ฉบับที่ 269 สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีได้รายงานผลการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในตลาดชุมชน 19 ตลาด พื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยสรุปพบว่า จาก 100 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป         นี่คือปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งสำคัญ   สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร” และ “ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ”       จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่         เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี  2544  ประเด็นหลักที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่แรกคือ เรื่องความปลอดภัยในอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวผู้บริโภคมากๆ           ประเด็นแรกที่เราเฝ้าระวังคือ เรื่องถังน้ำดื่มปลอดภัยขนาด 20 ลิตร และช่วงปี 2544-2545 เราร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ 11 จังหวัดทำคาราวานรณรงค์สถานการณ์เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย แล้วตัวเราก็เข้ามาทำงานในจังหวะนี้มาเป็นอาสาสมัครก่อน แล้วก็ทำมาต่อเนื่อง เครือข่ายผู้บริโภคเราขับเคลื่อนร่วมกันมาตลอด ในประเด็น 8 ด้าน หลักๆ   เราทำงานมีกรอบร่วมกันแบบนี้ มีเอกภาพ เพียงแต่ในพื้นที่อาจจะมีศักยภาพในการทำงานแต่ละเรื่องได้แตกต่างกันออกไป         ถามถึงความสนใจจนถึงตอนนี้ เราเลยทำงานเพื่อผู้บริโภคมา 20 ปีแล้ว ปัญหาไม่ได้หมดไป แล้วมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หลากหลายมาก เช่น การใส่ฟอร์มาลินเข้าไปในอาหารมากขึ้น หลายชนิดที่เราคิดว่าจะไม่ได้เห็นเราก็ได้เห็น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งล่าสุด ทำไมสนใจเรื่องฟอร์มาลิน         เราสนใจเรื่องฟอร์มาลินเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน  แล้วในบางพื้นที่สถานการณ์หนักขึ้นด้วย เช่นจะเห็นว่าบางจังหวัดเขาเฝ้าระวังโดยเฉพาะในร้านหมูกระทะเลย แต่การแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง คอยกำกับดูแล  ถูกทำให้เป็นบทบาทของบางหน่วยงานเท่านั้น ขณะที่เรามีการกระจายอำนาจ มีหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับท้องที่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้  เราก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการปัญหาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยสนใจสำรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตลาดนัดในชุมชน แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ที่ติดทะเล  เลยอยากรู้ว่าอาหารทะเลบ้านเรามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินไหมนี่คือจุดเริ่มต้น การสำรวจ เฝ้าระวังมีแผนการทำงานอย่างไร         พอเราพูดคุยกันว่า อยากจะเฝ้าระวังเรื่องนี้นะเราจึงเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน  คือเราไม่ได้คิดว่า อยากตรวจก็ตรวจ  เราเองก็ทำความเข้าใจต่อการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหาร         เราเข้าไปขอคำปรึกษา คำแนะนำ ขอความรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลเราก่อนว่า จริงๆ แล้ว ฟอร์มาลินปัญหามันคืออะไร ปนเปื้อนในอาหารไปเพื่ออะไร ปกติเราเจอฟอร์มาลินที่ไหนบ้างเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างในการที่เราจะตรวจฟอร์มาลิน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 ได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมให้เราและเครือข่ายของเรา  ในการใช้ชุดทดสอบการเก็บตัวอย่างมาช่วยดำเนินการตรวจตัวอย่างอาหารที่เก็บมาและทบทวนผลการตรวจ ทำให้เราพร้อมจริงๆ ที่จะตรวจเรื่องของอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินได้  ในกระบวนการทำงาน คนทำงาน เครือข่ายก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปด้วย        ใช่ เรามีการพัฒนาศักยภาพคนที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ให้เขาเข้าใจเรื่องฟอร์มาลินก่อนว่าคืออะไร เพราะมีทั้งฟอร์มาลินตามธรรมชาติและเติมเข้าไปจนปนเปื้อนนะ  แล้วการเก็บตัวอย่างต้องสังเกตอะไร แยกแยะกันอย่างไร เครือข่ายเราจะรู้         สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ทำงานกับเครือข่ายมาโดยตลอด การเฝ้าระวังครั้งนี้เครือข่ายของเราใน 8 อำเภอเข้ามาช่วยกันทำคือ  เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอตาขุน อำเภอชัยบุรีและกลุ่มเมล็ดพันธุ์บันเทิง จึงเก็บได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง สมาคมฯ ไม่อาจจะทำเองได้  เราไปเก็บทุกอำเภอไม่ได้  ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เป็นกลไกที่จะช่วยสมาคมฯ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ช่วงที่เกิดโควิด เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องของการจำหน่ายฟ้าทลายโจร  ล่าสุดเราเฝ้าระวังเรื่องถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุ เราก็ทำด้วยกันเป็นเครือข่าย  การทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี  เป็นอย่างไร         พอมีความร่วมมือกับหน่วยงาน เราคิดว่ามันดีมาก หนึ่งในแง่ของงานวิชาการที่ทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น เพราะฟอร์มาลินในธรรมชาติก็มี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่ก็มีทำให้เราเห็นประเด็นมากขึ้น สองการสนับสนุนงานเชิงวิชาการของเขาช่วยให้เรามั่นใจต่อการทดสอบตัวอย่างต่างๆ  และการสนับสนุนในกระบวนการทดสอบ การเก็บตัวอย่าง ทำให้เราสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน อย่างน้อยมีกระบวนการเก็บที่ถูกต้องใช้ชุดทดสอบที่ถูกต้อง เราก็คิดว่ามันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนทำงานและข้อมูลที่เราได้ผลออกมา   ผลการเฝ้าระวังอาหารครั้งนี้ บอกอะไรกับเราคนทำงานบ้าง         ผลทดสอบออกมาบอกเลยว่า แม้ว่าเราจะอยู่ใกล้ทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่า อาหารทะเลที่ขายในตลาดชุมชนของเราจะไม่มีฟอร์มาลิน แต่จริงๆ แล้วเรื่องความปลอดภัยในอาหารตลอดที่ทำงานมา เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่มาตลอด แต่กระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังทำแยกส่วน แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจให้เรื่องการเฝ้าระวังมีการมาบูรณาการกัน มาสร้างองค์ความรู้ที่เราต้องช่วยกันสร้างให้กับผู้บริโภค รับรู้และมีความเข้าใจ หลังจากนี้มีแผนการทำงาน ในระยะต่อไปอย่างไร         ตอนนี้หลังจากเราได้รายงานผลการเฝ้าระวัง อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ผลการตรวจ 100 ตัวอย่าง พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินกว่า 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป หลังจากเราได้ข้อมูลมาแล้วเราก็ชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันและเราทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 หน่วยงานในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เพราะเขามี  อสม. ที่เป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เราคิดว่า 3 หน่วยงานหลักที่อยู่ในระดับพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เราเชิญเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราว่าที่ผ่านมา เขาทำงานอย่างไรและพอเราเจอแบบนี้ เราจะช่วยกันทำงานต่อไปอย่างไร  และเรามีข้อเสนออยากให้เขากับเรามาทำงานด้วยกัน เป็นขั้นตอนต่อไป         เราตรวจครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือกับเขาก่อน ให้รู้สถานการณ์ด้วยกันก่อนว่าตรวจแล้วยังเจอนะ มีนะ แล้วเราจะร่วมกันทำงานอย่างไร เราหวังผลการทำงานร่วมกันในระยะยาว  แต่ถ้ายังไม่เกิดการทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เราก็ตรวจซ้ำ และจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองด้วยแต่คือต้องบอกว่าเรื่องนี้  เรามีกฎหมายที่กำกับดูแลพอสมควรเรามีหน่วยงานที่อยู่ในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็ไม่น้อย หน่วยงานเหล่านี้อาจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น คือฟอร์มาลินไม่ได้กินแล้วตายคาปาก  แต่ตามกฎหมายใส่ไม่ได้ มันไม่ควรมีในอาหาร เราคิดว่าถ้ามีการบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้ประกอบการจะกลัวเกรงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะจากการตรวจ เราก็พบว่ามี 1 อำเภอที่ไม่เจอเลย  อาสาสมัครเราก็บอกว่า เป็นเพราะเขามีการเฝ้าระวัง / ตรวจอย่างต่อเนื่อง  ผู้ประกอบการเองจึงยังต้องระมัดระวังในการเอาของมาขาย  วิธีการนี้ยังช่วยได้ นี่คือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มาตรการทางสังคม ในการที่จะช่วยกันทำให้เรื่องนี้หายไปหรือน้อยลง แต่สุดท้ายมาตรการที่สำคัญอย่างมากด้วย คือทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อป้องกันตัวเองได้ เช่นการล้าง ทำความสะอาด เพราะเราไม่ได้ตรวจเจอแค่ในหมึกกรอบแต่มีในเล็บมือนาง สไบนาง  ถั่วงอก ซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรุกให้สุก กินดิบๆ เลยก็มี มันยิ่งทำให้ร่างกายรับฟอร์มาลินเข้าไปมาก  มองความเข้มแข็งของการทำงานในพื้นที่ว่ามี จุดอ่อน – จุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไร         ถ้าเรื่องความเข้มแข็งอย่างแรกเลย ในฐานะเราองค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เรามีความแน่วแน่ มีจุดยืนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร  สองเราคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ได้ เราต้องมีเครือข่าย ถ้าทำงานแบบไม่มีเครือข่ายเราไม่สามารถจะทำงานตรงนี้ได้เลย  เราเก็บไม่ได้หมดแบบนี้ เราต้องยกความดี ขอบคุณเครือข่ายที่เราทำงานด้วยกัน สาม พอเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราจะพบว่า งานวิชาการมีความสำคัญมาก  ถ้าเรามีกลไกที่เป็นวิชาการมาช่วยเราทำงานได้จะช่วยให้งานเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งเมื่อเราทำงาน แล้วเราเห็นองคาพยพในการทำงานว่ามีใครบ้าง แล้วเข้าไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน พี่มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับการพัฒนา คิดว่าเป็นสี่ส่วนสำคัญที่จะช่วยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่เข้มแข็ง  ความท้าทายที่มองเห็นในการทำงานต่อไป คือเรื่องอะไรบ้าง         เราเองก็ติดตามสถานการณ์ภาพรวมในประเทศตลอดว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วเรากลับมามองในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างเช่นกัน อย่างเรื่องหมูกระทะ เราก็เอ๊ะนะ  มีความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นประเด็นความท้าทายในระดับชาติก็เป็นความท้าทายที่จะนำมาเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วยทำเป็นโมเดลเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ อาจจะต้องสอดคล้องกันไปด้วย  ส่วนประเด็นในพื้นที่หลายเรื่องก็มีความเฉพาะได้แต่ต้องดูว่าผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องนี้มากแค่ไหน เช่น ยาสมุนไพรที่ผลิตในพื้นที่หลายเรื่องมีความท้าทายที่จะเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ    สิ่งที่อยากฝาก          เรื่องความปลอดภัยในอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากและประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องมากๆ ก็มีความท้าทาย ขณะที่หน่วยงานรัฐที่บทบาทในการกำกับดูแลไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำ อย่างเรื่องอาหารเรามีตลาดจำนวนมากเขาไม่สามารถทำได้จริง แต่การทำงานด้วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน เราภาคประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/ จังหวัด ท่านมีอำนาจอยู่ก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ในบริบทของตัวเองหรือบางหน่วยงานมีความรู้ทางวิชาการเราก็มาช่วยกัน เรามีคน เขามีวิชาการเขามีกฎหมาย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่ายทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 241 สายรัดวัดความฟิต

                กลับมาอีกครั้งกับผลการทดสอบเปรียบเทียบสายรัดข้อมือที่ Which? องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำไว้ในช่วงปลายปี 2020 คราวนี้เรามีให้คุณได้เลือก 18 รุ่น ที่สนนราคาระหว่าง 699ถึง 7,290  บาท        การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 7 ด้าน        - ร้อยละ 45 ประสิทธิภาพ/ความแม่นยำในการนับก้าวขณะเดิน วิ่ง และทำงานบ้านทั่วไป รวมถึงความแม่นยำในการวัดระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ        -  ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน เช่นตั้งค่า เข้าถึงข้อมูล มองหน้าจอได้ชัดในสภาพแสงต่างๆ        -  ร้อยละ 10 ความอึดของแบตเตอรี โดยวัดจากชั่วโมงการใช้งานหลังชาร์จแบตฯ จนเต็ม        -  ร้อยละ 10 การทำงานของแอปฯ        -  ร้อยละ 5 การแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย การรับส่งข้อความ รับโทรศัพท์        -  ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน สายรัด รวมถึงความทนทานของหน้าจอต่อรอยขูดขีด        -  ร้อยละ 5 ฟีเจอร์ การปรับแต่งได้ตามต้องการ และความเข้ากันได้กับแอปฯ อื่นๆ         จากผลทดสอบครั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า ราคาไม่ได้บ่งบอกประสิทธิภาพเสมอไป หลายรุ่นที่ราคาปานกลางได้คะแนนดีกว่ารุ่นที่ราคาแพงด้วยซ้ำ ในขณะที่รุ่นที่ราคาต่ำมากๆ ก็มีประสิทธิภาพน้อยตามราคา         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ยูโร (ประมาณ 66,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง        · ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยเสนอผลทดสอบ fitness trackers ไว้ในฉบับที่ 168 และ 184 หากสนใจติดตามอ่านย้อนหลังได้ในเล่มออนไลน์        ตลาดอุปกรณ์ fitness trackers ทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,410 ล้านเหรียญ และมีการคาดการณ์ว่าจะสูงกว่า 90,000 ล้านเหรียญในปี 2027  อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.fortunebusinessinsights.com/fitness-tracker-market-103358

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 234 ยาจากวัด ขจัดความปลอดภัย ?

        ผมมักจะได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการซื้อยามากินเองอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่มักจะซื้อมาใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามแขนขา เมื่อใช้ครั้งแรกๆ จะได้ผลเร็ว อาการปวดเมื่อยต่างๆ มักจะหายทันที แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะได้อาการอื่นๆ แถมมาด้วย เช่น ตัวเริ่มบวม ปวดท้อง กระเพาะเป็นแผล บางคนเป็นมากถึงขนาดถ่ายออกมาเป็นเลือดจนต้องเข้าโรงพยาบาล          เมื่อนำยาที่ผู้ป่วยมาตรวจหาสารสเตียรอยด์จะพบว่ามีสารสเตียรอยด์ผสมในยาเกือบทุกตัวอย่าง และเมื่อสอบถามถึงแหล่งที่ซื้อยา พบว่าผู้ป่วยหลายคนซื้อยามาจากวัดเนื่องจากคิดว่า ยาที่ขายในวัดคงเป็นยาที่ปลอดภัย คนขายก็คือคนในวัด บางวัดก็มีพระสงฆ์เป็นผู้ขายเองด้วยซ้ำ          จากประสบการณ์ที่เคยไล่ติดตามตรวจสอบยาที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ พอสรุปลักษณะของยาที่ไม่ปลอดภัย ที่มักจะแอบจำหน่ายในวัดบางแห่ง ดังนี้        1. ส่วนใหญ่มักจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ รูปแบบอาจเป็นยาผง ยาลูกกลอน หรือตอกอัดเป็นเม็ดแบบง่ายๆ บางครั้งอาจมีการบรรจุในแคปซูล แต่ดูด้วยสายตาจะแตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน         2.ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อในลักษณะยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ มีการระบุสรรพคุณต่างๆ มากมาย ชนิดที่ยาแผนปัจจุบันยังไม่กล้าระบุขนาดนี้         3. ในฉลาก ไม่มีหมายเลขการขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด แสดงว่ายาเหล่านี้ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิต (ในแง่กฎหมาย ยารักษาโรคจะต้องแสดงหมายการขึ้นทะเบียนตำรับยาทุกตัว)         4. แม้ฉลากของยาที่ขายจะแสดงข้อมูลมากมาย แต่สิ่งที่หาไม่เจอคือสถานที่ผลิต ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกติดตามดำเนินการตามกฎหมาย         5. มักบรรจุในภาชนะที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน อาจใส่ซองใส หรือขวดใส ฉลากก็พิมพ์แบบง่ายๆ         บ่อยครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปสอบถามข้อมูลแหล่งที่ซื้อจากผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ข้อมูลเนื่องจากกลัวข้อมูลจะไปถึงวัดผู้ป่วยบางคนถึงกับบอกว่า กลัวพระ เพราะพระที่นี่เป็นผู้มีอิทธิพล (ว่าเข้าไปนั่น)         เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราและคนในชุมชน มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้        1. ไม่แนะนำให้ซื้อยาจากวัด หากไม่มั่นใจ ขอให้ไปสอบถามหรือขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก่อน        2. ตรวจสอบฉลาก หากไม่มีทะเบียนยาแสดงว่ายานี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตามกฎหมาย แต่ถ้ามีทะเบียนยาแล้ว ก็อย่าเพิ่งมั่นใจเพราะโดยทั่วไปแล้วสถานที่ขายยาจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน ยกเว้นสถานที่ขายยาสามัญประจำบ้านที่ไม่ต้องมาขออนุญาต         3. แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกลุ่มงานค้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้มาติดตามตรวจสอบก่อน หากกังวลอาจแจ้งข้อมูลในทางลับหรือส่งเป็นเอกสารระบุข้อมูลให้ครบถ้วนก็ได้         4. หากไม่สะดวกที่จะแจ้งข้อมูลกับสาธารณสุขอาจแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจำจังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมวัดต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกัน COVID-19 ได้จริงหรือไม่

        มีการถามและแชร์กันว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีน BCG (วัคซีนป้องกันวัณโรค) ก็จะเป็นโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยรับการฉีด จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โควิด-19 เหมือนและต่างกับไข้หวัดใหญ่อย่างไร        อย่างแรก ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ก่อโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการตั้งแต่ ไม่มีอาการอะไรเลย อาการเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงและเสียชีวิต อย่างที่สอง ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อทางการสัมผัส ละอองของเหลวจากการไอ จาม         ไข้หวัดใหญ่จะมีระยะฟักตัวของเชื้อและเกิดอาการสั้นกว่าโควิด-19 (ระยะติดเชื้อและเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 3 วัน ในขณะที่โควิด-19 ประมาณ 5-6 วัน) ซึ่งหมายความว่า ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่า          นอกจากนี้ โควิด-19 มีอัตราการตายร้อยละ 1-5 ซึ่งมากกว่าไข้หวัดใหญ่ที่อัตราการตายน้อยกว่าร้อยละ 0.5 แต่ในช่วงฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อในประชากรได้เป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากร วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ เนื่องจากเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ จึงต้องมีวัคซีนเฉพาะ         แต่ถึงแม้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการตายและการอยู่ในโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ การลดผู้ป่วยลงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาเหลือพอในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วัคซีนบีซีจีลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนบีซีจีป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อโควิด-19โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำคัญๆ และงานวิจัยทางคลินิก ที่นักวิจัยอ้างว่า ในประเทศที่มีการให้วัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด จะพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ให้วัคซีนบีซีจี ซึ่งพบว่า มีปัจจัยรบกวนที่มีอคติ ทำให้ผลการวิจัยไม่น่าเชื่อถือ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่         ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การล้างจมูกเป็นประจำด้วยน้ำเกลือจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่มีหลักฐานบ้างว่า การล้างจมูกดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ การกินกระเทียมช่วยป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        แม้ว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์และมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า การกินกระเทียมจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้         สรุป  วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และบีซีจี ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ป้องกันไม่ให้เราป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2561

ศาลยกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องลูกค้ากว่า 84 ล้านบาทกรณี บจก.มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายลูกค้ากว่า 84 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 เหตุผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซลที่พบปัญหาการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยบริษัทมาสด้าให้เหตุผลการฟ้องคดีว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงนั้น         เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61  ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี  ชี้ว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้เสียหาย เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถมีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ซึ่งไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามที่บริษัทอ้าง ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายที่ถูกฟ้อง ได้กล่าวฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การพยากรณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และไข้เลือดออก ซึ่งไข้หวัดใหญ่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัดส่วนโรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่งกรณีโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ ‘ออมสิน’ ชะลอฟ้อง - งดบังคับคดี ตุ๊กตุ๊ก โครงการสามล้อเอื้ออาทรเมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อ ในโครงการสามล้อเอื้ออาทร กว่า 150 ราย เดินทางไปยังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน และขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารหนี้และกฎหมาย กลุ่มปฏิบัติงาน ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหาย โดยจะยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และงดการบังคับคดี และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยได้นัดให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหาย มารับฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.6213 เม.ย. 62 รพ.เอกชนยอมกางบัญชี "ราคายา-ค่ารักษา" ขึ้นเว็บไซต์          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งเตรียมเผยแพร่ราคายา-ค่ารักษาบนเว็บไซต์ รพ.และเว็บไซต์กลาง ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมชี้ว่า รพ.เอกชนเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราคาได้ แต่คงบังคับให้ลดราคาไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะต้องง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นข้อความทางเทคนิค ซึ่งยาที่จะประกาศราคานั้น เบื้องต้น จะมีประมาณ 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ หวังเพื่อให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาและเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาที่แพงเกินความเหมาะสม ยื่นฟ้อง ไทยพาณิชย์ เหตุคนร้ายโจรกรรมเงินฝากผ่านแอพฯ กว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 15 พ.ย.61 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. และ น.ส.ธนิตา จิราพณิช อาชีพนักแสดงอิสระ ซึ่งเป็นผู้เสียหายสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จากการถูกโจรกรรมข้อมูลและเงินในบัญชีเงินฝาก เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (จำเลยที่ 1) และ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (จำเลยที่ 2)        กรณีนี้ คนร้ายได้หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้เสียหาย ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เพื่อใช้สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งบนมือถือของคนร้าย และโจรกรรมเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนเปิด SCBFP กองทุนเปิด WINR และกองทุนตราสารหนี้ที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท หลักทรัพย์จัดการรองทุน ไทยพาณิชย์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 รวมกว่า 50 ครั้ง นับรวมความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องก็ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาล โดย นายเฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งการตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงระบบสารสนเทศ การติดตามแจ้งเตือน การแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมไม่มีมาตรฐาน จนทำให้คนร้ายสามารถทำการโจรกรรมเงินในบัญชีและกองทุนของผู้เสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 คนกรุงเทพฯ ซื้อ (อาหาร) อะไรเป็น “ของฝาก” เมื่อไปเที่ยวต่างจังหวัด

วันหยุดยาวช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายๆ คนก็มักจะเดินทางออกไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเวลาไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ สิ่งหนึ่งที่แทบทุกคนจะต้องทำก็คือการหาซื้อของฝาก แน่นอนว่าของฝากยอดนิยมอันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้นของกิน ไม่ว่าจะเป็นพวกขนมนมเนย ของหวาน ของคาว มีให้เลือกสารพัด ซึ่งแต่ละภาคแต่ละจังหวัดในประเทศไทย ของฝากที่เป็นที่นิยมหรือของขึ้นชื่อก็มีความแตกต่างกันไปเป็นเอกลักษณ์ตามแต่พื้นที่นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร ดูว่าของกินประเภทไหนที่เป็นของฝากยอดนิยมของแต่ละภาคในประเทศที่คนกรุงเทพฯ ซื้อกลับมาฝากญาติสนิม มิตรสหาย นอกจากนี้ยังสำรวจดูพฤติกรรมการอ่านฉลากก่อนซื้อของผู้บริโภค ว่าให้ความสำคัญในการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อมากน้อยแค่ไหนการสำรวจครั้งนี้ เก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560 แบ่งเป็น 1.เพศ ชาย ร้อยละ 57.6 หญิง ร้อยละ 42.42.อายุ ต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 10.2 21-25 ปี ร้อยละ 31.9 26-30 ปี ร้อยละ 17.0 31-35 ปี ร้อยละ 15.7 36-40 ปี ร้อยละ 12.5 41-45 ปี ร้อยละ 6.6 46-50 ปี ร้อยละ 4.4 มากกว่า 50 ปี ร้อยละ 1.73.อาชีพ นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา ร้อยละ 38.4 ข้าราชการ / พนักงานของรัฐ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 20.3 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 18.9 นักธุรกิจ / เจ้าของกิจการส่วนตัว ร้อยละ 13.0 พ่อบ้าน / แม่บ้าน ร้อยละ 9.4ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร1.ประเภทของของฝากที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรกขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6อาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 ของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0ผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9 2.ของฝากที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคเหนือ 5 อันดับแรก น้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 แคบหมู ร้อยละ 29.7 หมูยอ ร้อยละ 25.0 ไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 ใบชา ร้อยละ 18.3 3.ของฝากที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 อันดับแรก แหนมเนือง ร้อยละ 34.7 หมูยอ ร้อยละ 29.4 กุนเชียง ร้อยละ 26.9 แหนม ร้อยละ 19.7 น้ำพริก ร้อยละ 18.34.ของฝากที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคตะวันออก 5 อันดับแรก ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 ข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 ผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 น้ำปลา ร้อยละ 17.55.ของฝากที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคกลาง 5 อันดับแรก ขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 สายไหม ร้อยละ 27.1 โมจิ ร้อยละ 26.8 กะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.96.ของฝากที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคตะวันตก 5 อันดับแรก ทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 ขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 ขนมชั้น ร้อยละ 25.3 ขนมปังสับปะรด ร้อยละ 23.4 มะขามสามรส ร้อยละ 19.7 7.ของฝากที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ 5 อันดับแรก ปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 กะปิ ร้อยละ 29.3 กุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 น้ำพริก ร้อยละ 22.3 เครื่องแกง ร้อยละ 21.3 ก่อนซื้อของฝาก เราดูวันหมดอายุบนฉลากกันมากน้อยแค่ไหน? ข้อมูลบนฉลากถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นตัวช่วยก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะ อาหาร แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นของฝากชื่อดังหลายชนิดที่ทำสดใหม่ทุกวันและวางขายเฉพาะหน้าร้านของตัวเอง ไม่ได้ส่งต่อไปจำหน่ายที่อื่น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องแสดงฉลาก แต่อย่างน้อยข้อมูลสำคัญอย่าง วันเดือนปีที่หมดอายุ และ ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ก็ควรมีการแจ้งไว้ให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ เพราะเป็นข้อมูลสำคัญต่อการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย โดยผลสำรวจเรื่องการดูข้อมูลวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ของฝาก พบว่า ร้อยละ 44.8 มีการตรวจดูเรื่องวันหมดอายุบนฉลากก่อนตัดสินใจซื้อ  ร้อยละ 35.4 ไม่ได้ตรวจดูเรื่องวันหมดอายุบนฉลาก ร้อยละ 19.8 ไม่แน่ใจว่าได้ตรวจดูหรือเปล่า ส่วนการดูข้อมูลเรื่องสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ของฝาก พบว่า ร้อยละ 44.8 มีการตรวจดูข้อมูลสถานที่ผลิตบนฉลากก่อนตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 34.2 ไม่ได้ตรวจดูข้อมูลสถานที่ผลิต ร้อยละ 21.0 ไม่แน่ใจว่าได้ตรวจดูหรือเปล่าเคยได้ของฝากที่หมดอายุบ้างหรือเปล่า? นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจที่น่าสนใจในมุมของคนที่ได้รับของฝาก ว่ามีประสบการณ์เคยได้รับของฝากจำพวกอาหารที่หมดอายุแล้วบ้างหรือเปล่า ผลสำรวจพบว่า  ร้อยละ 16.4 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยได้รับของฝากจำพวกอาหารที่หมดอายุ ร้อยละ 54.8 ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุ ร้อยละ 28.8 ไม่แน่ใจว่าเคยได้รับของฝากที่หมดอายุหรือเปล่าอันตรายที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมอาหารของฝากน้ำพริก – ระวังจุลินทรีย์และสารกันบูด เคยมีข่าวเมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกเผา น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15  สาเหตุที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต ชนิดของวัตถุกันเสียที่พบมากสุด ได้แก่ กรดเบนโซอิค รวมทั้งปัญหาเรื่องการปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) และเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน (Clostridium perfringens)ที่มา : ข่าว “สุ่มตรวจ“น้ำพริกสำเร็จ”เปียก-แห้งไม่ผ่านมาตรฐาน15 %”, คอลัมน์คุณภาพชีวิต, เว็บไซต์ คมชัดลึก, 20 กันยายน 2559แหนมเนือง - ผักสดไม่สะอาดระวังเชื้อโรค แหนงเนือง อีกหนึ่งของฝากยอดนิยมของภาคอีสานที่หลายคนชื่นชอบ เพราะนอกจากจะรสชาติอร่อยแล้ว ยังถูกมองว่าเป็นอาหารสุขภาพเพราะมีผักหลากหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ  แต่เมนูแหนมเนืองก็อาจมีอันตรายแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน นั่นการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อจุลินทรีย์ อี.โคไล, ซาลโมเนลลา, สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เชื้อเหล่านี้มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ดิน และอากาศ ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในผักสด รวมทั้งเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่บริโภคโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุกเพียงพอ เช่น แหนม และ หมูยอปลาหมึกแห้ง – เสี่ยงโลหะหนัก อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเลส่วนใหญ่ มีความเสี่ยงในเรื่องของการตกค้างของโลหะหนัก เช่น ปรอท แคดเมียม ตะกั่วและสารหนู ซึ่งเป็นการปนเปื้อนตามธรรมชาติ เนื่องจากปัจจุบันนี้แหล่งน้ำตามธรรมชาติมีการเจือปนของของเสียที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น  เมื่อปี 2553 ฉลาดซื้อเคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้งและกุ้งแห้ง เพื่อดูการปนเปื้อนของโลหะหนัก ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท พบว่า ปลาหมึกแห้งทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มสำรวจซึ่งเก็บตัวอย่างจากทั่วประเทศ ทั้งใน กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรสาคร และ สงขลา พบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักทุกตัวอย่าง  โดยพบการปนเปื้อนของแคดเมียม เกินมาตรฐานที่กฎหมายอนุญาต คือ ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมจำนวน 4 ตัวอย่าง  ส่วนโลหะหนักอีก 2 ชนิด คือ ตะกั่ว และ ปรอท พบการปนเปื้อนแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด (ตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) นอกจากนี้จากการสุ่มวิเคราะห์ ยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มยาฆ่าแมลง (ไพรีทรอยด์) ถึง 5 จาก 8 ตัวอย่าง ซึ่งตามปกติไม่ควรพบการปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าวคำแนะนำในการเลือกซื้อของกินเป็นของฝาก 1.สถานที่ขายหรือสถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น แมลง สารเคมี และอาหารควรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของอาหาร 2.สภาพภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด ไม่มีร่องรอยที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสิ่งปนเปื้อน 3.ลักษณะของอาหารต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีร่อยรอยของการเกิดเชื้อราหรือเชื้อจุลินทรีย์ หรืออยู่ในสภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบริโภค 4.ต้องอ่านฉลากทุกครั้ง เพื่อรู้ถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่าง วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต หากไม่มีฉลากแจ้งควรสอบถามจากผู้ขายก่อนตัดสินใจซื้อ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 201 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อมจริงหรือ

หลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพราะกลัวว่าจะเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากมีเว็บไซต์ของการแพทย์ทางเลือกหลายเว็บไซต์จากต่างประเทศกล่าวถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ยอมเป็นไข้หวัดใหญ่ดีกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไรวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดปีละครั้ง และต้องฉีดทุกปี วัคซีนนี้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งมีอาการไข้ ไอ บวม และอาจเกิดอาการปอดอักเสบหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปอดบวม  ทุกปีวัคซีนนี้ต้องคัดเชื้อที่คิดว่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น และสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้ประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอัลไซเมอร์จริงหรือ สมาคมอัลไซเมอร์แห่งอเมริกา แถลงว่า ความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(หรือสารเคมีในวัคซีน) ก่อความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์นั้น เป็นความหลงเชื่อที่ผิด และไม่เป็นความจริง เหตุที่เชื่อนั้นเพราะ วัคซีนจะมีสารปรอทซึ่งเป็นสารกันเสื่อมของวัคซีนบางชนิด(วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดแค่ครั้งเดียว จึงไม่ต้องใช้สารนี้)  หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรค ได้ทำการวิจัยและพบว่า ปริมาณของปรอทนั้นมีปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายมากไปกว่าการบวมและแดงเล็กน้อยเมื่อฉีดวัคซีนงานวิจัยกลับบอกผลตรงกันข้ามจากการทบทวนงานวิจัยในหลายๆ ที่ พบว่า งานวิจัยในวารสาร Canadian Medical Journal ปีค.ศ. 2001 มีการวิจัยในประชากร 4, ราย  392 รายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงลดลงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก หรือโปลิโอ  งานวิจัยนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่ารายงานอีกเรื่องในวารสาร JAMA ค.ศ. 2004 พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการตายจากสาเหตุต่างๆ ทุกประเภท  ซึ่งในวารสาร Pubmed ได้นำบทคัดย่อไปเผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ การศึกษาล่าสุดในไต้หวัน ปีค.ศ. 2016 เป็นการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จำนวน 11,943 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48 และที่เหลืออีก 6,192 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการลดลงของการเกิดโรคความจำเสื่อมโดยสรุป ความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ นั้น ไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว  ในทางตรงข้าม กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลับมีความเสี่ยงและการเกิดโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 วิตามินซีต้านหวัด...หรือ!!!!

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ข้อมูลว่า วิตามินซีนั้นช่วยป้องกันหวัด (และเลยเถิดไปถึงการป้องกันมะเร็ง) โดยอ้างถึงความเชื่อในเรื่องนี้ของ ดร.ไลนัส พอลิ่ง (Dr. Linus Pauling เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งในสองคนของโลกที่ได้รางวัลโนเบลถึงสองสาขา) ซึ่งทุ่มเทความรู้ความสามารถพยายามพิสูจน์ในคุณประโยชน์ของวิตามินซีในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้มีคนศรัทธาเชื่อตามในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ขายวิตามินซีเป็นอาชีพอย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของวิตามินซีอย่างลึกซึ้ง หรือได้เรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับที่สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป มักเคยพบข้อมูลเกี่ยวกับความสงสัยในเรื่องนี้ว่า “วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ” เพราะเมื่ออ่านผลการศึกษาทางระบาดวิทยาแล้ว ส่วนใหญ่มักออกมาในแบบไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน อาจเนื่องจากมนุษย์กินอาหารที่เป็นของผสมซึ่งซับซ้อนจนยากในการแยกแยะว่า การที่ใครสักคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใดมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับสารอาหารชนิดใด เพราะส่วนใหญ่มักเป็นผลที่เกิดเนื่องจากรูปแบบการกินอาหารมากกว่า ดังนั้นความเชื่อเรื่องการเสริมวิตามินซีในระดับสูงกว่าที่มนุษย์กินเป็นปรกติจากอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดนั้น จึงดูว่า ยังสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้วิตามินซีนั้นเป็นสารชีวเคมีที่มนุษย์สร้างเองในร่างกายไม่ได้ ต้องแสวงหาโดยการกินผักใบเขียว มะเขือเทศ พริก ฯลฯ และกินผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก สตอร์เบอร์รี่ ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิตามินซีอันสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา วิตามินซีมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างโปรตีนชนิดที่เรียกว่า คอลลาเจน(โดยในกระบวนการสร้างนั้นมีเอ็นซัมหนึ่งในหลายชนิดที่มีวิตามินซีเป็นตัวช่วยสำคัญร่วมทำหน้าที่นี้) โปรตีนชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue) ในร่างกายเราซึ่งพบได้ที่ ผิวหนัง เหงือก กล้ามเนื้อ ข้อต่อของร่างกาย หลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายต้องซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด วิตามินซีต้องถูกเรียกใช้งานเป็นประจำ อีกทั้งความสามารถในการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นดัชนีชี้วัดความแก่ของเราที่มองเห็นด้วยสายตาของผู้อื่นประการสำคัญที่เกี่ยวกับการป้องกันหวัดคือ วิตามินซียังเป็นหนึ่งในสารอาหารอีกหลายชนิดที่เชื่อกันว่า จำเป็นต่อระบบภูมิต้านทาน ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า การกินวิตามินซีชนิดเดียวมากๆ เข้าไปนั้นอาจช่วยป้องกันหวัดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะระบบภูมิต้านทานที่ลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดของเรานั้นต้องอาศัยสารอาหารอื่นร่วมด้วยคือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบ วิตามินเอ แร่ธาตุเช่น สังกะสี และอื่นๆ มาร่วมทำงานกับวิตามินซี ข้อมูลจากบทความเรื่อง Can vitamin C prevent a cold ? ซึ่งปรากฏใน Harvard Health Letter ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017 นั้นเล่าถึงผลสรุปของการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมหลักฐานจากการศึกษา 29 ชิ้น มีอาสาสมัครร่วมงานวิจัยกว่า 11,000 คน แสดงให้เห็นว่า วิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวันที่ให้แก่นักวิ่งมาราธอน นักกีฬาแข่งสกี และทหารประจำการที่ฝึกหนักในบริเวณที่มีอากาศหนาวนั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่วิตามินซีขนาดเดียวกันไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดในกลุ่มคนธรรมดาซึ่งไม่ได้ออกแรงเท่าใดนักในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลที่ทำให้คนขายวิตามินซีใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่งว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับวิตามินซี(ทั้งจากอาหารหรือการเสริม) ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวันนั้นช่วยให้จำนวนวันของการเป็นหวัดในผู้ใหญ่ลดลงร้อยละ 8 และลดลงร้อยละ 14 ในเด็ก ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คำนวนต่อได้ว่า วิตามินซีน่าจะช่วยให้วันที่คนไม่สามารถทำงานเพราะเป็นไข้หวัดนั้นกลับคืนมามากว่า 23 ล้านวันทำงานต่อปีทีเดียว บทสรุปที่ได้จากบทความของ Harvard Health Letter ฉบับที่อ้างถึงข้างต้นนี้คือ ถ้าต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรได้รับวิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวัน(ไม่ว่าจากการเสริมหรือจากอาหาร) พร้อมกับมีการใช้แรงกายมากพอจึงได้ผลดี(ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการเสริมแคลเซียมที่ต้องออกกำลังกายด้วยหลังกินแคลเซียมเม็ดเพื่อให้ได้ผลในการลดความเสี่ยงของอาการกระดูกบาง) ที่สำคัญคือ ต้องกินวิตามินซีก่อนเป็นหวัด ไม่ใช่เป็นหวัดแล้วจึงกินซึ่งช่วยได้แค่ทางใจนอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดที่ผู้เขียนคิดว่า น่าจะใช่ กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องไปในสถานที่ที่มีคนน่าจะเป็นหวัดเยอะเช่น โรงพยาบาลของราชการ(โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มักไม่จอแจและมีระบบระบายอากาศดีเป็นไปตามค่าบริการที่ค่อนข้างสูง) โรงภาพยนตร์ รถประจำทางปรับอากาศรุ่นโกโรโกโส เป็นต้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคือ การได้รับวิตามินซีจากอาหารและจากการเสริมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีความแตกต่างกันในบริบทของการได้รับสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะวิตามินซีที่ขายเป็นเม็ดนั้นคือ กรดแอสคอบิค(ชื่อทางเคมีของวิตามินซี) มักถูกผสมกับแป้งพร้อมน้ำตาลทราย และอาจมีการเพิ่มสารสกัดจากธรรมชาติบางชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ นัยว่าฟลาโวนอยด์นั้นช่วยให้การดูดซึมวิตามินซีให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการใช้คำเฉพาะเพื่อส่งเสริมการขายเช่น Bio-vitamin C โดยหวังให้ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่า สินค้าที่ระบุแบบนี้เป็นวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมักมีราคาที่แพงขึ้นกว่าวิตามินซีเม็ดที่สังเคราะห์ในโรงงาน ดังนั้นถ้าจะให้การกินวิตามินซีได้ผลดีท่านผู้บริโภคควรกินในรูปผลไม้เพื่อให้ได้ฟลาโวนอยด์ไปพร้อมกันกับความอร่อยของผลไม้นั้นอีกประเด็นที่หลายท่านมักเข้าใจผิดว่า อาหารที่มีวิตามินซีสูงต้องมีรสเปรี้ยว ดังเช่นเมื่อกินผลไม้ตระกูลส้มซึ่งมักมีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ แล้วได้วิตามินซีในระดับน่าพอใจ เลยเข้าใจว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งก็น่าจะได้วิตามินซีในระดับสูงเช่นกัน เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกนักเพราะ รสชาติที่แท้จริงของวิตามินซีคือ ขม ดังนั้นผลไม้ที่ขม เช่น มะขามป้อม จึงมีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว อีกทั้งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมักระบุว่า สามารถพบวิตามินซีระดับสูงได้ในอาหารที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น พริกหวาน บรอคโคลี กะหล่ำดาว (Brussels sprout) ฯลฯ และการที่ผู้ค้าวิตามินซีเม็ด นำเอาน้ำตาลทรายและกรดมะนาวมาปิดบังความขมของวิตามินซีชนิดเม็ดนั้น เป็นการทำให้เด็กติดในรสชาติหวานอมเปรี้ยวซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า วิตามินซีเม็ดนั้นเป็นลูกอมที่มีประโยชน์ปราศจากโทษ น่าจะอมเล่นได้ทั้งวัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการได้รับวิตามินนี้เกินควร จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าอมวิตามินซีมากเกินจำเป็นแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ ข้อมูลชิ้นหนึ่งซึ่งสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า การกินวิตามินซีเสริมในระดับ 2000 มิลลิกรัมต่อวันนั้นมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า วิตามินซีปริมาณสูงมากๆ นั้นเป็นสาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการที่ไม่มีนอกมีในกับบริษัทผู้ค้าวิตามินชนิดนี้ส่วนใหญ่ มักแนะนำผู้บริโภคว่า การกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงดีกว่าการกินวิตามินซีเม็ด เพราะเมื่อกินจากอาหารจะได้ความอร่อยในภาพรวมมากกว่าการกินสิ่งที่เป็นเม็ด ซึ่งอาจมีแค่ความเปรี้ยวหวานหลอกเด็ก ประการที่สำคัญคือ การกินจากอาหารมักทำให้ได้วิตามินซีพร้อมสารอาหารอื่น ซึ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย อย่างไรก็ดีเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถกินผักผลไม้สดได้ วิตามินซีที่เป็นเม็ดก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2554 11 กรกฎาคม 2554 ซื้อเนื้อซื้อหมูแล้วมีปัญหาเชิญมาร้องเรียนผ่านออนไลน์ ต่อจากนี้ไปใครที่มีปัญหาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรืออยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สามารถร้องเรียนและข้อมูลจากผู้รู้ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์ของกรมปศุสัตว์ได้ที่ www.facebook.com/GreenstarAlert โดยกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้จัดทำ "โครงการดาวเขียว โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ระบบแจ้งเตือนภัยสินค้าปศุสัตว์ผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี ถูกสุขอนามัย และมีความปลอดภัย เช่น วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี อาทิ เนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายรวมทั้งแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ดูน่าสงสัยก็สามารถแจ้งข้อมูลต่างๆ ถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขในการดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ -----------    20 กรกฎาคม 2554 ใช้น้ำยาบ้วนปากระวังเจอแบคทีเรียใครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากอาจต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเกินกว่ากฎหมายกำหนดในบางรุ่นการผลิตของผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ และ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขนาด 350 มล. และ 500 มล. โดยปนเปื้อนใน 3 รุ่นการผลิต ได้แก่ รุ่น 1009852525 1010852521 และ 1066852522 แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมีชื่อว่า เบิร์คโฮลเดอเรีย แอนทีน่า (Burkholderia anthina) เป็นแบคทีเรียชนิดฉวยโอกาส พบได้ในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่ชนิด ก่อโรครุนแรง แต่อาจมีผลต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งทาง อย. ก็ได้กำชับให้บริษัท พี แอนด์ จี เรียกคืนสินค้าออกจากตลาดทั่วประเทศแล้ว     21 กรกฎาคม 2554อย.ปรับสถานะยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟรดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษอย. สั่งปรับสถานะของยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร ได้แก่ สูตรซูโดอีเฟรดรีน และไตรโพรลิดรีน ,สูตรซูโดอีเฟรดรีน และบรอมเฟนิรามีน และสูตรบรอมเฟนิรามีน และคลอเฟนิรามีน จากยาอันตรายให้เป็น“ยาควบคุมพิเศษ" เนื่องจากพบว่ามีการจับกุมการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายเกินกำหนด ซึ่งประชาชนทั่วไปห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อเดือน และร้านขายยาห้ามจำหน่ายเกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน โดยจะให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน --------------   มือถือเติมเงินยังแย่โดนใจ ยอดร้องเรียนอันดับ 1สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่อง วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ที่ผู้ใช้ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ต้องคอยเติมเงินทั้งที่ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ รวมทั้งการถูกยึดเงินทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามาคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 55  อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจของคนใช้มือถือก็คือ การคิดค่าบริการผิดพลาด โดยเฉพาะการคิดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือโรมมิ่ง คิดเป็นค่าเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท แม้จะมีเรื่องร้องเรียนไม่ถึง 30 เรื่อง แต่เพราะแต่ละรายที่มาร้องเรียนล้วนถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงมากตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากการรู้ไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” และการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ใช้จึงมักเผลอเปิดใช้ระบบเชื่อมต่อโดยไม่รู้ตัว  ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือร้อยละ 4-------------------  รังนกแท้...แค่ 1%มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติงผู้ผลิตรังนกสำเร็จรูป ใช้ข้อความโฆษณาสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค แม้จะผลิตจากรังนกแท้ 100% แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนประกอบในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด จะมีรังนกผสมอยู่แค่ 1% แถมตัวโฆษณายังสร้างความเชื่อว่ารับประทานรังนกแล้วสุขภาพแข็งแรง ทั้งที่คุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากถั่วลิสง แต่เมื่อเทียบเรื่องราคากลับต่างกันค่อนข้างมาก  นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป พบว่า รังนกสำเร็จรูปยี่ห้อดังอย่าง  สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลส่วนประกอบที่ไม่ครบ 100% มีเพียงยี่ห้อเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนกก่อนต้ม 1.2% เป็นส่วนประกอบ   ส่วนปัญหาการใช้คำโฆษณาว่าผลิตจากรังนกแท้ 100% ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตีความว่า รังนกแท้ 100% เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้มีการปรับปรุงข้อความบนฉลาก โดยจะให้ปรับปรุงข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งมีความหมายกำกวม เป็นคำว่า "รังนกแท้" เพียงอย่างเดียว หรือบอกว่ามีปริมาณรังนกแท้ 1% ของน้ำหนักหรือส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า รังนกปริมาณ 1% ในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 255219 สิงหาคม 2552อันตราย! อย่าซื้อยาต้านหวัด 2009 ผ่านเน็ตนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาขายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทางอินเทอร์เน็ต โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายยา เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงทั้งจากการได้รับยาปลอม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดื้อยา   ยาต้านไวรัสดังกล่าวจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีเงื่อนไขให้ใช้เฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล จะไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระจายยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) ไปยังโรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น 25 สิงหาคม 2552เชิญร่วมทดสอบความไวเน็ต เร็วจริงหรือแค่คำโฆษณาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จับมือกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดโครงการ "สปีดเทสต์" (Speed Test) เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องความเร็วในการใช้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากว่าความเร็วต่ำกว่าที่มีการโฆษณา โดยหวังใช้ผลทดสอบครั้งนี้เป็นแนวทางแก้ไขและเอาผิดผู้ให้บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า “โครงการนี้มีชื่อว่า "โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ตปี 2552" โดยที่มาของโครงการนี้เนื่องจากทาง สบท. ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนม.ค.- มิ.ย. 2552 จำนวน 622 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตถึง 90% ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณา จุดมุ่งหมายของการสำรวจข้อมูลนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งหากมีผู้ประกอบการรายได้มีข้อร้องเรียนเกินกว่า 50% ก็จะแจ้งให้ กทช.ดำเนินการต่อไป แต่เพื่อให้พัฒนาบริการไม่ใช่เพื่อปิดการให้บริการ” ผู้บริโภคสามารถเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตัวเองใช้ผ่านเว็บไซต์ได้ที่ www.speedtest.or.th ซึ่งระบบจะทดสอบความเร็วของผู้ให้บริการรายนั้นทันที และเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ จากนั้นจะนำผลที่ได้มาทำการประมวลและแจ้งผลให้ทราบในวันที่ 30 พ.ย. 2552 27 สิงหาคม 2552อย. ยันยังไม่พบสาหร่ายปลอมกรณีพบฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องสาหร่ายปลอม ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคว่า สาหร่ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะมีการปลอมปนพลาสติกนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ตรวจสอบการนำเข้าและการจำหน่าย พร้อมเก็บตัวอย่างสาหร่ายอบแห้งส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หา DNA ของสิ่งมีชีวิตและพิสูจน์ว่าเป็นพลาสติกหรือไม่ โดยตรวจสอบสาหร่ายอบแห้งที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 5 ยี่ห้อ ซึ่งจากการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะทางกายภาพ ปรากฏว่าสามารถเห็นเซลล์สาหร่ายได้อย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นสาหร่ายจริง อย. แนะผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดครบถ้วน ย้ำผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการตรวจสอบจากด่าน อย. ปลอดภัยแน่นอน สธ. รับกลับไปใช้ชื่อ “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” ตามเดิมหลังเจรจาเครือข่ายภาคประชาชนสธ. มอบคำมั่นกับภาคประชาชน ยืนยันใช้ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ตามเดิม พร้อมรับพิจารณาเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการต้องเท่าเทียม ส่วนเรื่องตั้งเป็นองค์กรอิสระให้ครม.ตัดสินใจ เร่ง รมว.สธ. ทำข้อสรุปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชมรมเพื่อนโรคไต ฯลฯ กว่า 100 คน ได้เดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปเรียกร้อง ติดตามและหาข้อสรุป เรื่องร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” โดยมีนายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งในการพิจารณาของกฤษฎีกามีการแก้ไขในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายโดยเป็นไปตามที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ทั้งในส่วนของชื่อร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเปลี่ยนเป็น ร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการช่วยเหลือในเรื่องการดูแลชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยลดการฟ้องร้องระว่างแพทย์และคนไข้ได้อีกด้วย เรื่องการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรเป็นอิสระและเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่พบว่ามีไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สภาวิชาชีพกับภาคประชาชน จึงต้องการให้มีการพิจารณาแก้ไข หลังจากการประชุมหารือ นายพิเชฐ ได้กล่าวสรุปเห็นด้วยว่าให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้ชื่อตามร่างเดิม ส่วนประเด็นการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งร่างเดิมไม่มีความชัดเจนว่าจะตั้งเป็นองค์กรในลักษณะใด ดังนั้นในการพิจารณาชั้นกฤษฎีกาจึงให้สำนักงานดังกล่าวขึ้นกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แต่เมื่อภาคประชาชนเห็นว่า สำนักงานน่าจะเป็นองค์กรอิสระหรืออยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นจะทำข้อสรุปให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมครม. ทบทวนว่าจะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีมติให้อยู่ภายใต้ สปสช.หรือ สบส.ถือเป็นการตัดสินใจของ ครม. ส่วนเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการตาม ที่ประชุมยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันแต่มีแนวโน้มที่จะใช้ข้อกำหนดตามร่างเดิม คือ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและตัวแทนสภาวิชาชีพฝ่ายละ 3 คน แต่เนื่องจากการประชุมหารือครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนภายในสภาวิชาชีพอยู่ด้วย จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ โดยทั้งนี้จะทำสรุปข้อเสนอต่างๆ ของที่ประชุมให้ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังกฤษฎีกาอีกครั้ง สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 52 ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “เวทีติดตามนโยบาย : สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะ” โดยมีผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะหลายท่านร่วมเป็นวิทยากร ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี จากสำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเสนอปัญหามาตรฐานตัวถังรถที่มักมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ผู้เสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น เก้าอี้หลุด หลังคายุบ ยางรถไม่มีดอกยาง ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ขณะที่คนขับรถโดยสารสาธารณะมักขาดคุณสมบัติและขาดการฝึกอบรมที่ดี ขณะที่สภาพถนนในหลายจุดของประเทศก็สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำเสนอประเด็นเรื่องนโยบายการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในการควบคุมการให้บริการ ควบคุมราคา ซึ่งเมื่อรัฐเข้ามาดูจัดการตรงนี้อย่างจริงจังก็น่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารให้เพิ่มขึ้นได้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พูดถึงปัญหาของผู้ประสบภัยซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุทั้งการเตะถ่วงดึงเวลาจากบริษัทรถและบริษัทประกัน การไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและการที่ผู้เสียหายไม่ทราบสิทธิของตัวเอง โดยปกติผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แต่ก็จะมีการจำกัดวงเงินการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยหนักหรือทุพพลภาพที่ต้องรักษาต่อเนื่องมักถูกผลักภาระให้ไปอยู่ในระบบสุขภาพอื่นๆ หรือกรณีที่มีคู่กรณีชัดเจนก็ต้องรอการพิสูจน์ความผิดเสียก่อน ทำให้กระบวนการชดเชยค่าเสียหายล่าช้า หากเสียชีวิตก็ได้รับเงินเพียง 1 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราต่ำมากในปัจจุบัน ทางออกที่เห็นว่าเหมาะสม คือการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. … ขึ้นมาทดแทน พ.ร.บ. ฉบับเดิม ซึ่งจะช่วยเรื่องการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามจริง ด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วและเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ลดภาระประชาชน และลดภาระความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิของผู้ประสบภัย "ปฏิญญาเชียงราย" มาตรการคุ้มครองสิทธิด้านโทรคมนาคมสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council) สหพันธ์ผู้บริโภคสากล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดการประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเวทีการประชุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของกลุ่มอาเซียนที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจาก 8 ประเทศ ร่วมรายงานสถานการณ์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจโทรคมนาคม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย โดยสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของโทรคมนาคมที่กระทบต่อผู้บริโภคคือ ปัญหาการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เที่ยงตรง การโทร.และส่งข้อความรบกวน การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การไม่รู้เท่าทันกฎหมาย ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการ และผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการใช้โทรคมนาคม เป็นต้น ผลจากการประชุมทำให้ได้ร่างปฏิญญาเชียงรายที่มีเนื้อสำคัญดังนี้ (1) ทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่องร่วมกับภาคีในกิจการโทรคมนาคม (2) กำหนดมาตรฐานพื้นฐานว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (3) ตระหนักว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐาน (4) ตระหนักว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้แนวทาง "คนเป็นศูนย์กลาง"(5) จัดตั้งหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคโดยใช้กลไกที่จัดตั้งขึ้นแล้วเป็นหลัก (6) จัดประชุมทุกปี โดยจัดทำประเด็นรณรงค์ร่วมกันทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการใช้บริการโทรคมนาคมต่อสุขภาพ หรือการบริโภคอย่างยั่งยืน (7) ดำเนินการวิจัย/สำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม โดยมีหัวข้อหลักคือการเข้าถึงเท่าเทียม ระบบการจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-paid) ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่เที่ยงตรง และความปลอดภัย (8) สร้างเว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (9) เรียกร้องให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรปกป้องผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (10) ผลักดันให้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมใช้หลักบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 รู้เท่าทันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสอบถามกันจากเพื่อนๆ ทางไลน์และเฟสจำนวนมากว่า มีการชักชวนทางเว็บไซต์ให้ผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เข็มละ 2,000 บาท ฉีดครั้งเดียวสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดชีวิต และมีการกล่าวอ้างให้ไปฉีดที่สภากาชาดไทย (ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีบริการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ จำนวนมาก)”  สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดชีวิตจริงหรือไม่  ถ้าจริงก็ยินดีที่จะเสียเงินเพราะคุ้มเนื่องจากไม่ต้องฉีดทุกปีเหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดให้ฟรีตามโรงพยาบาลต่างๆ       การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้จริงหรือไม่  ฉีดครั้งเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิตจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันดีกว่า     จาการสืบค้นการทบทวนงานวิจัยใน PubMed และ Cochrane Library พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเป็นระบบ ดังนี้     ใน PubMed มีการตีพิมพ์บทความการทบทวนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาณ(meta-analysis) โดยคัดกรองบทความ 5,707 บทความ พบบทความที่เกี่ยวข้อง 31 บทความ  พบว่า  ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (trivalent inactivated vaccine) แสดงผลใน 8 (67%) จาก 12 ฤดู (ผลรวมของประสิทธิผล 59% ในผู้ใหญ่อายุ 18-65 ปี และผลการป้องกันดังกล่าวจะลดลงอย่างมากหรือไม่มีผลเลยในบางฤดู  และยังไม่มีหลักฐานที่ดีพอในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป  ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (live attenuated influenza vaccine) แสดงผลใน 9 (75%) จาก 12 ฤดู  (ผลรวมของประสิทธิผล 83% ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 7 ขวบ  ในเด็กที่อายุมากกว่านี้จะได้ผลน้อยลง  จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนแบบใหม่ที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่รับรองแล้วในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากไช้หวัดใหญ่     ใน Cochrane Library ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในงานวิจัยต่างๆ จำนวนมาก ทั้งในห้องสมุดคอเครน, MEDLINE (1966-2009) EMBASE (1974-2009)  และ Web of Science (1974-2009)  พบว่า  จากหลักฐานงานวิจัยต่างๆ ที่คัดกรองเข้ามาศึกษา 75 บทความ  บทความเหล่านี้มีคุณภาพการศึกษาที่ไม่ดีพอและไม่ยืนยันเกี่ยวกับความปลอดภัย ประสิทธิผล หรือประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนแบบเชื้อตายที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่  ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป   จึงควรที่จะมีการศึกษาแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม โดยทำการศึกษาในระยะเวลาหลายฤดู เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้     สรุปว่า ในขณะนี้ยังไม่หลักฐานทางการแพทย์หรือการวิจัยที่ดีพอ ที่จะยืนยัน นั่งยันได้ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้อย่างจริงจัง ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  และในบางฤดูกาลกลับได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย  ยกเว้นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะได้ผลในเด็กเล็กก่อน 7 ขวบเท่านั้น  จึงควรที่ผู้สูงอายุจะกลับมาที่การดูแลสุขภาพตนเอง  ออกกำลังกายให้แข็งแรง  ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากผู้อื่น จะเป็นสิ่งที่ได้ผลมากกว่าการฉีดวัคซีน    คงต้องเพิ่มอีกข้อในกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อเพราะไลน์หรือเฟสส่งต่อกันมา (มา อนุสฺสเวน)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 รู้เท่าทันวิตามินซีกับไข้หวัดธรรมดา

ฤดูหนาวเริ่มมาถึงแล้ว เด็กๆ ผู้สูงอายุ แม้กระทั่งคนหนุ่มสาวมีโอกาสที่จะเป็นไข้หวัดธรรมดาได้ง่าย  มีคนถามกันมากว่า การกินวิตามินซีขนาดสูงจะช่วยป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดาได้หรือไม่  จึงลองสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ของ Cochrane (ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของบุคลากรด้านสุขภาพ นักวิจัย ผู้ป่วยและอื่นๆ ที่ร่วมกันทำหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ    Cochrane เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ มีเครือข่ายกว่า 120 ประเทศที่ทำงานร่วมกันเพื่อผลิตสารสนเทศทางด้านสุขภาพที่เชื่อมั่นได้และเข้าถึง โดยปราศจากการสนับสนุนจากธุรกิจและองค์กรอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน)  ในการทบทวนของ Cochrane เกี่ยวกับวิตามินซีในการป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดา มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอดังต่อไปนี้ ไข้หวัดธรรมดาเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยที่ทำให้เด็กต้องขาดเรียน ผู้ใหญ่ต้องขาดงาน ที่สำคัญคือผู้สูงอายุนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  มีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดา มีอาการต่างๆ ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ และอาจมีอาการปวดศีรษะ ไข้ ตาแดง  อาการของไข้หวัดนั้นแตกต่างกันตามแต่ละคน และแต่ละชนิดของไข้หวัด  เนื่องจากไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงมีการหาวิธีการรักษาทางเลือกอื่นๆ อย่างมากมาย มีการนำวิตามินซีมาใช้ในการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ ตั้งแต่มีการแยกสารวิตามินซีออกมาได้ในทศวรรษค.ศ. 1930  ต่อมาในทศวรรษค.ศ. 1970 เกิดความนิยมในการใช้วิตามินซีในการรักษาไข้หวัดธรรมดาอย่างมากมายเมื่อ ลีนัส พอลลิ่ง ซึ่งได้รับรางวัลโนเบิล สรุปผลจากการทดลองใช้วิตามินซีแบบมีกลุ่มควบคุมว่า วิตามินซีสามารถป้องกันและบรรเทาไข้หวัดธรรมดาได้  หลังจากนั้นมีการทำการศึกษาทดลองตามมากว่า 20 การศึกษา  วิตามินซีจึงถูกขายและใช้เป็นสารป้องกันและรักษาไข้หวัดอย่างแพร่หลาย   การทบทวนนี้จำกัดเฉพาะการศึกษาทดลองใช้วิตามินซีขนาด 0.2 กรัมต่อวัน หรือมากกว่าการกินวิตามินซีสม่ำเสมอไม่มีผลกระทบต่ออุบัติการณ์ของไข้หวัดธรรมดาในประชากรทั่วไป โดยทบทวนจากการศึกษาเปรียบเทียบจำนวน 29 รายงาน ครอบคลุมประชากร 11,306 ราย  อย่างไรก็ตาม การกินเสริมเป็นประจำมีผลพอควรแต่ชัดเจนในการลดระยะเวลาการเป็นไข้หวัดธรรมดา จากฐานการศึกษาเปรียบเทียบ 31 รายงานและมีการเกิดไข้หวัดธรรมดา 9,745 ครั้ง   การทดลอง 5 รายงาน ในประชากร 598 รายที่ออกกำลังกายระยะสั้นอย่างหนัก (ได้แก่ นักวิ่งมาราธอน นักเล่นสกี)  พบว่า วิตามินซีลดความเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่ลงครึ่งหนึ่ง  แต่ไม่มีการรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวิตามินซี   การทดลองให้วิตามินซีในขนาดสูงเพื่อเป็นการรักษา โดยเริ่มให้เมื่อเกิดอาการ พบว่า ไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาในการเป็น หรือความรุนแรงของไข้หวัดธรรมดา  อย่างไรก็ตาม มีการทำการทดลองเพียงสองสามรายงานเท่านั้น และไม่มีการศึกษาในเด็ก แม้ว่าผลกระทบในการป้องกันไข้หวัดธรรมดาในเด็กจะมีมากกว่าวัยอื่น  มีการทดลองขนาดใหญ่หนึ่งการทดลองในผู้ใหญ่ รายงานผลดีในการให้วิตามินซี 8 กรัมซึ่งเป็นขนาดในการรักษาเมื่อเริ่มเกิดอาการ  และมีการทดลอง 2 รายงานที่ให้กินวิตามินซีเสริมเพื่อการรักษาเป็นเวลา 5 วัน และพบว่าเกิดประโยฃน์  มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดลองเพิ่มขึ้นเพื่อตัดสินบทบาทในการรักษาไข้หวัดธรรมดาที่เป็นไปได้ของวิตามินซี ซึ่งจะต้องให้ทันทีเมื่อเกิดอาการ ดูเพิ่มเติมใน: http://summaries.cochrane.org/CD000980/ARI_vitamin-c-for-preventing-and-treating-the-common-cold#sthash.NdamaOV4.dpuf  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ทำไมถึงทำกับอาตมาได้

ในชนบทชาวบ้านยังคงให้ความเคารพและศรัทธาในวัดเสมอ ดังนั้นหากไม่มีระบบตรวจสอบเฝ้าระวังที่ดี วัดอาจจะกลายเป็นแหล่งที่ผู้ไม่หวังดีอาศัยเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคก็ได้ เมื่อไม่นานมานี้ มีบริษัทหนึ่งมาเร่ขายเครื่องแช่เท้าในเขตอำเภอเสนาและพื้นที่ใกล้เคียง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาบริษัทนี้คงจะชะล่าใจที่หลอกคนได้เรื่อยๆ จึงนำเครื่องแช่เท้าไปเปิดให้บริการที่วัดโรงหลวงจนเป็นข่าวโด่งดังขนาดออกโทรทัศน์ช่อง 3 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ พบว่า เครื่องมือนี้ประกอบไปด้วยอ่างสี่เหลี่ยมสำหรับใส่น้ำแช่เท้าและต่อสายไปยังเครื่องที่มีสายไฟฟ้าต่ออีกทอดหนึ่ง เมื่อเอาเท้าแช่ลงไปและเปิดให้เครื่องทำงาน น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ เช่น เหลือง น้ำตาลแดง ดำ เขียว ตามแต่โรคที่ผู้ให้บริการอ้างว่าผู้บริโภคเป็น เหตุที่วัดนี้โด่งดังขึ้นมา เพราะพระที่วัดเคยไปใช้บริการแช่เท้ามาก่อนและคงประทับทั้งใจและทั้งเท้า ต่อมาเมื่อมีคนเอามาถวายที่วัด 2 เครื่อง จึงมีการเปิดบริการแก่ชาวบ้าน จนชาวบ้านหลั่งไหลมามากมาย จะด้วยเห็นว่าบริการนี้เริ่มติดตลาดหรือด้วยจิตอันเป็นกุศล แต่ที่แน่ๆ พระท่านได้สั่งซื้อเครื่องเพิ่มอีกเป็น 5 เครื่อง เพื่อพร้อมรับมือ ไม่ใช่ซิ! รับเท้า ให้บริการ จนดังระเบิดเถิดเทิง ผู้คนหลั่งไหลมากันใหญ่ ภก.สันติ พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้ไปตรวจสอบและอธิบายให้ทั้งพระทั้งโยมทราบว่า การที่น้ำเปลี่ยนสีนั้นเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี โดยไฟฟ้าจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอนุมูลของไอออน (ion) ในน้ำทำให้เกิดสารประกอบทางเคมีที่เราเรียกกันว่า สารประกอบเชิงซ้อน และการที่มีสีต่างๆ นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันไปจับตัวกับสารอะไร เช่น เหล็ก สนิมเหล็ก แมงกานิส จึงทำให้มันมีสีแตกต่างกันไป (ไม่ได้เกิดจากการขับพิษออกจากร่างกายแต่อย่างใดนะครับพระคุณท่าน) งานนี้เรียกว่ากว่าจะรู้ตัวก็ถูกหลอกกันถ้วนหน้าแบบไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งญาติโยมและหลวงพ่อเลยนะครับ เหตุการณ์ทำนองนี้ในอดีตเคยเกิดที่จังหวัดปทุมธานี ครั้งนั้นมีคนไปถวายเครื่องเขย่าขาแก่พระ และต่อมาพระท่านก็เปิดธรรมเทศนาให้ญาติโยมซื้อเครื่องเขย่าขาให้บิดา มารดา เพื่อเป็นบุญกุศล (และคงเป็นกำไรของผู้ขายด้วย) กันเอิกเกริก สมาชิกท่านใดไปวัดบ่อยๆ แล้วเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรแปลกๆ อย่าหลงเชื่อง่ายๆ นะครับ รีบแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบโดยด่วนนะครับ อย่างนี้ซิได้บุญของจริง...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 Fitness Band อุปกรณ์วัดความฟิต

เป็นเรื่องน่ายินดีเสมอถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายสร้างความฟิตให้กับตัวเอง และวันนี้เรามีผู้ช่วยที่ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยอุปกรณ์ที่บอกได้ว่าวันนี้เราเดินหรือวิ่งเป็นระยะทางเท่าไร ใช้พลังงานไปแค่ไหน พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เพียงแค่เราป้อนข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเช่น อายุ เพศ ส่วนสูง หรือน้ำหนัก ลงไป ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบฟิตเนสแบนด์ ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้ทั้งหมด 15 รุ่น สนนราคาประมาณ 2,800 ถึง 6,600 บาท  อุปกรณ์นี้ทำงานด้วยโปรแกรมที่ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ iOS 6 หรือสูงกว่า / แอนดรอยด์ 4.3 หรือสูงกว่า (ยกเว้น Withings Pulse O2 ที่ใช้กับแอนดรอยด์ 2.3.3) และสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ได้ ข้อสำคัญคือผู้ใช้ต้องไม่ลืมถ่ายข้อมูลเข้าโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์บ่อยๆ เพราะอุปกรณ์นี้มีข้อจำกัดเรื่องหน่วยความจำ รุ่นที่เก็บข้อมูลได้นานที่สุดในการทดสอบนี้ก็เก็บได้ไม่เกิน 30 วัน ส่วนด้านพลังงานนั้นอุปกรณ์ส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่ชนิดที่สามารถชาร์จใหม่ได้ ขณะที่บางรุ่นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี ในภาพรวมแล้วอุปกรณ์นี้ ทั้งแบบที่มีและไม่มีหน้าจอแสดงผล สามารถตอบโจทย์ของคนรักสุขภาพได้ดีพอใช้ ทุกรุ่นกันน้ำได้เพราะต้องสัมผัสกับเหงื่อ และบางรุ่นก็สามารถใส่เล่นกีฬาทางน้ำได้ด้วย เราพบว่าฟิตเนสแบนด์ที่เราทดสอบมีความแม่นยำในการนับก้าว การคำนวณระยะทางและแคลอรีที่ใช้ไปได้ในระดับพอใช้ถึงดีมาก นอกจากนี้โดยเฉลี่ยแล้วคะแนนด้านความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอกและความทนทาน ก็อยู่ในระดับดีเช่นกัน ... ติดตามผลคะแนนของแต่ละรุ่นได้ในหน้าถัดไป   ก่อนซื้ออย่าลืมตรวจสอบราคาอีกครั้ง และเพื่อความแน่ใจกรุณาสอบถามผู้ขายว่าระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์นี้กับระบบในโทรศัพท์มือถือของคุณสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 97 มาวัดความยาวกระดาษทิชชูกัน

ทดสอบภาส พัฒนกำจรผลทดสอบนี้ทำขึ้นโดยทีมผลิตรายการกระต่ายตื่นตัว และออกอากาศไปเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้นก็เถอะบางท่านก็อาจพลาดชมรายการ และหลายท่านคงอยากรู้ว่า กระดาษทิชชู ที่เราท่านใช้กันอยู่นี้ ซื่อตรงหรือคดโกงมากน้อยแค่ไหน ทีมงานกระต่ายฯ จึงนำมาเรียบเรียงใหม่ในฉลาดซื้อฉบับนี้ กระดาษทิชชูหรือกระดาษชำระ เป็นตัวช่วยสำคัญในการขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ เป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดที่นิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งในเมืองไทยของเราไม่ค่อยมีใครบันทึกเรื่องราวการใช้กระดาษทิชชูเอาไว้มากนัก ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นแดนอาทิตย์อุทัย ที่เรื่องของกระดาษทิชชูไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่มองข้ามไปได้เพราะมีการประมาณการว่า ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งใช้กระดาษชำระปีละ 55 ม้วน ต่อคนเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนสุขาสาธารณะที่เพิ่มขึ้นยังทำให้การใช้กระดาษชำระเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วย ฟังดูแล้วน่าตกใจอยู่นะครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มีนักสถิติสำนักไหนบันทึกถึงปริมาณการใช้กระดาษทิชชูในเมืองไทยว่ามีมากหรือน้อยกว่าที่ญี่ปุ่น แต่ทางออกในระยะยาวของเราๆ ชาวฉลาดซื้อก็คือ การใช้ผ้าที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช็ดแทนทิชชูให้มากขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เอ้า !!! ช่วย ๆ กัน เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลกกันนะครับ เราทดสอบยี่ห้ออะไรบ้างคราวนี้มาดูกันครับว่าผลการทดสอบความยาวของเจ้ากระดาษทิชชูเจ้าไหนจะให้ความคุ้มค่ากับคนซื้ออย่างเรามากที่สุด โดยทางทีมงานได้เลือกกระดาษทิชชูมาทดสอบทั้งหมด 7 ยี่ห้อ 8 แบบ ได้ผลทดสอบ ดังนี้ จากการวัดทั้งหมดยี่ห้อละ 3 ม้วน เพื่อหาค่าเฉลี่ย ยี่ห้อที่ยาวน้อยกว่าที่ฉลากบอก ได้แก่ Silk cotton วัดได้ยาว 16.33 เมตร ต่ำกว่า 0.67 เมตร Cellox Fancy วัดได้ยาว 22.46 เมตร ต่ำกว่า 0.54 เมตร Dion วัดได้ยาว 22.64 เมตร ต่ำกว่า 0.36 เมตร Scott select วัดได้ยาว 17.26 เมตร ต่ำกว่า 0.34 เมตร ส่วนยี่ห้อที่วัดแล้วเกินมาจากที่ระบุ ได้แก่ Home Fresh Mart Economy วัดได้ 18..30 เมตร เกินมา 1.3 เมตร Ha-ne วัดได้17.73 เมตร เกินมา 0.73 เมตร Home Fresh Mart พรีเมี่ยม วัดได้ 17.56 เมตร เกินมา 0.56 เมตร Pinn Plus วัดได้ 17.26 เมตร เกินมา 0.26 เมตร สรุป โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละยี่ห้อนั้นความยาวจะไม่เกินหรือต่ำกว่าบนฉลาก (+ - ) 0.59 เมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางผู้ผลิตเขาก็ซื่อสัตย์กับผู้บริโภคในเรื่องความยาวพอสมควร ยี่ห้อ จำนวนม้วน/แพ็ค ราคา(บาท) เฉลี่ยราคาต่อ 1 ม้วน (บาท) ความยาวที่ระบุบนฉลาก (เมตร) ความยาวที่วัดได้จริง (เมตร) น้อย/เกิน (เมตร) การกระจายตัวในน้ำ ความยาวเกินฉลากระบุ Home Fresh Mart Economy 6 ม้วน 29 4.83 17 18..30 เกินมา 1.3 สูง Pinn Plus 8 ม้วน 29.50 4.91 17 17.26 เกินมา 0.26 ต่ำ Ha-ne 6 ม้วน 32 5.33 17 17.73 เกินมา 0.73 สูง Scott select คุ้มค่า 6 ม้วน 35.25 5.875 17 17.56 เกินมา 0.56 ต่ำ ความยาวน้อยกว่าฉลากระบุ Home Fresh Mart premium 6 ม้วน 40 6.66 17.6 17.26 น้อยกว่า 0.34 ต่ำ Cellox Fancy 6 ม้วน 57 9.5 23 22.46 น้อยกว่า 0.54 ปานกลาง Silk cotton 6 ม้วน 35.25 5.89 17 16.33 น้อยกว่า 0.67 ปานกลาง Dion 6 ม้วน 52 8.66 23 22.64 น้อยกว่า 0.36 ต่ำ ข้อสังเกต ถึงดูว่าเขาซื่อสัตย์ แต่ความจริงถ้าว่ากันตาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก. ที่กำหนดเอาไว้ว่า สินค้าประเภทกระดาษชำระนั้นต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 31 เมตร ต่อม้วนนั้น พบว่า ไม่มีผู้ผลิตกระดาษทิชชูเจ้าไหนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระดาษชำระ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เห็นสัญลักษณ์ มอก. แปะอยู่ที่สินค้ายี่ห้อใดเลย มาตรฐานกระดาษชำระ ได้รับเลขที่ มอก. 214-2530 เป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) จัดอยู่ให้อยู่ในประเภท มาตรฐานทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการกำหนดให้มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปไม่มีการบังคับคือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ การกระจายตัวในน้ำ นอกจากทดสอบเรื่องความยาวแล้ว เราได้ทดสอบเรื่องการกระจายตัวในน้ำของกระดาษทิชชูด้วยโดยเราจะแช่กระดาษไว้ในน้ำ แล้วทิ้งไว้ 30 วินาที แล้วลองดึงขึ้นมาด้วยความแรงพอประมาณนะครับ หลังจากนั้นเราก็จะจุ่มลงแช่อีก 30 วินาทีแล้วดึงขึ้นมาดูผลอีกรอบ (การทดสอบวิธีนี้นำมาจากวารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 19 มิถุนายน-กรกฎาคม 2540) ผลทดสอบ พบได้ว่ามีอยู่เพียงสองยี่ห้อเท่านั้นที่มีการกระจายตัวในน้ำสูง ชนิดที่เพียง 30 วินาทีแรกก็เริ่มแตกรุ่ยเมื่อหยิบขึ้นมา คือ Home Fresh Mart Economy และ ฮาเนะ ส่วนสองยี่ห้อที่เราจัดว่าปานกลางเพราะจะเริ่มขาดรุ่ยเมื่อยกขึ้นมาใน 30 วินาทีที่สอง คือ Cellox Fancy และ Silk Cotton ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เราจะจัดว่าการกระจายตัวในน้ำต่ำ เพราะเอาขึ้นมาสองครั้งก็ยังคงรูปกระดาษเป็นแผ่นอยู่คือ Scott พินน์พลัส ดิออน และ Home Fresh Mart Premium ที่บอกได้ว่าเนื้อกระดาษนั้นแตกต่างกับแบบ Economy จริงๆ ทางเราพอตั้งข้อสังเกตได้ว่า เนื่องจากกระดาษชำระในตลาดนั้นจะใช้ชนิดสองชั้นแทบทุกยี่ห้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดซึมเวลาที่ต้องใช้เช็ดหรือทำความสะอาดอะไร แต่มีข้อเสียเพราะเมื่อโดนน้ำจะห่อรวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ง่ายๆ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำว่า ไม่ควรที่จะทิ้งกระดาษชำระลงในชักโครกหรือลงท่อน้ำใดๆ ถ้าไม่อยากเจอปัญหาท่ออุดตันอย่าลืมนะครับ ใช้กระดาษทิชชูเฉพาะที่จำเป็น เลือกการใช้ผ้าที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกทดแทนบ้างเพื่อลดปัญหาเรื่องขยะล้นโลกครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 92 เครื่องวัดความดัน(โลหิต) อันไหนเจ๋งกว่ากัน

ฉลาดซื้อฉบับนี้อินเทรนด์กับการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน หลายคนอาจจะคิดอยากหาเครื่องมือวัดความดันโลหิตมาไว้ใช้เองที่บ้าน และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีจำหน่ายอย่างแพร่หลายทั้งตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์บริเวณใกล้ๆ โรงพยาบาล หรือแม้แต่ร้านค้าบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ท  เช่นเคยสิ่งที่เรานำมาฝากกันคือผลการทดสอบเครื่องวัดความดันทั้งแบบข้อมือและต้นแขน ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้ทั้งหมด 22 รุ่น หลายๆ รุ่นยังไม่พบเห็นในตลาดบ้านเรา แต่ถ้าดูจากยี่ห้อก็พอจะเคยได้เห็นหรือได้ยินมาบ้าง สนนราคาโดยประมาณก็มีตั้งแต่ 600 ถึง 6,000 บาทฉลาดซื้อสงสัยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบวัดตรงข้อมือ และแบบวัดที่ต้นแขน นี้มีความแตกต่างในประสิทธิภาพการใช้งานหรือไม่ อย่างไร และอุปกรณ์ชนิดนี้เป็นของจำเป็นที่เราต้องมีไว้ที่บ้านหรือไม่ มีคำตอบดังนี้ในปัจจุบัน ค่าการตรวจวัดความดันโลหิตบ้านเราใช้หลักของอเมริกา คือถ้าความดันน้อยกว่า 120/80 ถือว่าปกติ ควรวัดซ้ำทุก 2 ปีถ้าความดัน 120-139/80-89 ถือว่าไม่เป็นโรค แต่เกือบๆ จึงควรวัดซ้ำทุก 1 ปีถ้าความดันมากกว่า 140/90 ถือว่าเป็นโรค ควรปรึกษาแพทย์และต้องวัดซ้ำภายใน 2 เดือนดังนั้นถ้าเราไม่เป็นโรค ก็ไม่จำเป็นต้องวัดบ่อยๆ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่อง แต่หากเป็นโรคแล้ว ข้อดีของการมีเครื่องวัดคือ ทำให้เราใส่ใจความดันตัวเอง และกินยาสม่ำเสมอ นอกจากนี้ บางคนเวลาไปวัดความดันที่สถานพยาบาลความดันจะสูงเกินจริง (whitecoat hypertension) ทำให้หลงรักษาผิดทาง แต่พอวัดที่บ้านกลับไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อยถ้าจะถามว่าแบบไหนดี จริงๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะข้อเท็จจริงความดันโลหิตเราวัดทางอ้อม (ถ้าวัดทางตรงต้องแทงแท่งวัดเข้าไปในเส้นเลือด) และเดิมใช้เครื่องวัดปรอทเป็นหลัก วัดตรงตำแหน่งต้นแขนเหนือข้อพับ เพราะในท่ายืนหรือนั่งจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับหัวใจ ดังนั้นข้อมูลการวิจัยเกือบทั้งหมดใช้การวัดเหนือข้อพับ และที่สถานพยาบาลก็ใช้วิธีเดียวกัน หากเราใช้ต่างวิธี อาจได้ค่าที่ไม่เหมือนกัน หรือไม่ควรนำค่ามาเปรียบเทียบกัน เพราะแม้แต่วัดที่เดียวกันหลายๆ ครั้ง แต่ละครั้งก็ไม่เท่ากัน ยิ่งคนละที่ ยิ่งไปกันใหญ่ วัดข้างขวามักจะสูงกว่าวัดข้างซ้าย เหล่านี้เป็นต้นดังนั้น โดยมาตรฐานแล้ววัดที่เหนือข้อพับเป็นหลัก แต่เครื่องวัดที่ข้อมือก็พยายามเทียบให้ได้ค่าใกล้เคียง แต่ก็ยังไม่นับเป็นมาตรฐาน และที่สำคัญถึงวัดที่ข้อมือ เวลาวัดก็ควรวางข้อมือให้อยู่ในระดับใกล้เคียงหัวใจด้วยเช่นกันไม่ได้สรุปว่าวัดที่ต้นแขนดีกว่า แต่เป็นมาตรฐานกว่าเท่านั้น เพราะในการปรับขนาดยา ในการทำนายโรค ในการวิจัย เขาวัดที่ต้นแขน ค่าความดันที่ต้นแขนจึงเป็นค่ามาตรฐานทั่วโลก ค่าที่ข้อมือพยายามทำให้ใกล้เคียงค่าที่ต้นแขน แต่จะใกล้เคียงแค่ไหนอยู่ที่คุณภาพของเครื่อง และค่าที่ต้นแขนเอง แต่ละยี่ห้อ ก็ต่างกัน เพราะอะไรหรือ เพราะจริงๆ แต่เดิมการวัดความดันต้องใช้หูฟังเสียงชีพจร แต่เครื่องสมัยใหม่ใช้การจับการสั่นสะเทือนของหลอดเลือดแทนเสียงชีพจร ดังนั้นโดยส่วนใหญ่ก็ไม่เท่ากับใช้หูฟัง เครื่องดีก็ใกล้เคียง เครื่องห่วยก็เข้ารกเข้าพงเหมือนกัน เทคนิคการวัดก็เกี่ยว เพราะใช้การจับการสั่นสะเทือน หากวัดในที่เสียงดังก็คลาดเคลื่อน หากขยับแขนก็คลาดเคลื่อน ดังนั้นมาตรฐานที่สุดใช้หูฟังครับ ใช้เครื่องอัตโนมัติก็ไม่มาตรฐาน แต่สะดวกกว่า เหมาะกับการวัดเองที่บ้าน เลยกลายเป็นกระแส ซึ่งก็ไม่เลว แต่ต้องดูฐานะและความจำเป็นด้วยผลการทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 55 สังฆทานถังเหลือง

 เวลา 24 ชั่วโมงของคนในยุคนี้ กับเวลา 24 ชั่วโมงของคนสมัยอยุธยาดูมันจะหดแคบกว่ากันเยอะ เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ต้องด่วนไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการทำบุญ เรา มักจะอ้างว่าไม่ค่อยมีเวลาไปเข้าวัดฟังธรรม การทำสังฆทานเลยกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง และกลายเป็นวิธีการทำบุญแบบเร่งด่วนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้ตามหน้าวัดหรือในวัดต่าง ๆ เราจะเห็นการจัดสังฆทานสำเร็จรูปในถังพลาสติกสีเหลืองไว้คอยบริการญาติโยม แต่เราเคยสำรวจกันไหมว่าในสังฆทานถังเหลืองเหล่านั้นจะมีของสักกี่ชิ้นที่จะ ก่อให้เกิดบุญก่อให้เกิดผลทั้งต่อผู้ให้และผู้รับที่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า จริง ๆ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ได้ไปเก็บรวบรวมสังฆทานถังเหลืองตามที่ต่าง ๆ เพื่อจะดูว่า มีของอะไรบ้างที่ถูกใส่เข้าไป และในของเหล่านั้นมีของอะไรบ้างที่เราใส่เข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดบุญเกิดผล และของอะไรบ้างที่เราควรจะลดละเลิกไม่ควรใส่เข้าไปในสังฆทานเพราะจะเกิดโทษ ภัยกับพระสงฆ์หรือกับคนอื่น ๆ ที่พระท่านมอบต่อให้ไป   สิ่งของที่สำรวจพบในสังฆทานสำเร็จรูป(แสดงรูปประกอบเป็นกลุ่ม ๆ ) ก.      ภาชนะที่ใช้บรรจุสังฆทาน  ถังพลาสติกสีเหลือง กล่องพลาสติกใสแบบมีฝาปิด กระติกน้ำแข็ง ขันเงินใบใหญ่ ถังน้ำพลาสติกขนาดใหญ่ ข. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มอาหาร น้ำปลาขวดเล็ก น้ำผลไม้บรรจุขวด ใบชา เครื่องดื่มขิง บะหมี่สำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง น้ำพริกเผาบรรจุขวด ขนมคุ๊กกี้บรรจุกล่อง เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม นมสดกระป๋อง ปลากระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด ข้าวสารแบ่งบรรจุ ค. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มสิ่งของเครื่องใช้ ผ้าขนหนูผืนเล็ก ผ้าอาบน้ำฝน อังสะ ผงซักฟอก สบู่ กล่องสบู่ ไฟฉายและถ่านไฟฉาย ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ แก้วน้ำพลาสติก แปรงสีฟัน ทิชชู่ น้ำยาล้างจาน ร่ม รองเท้าฟองน้ำ ไม้จิ้มฟัน ยาสีฟัน ขันน้ำพลาสติก ด้าย และเข็มเย็บผ้า ง. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มยา ยาหอม ยาสามัญประจำบ้าน ทำไมเราควรจัดถังสังฆทานเองเหตุผลสำคัญที่เราควรจะจัดหาสิ่งของมาจัดเป็นสังฆทานด้วยตนเอง คือ1.    สิ่งของที่อยู่ในสังฆทานสำเร็จรูปที่จำหน่ายโดยทั่วไปเกินกว่าครึ่ง เป็นของที่พระนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย2.    การจัดสังฆทานเองนอกจากจะได้ของที่เกิดประโยชน์แน่นอนแล้ว เรายังสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย3.    สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งของที่คนชอบถวายจนพระใช้ประโยชน์ไม่ทันจนเหลือล้นวัดได้ การจัดสังฆทานที่ไม่ได้บุญ สังฆทานที่แท้คืออะไร คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการทำสังฆทานจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งผลบุญไปถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วใน002อีก ภพอีกชาติหนึ่งได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของการทำสังฆทานก็คือ การถวายสิ่งของแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด เมื่อเราถวายให้แล้วก็ถือว่า พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ์ใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นตามสะดวก ซึ่งอาจจะมีเพียงตัวแทนสงฆ์เพียงรูปเดียวมารับประเคน ก็ถือว่าเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังนั้นบุญที่เราเข้าใจว่าจะได้จากการ ทำสังฆทานก็คือ การที่หมู่ภิกษุสงฆ์ได้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราทำทานให้ท่าน ยิ่งของที่เราให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก บุญก็จะเกิดมากตามไปด้วย แต่ถ้าของที่อยู่ในสังฆทานหาประโยชน์ไม่ได้ สังฆทานก็จะกลายเป็นขยะล้นวัดไป การใส่ใจในสิ่งของที่จะทำสังฆทานจึง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเราให้ของไม่ดีไม่เกิดประโยชน์กับพระไป บุญที่จะได้ก็อาจจะกลายเป็นบาปก็ได้    ทานที่ใหญ่กว่าสังฆทาน  มีทานอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้าย ๆ สังฆทาน เป็นทานที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า คือ ทานที่ให้แก่หมู่พวกที่ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียก สาธารณทาน เป็นทานที่ไม่จำกัดเฉพาะในรั้ววัด เป็นการให้ที่ไม่มีขอบเขต สังฆทานเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณทานเช่นกัน   ทานที่น้อยกว่าสังฆทาน การถวายทานที่ให้เฉพาะพระภิกษุสงฆ์รูป นั้นรูปนี้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน มีอานิสงส์น้อยกว่าทานสองประเภทข้างต้น เพราะเป็นการจำกัดเฉพาะบุคคลว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้ การให้ทานแก่ส่วนรวมย่อมได้อานิสงส์มากกว่า   คำถวายสังฆทานการ ทำพิธีถวายสังฆทาน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เมื่อนำสิ่งของไปและพระสงฆ์รู้ความประสงค์ ท่านก็จะให้จุด ธูป เทียน แล้วก็ว่า นโม 3 จบ แล้วกล่าวถวาย สังฆทาน ดังนี้ อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะโอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ  บุญไม่ใช่แค่เรื่องการบริจาคทรัพย์ทำทาน บุญ แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรือ คุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า "ทาน" แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน จะมอบของให้ใคร หรือจะถวายของให้ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าได้บุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง   ฉะนั้น เวลาพูดว่า ไปทำบุญทำทาน จึงหมายความว่าไปชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของซึ่งเป็นการแบ่งปันให้ใครก็ได้ และการทำบุญก็ไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียงแค่การให้ทานบริจาคสิ่งของแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น    ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ1. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทาน เป็นการช่วยขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือชุมชนโดยส่วนรวม สังฆทานก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญในข้อนี้ 2. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ 3. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น 4. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย) 5. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย) 6. เปิดโอกาสให้คนอื่น มาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงาน ก็เปิดโอกาสให้คนอื่น มีส่วนร่วมทำ - ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย) 7. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนา ในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย) 8. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย) 9. แสดงธรรม ให้ธรรมะ และข้อคิดที่ดี กับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)  10. ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น - ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ (ทิฏฐุชุกรรม)  ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง    อย่างไรที่เรียกว่า "ฉลาดทำบุญ" พระพยอม กัลยาโณ "การทำบุญตามหลักพุทธศาสนานั้น เราสรรเสริญคนที่ใคร่ครวญ คิดวินิจฉัยดีแล้วจึงทำบุญ ใครที่ทำบุญเก่งอย่างเดียว แต่คิดสังเกต ใคร่ครวญ ถึงประโยชน์ของบุญน้อยไป ก็จะเป็นพวกที่เรียกว่า หลงบุญ เมาบุญ บ้าบุญ คือ ทำดีไม่ถึงดี ทำดีไม่ถูกดี ทำดีไม่พอดี บางทีก็เป็นดีซ่านไป   ฉะนั้น จึงต้องวินิจฉัยว่า ประโยชน์ของการทำบุญในเวลานี้นั้น มันเกื้อกูลกับสังคมมนุษย์แค่ไหน เพราะบุญนั้นทำเพื่อให้มนุษย์สมบูรณ์ขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าบุญนั้นต้องทำให้เกิดความสมบูรณ์ในความขาดแคลน เราจึงต้องมองว่าในเวลานี้อะไรขาดแคลนมากที่สุด เช่น มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ขาดสารอาหาร เราก็ควรทำบุญอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กบ้าง ส่วนอาหารพระ เณร สังฆทานนั้น บางทีก็มากเกินไปแล้ว และของในสังฆทานบางครั้งก็ไม่จำเป็น เช่น เกลือ น้ำมันพืช บางครั้งก็มีมากเกินไป พระไม่ได้มีเวลาไปผัด ไปจิ้ม ไปทอดอะไรมากมาย หรืออย่างทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยวัว ปล่อยควายเวลานี้ก็มากเกิน และบางวัดก็ทำไปในลักษณะหารายได้เข้าวัด ตัวเดียววนเวียนปล่อยอยู่ตั้งเป็นร้อยเจ้า หลายคนช่วยแต่ช่วยได้ชีวิตเดียว มันก็ไม่ฉลาด วัดรวยแต่สังคมก็ยังขาดแคลน  ดีที่สุด ก็คือ การทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา เช่น เอาวัวควายไปให้ชาวนาที่ยากจน ไม่ติดอบายมุข ไม่ติดการพนัน พวกที่ติดเหล้า เที่ยวเตร่ เล่นการพนันก็ต้องเลิกถึงจะให้ยืมวัว ยืมควายไปใช้ เพราะถ้าทำบุญแล้วศีลธรรมไม่กลับมา บุญก็จะมิได้ช่วยโลก ช่วยชาติ ช่วยบ้าน ช่วยเมืองเท่าไรเลย อาตมาจึงอยากจะให้เปลี่ยนจากการทำบุญด้วยสังฆทานต่าง ๆ มาเป็นการทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา ให้เกิดความสมบูรณ์ ให้ความขาดแคลนของสังคมหายไป"    แหล่งข้อมูลจากหนังสือฉลาดทำบุญ เรียบเรียงโดย พระชาย  วรธมโม และพระไพศาล  วิสาโล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 เครื่องวัดความดันโลหิต

คาดว่าสมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านกำลังคิดอยากจะเป็นเจ้าของเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตชนิดที่ใช้ในบ้านเพื่อการดูแลสุขภาพตนเอง และสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ... ถ้าออกกำลังกายแล้วความดันลด เราก็มีกำลังใจ อยากไปออกกำลังกายทุกวัน ... ปัจจุบันเราสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์นี้ได้ตามร้านค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ มีหลากหลายรุ่นและยี่ห้อให้เลือก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่ามันดีจริง อย่าเพิ่งวิตกจนความดันขึ้น ... ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดการสอบเครื่องวัดความดันโลหิตทั้งแบบที่ใช้กับข้อมือและต้นแขน ที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียได้ทำไว้ทั้งหมด 24 รุ่น ขอบอกเลยว่างานนี้ของดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง สนนราคาของรุ่นที่ได้คะแนนรวมมากกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 มีตั้งแต่ 1,650 ถึง 5,300 บาท (คะแนนรวมคิดจาก คะแนนความเที่ยงตรงร้อยละ 80 และความสะดวกในการใช้งานร้อยละ 20) ถ้าอยากทราบว่ารุ่นไหนใช้ง่าย วัดได้เที่ยงตรง เชิญพลิกอ่านหน้าถัดไป ------------------------------------------------------------------------------------------------โดยเฉลี่ยทั่วโลก ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรในวัย 25 ปีขึ้นไปเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว และในหลายๆประเทศ 1 ใน 5 ของประชากรกลุ่มนี้ก็เริ่มมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันโลหิตสูงเช่นกัน ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและประเทศที่มีรายได้ต่ำ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเราเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้นมี 4 อย่าง   1.    น้ำหนักมากเกินไป (ร้อยละ 30) 2.    ได้รับโซเดียมมากเกินไปจากการทานอาหารรสเค็ม  (ร้อยละ 30)3.    ได้รับโปแตสเซียมจากผัก ผลไม้น้อยเกินไป (ร้อยละ 20)4.     เคลื่อนไหวร่างกายไม่มากพอ (ร้อยละ 20) สหประชาชาติตั้งเป้าที่จะลดภาวะความดันเลือดสูงของประชากรโลกลงให้ได้ ร้อยละ 25 และลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียวสูงเกินไปให้ได้ร้อยละ 30ข้อมูลจาก สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก World Hypertension League http://www.worldhypertensionleague.org ------------------------------------------------------------------------------------------------ *    ราคาที่นำเสนอนั้นแปลงจากหน่วยเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย กรุณาตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                                                    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 กระแสต่างแดน

  เที่ยวบินขาขึ้น สายการบินที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลแล้วยังอยู่ดีมีแฮงนั้นยังพอมีอยู่ในโลก สายการบินโบลิเวียนา ของรัฐบาลประเทศโบลิเวีย เป็นหนึ่งในนั้น ถ้ายังจำกันได้สายการบินอาลิตาเลีย (Alitalia) ของอิตาลี ถูกขายให้กับเอกชนไปในปี 2551 ตามด้วยสายการบินโอลิมปิก (Olympic) ในปีต่อมา หรือแม้แต่สายการบินแห่งชาติของอาร์เจนตินา ก็ต้องได้รับการต่อลมหายใจด้วยเงินภาษีกว่า 23,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว โบลิเวียนา นั้นนอกจากจะไม่ขาดทุนแล้วยังกลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 50 ของเที่ยวบินในประเทศ เบียดสายการบินเอกชน ไอโรซูร์ (Aerosur) ที่เคยผูกขาดบริการนี้ตกเวทีไปเลย โบลีเวียนาแทรกเข้ามาขอส่วนแบ่งตลาดที่มีลูกค้าประมาณ 1.5 ล้านคนได้เพราะเมื่อ 5 ปีก่อน สายการบิน Lloyd Aereo Boliviano (ซึ่งเป็นของรัฐบาลเช่นกัน) ปิดตัวไปเพราะล้มละลายและไม่มีเอกชนสนใจเข้ามาซื้อกิจการไปทำต่อ ด้วยเงินตั้งต้น 800 ล้านบาท โบลิเวียนาเปิดตัวด้วยโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 และยึดนโยบายขายตั๋วถูกมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังประกาศยกเลิกที่นั่งเฟิร์สทคลาสเพื่อขายตั๋วในราคาเดียวกันหมดทุกที่นั่ง เพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปท์ “ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน” ที่ประธานาธิบดี อีโว โมราเลสเคยประกาศไว้ ตัวอย่างเช่น ตั๋วไปกลับระหว่างเมืองลาปาซกับเมืองซานตาครูส ของสายการบินไอโรซูร์อยู่ที่ 7,500 บาท ในขณะที่โบลิเวียนาขายเพียง 5,800 บาทเท่านั้น  แต่เดี๋ยวก่อน เด็กและผู้สูงอายุยังมีสิทธิได้รับส่วนลดเพิ่มอีก ใจป้ำขนาดนี้เลยขาดทุนไป 185 ล้านบาทในปีแรก แต่ปีต่อมาทำกำไรได้ 123 ล้านบาท (หลังหักภาษีเข้ารัฐไปแล้วกว่า 1,000 ล้าน) โบลิเวียนากำลังเพิ่มเส้นทางการบินและซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 6 ลำ เอาไว้รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกขณะ(สถิติระบุว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนชาวโบลิเวียที่เดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35) ก็ใครจะไม่อยากบินล่ะ ... ทั้งถูก ทั้งทั่วถึงขนาดนี้ ...   “วัดแห่งนี้สีเขียว” นี่ไม่ใช่ป้ายสติ๊กเกอร์ติดหน้าวัด แต่เป็นคำอธิบายกิจกรรมรักษ์โลกที่เกิดขึ้น ณ วัดฮินดูแห่งหนึ่ง ในเมืองทีรุมาลา รัฐอันตระประเทศของอินเดีย วัดทีรุปาตีแห่งนี้ ติดอันดับท็อปเท็นของวัดที่รวยที่สุดในแดนภารตะ ด้วยรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ที่มาจากการบริจาคโดยญาติโยมชาวฮินดู ที่มาสักการะองค์เทพเวงกเฏศวร(อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) ประมาณวันละ 50,000 ถึง 100,000 คนนั่นเอง ที่นี่จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรณรงค์เรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ในประเทศที่มีความต้องการพลังงานสูงมากอย่างอินเดีย ที่ร้อยละ 45 ของรายได้จากการส่งออกสินค้า ต้องถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการนำเข้าพลังงาน โรงครัวหลังมหึมาที่วัดนี้เปิดบริการอาหารฟรี 24 ชั่วโมง โดยใช้พลังงานที่ส่งลงมาจากแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาตึก ในแต่ละวัน “พลังเบื้องบน” นี้สามารถผลิตไอน้ำอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ได้ถึง 4,000 กิโลกรัม จึงช่วยทำให้การหุงข้าวและต้มถั่วประมาณ 50 ตันต่อวัน เป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัด เขาประเมินคร่าวๆ ว่าสามารถประหยัดการใช้น้ำมันดีเซลไปถึง 500 ลิตรต่อวัน เมื่อวัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากครัวของตัวเองได้ 1,350 กิโลกรัม จึงนำโควตาดังกล่าวไปขายให้กับรัฐบาลประเทศเยอรมนี มีรายได้เข้าวัดอีกมิใช่น้อย ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในวัดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกังหันลมที่บริษัทซูสลอน ของอินเดีย และเอ็นเนอคอน ของเดนมาร์ก ได้ร่วมกันบริจาคตั้งต้นไว้ ทางวัดบอกว่าการใช้วิธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนี้ น่าจะได้ผลดีกว่าการโฆษณาหรือการรณรงค์ของรัฐบาลด้วยซ้ำไป ญาติโยมท่านใดสนใจจะทำทานในรูปแบบของพลังงานหมุนเวียน ก็ซื้อกังหันลมไปบริจาคให้กับทางวัดได้ เขาจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้ฟาร์มกังหันลมข้างๆ วัด (ลืมบอกไปว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขา) ยังว่างอยู่อีกเยอะ ทำบุญกันมากๆ ก็ช่วยให้โลกเย็นได้นะพี่น้อง   ถ้ารู้ (กู) พกไปนานแล้ว คอกาแฟไต้หวันคงฉุนไปตามๆ กัน ถ้ามารู้ทีหลังว่า ความจริงแล้วตนเองควรจะต้องได้ส่วนลดถ้านำถ้วยพลาสติกที่เคยได้จากทางร้าน กลับมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านนั้นอีกครั้ง เรื่องนี้มีผลสำรวจยืนยัน องค์กรผู้บริโภคของไต้หวันพบว่า ร้อยละ 14 ของบรรดาร้านแฟรนไชส์เครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่ได้ติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาจะได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าตนเองมีนโยบายส่งเสริมการนำถ้วยกาแฟกลับมาใช้ซ้ำ ข่าวบอกว่าในไต้หวัน มีแก้วพลาสติกถูกทิ้ง (ทั้งๆ ที่ยังใช้ได้) ถึงปีละ 1,500 ล้านแก้ว รัฐบาลจึงออกเป็นกฎหมายว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2554 เป็นต้นไป ร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายเครื่องดื่มทั้งหลายจะต้องให้ส่วนลดกับลูกค้าที่นำแก้วของทางร้านกลับมาซื้อเครื่องดื่มอีก หรือไม่เช่นนั้นก็จ่ายเงิน 1 หรือ 2 เหรียญไต้หวันให้กับลูกค้าที่นำแก้วกลับมาคืนให้ทางร้าน และที่สำคัญ จะต้องติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วย กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้ว่าร้านไหนไม่ทำตาม จะมีโทษปรับ 60,000 – 300,000 ดอลล่าร์ไต้หวันแต่ข่าวไม่ได้บอกว่าบรรดาร้านเหล่านั้นโดนปรับกันไปคนละเท่าไร ซื้อสร้างสุข สมาชิกฉลาดซื้อหลายคนคงจะเลือกซื้อช็อกโกแลต โดยอ้างอิงคะแนนความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตที่เราเคยลงไว้ในเล่มกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว หลายคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อช็อกโกแลตที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออกานิก หรือแฟร์เทรด ซึ่งเราขอบอกว่าคุณทำถูกแล้ว ผลผลิตโกโก้ในตลาดโลก 3 ล้านตันต่อปีนั้น มาจากแรงงานของเกษตรกร 6 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยวันละไม่ถึง 100 บาท ในขณะที่ราคาโกโก้นั้นไม่ต่ำกว่า 700 บาทต่อกิโลกรัม ในไร่โกโก้นั้น มีแรงงานเด็กอยู่ประมาณ 200,000 คน ในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีรายได้ใดๆ เพราะถูกซื้อขาดมาจากครอบครัวแล้ว จากการสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กๆ ที่ทำงานในไร่โกโก้ในไอโวรี่ โคสต์ (ผู้ผลิตโกโก้อันดับหนึ่งของโลก) ถูกใช้งานให้แบกน้ำหนักเกินตัว ส่วนที่ประเทศกาน่า (อันดับสอง) นั้นเกือบร้อยละ 50 ของเด็กๆ ในฟาร์มโกโก้ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตราย ที่สำคัญ 1 ใน 4 ของเด็กเหล่านี้ทำงานโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ใดๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมีเลยด้วย การเลือกสนับสนุนช็อกโกแลต ออกานิก หรือแฟร์เทรด นั้นจะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาให้ความใส่ใจดูแล เลือกซื้อเฉพาะเมล็ดโกโก้จากไร่ที่ไม่เอาเปรียบแรงงาน ไม่ใช่สารเคมี และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >