไลน์ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แอดมินแจ้งกลับมาว่า ถ้าเขาต้องการคืนสินค้า บริษัทจะหักค่าเสื่อม 50% เพราะสินค้าแกะออกจากกล่องและได้ติดตั้งแล้ว และต้องออกค่าใช้จ่ายในการคืนสินค้าด้วย         คุณภูรู้สึก “ไม่สิ ไม่ถูกต้อง” ฉันทำตามที่แอดมินในไลน์บอกทุกอย่าง พอที่นอนมาส่งมันใส่กับเตียงไม่ได้ เป็นความผิดของฉันตรงไหน แต่ถ้าจะขอคืนสินค้าก็ต้องถูกหักเงินตั้ง 50% ทำไมเป็นอย่างนั้นยังไม่ได้ใช้เลยนะ จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทคู่กรณี ขอให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าคืนเงิน 50% หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนต่อบริษัทางอีเมล์ เพื่อเป็นหลักฐานการติดต่อ         คุณภูได้เขียนอีเมลถึงบริษัทขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ ต่อมาทราบว่าบริษัทตอบกลับผู้ร้องว่า “บริษัททำตามเงื่อนไขที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์แล้ว แต่เกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารของแอดมินกับผู้ร้อง จึงขอหักค่าเสื่อม 30% และบริษัทจะเข้ารับสินค้าคืนโดยผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”         คุณภูคิดว่าการหักค่าเสื่อม 30% ก็ยังไม่เป็นธรรม ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยดำเนินการช่วยเหลือประสานงานกับทางบริษัทฯ โดย “เสนอให้บริษัทคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเต็มจำนวน เพราะว่าการสั่งซื้อสินค้ามีข้อมูลในการสั่งที่ผิดพลาดคือ แอดมินแนะนำผู้ร้องให้วัดเฉพาะความกว้าง ผู้ร้องจึงวัดเฉพาะความกว้างไม่ได้วัดความยาวด้วย จึงทำให้สั่งซื้อที่นอนไม่พอดีกับเตียง” มีการเจรจากันจนสุดท้ายบริษัทยอมไม่หักค่าเสื่อมและคืนเงินให้ผู้ร้องเต็มจำนวน พร้อมเข้ารับสินค้าคืนโดยผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ร้านค้าไม่ยอมให้เปลี่ยนเสื้อ

        หลายครั้งที่ซื้อสินค้ามาแล้ว ตอนซื้อก็คิดว่าตรวจดูดีแล้วแต่หากนำมาทดลองใช้แล้วกลับพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถมีสิทธิไม่พอใจยินดีคืนเงินหรือขอเปลี่ยนได้ไหม         เย็นวันหนึ่งคุณศิริวรรณได้นัดพบเหล่าเพื่อนสาวกินข้าวและพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยวัยเรียน หลังจากแยกย้ายกันกลับบ้าน คุณศิริวรรณเดินผ่านร้านขายเสื้อที่ตั้งอยู่ริมถนนแห่งหนึ่ง มองเข้าไปในร้าน ก็เกิดความคิดอยากซื้อเสื้อใหม่ให้สามีสักครึ่งโหล หลังจากเดินหยิบจับดูเนื้อผ้าอยู่สักพัก คุณศิริวรรณก็บอกกับเจ้าของร้านว่า อยากได้เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีกรมและสีขาว ไซส์ XL อย่างละ 3 ตัว หลังจากได้รับสินค้าเรียบร้อย คุณศิริวรรณจึงชำระค่าเสื้อให้กับเจ้าของร้าน        วันต่อมาคุณศิริวรรณจัดแจงซักเสื้อที่เพิ่งซื้อมาใหม่ เพื่อที่จะเซอร์ไพรส์สามี หลักจากซักตากเสื้อจนแห้ง คุณศิริวรรณก็เตรียมนำเสื้อมารีด ขณะที่กำลังจะรีดนั้น คุณศิริวรรณได้สังเกตว่าเสื้อดูใหญ่ผิดปกติ จึงได้ดูป้ายขนาดเสื้อที่บริเวณปก ปรากฏว่าเสื้อทุกตัวมีตัวอักษร XL กำกับเหมือนกันหมด คุณศิริวรรณจึงได้นำเสื้อทั้งหมดมาวางเทียบขนาดกัน พบว่า เสื้อที่ซื้อมาทั้งหมด 6 ตัว มีขนาดแตกต่างกันอยู่ 3 ตัว เมื่อลองสังเกตที่ป้ายบอกขนาดเสื้ออีกครั้งก็พบว่า เสื้อ 3 ตัว ที่มีขนาดใหญ่กว่ามีรอยตัดที่ป้ายบอก เหมือนกับว่ามีตัวอักษรด้านหน้าถูกตัดออกไป คุณศิริวรรณเดาว่า เสื้อ 3 ตัวนี้ จริงๆ แล้วมีขนาดไซส์ XXL แต่ถูกตัดตัวอักษร “X” ด้านหน้าออกไป เพื่อทำให้เข้าใจว่าเสื้อตัวดังกล่าวเป็นไซส์ XL        เมื่อทราบว่าเสื้อที่ตนซื้อมาไม่ถูกต้อง คุณศิริวรรณจึงกลับไปที่ร้านขายเสื้อ เพื่อขอเปลี่ยนสินค้า แต่คนขายบอกว่า เสื้อถูกซักแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้ ให้คุณศิริวรรณนำเสื้อไปเย็บแก้ด้านข้างเอง แนวทางในการแก้ไขปัญหา         กรณีคุณศิริวรรณซื้อเสื้อ แล้วมาทราบภายหลังว่า เสื้อที่ซื้อมาจำนวน 3 ตัว จาก 6 ตัว ไม่ตรงกับความต้องการที่ได้ตกลงกันไว้ ในกรณีนี้ เป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา รวมกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 465 (3) กำหนดให้ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะที่สั่ง หรือปฏิเสธไม่รับทั้งหมดได้ โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ          อีกทั้ง การกระทำของเจ้าของร้านถ้าจงใจตัดป้ายบอกขนาดไซส์เสื้อ ให้เหลือเพียง XL เพื่อหลอกหลวงให้คุณศิริวรรณ ซื้อเสื้อเชิ้ตที่ผิดไซส์ดังกล่าวไป อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         คุณศิริวรรณจึงสามารถนำสินค้าไปเปลี่ยน หรือ ขอคืนเงินจากร้านขายเสื้อได้ทันที รวมถึงสามารถเอาผิดกับเจ้าของร้านค้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสต่างแดน

อย่าทิ้งกันง่ายๆหนุ่มสวิสวัย 33 ปี ถูกตัดสินจำคุกสองวันเพราะไม่ยอมจ่ายค่าปรับจากการฝ่าฝืนเทศบัญญัติ เดือนพฤศจิกายนปี 2517 สายสืบของเทศบาลเมืองบีล/เบียนน์ พบถุงขยะในวันที่ไม่อนุญาตให้ทิ้ง และถุงดังกล่าวไม่มีสติกเกอร์แสดงการเสียภาษี เมื่อตามหาเจ้าของถุงพบจึงเรียกมาจ่ายค่าปรับ 150 ฟรังก์ (ประมาณ 5,000 บาท) แต่เจ้าตัวไม่ยอมจ่าย เรื่องจึงยืดเยื้อมาจนมีคำตัดสินดังกล่าวสวิตเซอร์แลนด์แลนด์มีอัตราการสร้างขยะ 714 กิโลกรัม/คน/ปี สูงกว่าหลายประเทศในยุโรป รัฐบาลจึงเข้มงวดมาก ครัวเรือนต้องจัดเก็บขยะลงถุงที่รัฐกำหนด(ราคาถุงรวมค่าธรรมเนียม) หรือหากเป็นถุงทั่วไปก็จะต้องซื้อสติกเกอร์ภาษีมาติดแน่นอนว่ามีคนพยายามลักไก่ ปีที่แล้วมีคนถูกปรับ 209 คน โดนตักเตือน 600 คน (และมีไม่น้อยที่ขับรถข้ามชายแดนไปทิ้งขยะในฝรั่งเศส!) แต่ในภาพรวมสวิตเซอร์แลนด์แลนด์สามารถจัดการขยะได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยอัตราการรีไซเคิลสูงกว่าร้อยละ 50 เมดอินเจแปน? กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามสั่งปรับผู้ประกอบการ “ร้านร้อยเยน” โทษฐานไม่  แสดงข้อมูลบนฉลากให้ชัดเจนเรื่องสถานที่ผลิต แต่กลับโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านขายของ  นำเข้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น กระทรวงฯ สำรวจพบว่า ร้อยละ 99.3 ของสินค้าในร้าน Mumuso ผลิตมาจากประเทศจีน ส่วนบางเครือ เช่น Miniso หรือ Daiso มีการแสดงฉลากเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน หรืออังกฤษ แต่ไม่มีภาษาเวียดนามแปลกำกับว่า “ผลิตในประเทศจีน”  ร้านสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมมาก (นอกจากที่กล่าวมา ยังมี Minigood Yoyoso และ Ilahui) เพราะโดนใจลูกค้าทั้งราคาและดีไซน์ เมื่อมีข่าวนี้ออกมา คนเวียดนามซึ่งเชื่อมั่นในคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเกาหลีจึงรู้สึกผิดหวังไม่น้อย บ้างว่าจะไม่อุดหนุนอีกแล้วเพราะรู้สึกถูกหลอก บ้างก็ว่าจะช้อปต่อไป แต่จะเลือกเฉพาะสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเท่านั้นใครๆ ก็เช็ดได้  “คลีเน็กซ์ แมนไซส์” เป็นทิชชูขายดีในอังกฤษมากว่า 60 ปี แต่วันนี้ผู้ผลิตตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพราะเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค ทิชชูที่มีผู้ซื้อไม่ต่ำกว่า 3.4 ล้านคนต่อปีจะเปลี่ยนชื่อเป็น “คลีเน็กซ์ขนาดใหญ่พิเศษ” ทั้งนี้ผู้ผลิตไม่เชื่อว่าชื่อเดิมเป็นการเหยียดหรือแบ่งแยกเพศตามที่โดนกล่าวหา แต่ก็ยินดีจัดให้ คนอังกฤษเอือมกับการแบ่งแยกสินค้าตามเพศโดยไม่จำเป็น ที่ลุกลามจากมีดโกน ไปถึงปากกา หรือแม้กระทั่งขนมหวานองค์การมาตรฐานโฆษณาก็ประกาศว่าจะแบนโฆษณาที่สื่อไปในทางเหยียดเพศ เช่น โฆษณาที่นำเสนอว่าผู้ชายไม่รู้จักหยิบจับงานบ้าน หรือผู้หญิงต้องเป็นคนเก็บกวาด เมื่อสมาชิกครอบครัวทำเลอะ เป็นต้น  ทั้งนี้การสำรวจอิทธิพลของโฆษณาต่อผู้ชมพบว่ามันสามารถสร้างภาพจำในแง่ลบให้ผู้บริโภคได้จริง องค์กรสิทธิสตรีให้ความเห็นว่า การตลาดยุคนี้ควรทำอะไรได้มากกว่าการเสนอภาพเดิมๆ ซ้ำซาก ถึงคราวต้องคลีนมาแล้ว! ผลการสำรวจประจำปีเรื่องนโยบายส่งเสริมการงดใช้ยาปฏิชีวนะของเครือร้านเบอร์เกอร์ในอเมริกา 25 แบรนด์ เคยมีผลตอบรับที่ดีเรื่องเนื้อไก่มาแล้ว มาดูเนื้อวัวบ้าง แบรนด์เหล่านี้จะได้แต้มถ้ามี 1) นโยบายส่งเสริมการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 2) แนวทางที่จะทำให้เป็นไปตามนโยบาย และ 3) การลงมือทำจริงจาก 25 แบรนด์ มีเพียง 2 แบรนด์เท่านั้นที่ได้เกรด A (Shake Shack และ BurgerFi)  ตามมาห่างๆ ด้วย Wendy’s ที่ได้เกรด D-  ที่เหลือทั้งหมดรวมกลุ่มกันติด F (ในกลุ่มนี้มี McDonald’s  Burger King และ A&W อยู่ด้วย)ทั้งนี้การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ (เช่น ใช้ “เร่งโต” หรือ “ป้องกันโรค”) เป็นอันตรายมาก  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริการะบุว่า ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิต 23,000 คนและผู้ป่วย 2,000,000 คน จากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเต้าหู้ที่คุณคู่ควร สภาผู้บริโภคฮ่องกงแถลงผลการตรวจสอบปริมาณโปรตีน ไขมัน และแคลเซียมในเต้าหู้ 40  ตัวอย่าง (แบบแพ็กสำเร็จ 34 ตัวอย่าง และไม่แพ็ก 6 ตัวอย่าง)  ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยในเต้าหู้ที่ฮ่องกงนำมาทดสอบอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และมีเต้าหู้อย่างน้อยสามยี่ห้อมี ปริมาณโปรตีนต่างจากที่ระบุไว้เกินร้อยละ 20  ส่วนไขมันนั้น เต้าหู้เจ็ดยี่ห้อมีปริมาณไขมันต่างจากที่ระบุไว้ระหว่างร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 212  ในขณะที่พบแคลเซียมระหว่าง 16 - 420 มิลลิกรัมในเต้าหู้ที่นำมาทดสอบ สภาฯ ลงความเห็นว่าข้อมูลที่ไม่ตรงกับปริมาณจริง (ไม่ว่าจะมากหรือน้อยกว่าที่ตรวจพบ) อาจส่งผลให้ ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะกับความต้องการของตนเองได้ว่าแล้วก็สั่งเก็บบางยี่ห้อออกจากร้านและส่งต่อบางยี่ห้อให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสต่างแดน

ขายให้ชัดหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและตลาดและของอังกฤษ  เริ่มลงมือจัดการกับดาราและบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพของตนเองร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยไม่ระบุให้ชัดว่าได้เงินค่าโฆษณาจากแบรนด์หรือไม่ตามกฎหมายอังกฤษ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ้ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ที่ผู้โพสต์ได้รับเงินจากการแชร์เรื่องราวนั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถดูออกทันทีว่าเป็นการโฆษณา ขณะนี้มีคนดังถูกดำเนินการแล้วสี่ราย ตั้งแต่ดาราที่โพสต์รูปวิตามินพร้อมโค้ดส่วนลด บล้อกเกอร์ด้านการแต่งหน้าที่ลงรูป “ชาลดพุง” ในอินสตาแกรม  พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ทวิตบอกผู้ติดตามของเธอว่าโปรดปรานขนมยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ ไปจนถึงดาราที่ลงรูปเครื่องดื่มพร้อมแฮชแท็ก #sp (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหมายถึง sponsored post หรือโพสต์ที่มีสปอนเซอร์) การสืบสวนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งไม่มีเพดานค่าปรับสูงสุดด้วยจ่ายแพงกว่าเพื่อ?อเมซอน ร้านค้าออนไลน์ถูกสั่งงดโฆษณาบริการสมาชิกแบบ “อเมซอน ไพรม์” ที่รับประกันการ จัดส่งสินค้า “ภายในหนึ่งวัน”   หน่วยงานดูแลมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ ได้รับเรื่องร้องเรียน 280 กรณี จากสมาชิกบริการไพร์มที่มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 7.99 ปอนด์ (ประมาณ 350 บาท) ที่ไม่ได้รับสินค้าที่สั่งภายในหนึ่งวัน อเมซอน อธิบายว่าได้แจ้งไว้ (ตรงไหนสักแห่ง) ในเว็บไซต์ว่าผู้สั่งซื้อจะได้รับสินค้า “หนึ่งวันทำการหลังจากเริ่มจัดส่ง” และ “เวลาในการจัดส่งขึ้นอยู่กับเวลาที่สั่งซื้อ” ด้วย  แต่หน่วยงานดังกล่าวฟันธงว่าผู้ใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกแบบ “ไพร์ม” องค์กรผู้บริโภค Citizens Advice บอกว่า ไม่เพียงลูกค้าของอเมซอนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ร้อยละ 40 ของลูกค้าระดับ “พรีเมียม” ของร้านออนไลน์ ได้รับสินค้าช้ากว่าที่คาดหวังทั้งๆ ที่จ่ายแพงขึ้น  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีช่องทางการชดเชยเยียวยาที่สะดวกในกรณีที่เกิดความเสียหายจากความล่าช้าด้วยภาษีลดสูบญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องประชากรที่สุขภาพดีและอายุยืน กำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2015 รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ล้านเยนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่  ด้านหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาล 1,200,000 ล้านเยน (โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะสมองเสื่อม) ทั้งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ส่วนที่เหลือเป็นความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากก้นบุหรี่ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.2 ของประชากร ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่มาตรการลดการสูบบุหรี่ของรัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มภาษีบุหรี่ ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี  2019 ราคาบุหรี่จะขึ้นเป็นซองละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปที่ราคาบุหรี่ต่อซองจะเพิ่มขึ้นเป็น 385 บาทในปี 2020ไม่สวยก็กินได้ประมาณร้อยละ 35 ของผักผลไม้จากสวนของเกษตรกรในยุโรป ไม่เคยมีโอกาสได้พบปะผู้บริโภคซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกมันมีหน้าตาประหลาดหรือขนาดไม่ตรงสเปคงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระพบว่า ผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตันถูกทิ้งไปเพราะ “ผู้บริโภคไม่ชอบแบบนี้” ในขณะที่เกษตรกรต้องลงทุนผลิตในปริมาณที่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้กับห้างค้าปลีก เพื่อให้มีส่งครบตามที่สั่งหลังจากบางส่วนถูกคัดออกความสูญเสียที่ว่านี้มาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมกับมาตรฐานสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งไว้สูงเกินไป และความคาดหวังของตัวผู้บริโภคเองที่ต้องการแต่ผักผลไม้ที่ดูดีไร้ตำหนิ ผู้วิจัยเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น พร้อมๆ ขอให้ห้างค้าปลีกให้ที่ยืนกับผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ที่ผ่านมา ห้าง Sainsbury และ ห้าง Morrisons ได้เริ่มลงโครงการกับกล้วยและอโวคาโดแล้วเจ็บมาเยอะสาวๆ เกาหลีนัดกันหยุดใช้จ่ายทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อประท้วงการดูถูกผู้หญิงและการเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่มักจะตั้งราคาสินค้าสำหรับผู้หญิงแพงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชายพวกเธอบอกว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงต้องดูดีดูสวยตลอดเวลา แต่สินค้าที่พวกเธอต้องซื้อกลับมีราคาแพงเกินไป แจ็กเก็ตสำหรับผู้หญิงซึ่งมีแต่กระเป๋าหลอก ใส่ของอะไรไม่ได้ ราคาแพงกว่าแจ็กเก็ตชาย กางเกงแบบไร้รอยยับสำหรับผู้ชายก็ถูกกว่าและสวมใส่สบายกว่าด้วย  กลุ่มนี้ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน บอกว่าอยากให้ธุรกิจรู้ว่ายอดขายจะร่วงลงแค่ไหนหากผู้หญิง “ไม่ช้อป” และหันมาทำอาหารกลางวันไปรับประทานเอง ถีบจักรยานไปไหนต่อไหนเอง รวมถึงยกเลิกการจองโต๊ะสำหรับอาหารเย็น เป็นต้น  เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่รวมตัวกันไม่ไปทำงานและหยุดทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นว่าโลกจะไปต่อไม่ได้หากผู้หญิงไม่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สารกันบูดใน “ขนมเปี๊ยะ”

ขนมเปี๊ยะ อีกหนึ่งขนมยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จัดเป็นขนมที่นิยมซื้อหาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือรับประทานเป็นของว่างแสนอร่อย ปัจจุบันจึงมีขนมเปี๊ยะวางขายอยู่ทั่วไปมากมายหลายแบบหลายรสชาติ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง และไส้ขนมที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะทำให้ขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้โอกาสที่ขนมเปี๊ยะจะเน่าเสียหรือเกิดเชื้อราก่อนรับประทานหมดนั้นเกิดได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นผู้ผลิตรายหลายจึงเลือกที่จะใส่หรือเติมสารกันบูดลงไปด้วย เพื่อคงสภาพของขนมให้อยู่ได้นานๆ หลายวัน ทำให้ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลือก ขนมเปี๊ยะ จากหลายสถานที่ผลิต นำมาทดสอบหาปริมาณสารกันบูด มาดูกันว่าบรรดาเจ้าดังเจ้าอร่อยมียี่ห้อไหนบ้างที่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดขนมเปี๊ยะ ใส่สารกันบูดได้หรือไม่?สารการบูดที่เราทำการทดสอบครั้งนี้คือ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่ สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีโดยจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอาหารผิดปกติ ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การใช้ กรดเบนโซอิก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งขนมเปี๊ยะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับขนมเค้ก ขนมพาย โดยในประกาศระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งถ้าลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมนั้น เท่ากันกับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ที่ก็อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในกลุ่มอาหารประเภทขนมอบ ส่วน กรดซอร์บิก โคเด็กซ์ กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการใช้ทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ปริมาณสูงสุดที่พบเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมผลการทดสอบผลทดสอบ ขนมเปี๊ยะ 13 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก คือ ขนมเปี๊ยะเหลือง จากร้าน เอส แอนด์ พี ขณะที่ตัวอย่างขนมเปี๊ยะอีก 12 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งหมด แต่ปริมาณของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะจากการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบในปริมาณที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมข้อสังเกต-มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก แต่ก็พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้น อาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบโดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตมีการใส่สารกันบูดลงไปในส่วนผสม-มี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ยี่ห้อ แต้ เซ่ง เฮง-ขนมเปี๊ยะที่เราเลือกเก็บมาทดสอบส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ ขนมเปี๊ยะเจ้าดังที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบกินขนมเปี๊ยะ และมักนิยมซื้อหากันในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เช่น ขนมเปี๊ยะ อื้อ เล่ง เฮง และ ขนมเปี๊ยะแต้เล่าจิ้นเส็ง กลุ่มที่ 2 คือ ขนมเปี๊ยะที่ขายอยู่ในร้านเบเกอร์รี่ชื่อดังที่มีสาขาหลายสาขา เช่น เอส แอนด์ พี, กาโตว์ เฮาส์ และร้านขนมบ้านอัยการ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก-ถ้าดูจากวันที่ผลิตและวันหมดอายุของตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1-2 เดือน ถือว่าเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องวันที่ผลิตและหมดอายุ เพราะลักษณะของร้านค้าที่ขายขนมเปี๊ยะส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำไปขายไป กฎหมายอนุโลมให้อาหารลักษณะนี้ไม่ต้องมีฉลาก ซึ่งดูแล้วอายุของขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลบนฉลาก คือไม่เกิน 1-2 เดือนฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อขนมเปี๊ยะจากร้านที่มั่นใจ ดูที่ทำสะอาดผลิตใหม่ทุกวัน -ขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาแล้วกินไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็น ช่วยยืดอายุของขนมเปี๊ยะให้นานขึ้น-แม้ว่าผลทดสอบที่ออกมาจะบอกว่า ขนมเปี๊ยะ อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เพราะปริมาณที่พบค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรเลือกกินแต่พอดี เพราะในขนมเปี๊ยะมีส่วนผสมทั้งน้ำตาลและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนมเปี๊ยะที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เปลือกนิ่ม เช่น เปี้ยะไหว้พระจันทร์ เปี๊ยะลูกเต๋า เปี๊ยะโมจิ อีกแบบคือขนมเปี๊ยะที่เปลือกแป้งจะมีความกรอบร่วนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เช่น เปี๊ยะใหญ่ เปี๊ยะกุหลาบ เปี๊ยะทานตะวัน เป็นต้นตามความเชื่อของประเทศจีน ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมมงคล สื่อความหมายถึงความปรารถนาดีต่อกัน ของทั้งผู้ให้และผู้รับ ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนคำว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “เย่ว์” ที่แปลว่า พระจันทร์ และคำว่า “ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง ขนมเปี๊ยะ เพราะในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่คนจีนจะได้พบปะญาติพี่น้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกันกินขนมและชมพระจันทร์ไปพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 สำรวจ “ร้านค้าออนไลน์” เจ้าไหนน่าช้อปกว่ากัน

เพราะปัจจุบันนี้ชีวิตของเราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ง่ายขึ้นเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสั่งการผ่านทางหน้าจอสมาร์ทโฟน ด้วยเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ถูกพัฒนามาไกล ล่าสุดก็เพิ่งจะประมูลคลื่น 4จี กันไป สัญญาณอินเตอร์เน็ท และ ไว-ไฟ ก็หาใช้ได้ไม่ยาก ทำให้เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่หลายๆ คนหันมาทำผ่านทางออนไลน์มากขึ้นก็คือ “การช้อปปิ้ง” ซึ่งเดี่ยวนี้ก็มีร้านค้าและสินค้าให้เลือกซื้อผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากไว้คอยเอาใจขาช้อป ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบรับกับยุคสมัย ยุคที่เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น           รูปแบบของ “ร้านค้าออนไลน์” ในปัจจุบัน 1.เว็บไซต์ที่เป็นของผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้าเองโดยตรงเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในลักษณะนี้จะเป็นเว็บไซต์ที่ทางร้านค้าทำขึ้นเพื่อเปิดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น www.apple.com/th หรือ shop.adidas.co.th เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นเว็บไซต์ที่ขายสินค้าเฉพาะกลุ่มชัดเจน เช่น www.jib.co.th/web/ (ร้าน เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์) ที่ขายเฉพาะอุปกรณ์ด้านไอที หรือ www.naiin.com (ร้านนายอินทร์) ที่ขายเน้นขายหนังสือและนิตยสารต่างๆ เป็นหลัก เป็นต้น เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าที่มีหน้าร้านปกติอยู่แล้ว แต่มาขยายช่องทางเปิดเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ รองรับกระแสที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาช้อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนและหน้าจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น 2.เว็บไซต์แบบ ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Marketplaceเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลางที่รวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทต่างๆ เอาไว้ภายในเว็บไซต์เดียว เหมือนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมายมาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้า จุดเด่นของเว็บไซต์ในลักษณะนี้ก็คือการมีสินค้าหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อ มีสินค้าให้เลือกเยอะ ทำให้สามารถเปรียบเทียบราคาและคุณสมบัติของสินค้าที่เราต้องการได้จากหลายๆ ร้านค้าที่อยู่ในเว็บไซต์ ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลเพราะในเว็บไซต์จะจัดแบ่งหมวดหมู่ของสินค้าแต่ละประเภทเอาไว้แล้ว เว็บไซต์รูปแบบ e-Marketplace ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมี 2 แบบ คือแบบที่เว็บไซต์ทำหน้าที่ตั้งแต่การขาย การสั่งซื้อ การรับชำระค่าสินค้า ไปจนถึงการจัดส่ง สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้ายี่ห้อดังเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ www.shopat7.com และ www.itruemart.com เป็นต้น อีกแบบจะเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าจากผู้ค้ารายย่อยสามารถสมัครเข้ามาขายสินค้าของตัวเองได้ ตัวเว็บไซต์จะรับหน้าที่เป็นตัวกลางดูแลเรื่องระบบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการส่งสินค้าร้านจะดำเนินการเองเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละร้านค้า เว็บไซต์ในกลุ่มนี้ได้แก่ www.weloveshopping.com, www.tarad.com, www.lazada.co.th และ www.ensogo.co.th เป็นต้น 3.เว็บไซต์แบบ ตลาดนัดออนไลน์ หรือ e-Classifiedเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในแบบ  e-Classified  เป็นเว็บไซต์ขายสินค้าที่ไม่ว่าใครก็สามารถลงขายสินค้าได้โดยไม่เสียค่าบริการหรือค่าคอมมิชชั่นใดๆ ความรู้สึกคล้ายกับการเปิดแผงลอยในตลาดนัด ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านค้าหรือบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถมาลงขายสินค้ากับเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์แบบ e-Classified ได้ มีสินค้าแค่ชิ้นเดียว เป็นสินค้าเก่า ของมือสอง ของที่ใช้เองแล้วอยากขาย ก็สามารถนำมาลงขายได้ เพียงแต่ขั้นตอนในการซื้อขาย ตัวผู้ประกาศลงขายสินค้าก็ต้องรับหน้าที่ดำเนินการต่อเองทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการติดต่อซื้อขายกับผู้ซื้อ การชำระค่าสินค้า การจัดส่ง เว็บไซต์ e-Classified เป็นแค่พื้นที่กลางในการลงประกาศขายสินค้าเท่านั้น เว็บไซต์แนวนี้ที่เป็นที่รู้จักกันก็คือ www.kaidee.com4.ร้านค้าออนไลน์ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ (Facebook, Instagram, Line) ในการขายสินค้าโซเชียลมีเดีย หรือ สังคมออนไลน์ ถือเป็นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ การซื้อขายสินค้าและการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ใช้เว็บไซต์และโปรแกรมโซเซียลมีเดียเพื่อติดต่อสื่อสารกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ช่องทางดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อการประกอบธุรกิจ ทั้งกลุ่มสินค้าชื่อดังและกลุ่มผู้ค้ารายย่อย ต่างก็หันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการขายสินค้า ทั้งวิธีการทำหน้าเพจเพื่อค้าสินค้าโดยตรง หรือการนำไปประกาศขายตามกลุ่มที่มีการขายสินค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากใน Facebook ที่สามารถทำได้โดยง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่ใน Instagram ที่เป็นแอพลิเคชั่นสำหรับแช่ร์รูปถ่าย ก็ยังถูกนำไปใช้เพื่อเปิดเป็นร้านค้าออนไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดียเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้เป็นจำนวนมากแต่ใช้การลงทุนที่แทบจะเป็นศูนย์ การติดต่อพูดคุยเพื่อซื้อขายรวมถึงการชำระค่าสินค้าทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว จบทุกอย่างได้ด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้ไม่ใช้เรื่องน่าแปลกใจที่จะเกิดพ่อค้า-แม่ค้าหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามโซเชียลมีเดียต่างๆ (ในปี 2015 ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยใช้ Facebook มากถึง 35 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศทั้งหมด, Line มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 33 ล้านคน ส่วน Instagram มีผู้ใช้จำนวน 2 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะมีแนวโน้นของจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ที่มา: www.zocialinc.com) ข้อดี - ข้อเสียของการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ข้อดี-สะดวกสบาย สามารถซื้อสินค้าผ่านทางสมาร์ทโฟน หน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่ร้าน ประหยัดค่าเดินทาง ประหยัดเวลา-สามารถซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั้วโมง -มีสินค้าให้เลือกเป็นจำนวนมาก ง่ายต่อการเปรียบเทียบราคา คุณภาพของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ-มีจัดโปรโมชั่นและให้ส่วนลดในการซื้อสินค้าอยู่เสมอข้อเสีย-ผู้ซื้อต้องมีความรู้เรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์โฟน และอินเทอร์เน็ต-ไม่ได้เห็นสินค้าตัวจริง สินค้าจับต้องไม่ได้ -การจัดส่งต้องใช้เวลาหลายวัน และต้องเสียค่าจัดส่ง-ต้องศึกษาข้อมูลหรือมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการซื้ออยู่บ้างแล้ว-ต่อรองราคาไม่ได้วิธีป้องกันการถูกหลอกจากการซื้อสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ควรเลือกเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังที่เป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับ เพราะเว็บไซต์เหล่านี้มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย มีที่ตั้งบริษัทหรือร้านค้าที่แน่นอน หากเกิดปัญหาจากการสั่งซื้อสินค้าก็สามารถติดตามเพื่อดำเนินการแก้ไขได้ง่าย มีระบบการจ่ายเงินและการส่งสินค้าที่ปลอดภัย มีนโยบายคืนสินค้าและคืนเงินที่เป็นมาตรฐาน แต่ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษก็คือการซื้อสินค้าออนไลน์จากพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย ที่โพสต์ขายสินค้าเองตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อาจมีปัญหาในการติดตามตัวเวลาที่การปัญหาหลังจากซื้อสินค้า รวมทั้งอาจมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าด้วย โดยที่ผู้ซื้อยากต่อการตรวจสอบ ข้อควรปฏิบัติเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์กับร้านค้าในโซเชียลมีเดีย-เลือกซื้อกับร้านค้าหรือผู้ขายที่แสดงตัวตนชัดเจน มีการเปิดเผยหลักฐานบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่สามารถติดตามตัวได้-ดูประวัติการซื้อขายก่อนหน้านี้ของผู้ขายว่ามีประวัติที่ไม่ดีหรือเปล่า เช่น สินค้ามีปัญหา หรือส่งของไม่ตรงเวลา โดยดูได้จากการแสดงความคิดเห็นของลูกค้าคนอื่นๆ ที่เคยซื้อสินค้ากับผู้ขายรายนี้มาก่อน ในหน้าเว็บหรือหน้า Facebook หรือนำชื่อผู้ขายชื่อร้านค้าไปลองเสิร์ชหาข้อมูลใน Google-ข้อดูรูปถ่ายสินค้าตัวจริง ขอดูภาพมุมต่างๆ ของสินค้าให้มากที่สุด สอบถามตำหนิต่างๆ ของสินค้าจากผู้ขายให้ชัด ก่อนตัดสินใจซื้อ-สอบถามเรื่องวิธีการส่งสินค้าและวันที่จะได้รับสินค้าจากผู้ขายเสมอ-ขอหลักฐานการส่งสินค้า เช่น ใบเสร็จจากไปรษณีย์ เพื่อใช้ยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริง-บันทึกการสนทนาการซื้อขายบนโซเชียลมีเดียเก็บไว้เป็นหลักฐานเมื่อเกิดปัญหา-ควรบันทึกภาพหน้าเพจร้านค้าใน Facebook หรือข้อความโพสต์ขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียเก็บเอาไว้ เพื่อใช่เป็นหลักฐานเมื่อเกิดปัญหา เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ขายที่ตั้งใจหลอกลวงจะปิดหน้าเพจ Facebook หรือลบข้อความทิ้ง-เมื่อถูกโกงจากการซื้อของออนไลน์ให้นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ประกอบการ E-Commerce หรือ การทำธุรกรรมซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ไทยในปัจจุบันมีจำนวน 502,676 ราย มูลค่าของ E-Commerce ในประเทศไทย เมื่อปี 2557 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 2,033,493.4 ล้านบาท มูลค่า E-Commerce แยกตามแต่ละประเภทธุรกิจ (ปี 2558)1.การให้บริการที่พัก 658,909.76 ล้านบาท2.การผลิต 350,286.83 ล้านบาท3.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 303,1111.48 ล้านบาท4.การค้าปลีก และ การค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท5.การขนส่ง 59,572.42 ล้านบาท6.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 11,694.22 ล้านบาท7.กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 4,348.23 ล้านบาท8.การประกันภัย 1,751.62 ล้านบาท มูลค่าของสินค้าและบริการ แต่ละประเภทในธุรกิจ E-Commerce 1.คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ 25.66%2.เครื่องสำอาง และอุปกรณ์เสริมความงาม 24.42%3.แฟชั่น เครื่องแต่งกาย 17.27%4.สินค้าปลีกและส่งอื่นๆ 16.01%5.เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 5.65%6.ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ 5.61%7.อาหาร และเครื่องดื่ม 2.54%8.อุปกรณ์การกีฬา ของเล่นและของที่ระลึก 2.48%9.การจำหน่ายยายยนต์และผลิตภัณฑ์ 0.37% ที่มา: รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย ปี 2558, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 159 เถ้าแก่ร้านค้าออนไลน์ ต้องมุ่งคุ้มครองผู้ซื้อ

ใครหลายๆคนที่กำลังสนใจอยากมีกิจการเป็นของตนเอง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) หรือธุรกิจพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ บนโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจับตามองอย่างดีสำหรับ “เถ้าแก่ยุคใหม่”ทั้งหลายนะครับ.. เพราะไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ ตกแต่งร้าน หรือแม้กระทั่งนั่งเฝ้าหน้าร้านกันขโมยตลอดเวลา ก็สามารถเปิดร้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มาก เริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจง่าย ๆ เลย คือคุณอยากรู้ว่าจะขายอะไร พร้อมเตรียมเงินลงทุนในกระเป๋าไม่กี่พันบาท และคุณใส่ใจเรื่องของอินเทอร์เน็ต อยากมีหน้าเว็บไซต์เป็นของตนเองที่เหล่าบรรดานักพัฒนาทั่วโลกได้เขียนขึ้นในรูปแบบของการทำเว็บไซต์สำเร็จรูปมาให้คุณเลือกใช้ (Content Management System:CMS) ที่สามารถใส่เนื้อหา ข้อความง่ายๆ, ภาพถ่าย, เพลง, วิดีโอ, หรือเอกสาร โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้โค๊ดเฉพาะยากๆเหมือนในอดีต สมัยนี้การจดทะเบียนประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำได้สะดวก ในไทยเองก็มีจำนวนผู้จดทะเบียนไปแล้วประมาณ 8,000 ราย เป็นแบบบุคคลธรรมดา  5,000 ราย เป็นนิติบุคคล 3,000 ราย ซึ่งผู้ประกอบการ 1 รายอาจมีเว็ปไซต์ได้มากกว่า 1 เว็ปไซต์ ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเป็นเถ้าแก่บนโลกออนไลน์ อย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะก็ นอกจากเรื่องการวางแผนธุรกิจแล้วคุณก็ต้องมีการ ตั้งชื่อให้ร้านของคุณ โดเมนเนม (Domain name) หรือ ชื่อเว็บไซต์ เป็นตัวตนของร้านที่จำเป็นต่อการสร้างแบรนด์คุณให้ติดตา แก่บรรดาขาช้อปในโลกออนไลน์ มีชื่อร้านแล้ว...รายละเอียดของสินค้า หรือ Content ข้อมูลต้องมีการระบุให้ละเอียด ชนิดที่ลูกค้าที่มาใช้บริการอ่านปุ๊ป แล้วทราบข้อมูลและการบริการ ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด มีการเชื่อมโยงหน้า หรือทำ Link ให้ง่ายต่อการค้นหา แม้ธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์ดูจะสดใสเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่ทว่าก็ยังมีเรื่องที่ต้องพึงระมัดระวังในการทำธุรกิจอย่างยิ่งยวด นั่นคือเรื่องข้อกฏหมายและเรื่องการดูแลคุ้มครองผู้ซื้อ ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์,กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันและแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามเถ้าแก่หน้าใหม่ทั้งหลาย หากคิดจะค้าขายทางนี้ ก็ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือบกพร่อง รับประกันสินค้าให้ตรงตามสรรพคุณที่โฆษณา และมีบริการหลังการขายที่ดีพอ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง แล้วคุณจะได้ความพึงพอใจจากลูกค้า และการไว้วางใจ ที่ลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าหรือบอกต่อให้ญาติสนิท มิตรสหาย มาซื้อสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ของคุณ เรียกว่าต้องคำนึกถึงการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลักสำคัญเลยทีเดียว ผมอยากให้เถ้าแก่หน้าใหม่ มาจับจองเปิดพื้นที่ร้านค้าออนไลน์กันให้มากๆ เพราะคุณจะได้ลูกค้าคนไทยกว่า 73% หรือ 25.1 ล้านคน ที่มีปริมาณการใช้งานค้นหากว่า 19 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับเถ้าแก่ที่กำลังหาลูกค้า และถ้ามองให้กว้างไปอีกนิดในเอเชียมีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 1.76 พันล้านคน และทั่วโลกกว่า 2.4 พันล้านคน ถือเป็นการวางแผนธุรกิจที่สร้างรายได้ให้คุณได้ง่ายๆ และนอกจากผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่จะมีรายได้เติบโต เศรษฐกิจในประเทศเติบโต และยังทำให้การค้าประเทศชาติเติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 9 เทคนิคจับผิดร้านค้าออนไลน์ เพื่อไม่โดนหลอก

แม้ว่าการซื้อของผ่านระบบออนไลน์เป็นที่นิยมของคนไทย แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งโจรของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาอีกไม่น้อย S! Money มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อย ฝากไว้เป็นข้อสังเกต ก่อนที่จะตัดใจจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ ดังนี้1. นำชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือ username ของคนขายมา search หาใน google หากชื่อนี้เคยหลอกลวงคนอื่นมาก่อน แล้วกลับมาโพสต์ขายของอีก จะมีคนพูดถึงรายละเอียดคดีความของเขาขึ้นมาเลยด้วย2. ให้กดค้นหาชื่อร้านค้า หรือคนขาย ใน Facebook หรือ Twitter ตรวจสอบสถานะว่ามีการขายของจริงๆ หรือไม่ เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีตัวตัวผ่านเครื่องมือ ต่างๆ ของโซเชียลแน่นอน3. ลองค้นหาในเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบตัวตน เช่น  peekyou.com , touchgraph.com/seo หรือ socialmention.com แล้วใส่ชื่อ หรือ username ของผู้ขายลงไป ก็จะเจอข้อมูลมากมายทั้งอีเมล์ ข้อมูลบนเว็บต่างๆ และ Social Network ของเขา4. ตรวจสอบกับผู้ที่เคยซื้อ ว่าได้รับสินค้าจริงๆ หรือไม่? อาจจะหลังไมค์ไปพูดคุยกับคนที่เคยสั่งซื้อที่มีชื่อปรากฏการจองสินค้า เช่น ถ้าร้านขายใน Facebook เราก็ Inbox ไปสอบถามความรู้สึก ความคิดเห็นว่า สินค้าเป็นอย่างไร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการตัดสินใจได้อีกทาง 5. อย่าเห็นแก่ของราคาถูก! ถ้าพบว่าร้านค้าออนไลน์ขายของถูกเกินจริง ต้องยิ่งสังเกตและระวังเป็นอย่างมาก เพราะโอกาสโดนหลอกสูงมากๆ  และอุทาหรณ์ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีนี้6. ลองสั่งซื้อของจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า คนขายคนนั้น ส่งของจริง และมีตัวตนจริงๆ (หากเป็นคนโกง เค้าจะพยายามให้คุณสั่งของทีละมากๆ ระวังเอาไว้)7.อย่าไว้ใจแค่ social network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายแอ็คเค้า(account)  พยายามขอแอ็คเค้าจริงๆ ที่เขาใช้ ที่สามารถเห็น เพื่อนๆ และพฤติกรรมจริงๆ ได้8.ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์ และการอัพเดทเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัพเดทเป็นประจำ เช่นมีสินค้าใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น การอัพเดทสินค้าเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าร้านออนไลน์ของเขาอยู่จริง ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น9. ส่วนการจ่ายเงิน หากจำเป็นต้องโอนผ่านธนาคาร พยายามเลือกร้านที่มีรีวิวการส่งสินค้า การรับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ใช้รูปเดิม เพื่อยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริงที่มา  http://money.sanook.com/229693/

อ่านเพิ่มเติม >