ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ดูหนังออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ เจ้าไหนน่าใช้บริการที่สุด

พฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก การรับชมภาพยนตร์เฉพาะแค่ในโรงภาพยนตร์หรือหน้าจอโทรทัศน์อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป คนที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์หลายคนเริ่มหันมารับชมผ่านทางสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ในอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแม้ว่า ณ เวลานี้ในสื่อออนไลน์จะเต็มไปด้วยการเผยแพร่ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สำหรับคนที่อยากสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ก็ยังมีบริการให้รับชมภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกกฎหมายไว้คอยบริการอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ส์เพื่อฉายทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับรับชมทางออนไลน์โดยเฉพาะฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจคนชอบดูหนังที่อยากรับชมหนังและซีรี่ส์เรื่องดังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ แท็บแล็ต ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง (Streaming Video) ฉายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ตารางเปรียบเทียบบริการของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดูภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ฉลาดซื้อแนะนำ-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-ส่วนจะเลือกใช้บริการเจ้าไหนก็ขึ้นอยู่กับ เนื้อหาของภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่ต้องการรับชม ดังนั้นควรเข้าไปสำรวจดูเนื้อหาที่มีให้ชมของแต่ละเจ้า ก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ-การจ่ายค่าบริการแบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ผู้ให้บริการจะทำการตัดเงินต่ออายุสมาชิกแบบอัตโนมัติ ดังนั้นหากต้องการยุติการใช้บริการต้องทำให้การติดต่อกับทางผู้บริการ เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก-นอกจากการดูภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์สตรีมมิ่งและแอปพลิเคชันที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เรายังสามารถรับชมภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธ์ผ่านทางมือถือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Google Play Store ในมือถือระบบแอนดรอยด์ และ Itunes ในมือถือระบบ IOS ซึ่งมีภาพยนตร์จำนวนมากจำหน่ายให้กับใครที่อยากรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์บนมือถือและแท็บเล็ต โดยมีให้เลือกทั้งแบบเช่า คือเปิดดูได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กับแบบขายขาด สามารถโหลดเก็บไว้ดูภายหลังได้ โดยราคาแบบเช่าจะเริ่มที่ 60 บาท ส่วนราคาแบบขายขาดเริ่มที่ 280 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 112-113 เมื่อเด็กไทยไม่สามารถเข้าถึงตำราลิขสิทธิ์

  วันนี้ ฉลาดซื้อ ชวนคุณเข้ารั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่ามีการใช้ “ตำราเรียนฉบับขาวดำ” (ซีรอกส์) ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศกันอย่างแพร่หลาย เพื่อไปสอบถามความเห็นของนักศึกษาว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเรื่องของตำราต้นฉบับ และเหตุใดพวกเขาจึงนิยมใช้ฉบับขาวดำกันมากกว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยฉลาดซื้อ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรี จำนวน 480 คน* เรื่องปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์_____* หมายเหตุ การสำรวจครั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) และประเทศสมาชิกอีกกว่าสิบประเทศ ได้ทำสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศของตนเอง การสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งการเก็บข้อมูลเพื่อการรณรงค์ในระดับนานาชาติเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงความรู้ (A2K: Access to Knowledge)   เหตุผลที่นักศึกษาจะตัดสินใจซื้องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง  -- ใกล้เคียงกันมากระหว่าง คุณภาพ ราคา และการหาซื้อได้สะดวก   89%  ของผู้ตอบจะซื้อตำราเรียน (รวมถึงภาพยนตร์ เพลง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องถ้างานนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่างานที่ทำซ้ำโดยผิดกฎหมาย 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่าตนเองจะซื้องานที่มีลิขสิทธิ์  ถูกต้อง (แทนที่จะซื้อฉบับที่ทำซ้ำโดยผิดกฎหมาย) ถ้าราคาของฉบับลิขสิทธิ์เป็นราคาที่ตนเองสามารถจ่ายได้ 85% เห็นด้วยว่าจะซื้องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องถ้าตนเองสามารถหาซื้อได้สะดวก   ทำไม “ตำราเรียนฉบับขาวดำ” ถึงมีอยู่ทั่วไปในรั้วมหาวิทยาลัย จากการสัมภาษณ์นักศึกษาปีสี่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอกล่าวว่า “ของจริงมันแพง .. สมมุติว่า หนังสือเล่มละพัน เรียนแปดวิชาก็ปาไปแล้วแปดพัน ตายพอดีถ้าซื้อของลิขสิทธิ์”   จากคำพูดนี้ เราคงพอจะอนุมานได้ว่าสินค้าลิขสิทธิ์ราคาฉบับลิขสิทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่าง หนังสือ Biology (Seventh Edition) ของ Neil A. Campbell และ Jane B. Reece ซึ่งเป็น International Edition ราคา 1,000 บาท มีประมาณ 1,200 หน้า หากถ่ายเอกสาร หน้าละ 50 สตางค์ ราคาก็จะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว หรือถ้าถ่ายทั้งเล่มอาจจะได้ราคาถูกกว่านี้ ซึ่งอาจรวมถึงคุณภาพที่ด้อยลงด้วย แต่หลายคนก็ยอมรับเรื่องนี้ได้ อาจเป็นเพราะเด็กไทยอาจจะต้องอดข้าวหลายสิบมื้อเวลาที่ต้องการจะซื้อหนังสือสักเล่ม อีกคำสัมภาษณ์จากนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า เคยถ่ายเอกสารตำราเรียนภาษาต่างประเทศทั้งเล่ม เพราะราคาแพงและไม่ทราบว่าจะหาซื้อตำราเล่มดังกล่าวได้จากที่ไหน “ราคามีส่วนสำคัญมากเวลาจะซื้อหนังสือ แล้วอีกอย่าง ไม่รู้ด้วยว่าหนังสือพวกนี้หาซื้อได้จากไหน” แต่ยังมีนักศึกษาอีกหลายคนลงที่ทุนซื้อตำราเรียนต่างประเทศฉบับลิขสิทธิ์ เพราะต้องการคุณภาพ และคิดว่ามัน “คุ้มค่า”  นักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คนหนึ่งตอบว่า “ซื้อสิ เอาไว้ดูรูป มันจำเป็นและได้ใช้ไปตลอด”   แล้วทำไมไม่ใช้วิธียืม????นักศึกษากลุ่มที่เราไปทำการสำรวจจำนวนไม่น้อยเคยประสบปัญหาในการยืมตำราเรียนต่างประเทศ สาเหตุหลักคือห้องสมุดยังมีให้เพียงพอ   76.6% บอกว่าหนังสือที่มีในห้องสมุดไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้ 72% ตอบว่าห้องสมุดไม่มีตำราเล่มที่ตนต้องการ   นักศึกษาคณะสหเวชคนเดิมพูดเกี่ยวกับการยืมว่าส่วนใหญ่จะยืมจากห้องสมุด  ตอนอยู่ปี 2 ที่เรียนวิชารวมกับคณะอื่นๆ เคยมีปัญหาเรื่องยืมตำราเรียนไม่ทันเพราะห้องสมุดมีหนังสือไม่พอ จนสอบตก “ตอนที่เรียนใหม่ ๆ ใช้วิธียืมเอาแล้วยอมเสียค่าปรับ เสียเงินร้อยสองร้อยบาทดีกว่าสอบตก” แต่ทั้งนี้พอเรียนปีสูงขึ้น ก็ไม่มีปัญหาเรื่องหนังสือในห้องสมุดไม่เพียงพอ  จากการสอบถามนักศึกษาที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ พบว่า นักศึกษาเหล่านี้ใช้วิธีการถ่ายเอกสารและยืมจากห้องสมุด ซึ่งก็ยืมได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนเหตุที่ไม่ซื้อฉบับลิขสิทธิ์นั้นก็คงเดากันได้ว่าเป็นเพราะ “ราคา” นั่นเอง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 กระแสต่างแดน

เกลือต้องห้าม แม้ครั้งหนึ่งเกลือจะเคยมีค่าดั่งทองและมีเครดิตเป็นหนึ่งในรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ แต่วันนี้เกลืออาจมีโอกาสตกอับถึงขั้นโดนห้ามใช้ในร้านอาหาร ถ้าคุณเป็นแฟนกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่ารัฐนิวยอร์คของอเมริกานั้นช่างเป็นรัฐที่เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพประชากรดีจริงๆ ขณะนี้มีประชากรนิวยอร์คที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึง 1.5 ล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นที่นั่นจึงออกมารณรงค์ให้ผู้คนบริโภคเกลือให้น้อยลง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการบริโภคเกลือลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในเวลา 5 ปี นายฟิลิกส์ ออร์ทิส สมาชิกสภาจากเขตบรู๊คลิน เลยคิดจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาดด้วยการเสนอร่างกฎหมายห้ามร้านอาหารในนิวยอร์คใช้เกลือเสียเลย ถ้าจับได้ว่าร้านไหนแอบใส่ก็จะลงโทษด้วยการปรับ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 32,000 บาท) คุณออร์ทิสแกบอกว่าสำหรับผู้บริโภคนั้นไม่มีปัญหา ถ้าใครอยากได้รสเค็มก็เติมเองได้จากกระปุกเกลือที่มีวางไว้คู่กับกระปุกพริกไทยบนโต๊ะ จุดประสงค์ของเขาคือต้องการให้ผู้บริโภคเป็นคนที่ควบคุมปริมาณเกลือด้วยตนเอง แต่บรรดาพ่อครัวในร้านอาหารต่างก็หงุดหงิดไปตามๆ กัน พวกเขามองว่าเป็นการห้ามที่เหลวไหลที่สุด และเผลอๆ อาจจะบ่อนทำลายธุรกิจอาหารของเมืองไปด้วย คนอเมริกันบริโภคเกลือวันละ 3,400 มิลลิกรัม ซึ่งเกินจากปริมาณที่แนะนำ 2,300 มิลลิกรัมไปเยอะทีเดียว     รวยเกินไป หัวใจว้าวุ่นข่าวดีสำหรับประเทศที่ยังไม่รวยทั้งหลาย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอิโคโนมิก เจอร์นัล พบว่าความมั่งคั่งนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของคนในชาติ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สองคน เคอร์ทิส อีตัน จากมหาวิทยาลัยคาลการี และมูเคช เอสวารานจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เขาฟันธงว่าคนอังกฤษมีสุขภาวะที่แย่ลงสืบเนื่องจากความอยากได้อยากมี และเขาคาดว่านโยบายรัดเข็มขัดที่รัฐบาลอังกฤษจะนำมาใช้นั้นจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีตันและเอสวาราน เสนอแนวคิดว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชากรที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว การสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นให้ประชากรก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยทั่วไปเมื่อประเทศร่ำรวยเกินภาวะอยู่ดีกินดี การบริโภคของคนในชาติก็จะเปลี่ยนเป็นการซื้อสิ่งที่เรียกว่า “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” เช่น เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องประดับล้ำค่า หรือรถหรู มากกว่าการซื้อคุณค่าการใช้สอยตามปกติของสินค้านั้น ทฤษฎีการบริโภคเพื่อความโดดเด่น บอกว่าคนเราแสวงหา “สถานภาพ” ผ่านทางการบริโภคแบบนี้ ซึ่งคุณค่านั้นไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราบริโภค หากแต่เป็นเพราะมันทำให้คนที่บริโภคได้รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น ที่สำคัญคือคนเราจะแสวงหาสินค้าประเภทนี้กันมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว รวมๆ แล้วงานวิจัยของพวกเขาช่วยยืนยันว่าเวลาที่ความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นนั้น ประชากรจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นแต่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นไปด้วย และเมื่อคนมุ่งแสวงหา “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” ที่ว่านี้ ก็จะมีเวลาใส่ใจกับเพื่อนบ้าน ชุมชนและสังคมน้อยลง ส่งผลให้ภาวะความอยู่ดีมีสุขร่วมกันลดลงไปโดยปริยาย เฮ้อ รอดตัวไป ดีนะที่ยังไม่รวย บอลลิวูดก็โดนผีหลอกไม่ใช่แค่ฮอลลิวูดเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภัยแผ่นผี ธุรกิจภาพยนตร์อินเดียที่มีมูลค่าสูงถึง 2,300 ล้านเหรียญก็ต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยกับการลักลอบดาวน์โหลดหรือปั๊มแผ่นเช่นกัน สถานการณ์เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในอินเดียแย่ลงฮวบฮาบ เพราะความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องเล่นดีวีดีก็เพิ่มจาก 4 ล้านครัวเรือน เป็น 45 ล้านครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวบอกว่าการอัพโหลดไฟล์หนังขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตจะมีขึ้นทุกๆ 5 นาที และมีการประมาณการว่าภารตะชนซื้อแผ่นผิดกฎหมายประมาณปีละ 700 ล้านแผ่น สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตแผ่นปลอมไป 330 ล้านเหรียญชิลๆ ด้านฮอลลิวูดก็ดีใจที่จะได้บอลลิวูดมาเป็นพันธมิตรในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ โดยทั้งนี้ก็จะพยายามลืมๆ ไปว่าครั้งหนึ่งเคยเคืองบอลลิวูดอยู่ไม่น้อยที่ชอบก็อปปี้หนังดังๆ ของตนเองมาทำเป็นฉบับภารตะ เพราะถ้าอินเดียสามารถปราบปรามได้ก็จะเป็นผลดีต่อตนเองไปด้วย ใครจะไม่อยากได้ตลาดอินเดียที่มีประชากร 1,000 ล้านคนที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจมากกว่าที่ใดๆ ในโลก แต่คงจะเป็นงานหนักอยู่เหมือนกัน แม้ข่าวจะไม่ได้บอกว่าตั๋วหนังที่อินเดียราคาเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆแผ่นผีซึ่งราคาประมาณ 2 เหรียญ (ประมาณ 65 บาท) ก็ทำให้คนไม่อยากเข้าโรงหนังสักเท่าไร คล้ายๆ ที่ประเทศไหนน้า.... ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ช้อปได้แม้อยู่ในห้องน้ำห้องน้ำที่สถานีรถไฟโอซาก้า ในย่านกินซ่าของญี่ปุ่นกำลังเป็นสถานที่แฮงเอาท์แห่งใหม่ของทั้งเด็กมัธยมและสาววัยทำงาน บริการห้องน้ำ “แองเจิลบี” ที่เปิดบริการมาได้ 3 ปีกว่านี้คิดค่าบริการประมาณ 100 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง นอกจากเข้าไปทำธุระส่วนตัวแล้ว สาวๆ ยังจะสามารถนั่งจิบชาสมุนไพรชิลๆ  เรียนเทคนิคการแต่งหน้า ทำผม หรือแม้แต่เลือกซื้อชุดชั้นในกันได้ ผู้ประกอบการห้องน้ำดังกล่าวได้แก่บริษัทเวสต์ เจแปน เรลเวย์ ที่ให้บริการรถไฟในฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู บอกว่าที่เปิดบริการนี้ก็เพราะได้รับเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้โดยสารหญิงว่าไม่มีสถานที่ให้พวกเธอได้เติมหน้าเติมปากหรือแต่งผมหลังการเดินทางยาวไกลเลย บ้างก็บอกว่าไม่มีกิจกรรมอะไรจะทำเพื่อฆ่าเวลาขณะรอรถไฟ ทุกวันนี้กิจการดีมาก สาวๆ เข้ากันหัวบันไดไม่แห้ง จนมีผู้ประกอบการอื่นๆ เข้ามาทำการตลาดกันในห้องน้ำกันด้วย เช่น พานาโซนิคก็ส่งช่างผมมืออาชีพมาแนะนำวิธีการใช้เครื่องรีดผมของตัวเอง หรือบริษัทเสื้อชั้นในวาโก้ก็มีเสื้อชั้นในรุ่นใหม่ๆ มาให้สาวๆ ได้ลอง รวมถึงชิเซโด้ที่มาตั้งเคานท์เตอร์เครื่องสำอางด้วยเช่นกัน ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการจะลดลงหรือไม่หลังจากมีสปอนเซอร์แล้ว หรือสาวๆ จะต้องเสียเงินเข้าไปทำอย่างเดียวกับที่ทำได้ในห้างโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เมืองปลาที่ไม่มีปลา อีกครั้งที่ผู้บริโภคต้องเตือนตนเองว่าสิ่งที่เห็น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป นักท่องเที่ยวมากมายที่ไปเยือนฟลอริด้าจะต้องไม่พลาดการสั่งอาหารทะเลมารับประทาน ไม่อย่างนั้นจะเหมือนไปไม่ถึง แต่ขณะนี้ชาวประมงในรัฐที่เรียกตนเองว่า “เมืองหลวงแห่งการตกปลาของโลก”  จับปลาได้น้อยลง เพราะภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในบางช่วง รวมถึงกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นเช่นข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการจับปลา หรือชนิดของปลาที่อนุญาตให้จับได้ ชาวประมงที่นี่เคยชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายเรื่องการจับปลามาแล้ว เพราะไม่ใช่แค่ห้ามจับปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการห้ามจับปลาทุกชนิดในบริเวณที่ปลาชนิดนั้นๆอาศัยอยู่ด้วย ปัจจุบันชาวประมงจำนวนไม่น้อยจึงเลิกอาชีพนี้ไป และเรือที่ลอยอยู่ในน่านน้ำฟลอริด้านั้นส่วนใหญ่เป็นพวกล่องเรือตกปลาเล่นๆ มากกว่าจะเป็นประมงตัวจริง สรุปว่าปลาที่เสิริ์ฟในร้านอาหารที่ฟลอริด้านี้เป็นปลานำเข้าจากที่อื่น เช่น แซลมอนจากนอร์เวย์หรือสก็อตแลนด์ ทูน่าครีบเหลืองและโลมาจากเอกวาดอร์ ปลาเก๋าจากเม็กซิโกหรือไม่ก็เวียดนาม เป็นต้น ทางร้านอาหารบอกว่าปลาที่ไหนมันก็ปลาเหมือนกัน(ถ้างั้นกินที่บ้านก็น่าจะได้หรือเปล่า) แต่ตามความเห็นของนักชีววิทยาทางทะเลแล้วปลาที่เดินทางไกลเหล่านี้จะมีคุณภาพลดลง หนึ่งเพราะระยะเวลาและสองกฎระเบียบที่ควบคุมการจับปลาในบางประเทศนั้นไม่เข้มงวดเท่าที่ฟลอริด้าอีกด้วย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ร่วมใช้ร่วมจ่ายเขตปกครองพิเศษฮ่องกงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการเก็บภาษีถุงพลาสติกในราคาใบละ 50 เซ็นต์ ( 2 บาท) ไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เขาจึงคิดจะเริ่มปฎิบัติการขั้นต่อไปในการสร้างจิตสำนึกของการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (ค่าใช้จ่าย) ต่อไปผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นในวันที่เราไม่ต้องการมันอีกต่อไป เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างโทรทัศน์จะมีค่าจัดการ 100 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 420 บาท) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างตู้เย็นจะมีค่าจัดการเพิ่มขึ้นอีกเท่าเป็น 200 เหรียญ แต่รายละเอียดนั้นเขายังเถียงกันไม่จบ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ว่านั้นจะถูกลงหรือไม่ถ้าเราใช้มันนานขึ้นและจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่ากันหรือไม่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างขนาด ต่างกำลังไฟ ร้อยละ 86 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในฮ่องกงนั้นเป็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และคอมพิวเตอร์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาลิขสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สำหรับบทความในวันนี้ จะขออธิบายสถานการณ์การแพร่ภาพโทรทัศน์ ของประเทศเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล สมบูรณ์แบบ และมีการหลอมรวมเทคโนโลยี คือประชาชนสามารถเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และรับชมรายการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า ทีวีออนไลน์ได้ทั้งสองช่องทาง ความสะดวกในการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นเป็นที่นิยมในเยอรมันอย่างมาก เพราะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ และทุกเวลา สามารถเลือกชมรายการที่แพร่ภาพผ่านไปแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการชมรายการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตคือ สามารถบันทึกรายการต่างๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาดูกี่ครั้งๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับการนำรายการที่เผยแพร่ออกอากาศมาบันทึกเก็บไว้ เป็นการส่วนตัวนั้น  สมัยก่อนก็เคยเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่สร้างหนังของฮอลลิวูด กับบริษัทโซนี่ เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เกรงว่าความสามารถในการบันทึกเนื้อหาลงบนวิดีโอเทปนั้น จะทำให้รายได้ของบริษัทผู้สร้างหนังลดลง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง คดีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วเป็นที่ฮือฮาในประเทศสหรัฐอเมริกา คดีประวัติศาสตร์นี้มีชื่อว่า Betamax-Case และผลของคำตัดสินของศาลฎีกาสูงสุด (US supreme court) ได้ตัดสินให้โซนี่ชนะคดี ทำให้เรา(ผู้ที่ชื่นชอบการดูหนัง) สามารถบันทึกภาพยนตร์ลงบนวิดีโอเทปได้ เพื่อนำมาชมซ้ำเป็นการส่วนตัว 35 ปีให้หลังเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศเยอรมนี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์เอกชนยักษ์ใหญ่สองช่อง คือ RTL และ SAT1 กำลังดำเนินคดีฟ้องร้องเวบไซต์ที่ให้บริการ การบันทึกการแพร่ภาพอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online Recorder) เนื่องจากในเยอรมันมีเวบไซต์ให้บริการการบันทึกรายการอัตโนมัติ คือ Save.tv และ Bong.tv เวบไซต์ดังกล่าวสามารถค้นหารายการโทรทัศน์ และบันทึกรายการแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องมักจะมีรายการดีๆ กีฬาดี และซีรีส์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชม จึงมีจำนวนเรตติ้งค่อนข้างสูงกว่าช่องทีวีสาธารณะ ใครที่เป็นสมาชิก save.tv หรือ Bong.tv สามารถตั้งโปรแกรมให้บันทึกเนื้อหาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตทิ้งไว้เลย เมื่อโปรแกรมทำการบันทึกรายการเสร็จแล้ว ผู้ชมสามารถที่จะชมรายการออนไลน์ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือสามารถดาวน์โหลดรายการที่ชื่นชอบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วอยากจะชมรายการตอนไหนก็ได้ เนื่องจากทางฝั่งสถานีโทรทัศน์เกรงในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ฟ้องเวบไซต์ที่ให้บริการดังกล่าว แต่ศาลสูงของเยอรมันได้ตัดสินให้เวบไซต์ที่ให้บริการ Online Recorder ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการบันทึกรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการใช้งานส่วนบุคคล (BGH, Az. I ZR 215/06 และ I ZR 175/07 ราคาการสมัครเป็นสมาชิกของเวบไซต์ online recorder ดังกล่าวก็ไม่แพง เพียง 10 ยูโรต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมบำรุงทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่ทุกครอบครัวต้องจ่ายสมทบให้กับ สำนักงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริโภคสื่อสาธารณะ (Die Gebühreneinzugszentrale GEZ) ในราคา 18 ยูโร ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้งสองช่องจะแพ้คดี แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม  โดยที่จะปิดช่องว่างทางธุรกิจการบันทึกรายการออนไลน์ ก็ได้มีแผนที่จะสร้าง Mediathek (คลังของรายการโทรทัศน์ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว) เนื่องจากรายได้ที่สำคัญของสถานีโทรทัศน์และรายการขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การเข้าชมรายการ หากทางสถานีไม่เสนอบริการนี้ ก็จะเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ไป ในประเด็นข้อกฎหมายการบันทึกรายการโทรทัศน์อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังอยู่ในการฟ้องร้องระหว่างเวบไซต์ให้บริการ online recorder กับสถานีโทรทัศน์ ก็คือ เวบไซต์ onlinetvrecorder.com มี option การดึงรายการจากโทรทัศน์ที่ผู้ชมเองไม่ได้ทำการบันทึกเก็บไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่าอาจละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอยู่ ในอนาคตองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในประเด็นนี้ครับ เพราะการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้บริโภคมักจะเสียค่าปรับ หรือค่าเตือนเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคสื่อในยุโรปประสบปัญหาอยู่ครับ ที่มา (Finanztest 9/2012)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 ลิขสิทธิ์ = ปิดโอกาส?

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพูดถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เรามักจะได้ยินกันจนชิน คือเรื่องของเทปผี ซีดี/ดีวีดีเถื่อน ที่ว่าด้วยการสูญเสียผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสำนักพิมพ์ ค่ายหนัง ค่ายเพลง ฯลฯ เสียมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักคือเรื่องของลิขสิทธิ์จากมุมมองของผู้บริโภค เช่นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถซื้อได้ หรือสิทธิในการทำสำเนาเพื่อแบ่งปันงานลิขสิทธิ์ที่ผู้บริโภคได้ซื้อมาอย่างถูกต้อง รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐให้มีการสร้างหรือใช้ประโยชน์จากงานที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการแบ่งปันอีกเป็นต้น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางการรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขต/ระยะเวลาการคุ้มครอง การเพิ่มระดับการปราบปราม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัสดุเพื่อการเรียนรู้มีราคาแพงขึ้นหรือหาได้ยากขึ้นสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังต้องอาศัยการต่อยอดจากงานที่มีการสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังถูกปฏิเสธเสรีภาพในการใช้สินค้าในแบบที่ควรจะสามารถทำได้อีกด้วย ว่าแล้วเรามาดูกันว่าถึงวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไหนจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้ของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน A2K Global surveyสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคของกฎหมายลิขสิทธิ์ของ 34 ประเทศจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในประเด็นต่อไปนี้ • ขอบเขต/ระยะเวลาคุ้มครอง  • อิสระในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ • เสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน • การบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายเราพบว่า• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีกฎหมายที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากกว่า (ในอันดับที่ 13 19 และ 20 ตามลำดับ)• สถานภาพทางเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาไม่ใช่ตัวแปรชี้วัดการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สวีเดน อเมริกา บังคลาเทศและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในสิบอันดับต้น  ในขณะที่อังกฤษและเคนย่าต่างก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับยอดแย่• ประเทศส่วนใหญ่ยังทำคะแนนได้น้อยในเรื่องของเสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน  ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างงานที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สนับสนุนการใช้ ครีเอทีฟ คอมมอน และซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และใช้ประโยชน์จากงานที่ยังไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ให้มากขึ้น• โดยรวมแล้วสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีก็คือเรื่องของการเข้าถึงและการใช้โดยสื่อมวลชน (แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อยมาก เพราะสื่อเหล่านี้มีงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) Top ten ประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้มากที่สุด 10 อันดับ1. อินเดีย2. เลบานอน3. อิสราเอล4. สหรัฐอเมริกา5. อินโดนีเซีย 6. อัฟริกาใต้7. บังคลาเทศ 8. โมรอคโค 9. สวีเดน 10. ปากีสถาน กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเหล่านี้ ระบุข้อยกเว้นไว้อย่างกว้างๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานจากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เรียกข้อยกเว้นนี้ว่า “การใช้งานอย่างเป็นธรรม” ในขณะที่สวีเดนและเลบานอนเรียกว่า “การทำสำเนาเพื่อการใช้ส่วนตัว” (โดยไม่ได้ระบุว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถใช้เพื่อการบันเทิงได้ด้วย) Bottom tenประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด 10 อันดับ1. ชิลี2. จอร์แดน 3. อังกฤษ 4. เคนยา5. ไทย6. อาร์เจนตินา7. บราซิล8. แซมเบีย9. อียิปต์ 10. ญี่ปุ่น   ประเทศไทยได้เกรดเฉลี่ย C- โนอา เมทธินี  นักกฎหมายอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในการสำรวจครั้งนี้บอกว่า โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีในสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เนท รวมถึงยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้บริโภคไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยยังต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอย่างอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอียู ซึ่งต้องการกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขึ้น  ขณะนี้นักศึกษาสามารถทำสำเนาตำราเรียนเพื่อใช้ส่วนตัวได้ แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การจะทำสำเนาได้จะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและยากขึ้น  ----- หมายเหตุ  ถ้าดูจากตาราง สหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำข้อตกลงทางการค้ากับเราและเรียกร้องให้เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มขึ้นนั้น ให้อิสระกับประชาชนในประเทศในการทำสำเนา และคัดลอกไฟล์ มากกว่าบ้านเรามากทีเดียว ประโยชน์ของภาคธุรกิจกับสิทธิผู้บริโภค ... สมดุลที่ต้องตามหา ภาคธุรกิจมักอ้างว่าควรมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายจากเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์ทางเน็ท แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแชร์ไฟล์เป็นสาเหตุหลักของการขาดทุนของธุรกิจเพลง แต่มีหลักฐานว่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ทางเลือกของภาคธุรกิจ• ในแคนาดา สมาคมนักแต่งเพลงของแคนาดาเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อให้คนสามารถแบ่งปันเพลงกันได้อย่างถูกกฎหมาย • บริษัทวอร์เนอร์สาขาประเทศจีน ออกแผ่นดีวีดีไม่กี่วันหลังภาพยนตร์ออกฉาย โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 70 บาท• หลายประเทศให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตัลด้วยค่าบริการที่สมเหตุสมผล เช่น Spotify (www.spotify.com)  หรือ Hulu (www.hulu.com) เป็นต้น • ปล่อยฟรีไปเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็นผลงานสังกัดค่ายเพลงอินเตอร์เน็ท (netlabel)  เช่น เพลงของ Radio Head หรือ Nine Inch Nails ซึ่งการปล่อยฟรีในที่นี้เท่ากับเป็นการโปรโมทให้ผลงานของตนเองเป็นที่รับรู้โดยผู้ฟังจำนวนมาก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- COPY COPY COPY  เมื่อการทำสำเนามีค่าใช้จ่าย  ในแคนาดา เสปน ยูเครน สวีเดน จะคิดภาษีเพิ่มในอุปกรณ์เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่ใช้สื่อบันทึก อย่างแผ่นซีดี ดีวีดีเปล่า เป็นต้นแต่นั่นยังเข้มไม่เท่าที่อิตาลี ที่ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 100 ยูโร (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อ “สิทธิในการทำสำเนาเพื่อใช้เอง” ซึ่งได้แก่ภาษีที่ต้องเสียเมื่อซื้อซีดี ดีวีเปล่า เมมโมรี่สติ๊ก หรือมือถือมัลติมีเดีย และค่าธรรมเนียมในการดาวน์โหลดจากร้านเพลงออนไลน์ และภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ในการทำสำเนาด้วย) เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมจะยั่งยืนได้ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ถูกจำกัด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้  ติดตามการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงความรู้ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลและความเคลื่อนไหวขององค์กรสมาชิกได้ที่ http://a2knetwork.org/ ---พบกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไทย เรื่องของอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ในฉลาดซื้อฉบับ 112 (มิถุนายน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point