ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >