ฉบับที่ 206 บทเรียนจากวังน้ำเขียว

ฉบับนี้เห็นทีต้องกลับมาคุยเรื่องรถสองชั้นกันอีกครั้งนะครับ จากเหตุระทึกขวัญสั่นประสาทที่วังน้ำเขียว กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางสองชั้นของบริษัท กันเองทัวร์ เสียหลักลงข้างทาง ชนเพิงพักของชาวบ้าน ก่อนชนต้นไม้พลิกคว่ำ บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 สายกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน โดยทั้งหมดเป็นชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลหลุบ และตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งได้เหมารถท่องเที่ยวไปทะเลที่จังหวัดจันทบุรี ขณะเกิดเหตุกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นถูกหยิบยกขึ้นมาสู่สาธารณะกันอีกครั้ง ถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า เพราะรถโดยสารสองชั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน รวมคนบนรถทั้งหมดที่อยู่ในรถคันเกิดเหตุมากกว่า 50 คนเลยทีเดียวแม้ข้อเท็จจริงในเหตุครั้งนี้จะชี้ชัดออกมาแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุมาจากคนขับรถคันเกิดเหตุที่ไม่ชินเส้นทาง อีกทั้งยังเสพยาบ้าก่อนออกเดินทางจำนวน 2 เม็ด เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุจึงไม่สามารถควบคุมรถได้ ประกอบกับสภาพรถที่ไม่พร้อมใช้งาน และสภาพถนนที่คดเคี้ยวลงเขาและโค้งที่เสี่ยงต่ออันตราย แต่ประเด็นที่กำลังปะทุอย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ ตอนนี้ คือ ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ ถ้าบอกว่าไม่ปลอดภัยแล้วทำไมถึงยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ แล้วประชาชนจะรู้ได้ยังไงว่าคันไหนปลอดภัยคันไหนไม่ปลอดภัย เพราะเหตุสะเทือนขวัญล่าสุดที่วังน้ำเขียวนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตมีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นอีกหลายครั้ง เช่น 28 กุมภาพันธ์ 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนโรงเรียนบ้านดงหลบ จังหวัดนครราชสีมา ไปทัศนศึกษาที่หาดจอมเทียน ชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่บริเวณทางขึ้นเขาศาลโทน ถนน 304 อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 15 คน เจ็บมากกว่า 40 คน24 มีนาคม 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาของผู้นำชุมชนของเทศบาลท่าสายลวด จังหวัดตาก ไปดูงานที่จังหวัดอุบลราชธานีและสปป ลาว เสียหลักตกเหวลึกกว่า 30 เมตร บริเวณดอยรวก ถนนสาย ตาก-แม่สอด จังหวัดตาก มีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 22 คน 9 มีนาคม 2560 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนจากโรงเรียนพังทุยพัฒนศึกษา จังหวัดขอนแก่น ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดจันทบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุเสียหลักชนแผงกั้นคอนกรีต ตกไปในเหวฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 30 คน และยิ่งตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้นต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารชั้นเดียวมากถึง 8 เท่าจากความสูญเสียในอดีตที่เกิดขึ้น หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2559 พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งให้ยกเลิกรถโดยสารสาธารณะสองชั้นมาแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถยกเลิกรถโดยสารสองชั้นออกจากระบบได้ในทันที แต่สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมไม่ให้มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มเติมในระบบ มกราคม 2560 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของรถโดยสารให้ครอบคลุมทุกด้าน อย่างยิ่งรถโดยสารขนาดใหญ่(รถสองชั้น) ซึ่งต่อมาคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) กำหนดและควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ต้องมีความสูงไม่เกิน 4.0 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร รวมทั้งยังต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว เช่นเดียวกับรถโดยสารทุกประเภททุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจากมาตรการข้างต้นนี้ หลายคนคงถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้จะไม่มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่ที่สูงปรี๊ดออกมาวิ่งบนถนนกันแล้ว แต่นั่นหมายถึงเฉพาะรถใหม่!!!คำถามคือ แล้วรถโดยสารสองชั้นเก่าที่จดทะเบียนมาแล้วก่อนหน้าวันที่ 19 มีนาคม 2560 ที่มีอยู่ในระบบอีกมากกว่า 7,000 คัน รถเหล่านี้รัฐบาลจะมีการกำกับดูแลยังไง เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาของกรมการขนส่งทางบกเหมือนจะผิดที่ผิดเวลาอยู่ตลอด การมุ่งควบคุมมาตรฐานรถที่จดทะเบียนใหม่เป็นเรื่องที่ดี แต่กับรถเก่าที่จดทะเบียนมาก่อนจะทำอย่างไร แม้ล่าสุด มีนาคม 2561 หลังเหตุระทึกขวัญที่วังน้ำเขียวนายกฯ จะกลับมามีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับแก้ความสูงของรถโดยสารสองชั้น พร้อมเตรียมหาแนวทางกำหนดอายุใช้งาน และจำกัดเส้นทางวิ่งของรถโดยสารสองชั้น ซึ่งการสั่งการครั้งนี้น่าจะเด็ดขาดและชัดเจนที่สุดแล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าคำสั่งของนายกฯ จะได้ผลแค่ไหน เพราะขนาดสั่งการไปตั้งแต่ปี 2559 แล้ว จนปัจจุบันก็ยังยกเลิกไม่ได้  หากแนวทางยกเลิกนั้นทำไม่ได้ เนื่องด้วยติดสัญญาขัดข้อกฎหมายหรือยังไม่มีเหตุเพียงพอ การออกมาตรการควบคุมการใช้งานรถโดยสารสองชั้น เช่น การกำหนดอายุการใช้งานรถที่เหมาะสม การกำหนดเส้นทางที่ไม่ให้รถโดยสารสองชั้นวิ่งได้ เช่น เส้นทางลาดชันขึ้นเขาลงเขา หรือการรับซื้อรถคืนตามสภาพของรัฐบาล ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีและทำได้สำหรับปัญหารถโดยสารสองชั้นในเวลานี้  ซึ่งหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหา ปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ แบบที่ผ่านมา ก็อาจจะมีความสูญเสียครั้งใหม่เกิดขึ้นมาอีก เชื่อว่าทุกคนอยากให้เหตุที่วังน้ำเขียวนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะคนที่ต้องเดินทางและต้องเสี่ยงกับความสูญเสียไม่ใช่คนในรัฐบาลหรือหน่วยงาน แต่เป็นประชาชนผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสองชั้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >