ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 271 ‘กองทุนรวมผสม’ ทำทุกอย่างให้เธอแล้ว

        เรามาคุยกันเรื่องกองทุนรวม (mutual fund) กันอีกครั้ง ก่อนๆ นี้พูดถึงหลายครั้งอยู่ แต่เป็นกองทุนรวมประเภท active fund กับ passive fund เป็นหลัก อย่างที่รู้กันว่ากองทุนรวมเป็นเครื่องการลงทุนที่ดีประเภทหนึ่งเพราะมีมืออาชีพมาบริหารเงินให้ว่าจะลงทุนกับหุ้นตัวไหน ตราสารหนี้ตัวไหน หรือ REIT (Real Estate Investment Trust หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ตัวไหน         แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายขนาดนั้น อย่างน้อยก็ต้องเลือกกองทุนรวมเป็น ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือต้องจัดพอร์ตให้ดี ลงกับกองทุนรวมหุ้นเยอะไปก็เสี่ยงเกิน ลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้มากไปผลตอบแทนก็อาจไม่ได้ตามที่คิด จะลงกับกองทุนรวมในสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยิ่งเสี่ยงหนัก แถมยังไม่รู้ด้วยว่าควรจัดสรรเงินไปลงกองทุนรวมแต่ละประเภทอย่างละเท่าไหร่         พวกนักการเงินก็ฉลาด พวกเขาสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘กองทุนรวมผสม’ หรือ mixed fund มันเป็นกองทุนรวมประเภทที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปจัดสรรในหุ้น ตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และอื่นๆ ตามนโยบายของกองทุนรวมนั้น         พูดให้เข้าใจง่ายคือกองทุนรวมผสมจัดพอร์ตให้เราเสร็จสรรพ ซึ่งจะยิ่งเหมาะกับมือใหม่ที่ความรู้ยังไม่มาก ไม่มีเวลามาคอยติดตามผลการดำเนินการของกองทุน และปรับพอร์ต (asset allocation) ให้คงสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ         กองทุนรวมผสมก็เลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องเลือกคือจะเอาแบบที่กำหนดสัดส่วนไว้คงที่ ประมาณว่าหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ตราสารหนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนผสมประเภทนี้ก็จะจัดพอร์ตการลงทุนในสัดส่วนนี้         กับกองทุนรวมผสมที่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน หมายความว่าเงินของคุณจะไปลงกับสินทรัพย์ประเภทไหนขึ้นกับการวิเคราะห์ จัดสรร จัดการของผู้จัดการกองทุน สมมติว่าช่วงตลาดหุ้นตกผู้จัดการกองทุนอาจคัดสรรหุ้นดีราคาถูกเข้าพอร์ตมากกว่าเดิมจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าตลาดผันผวนมากๆๆๆ ก็อาจเอาตราสารหนี้เข้าพอร์ตมากขึ้น         ทำให้กองทุนรวมผสมมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความผันผวนของตลาดได้ดีกว่า         ทว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เนื่องจากกองทุนรวมผสมต้องมีการติดตามตลาดต่อเนื่องเพื่อจัดพอร์ตการลงทุน นั่นแปลว่าค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมของกองทุนประเภทนี้มักจะสูงกว่ากองทุนประเภทอื่น ก็ขึ้นกับว่าคุณจะยอมแลกหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ‘บัญชีรายรับ-รายจ่าย’ ทำเถอะ ดีต่อเงินของเรา

        คนที่เริ่มศึกษาการจัดการการเงินส่วนบุคคล เรื่องแรกๆ ที่มักได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินหรือหนังสือหนีไม่พ้นการรู้จักตนเอง การวางเป้าหมาย บลาๆๆ และที่ขาดไม่ได้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะรู้สึกยุ่งยาก ไม่เข้าใจ แล้วก็ชอบลืม         ก็แค่ใช่จ่ายประหยัดๆ กับแบ่งเงินไปออม ไปลงทุนไม่ได้รึไง? ได้ แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เวลาที่บอกว่าใช้จ่ายประหยัดบางทีก็ไม่รู้ว่าเราประหยัดจริงหรือเปล่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไรบ้าง เอาเงินไปออมแล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ         บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเลยคล้ายๆ งบการเงินของบริษัทที่คอยบอก คอยเตือนเราว่าตอนนี้ใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยเยอะไปแล้ว ตอนนี้สภาพคล่องเหลือเฟือจะทำยังไงกับเงินที่เหลือดี เป็นต้น มันคอยช่วยบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราว่ายังอยู่ในลู่ในทางที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของเราหรือเปล่า         ปัญหาต่อมาคือแล้วจะทำบัญชียังไง อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องไปเลือกว่าแอปไหนเหมาะกับตัวเอง         เรื่องที่ต้องรู้คือรายรับ-รายจ่ายต่างหาก เราต้องรู้ว่ารายรับในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อะไรไม่ใช่รายรับ ตรงกันข้ามแล้วรายจ่ายล่ะคืออะไร อย่าสับสนเป็นอันขาด เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นตัวช่วยบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ         ยกตัวอย่าง คุณคิดว่าเงินออมเป็นรายรับหรือรายจ่าย เอาล่ะสิ ถึงตรงนี้ชักเริ่มสับสน เงินที่เราเอาไปฝากธนาคารไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ก็ยังอยู่กับเรา มันก็น่าจะเป็นรายรับสิ ผิด มันคือรายจ่าย เพราะมันคือเงินสดที่เราจ่ายออกไปจากกระเป๋า เหมือนสมการที่นำเสนอกันว่า รายรับ-เงินออม-รายจ่าย=เงินคงเหลือ แม้เงินออมจะไม่ใช่รายจ่าย แต่ก็เป็นเงินที่เรานำออกไปและมีผลต่อสภาพคล่อง         แล้วถ้าเดือนนั้นเราใช้จ่ายมือเติบ ชักหน้าไม่ถือหลัง เลยยืมเงินเพื่อนมา อันนี้ถือเป็นรายรับที่เข้าเพิ่มสภาพคล่องซึ่งมีภาระต้องจ่ายคืนทีหลัง แล้วตอนที่จ่ายคืนนั่นแหละมันคือรายจ่าย         ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET แบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร 3 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เฉลย         ลองไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดู ในเว็บยังแนะนำวิธีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย รู้แล้วก็ทำซะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 อย่าเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ใช้เวลาสั้น ไม่มีในโลก

        เขียนมาตั้งหลายสิบตอนเพิ่งจะนึกได้ว่าไม่เคยพูดถึงวิธีสังเกตและป้องกันตัวเองจากพวกมิจฉาชีพที่หลอกให้ลงทุนนั่นนี่เลย ตอนนี้เลยต้องขอพูดถึงซะหน่อยเพราะมีเยอะจริงๆ แถมมีสักพักใหญ่แล้วด้วย        จำได้ไหม? เคยบอกว่าเมื่อไหร่ที่ผู้เสนอให้ลงทุนบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ ต่อเดือน เช่น ร้อยละ 5 บางที่ให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 30 ต่อเดือน เจอตัวเลขแบบนี้ให้เอะใจก่อนเลยว่ามิจฉาชีพแน่ๆ เพราะนักลงทุนเก่งๆ ก็ยังทำผลตอบแทนไม่ได้ขนาดนี้เลย         ตามหน้าเฟสบุ๊คเรามักจะเห็นมิจฉาชีพนำรูปวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งอมตะ คอร์ปเปอเรชั่นมาใช้บ่อยๆ (ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ประเทศไทยมีนักธุรกิจใหญ่ๆ ตั้งมากมาย) แล้วหลอกล่อว่าคุณกำลังจะมีโอกาสลงทุนกับบริษัทมหาชนอย่างอมตะ แถมได้ผลตอบแทนต่อเดือนสูง ใช้สามัญสำนึกพื้นฐาน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอย่างวิกรมจะมาถ่ายรูปแปะบนป้ายเชิญชวนคนมาลงทุน อยากลงทุนกับอมตะก็ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิ         สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เคยบอกข้อควรระวังไว้ 5 ข้อ ถ้าเจอแบบนี้ให้ถอยห่าง อย่าไปยุ่ง        1.เพจที่บอกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ แต่ใช้เงินไม่มาก (เป็นไปไม่ได้)        2.การันตีผลตอบแทนว่าได้แน่ๆ (กองทุนรวมระดับโลกยังไม่กล้าการันตีเลย)        3.อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง (ทำไมไม่อ้างวอร์เรน บัฟเฟตต์ไปเลย)        4.ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ (ก็มันไม่มีอยู่จริง จะตรวจสอบได้ยังไง)5.รีบให้ตัดสินใจลงทุน (มุขเดิมๆ ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส)นอกจากนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) ยังเคยเตือนด้วย ซึ่งบางส่วนคาบเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าทำ        1. คิดว่าไม่เป็นอะไร มักจะมีคนคิดว่า “ลองดูสักหน่อย เงินแค่สามสี่พัน ไม่น่าจะมีอะไร เจ็บตัวไม่มาก เผื่อฟลุ้ค” คนที่คิดแบบนี้มักเป็นคนแรกๆ ที่ถูกหลอก         2. ชอบคุยกับเพื่อนใหม่ เป็นคนอัธยาศัยดีก็ดีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังและเอะใจเสมอเมื่อไหร่ที่เพื่อนใหม่เริ่มพูดเรื่องเงิน        3. ชอบสินค้าราคาถูก อันนี้ก็คล้ายๆ กับชอบการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั่นแหละ        4. ชอบเสี่ยงโชค เพราะเห็นตอบแทนสูงๆ ก็อยากเสี่ยง สุดท้ายก็ตกไปในวังวนแชร์ลูกโซ่                 5. ชอบช่วยเหลือ คนประเภทนี้น่าสงสารที่สุด ทั้งที่มีจิตใจชอบช่วยเหลือ เห็นคนลำบากก็อยากช่วย แต่ก่อนจะช่วยฉุกใจคิดสักหน่อย เพราะบางทีอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาหรือแม้กระทั่งสร้างเฟสปลอมของเพื่อนเรา ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญจำไว้ว่าการลงทุนน้อยๆ ได้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ ไม่มีในโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 หุ้น ‘STARK’ หายนะนักลงทุนรอบล่าสุด

        น่าเสียดายที่หุ้น STARK ไม่ใช่ตัวเดียวกับบริษัทของ Tony Stark หรือไอรอน แมนแห่งจักรวาลมาร์เวล ไม่งั้นคงเป็นหุ้นเนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากได้ แต่หุ้น STARK ดันเป็นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร         ราคาพาร์ตอนเริ่มซื้อขายคือ 1 บาท เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 6.65 บาทต่อหุ้นในปี 2562 เรียกว่าถ้าใครได้ซื้อตอนราคาหุ้น 1 บาท แล้วขายตอนราคาสูงสุดก็ได้กำไรไปเหนาะๆ 6 เท่ากว่าๆ แบบนี้ไงใครๆ ถึงอยากเล่นกับไฟในตลาดหุ้น         เดือนสองเดือนที่ผ่านมา STARK กลายเป็นหายนะของใครหลายคน ประเมินกันคร่าวๆ ว่าความเสียหายน่าจะมากกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาทที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว บวกกับข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตงบการเงินอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนราคาหุ้นน่ะหรือ? วันที่ 29 มิถุนายน 2566 หล่นมาเหลือแค่ 0.02 บาท หรือ 2 สตางค์ นักลงทุนบางคนที่ยอมให้สัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยชื่อขาดทุนไป 100 ล้านบาทจาก STARK ตัวเดียว         ลองดูรายได้ของ STARK ปี 2562-2564 มีรายได้ตามลำดับดังนี้ 11,607 ล้านบาท, 16,917 ล้านบาท,  27,129 ล้านบาท ส่วนปี 2565 แค่ 9 เดือนมีรายได้ถึง 21,877 ล้านบาท ขณะที่กำไรตั้งแต่ปี 2562-2564 เรียงตามลำดับคือ 123 ล้านบาท, 1,608 ล้านบาท, 2,783 ล้านบาท และแค่ 9 เดือนของปี 2565 ก็กำไรไปแล้ว 2,216 ล้านบาท รายได้กับกำไรพุ่งพรวดขนาดนี้มีหรือนักลงทุนทั้งรายย่อย รายใหญ่ หรือกองทุนรวมจะไม่เข้าซื้อ         แต่แล้วก็เริ่มมีอะไรแปลกๆ เพราะปี 2565 STARK ไม่ได้ส่งงบการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เลยต้องขึ้นเครื่องหมาย SP หรือกระงับการซื้อขายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2565 ก่อนจะรู้ความจริงภายหลังจากงบการเงินปี 2565 ว่า STARK ขาดทุนสะสมมากกว่า 10,379 ล้านบาท ถ้านับหนี้สินที่ติดค้างกับสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ เท่ากับว่า STARK ล้มละลายไปแล้ว         แน่นอนว่าพอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลท. กับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนก็ต้องออกมาแอ็คชั่นเพื่อเรียกความมั่นใจ...ก็เป็นแบบนี้ทุกที         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า STARK ที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่มีแต่ในหนัง และ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” แล้วก็ต้องคอยติดตามดูให้ดี อย่างที่เห็นว่างบการเงินก็หลอกกันได้ถ้าผู้บริหารตั้งใจจะเล่นแร่แปรธาตุ ลงทุนอย่างระมัดระวัง กระจายความเสี่ยง และอย่าฝากผีฝากไข้ไว้กับหุ้นดาวเด่นตัวใดตัวหนึ่ง         และอยากบอกว่ากรณีหุ้น STARK จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ‘งบการเงิน’ ยุ่งและเยอะ แต่จำเป็นต้องเข้าใจ

        คนที่คิดจะลงทุนหุ้น พอทำความเข้าใจตัวเองแล้วและคิดว่าจะเอาดีทางสายวีไอหรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investment) หมายถึงการเลือกซื้อหุ้นบริษัทที่ดี ทำธุรกิจที่มีอนาคต มีแนวโน้มการเติบโต และถือหุ้นระยะยาวไปจนกว่าพื้นฐานของบริษัทนั้นจะเปลี่ยน (เดี๋ยวนี้ก็มีสาย hybrid ที่ดูทั้งพื้นฐานและจับจังหวะการลงทุน ไม่ได้ถือยาวชั่วลูกชั่วหลาน แต่จะขายเมื่อราคาถึงเป้าหมาย)         ทุกเพจ ทุกเว็บ ทุกโค้ช ทุกเล่มจะบอกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องทำ ต้องอ่านเหมือนกันนั่นก็คือ งบการเงิน         งบการเงินก็เหมือนสมุดรายงานสุขภาพของบริษัทว่าแข็งแรงหรือเปล่า อ้วนหรือผอมเกินไป มีไขมันเลวแค่ไหน งบการเงินเป็นเรื่องชวนปวดหัวอยู่เหมือนกันเพราะค่อนข้างเยอะและยุ่ง         ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังสือสอนการลงทุนอธิบายว่างบการเงินจะประกอบด้วย 3 ส่วน แต่เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น 5 แล้ว ได้แก่ งบดุล งบกำไร-ขาดทุน งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น และหมายเหตุประกอบงบการเงิน แต่จะขอพูดถึงงบ 3 ตัวแรกพอ         งบดุลเป็นตัวบอกภาพใหญ่ของบริษัท มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ มีหนี้อยู่เท่าไหร่ แล้วก็ตามชื่อ มันควรสมดุลกัน เช่น ถ้ามีหนี้สินระยะสั้นเยอะ แต่มีเงินสดหรือทรัพย์สินสภาพคล่องต่ำ แบบนี้มีจะปัญหา         งบกำไร-ขาดทุน อันนี้ก็ตรงตัว บริษัทมีต้นทุนทำธุรกิจเท่าไหร่ ปีหนึ่งๆ ค้าขายได้ยอดขายแค่ไหน หักลบแล้วเหลือกำไรเท่าไหร่         งบกระแสเงินสด เป็นงบที่บอกว่าบริษัทมีเงินสดในมือมากน้อยแค่ไหน บอกรายรับ-รายจ่ายของบริษัทในแต่ละปี เพราะสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ (เหมือนในชีวิตประจำวันนั่นแหละ) แต่ต้องดูดีๆ การมีกระแสเงินสดเยอะๆ อาจไม่ดีเสมอไป มันมีรายละเอียดต้องใส่ใจ ยกตัวอย่างเงินสดในมือมาจากไหน มันอาจมาจากการกู้เงินก็ได้         บริษัทที่ไม่มีหนี้เลยก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบเพราะมันอาจบอกเป็นนัยๆ ว่าบริษัทนั้นไม่มีการขยายการลงทุนก็ได้ เว้นเสียว่าจะใช้เงินในมือตัวเอง         เห็นมั้ยว่าเยอะและยุ่งขนาดไหน อย่างไรก็ตามถ้ารักจะเดินทางนี้ก็ต้องอ่านงบการเงินให้เป็น วิเคราะห์ให้ได้เพราะมันต้องดูประกอบกันทั้งหมด         ถ้าขี้เกียจ...เหมือนเดิม ซื้อกองทุนรวมจะเวิร์คกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 วิกฤต เงินสด และจังหวะ

        ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวธนาคารในฝั่งตะวันตกล้ม ทั้ง Silicon Valley Bank หรือ SVB กับ Signature Bank ในสหรัฐฯ และธนาคาร Credit Suisse ในฟากยุโรป สร้างความปั่นป่วนรวนเรในตลาดหุ้น ดาวน์โจนส์ร่วม หุ้นไทยก็ร่วงไปเกือบร้อยจุด แล้วค่อยๆ ฟื้นกลับแบบแกว่งๆ         จังหวะที่หุ้นตก บรรดารายย่อยในไทยก็แห่กันเข้าซื้อ อันนี้บอกไม่ได้ว่าซื้อไปทำอะไร หมายความว่าบอกไม่ได้ว่าซื้อหุ้นดีราคาถูกหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร         แต่ดูจะเข้าตำราที่ว่าให้ทำตรงกันข้ามกับอารมณ์ตลาดในเวลานั้น ได้ผลแค่ไหนก็ขึ้นกับประสบการณ์การลงทุนของแต่ละคน มันเป็นจังหวะที่ทั้งสายเทรด สายคุณค่า และสายลูกผสมมองเห็นโอกาสนั่นแหละ         เรื่องนี้ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่านักออม นักลงทุน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย รายย่อยมาก จะสายไหนๆ การติดตามข่าวสารเป็นสิ่งที่ควรทำ จะนั่งเฝ้าหน้าจอแบบนักข่าวเศรษฐกิจหรือตามห่างๆ อย่างห่วงๆ ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณลงทุน         และอีกเรื่องคือการบริหารกระแสเงินสด จะน่าเสียดายแค่ไหนถ้าโอกาสมาถึง แต่ไม่มีเงินไว้ไขว่คว้าโอกาส         หลายครั้งหลายหนที่โลกและไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วก็มีคนล้มละลายและเป็นเศรษฐีจากวิกฤต         วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 สร้างเศรษฐีมาแล้ว ถ้าคุณติดตามข่าวแต่ไม่มีกระแสเงินสด คุณก็คว้าโอกาสได้ยาก (อย่ากู้เงินคนอื่นมาลงทุน) ถ้าคุณมีกระแสเงินสด แต่ไม่สนใจจะรับรู้หาข้อมูลข่าวสาร คุณก็อาจเจ็บตัวหรือไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากวิกฤต         ยกตัวอย่าง เวลาเกิดวิกฤตมักเริ่มจากข่าวไม่ใหญ่มากก่อนจะลุกลามออกไป คุณมีเงินสด แต่คุณไม่รู้ว่าวิกฤตใหญ่แค่ไหน วิกฤตจริงหรือเปล่า หรือจะมีวิกฤตกว่าหรือไม่ มันจะทำให้จังหวะที่คุณเข้าผิดพลาด         เอาง่ายๆ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นข่าวโด่งดัง คุณรีบเข้า กะว่าได้หุ้นดีราคาถูกแน่ แต่แล้วก็พบว่านี่ยังไม่ใช่จุดหนักสุดของวิกฤต คุณควรได้หุ้นดีราคาถูกกว่านั้น แต่ไม่ได้ เขาถึงต้องดูจังหวะและแบ่งไม้ไงล่ะ         แบ่งไม้คืออะไร มันคือการที่คุณไม่ใช่เงินสดในมือซื้อหุ้นที่ต้องการแบบทีเดียวหมดหน้าตัก เพราะคุณไม่มีทางคาดเดาตลาดได้ ถ้ามันลงไปอีก คุณก็ยังมีเงินสดเหลืออยู่ให้เข้าซื้อเพื่อมาถัวเฉลี่ยต้นทุนการซื้อหุ้นรอบก่อน ประมาณนั้น         ฟังดูง่าย แต่ทำยาก ต้องใช้ประสบการณ์ ใครยังทำไม่ได้ก็ซื้อกองทุนแล้วกัน ยิ่งถ้าทำ DCA ก็ไม่ต้องรอจังหวะ แค่ต้องอาศัยความอดทนและวินัย แต่ถึงที่สุดก็ยังต้องใส่ใจกับข่าวสารและกระแสเงินสดอยู่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 การออมไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นฐานของการลงทุน

        วันนี้กลับมาคุยกันเรื่องเบสิกสุดๆ อีกครั้งนั่นก็คือ การออมและการลงทุน         เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องการออมและการลงทุน ไปๆ มาๆ เลยเอา 2 คำนี้มารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องบอกดังๆ ว่า ไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกัน         การออมคือการเก็บเงินนั่นแหละ เข้าใจง่ายสุด เราเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เตรียมไว้เป็นค่าเทอม เก็บไว้ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเก็บไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินต่างๆ ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไปตามกำลัง บ้างเสนอว่าควรเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ บ้างก็ว่าไม่พอแล้วต้องอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ บ้างก็ว่าควรเก็บ 1 ใน 4         ฝากธนาคารเป็นวิธีเก็บเงินออมที่คนส่วนใหญ่ใช้ซึ่งเป็นวิธีที่น่าจะปลอดภัยและสะดวกที่สุด โดยได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำเตี้ยด้วยเช่นกัน ไม่ชนะเงินเฟ้อแน่นอน ยิ่งฝากค่าเงินยิ่งเล็กลง แต่ไม่มีเงินออมฝากธนาคารเลยได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเพราะเป็นเรื่องของสภาพคล่อง         คราวนี้ พอเก็บเงินได้เยอะขึ้นๆ จะปล่อยกินดอกเบี้ยในธนาคารอย่างเดียว ชาตินี้คงไม่มีเงินพอเกษียณ หลังจากจัดแจงแบ่งส่วนเงินออมที่มีแล้ว เราถึงกันเงินส่วนหนึ่งออกไปลงทุนหรือเก็บเงินออมเพื่อการลงทุน         เห็นแล้วนะว่าการออมไม่ใช่การลงทุน แต่การออมเป็นฐานของการลงทุน เงินออมใช้เป็นเงินลงทุนต่อยอดสร้างผลตอบแทน         ถามว่าไม่ต้องออมได้ไหม เพราะฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อย สู้เอาไปลงทุนเลยดีกว่า?         ตอบว่าไม่ได้ บ้าบิ่นเกินไป คอลัมน์นี้เคยพูดถึงเงินออมฉุกเฉิน อารมณ์คล้ายๆ กัน การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยต้องใช้เวลา (ต่อให้คุณเป็นสายเทรดเดอร์หรือสายเก็งกำไรก็ยังจำเป็นต้องมีเงินสำรอง) ถ้าเอาเงินมาลงทุนโดยไม่มีหลังพิง เกิดขาดสภาพคล่อง เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือขาดรายได้จะทำยังไง ก็ต้องไปดึงเอาเงินที่ลงทุนออกมาทั้งที่ยังขาดทุนอยู่หรือดีหน่อยคือไม่ขาดทุน แต่คุณจะเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว         เอ๊ะ แล้วที่โฆษณาออมหุ้นๆ กันล่ะ เป็นการลงทุนหรือการออมกันแน่? อันนี้น่าสนใจ         การออมหุ้นเป็นการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินธนาคารแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ที่ใช้คำว่า ออมหุ้น เพราะคนทำมาหากินธรรมดาจะเอาเงินถุงเงินถังจากไหนไปซื้อหุ้นทีละเป็นหมื่นเป็นแสนหุ้น ดังนั้น โบรกเกอร์จึงเสนอบริการให้เราได้ทยอยสะสมหุ้มโดยไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่         พอค่อยๆ สะสมหุ้น มันเลยให้อารมณ์เหมือนกันออม ถึงเรียกว่าออมหุ้น แต่ไม่ใช่ออมเงิน ที่สำคัญก่อนจะออมหุ้นต้องออมเงินให้ได้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เรียนรู้จาก Forex 3D เพราะการลงทุนไม่มีทางลัด

Time line เหตุการณ์        ·  ตุลาคม 2561 ขาดสภาพคล่อง เริ่มระส่ำระส่าย จ่ายช้า แต่ยังพอมีเงินหมุนเวียน        ·  ธันวาคม 2561 ใช้วิธีหลอกล่อโดยให้กำไรมากกว่า 20% หลายๆคนคิดว่าเทรดจริงและเดือนนี้ได้กำไรยอะกว่าทุกเดือน หลายๆคนเพิ่มทุนเข้าไปอีก และได้ลูกค้าใหม่อีกหลายร้อยคน เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยทีมหน้าม้า แปะสลิปรับโอนปะปนกับคนที่ได้เงินคืนจริงด้วยอยู่เสมอ        ·  ต้นปี 2562 เริ่มจ่ายช้าลงอย่างเห็นได้ชัด        ·  พฤษภาคม 62 บางส่วนเข้าไปเจรจากับบริษัททางบริษัทเริ่มปิดข่าวไม่ได้ ก็เจรจาว่าจะโอนคืนให้ แต่ต้องเงียบห้ามโวยวาย        ·  บริษัทเริ่มปล่อยข่าว เงินติดแบงค์ชาติ, ผู้ถือหุ้น เพื่อนสนิท คนในบริษัทโกง เทสระบบปรับเปลี่ยนคลาส เพื่อให้จุดโฟกัสของนักลงทุน เบี่ยงเบียนไปจากเรื่องเงิน        ·  หลัง ก.ค. เงียบ ทำให้ผู้เสียหายตั้งกรุ๊ปไลน์รวมตัว เริ่มเข้าแจ้งความ แต่ทางบริษัทสร้างกลุ่มประจาน ข่มขู่ ผู้เสียหาย และผู้บริหาร ยังพูดจาให้ความหวังอยู่        ·  ต่อมาผู้บริหารไปปิดบัญชี โอนเงิน ถอนออกก้อนสุดท้ายที่ถอนหมดบัญชี ในเดือนกันยายน 62        ·  พฤศจิกายน 2562 DSI รับเป็นคดีพิเศษ        ·  ธันวาคม 2562 เริ่มยึดทรัพย์ อายัตบัญชี        ·  ปี 2563 ตีเช็คเงินสดให้ผู้เสียหาย มีการปล่อยข่าวคนใกล้ชิดโกงเงิน โทษกระบวนการทางราชการที่ทำให้จ่ายเงินเครือข่ายไม่ได้จากเพจ "รวบรวมผู้โดนโกง จาก Forex 3d"เวลานี้น่าจะมีน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อ Forex 3D ขบวนการแชร์ลูกโซ่ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอคาดว่ามูลค่าความเสียหายอาจสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีบุคคลในวงการบันเทิงเข้าไปพัวพันด้วยจำนวนมากและประชาชนเกือบหมื่นคนที่เป็นผู้เสียหาย         ย่อความให้เห็นที่มาที่ไปกันสักนิด อภิรักษ์ โกฎธิ ก่อตั้งบริษัท RMS Famelia Co. Ltd. และสร้างเว็บไซต์ Forex 3D ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ตามมาด้วยกระบวนการเชื้อเชิญประชาชนให้เข้ามาร่วมร่ำรวยกับ Forex 3D ด้วยการโอนเงินเข้าไปยังบริษัทจากนั้นก็แค่รอรับดอกเบี้ยเดือนละ 10-15 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องทำอะไร        อภิรักษ์อ้างว่าตนเองมีทีมงานที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ค่าเงิน และยังมีโปรแกรมเอไอช่วยอีกแรง ซึ่งในช่วงต้นผู้ที่ลงทุนกับ Forex 3D ก็ได้รับดอกเบี้ยกลับมาจริงดังที่กล่าวอ้าง กระทั่งปลายปี 2561 ดอกเบี้ยก็หยุดจ่ายผู้ที่ขอคืนเงินต้นก็ไม่ได้คืน แล้วความฝันก็พังทลายลง ลูกไม้เดิมๆ ที่ไม่มีวันหมดอายุ         ทำไม Forex 3D สามารถสร้างความเสียหายทั้งในแง่ทรัพย์สินและจำนวนได้มากมายขนาดนี้?         ถ้าพูดด้วยภาษาของคนที่คลุกคลีในแวดวงการลงทุนและตลาดหุ้นต้องบอกว่า มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยความโลภและความกลัว ในกรณี Forex 3D ชัดเจนว่าความโลภทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ว่าไม่ได้เพราะถ้ามีหนทางสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยไม่ต้องลำบากและยังได้รับถ่ายทอดความคิดจากกลางกระแส passive income เป็นใครก็คงไม่ปฏิเสธแต่นั่นยังไม่เพียงพอในการสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้น กระบวนการปั่นความน่าเชื่อถือของ Forex 3D จึงเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การมีที่ตั้งบริษัทอยู่บนถนนรัชดาย่านธุรกิจของกรุงเทพ การจ่ายผลตอบแทนในอัตรา 10-15 เปอร์เซ็นต์จริงตามที่โฆษณา หมายความว่าถ้าคุณลงทุนกับบริษัทนี้ 1 ล้านบาท คุณจะได้ผลตอบแทนกลับมา 100,000-150,000 บาททุกเดือน แม้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกจะไม่สามารถถอนเงินต้นได้ก็ตาม แต่การได้รับผลตอบแทนขนาดนี้จะทำให้คนยินดีรอเพราะเชื่อว่าแค่ 10 เดือนก็จะคืนเงินต้น จากนั้นก็เป็นกำไรล้วนๆ         ตรงนี้จะสร้างกระแสเล่าลือแบบปากต่อปากดึงดูดเหยื่อเข้ามา ยิ่งถ้าสามารถหาสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม ผลตอบแทนที่ได้รับก็ยิ่งสูงขึ้นกลเม็ดอีกประการคือการแสดงความร่ำรวย การโชว์พอร์ต โชว์ผลตอบแทนที่แท้จริง การจัดสัมมนา พาไปดูบริษัทหรือสินทรัพย์ที่มีตัวตน สมาชิกถ่ายรูปคู่กับสินทรัพย์ราคาแพงอย่างรถสปอร์ตหรือบ้านแล้วเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เดือนสิงหาคม 2561 อภิรักษ์ยังเปิดตัวโชว์รูมรถ RKK Auto Car ที่ขายเฉพาะรถหรูระยับเท่านั้น การมีรูปถ่ายและความสัมพันธ์กับดาราที่มีชื่อเสียง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะหลงเชื่อ         ที่แปลกคือทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิธีการเดิมๆ ซ้ำๆ ของเหล่ามิจฉาชีพ ใช้เกณฑ์ ก.ล.ต. ตรวจหาสิ่งผิดสังเกต         กระแสการลงทุนที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบันคือคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัล มีทั้งที่ถูกกฎหมายได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมักปรากฎโฆษณาบ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดียต่างๆ         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพยายามออกกติกาการกำกับดูแลเนื่องตอนนี้มีการโฆษณาการลงทุนออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งการลงทุนที่น่ากังวลคือการลงทุนในเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งยังไม่เทียบเท่ากับเงิน         “เพราะฉะนั้นมันจะขึ้นๆ ลงๆ พอเราลงทุนไปแล้ว เราจะไม่รู้ว่าค่าเงินที่แท้จริงคืออะไร เลยต้องมีการกำกับโฆษณาไม่ให้เกินจริงหรือกำกับอินฟลูเอนเซอร์ที่โดนจ้างให้มาโฆษณา เราจะเห็นว่าการกำกับโฆษณาเกินจริงในสินค้าอื่นมี สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ดูแล ในผลิตภัณฑ์อาหารและยามี อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ดูแล แต่สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มันเริ่มยาก ก.ล.ต. ต้องมากำกับดูแล         “บริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก กลต. จะมีการคุมเข้มมาก มันกลายเป็นกรอบกติกาว่าถ้าโฆษณานอกเหนือจากเว็บไซต์หรือช่องทางที่เป็นทางการของคุณแล้วถือว่าผิด พื้นที่การโฆษณาโดนกระชับพื้นที่เยอะมาก ถ้าเราเห็นโฆษณาลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ให้เราเอาชื่อไปเช็คจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ถ้ามันไม่ใช่ก็โฆษณาไม่ได้ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือขนาดไหน”         ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต. ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มีเนื้อความว่า         1. ต้องโฆษณาไม่เกินความจริง                2. มีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนและต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคุม (balanced view)         3. กำหนดให้โฆษณาคริปโตทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น (กรณีโปรโมตธุรกิจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เจาะยี่ห้อเหรียญยังสามารถโฆษณาผ่านสื่อทั่วไปได้ทั้งหมด) และสำหรับผู้ประกอบการรายใดมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนแล้ว เช่น โฆษณาบนบิลบอร์ด เป็นต้น ต้องถอนออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยได้ส่งหนังสือและสั่งให้แต่ละบริษัทดำเนินการตามกำหนดและทำตรารับรองส่งกลับมาให้ ก.ล.ต. การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง         ธนัช ธรรมิกสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้บริโภคอีกว่า กรณีที่มีการชักชวนให้ลงทุน ผู้บริโภคควรบันทึกเสียงเอาไว้เพราะผู้ชักชวนจะต้องแจ้งชื่อและรหัสการขายเสมอ หากมีการการันตีว่าสามารถทำผลตอบแทนได้เท่านี้ภายในระยะเวลาเท่านี้ เมื่อถือเวลาไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็มีหลักฐานสำหรับการร้องเรียน เขายังแนะนำอีกว่า        “ก่อนอื่นเราต้องดูว่าการที่เขามาพูดหรือชักชวนนั้น สมมติลงทุน 100 บาทได้ 10 บาทภายในระยะเวลา 1 เดือน เราอาจจะต้องฉุกคิดก่อนนิดหนึ่งว่ามันมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ผมเข้าใจว่าเราต้องการเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต ถ้าเรามีเงินเหลือใช้จริง เราก็ลงทุนส่วนหนึ่ง แล้วก็เก็บอีกส่วนหนึ่งโดยไม่ไปกระทบกับส่วนอื่นๆ และต้อหาข้อมูลก่อนจะดำเนินการต่อไปเพราะต้องเจอจิตวิทยาของผู้ตั้งวงอยู่แล้วในกลุ่มมวลชน เราก็ไม่รู้ว่าเขาปั่นหรือเปล่า ก้อนแรก ก้อนสองได้อยู่แล้ว แต่พอเราลงทุนหนักเข้าไปสิ เราเริ่มติดเบ็ดเขา สู้ลงทุนก้อนแรกแล้วเราถอยเลย         “การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ถ้าเกิดแล้วเราก็ต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่าง แม้กระทั่งสลิปการโอน อบรมโดยใคร เพื่อจะได้โยงโดนตัวผู้กระทำความผิดให้ได้ทั้งหมด แล้วนำเรื่องเหล่านี้ไปร้องเรียน ไม่ว่าจะแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานมาช่วยกระพือ ติดต่อสื่อเพื่อให้เขารีบประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้เกิดผู้เสียในวงกว้างกว่านี้” ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ต้องระวัง!         คราวนี้เรามาฟังคำแนะนำจากกูรูด้านการลงทุนกัน สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ         “ให้ดูลักษณะผลตอบแทน ผลตอบแทนอะไรที่ดูดีเกิน ยกตัวอย่าง ลงทุนไปร้อยบาทปันผลยี่สิบบาท พวกนี้ให้เริ่มระมัดระวัง ถ้าลงทุนในหุ้นเก่งๆ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ถือว่าเก่งมากแล้ว อย่างวอร์เรนต์ บัฟเฟตต์เองหรือใครก็ตามที่เป็นนักลงทุนระดับโลก 20 เปอร์เซ็นต์ 23 เปอร์เซ็นต์ 27 เปอร์เซ็นต์ (เป็นผลตอบแทนต่อปีในระยะยาว) คือเก่งสุดแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งเลยที่นักลงทุนหลายคนหรือว่าคนที่อยากลงทุนมองข้าม” คำเตือนจากธนัฐ ศิริวรางกูร เจ้าของเพจคลินิกกองทุน         ก่อนการลงทุน สิ่งแรกๆ ที่ควรตรวจสอบก่อนคือผลตอบแทนว่ามีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ กรณี Forex 3D ที่อ้างว่าจ่ายผลตอบแทน 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ลองคำนวณดูว่าลงทุน 1 ล้านบาท แล้วได้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือนตลอด 1 ปีหรือ 1.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 120 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่นักลงทุนเก่งๆ ระดับโลกต้องอาศัยเวลา 5 ปีถึง 10 ปีขึ้นไปแล้วนำผลตอบแทนมาหารเฉลี่ยเป็นผลตอบแทน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี         เมื่อใดก็ตามที่มีผู้อ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ ในระยะเวลาอันสั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวง         “ที่ต้องดูคู่กันคือ platform นั้นได้มาตรฐานจากทาง กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) หรือเปล่า คืออย่างน้อยมี กลต. มาคั่นก็ปลอดภัยระดับหนึ่ง”         อย่างไรก็ตาม พบว่าการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐยังตามไม่ทันการลงทุนหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี กลไกกำกับดูแลภาครัฐยากจะตามทัน         Forex 3D เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ธนัฐอธิบายว่า Forex หรือ Foreign Exchange Market หรือตลาดซื้อขายอัตราเงิน ซึ่งเป็นการเก็งกำไรจากค่าเงิน ทาง กลต. ไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงค์ชาติในการควบคุมเข้าออกของเงินสกุลต่างๆ         “แต่สินทรัพย์ Forex เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ฉะนั้น กลต. จะเป็นคนดูแล แต่ว่า กลต. ไม่ได้ไปควบคุมเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้นมันจึงเทาๆ นิดหนึ่ง ถามว่าใครผู้ดูแลหลักผมให้น้ำหนักไปที่แบงค์ชาติ”         สรุปได้ว่าตลาด Forex ไม่ถูกและไม่ผิดกฎหมายเพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ มันจึงอยู่ในพื้นที่สีเทา อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. ได้ชี้แจงว่าตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th) และในปัจจุบันทาง ธปท. ก็ยังไม่มีการให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางอินเทอร์เน็ต         นอกจากนี้ ธปท. ยังไม่อนุญาตให้ทำการโอนเงินไปต่างประเทศเพื่อชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือ Forex ในเว็บไซต์ต่างประเทศ การฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ส่วนบุคคลที่แนะนำหรือโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตก็อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน         ธนัฐให้ความเห็นว่าไม่มีทางที่หน่วยงานรัฐจะสามารถออกเกณฑ์การกำกับดูแลได้ทันท่วงที ถือเป็นจุดบอดประการหนึ่ง เนื่องจากเกิดสินทรัพย์ใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา หนทางที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้แก่ประชาชน         “ทำได้มากที่สุดก็คือฝั่งนักลงทุนต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนทุกครั้ง ก็คือเป็นเรื่องธรรมดาปกติ ไม่อยากบอกเลยว่าต้องดูแลตัวเอง” กลับสู่พื้นฐาน investment literacy         เขาเสริมว่า investment literacy เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำ ต้องเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุนเป็นอย่างดีก่อน ต้องรู้ว่าที่มาที่ไปของผลตอบแทนของสินทรัพย์นั้นมาอย่างไร กลไกสร้างผลตอบแทนมาจากไหน ยกตัวอย่าง Forex ที่โฆษณาว่าให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน นักลงทุนต้องถามว่ามันมาอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ค่าเงินที่เทรดจะสม่ำเสมอทุกเดือน เป็นต้น         “ผมอยากให้ทุกคนกลับมาที่เบสิค การบริหารจัดการทางการเงิน ฉันไม่อยากจน อยากมีชีวิตที่ดี ถ้าอยากทำแบบนั้นมันไม่มีทางอ้อม ไม่มีทางลัด มันมีแต่ทางฟันฝ่าว่าเราต้องทำบัญชีกระแสเงินสดของตัวเองก่อน ลองบริหารจัดการและเอาเงินที่เหลือไปลงทุน และการที่เราใช้เงินที่หามาอย่างยากลำบากไปลงทุนก้อนนี้มันมีค่ากับเรานะ แล้วเราจะศึกษาเยอะขึ้นแล้วเอาเงินที่เราหาไปลงทุนมากขึ้น เพราะเงินที่หามาได้มันเหนื่อยจริงๆ คนส่วนใหญ่ที่ผมเจอ คนที่มีการเก็บออมแบบตั้งใจจริงๆ เขาจะไม่เข้ามาทางนี้เพราะว่าเขาได้มายาก เขาลงทุนอะไรสักอย่างก็ต้องคิดเยอะ ฉะนั้น กลับไปที่เบสิค ลองปรับตัวเองทำรายรับรายจ่าย เราจะเข้าใจตัวเอง การลงทุนแบบที่รู้ที่มาที่ไปเป็นอย่างดี มันจะปลอดภัยกับตัวเรามากขึ้น”        ประโยคที่ว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน’ ยังใช้ได้เสมอ ห้ามลืมเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 DCA ชีวิตจริงไม่สวยหรูอย่างที่คิด

        ค้นดูต้นฉบับที่เคยเขียน เฮ้ย ไม่เคยเขียนวิธีการเก็บออมแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging เลยได้ยังไงนะ บ้าไปแล้ว ทั้งที่เป็นวิธียอดฮิตและน่าจะเหมาะที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจการลงทุนมากนัก        แปลว่าตอนนี้จะเล่าเรื่อง DCA ใช่มั้ย? ไม่ใช่ (อ้าว)        การลงทุนแบบ DCA พูดให้เข้าใจง่ายคือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนโดยลงเงินเท่ากันทุกเดือนในกองทุนรวมหรือหุ้น ใดๆ ก็ตาม ที่สำคัญต้องเป็นการลงทุนระยะยาว กูรูมักบอกว่าอย่างน้อย 7 ปี วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีและเหมาะกับคนที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ๆ         DCA เป็นวิธีการที่ดี แต่ชีวิตจริงไม่ได้หรูหราหมาเห่าแบบนั้นน่ะ         ไม่นานมานี้ มีเพจเกี่ยวกับการลงทุนเผยแพร่เนื้อหาว่ายิ่งทำ DCA เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ประมาณว่าถ้าอยากมีเงิน 10 ล้านหลังเกษียณต้อง DCA ต่อเดือนเท่าไหร่ ถ้าได้ผลตอบแทน 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีแบบทบต้น        เกษียณตอนอายุ 60 ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่ 25 ต้องเก็บเดือนละ 5,000 ถ้าเริ่มตอน 30 ต้องเก็บเดือนละ 7,500 ถ้าเริ่มตอน 40 ต้องเก็บเดือนละ 18,500 ถ้าเริ่มช้าเท่าไหร่ ตัวเลขเงินเก็บต่อเดือนจะยิ่งมโหฬาร         คำถาม-คนทำงานที่จะเก็บเงินได้ 5,000 บาทตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมีสักกี่คนในประเทศนี้ มนุษย์เงินเดือนปริญญาตรีที่รัฐบาลโม้ว่าจะกำหนดเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทยังทำไม่ได้เลย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยในปี 2565 อยู่ที่ 244,838 บาท หารด้วย 12 เดือนจะเท่ากับ 20,400 บาท         เงิน 20,400 บาทเยอะมากมั้ยกับสภาพเงินเฟ้อเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.73 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 13 ปีสูตรสำเร็จที่ว่า DCA เท่าๆ กันทุกเดือน พอฐานเงินเดือนสูงขึ้น ก็เพิ่มยอดเงินลงทุนแต่ละเดือนให้มากขึ้น พอเกษียณก็จะมีเงินเก็บไว้ใช้สบายๆ ดูจะโลกสวยเกินไปสำหรับคนไทยทุกคนโดยเฉลี่ย อย่าว่าแต่สิบล้านเลย เงินเก็บหลักหมื่น หลักแสน คนไทยจำนวนมากยังไปไม่ถึง         พูดแบบนี้อย่าตีเจตนาว่า ไม่ต้องเก็บออม ใช้เงินหาความสุขให้เต็มที่ เปล่า แค่จะบอกว่าเราปล่อยให้คนในสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ เก็บเงินตามยถากรรมไม่ได้หรอก คนส่วนใหญ่ไม่มีทางไปถึงแน่         ต้องมีอย่างอื่นอีกเยอะแยะ รัฐสวัสดิการ กฎหมายแรงงานที่ดี สวัสดิการสุขภาพ ระบบคมนาคมขนส่ง การศึกษาที่ฟรีจริงๆ กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อให้กับคนทุกชนชั้น การเมืองที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ พวกนี้แหละที่จะคอยโอบอุ้มผู้คนในสังคม ไม่ใช่เอะอะบอกให้เก็บเงินท่าเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ลงทุนในตัวเองก่อน รวมแหล่งเรียนรู้ด้านการเงิน การลงทุน แบบไม่ขายฝัน

        พื้นที่ตรงนี้ย้ำหลายครั้งว่า การลงทุนในตัวเองหรือพูดให้ชัดคือลงทุนในความรู้และทักษะ เรื่องนี้น่าจะเถียงยาก เพราะลองว่ามีความรู้และทักษะซะอย่างย่อมนำไปใช้ต่อยอดได้         ในแง่การลงทุนก็เหมือนกัน ถ้าต้องการลงทุนแบบไม่ทุกข์ร้อนใจมากนัก เข้ากับสไตล์ของตัวเอง ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลความรู้ เลยคิดว่าตอนนี้จะรวบรวมแหล่งความรู้ให้คนที่คิดจะเริ่มลงทุนใช้เป็นห้องเรียน โดยเกณฑ์ที่ใช้เลือกคือไม่ขายฝัน ประเภทผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนหรือออกแนวแชร์ลูกโซ่ ตัดทิ้ง         สอง-ฟรี อันนี้สำคัญ บางคนเสียเงินค่าคอร์สแพงเว่อร์ แถมโดนขายคอร์ส ชวนลงทุนอีก         สาม-ปูพื้นฐาน ต้นไม้ที่มั่นคงเกิดจากรากที่แผ่กว้างและลึก         สี่-เข้าถึงได้ง่ายเพราะทั้งหมดอยู่บนอินเตอร์เน็ต         เว็บไซต์ต่อไปนี้บางคนอาจรู้จักอยู่แล้ว         1. www.set.or.th เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ด้านบนของเว็บมีส่วนที่ชื่อว่า ‘ความรู้การลงทุน’ คลิกเข้าไปจะเจอกับคลิปแนะนำตั้งแต่การเงินส่วนบุคคลเริ่มต้นจนถึงการลงทุนในอนุพันธ์กันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีแนะนำการเป็นผู้ประกอบการอีกต่างหาก แค่สมัครและล็อกอินเข้าไป คุณจะพบแหล่งเรียนรู้ที่ฟรีและดี         2. www.a-academy.net เป็นเว็บไซต์ที่ทำขึ้นโดยศักดา สรรพปัญญาวงศ์ ผู้ก่อตั้งและวิทยากรประจำเว็บไซต์ จัดเป็นแหล่งเรียนรู้เริ่มต้นที่ดีมากๆ แหล่งหนึ่ง ไม่ขายฝัน สมเหตุสมผล เริ่มต้นจากการเงินส่วนบุคคล การจัดการหนี้สิน การวางแผนภาษี การวางแผนเกษียณ การลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม เรียกว่าถ้าดูจบทุกคลิปก็น่าจะเซียนการลงทุนกันเลยทีเดียว         3. doctorwanttime.com/ เว็บที่มีชื่อไทยน่ารักๆ ว่าหมอยุ่งอยากมีเวลา เจ้าของคือ พญ.อรพรรณ คงพันธุ์วิจิตร เป็นเว็บที่ขยับขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่งเพราะจะเน้นเรื่องการลงทุนหุ้นและกองทุนรวมโดยเฉพาะ มีสอนการอ่านงบการเงิน การคัดเลือกหุ้น คัดเลือกกองทุน สอนแบบเข้าใจง่าย ไม่ใช่ศัพท์แสงยุ่งยากฟังแล้วหัวจะปวด         4. bear-investor.com/ เน้นการลงทุนหุ้นและกองทุนรวมเช่นกัน ความแตกต่างคือสำหรับคนที่สนใจกองทุนรวมแบบดัชนี ผู้ก่อตั้งเว็บเชื่อมั่นว่าการลงทุนแนวทางนี้ตอบโจทย์และให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนเชิงรุกที่ระยะยาวแล้วไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ หลายบทความอธิบายแบบเจาะลึกว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ อาจจะไม่ได้สอนการลงทุนโดยตรง แต่พูดในเชิงวิธีคิด ข้อเสียคือเว็บไม่ได้อัพเดทมาสักพักใหญ่แล้ว แต่บทความเดิมๆ ที่มีอยู่เยอะแยะยังทันสมัยเสมอ         ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกเยอะแยะ เอาแค่พอหอมปากหอมคอ เข้าไปศึกษาหาอ่านกันและขอให้มีความสุขกับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบบัที่ 251 ETF ทางเลือกของการลงทุนในกองทุนดัชนี

        เคยพูดกองทุนรวมไปแล้ว โดยเฉพาะกองทุนรวมดัชนีหรือ Index Mutual Fund หรือ Passive Fund ที่ใช้วิธีการลงทุนล้อไปกับดัชนีของตลาด หมายความว่าถ้า SET50 หรือหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุด 50 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยรวมกันสร้างผลตอบแทนใน 1 ปีได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนดัชนี SET50 ก็จะลงทุนในหุ้น 50 ตัวนี้ในสัดส่วนเดียวกันกับตลาดและสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง         ข้อดีของกองทุนรวมประเภทนี้คือมีค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่เหมือนกองทุนรวมที่ต้องการเอาชนะตลาด         วันนี้จะมาแนะนำอะไรที่คล้ายๆ กัน มันมีชื่อเรียกว่า ETF หรือ Exchange Traded Fund เอาเข้าจริงมันก็คือกองทุนรวมนั่นแหละ ลงทุนในทรัพย์สินได้หลายประเภทเหมือนกัน เช่น หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ น้ำมัน และอื่นๆ แต่เป็นกองทุนรวมที่เปิดขายในตลาดหลักทรัพย์และต้องการสร้างผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิงของ ETF นั้นๆ         เรียกว่าไม่เอาชนะตลาด กูรูด้านการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่าไม่มีกองทุนรวมไหนในระยะยาวที่เอาชนะตลาดได้หรอก         เราก็จะพอมองเห็นความต่างระหว่าง ETF กับกองทุนรวมดัชนีได้บ้างแล้ว ETF ซื้อ-ขายในตลาดหุ้นได้เหมือนหุ้นทั่วไป ราคาก็เป็นราคาตลาด ณ เวลานั้น ซึ่งกองทุนรวมดัชนีทำไม่ได้ เพราะกองทุนรวมถ้าซื้อวันนี้ต้องรอราคาของวันพรุ่งนี้ก่อน คำสั่งซื้อถึงจะมีผลว่าเราจะได้กี่หน่วย         จุดที่ต่างกันอีกข้อหนึ่งของ ETF คือการซื้อขั้นต่ำต้องซื้ออย่างน้อย 100 หน่วยเหมือนหุ้น ต่างจากกองทุนรวมที่ระบุขั้นต่ำเป็นจำนวนเงิน เดี๋ยวนี้ซื้อขั้นต่ำ 1 บาทยังมีเลย         ต่อมาก็เรื่องการขายคืน พูดให้เข้าใจง่ายคือขายกองทุนรวมที่ถือไว้ออกมาเป็นเงิน สำหรับ ETF ถ้าสั่งขายวันนี้ (ต้องอยู่ในเวลาของตลาดหลักทรัพย์) คุณจะได้เงินในอีก 3 วันให้หลัง ไม่รวมวันหยุด หรือที่เรียกว่า T+3ส่วนกองทุนรวมเป็น T+4 หรือ 4 วัน         ส่วนเรื่องภาษี ทั้ง ETF และกองทุนรวมดัชนี ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา เช่น ซื้อมา 10 บาท ตอนขายคืนขายในราคา 15 บาท ส่วนต่าง 5 บาทได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสีย ยกเว้นว่ามีเงินปันผล ซึ่งทั้งสองตัวเหมือนกัน ถ้าได้เงินปันผล เงินปันผลนั้นจะถูกหักภาษี 10 เปอร์เซ็นต์         เป็นที่มาของคำแนะนำว่าไม่จำเป็นก็ควรเลือกกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล จะคุ้มกว่า         เพราะถ้าเสียภาษีแล้วรัฐเอาไปใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่องก็น่าคิดหนักอยู่ จริงไหม?         คนที่ชื่นชอบการลงทุนในกองทุนดัชนี ETF เป็นทางเลือกการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็อยากซื้อเก็บไว้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้จัก ‘ความเสี่ยง’ ไม่เสี่ยงเลยก็เป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง

        “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษา...บลาๆๆ”         ประโยคแสนคุ้นเคย ได้ยินบ่อย เร็วรัว และนึกสงสัยว่าคนพูดหายใจทางไหน แต่ก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ผู้ที่คิดลงทุนไม่ว่าจะในอะไรก็ตามแต่ต้องใส่ใจ มีคำพูดประมาณว่าในการลงทุนนั้นไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย หุ้น ทองคำ น้ำมัน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งเดียวที่เราพอจะควบคุมได้คือ ‘ความเสี่ยง’         เป็นเหตุผลให้ต้องเตือนไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ต่อให้คุณลงทุนเองก็เถอะ หรือเวลาเปิดบัญชีกองทุนรวมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทางพนักงานจะต้องให้คุณทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงทุกครั้ง พอครบรอบระยะเวลาก็ให้ประเมินเพื่อดูว่าความเสี่ยงที่คุณเคยรับได้เปลี่ยนไปหรือเปล่า         สมมติว่าคุณทำแบบประเมินความเสี่ยงแล้วผลออกมาว่า คุณรับความเสี่ยงได้ระดับ 4 ก็จะมีการแนะนำกองทุนที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 4 ให้คุณพิจารณา ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่า ถ้าฉันอยากลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่า 4 ล่ะจะทำได้ไหม?         ทำได้ แต่ทาง บลจ. จะยื่นเอกสารให้คุณเซ็นรับรองว่าคุณยอมรับความเสี่ยงมากกว่าที่คุณทำแบบประเมินไว้         ว่าแต่ทำไมต้องทำ? คำตอบง่ายที่สุดคือแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน เช่นคุณจะเจอคำถามว่าคุณคาดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินที่นำมาลงทุนนานแค่ไหน สมมติคุณตอบว่าภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นเกินไปถ้าคิดลงทุนในหุ้นเพราะมันมีโอกาสขาดทุนสูง ถ้าคุณฝืนลงทุนไปโดยไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน แล้วมีเหตุให้ต้องใช้เงิน แต่กองทุนที่ถือไว้ยังขาดทุนอยู่ล่ะ         หรือคำถามว่าคุณยอมรับผลขาดทุนได้แค่ไหน คุณรู้อยู่แล้วว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องระยะยาว คุณเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เงินก้อนที่ใช้ลงทุนเป็นเงินเย็นพร้อมจะให้มันทำงานยาวๆ ไป แม้ในระยะสั้นจะขาดทุน แต่ระยะยาวกำไรเติบโตแน่ คุณอาจยอมรับการขาดทุนได้สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้นหรือมากกว่า         เห็นไหมล่ะว่าการประเมินความเสี่ยงจำเป็นแค่ไหน         มันก็ย้อนกลับไปตอนแรกๆ ที่พูดถึงการรู้จักตัวเองนั่นแหละ มันไม่ใช่แค่รู้ว่าตัวเองมีเงินแค่ไหน มีความรู้เท่าไหร่ แต่ต้องรู้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย         ทีนี้ก็จะมีบางคนกลัว ไม่กล้าเสี่ยง ไม่อยากเห็นเงินต้นหดหาย กลัวเจ็บหนัก เลยใช้วิธีดั้งเดิมที่คิดเองเออเองว่าไม่เสี่ยงชัวร์ คือการฝากเงินไว้กับธนาคารเฉยๆ         ผิด ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง ธนาคารล้มได้ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ล้มกันระเนนระนาด หรือต่อให้ไม่ล้ม คุณก็จะเจอกับความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่กัดกินมูลค่าเงินของคุณ ต่อให้จำนวนเงินเท่าเดิม มูลค่าก็ลดลงอยู่ดี         ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยงหรอก อยู่ที่ว่าเสี่ยงแบบมีความรู้หรือไม่มีความรู้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

        ออกตัวกันก่อนว่าไม่ใช่การชี้ชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมตัวไหน แหม่ จะเอาความรู้ที่ไหนมาบอกได้ แล้วถ้ารู้ว่าตัวไหนจะขึ้น ผู้เขียนซื้อไว้เองไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องแบบนี้ต้องเรียนรู้เอง เจ็บเอง         ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเพิ่งได้ฟังเสวนาวิเคราะห์ทิศทางหุ้นโลก หุ้นไทย และการทำ DCA (เรื่องนี้ต้องพูดแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) ของบริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบางประเด็นน่าสนใจทีเดียว มันเกี่ยวข้องทั้งกับใครที่อยากลงทุนหุ้นและอาการบิดๆ เบี้ยวๆ ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย         เรื่องคือนักวิเคราะห์คนหนึ่งพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ เพราะมีหลายตัว หลายกองน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกาะกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เช่น สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีล้ำอย่างหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เป็นต้น เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหลายกองมีธีมการลงทุนเฉพาะ เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มอี-คอมเมิร์ส กองที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ให้เราเลือกเกาะเทรนด์การเติบโต          แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?        นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหุ้นไทยเราแทบจะไม่เจอหุ้นที่เกาะเมกะเทรนด์ของโลกเลย แย่กว่านั้นหุ้นจำนวนหนึ่งก็เป็นธุรกิจผูกขาด ธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่ง นี่แหละประเด็นใหญ่         ลองถามนักเศรษฐศาสตร์ เกือบร้อยทั้งร้อยแหละไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด มันส่งผลร้ายมากกว่าดี และผลร้ายที่ว่ามันตกอยู่กับประเทศ นักลงทุน จนถึงผู้บริโภคอย่างเรา          ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำวิจัยและพัฒนา ปรับตัวเพื่อเกาะเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งที่ได้ประโยชน์เห็นๆ แต่ถ้าเป็นคุณจะเสียเงินมากมายทำไมกับผลในระยะยาวที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบผลสำเร็จ ในเมื่อธุรกิจของคุณผูกขาดไปแล้ว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ซื้อหรือใช้บริการของคุณก็ไม่มีเจ้าอื่นอีกแล้ว คุณแค่นั่งเก็บกินผลประโยชน์จากการผูกขาดก็พอ         การผูกขาดยังทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน สมมติว่าในอุตสาหกรรมหนึ่งมีบริษัทใหญ่เพียง 2 บริษัท พวกเขาคงแข่งกันแย่งลูกค้าแหละ แต่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น แล้วถ้า 2 บริษัทฮั้วกันอีก ความซวยก็ยิ่งเกิดกับผู้บริโภค จะต่างกันลิบถ้ามีคู่แข่งเป็นสิบๆ ในตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย บริษัทไหนอ่อนแอก็แพ้ไป          นักลงทุนจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดไปด้วย มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ไม่มีบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ การเติบโตในอนาคตของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยั่งยืน อย่าคิดว่ากำเงินสดไว้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างเดียวเป็นพอ         โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง”

        “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง” คำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ตำนานที่มีชีวิตของนักลงทุนสายคุณค่า (value investment) ซึ่งเคยพูดถึงมาแล้ว         ที่ยกประโยคนี้มาพูดถึงอีกรอบเพราะเป็นหัวใจสำคัญของการออมและการลงทุน (หรืออันที่จริงก็น่าจะเกือบทุกเรื่องนั่นแหละ) ผู้เขียนมักเจอคำถามเดิมๆ จากคนใกล้ตัวว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี?” “ซื้อหุ้นตัวนี้ดีไหม?” “กองทุนนี้น่าลงทุนหรือเปล่า?” คำตอบที่ให้ก็จะเหมือนเดิมทุกครั้งคือ         “ไม่รู้”         ก็ไม่รู้จริงๆ แล้วจะให้ตอบว่ายังไงล่ะ ผู้เขียนเองก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความรู้มากมาย ทุกวันนี้ยังต้องอ่าน ต้องฟังเสวนาเติมความรู้ตลอด แล้วจะรู้เหรอว่าหุ้นหรือกองทุนตัวไหนน่าลงทุน แล้วถ้าบอกชื่อไป ซื้อตาม เกิดขาดทุนขึ้นมาจะตามกลับมาด่าไหม         ดังนั้น “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง” จึงเป็นหัวใจหรือรากฐานของการจัดการการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน อ่านให้มาก ฟังให้เยอะ คิดตาม ใคร่ครวญ อย่าเพิ่งเชื่อ นำสิ่งที่รู้มาทดลองปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ มีนักลงทุนบางคนพูดว่า คุณไม่ต้องรู้ทั้งหมด 100% แต่จงทำ 100% ในสิ่งที่รู้ หมายความว่าจงทำอย่างเต็มที่ อย่างตั้งใจจากสิ่งที่คุณเรียนรู้มา เพราะโลกนี้ไม่มีรู้ได้หมด 100% หรอก ถ้ามัวรอรู้ทั้งหมดคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี         ต้องบอกด้วยว่าการหาความรู้เรื่องการลงทุนในยุคนี้ง่ายและสะดวกกว่าเมื่อก่อนมากๆ มีเว็บไซต์ มีเพจ มียูทูบล้นเหลือให้เรียนรู้ หรือจะเข้าไปที่ www.set.or.th เป็นเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่รวบรวมความรู้ไว้เพียบ         การลงทุนกับตัวเองจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีที่สุด         เพราะถ้าเอาแต่ถามหาหุ้นดีก็ไม่ต่างจากการยืมจมูกคนอื่นหายใจ กลายเป็นแมงเม่าติดดอยกับคำพูดติดปากว่า “รู้งี้...”         บางครั้งคำพูดนี้ก็กินความไปถึงการเก็บออมทันทีหลังจากรับรายได้มา ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายด้วย เพราะเป็นการทำเพื่อตัวเองก่อนและประกันว่าเราจะเก็บออมทุกเดือน สูตรเดิมๆ ที่ว่าใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยเก็บเป็นสูตรที่เชยและตกรุ่นไปแล้ว         การลงทุนในตัวเองยังหมายถึงการรู้จักตัวเองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 235 วอร์เรน บัฟเฟตต์

        คนที่ไม่ได้สนใจเรื่องการลงทุนในหุ้นเลยแม้แต่นิดเดียวอาจไม่รู้จักชื่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หรือชื่อเต็มๆ ว่า วอร์เร็น เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ (Warren Edward Buffett) แต่กับคนที่คลุกคลีกับตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสไตล์ไหน ชื่อนี้คือสุดยอดนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (ไว้วันหลังจะพูดเรื่องนี้) ตลอดกาล         Berkshire Hathaway บริษัทของบัฟเฟตต์ เป็นบริษัทที่ลงทุนในบริษัทอื่นอีกที พูดง่ายๆ คือเขาใช้ Berkshire Hathaway เข้าซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ จากเวลาที่ผ่านมา มันพิสูจน์แล้วว่าสไตล์การลงทุนของเขาสร้างผลตอบแทนมหาศาลเพียงใด ปัจจุบันเขามีทรัพย์สิน 80.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ลองคูณเป็นเงินบาทดู         ทำให้เขาได้สมญานามว่า เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา         บัฟเฟตต์เป็นตัวอย่างของนักลงทุนที่ดีที่จะไม่เข้าไปยุ่งกับการลงทุนที่ตนเองไม่มีความรู้ ครั้งหนึ่งเขาไม่สนใจพวกหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเอาเสียเลย แต่ปี 2016 เขาเข้าซื้อหุ้น Apple และซื้อเรื่อยมาจนถึงปี 2018 ถึงตอนนี้ เขาได้กำไรจากส่วนต่างราคาไปประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท นี่เฉพาะกำไรนะ         แสดงว่าก่อนที่บัฟเฟตต์จะตัดสินใจซื้อหุ้น Apple เขาต้องทำการบ้านมาอย่างดี ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของเขาที่ทุกคนยอมรับ         “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง”         “ถ้าคุณใช้อารมณ์ในการลงทุน คุณจะไม่มีวันทำมันได้ดี”         “จงกลัวในยามที่ทุกคนโลภและจงโลภในยามที่ทุกคนกลัว”         3 ประโยคของบัฟเฟตต์นี้ช่วยเตือนสติคนที่หวังจะรวยเร็วได้ดี โยงกับตอนที่แล้ว ‘Greed and Fear ความโลภและความกลัว’ การลงทุนเพื่อต่อยอดทรัพย์สินเป็นเรื่องท้ายๆ สิ่งแรกที่ต้องลงทุนก่อนคือความรู้ ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นแมงเม่าในกองไฟของตลาดหุ้น         ถ้าคุณเห็นหุ้นตัวนั้นนี้ขึ้น ทองคำราคาขึ้น แล้วปล่อยให้อารมณ์พาไป เท่ากับคุณไม่ได้ใช้เหตุผลในการลงทุนเลย ใช้ความโลภล้วนๆ สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าอาจหมายถึงหายนะ         ส่วนประโยคสุดท้าย พูดอย่างย่นย่อคือเวลาที่ทุกคนต่างเทขายหุ้นเพราะความกลัว เป็นเวลาที่ดีที่คุณจะเข้าซื้อ เพราะคุณจะได้หุ้นราคาถูก แต่ในเวลาที่ใครๆ ก็แห่เข้าซื้อเพราะความโลภ เป็นเวลาที่คุณควรหยุดและเฝ้าดู เพราะหุ้นอาจจะแพงเกินไป         แต่ต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า ไม่ใช่หุ้นทุกตัวที่คนแห่เทขาย แล้วคุณจะเข้าซื้อได้ ถ้าหุ้นที่ขายเป็นหุ้นไม่เอาอ่าวที่ถูกปั่นราคา เท่ากับไปรับมีดมาบาดมือ ดังนั้น หุ้นในที่นี้ของบัฟเฟตต์หมายถึงหุ้นที่ดี กิจการเข้มแข็ง         ระวัง! ความโลภและความกลัวให้ดี

อ่านเพิ่มเติม >