ฉบับที่ 271 เจอผลิตภัณฑ์เบเกอรี่แบรนด์ดังขึ้นรา

        ช่วงนี้ในโลกออนไลน์มีผู้บริโภคหลายคน พบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่ซื้อมาบริโภคอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารในร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่ในร้านอาหารทั่วไป ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเสียงผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของคุณวีผู้เสียหายที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ โดยเขาได้เล่าให้ฟังว่า         ได้ซื้อขนมเค้กแบรนด์ดังเจ้าหนึ่งมา 1 กล่อง (ภายในกล่องจะแยกขนมเป็นชิ้นๆ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวน 10 ชิ้น) จากร้านขายของชำแถวบ้าน เป็นขนมแบรนด์โปรดของคุณวีเลยแหละเพราะก็กินตั้งแต่เด็กจนโต หลังจากซื้อมาก็ได้รับประทานไปตามปกติแถมขนมก็ยังอร่อยเหมือนเดิมเลย แต่ด้วยความขนม 1 กล่องมีหลายชิ้น เลยกินไปเรื่อยๆ ไม่ได้กินครั้งเดียวจนหมด ทีนี้พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เขากลับมากินอีกครั้งฉีกซองออกมาก็เจอราสีขาวปนเขียวๆ ขึ้นอยู่บนขนม อ้าว! มันหมดอายุแล้วหรอ!(คุณวีคิด) เมื่อดูฉลากวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่หมดนะ จึงทำให้เขาเป็นกังวลและเลือกที่จะไม่บริโภคต่อ เขาได้นำผลิตภัณฑ์มาร้องเรียนและเปิดให้ทางมูลนิธิฯ ดู ซึ่งพบว่าขนมเค้กดังกล่าวขึ้นราอีก 4 ซอง ทีนี้คุณวีเลยเป็นกังวลเกรงว่าผู้บริโภครายอื่นจะได้รับปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอความช่วยเหลือว่าควรจะทำอย่างไรดี? แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ หลังจากได้รับเรื่องจากคุณวี ได้มีการแจ้งไปทางบริษัทดังกล่าวที่ผลิตสินค้าและได้นัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีสินค้ามีลักษณะขึ้นราก่อนวันหมดอายุ ซึ่งทางผู้จัดการบริษัทดังกล่าวก็ยินดีที่จะชดเชยให้เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมกับนำกระเช้าผลไม้และขนมเค้กดังกล่าว จำนวน 2 ลัง มามอบให้ เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงทำหนังสือขอโทษและแจ้งผลตรวจขนมดังกล่าวจากห้องแล็ปให้แก่ผู้เสียหายทราบด้วย ถือว่าทางบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์ ดังกล่าวให้แก้ไขปัญหา ดังนี้         1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน เช่น ใบเสร็จจากร้านค้า         2. ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน         3. นำหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่         4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) แจ้งความประสงค์ที่จะต้องการให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร         5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท เขียนสรุปปัญหาที่พบ ส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ระบุให้ชัดเจนถึงความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         กรณีที่ไม่ได้จะนำสินค้าเก็บไว้เพื่อร้องเรียน หากผู้บริโภคเจอ “เชื้อรา” ปนเปื้อนในอาหาร ทางฉลาดซื้อไม่แนะนำให้รับประทานต่อให้ทิ้งไปเลย เนื่องจากตัวเชื้อราอาจมีการแพร่เชื้อไปโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากรับประทานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ผลสำรวจฉลากเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink)

        เครื่องดื่มชูกำลัง  เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นเคย เพราะเริ่มต้นจากสร้างภาพโฆษณาการขายจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวบ้าน และด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่แพง เข้าถึงง่ายทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก เกิดมูลค่าทางการตลาดสูง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ผลิตหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้นโดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2564 ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverage) รวมอยู่ที่ราว 97-1.99 แสนล้านบาท ในจำนวนมูลค่าทั้งหมดนี้ เครื่องดื่มชูกำลัง ถือสัดส่วนมากเป็นลำดับที่ 3 คือราวร้อยละ13 มีมูลค่าในตลาดกว่า 30,000 ล้านบาทเป็นรองจากเครื่องดื่มน้ำอัดลมและโซดา (ร้อยละ 31)  และน้ำดื่ม (ร้อยละ 22) เท่านั้น         ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มชูกำลังมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง จากเครื่องดื่มสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  เมื่อเพิ่มส่วนผสมวิตามินต่างๆ และสมุนไพร  เช่น โสม กระชายดำ ทำให้มีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารกรุงเทพที่พบว่า การปรับให้มีภาพว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ช่วยผลักดันตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตขึ้นแม้ในสถานการณ์โควิด 19  เครื่องดื่มชูกำลังยังขยายกลุ่มเป้าหมาย ปรับเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเฉพาะกลุ่มมากขึ้นบางแบรนด์ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าคือกลุ่มผู้ชอบเล่นเกมส์โดยเฉพาะ          นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง จำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ  ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคพิจารณาได้ครบถ้วน            ผลการสำรวจฉลาก        1.  20 ตัวอย่าง ระบุว่า ใช้วัตถุกันเสีย          2.  19 ตัวอย่าง  ระบุว่าใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  มี 1 ตัวอย่าง คือ  คันโซ  คูณสอง ระบุไม่ผสมวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล        3.  เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ให้พลังงานมาก 5 ลำดับแรก  1) คันโซ คูณสอง ให้พลังงาน 110 กิโลแคลอรี(Kcal) ต่อ 1 หน่วยบริโภคหรือ 1 ขวด  2) ไทยเทเนียม พาวเวอร์ ให้พลังงาน 100 (Kcal) 3) คอมมานโด  ออริจินอล และอัศวิน เครื่องดื่มสมุนไพรให้พลังงาน 80 (Kcal)  4) โสมพลัส ให้พลังงาน 70 (Kcal)   และ 5) กระทิงแดง  ทีโอเปล็กซ์- แอล และเอ็ม 150 กระชายดำ ให้พลังงาน 60 (Kcal)           4.  เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ให้ปริมาณน้ำตาลมาก 5 ลำดับแรก  1) คันโซ คูณสอง ให้น้ำตาล 28 กรัมต่อ 1 ขวด  2) คือ ไทยเทเนียม พาวเวอร์ ให้น้ำตาล 20 กรัม 3) คอมมานโด  ออริจินอล 18 กรัม 4) เอ็ม 150 กระชายดำ  15 กรัม และ 5) โสมพลัส 14 กรัม        5.  เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงที่สุดคือยี่ห้อร็อคสตาร์ 0.12 บาท และถูกที่สุดคือ พรีเดเตอร์ช็อต แอคทีป กลิ่นเบอร์รี่  ราคา 0.04 บาท        การควบคุมเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน/เครื่องดื่มชูกำลัง อยู่ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 402 พ.ศ.2562 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 2)         สาระสำคัญคือการแสดงฉลากกำหนดให้ระบุข้อความว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ...(ขวดหรือกระป๋องตามลักษณะบรรจุภัณฑ์) เพราะอาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นขาว ฉลาดซื้อแนะ          -          เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนกำลังถูกชูภาพว่าช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกายและปัจจุบันยังฉายภาพการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยิ่งขึ้น แต่บางยี่ห้อให้ปริมาณน้ำตาลและพลังงานสูงกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมด้วยซ้ำ เช่น เครื่องดื่มเป๊บซี่ – โคล่า 1 แก้ว (200 มล.) ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี และให้น้ำตาล 16 กรัม แต่ในเครื่องดื่มชูกำลัง  คันโซ  คูณสอง  (150 มล.) ให้พลังงาน 110 กิโลแคลอรี่ ให้น้ำตาล 28 ก. เครื่องดื่มชูกำลังจึงทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ไม่ต่างจากน้ำอัดลมและผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคอย่างพิจารณาระมัดระวัง        -          เมื่อเทียบปริมาณน้ำตาลที่เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด สามารถมีน้ำตาลได้ถึง 5 – 6 ช้อนชา ขณะที่ปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายควรได้รับไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน  อีกทั้งในแต่ละวันเรายังได้รับปริมาณน้ำตาลจากอาหารอื่นๆ อีกมาก จึงควรบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังเป็นครั้ง        -     มีวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีพลัง ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำสะอาดตั้งแต่ตื่นนอนจะช่วยปลุกให้ร่างกายเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสดใสจากภายใน การรับประทานอาหารที่ดีที่มีสารอาหารที่ครบถ้วน และการออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เขาช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ” อย่างไร

        ปี 2564 นิตยสารฉลาดซื้อเคยทำสำรวจห้างค้าปลีกในประเด็นเรื่องนโยบายและมาตรการการจัดการกับสินค้า อาหารหมดอายุ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ในการสำรวจครั้งก่อนมีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 3 ราย จาก 11 ราย มาในปี 2565 นี้ หลังจากข่าว “ชาวเน็ตโอด! ห้างดัง ‘เอาเปรียบผู้บริโภค’ โต้เลิกพูดเถอะ ‘ของสดใหม่ทุกวัน’ (ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1607049/ ) ที่กล่าวถึงห้างนำเอาโดนัทที่หมดอายุแล้วมาปิดฉลากใหม่และวางจำหน่าย ซึ่งต่อจากข่าวนั้นมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างตามมา เช่น อย.ระบุว่าเอาผิดห้างไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการต้องใช้กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจากทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จึงทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเรื่อง ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหาร/สินค้าหมดอายุ จากบริษัทที่ดำเนินงานห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 12 ราย ได้แก่        1.บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด        2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด        3.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด        4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด        5.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)         6.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)         7.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)         8.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด        9.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด        10.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)         11.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด        12.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัดทั้งนี้ฉลาดซื้อกำหนดการปิดรับคำตอบวันที่ 10 ธันวาคม 2565 และมีบริษัท 5 รายที่ให้ข้อมูล ดังนี้        ·     บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด……The Mall        ·     บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)        ..7 eleven         ·     บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด         ............        ลอว์สัน        ·     บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด...ฟู้ดแลนด์        ·     บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด....Lotus ผลการสำรวจ1.นโยบายการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง และช่องทางการร้องเรียน 2.มาตรการ ขั้นตอน การจัดเก็บสินค้า อาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง แหล่งข้อมูล1.หนังสือตอบจากบริษัท 5 ราย2.หน้าเว็บไซต์บริษัทฯ3.สอบถามเพิ่มเติมจากช่องทางลูกค้าสัมพันธ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 โรลออนทิพย์

        เหตุเกิดที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่สุดในประเทศนี้ หลายครั้งที่การร้องเรียนของผู้บริโภคที่ผูกโยงจากร้านสะดวกซื้อมีความหลากหลาย เป็นสินค้าหมดอายุบ้าง ใช้งานไม่ได้บ้าง ซึ่งผู้บริโภคบางรายก็อาจจะได้รับการเยียวยาจากร้านสะดวกซื้อบ้างแล้ว หรือบางคนก็อาจจะรอไม่ไหวจนปล่อยผ่านไปบ้าง คราวนี้มีผู้บริโภคท่านหนึ่งแจ้งมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ซื้อโรลออนมาแล้วใช้ไม่ได้ ทำอย่างไรดี         คุณวันดีเล่าว่า เธอเดินทางไปที่จังหวัดระยองเพื่อไปสัมมนา ณ เกาะเสม็ด วันนั้นเป็นเช้าที่สดใสเมื่อถึงเวลาออกเดินทางรถก็แล่นไปตามเวลาจนเดินทางไปถึงท่าเรือเพื่อที่จะข้ามฟากไปที่เกาะเสม็ดเพื่อเข้าที่พัก ก่อนจะข้ามฟากเธออยากจะซื้อของใช้ส่วนตัวสักหน่อย ประจวบเหมาะกับที่ท่าเรือมีร้านสะดวกซื้อพอดี จึงเข้าไปในร้านและซื้อโรลออนระงับกลิ่นขนาดกะทัดรัดมา 1 ชิ้น ด้วยไม่แน่ใจว่า ตนเองจัดลงกระเป๋ามาด้วยหรือไม่ ซื้อเผื่อไว้ก็ไม่เสียหาย จ่ายเงินแล้วเพื่อนก็เร่งให้รีบไปขึ้นเรือ         เมื่อข้ามเรือไปเสม็ดและเข้าที่พักแล้ว ตอนที่อาบน้ำเสร็จคิดที่จะใช้โรลออนเสียหน่อย ปรากฏว่าโรลออนที่ซื้อมามันใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ยังไงล่ะ? คือ เจ้าโรลออนตัวนี้มันมีแค่ขวดโรลออนลูกกลิ้ง แต่ไม่มี “เนื้อครีมข้างใน” เอาง่ายๆ มันมีแต่ขวดนั่นเอง         คุณวันดีต้องหาซื้อจากร้านค้าบนเกาะแทน และสัมมนาอย่างเข้มข้นโดยลืมเรื่องดังกล่าวไป แต่มาเจอเจ้าขวดเปล่านี้อีกครั้งตอนเก็บเสื้อผ้าจากกระเป๋าเมื่อกลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว ทำไงดีรู้สึกไม่ถูกต้องหากจะปล่อยเรื่องไป เงินก็อยากได้คืน แต่ก็ไม่สะดวกที่จะกลับเอาสินค้าไปเปลี่ยนที่ร้านสะดวกซื้อสาขาเดิม จึงขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดี   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้โทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องกับทางร้านค้าสะดวกซื้อผ่านคอลเซนเตอร์ (ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์) ซึ่งทางคอลเซนเตอร์รับเรื่องไว้และแจ้งว่าจะประสานงานให้ทางสาขาดังกล่าวคืนเงินให้กับลูกค้า ต่อมาทางสาขาที่มีสินค้าโรลออนทิพย์นี้ได้ติดต่อกลับมาเพื่อคืนเงินให้ ทั้งนี้โชคดีที่คุณวันดียังเก็บใบเสร็จไว้ จึงมีหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้านี้จริง เมื่อทางร้านสะดวกซื้อได้โอนเงินคืนคุณวันดีเรียบร้อย คุณวันดีก็สบายใจ  ดังนั้นมีเหตุการณ์เข้าข่ายนี้ให้รีบติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ตามใบเสร็จคือหลักฐานสำคัญอย่าเพิ่งรีบทิ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 244 ความไม่สะดวกซื้อ

        ร้านสะดวกซื้อนั้นคือสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ไปแล้ว ในแต่ละชุมชนร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงจะวางตัวผ่าเผย พร้อมส่งเสียงยินดีต้อนรับเมื่อประตูเปิดออก แต่บางครั้งความสะดวกซื้อก็นำปัญหาแบบไม่สะดวกใจมาให้ได้ง่ายๆ และหลายครั้งท่าทีหรือการแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เรามาลองดูจากกรณีร้องเรียนเรื่องนี้กัน               ภูผา พี่สาว และหลานชายไปซื้อโยเกิร์ต 4 กระปุก ที่เซเว่นสาขาแถวงามวงศ์วาน ด้วยความที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ตอนซื้อจึงให้ความสนใจฉลากโดยเพ่งเล็งแต่เรื่อง ยี่ห้อไหนมีน้ำตาลน้อยกว่ากัน และสุดท้ายเลือกอันที่น้ำตาลน้อยมาพร้อมจ่ายเงินซื้อมา เมื่อกลับมาถึงบ้านภูผาก็กินโยเกิร์ตกับหลานชายไป 1 กระปุกแบ่งกันคนละครึ่ง เขายังบอกกับหลานชายเลยว่ายี่ห้อนี้ไม่ค่อยอร่อยเนอะ สงสัยเพราะน้ำตาลน้อย         วันถัดๆ มาอากาศค่อนข้างร้อน ภูผาบ่นกับหลานว่าอยากกินอะไรเย็นๆ จัง หลานชายจึงเสนอไอเดียว่าในตู้เย็นมีมะม่วง สตรอว์เบอรี่ แล้วก็โยเกิร์ตที่เหลืออยู่จากเมื่อวาน 3 กระปุก เอามาทำสมูตตี้มะม่วงกับสตรอว์เบอรี่กินกันดีกว่า โอ้ ไอเดียดีงาม ภูผาเห็นด้วยและให้หลานดูก่อนว่าโยเกิร์ตหมดอายุหรือยัง หลานบอกว่า โยเกิร์ตหมดอายุแล้วด้วย 1 กระปุก ส่วนอีก 2 กระปุกยังไม่หมดอายุ แต่ว่ากระปุกที่หมดอายุแล้วมันหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วล่ะสิ         ภูผาเริ่มเครียดเพราะเขาซื้อสินค้าต้นเดือนมีนาคม และเจ้าร้านสะดวกซื้อร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไงวันหมดอายุของโยเกิร์ตถึงเป็นเดือนมกราคมไปได้ และเป็นลอตเดียวกับที่เขากินไปเมื่อวันก่อนกับหลานชายอีกด้วย เขาไม่รอช้าเมื่อรีบสตาร์ทรถไปเซเว่นสาขาที่ซื้อมาทันที พร้อมกับเอาโยเกิร์ตทั้ง 3 กระปุกไปด้วย เมื่อไปถึงก็เล่าเรื่องคร่าวๆ ให้พนักงานฟังและขอพบผู้จัดการ พนักงานแจ้งว่าผู้จัดการกลับบ้านไปแล้วค่ะ อีกทั้งสินค้านี้พนักงานก็ยังไม่มั่นใจว่าซื้อที่เซเว่นจริงหรือเปล่า ซื้อที่สาขานี้จริงหรือเปล่า เพราะว่าภูผาไม่ได้เก็บใบเสร็จเอาไว้ ภูผาเข้าใจได้เรื่องไม่มีใบเสร็จ แต่โชคดีหน่อยตอนจ่ายเงินเขาใช้บัตรสมาชิกของหลานชายจ่ายไป ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานได้ว่า เขาซื้อสินค้านี้ที่นี่จริงๆ         เขาสอบถามพนักงานว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง พนักงานก็หาข้อมูลอยู่เกือบชั่วโมง สุดท้ายก็บอกว่าต้องหาหลักฐานยืนยันก่อน ต้องดูกล้องว่าเขาเป็นผู้ซื้อที่สาขานี้จริงหรือไม่ แล้วจะติดต่อกลับไป ภูผาบอกได้ สิจะรอนะว่าทางร้านจะรับผิดชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการติดต่อกลับเขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผู้ร้องได้แจ้งร้านค้าและนำหลักฐานไปให้ร้านค้าดูเบื้องต้นแล้ว แต่ร้านค้ายังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร อย่างแรกที่ผู้ร้องต้องทำคือไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเซเว่นจำหน่ายสินค้าหมดอายุจริงๆ ผู้ร้องไม่ได้โกหก เซเว่นนี้เป็นสาขาหนึ่งของเซเว่นทั้งหมด ผู้ร้องต้องทำหนังสือโดยเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ภาพถ่ายโยเกิร์ตที่หมดอายุ เป็นต้น ส่งไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จ่าหน้าซองถึงประธานบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากต้องการให้บริษัทแม่รับผิดชอบต่อการขายสินค้าหมดอายุของสาขา ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า บางทีพนักงานที่ผู้ร้องแจ้งเรื่องไว้ หรือผู้จัดการสาขาไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของผู้ร้อง วิธีนี้ทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ร้อง         ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน การเลือกซื้อสินค้าควรพิจารณาฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวันหมดอายุ หากพบว่ามีสินค้าหมดอายุต้องแจ้งแก่พนักงานให้เก็บจากชั้นสินค้าทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 อาหารพร้อมทานร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จานไหนโซเดียมสูง

        วิถีชีวิตแบบเร่งรีบของคนทุกวันนี้ ก่อให้เกิดวิถีการบริโภคอาหารที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว กล่าวคือ ง่าย อิ่มและไม่แพง  ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์พิเศษโควิด 19 ที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ ยิ่งส่งผลให้อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ได้อย่างดี ไม่ต้องไปนั่งในร้านอาหาร ไม่ต้องยืนรอคิว ไม่ต้องสั่งให้คนนำอาหารมาให้ แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเลือกหยิบเมนูที่ชอบ นำเข้าไมโครเวฟอุ่นร้อนก็รับประทานได้ในเวลาอันรวดเร็ว         ดังนั้นเมื่อนิตยสารฉลาดซื้อได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจาก “สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อรถรงค์ ลดเค็ม ลดโรค โดยคณะทำงานของทางโครงการฯ ได้เก็บตัวอย่างสินค้า อาหารพร้อมทานทั้งแบบแช่เย็น แช่แข็ง จำนวนถึง 53 รายการ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 แล้วนำมาอ่านฉลากโภชนการว่าแต่ละเมนูที่เลือกมามีปริมาณโซเดียมเท่าไร ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า อาหารพร้อมทานแบบแช่เย็น แช่แข็งนั้น มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในอาหารกลุ่มเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรตไต และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคทั่วไปจะได้รับโซเดียมเกินในแต่ละวัน         ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู คือแชมป์โซเดียมสูง        จากผลการสำรวจฉลากอาหารพร้อมรับประทานแบบแช่เย็น แช่แข็ง ทั้ง 53 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย        · อาหารจานหลัก ได้แก่ ข้าวผัด ข้าวหน้าต่างๆ ข้าวกะเพรา ยากิโซบะ และผัดไทย (จำนวน 35 ตัวอย่าง)         · อาหารอ่อน ได้แก่ โจ๊ก ข้าวต้ม เกี๊ยวน้ำ (จำนวน 15 ตัวอย่าง)         · ขนม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ บัวลอยมันม่วง บัวลอยเผือก และสาคูถั่วดำ         พบว่ามีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมทั้ง 53 ตัวอย่าง อยู่ที่ 858 มิลลิกรัม (ระหว่าง 210 – 1,390 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค) โดยเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มอาหาร           o กลุ่มอาหารจานหลัก ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 450 – 1,390   มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค        o กลุ่มอาหารอ่อน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 380 – 1,340   มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค และ        o ขนมหวาน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 210 - 230  มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค            และ 10 อันดับเมนูโซเดียมสูง จากการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่        1.ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู อีซี่โก 1,390 มก./  หน่วยบริโภค 240 กรัม        2.ผัดไทยกุ้งสด อีซี่โก  1,360 มก./ หน่วยบริโภค 225 กรัม        3..ข้าวต้มหมู แฟมิลีมาร์ท 1,340 มก./ หน่วยบริโภค 300 กรัม        4.ผัดไทยกุ้งสด มาย ช้อยส์ 1,310 มก./ หน่วยบริโภค 235 กรัม        5..ยากิโซบะหมู อีซี่โก  1,290 มก./ หน่วยบริโภค 195 กรัม.        6. ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม อีซี่โก 1,280 มก. / หน่วยบริโภค 210 กรัม        7 ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ อีซี่โก 1,200 มก. / หน่วยบริโภค 200 กรัม        8. ข้าวผัดปู เดลี่ไทย  1,200 มก. / หน่วยบริโภค 250 กรัม        9. เกี๊ยวกุ้ง ซีพี  1,160 มก. / หน่วยบริโภค 145 กรัม        10.เกี๊ยวกุ้ง บิ๊กมีล  1,130 มก. / หน่วยบริโภค 300 กรัม ทำไมอาหารแช่เย็นแช่แข็งถึงมีโซเดียมสูง         ในการผลิตอาหารแช่เย็นแช่แข็ง นอกจากโซเดียมซึ่งอยู่ในรูปของวัตถุดิบ และเครื่องปรุงรสต่างๆ อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว แล้ว ยังมีการใส่วัตถุเจือปนอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารคงสภาพดีไปจนตลอดอายุ เช่น วัตถุกันเสีย (โซเดียม เบนโซเอต) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) สารเพิ่มความข้นเหนียว. (โซเดียม อัลจิเนต)  ฯลฯ ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ทางการอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ แต่ก็เพิ่มปริมาณโซเดียมเข้าสู่อาหารแช่เย็นแช่แข็งด้วยเช่นกัน แพทย์แนะวิธีบริโภคอาหารแช่เย็นแช่แข็ง         “อาหารแช่แข็ง หากมีความจำเป็นต้องรับประทานควรดูที่ฉลากโภชนาการ หากมีโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ หรือบวกได้อีก 100 มิลลิกรัมต่อมื้อ ถือว่ายังได้รับปริมาณโซเดียมในระดับที่ไม่อันตราย” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 สะดวกซื้อ สะดวกร้อง?

        บทเรียนการเรียนรู้จากผู้บริโภคที่มาปรึกษาเหตุการณ์การซื้อสินค้าจากร้านค้าและร้านสะดวกซื้อหลายราย        รายแรก ผู้บริโภคซื้อนมสดชนิดบรรจุถุงจากร้านสะดวกซื้อไปให้ลูกชายรับประทาน เมื่อลูกชายรับประทานบอกว่านมมีรสเปรี้ยว ตนเองจึงลองชิมดูบ้าง ปรากฏว่ารสเปรี้ยวจริงๆ นมน่าจะบูด ตนจึงเช็ควันหมดอายุที่ข้างถุง ก็ยังไม่เลยวันหมดอายุ จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร        รายที่สอง ผู้บริโภคซื้อเกี๊ยวกุ้งจากร้านสะดวกซื้อ จะนำมาอุ่นรับประทานที่บ้าน พอตัดถุงจะนำไปอุ่นในไมโครเวฟ พบว่ามีเกี๊ยวหนึ่งชิ้นที่ไม่มีไส้บรรจุอยู่ ผู้บริโภครายนี้จึงอุ่นรับประทานไปหมด แล้วมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินการกับผู้ผลิตได้อย่างไรบ้าง         รายที่สาม ผู้บริโภคซื้อแกงกะทิบรรจุในถุงจากแม่ค้าขายข้าวแกงในตลาด โดยแกงนี้จะถูกตักไว้เป็นถุงๆ วางไว้ที่โต๊ะข้างหม้อแกงที่แม่ค้าตักขาย เมื่อใครจะซื้อก็หยิบให้เลยเพื่อความสะดวก ผู้ร้องซื้อแกงกะทิตั้งแต่เช้าแล้ววางตั้งไว้ในครัว โดยไม่ได้แช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อกลับจากทำงานถึงบ้านตอนค่ำ จะนำมารับประทานปรากฎว่าแกงกะทิบูด         การดำเนินการในสามกรณีข้างต้น จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิสูจน์ และค่อนข้างจะสรุปได้ยาก เพราะอาจเกิดการโต้แย้งจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีแรกอาจง่ายหน่อยตรงที่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่หมดอายุ แต่ดันมีรสเปรี้ยว และผู้ร้องเพิ่งรับประทานจึงมีหลักฐานอยู่ ส่วนกรณีที่สองจะพิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเกี๊ยวกุ้งถูกรับประทานไปจนหมด ข้อกล่าวหาจึงเป็นคำพูดลอยๆ ของผู้ร้องเท่านั้น  ส่วนกรณีที่สามแม้แกงกะทิจะบูดจริง แต่ก็พิสูจน์ได้ยากว่า มันบูดตั้งแต่ตอนตักใส่ถุง หรือบูดเพราะผู้ซื้อไม่ได้นำไปเก็บในที่ที่เหมาะสม         เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ผู้บริโภครีบนำสินค้ากลับไปหาผู้ขายโดยเร็วที่สุด หากเป็นร้านสะดวกซื้อให้นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับไปเป็นหลักฐานด้วย (กรณีซื้อสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงิน ไม่ควรรีบทิ้งใบเสร็จรับเงิน เราควรแนบติดกับสินค้าไว้ก่อน เผื่ออาจจะจำเป็นต้องใช้กรณีฉุกเฉินดังกล่าว) เท่าที่มีประสบการณ์ ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งมักจะรับเรื่องและชดเชยสินค้าให้ด้วย บางรายเขาจะชดเชยให้กรณีที่เสียเวลามาด้วยซ้ำ ส่วนกรณีแกงถุงจากแม่ค้า จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ถ้าคุยกันดีๆ มักจะได้ชดเชยให้ฟรีๆ ด้วยเช่นกัน         รายที่สี่ ผู้บริโภคซื้อยาแผนโบราณมาจากคนรู้จัก เป็นผงสีน้ำตาลอ่อนบรรจุในซองซิบใส ไม่มีฉลากใดๆ คนรู้จักที่นำมาขายบอกว่าแก้ปวดเส้นและแก้โรคเก๊าท์ ตนเองกินแล้วได้ผลดี กินไปหลายซองแล้ว สงสัยว่ายานี้มีสารอะไรบ้างจึงนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ         เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามว่ายานี้ซื้อมาจากใคร หรือพอทราบแหล่งที่ส่งต่อยามาขายหรือไม่ ผู้ร้องก็บอกว่าไม่กล้าบอก เป็นห่วงคนที่ขาย เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่สอบถามก็เพื่อจะติดตามไปยังแหล่งต้นทางที่ผลิต ขอให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการติดตาม และจะได้ช่วยคนอื่นๆ ด้วย ผู้ร้องก็ไม่ยอมบอกและขอนำยากลับคืนไป        ในทีสุดเจ้าหน้าที่จึงได้แต่แนะนำว่า ยาที่ผลิตเพื่อใช้รักษาโรคจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบว่ายาตำรับนี้มีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยถึงจะอนุญาตให้ผลิตได้ ยาผงที่นำมาให้ตรวจสอบไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย แสดงว่าไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับและยังไม่แสดงชื่อที่อยู่ผู้ผลิตอีก แสดงว่าผู้ผลิตมีเจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะไม่รู้ว่าในยานี้มีสารอันตรายหรือไม่และยิ่งกินแล้วได้ผลดีอย่างรวดเร็ว ยิ่งน่าสงสัยว่าจะมีการปลอมปนสารเคมีอันตราย เช่น สเตียรอยด์ด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >