ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ดื่มน้ำวิตามินวอเตอร์ยี่ห้อดังแล้วท้องเสีย อาเจียน

        แม้ในน้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนได้ ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะของสี ตะกอนและกลิ่นของน้ำ ก่อนดื่มทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย         คุณรัชเป็นคนหนึ่งที่เผลอดื่มน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไป เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอดื่มน้ำวิตามินยี่ห้อดัง โดยเปิดขวดใหม่แล้วดื่มทันทีไม่ทันได้สังเกตอะไร แต่พอดื่มแล้วกลับได้กลิ่นน้ำในขวดนั้นเหม็นคล้ายสารเคมีมากๆ เมื่อลองดมน้ำในขวดให้แน่ใจอีกที เธอก็เริ่มปวดศีรษะนิดๆ พอยกขวดขึ้นส่องดู ก็เห็นตะกอนลักษณะเป็นวุ้นลอยอยู่ในขวดชัดเจน จึงหยุดดื่มทันทีแต่หลังจากดื่มน้ำขวดนี้ไปประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง เธอก็ท้องเสียและอาเจียน         โชคดีที่คุณรัชมีการอาการเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องไปหาหมอ เมื่ออาการดีขึ้นเธอก็โทร.ไปเล่าเรื่องให้บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังนี้รับรู้ ซึ่งทางบริษัทฯ ชี้แจงเบื้องต้นว่าตะกอนที่เห็นนั้นเป็นของดอกเก๊กฮวยที่ผสมมากับน้ำ ส่วนเรื่องกลิ่นนั้นยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไรกันแน่ ทางบริษัทจึงขอติดต่อเข้ารับตัวอย่างน้ำดื่มขวดที่มีปัญหานั้นไปตรวจสอบให้แน่ชัดอีกที         คุณรัชรู้สึกว่าสิ่งที่เจือปนมากับน้ำอาจไม่ผ่านมาตรฐานแน่และไม่น่าใช่อย่างที่บริษัทฯ ชี้แจง จึงสอบถามเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางไลน์ว่าตนเองควรจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร           แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สอบถามเพิ่มเติมคุณรัชได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าทางบริษัทฯ มารับตัวอย่างน้ำดื่มกลับไปตรวจสอบแล้ว พร้อมมอบน้ำดื่มเพื่อชดเชยแก่คุณรัชไว้ 3 แพ็ค เป็นการขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ทางบริษัทฯ ได้ส่งผลตรวจมาให้ พบว่าในน้ำดื่มมีแบคทีเรียที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เจือปนอยู่ด้วยจริง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอท้องเสียและอาเจียนหลังจากดื่มน้ำ         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำให้คุณรัชนำหลักฐานทั้งหมดที่มีไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านและให้ทำหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่ามีสิ่งเจือปนในน้ำดื่ม ขอให้ทางบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่าสิ่งเจือปนในน้ำดื่มนั้นคืออะไรและเรียกร้องขอค่าชดเชยจากกรณีดังกล่าวตามสมควรได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อะไรลอยอยู่ในขวดน้ำผสมวิตามินซี

        ภูผาได้ซื้อน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังเจ้าหนึ่งจำนวน 2 แพคมาไว้ที่หอเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อซื้อมาก็ทยอยดื่มไปเรื่อยๆ วันนี้ก็เช่นกันเขาก็หยิบขวดน้ำจะมาเปิดดื่มตามปกติ ก่อนจะเปิดขวดเขาสังเกตเห็นเหมือนว่า ในขวดน้ำมีเศษผงอยู่ ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่เพราะยังไม่ได้เปิดขวดผงไม่น่าจะเข้าไปได้ น่าจะเป็นเศษอะไรมากกว่าเพราะน้ำใสเลยทำให้มองผ่านขวดน้ำไปได้ แต่เมื่อหยิบขวดน้ำมาใกล้ๆ เศษผงก็ยังอยู่ เขาเลยเอามาส่องดูให้แน่ใจอีกที คราวนี้ชัดเจนเลย มีเศษผงลอยอยู่ในขวดน้ำเป็นก้อนขนาดเกือบเท่าหัวแม่มือ เขาก็แปลกใจไม่รู้ว่าจะมีผงก้อนขนาดนั้นอยู่ในขวดได้ยังไง จึงถ่ายวีดีโอขวดน้ำแล้วมาปรึกษามูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผงหรือเศษฝุ่นที่พบเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีพบอาหารปนเปื้อนผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ดังต่อไปนี้         1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้เคียงเพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายน้ำดื่มหรือบริษัทผลิตน้ำดื่มที่ซื้อมาเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ สรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงกรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้จัดการไปยังบริษัทร้านค้าที่จัดจำหน่ายและบริษัทผู้ผลิตหมายเหตุ : ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ...บอกอะไรบ้าง

        อินเทอร์เน็ตนั้นอุดมไปด้วยความรู้ด้านสุขภาพที่ควรต้องกลั่นกรองในระดับหนึ่ง โดยมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นหลักคือ ไม่เป็นเว็บขายสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น         ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ปรกติปัสสาวะของคนส่วนใหญ่มักมีกลิ่นแอมโมเนียเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายออกมาในตอนเช้า เพราะเราได้เว้นการดื่มน้ำระหว่างนอนหลับนานกว่า 4-6 ชั่วโมง ความเข้มข้นของปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้นพร้อมกลิ่น อย่างไรก็ดีเมื่อใดที่ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรงผิดปรกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี เช่น อาการเบาหวานที่ไม่ได้บำบัดมักทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเฉพาะคล้ายน้ำจากผลต้นนมแมว เพราะมีน้ำตาลออกในปัสสาวะมากเกินปรกติ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะหรือไต อาจทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ ซึ่งมักตามมาด้วยอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขุ่นข้นหรือมีเลือด มีไข้ ปวดหลัง เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถใช้ในการประเมินขั้นต้นว่า เป็นอาการของการติดเชื้อที่ไต ซึ่งคำแนะนำที่พบในอินเตอร์เน็ทคือ ควรไปพบแพทย์ โอกาสที่ปัสสาวะมีกลิ่นโดยไม่เจ็บป่วย         การเกิดกลิ่นที่ผิดปรกติของปัสสาวะอาจไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพผิดปรกติเสมอไป อาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อร่างกายเสียน้ำมากในการออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานกลางแจ้งหรือการเดินทางไกล ซึ่งมักร่วมกับอาการที่เห็นได้ง่ายคือ ปากแห้ง เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว อาการดังกล่าวควรหายไปเมื่อดื่มน้ำมากพอพร้อมเกลือแร่ แต่ถ้าไม่หายควรไปพบแพทย์เพราะอาจหมายถึงความผิดปรกติในการทำงานของไต         อาหารหลายชนิดสามารถทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดจากปรกติ เช่น กาแฟ ผักที่มีกลิ่นแรงอย่างสะตอ ชะอม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น กลิ่นที่เกิดในปัสสาวะหลังกินอาหารเหล่านี้เป็นดัชนีบ่งชี้การที่ไตต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการกินอาหารที่มีกลิ่นไม่แรงนัก เพราะในอาหารที่มีกลิ่นแรงอาจจะมีสารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารมากกว่า         ผู้ที่กินวิตามินบีรวมที่มีความเข้มข้นสูงเกินความต้องการของร่างกาย กินยาปฏิชีวนะกลุ่นซัลโฟนาไมด์ กินยาบำบัดเบาหวานหรือยาบำบัดมะเร็ง มักมีประสบการณ์ว่าปัสสาวะมีกลิ่นที่ผิดปกติไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะวิตามินบีเป็นสารที่ละลายน้ำดี เมื่อมากเกินความต้องการจึงต้องขับทิ้งทางปัสสาวะเช่นเดียวกับยาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย อวัยวะภายในหลักในการนี้คือ ตับและไต ต้องเพิ่มการทำงานในการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้เพื่อขับออกจากร่างกายพร้อมกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสารที่ถูกขับแต่ละชนิด ปรากฏการณ์นี้มีความหมายว่า เราต้องจ่ายเพิ่มในเรื่องความเสื่อมของไต เพราะไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงแล้วออกทิ้งในปัสสาวะ ส่วนตับนั้นไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นการขับทิ้งออกในน้ำดีซึ่งหลั่งออกสู่ทางเดินอาหารเพื่อใช้ช่วยในการย่อยอาหารไขมันอยู่แล้ว         การเสียสมดุลของแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศสตรี อาจส่งผลทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคาวปลาได้ เนื่องจากในสถานะการณ์ปรกตินั้นแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสมักเป็นกลุ่มเด่นในการทำให้สภาวะแวดล้อมในอวัยวะเพศสตรีมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดจึงเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลทั้งปริมาณและชนิดของแบคทีเรียที่เหมาะสม แบคทีเรียบางชนิดที่มีมากขึ้นผิดปรกติสามารถเปลี่ยนสารเคมีในช่องคลอดให้กลายเป็นสารที่มีกลิ่นคล้ายคาวปลา         การที่ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายปลาเน่านั้น เป็นการบ่งชี้ถึงความผิดปรกติในการทำงานของไตหรือปัญหาด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้ตับขาดเอ็นซัมชื่อ Flavin-containing monooxygenase 3 ซึ่งผลการขาดเอ็นซัมนี้ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Trimethylaminuria นั่นคือ ไตไม่สามารถทำลายสาร trimethylamine ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังการเปลี่ยนแปลง lecithin, choline และ L-carnitine ในอาหารบางประเภท เช่น ไข่แดง ต้นอ่อนข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์เช่น ตับ สาร trimethylamine นี้เป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ปลาถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานๆ จนเกิดการเน่าเสีย โดยปรกติแล้ว trimethylamine ในร่างมนุษย์จะถูกเปลี่ยนไปเป็น trimethylamine-N-oxide ซึ่งไม่มีกลิ่น (สักเท่าไร) เพื่อขับออกทางการปัสสาวะ         การตั้งท้องของสตรีทำให้สภาวะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดไปจากเดิมหรืออาจบวกกับการที่คนท้องมักมีการได้รับกลิ่นไวขึ้นกว่าเดิม จึงรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นแรงกว่าเดิม หนังสือทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นกล่าวว่า หลังจากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิจนเกิดเซลล์ใหม่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนนั้น เซลล์จะเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุมดลูกซึ่งเป็นการกระตุ้นกระบวนการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินคอโรนิกของมนุษย์หรือเอชซีจี ตรวจพบได้ในเลือดและปัสสาวะของหญิงตั้งท้อง ผู้หญิงที่จมูกไวมักสามารถได้กลิ่นเอชซีจีในปัสสาวะหลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่นอนเพียงไม่กี่อาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ไปซื้อเครื่องตรวจการตั้งครรภ์มาทดสอบว่าจะจัดการกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร บุญหรือกรรมสำหรับคนที่ไม่ได้กลิ่นบางอย่างของปัสสาวะ         โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมีความสามารถในการรับกลิ่นต่างๆ ไม่เท่ากัน ในทางวิทยาศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า Idiosyncrasies ซึ่งจัดว่าเป็นผลทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงพบได้ทั่วไปว่า บางคนมีจมูกดีได้กลิ่นไวมากในขณะที่บางคนสบายมากในการเดินผ่านที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเก่าๆ ในกรุงเทพมหานคร         จากหนังสือชื่อ Fart Proudly: Writings of Benjamin Franklin You Never Read in School พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ North Atlantic Books ในปี  2003. กล่าวว่า ในปี 1781 Benjamin Franklin เคยบันทึกถึงประสบการณ์ว่า การกินแอสปารากัสหรือหน่อไม้ฝรั่งเพียงไม่กี่ต้นทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ และในปี 2014 เว็บ www.aurorahealthcare.org มีบทความเรื่อง Why Asparagus Makes Your Urine Smell ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เมื่อเรากินหน่อไม้ฝรั่งแล้วร่างกายจะเปลี่ยนแปลง asparagusic acid ที่มีในหน่อไม้ฝรั่ง ไปเป็นสารเคมีกลุ่มที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ทำให้ปัสสาวะ (รวมถึงเหงื่อและลมหายใจ) มีกลิ่นเฉพาะที่บอกว่าคนผู้นั้นได้กินอาหารที่มีหน่อไม้ฝรั่งเมื่อ 15-60 นาทีที่แล้ว        บทความเรื่อง Food Idiosyncrasies: Beetroot and Asparagus ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Metabolism and Disposition ของปี 2001 ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า เมื่อทางเดินอาหารในร่างกายย่อยหน่อไม้ฝรั่งแล้ว asparagusic acid จะถูกดูดซึมไปที่ตับซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้สารประกอบซัลเฟอร์ 6 ชนิด คือ methanethiol, dimethyl sulfide, dimethyl disulfide, bis(methylthio)methane, dimethyl sulfoxide, และ dimethyl sulfone สารเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นสาเหตุของกลิ่นในปัสสาวะโดยมี methanethol ทำหน้าที่เป็นแกนนำหลัก แต่กรณีที่คนบางคนกินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นหรือมีน้อยมากนั้นบทความดังกล่าวบอกว่า อาจเป็นเพราะมีการดูดซึม asparagusic acid ต่ำจนถึงไม่ดูดซึม แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่าบางคนที่กินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งแสดงว่าเขาผู้นั้นอาจขาดเอ็นซัมที่สามารถย่อยให้ asparagusic acid ไปเป็นสารประกอบซัลเฟอร์ที่ก่อให้เกิดกลิ่น อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวในลักษณะลึกซึ้ง         สำหรับในกรณี คนไม่ได้กลิ่นที่เปลี่ยนไปของปัสสาวะ ได้มีการอธิบายในบทความเรื่อง Web-Based, Participant-Driven Studies Yield Novel Genetic Associations for Common Traits ในวารสาร PLoS Genetics ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน 2020 ว่า เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะของ SNP (single nucleotide polymorphism) ของโครโมโซมแท่งที่ 1 โดยตำแหน่ง SNP ที่เกิดนั้นคือ rs4481887, rs4309013 และ rs4244187 ของยีน OR2M7 (olfactory receptor family 2 subfamily M member 7) ซึ่งมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น olfactory receptors หรือตัวรับกลิ่น ที่น่าสนใจคือ บทความนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทชื่อ 23andMe ซึ่งรับตรวจสอบความผิดปรกติทางพันธุกรรมในการรับกลิ่นของปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาในคนราวหมื่นคนว่าได้กลิ่นเฉพาะในปัสสาวะหลังกินหน่อไม้ฝรั่งหรือไม่ จากนั้นก็ดูลักษณะร่วมของคนที่ไม่ได้กลิ่นว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมส่วนใดที่เป็น SNP ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น         นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง Sniffing out significant “Pee values”: genome wide association study of asparagus anosmia ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ของปี 2016 ที่ศึกษาในอาสาสมัครที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของโครงการการศึกษาทางระบาดวิทยา 2 โครงการ คือ Nurses’ Health Study และ Health Professionals Follow-up Study ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกี่ยวกับความสามารถในการได้กลิ่นจากปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยผลสรุปของงานวิจัยคือ 58.0% ของผู้ชาย (n=1449/2500) และ 61.5% ของผู้หญิง (n=2712/4409) มีการแสดงออกที่เรียกว่า asparagus anosmia คือ ไม่ได้กลิ่นสารเคมีจากหน่อไม่ฝรั่งในปัสสาวะ         สภาวะการไม่ได้กลิ่นของปัสสาวะหรือ anosmia นั้นเกิดขึ้นได้ทั้ง ชั่วคราว หรือ ถาวร ซึ่งในกรณีหลังนั้นเนื่องจากพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น แต่ในกรณีชั่วคราวนั้นมักเกิดจากการระคายเคืองของจมูกเมื่อติดเชื้อ เช่น ป่วยเป็น covid-19 ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่นเท่าเดิม ซึ่งมักส่งผลให้ไม่อยากอาหารจนมีภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักลดลง อาจเป็นโรคซึมเศร้า ซ้ำร้ายการสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่มอาจส่งผลถึงการหมดสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย สำหรับสาเหตุอื่นของการไม่ได้รับกลิ่นนั้นมักเป็นผลมาจากการบวมและอุดตันภายในจมูกหรือปัญหาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากเส้นประสาทในจมูกไปยังสมอง การติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การสูบบุหรี่ เสพโคเคนหรือสารเสพติดอื่น ๆ ทางจมูก การอุดตันในจมูกเนื่องจากเนื้องอก กระดูกในจมูกหรือผนังกั้นจมูกผิดรูป โรคอัลไซเมอร์หรือเป็นโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติซึ่งทำให้ระบบประสาทเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาบำบัดความดันโลหิตสูง ลมชัก เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ว่าด้วยเรื่องการคงอยู่ของวิตามินซี

ฉลาดซื้อฉบับนี้ พารองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องวิตามินซี ถึงรายละเอียดเรื่องการทดสอบและเหตุของการอยู่และหายไปของวิตามินซี การวิเคราะห์ของวิตามินซีโดยทั่วไปใช้วิธีการอะไร        วิตามินซี เป็นวิตามินที่อ่อนแอต่อแสง อากาศ (ก๊าซออกซิเจน) และความร้อน หรือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  การวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีจะต้องทำในห้องที่ไม่มีแสงยูวี  แสงยูวีปกติอยู่ในแสงแดด  ในหลอดไฟฟ้า  และทำในห้องที่ปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสนะครับ  โดยจะทำการสกัดวิตามินซีออกมาด้วยตัวทำละลายวิตามินซี  โดยจะต้องเป็นการสกัดเย็น จากนั้นทำการตรวจวัดด้วยเครื่อง  HPLC หรือ ชื่อเต็มว่า High Performance Liquid Chromatography   วิธีที่ใช้เครื่อง HPLC เป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์  ซึ่งโดยทั่วไปวิตามินซีในธรรมชาติหรือในเครื่องดื่มต่างๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ  คือ  แบบออกซิไดซ์ (oxidized form) และ  แบบรีดิวซ์  (reduced form)    มีบางคนก็พูดถึงไปแล้วว่ามันถูกออกซิเดชันได้ง่ายจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน  ทำให้มีฟอร์มที่เป็นออกซิไดซ์เพิ่มขึ้น  ซึ่งการออกซิเดชันแบบไม่รุนแรง วิตามินซีไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่หากเป็นการออกซิเดชันที่รุนแรงที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อากาศ แสงและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือมีสารประเภทโลหะร่วมด้วย  วิตามินซีจะถูกทำลายในระดับโครงสร้าง แบบนี้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้คือ สลายตัวไปเลย ดังนั้นในการวิเคราะห์วิตามินซีทั้งหมดในอาหารจะต้องวิเคราะห์ทั้งสองฟอร์มจะวิเคราะห์เพียงฟอร์มใดฟอร์มหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไปทำปฏิกิริยารีดักชันเพื่อทำให้วิตามินซีมาอยู่ฟอร์มเดียวกันทั้งหมดก่อนที่จะทำการตรวจวัด   ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วไม่พบว่ามีวิตามินซี  ไม่ได้แปลว่า ค่าที่ได้เป็นศูนย์หรือไม่มีวิตามินซีเสมอไป  แต่สามารถบอกได้แค่ว่า  ปริมาณที่มีอยู่ต่ำกว่าที่เครื่องมือจะตรวจวัดได้เขาเรียกว่าเป็น Detection Limit คือ ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับได้ของการวิเคราะห์นั้น  ทำให้ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณได้ บางเครื่องอาจจะตรวจวัดและรายงานผลได้ตั้งแต่  0.5 มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ไม่สามารถจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งโดยทั่วไปจะรายงานว่า ตรวจไม่พบ (not detected หรือ nd)            เราไปคุยประเด็นเรื่องเขาบอกไม่ตรงฉลาก  หนึ่งคือว่าตัววิตามินซีมันสามารถที่จะสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยแสง อากาศ ออกซิเจนและก็ความร้อนนะครับ รวมถึงอาจจะเรื่องของการเก็บ การขนส่ง Transportation มันก็ทำให้มันเกิดการสูญเสียได้ ทีนี้ออกซิเจนมันมาจากไหน  คือในตัวขวดมันก็จะมีอากาศอยู่แล้ว ตรงช่วงต่อระหว่างฝากับตัวน้ำ เขาเรียก Head Space ตัวนั้นนะครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งถ้าขนส่งมันก็อาจจะมีการเขย่า มีอะไรทำไปอีกด้วยมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายขึ้นได้เพิ่มขึ้น  แล้วก็คือวิตามินซีในฟอร์มที่มันเป็นแบบแห้งมันจะคงอยู่ทนกว่าไงครับ  ทีนี้พอมันเป็นแบบที่เป็นน้ำการออกซิเดชันมันเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมันสามารถทำปฏิกิริยากับอากาศได้ง่ายขึ้น  เพราะฉะนั้นมันสลายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บรักษาการขนส่งว่าทำให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในอีกฟอร์มหนึ่งที่เปลี่ยนกลับได้หรือว่าสลายหายไปเลย  (อันนี้ ต้องขอบอกก่อนว่าผมพูดในด้านวิชาการนะครับ   ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวไม่ได้ส่งมาวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการนะครับ) อายุการเก็บของวิตามินซี         อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์กับอายุการเก็บของวิตามินซี   ต้องแยกออกจากกัน  อายุการเก็บมันเก็บได้ไม่เน่าเสีย แต่ว่าอายุการเก็บมันอาจจะไม่ได้ถูกศึกษาด้วยตัววิตามินซีว่ามันเหลือเท่าไหร่   คืออายุการเก็บเขาจะดูการเสื่อมสภาพ การเป็นตะกอน การเสียรสชาติ อะไรอย่างนี้มากกว่า  ที่เขาเอามาใช้  หรือการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เน่าเสียหรือก่อโรค  ที่เขาเอามาใช้เป็นอายุการเก็บ  ไม่ใช่อายุการเก็บวิตามิซี บางคนบอกว่ามันอยู่ได้ถึง 1 ปี แต่วิตามินมันไม่เหลือแล้ว  จริงๆ แล้ววิตามินซีมันสลายเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ เมื่อเทียบกัน  วิตามินซี ถือว่าสลายได้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้น ในทางโภชนาการเขาใช้วิตามินซีเป็นตัวชี้วัดการคงอยู่ของวิตามินที่อยู่ในอาหาร   ถ้าวิตามินซีมันอยู่ได้ตัวอื่นก็อยู่ได้ ถ้าตัวมันอยู่ไม่ได้ตัวอื่นๆ ก็อาจจะยังอยู่  แต่ว่ามันก็จะเหลือน้อยลง  แต่ถ้าวิตามินซียังอยู่เยอะแสดงว่าตัวอื่นๆ ก็ยังอยู่เยอะ  แต่ถ้าวิตามินซีหายไปเยอะค่อยไปดูตัวอื่นๆ น่าจะลดลงไปบ้าง  แต่มันก็ไม่ลดเท่าวิตามินซีนะ   สมมติว่าออกจากโรงงานแล้วบริษัทเขาส่งไปวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ  ที่เขาส่งไปวิเคราะห์เขาก็ได้ค่าหนึ่ง  ค่าอันนั้นเขาก็เอาไปขึ้นทะเบียนทำเป็นฉลาก  แต่ทีนี้พอเวลาไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ซ้ำ  มันได้ไม่เท่ากันก็คือมันไม่ใช่ตัวอย่างเดิม  มันถูกสลายแล้ว ที่ออกมาจากโรงงานแล้วก็ส่งเข้า Lab เลยนี่มันก็จะได้อีกค่าหนึ่งนะมันก็ยังไม่ได้สลายไปไง  เพราะฉะนั้นวิตามินซีมันลดลงตั้งแต่เริ่มออกจากโรงงาน ตั้งแต่วันแรก   คือมันก็ค่อยๆ ลดลงขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งสองอาทิตย์ก็อาจจะเหลืออยู่สักครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้วย   เรื่องการขนส่ง  (Transportation) อุณหภูมิในการเก็บ  และระยะเวลาการเก็บ อันนี้ดูจากวันผลิตก็ได้  ถ้าหากเก็บอุณหภูมิในตู้เย็นก็จะยืดระยะเวลาที่จะสลายตัวให้ช้าลงได้ แต่มันก็ยังสลายตัวอยู่นะไม่ใช่ไม่สลายนะ   หากไปวางตั้งไว้ข้างนอกบางทีอยู่นอกร้านภูมิอากาศบ้านเรามันก็ร้อนนะวิตามินมันก็เกิดการสูญเสียเร็วขึ้นนะครับ    ความแตกต่างของภาชนะบรรจุส่งผลต่อการสลายของวิตามินซีไหมคะ         โดยหลักการภาชนะบรรจุที่ทึบแสง หรือที่แสงผ่านเข้าไม่ได้  และภาชนะที่ไม่มีโลหะผสมจะป้องกันวิตามินซีได้ดีกว่าภาชนะบรรจุที่ใสและแสงผ่านเข้าได้   คนจะสงสัยค่ะอาจารย์ว่ามันก็ใสเหมือนกันขวดแบบเดียวกันทำไมอันหนึ่งมันอยู่ Stable อีกอันหนึ่งทำไมมันหายไป        น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต  การขนส่ง ระยะเวลาหลังจากผลิต  การเก็บรักษา  อุณหภูมิในการเก็บอะไรต่างๆ  บางทีจะเห็นไปตั้งเอาไว้เป็นสต็อกไม่โดนแอร์เลย  ตั้งเอาไว้ข้างร้านๆ   บางทีตั้งไว้อยู่ริมถนน  อากาศมันก็ร้อนนะ  บางทีโดนแดดคือผมพยายามไม่พูดถึงยี่ห้อนะครับ ผมพูดเรื่องวิชาการอย่างเดียวนะครับ   มีคำแนะนำสำหรับคือการผลิตจะมีคำแนะนำอย่างไรดีคะสำหรับการคงคุณภาพหรือการผลิตที่ต้องดูแลควบคุม         ก็ต้องเริ่มจากการควบคุมกระบวนการผลิต   เลือกใช้สารวิตามินซีที่มีความบริสุทธิ์หรือมีเปอร์เซนต์ของวิตามินซีสูง   อุณหภูมิขณะเติมวิตามินซีและตลอดกระบวนการผลิตไม่ควรเกิน 25 องศา  ควรใช้ขวดทึบแสงหรือขวดที่ป้องกันแสงผ่านได้   ลดพื้นที่อากาศบริเวณปากขวดให้เหลือน้อย เก็บรักษาในที่เย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน           ในแต่ละวัน เราสามารถรับวิตามินซีจากแหล่งอาหารอื่นๆ จากที่ไหนได้บ้าง         ผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซี รวมทั้ง  ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มะขามป้อม  สตรอว์เบอร์รี  เป็นต้น กรณีที่มีบางยี่ห้อเราตรวจได้ปริมาณวิตามินซีมากๆ         อย่างเช่นถ้าเราตรวจพบ   500 ต่อ Serving เพราะฉะนั้นถ้าคนไปกินแทนน้ำนี่มันก็มีความเสี่ยงถ้าคนกินแทนน้ำวันหนึ่งสักสามขวดอย่างนี้  ขวดหนึ่งมัน  140 มิลลิลิตรเองนะ ขวดเล็กด้วยนะ  ถ้าหากใครกินสามขวดก็จะได้ไป 1,500 มิลลิกรัม  ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับมากเกินไป  เช่น  โรคนิ่วในไต  แต่อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไต มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่น  กรดออกซาลิก  กรดยูริก  แต่ถ้าจะลดความเสี่ยง ก็คือวันหนึ่ง  ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัม ขณะที่ในอาหารเสริม หนึ่งเม็ดก็จะมี 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม กินวันละเม็ดเดียวก็พอแล้ว    เพราะเรายังได้รับวิตามินซีจากอาหารอีก  เพราะเราไม่ได้กินแต่น้ำ  จริงๆ แล้วร่างกายต้องการน้ำเพื่อแก้กระหาย  น้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายแต่มีการไปเติมวิตามินลงไปเพื่อให้มันมี  เพื่อความสะดวกคือดื่มน้ำแล้วได้วิตามินซีด้วยแต่มันไม่เสถียร  ไม่คงทน  มันสลายได้จึงอยากให้เน้นกินผลไม้ที่มีวิตามินซีที่สด  ซื้อมาปอกเปลือกแล้วกินเลยอันนี้เราควบคุมได้เองวิตามินซีอยู่ครบหรือลดลงแค่เล็กน้อย   เราจะได้ทั้งวิตามินซีทั้งใยอาหารด้วย  ใยอาหารช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ทำให้ผิวพรรณสดใส  เมื่อลำไส้เราสะอาดผิวพรรณเราก็จะสดใสก็จะเปล่งปลั่งขึ้นมา    ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายรับได้ต่อวันเป็นอย่างไร         การกินวิตามินซีวันละ  60 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย   อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถรับวิตามินซีในปริมาณมากกว่านี้ได้ มีผลวิจัยว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันบางโรค ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและอาจช่วยป้องกันหวัดหรือบรรเทาอาการหวัด   ข้อดีของวิตามินซี คือ เป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำ   เพราะฉะนั้นหากได้รับมากจนเกินไปร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะ  อย่างไรก็ตามไม่ควรกินเกิน  1,000 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อสินค้าหมดอายุ ใช้สิทธิได้มากกว่าที่คิด

        หากซื้อสินค้าที่หมดอายุมา อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเงินแค่นิดหน่อยเอง ไม่อยากเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิ หรือเหตุผลอื่นๆ ขอให้คิดอีกสักนิดว่าถ้าเราละเลยการใช้สิทธิด้วยเหตุผลเหล่านี้บ่อยครั้งเข้านั่นจะเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ขายเอาเปรียบเราได้เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องฝึกใช้สิทธิที่เรามี มาลองดูผู้บริโภครายนี้ว่าเมื่อเขาเจอร้านขายสินค้าที่ขายวิตามินหมดอายุเขาทำอย่างไร         คุณภูผา ซื้อวิตามินมาจากร้านวสันต์ ราคาประมาณ 300 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซื้อเสร็จก็เก็บไว้ในลิ้นชักในโต๊ะที่ทำงานเพื่อเอาไว้รับประทาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมได้รับประทานเข้าไป 1 เม็ด จนเปิดงานช่วงปีใหม่เขาก็ทำความสะอาดจัดเก็บโต๊ะทำงานใหม่ให้เข้าที่เข้าทางซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีสำหรับเขา เมื่อหยิบที่ขวดวิตามินซึ่งซื้อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็เห็นฉลากข้างขวดระบุวันหมดอายุวันที่ 16/10/62 อ้าว ! หมดอายุมาตั้ง 1 ปีแล้ว เอามาขายให้เขาได้อย่างไร         ปัญหาคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไรดี ใบเสร็จก็ทิ้งไปแล้ว ตัดสินใจลองโทรศัพท์ไปที่ call center ร้านวสันต์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พนักงานฟังและบอกว่าทิ้งใบเสร็จไปแล้ว ช่วยตรวจสอบประวัติในการซื้อสินค้าให้ได้ไหม เพราะเขาต้องการเปลี่ยนสินค้า ต่อมาเจ้าหน้าที่สาขาของร้านได้โทรศัพท์มายอมรับและขอโทษที่ได้ขายสินค้าหมดอายุและขอให้คุณภูผานำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาดังกล่าว  อย่างไรก็ตามคุณภูผาก็คิดเผื่อคนอื่นด้วยว่า แค่เปลี่ยนให้คงน่าจะยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการแก้ปัญหาให้เขาคนเดียว เขาอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้เพราะว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งวิตามินที่หมดอายุนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเพิ่มเติมอะไรได้อีกบ้างนอกจากการเปลี่ยนคืนสินค้า แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แนะนำว่า เบื้องต้นผู้ร้องควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน มีสิทธิเปลี่ยนสินค้าคืนได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่ร้าน เพราะว่าการจำหน่ายสินค้าหมดอายุเกิดจากความบกพร่องของร้านค้า สามารถให้ร้านค้านำสินค้ามาเปลี่ยนให้ผู้ร้องในสถานที่ที่ผู้ร้องสะดวก หรือถ้าไปเปลี่ยนสินค้าที่ร้านผู้ร้องสามารถเรียกให้ร้านชดใช้ค่าเดินทางหรือค่าเสียเวลาได้ หรือต้องการเงินคืนโดยไม่ต้องเปลี่ยนสินค้าก็ได้ กรณีต้องรักษาพยาบาลสามารถให้ร้านค่าชดใช้ค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ยังสามารถให้ร้านค้าออกหนังสือขอโทษผู้ร้องได้ด้วย         หลังจากได้รับคำแนะผู้ร้องโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้ร้านนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ที่บ้าน หลังจากนั้นผู้จัดการสาขาได้นำสินค้าไปเปลี่ยนให้ผู้ร้องที่บ้าน พร้อมมอบกระเช้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบและกล่าวขออภัยผู้ร้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นถึงความจริงใจของร้านก็ได้ไม่ติดใจอะไร แต่ก็ขอให้ร้านมีระบบไม่นำสินค้าหมดอายุมาขายอีก ส่วนกระเช้าผู้ร้องไม่อยากได้จึงขอให้ร้านเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปบริจาคให้แก่จังหวัดสมุทรสาคร ร้านยินดีเปลี่ยนจากกระเช้าเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 2,000 ชิ้น และส่งไปบริจาคยังจังหวัดสมุทรสาคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 รู้เท่าทันเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรมาแรงเท่าเครื่องดื่มผสมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ที่โฆษณาขายกันอย่างครึกโครมว่าเพิ่มพลังและดีต่อสุขภาพ มีดารา ศิลปินชื่อดังที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ยี่ห้อต่างๆ จนฉุดยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ คืออะไร         บริษัทเครื่องดื่มสุขภาพกำลังเพิ่มการใส่วิตามินและเกลือแร่ลงไปในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำดื่มสำหรับนักกีฬา และน้ำดื่มธรรมดา เนื่องจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเชื่อว่ามีประโยชน์กว่าการดื่มน้ำธรรมดา ทำให้เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เหล่านี้มีวางขายทั่วไปหมด ตั้งแต่ ในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของในปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ จนถึงร้านอาหารข้างทางเครื่องดื่มวิตามินมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยจริงหรือ         เครื่องดื่มวิตามินต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด อาจมีวิตามินและสารอาหารที่ใส่เข้าไปในปริมาณน้อย บางชนิดก็ไม่มีความจำเป็น บางชนิดถ้าบริโภคในปริมาณมากและระยะยาวอาจเป็นอันตราย         “ปกติ เราได้รับวิตามินและแร่ธาตุตามธรรมชาติจากอาหาร หลายคนยังกินวิตามินเสริมเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมากินเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เพิ่มอีก ทำให้มีการบริโภควิตามินและแร่ธาตุมากเกินกว่าความจำเป็น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Mridul Datta จากภาควิชาโภชนาการ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าว         ทุกวันนี้ งานศึกษาแสดงว่า ประชากรแต่ละคนได้รับวิตามินและแร่ธาตุในระดับที่สูง มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาบริโภควิตามินรวมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมปัง อาหารหลายอย่าง มีการเพิ่มวิตามิน B, A และ D  ในประเทศไทยก็มีการการโฆษณานมผงยี่ห้อต่างๆ ว่ามีสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก              วิตามินที่บริโภคในปริมาณมาก วิตามินบางชนิดละลายในน้ำได้ เช่น วิตามิน B และ C ซึ่งจะขับถ่ายออกทางปัสสาวะ แต่วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น A, D, E และ K จะสะสมในเนื้อเยื่อ และเกิดความเสี่ยง เพราะคงตัว ไม่ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อบริโภคต่อเนื่อง จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งต้องระวัง         งานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA  ปีค.ศ. 2009 ทำการศึกษาคลินิกใน ผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 6,000 ราย ซึ่งได้รับวิตามิน B หรือ ยาหลอกเป็นเวลากว่า 7 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับกรดโฟลิคและ B12 มีอัตราการเสียชีวิตและมะเร็งสูงกว่า         ในปีค.ศ. 2012 การทบทวนการศึกษาทางคลินิกในประชากร 300,000 รายโดย Cochrane พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามิน A, E เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ในปีถัดมา หน่วยงานป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้สรุปว่า “มีหลักฐานจำกัดที่ยืนยันว่า การบริโภควิตามินและแร่ธาตุสามารถป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจได้”เครื่องสุขภาพมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่         การทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ปีค.ศ. 2019 พบว่า ปัญหาใหญ่ของเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพคือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลในปริมาณสูง ก่อให้เกิดโรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน และโรคหัวใจ         เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ที่ขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลายยี่ห้อจึงมีรสหวานเท่ากับหรือมากกว่าน้ำอัดลม ยกเว้นบางประเภทที่บอกว่าน้ำตาลเป็น 0 แต่ก็ใช้รสหวานจากน้ำตาลเทียม         ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มวิตามินหรือแร่ธาตุจึงมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้         สรุป     เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่สามารถมีผลเสียต่อสุขภาพได้ จากวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำตาล ที่บริโภคมากเกินจำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

        เครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตามกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี น้ำดื่มและเครื่องดื่มผสมวิตามินกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะการผสมวิตามินซี ได้กลายมาเป็นจุดขายด้วยการอ้างถึงคุณค่าของวิตามินซีต่อร่างกายและปริมาณเข้มข้นหรือสูงกว่าร้อยละของ RDI ที่แนะนำให้คนไทยบริโภคต่อวัน คือ 60 มิลลิกรัม เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทำให้มีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  ประมาณกันว่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาทและโตต่อไปได้ถึง 7,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2563)         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวนทั้งหมด 47 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคว่าการกล่าวอ้างวิตามินซีสูงนั้นเป็นไปตามคำอ้างหรือไม่ เพราะทราบกันดีว่า วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่สลายตัวได้ง่าย เรามาดูผลตรวจวิเคราะห์กันเลยว่าเป็นอย่างไรในหน้าถัดไป สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ทั้งหมด 47 ตัวอย่าง พบว่า         - จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลากร้อยละ 30           - จำนวน 8 ตัวอย่าง ไม่พบวิตามินซี ได้แก่        1) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน)         2) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ กราสเจลลี่  (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)         3) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200         4) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่         5) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร        7) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน         8) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน         - จำนวน 10 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีตามที่ระบุไว้บนฉลาก ไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30          ที่มาเรื่องส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารต้องไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30        1.เครื่องดื่มผสมวิตามิน ซี จัดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท         2.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522         3.เป็นอาหารทั่วไป ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีปริมาณวิตามิน ซี เท่าไร         4.แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างบนฉลาก จึงอยู่ในเกณ์ กฎหมายอาหาร มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         5.มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตราย         6.จาก ข้อ 5. ผลทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากคือ มีทั้งปริมาณมากกว่าและน้อยกว่าร้อยละ 30  โดยการกล่าวอ้างว่ามีวิตามินซี ร้อยละ 200 ต่อ RDI (120 มิลลิกรัม)  ควรมีปริมาณวิตามินซีอยู่ในช่วง 84-156 มิลลิกรัม และไม่พบวิตามินซีเลยจำนวน 8 ตัวอย่าง อาจจะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมหรือไม่         ข้อเสนอต่อหน่วยงาน        1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ อย. ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก         2.อย.ควรกำหนดให้มีคำเตือน เรื่อง การดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซีไว้บนฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค         3.อย.ควรมีมาตรการในเรื่องของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังได้รับการขึ้นทะเบียน (Post Marketing) ว่าเป็นไปตามที่ได้แจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หรือไม่         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         1.ควรบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงจากแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ ผักและผลไม้        2.เลือกเครื่องดื่มผสมวิตามินที่อยู่ในภาชนะและการเก็บรักษาที่เหมาะสม เช่น ทึบแสง เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ วันผลิตใหม่  และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมมากเกินไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

        ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)         สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย         แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี         ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น)         ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)         หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า          ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี...          ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ         เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate         บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต          จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 กระแสต่างแดน

ผมแก้บน         ร้อยละ 70 ของวิกผมในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ เป็นวิกที่ผลิตในประเทศจีน และหนึ่งในสามของ “ผม” ที่นำมาทำเป็นวิกเหล่านั้นมาจากอินเดียผม “คุณภาพพรีเมียม” เหล่านี้ได้จากญาติโยมที่มา “แก้บน” ด้วยการโกนศีรษะถวายเป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่วัดศรีเวงกเฏศวรา ในเมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศร้อยละ 30 – 50 ของผู้คนหลายหมื่นคนที่เดินทางมายังวัดนี้ในแต่ละวันคือผู้ที่มาแก้บนหลังได้รับพรจากพระนารายณ์ให้มีบุตร มีบ้าน มีรถ หรือหายจากอาการป่วย ฯลฯทางวัดมีเจ้าหน้าที่คอยรวมรวมผมที่ถูกโกนทิ้ง แล้วนำไปทำความสะอาด หวีให้เรียบร้อย แล้วจัดเก็บในโกดัง ทุกๆ โดยจะนำออกมาประมูลขายออนไลน์ทุกสองหรือสามเดือน ผู้ที่เข้ามาประมูลซื้อก็คือบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผมไปยังจีนหรือฮ่องกงนั่นเองผมของผู้คนประมาณ 12 ล้านคนต่อปีนี้ทำให้วัดมีรายได้ประมาณ 17 ล้านเหรียญ ที่วัดนำไปใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า รวมถึงทำอาหารเลี้ยงญาติโยมที่มาทำบุญหอมซ่อนเสี่ยง         สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนของไต้หวันกำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศแบน “บุหรี่แต่งกลิ่น” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นมีข้อมูลที่ยืนยันว่าบุหรี่ชนิดนี้เป็นตัวเลือกของร้อยละ 40 ของนักสูบที่อยู่ในวัยทีน และยังเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงค่อนข้างมาก ที่สำคัญผู้สูบมักรู้สึกว่าบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารักแบบนี้มีอันตรายนิ้ยดว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ปริมาณนิโคตินไม่ต่างกัน    จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา “กลิ่น” ที่ว่านี้มีให้เลือกไม่ต่ำกว่า 1,200 กลิ่น สำนักงานฯ จึงเตรียมเสนอให้มีการจำกัดการใช้สารเคมีในการแต่งกลิ่นยอดนิยมอย่าง วานิลา เมนทอล อัลมอนด์ คาราเมล ในการแก้ไขพรบ. ป้องกันอันตรายจากยาสูบด้วยปัจจุบันมี 39 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนบุหรี่แต่งกลิ่น เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา บราซิล ตุรกี และสิงคโปร์ กินหวานช่วยชาติ         อัตราการบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 23 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี แต่สำหรับอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก (ผลัดกันครองแชมป์กับบราซิล) ผู้คนกลับบริโภคน้ำตาลเพียงคนละ 19 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นอินเดียประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นส่งเสริมให้เกษตรกรในชนบทปลูกอ้อยกันมากขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลจึงออกมาเรียกร้องให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ควรเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะได้เพิ่มเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี เหลือส่งออกน้อยลง ประหยัดเงินที่รัฐต้องใช้อุดหนุนการส่งออกได้ไม่น้อยผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลกได้แก่ สหภาพยุโรป อันดับสี่คือประเทศไทย ส่วนจีนนั้นเข้ามาที่อันดับห้าจากข้อมูลล่าสุด อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่คนละ 43.4 กิโลกรัมต่อปี ช้อปล้างแค้น         งานช้อปออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ “วันคนโสด” ปีนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคคงจะ “ช้อปล้างแค้น” ที่อดไปเที่ยวเพราะการระบาดของโควิด-19 งานนี้เขาเตรียมพนักงานไว้กว่า 3 ล้านคน เครื่องบินและเรือสินค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ลำ และรถโมบายล็อคเกอร์อีก 10,000 คัน  จากสถิติปีที่แล้วมียอดขาย 210,000 ล้านหยวน (สองเท่าของยอดขายในวันแบล็คฟรายเดย์และวันไซเบอร์มันเดย์รวมกัน) โดยสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามแม้จะเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว แต่งานช้อปแห่งปีของจีนแผ่นดินใหญ่ปีนี้คึกครึ้นยิ่งกว่าเคย และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากได้แก่ วิตามิน เครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และกล่องเครื่องมือ DIY หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็คาดว่าขายดีขึ้นเช่นกันงานนี้ยังมีบ้าน/คอนโด ลดราคาท้าโควิดให้เลือกซื้อกันถึง 800,000 แห่ง และรถอีก 200,000 คันคิดบวก         งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่พบความแตกต่างทางสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างคนที่ทานวิตามินทุกวันกับคนที่ไม่ได้ทานจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 20,000 คน (ประกอบด้วยผู้ที่ทานวิตามินเป็นประจำ 5,000 คน และผู้ที่ไม่ทาน 16,660 คน) ในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และประวัติทางการแพทย์ แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดทางสุขภาพ 5 รายการ นักวิจัยพบว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันที่น่าสนใจคือเขาพบว่าผู้บริโภควิตามินนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจและความกังวลเรื่องสุขภาพมากทั้งๆ ที่ตนเองมีสุขภาพดีอยู่แล้ว และร้อยละ 30 ของกลุ่มที่ทานวิตามินนั้น “รู้สึก” ว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น   “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นนี้จึงน่าจะเป็นเพราะพวกเขาคาดหวังเช่นนั้นนักวิจัยย้ำว่าการรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์จริงกับคนที่ร่างกายขาดวิตามินส่วนคนที่ไม่ได้ขาดวิตามินก็ถือว่าช่วยทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายแสนล้านก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลยแต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร         เครื่องดื่มผสมวิตามินซี        ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า        ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี....         ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ        เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrateบทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต         จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง และมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

วันนี้ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)        2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021  )        3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน  ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021  )        4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )        5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021  )        7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)          และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก          ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อนอย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chaladsue.com* Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

เครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติบโตทางการตลาดสูงในปัจจุบันก็คือ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี โดยมีมูลค่าการตลาดเมื่อปี 2562 สูงถึง 933 ล้านบาทและก้าวเข้าสู่หลัก 1,300 ล้านบาทในปี 2563          เครื่องดื่มผสมวิตามินซีนั้น จัดเป็นเครื่องดื่มประเภทฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) หรือ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Health Beverage) เครื่องดื่มเหล่านี้จะอ้างสรรพคุณว่าเพิ่มเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่น เสริมกรดอะมิโน, ช่วยเผาผลาญไขมัน, ช่วยชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการออกกำลังกาย, ผสมสารสกัดจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่าง ๆ จนไปถึงคอลลาเจนและสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเครื่องดื่มผสมวิตามินซีจะเน้นการโฆษณาที่จุดขายนี้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 21 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ว่าเป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหรือไม่ โดยผลตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางหน้าถัดไป                                                                                                ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น                                                                                                เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกรกฎาคม 2563                                                                                                *ค่า RDI (สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน  สรุปผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี          จากผลการทดสอบ พบว่า        (1) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี มากที่สุด ได้แก่              - เครื่องดื่มวู้ดดี้ ซี+ล็อค วิตามินซี 200% (ขนาด 140 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 496.76 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (140 มล.)                 หรือเท่ากับ 354.83 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (2) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี น้อยที่สุด ได้แก่             - อควาฟิน่า ไบโอ น้ำผสมวิตามินซี กลิ่นออเร้นจ์โรส (ขนาด 350 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 30.73 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (350 มล.)                หรือเท่ากับ 8.78 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (3) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบไม่พบปริมาณวิตามินซีเลย จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่                1) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 (ขนาด 345 มล.)                 2) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ออเรนจ์ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสส้ม 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร (ขนาด 100 มล.)                      3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)                4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นส้มผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)        (4) เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 11 ตัวอย่างที่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลาก และจำนวน 10 ตัวอย่างไม่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหมายเหตุ ค่า RDI ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน (Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)  ข้อแนะนำในการบริโภค        หากเลือกซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินซี นอกจากเรื่องรสชาติความชอบ ปริมาณวิตามินซี และราคาแล้ว ผู้บริโภคอาจสังเกตฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย เพราะบางยี่ห้อนั้นมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หรือดูข้อมูลการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติม เพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท เช่น โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria)วิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ร่างกายจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยร่างกายควรได้รับวิตามินซีไม่น้อยกว่า 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรืออยู่ในช่วง 100 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากได้รับในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 75 เปอร์เซ็นต์วิตามินนั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามินซีนั้นตัวมันเองไม่ได้รักษาโรคหวัด แต่สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหวัดได้ แต่หากร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไป ก็จะขับออกทางปัสสาวะโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และวิตามินซีนั้นมีคุณสมบัติเป็นกรด เมื่อถูกขับออกทางไตบ่อย ๆ อาจทำให้ไตระคายเคืองจนก่อให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานวิตามินซีอย่างพอเหมาะทั้งนี้ นอกจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถบริโภควิตามินซีจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินซีแบบเม็ดเป็นอีกทางเลือกก็ได้ หรือ การรับประทานผักหรือผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ฝรั่ง, มะขามป้อม, มะเขือเทศ, พริกหวาน, ผักคะน้าข้อมูลอ้างอิง- วิตามินและแร่ธาตุ  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/413) - วิตามินซีกับการป้องกันหวัด  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17) - วิตามินซี (Vitamin C) ประโยชน์ของวิตามินซี 18 ข้อ !  (https://medthai.com/วิตามินซี/) - ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับ     (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/7189/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 คนไทยขาดวิตามินดี...ได้ไง

คนไทยไม่ควรขาดวิตามินดี เพราะเราอาศัยในประเทศเขตร้อนที่อุดมด้วยแสงแดด คนทางซีกโลกตอนเหนือตั้งแต่เส้นแวงที่ 23.5 องศาเหนือขึ้นไปและซีกโลกตอนใต้ตั้งแต่เส้นแวงที่ 23.5 องศาใต้ลงไป ซึ่งเป็นประเทศเขตอบอุ่นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เพราะภูมิศาสตร์โลกบริเวณนั้นกำหนดให้ช่วงเวลามีแสงแดดในบางฤดูสั้นเกินไปและบางช่วงของปีอากาศหนาวเกินกว่าที่จะออกมาสัมผัสแสงแดดได้ คำอธิบายเรื่องวิตามินดีกับแสงแดดนี้ถูกสอนกันมานานเท่านานแล้ว และมันยังเป็นจริงอยู่หรือ คำตอบคือ ใช่และไม่ใช่ ขึ้นกับปัจจัยบางประการในปัจจุบัน ก่อนอื่นคนไทยส่วนใหญ่มักลืมว่า วิตามินดีนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่วิตามินในความหมายทางสรีรวิทยาและชีวเคมี ทั้งนี้เพราะมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เองโดยอาศัยรังสีอัลตราไวโอเล็ตชนิด UVB ในแสงแดดมากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารชีวเคมีที่มีอยู่ในร่างกายคือ ดีไฮโดรคลอเลสเตอรอล (7-dehydrocholesterol ซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายสังเคราะห์ เพื่อเปลี่ยนต่อไปเป็นโคเรสเตอรอลด้วยระบบเอ็นซัมในสัตว์เลือดอุ่นต่างๆ) ซึ่งลอยอยู่ในหลอดเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมนุษย์ ผลที่ได้คือ คลอลีคัลซิเฟอรอล (cholecalciferol) ที่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อผ่านไปที่ตับและไปที่ไต จึงได้เป็นวิตามินดี 3 ซึ่งเป็นรูปของวิตามินดีที่ออกฤทธิ์ในร่างกายกล่าวกันว่า จริงแล้ววิตามินดีทำหน้าที่เป็นฮอร์โมน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของหน่วยพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นแคลเซียมจึงถูกใช้ในการสร้างและดำรงสถานภาพของกระดูกให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมประสิทธิภาพการสร้างวิตามินดีนั้น มีปัจจัยหนึ่งที่กำหนดคือ สีผิว ซึ่งขึ้นกับเม็ดสีเมลานินที่ร่างกายสร้างขึ้นสะสมเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าคือ แสงแดด คนที่มีสีผิวเข้มกว่าย่อมรับแสงอัลตราไวโอเล็ทได้น้อยกว่าคนที่มีผิวขาวกว่า ดังนั้นในคนสองคนที่มีสีผิวเข้มไม่เท่ากัน เมื่อยืนรับแสงแดดที่ตำแหน่งเดียวกันของโลกด้วยเวลาเท่ากันจึงสร้างวิตามินดีไม่เท่ากัน  คนไทยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีหรือไม่ ถ้าตอบว่า ไม่ นั้นหมายถึงเขาหรือหล่อนผู้นั้น เป็นผู้มีโอกาสสัมผัสแสงแดดอันอบอุ่นตอนเช้าและเย็นระหว่างการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ โดยแดดที่สัมผัสต้องไม่ทำให้ผิวหนังร้อนจนแดง ดังนั้นการออกกำลังกายกลางแจ้งของนักเรียนในตอนสายหรือหลังเที่ยงนั้น จึงเป็นความทารุณต่อนักเรียนอย่างแท้จริง ส่วนคำตอบว่า ใช่ คนไทยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีนั้น ก็เป็นจริงได้ด้วยเหตุผลในหลายกรณี เช่น ในคนที่รักนวลสงวนผิวไม่ให้ถูกแดดเพราะต้องการมีผิวสีซีดที่เข้าใจเอาเองว่าสวย ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าคลุมทั้งตัวตามข้อกำหนดทางศาสนา ผู้ที่ออกจากบ้านตั้งแต่ไก่โห่คือ ยังไม่มีแสงแดด แล้วทำงานในตึกที่ติดฟิลม์กันแดดไม่ได้โผล่ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันจนค่ำจึงกลับบ้าน ครั้นถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตื่นนอนสายตะวันโด่ง แดดร้อนจ้าเกินกว่าจะสัมผัสได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมีงานวิจัยของนักวิจัยไทยปรากฏในวารสาร Dermato-Endocrinology เมื่อปี 2013 เรื่อง Vitamin D status and sun exposure in Southeast Asia ได้สำรวจโดยการเจาะเลือดคนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้ววิเคราะห์ปริมาณวิตามินดีพบว่า ความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีนั้นอยู่ในช่วงร้อยละ 6-70 ซึ่งขึ้นกับการใช้ครีมกันแดด การนับถือศาสนาที่มีประเพณีการสวมเครื่องแต่งกายที่ปกปิดทั้งร่างกาย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน อาหารและโภชนาการ ที่สำคัญคือ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น บางกลุ่มชนมีแนวโน้มต่อการขาดวิตามินดีเพิ่มขึ้น คำแนะนำที่สำคัญคือ แสงแดดที่ช่วยสร้างวิตามินดีนั้น ต้องเป็นแสงที่ส่องตรงลงผิวไม่ใช่แสงที่ผ่านกระจกเพราะกระจกสามารถยับยั้งแสง UVB ได้ อีกทั้งคนไทยควรได้รับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสม(เช้าตรู่หรือใกล้พลบ) ที่บริเวณ ผิวหน้า แขน ขา ประมาณ 5-30 นาที อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการที่แสดงว่าขาดไวตามินดีเรื้อรังคือ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูกชาวเกาหลี ซึ่งอยู่ในเขตอบอุ่นเหนือของโลกนั้น เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมากพอสมควร งานวิจัยเรื่อง Vitamin D Status in Korea ตีพิมพ์ในวารสาร Endocrinology and Metabolism ของปี  2013 นั้นระบุว่า ในเกาหลีใต้นั้น การขาดวิตามินดีพบมากในเด็กวัยรุ่นมากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กติดมือถือจึงต้องการอยู่แต่ในที่ร่มเพื่อเขี่ยหน้าจอให้หนำใจ ต่างจากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่มีความชุกในการขาดวิตามินดีน้อยกว่า บทความกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาของสองประเทศนี้ว่า ทำโดยกระตุ้นให้มีการเพิ่มวิตามินดีสังเคราะห์ในอาหารหรือให้มีการกินวิตามินดีเม็ดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีขนาดของประเทศตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 8 องศาเหนือถึง 34 องศาเหนือนั้นก็ยังมีกรณีที่ชาวอินเดียขาดวิตามินดีเช่นกัน มีรายงานวิจัยเรื่อง Vitamin D status and sun exposure in India ในวารสาร Dermato-Endocrinology ของปี 2013 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาการรับแสงแดดทั้งปีที่เหมาะสมต่อชาวอินเดียในเมือง Tirupati ซึ่งมีตำแหน่งเส้นรุ้งที่ 13.4 เหนือ เส้นแวงที่ 77.2 ตะวันออก สัมผัสแสงแดดวันละ 4 ชั่วโมงโดยมีส่วนของร่างกายสัมผัสแดดร้อยละ 35 แต่ก็ยังพบว่า ชาวบ้านในเมืองนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีได้ นักวิจัยจึงทดลองดูว่า ช่วงเวลาการสัมผัสแสงแดดช่วงเวลาใดของเมืองนี้ที่ทำให้มีการสร้างวิตามินดีสูงสุด การทดลองนั้นไม่ยาก นักวิจัยได้นำดีไฮโดรโคเลสเตอรอลใส่ภาชนะแช่ไว้ในอ่างน้ำแข็ง (เพื่อตัดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ) แล้ววางไว้กลางแดดในช่วงเวลาที่ต่างกันตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา (โดยมีภาชนะใส่สารแบบเดียวกันแต่มีแผ่นอะลูมิเนียมบังป้องกันแดดเป็นตัวควบคุม) จากนั้นนำแต่ละภาชนะใส่ตัวอย่างที่ได้รับแสงช่วงเวลาต่างกันไปวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินดีที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่า ช่วงเวลา 11 นาฬิกาถึง 14 นาฬิกา ของทั้งปี เป็นช่วงที่มีแดดเหมาะสมต่อการสังเคราะห์วิตามินดีมากที่สุด ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ใครตากแดดโดยไม่ใส่เสื้อผ้าคงถูกแดดเผาจนผิวไหม้แน่ แสดงว่า ตำแหน่งของเมืองตามภูมิศาสตร์นั้น เป็นตัวกำหนดหนึ่งของช่วงวันที่ควรสัมผัสแสงแดดเพื่อให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีมากที่สุดช่วงอายุของคนนั้นดูมีความสำคัญต่อการสร้างวิตามินดีเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ใช่ผลโดยตรงเนื่องจากทางสรีรวิทยาของร่างกาย เพราะจริงแล้วเมื่อแก่ตัวลงร่างกายจะสร้างสารต่างๆ ได้น้อยลง แต่ในคนสูงอายุบางคน (เช่นผู้เขียน) กลับมีโอกาสสัมผัสแสงแดดมากกว่าหนุ่มสาว เนื่องจากไม่ต้องทำงานประจำในที่ร่มแล้ว ว่างเมื่อใดก็ออกกลางแจ้งได้ตามใจปรารถนา มีเรื่องน่าสนใจในประเด็นการไม่อยู่ในที่ร่มของคนเกาหลีใต้ รัฐบาลประเทศนี้ใส่งบประมาณลงไปในชุมชนต่างๆ ที่มีคนสูงอายุ เพื่อให้เงินนี้ไปส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย (http://koreabizwire.com/government-to-support-seniors-living-alone/6985) ด้วยการจัดให้มีการจับคู่กันในหมู่คนโสดหรือเป็นหม้าย ไม่ว่าเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ได้มีโอกาสออกทำกิจกรรมกลางแสงแดดในช่วงที่มีอากาศเหมาะสม ทั้งนี้เพราะคนเกาหลีนั้นเชื่อในคำกล่าวที่ว่า แค่เพื่อนคนเดียวก็ทำให้มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้สังสรรค์กัน แล้วได้วิตามินดีเป็นของตอบแทนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 วิตามินซีต้านหวัด...หรือ!!!!

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ข้อมูลว่า วิตามินซีนั้นช่วยป้องกันหวัด (และเลยเถิดไปถึงการป้องกันมะเร็ง) โดยอ้างถึงความเชื่อในเรื่องนี้ของ ดร.ไลนัส พอลิ่ง (Dr. Linus Pauling เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งในสองคนของโลกที่ได้รางวัลโนเบลถึงสองสาขา) ซึ่งทุ่มเทความรู้ความสามารถพยายามพิสูจน์ในคุณประโยชน์ของวิตามินซีในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้มีคนศรัทธาเชื่อตามในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ขายวิตามินซีเป็นอาชีพอย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของวิตามินซีอย่างลึกซึ้ง หรือได้เรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับที่สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป มักเคยพบข้อมูลเกี่ยวกับความสงสัยในเรื่องนี้ว่า “วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ” เพราะเมื่ออ่านผลการศึกษาทางระบาดวิทยาแล้ว ส่วนใหญ่มักออกมาในแบบไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน อาจเนื่องจากมนุษย์กินอาหารที่เป็นของผสมซึ่งซับซ้อนจนยากในการแยกแยะว่า การที่ใครสักคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใดมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับสารอาหารชนิดใด เพราะส่วนใหญ่มักเป็นผลที่เกิดเนื่องจากรูปแบบการกินอาหารมากกว่า ดังนั้นความเชื่อเรื่องการเสริมวิตามินซีในระดับสูงกว่าที่มนุษย์กินเป็นปรกติจากอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดนั้น จึงดูว่า ยังสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้วิตามินซีนั้นเป็นสารชีวเคมีที่มนุษย์สร้างเองในร่างกายไม่ได้ ต้องแสวงหาโดยการกินผักใบเขียว มะเขือเทศ พริก ฯลฯ และกินผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก สตอร์เบอร์รี่ ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิตามินซีอันสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา วิตามินซีมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างโปรตีนชนิดที่เรียกว่า คอลลาเจน(โดยในกระบวนการสร้างนั้นมีเอ็นซัมหนึ่งในหลายชนิดที่มีวิตามินซีเป็นตัวช่วยสำคัญร่วมทำหน้าที่นี้) โปรตีนชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue) ในร่างกายเราซึ่งพบได้ที่ ผิวหนัง เหงือก กล้ามเนื้อ ข้อต่อของร่างกาย หลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายต้องซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด วิตามินซีต้องถูกเรียกใช้งานเป็นประจำ อีกทั้งความสามารถในการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นดัชนีชี้วัดความแก่ของเราที่มองเห็นด้วยสายตาของผู้อื่นประการสำคัญที่เกี่ยวกับการป้องกันหวัดคือ วิตามินซียังเป็นหนึ่งในสารอาหารอีกหลายชนิดที่เชื่อกันว่า จำเป็นต่อระบบภูมิต้านทาน ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า การกินวิตามินซีชนิดเดียวมากๆ เข้าไปนั้นอาจช่วยป้องกันหวัดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะระบบภูมิต้านทานที่ลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดของเรานั้นต้องอาศัยสารอาหารอื่นร่วมด้วยคือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบ วิตามินเอ แร่ธาตุเช่น สังกะสี และอื่นๆ มาร่วมทำงานกับวิตามินซี ข้อมูลจากบทความเรื่อง Can vitamin C prevent a cold ? ซึ่งปรากฏใน Harvard Health Letter ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017 นั้นเล่าถึงผลสรุปของการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมหลักฐานจากการศึกษา 29 ชิ้น มีอาสาสมัครร่วมงานวิจัยกว่า 11,000 คน แสดงให้เห็นว่า วิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวันที่ให้แก่นักวิ่งมาราธอน นักกีฬาแข่งสกี และทหารประจำการที่ฝึกหนักในบริเวณที่มีอากาศหนาวนั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่วิตามินซีขนาดเดียวกันไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดในกลุ่มคนธรรมดาซึ่งไม่ได้ออกแรงเท่าใดนักในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลที่ทำให้คนขายวิตามินซีใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่งว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับวิตามินซี(ทั้งจากอาหารหรือการเสริม) ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวันนั้นช่วยให้จำนวนวันของการเป็นหวัดในผู้ใหญ่ลดลงร้อยละ 8 และลดลงร้อยละ 14 ในเด็ก ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คำนวนต่อได้ว่า วิตามินซีน่าจะช่วยให้วันที่คนไม่สามารถทำงานเพราะเป็นไข้หวัดนั้นกลับคืนมามากว่า 23 ล้านวันทำงานต่อปีทีเดียว บทสรุปที่ได้จากบทความของ Harvard Health Letter ฉบับที่อ้างถึงข้างต้นนี้คือ ถ้าต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรได้รับวิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวัน(ไม่ว่าจากการเสริมหรือจากอาหาร) พร้อมกับมีการใช้แรงกายมากพอจึงได้ผลดี(ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการเสริมแคลเซียมที่ต้องออกกำลังกายด้วยหลังกินแคลเซียมเม็ดเพื่อให้ได้ผลในการลดความเสี่ยงของอาการกระดูกบาง) ที่สำคัญคือ ต้องกินวิตามินซีก่อนเป็นหวัด ไม่ใช่เป็นหวัดแล้วจึงกินซึ่งช่วยได้แค่ทางใจนอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดที่ผู้เขียนคิดว่า น่าจะใช่ กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องไปในสถานที่ที่มีคนน่าจะเป็นหวัดเยอะเช่น โรงพยาบาลของราชการ(โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มักไม่จอแจและมีระบบระบายอากาศดีเป็นไปตามค่าบริการที่ค่อนข้างสูง) โรงภาพยนตร์ รถประจำทางปรับอากาศรุ่นโกโรโกโส เป็นต้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคือ การได้รับวิตามินซีจากอาหารและจากการเสริมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีความแตกต่างกันในบริบทของการได้รับสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะวิตามินซีที่ขายเป็นเม็ดนั้นคือ กรดแอสคอบิค(ชื่อทางเคมีของวิตามินซี) มักถูกผสมกับแป้งพร้อมน้ำตาลทราย และอาจมีการเพิ่มสารสกัดจากธรรมชาติบางชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ นัยว่าฟลาโวนอยด์นั้นช่วยให้การดูดซึมวิตามินซีให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการใช้คำเฉพาะเพื่อส่งเสริมการขายเช่น Bio-vitamin C โดยหวังให้ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่า สินค้าที่ระบุแบบนี้เป็นวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมักมีราคาที่แพงขึ้นกว่าวิตามินซีเม็ดที่สังเคราะห์ในโรงงาน ดังนั้นถ้าจะให้การกินวิตามินซีได้ผลดีท่านผู้บริโภคควรกินในรูปผลไม้เพื่อให้ได้ฟลาโวนอยด์ไปพร้อมกันกับความอร่อยของผลไม้นั้นอีกประเด็นที่หลายท่านมักเข้าใจผิดว่า อาหารที่มีวิตามินซีสูงต้องมีรสเปรี้ยว ดังเช่นเมื่อกินผลไม้ตระกูลส้มซึ่งมักมีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ แล้วได้วิตามินซีในระดับน่าพอใจ เลยเข้าใจว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งก็น่าจะได้วิตามินซีในระดับสูงเช่นกัน เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกนักเพราะ รสชาติที่แท้จริงของวิตามินซีคือ ขม ดังนั้นผลไม้ที่ขม เช่น มะขามป้อม จึงมีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว อีกทั้งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมักระบุว่า สามารถพบวิตามินซีระดับสูงได้ในอาหารที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น พริกหวาน บรอคโคลี กะหล่ำดาว (Brussels sprout) ฯลฯ และการที่ผู้ค้าวิตามินซีเม็ด นำเอาน้ำตาลทรายและกรดมะนาวมาปิดบังความขมของวิตามินซีชนิดเม็ดนั้น เป็นการทำให้เด็กติดในรสชาติหวานอมเปรี้ยวซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า วิตามินซีเม็ดนั้นเป็นลูกอมที่มีประโยชน์ปราศจากโทษ น่าจะอมเล่นได้ทั้งวัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการได้รับวิตามินนี้เกินควร จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าอมวิตามินซีมากเกินจำเป็นแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ ข้อมูลชิ้นหนึ่งซึ่งสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า การกินวิตามินซีเสริมในระดับ 2000 มิลลิกรัมต่อวันนั้นมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า วิตามินซีปริมาณสูงมากๆ นั้นเป็นสาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการที่ไม่มีนอกมีในกับบริษัทผู้ค้าวิตามินชนิดนี้ส่วนใหญ่ มักแนะนำผู้บริโภคว่า การกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงดีกว่าการกินวิตามินซีเม็ด เพราะเมื่อกินจากอาหารจะได้ความอร่อยในภาพรวมมากกว่าการกินสิ่งที่เป็นเม็ด ซึ่งอาจมีแค่ความเปรี้ยวหวานหลอกเด็ก ประการที่สำคัญคือ การกินจากอาหารมักทำให้ได้วิตามินซีพร้อมสารอาหารอื่น ซึ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย อย่างไรก็ดีเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถกินผักผลไม้สดได้ วิตามินซีที่เป็นเม็ดก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 วิตามินอีกับมะเร็ง

ผู้เขียนได้รับข่าวงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ (มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง) ฟรีจากวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ใจกว้างมากฉบับหนึ่งเป็นประจำ ในข่าวประจำวันที่ 29 เดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พบหัวข้อข่าวที่น่าสนใจว่า “Study suggests supplements such as vitamin E promote tumour growth.” ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า มีการศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินอีนั้นเป็นการสนับสนุนการเจริญของเนื้องอก เนื้อข่าวกล่าวว่า ในการทดลองให้หนู mouse(ซึ่งคล้ายหนูถีบจักรสีขาวที่มีขายที่สวนจตุจักร) กินสารต้านออกซิเดชั่น(ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า สารต้านอนุมูลอิสระ) คือ วิตามินอี หรือ เอ็น-อะเซ็ตติลซิสตีอีน  (N-acetylcysteine (NAC)) แล้วกลับพบว่า เป็นการสนับสนุนการขยายขนาดของเนื้องอก ไม่ใช่ไปยับยั้งตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine ซึ่งคงไม่ถูกใจพระเดชพระคุณนับล้านคนที่กลืนเม็ดวิตามินอีในลักษณะอาหารเสริมเป็นประจำ ในสหรัฐอเมริกานั้นเคยมีการสำรวจว่า ผู้ใหญ่ราวร้อยละ 11 กินวิตามินอีเสริมในขนาด 400 IU หรือมากกว่า(ซึ่งขนาดที่นักวิชาการแนะนำว่า มนุษย์ธรรมดาควรได้รับจากอาหารคือ 22.4 IU) ด้วยความหวังว่าวิตามินอีและสารต้านออกซิเดชั่นอื่นๆ จะไปช่วยสกัดกั้นอนุมูลอิสระที่เป็นผลพลอยได้จากการใช้พลังงานและการทำงานในระบบภูมิต้านทานของร่างกาย(ส่วนใหญ่เป็นอนุมูลที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบที่มีความไวในการทำปฏิกิริยาชีวเคมีกับสารอื่นในเซลล์) ไม่ให้ไปทำอันตรายชีวโมเลกุลอื่นๆ ในเซลล์   เพราะบางครั้งเกิดมากเกินจำเป็น จนก่อความเสียหายแก่ดีเอ็นเอ (ตัวกำหนดการทำงานของเซลล์) ซึ่งความเสียหายนั้นอาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอกและมะเร็ง   โดยปรกติแล้วเรามักคิดว่า สารต้านออกซิเดชั่นนั้นเป็นตัวลดการเกิดอันตรายในลักษณะนี้ได้ จึงนำไปสู่ธุรกิจการขายสารต้านออกซิเดชั่นต่าง ๆ เช่น วิตามินอี เบต้าแคโรทีน วิตามินซี สารสกัดจากใบไม้ เปลือกไม้ เปลือกผลไม้ เมล็ดพืช และอื่นๆ อีกมากมาย ให้แก่ผู้บริโภคที่ประเมินตนเอง(ตามคำแนะนำของผู้ขายสินค้า วิทยากรในรายการโทรทัศน์ดาวเทียมและฟรีทีวีต่างๆ) ว่ามีความเสี่ยงต่ออันตรายดังกล่าว รายงานการวิจัยใน 1994 เกี่ยวกับการที่เบต้าแคโรทีนไปส่งเสริมการเกิดมะเร็งปอดของอาสาสมัคร 29,133 คนที่เป็น สิงห์อมควันนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงหลายครั้งในหลายโอกาสแล้ว เพราะข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นตำนานในการเรียนการสอนด้านระบาดวิทยาของโรคที่ไม่ติดต่อในมนุษย์ที่พบว่า การเสริมสารเคมีเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านระบบที่ไม่ใช่การกินจากอาหารแล้วส่งผลเสียได้เหมือนกัน ข่าวจาก Nature เล่าถึงกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกเต็นเบอร์ก ประเทศสวีเดน (University of Gothenburg เขียนเป็นภาษาสวีดิชว่า  Göteborgs universitet) ที่พบว่า การให้สาร NAC แก่หนู mouse ที่ตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นมะเร็งปอดได้ง่ายนั้น แทนที่จะเป็นการไปลดการเกิดมะเร็งกลับเป็นการเพิ่มการเกิดมะเร็งถึง 3 เท่าของกลุ่มที่ไม่ได้รับสารนี้ ก่อนอื่นต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า NAC หรือ N-acetylcysteine นั้นเป็นยาที่ลดอาการไอจากเสลด ใช้ล้างพิษพาราเซตตามอลที่มากเกินไป แต่ปัจจุบันถูกขายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพราะต้านการออกซิเดชั่นได้ดีกว่า L-Cysteine และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไธโอนในร่างกาย จึงมีการโฆษณาขาย(โดยไม่ขออนุญาต อย.) ว่า กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน บำรุง และปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษ ควบคุมการผลิตเม็ดสีเมลานินในร่างกาย รักษาแผลหลังผ่าตัดหรือแผลที่เกิดจากรอยไหม้ ปกป้องผิวจากการถูกรังสีเผาไหม้ และป้องกันการเกิดมะเร็งจากสารเคมีในควันบุหรี่ ฯลฯ ดังนั้นผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกเต็นเบอร์ก จึงไปลบล้างคำโฆษณาเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งปอด ทั้งที่ความจริงแล้วถ้ากลูตาไธโอนเกิดขึ้นเองในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว สารนี้จะเป็นสารที่ใช้จับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย สิ่งที่น่าสนใจจาก Nature ต่อไปคือ คณะนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ทำการวิจัยลึกลงไปอีกว่า การเสริมสารต้านออกซิเดชั่นคือ วิตามินอีให้แก่หนูในขนาดที่มากกว่าที่มนุษย์ควรได้รับในแต่ละวัน 5 ถึง 50 เท่า(ซึ่งปรกติถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขายให้คนนั้นจะมากกว่า  4 ถึง 20 เท่า) นั้น ไปเสริมการเกิดมะเร็งที่ปอดถึงสามเท่า เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการเสริมสารต้านออกซิเดชั่น ที่หนักไปกว่านั้นคือ การเสริมสารต้านออกซิเดชั่นทั้งสองชนิดนั้น ทำให้หนูตายด้วยมะเร็งเร็วกว่าปรกติถึงสองเท่า ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ในการศึกษาโดยใช้เซลล์มะเร็งปอดจากหนูหรือคนในห้องปฏิบัติการนั้น พบว่า สารต้านออกซิเดชั่นที่ผสมในอาหารเลี้ยงเซลล์กลับช่วยปกป้องหน่วยพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงไว้ให้เข้มแข็ง จึงทำให้ผู้วิจัยเข้าใจว่าสารต้านออกซิเดชั่นนั้นไปลดการทำงานของยีนที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบและทำลายดีเอ็นเอที่กลายพันธุ์ไปแล้วของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดีเนื่องจากผลการศึกษานั้นเป็นการทำให้ห้องปฏิบัติการ ผู้ทำวิจัยจึงระบุในการแถลงข่าวว่า มันอาจยากที่จะแปลผลไปสู่มนุษย์ และที่สำคัญยีนมะเร็งของหนูที่ใช้ทดลองนั้นได้ถูกกระตุ้นให้ทำงานแล้ว(เนื่องจากหนูนั้นถูกตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นมะเร็งได้ง่าย) ซึ่งต่างกับมนุษย์ทั่วไปที่ยีนมะเร็งอาจอยู่สงบเป็นพรหมลูกฟักตลอดไป ถ้าไม่มีสารก่อมะเร็งไปกระตุ้นให้ตื่น ดังนั้นการทดลองของผู้วิจัย(จึงเหมือนเสียเปล่าเพราะ) ไม่ได้ระบุว่าสารต้านออกซิเดชั่นมีผลอะไรต่อคนที่มีสุขภาพดีทั่วไป แต่แนะให้สนใจถึงผลของสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีต่อสิงห์อมควันทั้งหลาย ซึ่งใครจะรู้ว่าขณะอมควันแล้วเกิดอาการหายใจไม่สะดวกเนื่องจากมีเมือกมากในปอดจึงต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่น เช่น NAC เพื่อให้หายใจคล่องนั้น จะมีปรากฏการณ์เหมือนที่เกิดในหนูทดลองและเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงในห้องทดลองหรือไม่ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเมือง Houston รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาคือ  University of Texas MD Anderson Cancer Center ได้กล่าวในการประชุมหนึ่งว่า สารต้านออกซิเดชั่นนั้นป้องกันการเกิดความเสียหายของดีเอ็นเอเนื่องจากอนุมูลอิสระได้ แต่ทันทีที่เกิดเซลล์มะเร็งแล้ว สารต้านอนุมูลอิสระน่าจะกลับทำงานปกป้องการถูกทำลายของเซลล์มะเร็งด้วยระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริโภคมักสับสนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่นักวิชาการควรแนะนำผู้บริโภคคือ สารต้านการออกซิเดชั่นนั้นมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งได้ตราบที่ได้รับจากการกินอาหาร แต่เมื่อใดที่เริ่มมีเซลล์มะเร็งแล้ว การกินในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจไปส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งอยู่รอดปลอดภัยจากการต่อสู้ของระบบทำลายสารพิษในร่างกายเรา   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point