ฉบับที่ 167 ไม่ได้ขออะไร แค่ขอให้คิดราคาตามที่ใช้จริง

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้บ้างเรื่องที่  สปช.มีมติให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม(โทรศัพท์) คิดค่าบริการลูกค้า  ตามที่ใช้จริงเป็นวินาที (ปัจจุบันคิดเป็นนาที) เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ  ในการเรียกเก็บค่าใช้บริการ  เช่น  ใช้จริง 1 นาที 1 วินาที  ก็จะถูกเรียกเก็บเป็น 2 นาที  ใช้ 3 นาที  5 วินาที  จะถูกเรียกเก็บ เป็น 4 นาที เป็นต้น  สรุปหากมีเศษวินาที ไม่ว่ามากหรือน้อย จะถูกปัดขึ้นไปเป็นนาทีโดยอัตโนมัติวันที่ 13 มกราคม 2558  ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค  (ของ สปช.) ร่วมกับผู้ให้บริการทุกค่าย   มีคำถามหลายคำจากผู้บริโภคที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่พอใจ  เช่น  หากเราไปซื้อส้ม 1 กิโลกรัม แม่ค้าชั่งให้ 1 โล 1 ขีด  เรียกว่าอะไร  โกงตราชั่งหรือโกงเงิน  การปัดวินาทีเป็นนาที เรียกว่าโกงมั้ย?  ถึงกับออกอาการว่า ไม่ได้โกง  ไม่สบายใจเลย ที่ถูกกล่าวหาว่าโกง  สูตรคิดค่าบริการนี้ เป็นสากล ใครๆ เขาก็ใช้กันมีคำถามอีกว่า  ทำไมไม่ปัดเศษลง   ปรับขึ้นเป็นนาทีทำไม?  ไม่มีคำตอบ   แต่มีคำต่อว่า สปช.ว่าเรื่องเก็บเงินเป็นนาทีหรือวินาทีเป็นเรื่องเล็กๆ ผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่แล้ว  ยังไงค่าโทรก็จะถูกลงเอง  สปช. ควรจะไปทำเรื่องใหญ่ไม่ใช่มาทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างนี้ ( หึ.....เรื่องที่เกี่ยวกับคน 60  กว่าล้านคนนี่นะเรื่องเล็ก)  ผู้ให้บริการยังบอกต่ออีกว่า ผู้บริโภคอาจไม่พอใจ ในการเก็บเงินเป็นวินาที  เพราะคนโทรสั้น จะได้ประโยชน์  แต่นักธุรกิจที่โทรยาวๆ จะเสียประโยชน์ (อ้าว...ตกลงทุกวันนี้คนจนช่วยจ่ายค่าโทรศัพท์ให้คนรวยใช่มั้ย???) คุณหมอประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  พูดชัดเจนว่า  ปัจจุบันคนโทรสั้นต้องรับภาระจ่ายค่าโทรให้คนโทรยาว  เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือ ใครใช้เท่าไร  ต้องจ่ายเท่านั้น  และการคิดค่าบริการเป็นวินาที ก็น่าจะทำได้เลย  เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ  ก็มีเทคโนโลยี ตรวจการใช้บริการเป็นวินาทีอยู่แล้ว  ปัญหาคือการปัดเศษขึ้นไปเป็นนาที  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  และการแก้ปัญหาโดยการใช้โปรโมชั่น  นาทีและวินาที ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกน่าจะไม่ถูกต้อง   แต่ต้องกำหนดให้ทุกโปรโมชั่น  ต้องคิดค่าบริการตามที่ใช้จริง   ที่สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้   จะมีการประมูล 4G   จะเสนอให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลต้องคิดค่าบริการตามที่ผู้บริโภคใช้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เจอค่าอาหารโครตแพง ทำอะไรได้บ้าง

คุณขิ่ม (สุทธินันท์) โทรมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองและครอบครัวไปฉลองวันเกิดให้คุณพ่อที่ภัตตาคารแถวปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารจีน  เมื่อไปถึง พบว่าตัวเองเป็นลูกค้าโต๊ะแรก  พนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำเมนูให้หลายอย่าง เช่น หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ฯลฯ  แต่ที่ได้ยินเสียงเชียร์ว่า เป็นอาหารขึ้นชื่อมาก ลูกค้าที่เป็นข้าราชการมักจะแวะมาทานกันบ่อยๆ    คืออาหารประเภทก้ามปูและปลากระพง จึงสั่งก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเล็กมาลองชิมกัน  และปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว  หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ผัดหมี่ ต้มยำกุ้ง  ข้าวผัดปู ปอเปี๊ยะทอด คะน้าผัดน้ำมันหอย  รวมแล้วประมาณ 9  อย่างเพราะไปกันเกือบ 10 คนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จเช็คบิล แทบเป็นลมเพราะเจอราคาอาหารเข้าไป 10,150   บาท  สอบถามราคาอาหารทุกจาน ก็พอรับได้ แต่เจอก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเดียว 3,500  บาท ถามว่าทำไมถึงคิดราคานี้ในเมื่อจานเล็กแค่ 800  บาท  พนักงานก็ตอบว่า เฉพาะเมนูนี้คิดราคาเป็นก้าม  ก้ามละ 400 บาท  เพราะใช้ปูคัดสรรอย่างดี อ้าวเมนูไม่เห็นเขียนบอกไว้ เถียงกันไปมา  สรุปก็ต้องยอมจ่ายเงินไปเพราะกินไปแล้ว เสียทั้งเงินและความรู้สึก  แต่ที่มาร้องเรียนเพราะไม่อยากให้คนที่ไปรับประทานแล้วพบเจอปัญหาแบบตนเองอีก แนวทางการแก้ไขหลังจากรับเรื่องร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้านอาหารดังกล่าว ด้วยการไปสั่งอาหารรับประทานบางอย่าง พบว่าราคาอาหารนั้นมีเขียนบอกไว้ทุกรายการ  เช่น ปลากะพงนึ่งซีอิ๊วนั้น บอกราคาขายเป็นขีด ขีดละ 140 บาท  ส่วนอาหาร ประเภทอื่นจะระบุราคาตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่   โดยเฉพาะเมนูก้ามปู ที่ทีมศูนย์ฯ ไปลองสั่งพบว่า พนักงานจะพยายามเชียร์และอธิบายให้ฟังว่าจานเล็กจะไม่พอทาน เพราะมี 2 ก้าม ควรสั่งให้ครบตามจำนวนคนที่ไปจะได้รับประทานกันทั่วถึง ซึ่งจะคิดก้ามละ 400 บาท  ที่แพงเพราะเป็นปูที่ไปสั่งจากผู้เลี้ยงเฉพาะไม่ได้ซื้อจากตลาดทั่วไปเพราะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ  อีกทั้งช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ลูกค้าในร้านน้อยเพราะราคาอาหารค่อนข้างสูง เมื่อทราบข้อเท็จจริง ศูนย์ฯ ได้กลับมาสอบถามคุณขิ่มเพิ่มเติม จึงได้รับทราบว่าทางร้านพยายามเชียร์ให้สั่งอาหารแบบเดียวกันและวันนั้นมีลูกค้าอยู่โต๊ะเดียวแต่วิธีการไม่เหมือนกันภายหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด  ศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องเมนูที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน    ซึ่งทางร้านได้มีหนังสือชี้แจงว่า ได้ปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 คอนโดมิเนียมหรูเสร็จช้า ลูกค้าขอเรียกค่าปรับ

เดอะกรีน คอนโดมิเนียม @ สุขุมวิท 101 เป็นคอนโดมิเนียมความสูง 8 ชั้น มีจุดขายสำคัญตรงที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี ประมาณ 800 เมตร มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรถสองแถวซูบารุ ให้บริการวิ่งรับส่งปากซอยตลอด 24 ชั่วโมง มีตลาดคึกคัก ที่สำคัญมีของกินเยอะมาก ถูกใจสาวๆ ออฟฟิศเป็นที่สุดแม้ราคาจะสูงถึง 1,073,000 บาท แลกกับพื้นที่ใช้สอย 31.50 ตารางเมตร แต่คุณนุสราก็บ่ยั่นเมื่อเทียบกับทำเลที่ตั้งที่น่าสนใจของคอนโด ตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เลือกอยู่ชั้น 8 ชั้นบนสุดเลยทีเดียวหน้าที่ตามสัญญาฯ ฝั่งคุณนุสราจะต้องจ่ายเงินดาวน์ร่วม 2 แสนบาท โดยแบ่งเป็นเงินจ่ายในวันจอง 5 พันบาท จ่ายในวันทำสัญญา 2 หมื่นบาท ยอดที่เหลืออีก 1 แสน 7 หมื่นกว่าบาทแบ่งจ่ายเป็นงวด 20 งวด เริ่มจากเดือนมิถุนายน 2553 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2555  ส่วนที่เหลืออีก 8 แสน 7 หมื่นกว่าบาทต้องหามาจ่ายให้ได้ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิห้องชุดที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ในขณะที่ฝั่งกรีนคอนโดสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างคอนโดให้เสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2554คุณนุสรา ได้ชำระเงินตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างนั้นก็ต้องใจระทึก เพราะช่วงเดือนสิงหาคม 2553 โครงการยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม และได้มีอีเมล์ชี้แจงมายังลูกค้าว่า บริษัทยังอยู่ในช่วงการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีคำสั่งให้มีการแก้ไขในบางจุดอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการทำอีไอเอนี้ราว 60 วัน และใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์ในการขอใบอนุญาตในการก่อสร้างได้ ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นไม่มีปัญหาเพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งทั้งโครงการ พร้อมกับยืนยันว่า อาคารเสร็จตามกำหนดแน่นอน ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ หรือว่าลูกค้าจะหยุดผ่อนค่างวดเงินดาวน์ก่อนจนกว่าทางโครงการจะเริ่มตอกเสาเข็มก็ได้ แต่ก็จะไปหนักในการผ่อนเงินงวดท้ายๆ เพราะว่าโครงการสร้างเสร็จ พอเห็นคำยืนยันของโครงการเกิดความมั่นใจว่า “เสร็จแน่” คุณนุสราจึงเดินหน้าจ่ายค่างวดตามสัญญาต่อไป โครงการสัญญาว่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็ยังไม่เสร็จ ส่วนคุณนุสราก็ทำตามสัญญาจ่ายค่างวดจนครบงวดที่ 20 เดือนมกราคม ปี 2555 ปรากฏว่า โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ“งานนี้โครงการมันไม่เสร็จ แต่ฉันเสร็จแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” คุณนุสราคิดในใจ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงโครงการ เรียกค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้เข้าอยู่อาศัยนับแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 เท่ากับค่างวดที่ได้จ่ายไปรวม 4 งวด เป็นเงิน 43,900 บาทเศษ ส่งจดหมายไปแล้วโครงการไม่ตอบว่า จะจ่ายชดใช้ให้หรือไม่ แต่มาถึงเดือนมีนาคม 2555 ถึงได้มีจดหมายจากโครงการเชิญให้ไปตรวจรับห้องชุดคุณนุสราไปตามคำเชิญ พร้อมว่าจ้างวิศวกรไปช่วยตรวจรับห้องชุดด้วย พอไปถึง ได้ตรวจได้ดูสภาพห้องแล้ว สรุปได้ว่าห้องยังไม่เรียบร้อยที่พร้อมจะให้เข้าตรวจรับ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้มีหนังสือไปถึงโครงการอีกครั้งเพื่อยืนยันที่จะเรียกค่าเสียหาย และแจ้งเรื่องความไม่เรียบร้อยของโครงการ และขอให้โครงการแจ้งวันที่โครงการดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาในรายละเอียดต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้วกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับสำทับว่า การไปตรวจรับห้องชุดแต่ละครั้ง ตนต้องมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างวิศวกรเพื่อตรวจรับห้องชุด  หากเมื่อถึงวันนัดกันแล้ว  โครงการยังดำเนินการไม่เรียบร้อยอีก โครงการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนด้วยส่งจดหมายไปแล้ว สิ่งที่ได้รับคือ ความเงียบ ไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับใดๆ มาจากโครงการ ถึงเดือนเมษายน 2555 คุณนุสราจึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2543 มีเนื้อหากล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ไว้ 2 แนวทางแนวทางที่ 1 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเลยก็ได้ และมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับที่ทางผู้ประกอบธุรกิจกำหนดในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ และไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วยแนวทางที่ 2 หากผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.01 และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกัน แต่ถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิในการปรับครบร้อยละสิบของราคาห้องชุดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารชุดได้ทันกำหนดตามสัญญาอีก ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียได้ตามแนวทางที่ 1 เช่นกันในกรณีของคุณนุสรา เธอไม่บอกเลิกสัญญา แต่ต้องการเรียกค่าปรับ เมื่อราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกันอยู่ที่ 1 ล้านบาท ดังนั้นค่าปรับรวมจึงอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนบาท  ซึ่งคุณนุสราได้ยืนยันที่จะเรียกค่าปรับจำนวนสี่หมื่นกว่าบาท โดยใช้ข้อเสนอของโครงการที่เขียนแจ้งทางอีเมล์ว่า ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ ได้ช่วยแจ้งความประสงค์ของคุณนุสราไปยังโครงการให้อีกทางหนึ่ง โดยผู้บริโภคจะขอหักเป็นส่วนลดในค่าโอนกรรมสิทธิห้องเลย ซึ่งต่อมาทางโครงการได้ทำการก่อสร้างโครงการและแก้ไขรายละเอียดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้ จนสามารถรับโอนกันได้ และขอต่อรองค่าปรับให้ลดลงเหลือ 25,000 บาท คุณนุสราเห็นว่าจะได้ห้องอยู่แล้ว จึงตกลงยินดีไม่มีปัญหา ตอบตกลงรับโอนกรรมสิทธิในเวลาต่อมา ส่วนค่าปรับก็หักจากเงินที่ต้องชำระในวันโอนกรรมสิทธิ และได้อยู่สวรรค์ชั้นแปดของเดอะกรีนคอนโดมิเนียมสมใจปรารถนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 ลูกค้าโนเกียโวย ศูนย์ซ่อมไม่เก็บข้อมูลในเครื่องให้

คุณเบญญภา สาวใหญ่เมืองลำพูนเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ไปที่ศูนย์โนเกียแคร์ ซื้อโทรศัพท์มือถือโนเกีย C3 ในราคา 3,900 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554ใช้ได้ประมาณ 4 อาทิตย์ อาการออกอ่าว โทรหาเพื่อนหาลูกค้า โทรติดแต่คนที่รับสาย เอาแต่พูดว่า “มีหยัง...บ่ได้ยิน” “อู้หยังบ่ฮู้เรื่องเลย”  “ฮู้...โทรมายะหยัง โทรแล้วบ่ยอมอู้” “ว่างก๊ะ ถึงโทรมาเล่นกัน”คุณเบญญภา พยายามตะโกนใส่โทรศัพท์เท่าไร คู่สายฝั่งตรงข้ามก็ยังไม่ได้ยิน สุดท้ายเหมือนคนที่ถูกสังคมหยามเหยียดโทรหาใครก็ถูกวางสายหมด เสียค่าโทรฟรีๆ ไปหลายบาท จึงตัดสินใจนำโทรศัพท์มือถือออกใหม่ไปซ่อมที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ เชียงใหม่ ตามสัญญารับประกัน“ดิฉันได้แจ้งอาการเสียของมือถือที่โทรออกแต่คู่สายไม่ได้ยินให้กับพนักงานศูนย์ฯ ทราบ ก่อนส่งซ่อมพนักงานได้สอบถามว่า ในเครื่องมีข้อมูลสำคัญหรือไม่ ดิฉันได้ระบุชัดเจนว่า เป็นข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าประมาณ 400 เลขหมาย เพราะดิฉันเพิ่งเปลี่ยนเครื่องยังไม่ได้เก็บข้อมูลสำรองไว้ พนักงานจึงระบุในใบส่งซ่อมว่าไม่อนุญาตให้ข้อมูลหาย พนักงานแจ้งว่า โทรศัพท์มือถือมีอาการไมโครโฟนเสียจะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 วัน และส่งสำเนาใบส่งซ่อมให้ดิฉันเก็บไว้แสดงในวันที่มารับสินค้าคืน”หลังจากส่งมือถือไปซ่อมที่ศูนย์ฯ ได้ 3 วัน กะว่าศูนย์ฯ น่าจะมือถือเสร็จแล้ว คุณเบญญภา จึงเดินทางไปรับเครื่องคืนที่ศูนย์โนเกีย ถนนมหิดล จ.เชียงใหม่ ได้พบกับพนักงานคนเดิมที่เป็นคนรับเครื่องไปส่งซ่อม“เอ้อ เครื่องยังไม่ได้ซ่อมเลยค่ะ รออะไหล่อยู่ คาดว่าน่าจะซักสามวันอะไหล่ถึงจะมา” พนักงานให้คำตอบที่น่าผิดหวัง “อ้าว แล้วทำไมไม่โทรศัพท์ไปบอกล่ะ เบอร์ที่ติดต่อก็ให้ไว้แล้ว น่าจะโทรไปบอกกันนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเสียค่ารถมา” คุณเบญญภากล่าวด้วยความฉุนเฉียว“คือที่ไม่ได้โทรไปแจ้งให้ทราบ เนื่องจากว่ายังไม่มีอะไหล่เนื่องจากโรงงานน้ำท่วมค่ะ” พนักงานศูนย์ฯ พยายามชี้แจง คุณเบญญภาฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ ที่น้ำท่วมเป็นทางออกของทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรมาก พอได้รับคำยืนยันว่าอีกสามวันน่าจะได้อะไหล่มาแล้วจะโทรไปแจ้งบอกแน่ถ้าซ่อมเสร็จแล้ว คุณเบญญภาจึงเดินทางกลับหลังจากนั้นอีกสามวัน หรือเป็นวันที่เจ็ดหลังจากส่งเครื่องซ่อม พนักงานของศูนย์ฯ คนเดิมได้โทรแจ้งคุณเบญญภาว่าซ่อมไมโครโฟนของเครื่องมือถือเสร็จเรียบร้อยแล้วให้มารับเครื่องได้ แต่ข่าวร้ายที่ได้รับคือ ข้อมูลในเครื่องทั้งหมดหายไป“เหมือนกับว่าที่ดิฉันกำชับเรื่องนี้ไปเป็นเรื่องตลก และให้ดิฉันจำยอมไปรับของที่ไม่เหมือนเดิมคืนมาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”“ดิฉันผิดหวังในการบริการมาก และพยายามเจรจากับทางพนักงานฝ่ายซ่อมของศูนย์ฯ ว่า ข้อมูลนั้นสำคัญมากพยายามกู้คืนมาให้ได้ และควรที่จะคืนเครื่องให้ดิฉันในสภาพที่สมบูรณ์” คุณเบญญภาเรียกร้อง แนวทางแก้ไขปัญหาคุณเบญญภา ได้ประเมินค่าความเสียหายของตนเองที่ต้องสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าและค่าใช้จ่ายในการติดต่อไปมาหลังการซ่อมมือถือเป็นเงิน 8,000 บาท และได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชียงใหม่ ส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ จ.เชียงใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 4 มกราคม 2555 อีกสองวันต่อมาเราจึงโทรติดต่อไปที่ศูนย์โนเกียร์แคร์เชียงใหม่ ได้รับคำชี้แจงจากผู้จัดการศูนย์ฯ ว่า ได้ชี้แจงกับลูกค้าแล้วว่า การพยายามกู้ข้อมูลคืนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องได้ คุณเบญญภา จึงเสนอกับศูนย์ฯ ว่า หากกู้ข้อมูลไม่ได้ก็ให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนตัวเครื่องให้ใหม่ เป็นเครื่องรุ่นเดิม และต้องการภายในวันนั้น ซึ่งศูนย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ต้องรอประมาณ 12 วัน อยากให้มูลนิธิฯช่วยเป็นคนกลางเจรจากับผู้ร้องเรียนด้วยหลังได้รับคำชี้แจงเราจึงโทรกลับไปหาคุณเบญญภาในวันเดียวกัน เพื่อขอคำยืนยันว่าต้องการให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ใช่หรือไม่ คุณเบญญภาแจ้งยืนยันว่าเป็นไปตามที่ศูนย์ฯ ได้ชี้แจงมา คือให้เปลี่ยนเครื่องใหม่แต่รุ่นเดิม และต้องเป็นสีดำ สีอื่นไม่เอา เมื่อได้รับคำยืนยันเราจึงติดต่อกลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งทางศูนย์ฯ ยินดีรับชดใช้ให้ตามคำขอของผู้ร้อง แต่ขอเวลาในการตั้งเรื่องเบิกงบจัดซื้อเครื่องใหม่ให้กับผู้ร้องประมาณสองอาทิตย์“เมื่อวานนี้ ได้รับ C3 เครื่องใหม่มาแล้วเป็นสีดำ ตอนแรกโทรศัพท์ใหม่นี้โทรออกไม่ได้ และโทรเข้าไม่ได้ เนื่องจากไม่มีสัญญาณ แต่ทางโนเกียได้แก้ไขให้อยู่ค่ะ โดยปรับปรุงซอฟแวร์ให้ ตอนนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ ใช้ได้ตามปกติเป็นเครื่องใหม่จริง ชดเชยให้ที่ซ่อมเครื่องเก่าสีชมพูที่ได้รับความเสียหาย ขอบพระคุณที่ทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีภายในเวลา 20 วัน”เป็นเมล์จากคุณเบญญภาที่เราได้รับด้วยความชื่นใจ และขอขอบคุณบริษัทโนเกียร์แคร์ สาขาเชียงใหม่ ที่ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ลูกค้าธนาคารออมสิน โวย มาตรการพักชำระหนี้ช่วยภัยน้ำท่วมไม่เป็นจริง

ในช่วงปลายปี 2553 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกค้าและประชาชน จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปีคุณบุษกร กู้เงินสินเชื่อเคหะจากธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อมาปลูกสร้างบ้านใหม่หลังโดนภัยน้ำท่วมจนบ้านพังอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์นี้เข้าก็คิดว่าดีได้หยุดพักชำระหนี้จะได้นำเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นบ้างเธอเข้าทำสัญญาพักชำระหนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน โดยตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด นับแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณบุษกรจึงนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราชำระขั้นต่ำตามสัญญา ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีเงินต้นเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็อธิบายให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังกลายเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามา ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเขียนเรื่องร้องเรียนเข้าที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี   นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้เมื่อได้คำชี้แจงมาแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ  และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของธนาคารออมสิน จึงได้จัดเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ธนาคารออมสินได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และมีมติอนุมัติที่จะให้ปรับปรุงบัญชีดอกเบี้ยของ 6 เดือนที่หยุดชำระจำนวนประมาณ 14,000 บาทนั้นออกไปทั้งหมด ส่งผลให้สถานะบัญชีหนี้ของคุณบุษกรกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง “ขอบคุณคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงผู้สื่อข่าวทุกๆ ท่านที่ให้การช่วยเหลือมากเลยนะคะ” คุณบุษกรกล่าวสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่รวดเร็วของผู้บริหารธนาคารออมสินนั้น มูลนิธิฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง และขอให้ดูแลลูกค้ารายอื่นให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สมกับเป็นธนาคารของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ฮะจิบังเสนอเงินลูกค้า 5 หมื่น จบเรื่องอาหารทำพิษ

รายงานความคืบหน้า กรณีลูกค้าฮะจิบังร้องเรียนว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3จากความเดิมต่อจากฉบับที่แล้ว กรณีคุณแพรวพรรณ(นามสมมติ) และครอบครัวไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าวแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังฟสือแจ้งไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อขอให้บริษัทพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรมตามสมควร ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2552 บริษัทไทยฮะจิบัง จึงได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ ใจความสรุปได้ว่า ในวันเกิดแหตุที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนนั้น ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าว ได้จำหน่ายอาหารชนิดเดียวกันกับที่ผู้ร้องเรียนและครอบครัวรับประทานให้แก่ลูกค้าอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่ามีลูกค้ารายใดมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับรายของผู้ร้องเรียนและครอบครัวแต่อย่างใด หากการเจ็บป่วยของผู้ร้องเรียนและครอบครัวเกิดจากอาหารที่รับประทานจากร้านของบริษัทจริง ลูกค้ารายอื่น ๆ จะต้องมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้น อาการท้องร่วงของนางสาวพรรณราย และครอบครัวอาจเกิดจากการได้รับเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันจากที่อื่นก่อนมารับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน เมื่อยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันเกิดจากการรับประทานอาหารของร้านฮะจิบังราเมน บริษัทฯจึงยังไม่อาจพิจารณาเยียวยาค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยินดีที่จะพิสูจน์หาความจริงจนเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัท ไทยฮะจิบัง ได้เข้าเจรจากับผู้ร้องเรียนที่สำนักงานเขตยานนาวา โดยผู้ร้องเรียนได้เสนอเรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 168,000 กว่าบาท แต่ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะจ่ายเพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจให้กับลูกค้าที่อาจเกิดความเข้าใจผิดในบริการของร้านฮะจิบัง ราเมนเป็นเงิน 50,000 บาทถ้วน และขอให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด ผู้ร้องเรียนปฏิเสธและขอเดินหน้าที่จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป ความคืบหน้าในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารในร้านฮะจิบัง ราเมน สำนักงานเขตยานนาวา ได้ดำเนินการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3 และทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่ม ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังเกิดเหตุประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบอาหารจำนวน 8 จาก 11 รายการที่ไม่อยู่ในมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่พบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งในน้ำแข็งและอาหารที่สุ่มตรวจ โดย 1 ตัวอย่างพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไลเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดสำหรับอาหารปรุงสุก สำนักงานเขตจึงมีคำสั่งให้ร้านอาหารแห่งนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิเช่น การมีคำสั่งให้ไม่แช่สิ่งของอื่นใดในภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งที่ใช้ดื่ม ให้ทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ให้ผู้ที่สัมผัสอาหารทุกคนล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร เป็นต้นต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2552 สำนักงานเขตยานนาวาได้เข้าตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมนแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งและสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร รวม จำนวน 11 รายการเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจครั้งนี้พบว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในผักโรยหน้าและน้ำแข็ง ส่วนอาหารชนิดอื่นไม่พบปัญหาใด ๆ สำหรับผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในร้าน พบว่า เป็นใบรับรองแพทย์ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่มาจากคลินิกเอกชน เจ้าหน้าที่จึงให้ตรวจสุขภาพใหม่ โดยให้เข้ารับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลของรัฐ และแนบผลการตรวจ Lab ส่งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยทุกคน ซึ่งสำนักงานเขตยานนาวาได้รายงานผลการดำเนินการเฝ้าระวังทั้งหมดนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปด้วยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ลูกค้าฮะจิบังท้องร่วงอย่างแรงเหตุอาหารทำพิษ

เวลาประมาณ 6 โมงเย็นของวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2552 คุณแพรวพรรณ พร้อมสามีและลูกสาว ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3ครอบครัวของคุณแพรวพรรณได้สั่งอาหารมารับประทานทั้งหมด 6 รายการ คือ ซารุเซ็ท ที่ประกอบด้วยซารุราเมนและเกี๊ยวซ่า 2 ชุด , ฮะจังเมน , เนงิเรเมน และทาโกะยากิ อย่างละ 1 ชุด นอกจากนี้ยังมีน้ำดื่มยี่ห้อน้ำทิพย์ 2 ขวดและน้ำแข็งเปล่า 3 แก้ว โดยคุณแพรวพรรณรับประทานเกี๊ยวซ่าและทาโกะยากิ สามีรับประทานซารุเซ็ท ฮะจังเมนและเนงิเรเมน ส่วนลูกสาวรับประทานซารุ ราเมนปรากฏว่า เวลาประมาณตี 1 เศษย่างเข้าวันที่ 10 มีนาคม 2552 คุณแพรวพรรณและสามีเริ่มมีอาการท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งจนถึงเวลาตีห้า พร้อมอาเจียนมีเลือดปน ในขณะที่ลูกสาวอาเจียนถึง 3 ครั้ง (และมาถ่ายท้องที่โรงพยาบาลอีก 3 ครั้ง) ทั้งหมดถูกส่งเข้าโรงพยาบาลในเช้าตรู่ของวันนั้นนั่นเอง ผลการวินิจฉัยของแพทย์พบว่ามีเชื้อบิดชนิดเฉียบพลันและรุนแรงที่ลำไส้ใหญ่ โดยตัวคุณแพรวพรรณมีอาการรุนแรงที่สุดกว่าทุกคน คือมีอาการท้องร่วงถึงเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 12 มีนาคม 2552 รวม 3 วันนับตั้งแต่วันที่รับประทานอาหารชุดพิเศษจากฮะจิบัง สาขาดังกล่าวต่อมาคุณแพรวพรรณได้ทำเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตั้งของห้างฯ ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตยานนาวา ได้ทำการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านและทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็งและน้ำดื่มจากร้านอาหารดังกล่าว เพื่อไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจำนวน 10 รายการ ผลปรากฏว่ามีอาหารถึง 7 ตัวอย่างที่ไม่อยู่ในค่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งแสดงว่าอาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในลำไส้หรือจุลินทรีย์อื่นๆ ที่เป็นพิษจนทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยในผู้บริโภคได้ อาหารที่ตกมาตรฐาน 7 รายการคือ บะหมี่(ซารุเซ็ท) , บะหมี่และน้ำซุป (ฮะจังเมน), เนงิเรเมน , ทาโกะยากิ , ซาฮั่ง(ข้าวผัดหมูอบซีอิ๊วญี่ปุ่นไข่) ,ทาราเมน(บะหมี่แห้งราดซอสหมูทันตัม) และ ดาโมะนิราเมน (บะหมี่น้ำหน้าเป็ดพะโล้และเห็ดหอม) นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำแข็งหลอดที่จำหน่ายในร้านไม่อยู่ในมาตรฐานอีกด้วย คุณแพรวพรรณได้พยายามเรียกร้องให้ทางร้านฮะจิบังแสดงความรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งส่วนใหญ่คือค่ารักษาพยาบาลของสามคนพ่อแม่ลูกจำนวนห้าหมื่นกว่าบาท แต่ไม่มีคำตอบใด ๆ จากทางร้านฮะจิบัง จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงในทางกฎหมาย การผลิตและจำหน่ายอาหารของร้านฮะจิบังราเมน สาขาดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไป ส่วนความรับผิดในทางแพ่งนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อประสานงานไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ร้องตามสมควรล่าสุดไทยฮะจิบังได้ติดต่อผ่านเทสโก โลตัสสำนักงานใหญ่ ขอนัดเจรจากับผู้ร้องรายนี้แล้ว ผลความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะนำมารายงานในฉลาดซื้อฉบับต่อไป แต่ที่ต้องนำเรื่องนี้มาลงโดยเร่งด่วนเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อไป เพราะเป็นปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >