ฉบับที่ 159 ทดสอบลูกฟุตบอล ในเทศกาลบอลโลก 2014

ด้วยความอยากอินเทรนด์ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายนนี้ ฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอผลการทดสอบลูกฟุตบอลรุ่นต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำโดย Proteste Brazil องค์กรผู้บริโภคของประเทศบราซิล ซึ่งนอกจากจะจริงจังกับการเล่นฟุตบอลไม่แพ้ใครแล้วยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ด้วย เราจะได้ติดตามเรื่องราวของฟุตบอลจากมุมมองของผู้บริโภค ตั้งแต่เรื่องของคุณภาพสินค้า ไปจนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิตไปด้วยกัน เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าลูกฟุตบอลรุ่นที่ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ (Official) นั้น “เหนือ” กว่าลูกฟุตบอลในรุ่นเดียวกันที่ใช้ซ้อม (Replica) ในด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ใช้ ลูกฟุตบอลชนิด Official จริงจึงมักมีราคาแพงกว่าพวก Replica บางครั้งแพงกว่าถึง 10 เท่า Proteste Brazil จึงร่วมมือกับสถาบันเพื่อการวิจัยเทคโนโลยี Institute for Technological Research ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของบราซิล ทำการทดสอบลูกฟุตบอล 17 รุ่น (ทั้งชนิดที่ใช้แข่งและใช้ซ้อม) จากผู้ผลิต 7 ราย โดยอิงกับเกณฑ์ของฟีฟ่า (FIFA) กำหนด ตั้งแต่ น้ำหนัก เส้นรอบวง ความกลม การสะท้อนกลับ การดูดซับน้ำ การรั่วซึม และการคงสภาพของลูกบอลหลังการใช้งาน สโมสรฟุตบอลฟลูมิเนนเซ่ของบราซิลก็ส่งนักเตะ 4 คนและผู้รักษาประตูอีก 3 คน มาร่วมทดสอบประสิทธิภาพของลูกฟุตบอลเหล่านี้จากการใช้งานจริงในสนามด้วย   พิเศษสุดสำหรับผู้อ่านฉลาดซื้อ เรามีผลทดสอบประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกของลูกฟุตบอล ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในเกมการแข่งขัน (แต่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับรองของฟีฟ่า) เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็มีหลายคนหงุดหงิดกับลูกฟุตบอลรุ่น “จาบูลานี” ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อัฟริกาใต้ แม้ว่ามันจะได้รับการชื่นชมว่ากลมกลิ้งไม่มีใครเกิน แต่มันก็เป็นลูกฟุตบอลที่ควบคุม และคาดเดาการเคลื่อนไหวได้ยากที่สุดด้วย ข่าวบอกว่าอาดิดาสได้ปรับปรุง “บราซูกา” ซึ่งเป็นลูกฟุตบอลสำหรับการแข่งขันบอลโลกปีนี้ให้ดีกว่าเดิม ... แล้วเราจะได้รู้กันจากผลการทดสอบในหน้าถัดไป                                         Show me the money! กีฬา .. เงินตรา .. เป็นยาวิเศษ   ประมาณการรายได้ของ FIFA จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 อยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญ (เกือบ 130,000 ล้านบาท) ร้อยละ 60 มาจากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ที่เหลือมาจากสปอนเซอร์ 24 แบรนด์ ตลาดสินค้าเกี่ยวกับฟุตบอล (เสื้อกีฬา ลูกฟุตบอล รองเท้า) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5,000 ยูโรนี้มีผู้เล่นหลักๆอยู่เพียงสองราย การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 นี้จะเป็นสังเวียนการต่อสู้ระหว่างทีมอาดิดาส จากเยอรมนี กับทีมไนกี้ จากอเมริกานั่นเอง   ใน World Cup 2014 นี้ อาดิดาสซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการจะเป็นผู้จัดหาลูกฟุตบอล ชุดและอุปกรณ์ของกรรมการ รวมถึงเสื้อผ้าของอาสาสมัครที่ช่วยงานในสนาม และเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมที่เคยเป็นแชมป์อย่างเยอรมนี และอาร์เจนตินา ยาวไปถึงเสปน ซึ่งเป็นแชมป์ปัจจุบันด้วย   อาดิดาส ทำสัญญากับฟีฟ่าเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 และจะเป็นไปจนถึงปีพ.ศ. 2573 ในปี 2557 นี้อาดิดาสจะเป็นผู้จัดหาลูกฟุตบอลให้กับการแข่งขันดังกล่าวเป็นครั้งที่ 12 จากเทลสตาร์ในปี 2514 มาถึงจาบูลานีในปี 2553 และบราซูก้าในปีนี้   ค่ายไนกี้ กลุ่มธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไนกี้เป็นสปอนเซอร์ของทีมเจ้าภาพบราซิลซึ่งเคยเป็นแชมป์มาแล้ว 5 สมัย และทีมยอดนิยมของผู้ชมทั่วโลกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส อีกต่างหาก   อาดิดาส คุยไว้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับฟุตบอลทั้งหมดของบริษัทจะทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (2,000 ล้านยูโร) ในปีนี้ และจะสามาระชนะคู่แข่งอย่างไนกี้ได้ขาดลอย ----------------------------------------------------------------   Fair Game vs Fair Trade แต่ละปีมีลูกบอลเพื่อการกีฬากว่า 60 ล้านลูกถูกจำหน่ายออกไป สองในสามของจำนวนดังกล่าวคือลูกฟุตบอล ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการให้เครื่องหมายรับรอง “Fair Trade” ด้วย เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจ้างงานหรือใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต อย่างช็อคโกแลต กาแฟ สับปะรด เสื้อผ้า เป็นต้น   สถิติในปี 2552 ระบุว่าในบรรดาลูกฟุตบอลที่ขายไปนั้น มีลูกฟุตบอลที่ได้รับการรับรองด้วยเครื่องหมาย Fairtrade ประมาณ 118,000 ลูก ลดลงไปจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 16 นั่นหมายความว่า ณ จุดนี้มีไม่ถึงร้อยละ 0.2 ของลูกบอลที่ใช้ในการเล่นกีฬาที่มีตรารับรอง Fair Trade   ส่วนแบ่งการบริโภคลูกบอลในยุโรป (สถิติปี 2552) อังกฤษ              ร้อยละ 15 ฝรั่งเศส                         ร้อยละ 15 เยอรมนี             ร้อยละ 15 อิตาลี                ร้อยละ 13 สเปน                ร้อยละ 11 สวีเดน               ร้อยละ 3* (สวีเดนเป็นประเทศที่มีการบริโภคลูกบอล Fair Trade มากที่สุด)   ---------------------------------------------------------------- เจาะลึกเบื้องหลัง Brazuca ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ที่อัฟริกาใต้ อาดิดาสผลิตลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอล เพราะมีชิ้นส่วนน้อยที่สุด (8 ชิ้น) และใช้แรงอัดและความร้อน ทำให้ลูกฟุตบอลกลมกลึงไร้รอยเย็บ แตกต่างจากเจ้า “ทีมไกสต์” ที่ใช้อย่างเป็นทางการในเวิลด์คัพ ปี 2549 ที่เยอรมนี ซึ่งมีชิ้นส่วนถึง 14 ชิ้น เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ต้องมี “บราซูกา” ลูกฟุตบอลรุ่นที่ 12 ที่อาดิดาสผลิตเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ บราซูการุ่นที่ใช้ในการแข่งขันเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ในสนนราคาลูกละ160 เหรียญ (ประมาณ 5,200 บาท) เราขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีนที่ผลิต อาดิดาส บราซูกา (ซึ่งยังคงคอนเซปต์กลมเนี๊ยบด้วยชิ้นส่วนที่ลดลงเหลือแค่ 6 ชิ้น) ดูทั้งแระบวนการผลิตและการใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆกันเลย บราซูกา มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม การเชื่อมต่อเข้าด้วยกันจะอาศัยกาวและความร้อน ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยผ้าที่ตัดออกเป็นชิ้นๆ หลังจากลูกบอลผ่านการตรวจเช็คขนาด จะถูกทากาวทับอีกรอบ และนำไปอบ ลูกบอลจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของลมหรือไม่ ลูกที่รั่วจะถูกทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลจะประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนการทำลูกบอลชั้นนอกเป็นขั้นตอนที่เกิดเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงดังกล่าวไม่เกินมาตรฐาน ทั้งของจีนและของนานาชาติ แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดความดังของเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียง พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูกา โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก ผู้จัดการโรงงาน          บอกว่ามีกฎให้พนักงานแต่ละคนอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่า            โรงงานจะเลือกใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงาน และมีการจัดตรวจสุขภาพ ให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง งานประกอบชั้นนอกของลูกบอลเข้ากับชั้นใน ชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการอบด้วยความร้อน หรือ thermal bonding เพื่อทำให้ทุกชิ้นส่วนติดกันเป็นเนื้อเดียวโดยไม่ต้องเย็บนั่นเอง ก่อนจะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขาย ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของลมหรือไม่ ถ้ารั่วก็ไม่ได้ไปต่อ   ---------------------------------------------------------------- ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเตะ โดย FIFA ร่วมกับมหาวิทยาลัยลัฟเบรอ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ การสัมภาษณ์ผู้เล่น 48 คน และแบบสอบถามที่ทำกับผู้เล่น 231 คน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2556 ผลสำรวจ -          ร้อยละ 85 ของนักเตะที่ตอบแบบสอบถามพึงพอใจกับลูกฟุตบอลที่ใช้อยู่ -          สิ่งที่นักเตะให้ความสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับลูกฟุตบอลคือน้ำหนักและการกระเด้ง (rebound) -          นักเตะคิดว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญและควรได้รับการปรับปรุงได้แก่ ความเสถียรของลูกฟุตบอลเมื่อลอยผ่านอากาศ การเคลื่อนไหวเป็นแนวโค้ง และความเร็วของลูกฟุตบอล -          นักเตะมีความเห็นหลายหลายเรื่องคุณสมบัติที่ดีของลูกฟุตบอล และแน่นอนความแตกต่างนี้มีมากที่สุดระหว่างกลุ่มนักเตะกับผู้รักษาประตูนั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >