ฉบับที่ 255 วัคซีน mRNA ทำให้ DNA กลายพันธุ์...จริงหรือ

        ในช่วงที่วัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA ใกล้ผ่านการอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกานั้น นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนประเภทนี้ เนื่องจากเป็นวัคซีนแบบใหม่ซึ่งแม้ดูทันสมัยแต่กระบวนการในการกระตุ้นระบบภูมิต้านทานนั้นดูลัดขั้นตอน ต่างไปจากวัคซีนแบบเดิม (แบบเชื้อตาย) อย่างไรก็ดีบริษัทผู้ผลิตได้พยายามให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า วัคซีนนี้ปลอดภัย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ในวันที่ 17 ธันวาคม 2020 www.chop.edu มีบทความเรื่อง News & Views: 3 Questions You Will Get About the New mRNA Vaccines ซึ่งตอนหนึ่งของบทความมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ วัคซีน mRNA สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของผู้ถูกฉีดหรือไม่? ซึ่งคำตอบสั้นๆ สำหรับคำถามนี้คือ "ไม่" แต่คำตอบนี้ดูไม่น่าพอใจนัก จึงมีคำอธิบายเพิ่มว่า วัคซีน mRNA ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของบุคคลได้ด้วยเหตุผลสามประการคือ         1.) ปรกติ mRNA ทำงานในไซโตพลาสซึมของเซลล์ ในขณะที่ DNA ได้รับการปกป้องในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่ง mRNA ไม่สามารถกลับเข้าสู่นิวเคลียสได้ ดังนั้นกรดนิวคลีอิกทั้งสองจึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันในเซลล์         2.) mRNA ไม่ใช่ DNA ดังนั้น ถ้า DNA ของบุคคลจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ mRNA จะต้องเป็นแม่แบบในการสร้าง DNA ใหม่โดยใช้เอ็นไซม์ reverse transcriptase ซึ่งเซลล์ของคนปรกติ (มียีนสร้างแต่) ไม่มีการทำงานของเอนไซม์นี้ (ยกเว้นเมื่อจำเป็น) และมีเพียงไวรัสบางชนิดเท่านั้นที่มี ซึ่ง Coronaviruses ไม่ใช่หนึ่งในนั้น อีกทั้ง mRNA ของวัคซีนเมื่อเข้าเซลล์แล้วจะอยู่แค่นอกนิวเคลียสคือ ในไซโตพลาสซึมเพื่อถอดรหัสเป็นหนามโปรตีนของ SARS-CoV-2 เท่านั้น อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นหนึ่งเกี่ยวกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีเอ็นซัม reverse transcriptase จึงอาจทำให้สงสัยได้ว่า mRNA ของวัคซีนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน DNA ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่ก็มีคำอธิบายว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะไวรัสเอชไอวีนั้นมีการเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดขาว T-cell ชนิด CD4 ซึ่งไม่ใช่เซลล์ที่ mRNA จากวัคซีนแสดงผลในการสร้างหนามโปรตีน         3.) เป็นที่เข้าใจกันว่า mRNA นั้นโดยทั่วไปไม่เสถียรนัก ค่าครึ่งชีวิตในเซลล์มนุษย์อยู่ในช่วงเวลานับเป็นชั่วโมง ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเมื่อเซลล์ใช้ mRNA ในการผลิตโปรตีนที่ต้องการพอแล้ว mRNA นั้นจะถูกทำลาย สำหรับ mRNA ในวัคซีนนั้นแม้ได้รับการเพิ่มศักยภาพให้อยู่ในเซลล์ได้นานพอที่จะทำให้มีการกระตุ้นภูมิต้านทานสำเร็จก็ตาม แต่ก็ไม่ควรอยู่นานกว่า 10-14 วัน         ในประเทศไทยประเด็น mRNA อาจไปรบกวนวุ่นวายกับ DNA ในนิวเคลียสได้หรือไม่นั้น ได้มีการปฏิเสธกันอย่างแข็งขัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแค่บางเว็บที่แสดงแนวความเชื่อในประเด็นนี้คือ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 www.bbc.com/thai ได้มีบทความเรื่อง หักล้างข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิดทั้งการฝังไมโครชิปและ “เปลี่ยนดีเอ็นเอ” ในคน โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า ... วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์  จากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 www.bbc.com/thai มีอีกบทความเรื่อง โควิด-19: เอ็มอาร์เอ็นเอ กับข่าวลือวัคซีนก่อสารพิษ-เปลี่ยนพันธุกรรมมนุษย์ เชื่อถือได้หรือ ซึ่งตอนหนึ่งกล่าวว่า ....ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (CDC) บอกไว้ชัดเจนว่า เอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนจะไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์กลายพันธุ์แบบในภาพยนตร์แต่อย่างใด และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เว็บ https://pharmacy.mahidol มีบทความเรื่อง mRNA COVID-19 vaccine ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่? ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า ... กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนชนิดนี้ไม่มีการรบกวนการทำงานของนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมหลักของมนุษย์ไว้ภายใน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจริงหรือที่ว่า mRNA ที่ถูกจำลองจาก DNA นั้นไม่ย้อนกลับเข้าไปหา DNA ในนิวเคลียสของเซลล์         ประเด็นนี้ผู้ที่ศึกษาด้านชีวเคมีและ/หรืออณูชีววิทยามักมั่นใจตอบว่า คงไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีบทความเรื่อง Mechanism of mRNA transport in the nucleus ปรากฏในวารสาร PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences) ของปี 2005 ได้ให้ข้อมูลว่า mRNA ที่อยู่ในไซโตพลาสซึมมักจับตัวกับโปรตีน (ซึ่งมีความสำคัญต่อการแปลรหัสเพื่อสร้างโปรตีน) ได้เป็นสารประกอบเชิงซ้อนเรียกว่า mRNA–โปรตีน (mRNP) ณ.บริเวณของการถอดรหัส (คือ ไมโครโซมในไซโตพลาสซึม) ซึ่งนำไปสู่ความพยายามพิสูจน์ว่า มีโอกาสที่สารประกอบเชิงซ้อนดังกล่าวผ่านช่องของส่วนที่เป็นผนังเข้าสู่นิวเคลียสนั้นหรือไม่ ในการศึกษานี้นักวิจัยใช้โมเลกุลของสารโอลิโกนิวคลีโอไทด์ที่ถูกสังเคราะห์ (พร้อมความสามารถในการเรืองแสงได้) ขึ้นมาให้สามารถเข้าจับตัวกับโมเลกุล mRNA ที่สนใจ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสารประกอบเชิงซ้อน mRNA–โปรตีนในเซลล์ซึ่งมีสมมุติฐานว่า มีการเคลื่อนที่แบบ Brownian diffusion (แรงที่เกิดจากการกระแทกกันเองอย่างอิสระของโมเลกุลต่างๆ ในของเหลวของไซโตพลาสซึม) จนสารประกอบผ่านช่องของผนังนิวเคลียสได้และมีโอกาสเข้าใกล้และหยุดที่ส่วนของโครมาตินของนิวเคลียสซึ่งหมายถึง DNA ของเซลล์ ในบทความนี้ได้แสดงภาพการเรืองแสงของสารประกอบที่เกิดจากโอลิโกนิวคลีโอไทด์จับตัวกับ mRNA-โปรตีน ภายในนิวเคลียสของเซลล์         ดังนั้นเมื่อ mRNA มีโอกาสเข้าสู่นิวเคลียสได้ โอกาสที่ mRNA ของวัคซีนจะเข้าไปวุ่นวายกับ DNA ของผู้รับการฉีดวัคซีนจึงอาจเกิดได้ ประเด็นนี้ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า โดยทั่วไปแล้ว RNA ไม่สามารถเข้าแทรกตัวเข้าไปในสายหนึ่งของ DNA ซึ่งมีสองสายได้ เนื่องจากเบสที่เป็นองค์ประกอบของ RNA หนึ่งในสี่คือ uridine นั้นไม่สามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนจับตัวกับเบส adenine ได้อย่างเสถียรเหมือนเบส thymine ของ DNA ยกเว้นว่ามีการจำลอง complimentary DNA ขึ้นมาจาก mRNA ก่อนโดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase โอกาสการเข้าแทรกสาย DNA ที่สร้างขึ้นใหม่เข้าสู่สาย DNA ในนิวเคลียสจึงจะเกิดขึ้นได้และก็ปรากฏว่า ในฐานข้อมูลงานวิจัยของ Pubmed (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov) นั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่องของการศึกษาในหลอดทดลอง (ที่กำหนดสภาวะการทดลองแบบเฉพาะเจาะจง) ที่แสดงแนวทางของความเป็นไปได้ที่ mRNA น่าจะเข้าไปรบกวนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ DNA         ในปี 2021 มีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งเป็นผลการทดลองร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากหลายหน่วยงานในรัฐ Massachusetts เรื่อง Reverse-transcribed SARS-CoV-2 RNA can integrate into the genome of cultured human cells and can be expressed in patient-derived tissues โดยเป็นการศึกษาที่ใช้เซลล์ HEK293T (เป็น cell line ที่ได้จากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์จากการแท้ง เซลล์นี้ได้รับความนิยมใช้ศึกษาการแสดงออกต่างๆ ของยีนมนุษย์) ที่มีการเพิ่ม Plasmids ซึ่งมีการแสดงออกของยีน LINE1 (long interspersed nuclear elements-1) จนส่งผลให้เซลล์ HEK293T สร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ได้ จากนั้นจึงผสมไวรัส SARS-CoV-2 เข้ากับเซลล์ซึ่งได้ผลการทดลองว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ของในเซลล์ HEK293T และส่วนที่ยาวเพิ่มนั้นมีความสอดคล้องว่าเป็น complementary DNA ที่ถูกจำลองมาจาก mRNA ของ SARS-CoV-2         ต่อมาในปี 2022 ได้มีบทความของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Lund University ใน Sweden ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Issues In Molecular Biology เรื่อง Intracellular Reverse Transcription of Pfizer BioNTech COVID-19 mRNA Vaccine BNT162b2 In Vitro in Human Liver Cell Line ซึ่งทำการศึกษาโดยเติมวัคซีน mRNA ลงในจานเลี้ยงเซลล์มะเร็งชนิด Huh7 cells (เซลล์มะเร็งตับจากชายชาวญี่ปุ่นอายุ 57 ปี ซึ่งถูกนำมาทำเป็น cell line เมื่อปี 1982) แล้วพบว่า เซลล์นี้มีการแสดงออกของยีน long interspersed nuclear element-1 เพิ่มขึ้น (LINE1 เป็นยีนที่มีใน DNA ของมนุษย์ แต่ถูกปิดไว้เสมอถ้าเป็นเซลล์ปรกติ แต่ในเซลล์มะเร็งเช่น Huh7 นั้นยีนนี้ได้เปิดขึ้นและผลิตเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งเป็นเอ็นซัมที่สามารถจำลอง DNA จาก RNA ได้) จากนั้นเมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย PCR (Polymerase chain reaction) บน DNA ของเซลล์ Huh7 ที่สัมผัสกับวัคซีน mRNA แล้วพบว่า ได้มีการขยายลำดับ DNA ออกไปซึ่งส่วนที่ขยายนี้มีความสอดคล้องเหมือนจำลองมาจาก mRNA ของวัคซีน BNT162b2 ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ในนิวเคลียสของเซลล์มะเร็งตับชนิด Huh7 ได้         ข้อสังเกตจากงานวิจัยทั้งสองเรื่องคือ เซลล์ที่จะมีการเพิ่มขนาดของ DNA ในนิวเคลียสได้และสามารถตรวจดูพบว่าส่วนที่เพิ่มมีความเกี่ยวพันกับ mRNA ในวัคซีน หรือมาจาก mRNA ที่เชื้อ SARS-CoV-2 สร้างขึ้นนั้นต้องมีการแสดงออกของยีน LINE1 เพื่อให้มีการสร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งถ้าเอ็นซัมนี้ปรากฏในเซลล์มนุษย์เมื่อใดก็หมายความว่า เซลล์นั้นน่าจะเป็นเซลล์มะเร็ง และการเพิ่มส่วนของ DNA ซึ่งอาจถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของเซลล์นั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อเซลล์ ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า โอกาสที่ความยาว DNA ในเซลล์ของผู้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA จะยาวเพิ่มนั้นคงเป็นไปได้ยากถ้าเซลล์นั้นไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แม่อุ๊ยป่วยหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอเยียวยาค่ารักษา

        ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่าหากใครฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อที่รัฐบาลจัดสรรให้แล้วเกิดอาการแพ้และอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต ในทุกกรณีที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนนี้ ให้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อนได้ แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาทุกกรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ ประกอบกันด้วย         แม่อุ๊ยวันดี อยู่ที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกที่โรงพยาบาลฮอดไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ วันนั้นแม่อุ๊ยเริ่มรู้สึกเวียนหัว ร้อนตามตัว พอลุกมาเข้าห้องน้ำตอน 3 ทุ่ม ก็เป็นลมล้มหมดสติไป หลานจึงพาไปโรงพยาบาลฮอด แต่อาการแม่อุ๊ยไม่ดีขึ้นจึงถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลมหาราชทันที และนอนรักษาตัวอยู่ 2 คืน คุณหมอวินิจฉัยว่าแม่อุ๊ยวันดีเป็นเส้นเลือดตีบที่หัวใจ ต้องเจาะที่ต้นคอและต้นขา และกินยาต่อเนื่อง จากนั้นก็ถูกส่งตัวมานอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจอมทองอีกคืนหนึ่งจึงกลับบ้านได้ โดยหมอนัดมาตรวจอาการอีกทุกๆ 2 อาทิตย์ เป็นเวลา 1 ปี           ทุกวันนี้แม่อุ๊ยวันดีได้เงินเบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาทและหลานให้อีก 500 บาทเท่านั้น อาการเจ็บป่วยทำให้แม่อุ๊ยได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีอย่างเมื่อก่อน และยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องด้วย  จึงได้ให้หลานร้องเรียนมายัง เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตนเองจะเรียกร้องค่าเยียวยาจากไหนได้บ้างไหม เพื่อมาจ่ายค่ารักษาอาการป่วยต่อเนื่องนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ ครอบครัวแม่อุ๊ยวันดีเตรียมข้อมูลสำหรับยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนแล้ว โดยทำตามขั้นตอนที่ สปสช.ประกาศไว้ในเอกสารวิธียื่นคำร้องขอรับ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น” ที่ต้องยื่นภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย         ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง คือ ผู้เสียหายหรือทายาท ถ้าไม่มีทายาท ผู้อุปการะหรือผู้ดูแลใกล้ชิดกันมาต่อเนื่องพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ สามารถยื่นคำร้องแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน  ความเห็นจากแพทย์ที่รักษาและการหยุดพักงาน  บันทึกเหตุการณ์ก่อนและหลังฉีดจนมีอาการข้างเคียง หรือสำเนาใบมรณบัตร(กรณีที่เสียชีวิต) ไปยื่นได้ที่โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (13 เขต ทั่วประเทศ)         หลังจากยื่นคำร้องแล้ว หากคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. พิจารณาลงมติว่าเห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ ทางสปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากมีมติ โดยอัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น คือ เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 240,000 บาท บาดเจ็บ/บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้หากไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 วัคซีนสู้ covid-19 มาแล้ว…ดีใจไหม

        www.bbc.com เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2021 มีข่าวเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกถึงไทยแล้ว แต่ผลสำรวจพบบุคลากรทางแพทย์ฯ แค่ 55% พร้อมฉีด โดยมีเนื้อข่าวว่า “วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคไบโอเทคและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เดินทางมาถึงประเทศไทยวันนี้ (24 ก.พ.) แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีน หลังจากหน่วยงานวิจัยของ สธ. สำรวจพบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียง 55% ยินดีรับวัคซีนโควิด-19” และ “…บุคลากรทางการแพทย์ฯ เพศหญิงและผู้ที่มีอายุน้อย หรืออาชีพพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์และแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่รับวัคซีนโควิด-19 หรือยังไม่แน่ใจในสัดส่วนสูงที่สุด”         ประเด็นที่น่าสนใจในข้อความข้างต้นนั้นคือ ทำไมคนระดับปฏิบัติการในกระทรวงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหลัก นั้นยังขอพึ่งหลักการใช้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และการจัดระยะห่างระหว่างบุคคลเป็นแนวทางชีวิตในการป้องกัน covid-19 ก่อน มิใยว่าผู้บริหารจะออกมาพรรณนาถึงหลักการว่า ความเสี่ยงที่อาจจะมีเนื่องจากการฉีดวัคซีนนั้นต่ำมาก ว่ากันว่าเป็นเพียง หนึ่งในล้าน ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการตายเนื่องจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรค covid-19 นั้นคือ หนึ่งในร้อย ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลย         เพื่อยืนยันว่า เราจะเสี่ยงไปด้วยกัน คนที่อยู่ในแถวหน้าของประเทศต่างก็แสดงความหาญกล้าอันเป็นที่ยกย่องไม่รู้วายในการรับการฉีดวัคซีนจนครบ 2 เข็ม อย่างหน้าชื่นตาบานและก็ไม่เห็นเป็นอะไร อยู่รอดปลอดภัยดี ยกเว้นส่วนน้อยที่ติดเชื้อบ้างเพราะทำงานในหน้าที่หนักไปหน่อยทั้งกลางวันและกลางคืน         ประเด็นเรื่องผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกระบวนการฉีดวัคซีนเป็นการไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นปรกติ เพื่อส่งผลให้ในเลือดของผู้ถูกฉีดวัคซีนมีแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเกิดขึ้น (แต่ก็มีข่าวลือบ้างเหมือนกันว่า บางคนฉีดครบ 2 เข็มแล้วความเข้มข้นของแอนติบอดีนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง...ซึ่งก็ต้องรอหาเหตุผลก่อนว่าทำไม ทั้งนี้ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า การใช้วัคซีนในลักษณะที่อนุญาตแบบฉุกเฉินนี้ น่าจะถูกเรียกว่า เป็นการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะที่ 3/2 อยู่) นอกจากนี้เม็ดเลือดขาวกลุ่ม T-cells เช่น  T-killer cells นั้นควรจะต้องเพิ่มด้วย แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ยังไม่เห็นมีใครนำข้อมูลส่วนนี้ออกมาเผยแพร่ว่า วัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกไปแล้วนั้นได้กระตุ้นการเพิ่มปริมาณของ T-cells ดีแค่ไหน...เสมือนทำเป็นลืม         ประเด็นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงคือ ร่างกายต้องมีการลงทุน (และยอมรับความเสี่ยง) บางประการเพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งแสดงออกด้วยอาการที่เรียกว่า ผลข้างเคียง เช่น แขนปวดระบมบริเวณถูกเข็มปักเข้ากล้ามเนื้อแขน (ลึกราว 1 นิ้ว) ส่วนใหญ่ของผู้ถูกฉีดวัคซีนมักมีอาการตัวร้อนระหว่างการเพิ่มภูมิคุ้มกันซึ่งแตกต่างกันไปในหลายระดับ (ตั้งแต่ตัวอุ่นไปถึงร้อนเป็นไข้) จนบางคนที่ไม่ปวดแขนและตัวไม่ร้อนหลังการฉีดวัคซีนชักสงสัยว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ผล (ความจริงกรณีนี้เมื่อรอครบ 14 วัน หลังฉีดครบ 2 เข็มแล้วผู้บริโภคน่าจะยอมเสียเงินทำการตรวจดูการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีด้วย quick test....แต่ก็ไม่เห็นข่าวว่ามีคนทำ เพราะเหล่าหมอทั้งหลายบอกผ่านทางโทรทัศน์ว่าไม่จำเป็น) และบางคนที่เป็นส่วนน้อยมาก อาจมีอาการแพ้ในลักษณะที่เรียกว่า anaphylaxis ระหว่างรอดูอาการ 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งถ้าอยู่ใกล้มือหมอและมียาเฉพาะอาการนี้ (ปรกติเป็น Epinephrine) โอกาสตายนั้นควรจะน้อยมาก ยกเว้นว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อกลับถึงบ้านแล้วหลายชั่วโมง         อย่างไรก็ดีในภาพรวมจากทั่วโลกแล้ว มีการออกมายืนยันกันอย่างเต็มที่ว่า การฉีดวัคซีนป้องกัน covid-19 นั้นเป็นเรื่องควรกระทำ (ซึ่งผู้เขียนก็ wholeheartedly agree แปลว่า เห็นด้วยสุดหัวใจเลย) โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวแบบที่เรียกว่า degenerative diseases ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของร่างกายนั้นถูกจัดให้มีลำดับความสำคัญสูงในการถูกฉีด แต่มันก็มีกรณีปัญหาผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่ออกมาก่อกวนการทำงานของผู้บริหารด้านสาธารณสุขของประเทศบ้างเล็กน้อย ซึ่งกรณีที่ดูจะกระเทือนซางมากหน่อย คือ การปรากฏเป็นหัวข้อข่าวออนไลน์ ดังเช่นใน www.prachachat.net เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 มีบทความชื่อ  แพทย์แจง 6 ราย อาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นแค่ชั่วคราว ซึ่งสาระของข่าวกล่าวว่า “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยผลสอบสวนอาการไม่พึงประสงค์บุคลากรสาธารณสุข 6 รายที่ระยอง หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองอักเสบชั่วคราว คาดเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง แต่ตรวจไม่พบความผิดปกติของสมองผู้ป่วย รวมถึงวัคซีนล็อตนี้ต้องศึกษาเพิ่ม ย้ำประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ลงความเห็นสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ได้ต่อ เชื่อมีประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียง”         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ข่าวเกี่ยวกับอาการข้างเคียงในผู้เป็น เบาหวาน หนึ่งรายที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเวลาผ่านไปชั่วข้ามคืนก็เสียชีวิต ซึ่งต้องใช้คำว่า มรณภาพ เพราะผู้เคราะห์ร้ายนั้นเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ปรากฏว่าข่าวนี้กลับเงียบหายไป ทำให้ผู้เขียนค่อนข้างสงสัยว่า มีอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุการตายได้บ้าง ผู้เขียนจึงลองทำการสืบค้นข้อมูลดู         ต้นเรื่องการมรณภาพของสงฆ์รูปนี้อยู่ในเว็บข่าวทั่วไป เช่น ในเว็บของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อ 2 เมษายน 2564 มีหัวข้อข่าว “ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มรณภาพ หลังฉีดวัคซีน แน่นิ่งในกุฏิ” รายงานข่าวกล่าวว่า “พระรูปดังกล่าว (อายุ 70 ปี) ได้รับวัคซีนตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันที่ 31 มีนาคม และได้สังเกตอาการจนครบ 30 นาที ตามหลักเกณฑ์ จากนั้นได้รับการถวายภัตตาหารเพล อาการปกติทุกอย่าง ได้สอบถามลูกศิษย์วัดทราบว่า พระครูสิริปัญญาเมธี อาพาธทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมัน ช่วงเย็นสังเกตว่าท่านมีอาการเพลียขอตัวไปจำวัด ช่วงเช้าท่านไม่ลงมาฉันภัตตาหารเช้า เมื่อไปดูที่กุฏิพบว่ามรณภาพ”         เว็บไซต์ของประชาชาติธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ให้ข้อมูลต่อมาว่า โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ชันสูตรศพมีผลไม่เป็นทางการออกมาว่า ไม่พบการอุดตันของลิ่มเลือดทั้งที่สมอง หัวใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ แต่พบอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ดังนั้นจากผลในเบื้องต้นทำให้ทราบว่า วัคซีนที่พระสงฆ์ท่านได้รับไม่ได้ส่งผลต่อการมรณภาพแต่อย่างใด (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นำข้อมูลมาแถลงข่าวนั้นกล่าวแบบมั่นใจสุด ๆ)         www.bbc.com เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2021 มีข่าวเรื่อง วัคซีนโควิด-19: เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้างกับคนไทย หลังฉีดวัคซีนของซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งตอนหนึ่งของข่าวรายงานกล่าวประมาณว่า “ตามการเปิดเผยของผู้บริหารของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2564 รวม 29,900 ราย ในจำนวนนี้มีรายงานผ่านระบบไลน์ "หมอพร้อม" ว่ามีอาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง จำนวน 2,380 ราย คิดเป็น 7.96% ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดที่เกิดขึ้นได้ปกติคือ อาเจียน ปวดเมื่อยเนื้อตัว อักเสบบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น”         ตำราภูมิคุ้มกันวิทยาบางเล่มให้ข้อมูลในทำนองว่า อาการข้างเคียงหลังได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้วนั้นดูเป็นตัวบ่งชี้ว่า ร่างกายตอบสนองการฉีดวัคซีนได้ดีและกำลังมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่ต้องระวังว่า วัคซีนไม่ควรทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงเกินจนเป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีนที่อ่อนแออย่างกลุ่มคนชราได้         มูลนิธิ The diaTribe Foundation (https://diatribe.org ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนที่ป่วยเป็นเบาหวานหรือกำลังจะเป็น) มีบทความเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2021 เรื่อง What You Should Know About COVID-19 Vaccines and Diabetes ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีคนเป็นเบาหวานทั้งโลก 463 ล้านคน (สำหรับประเทศไทยนั้นในงานแถลงข่าววันเบาหวานโลก 2562 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุงกล่าวว่า ปัจจุบันประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และมักเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น)         The diaTribe Foundation ให้ข้อมูลว่า วัคซีนต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนคุมไม่ได้ถ้าไม่ระวังให้ดี ดังนั้นจึงควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของคุณอย่างรอบคอบเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากที่คุณได้รับการฉีดวัคซีนใดๆ ก็ตาม และดื่มน้ำให้เพียงพอ         บทความเรื่อง Acute Hyperglycemia After Influenza Vaccination in a Patient With Type 2 Diabetes ในวารสาร Pharmacy and Therapeutics ของปี 2017 นั้น มีเนื้อความเพื่อแจ้งเตือนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (แต่ไม่ได้เขียนไว้ที่ฉลากวัคซีน) แก่ผู้ทำการฉีดวัคซีนว่า ในการฉีดวัคซีนต่างๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลัน เพราะตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2017 มีรายงานภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลันถึง 946 ครั้ง หลังการฉีดวัคซีนต่างๆ โดยที่ 361 ครั้งเป็นรายงานภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่         ได้มีการให้สมมติฐานถึงกลไกที่ส่งผลให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังการฉีดวัคซีนคือ ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นถือว่าเป็น “ความเครียด (stress)” ในระดับหนึ่ง ความเครียดทางร่างกายไม่ว่าจะมาจากการผ่าตัด การติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีโอกาสเพิ่มระดับฮอร์โมนได้แก่ อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล เพื่อตอบสนองต่อความเครียดซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นโดยอาการแล้วไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็วเหมือนคนปรกติ จึงถือว่าเป็นภาวะอันตราย ดังนั้นความเครียดในร่างกายที่ดูไม่รุนแรงแต่ส่งผลสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในคนเป็นเบาหวานจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ โปรดอย่าได้มองข้ามเลย

อ่านเพิ่มเติม >