ฉบับที่ 213 คนไทยขาดวิตามินดี...ได้ไง

คนไทยไม่ควรขาดวิตามินดี เพราะเราอาศัยในประเทศเขตร้อนที่อุดมด้วยแสงแดด คนทางซีกโลกตอนเหนือตั้งแต่เส้นแวงที่ 23.5 องศาเหนือขึ้นไปและซีกโลกตอนใต้ตั้งแต่เส้นแวงที่ 23.5 องศาใต้ลงไป ซึ่งเป็นประเทศเขตอบอุ่นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เพราะภูมิศาสตร์โลกบริเวณนั้นกำหนดให้ช่วงเวลามีแสงแดดในบางฤดูสั้นเกินไปและบางช่วงของปีอากาศหนาวเกินกว่าที่จะออกมาสัมผัสแสงแดดได้ คำอธิบายเรื่องวิตามินดีกับแสงแดดนี้ถูกสอนกันมานานเท่านานแล้ว และมันยังเป็นจริงอยู่หรือ คำตอบคือ ใช่และไม่ใช่ ขึ้นกับปัจจัยบางประการในปัจจุบัน ก่อนอื่นคนไทยส่วนใหญ่มักลืมว่า วิตามินดีนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่วิตามินในความหมายทางสรีรวิทยาและชีวเคมี ทั้งนี้เพราะมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เองโดยอาศัยรังสีอัลตราไวโอเล็ตชนิด UVB ในแสงแดดมากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารชีวเคมีที่มีอยู่ในร่างกายคือ ดีไฮโดรคลอเลสเตอรอล (7-dehydrocholesterol ซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายสังเคราะห์ เพื่อเปลี่ยนต่อไปเป็นโคเรสเตอรอลด้วยระบบเอ็นซัมในสัตว์เลือดอุ่นต่างๆ) ซึ่งลอยอยู่ในหลอดเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมนุษย์ ผลที่ได้คือ คลอลีคัลซิเฟอรอล (cholecalciferol) ที่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อผ่านไปที่ตับและไปที่ไต จึงได้เป็นวิตามินดี 3 ซึ่งเป็นรูปของวิตามินดีที่ออกฤทธิ์ในร่างกายกล่าวกันว่า จริงแล้ววิตามินดีทำหน้าที่เป็นฮอร์โมน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของหน่วยพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นแคลเซียมจึงถูกใช้ในการสร้างและดำรงสถานภาพของกระดูกให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมประสิทธิภาพการสร้างวิตามินดีนั้น มีปัจจัยหนึ่งที่กำหนดคือ สีผิว ซึ่งขึ้นกับเม็ดสีเมลานินที่ร่างกายสร้างขึ้นสะสมเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าคือ แสงแดด คนที่มีสีผิวเข้มกว่าย่อมรับแสงอัลตราไวโอเล็ทได้น้อยกว่าคนที่มีผิวขาวกว่า ดังนั้นในคนสองคนที่มีสีผิวเข้มไม่เท่ากัน เมื่อยืนรับแสงแดดที่ตำแหน่งเดียวกันของโลกด้วยเวลาเท่ากันจึงสร้างวิตามินดีไม่เท่ากัน  คนไทยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีหรือไม่ ถ้าตอบว่า ไม่ นั้นหมายถึงเขาหรือหล่อนผู้นั้น เป็นผู้มีโอกาสสัมผัสแสงแดดอันอบอุ่นตอนเช้าและเย็นระหว่างการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ โดยแดดที่สัมผัสต้องไม่ทำให้ผิวหนังร้อนจนแดง ดังนั้นการออกกำลังกายกลางแจ้งของนักเรียนในตอนสายหรือหลังเที่ยงนั้น จึงเป็นความทารุณต่อนักเรียนอย่างแท้จริง ส่วนคำตอบว่า ใช่ คนไทยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีนั้น ก็เป็นจริงได้ด้วยเหตุผลในหลายกรณี เช่น ในคนที่รักนวลสงวนผิวไม่ให้ถูกแดดเพราะต้องการมีผิวสีซีดที่เข้าใจเอาเองว่าสวย ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าคลุมทั้งตัวตามข้อกำหนดทางศาสนา ผู้ที่ออกจากบ้านตั้งแต่ไก่โห่คือ ยังไม่มีแสงแดด แล้วทำงานในตึกที่ติดฟิลม์กันแดดไม่ได้โผล่ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันจนค่ำจึงกลับบ้าน ครั้นถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตื่นนอนสายตะวันโด่ง แดดร้อนจ้าเกินกว่าจะสัมผัสได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมีงานวิจัยของนักวิจัยไทยปรากฏในวารสาร Dermato-Endocrinology เมื่อปี 2013 เรื่อง Vitamin D status and sun exposure in Southeast Asia ได้สำรวจโดยการเจาะเลือดคนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้ววิเคราะห์ปริมาณวิตามินดีพบว่า ความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีนั้นอยู่ในช่วงร้อยละ 6-70 ซึ่งขึ้นกับการใช้ครีมกันแดด การนับถือศาสนาที่มีประเพณีการสวมเครื่องแต่งกายที่ปกปิดทั้งร่างกาย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน อาหารและโภชนาการ ที่สำคัญคือ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น บางกลุ่มชนมีแนวโน้มต่อการขาดวิตามินดีเพิ่มขึ้น คำแนะนำที่สำคัญคือ แสงแดดที่ช่วยสร้างวิตามินดีนั้น ต้องเป็นแสงที่ส่องตรงลงผิวไม่ใช่แสงที่ผ่านกระจกเพราะกระจกสามารถยับยั้งแสง UVB ได้ อีกทั้งคนไทยควรได้รับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสม(เช้าตรู่หรือใกล้พลบ) ที่บริเวณ ผิวหน้า แขน ขา ประมาณ 5-30 นาที อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการที่แสดงว่าขาดไวตามินดีเรื้อรังคือ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูกชาวเกาหลี ซึ่งอยู่ในเขตอบอุ่นเหนือของโลกนั้น เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมากพอสมควร งานวิจัยเรื่อง Vitamin D Status in Korea ตีพิมพ์ในวารสาร Endocrinology and Metabolism ของปี  2013 นั้นระบุว่า ในเกาหลีใต้นั้น การขาดวิตามินดีพบมากในเด็กวัยรุ่นมากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กติดมือถือจึงต้องการอยู่แต่ในที่ร่มเพื่อเขี่ยหน้าจอให้หนำใจ ต่างจากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่มีความชุกในการขาดวิตามินดีน้อยกว่า บทความกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาของสองประเทศนี้ว่า ทำโดยกระตุ้นให้มีการเพิ่มวิตามินดีสังเคราะห์ในอาหารหรือให้มีการกินวิตามินดีเม็ดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีขนาดของประเทศตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 8 องศาเหนือถึง 34 องศาเหนือนั้นก็ยังมีกรณีที่ชาวอินเดียขาดวิตามินดีเช่นกัน มีรายงานวิจัยเรื่อง Vitamin D status and sun exposure in India ในวารสาร Dermato-Endocrinology ของปี 2013 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาการรับแสงแดดทั้งปีที่เหมาะสมต่อชาวอินเดียในเมือง Tirupati ซึ่งมีตำแหน่งเส้นรุ้งที่ 13.4 เหนือ เส้นแวงที่ 77.2 ตะวันออก สัมผัสแสงแดดวันละ 4 ชั่วโมงโดยมีส่วนของร่างกายสัมผัสแดดร้อยละ 35 แต่ก็ยังพบว่า ชาวบ้านในเมืองนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีได้ นักวิจัยจึงทดลองดูว่า ช่วงเวลาการสัมผัสแสงแดดช่วงเวลาใดของเมืองนี้ที่ทำให้มีการสร้างวิตามินดีสูงสุด การทดลองนั้นไม่ยาก นักวิจัยได้นำดีไฮโดรโคเลสเตอรอลใส่ภาชนะแช่ไว้ในอ่างน้ำแข็ง (เพื่อตัดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ) แล้ววางไว้กลางแดดในช่วงเวลาที่ต่างกันตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา (โดยมีภาชนะใส่สารแบบเดียวกันแต่มีแผ่นอะลูมิเนียมบังป้องกันแดดเป็นตัวควบคุม) จากนั้นนำแต่ละภาชนะใส่ตัวอย่างที่ได้รับแสงช่วงเวลาต่างกันไปวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินดีที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่า ช่วงเวลา 11 นาฬิกาถึง 14 นาฬิกา ของทั้งปี เป็นช่วงที่มีแดดเหมาะสมต่อการสังเคราะห์วิตามินดีมากที่สุด ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ใครตากแดดโดยไม่ใส่เสื้อผ้าคงถูกแดดเผาจนผิวไหม้แน่ แสดงว่า ตำแหน่งของเมืองตามภูมิศาสตร์นั้น เป็นตัวกำหนดหนึ่งของช่วงวันที่ควรสัมผัสแสงแดดเพื่อให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีมากที่สุดช่วงอายุของคนนั้นดูมีความสำคัญต่อการสร้างวิตามินดีเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ใช่ผลโดยตรงเนื่องจากทางสรีรวิทยาของร่างกาย เพราะจริงแล้วเมื่อแก่ตัวลงร่างกายจะสร้างสารต่างๆ ได้น้อยลง แต่ในคนสูงอายุบางคน (เช่นผู้เขียน) กลับมีโอกาสสัมผัสแสงแดดมากกว่าหนุ่มสาว เนื่องจากไม่ต้องทำงานประจำในที่ร่มแล้ว ว่างเมื่อใดก็ออกกลางแจ้งได้ตามใจปรารถนา มีเรื่องน่าสนใจในประเด็นการไม่อยู่ในที่ร่มของคนเกาหลีใต้ รัฐบาลประเทศนี้ใส่งบประมาณลงไปในชุมชนต่างๆ ที่มีคนสูงอายุ เพื่อให้เงินนี้ไปส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย (http://koreabizwire.com/government-to-support-seniors-living-alone/6985) ด้วยการจัดให้มีการจับคู่กันในหมู่คนโสดหรือเป็นหม้าย ไม่ว่าเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ได้มีโอกาสออกทำกิจกรรมกลางแสงแดดในช่วงที่มีอากาศเหมาะสม ทั้งนี้เพราะคนเกาหลีนั้นเชื่อในคำกล่าวที่ว่า แค่เพื่อนคนเดียวก็ทำให้มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้สังสรรค์กัน แล้วได้วิตามินดีเป็นของตอบแทนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 รู้เท่าทันแคลเซียมและวิตามินดี ตอนที่ 3

ฉบับนี้เป็นตอนสุดท้าย  หลังจากที่เรารู้ข้อเท็จจริงพื้นฐานทั้ง 9 ข้อแล้ว  เราสามารถสรุปแนวทางการดูแลกระดูกของเราให้แข็งแรงและชะลอการบางตัวลงให้มากที่สุด  ด้วยวิธีการที่ได้ผล ประหยัด คุ้มค่า และสามารถบอกต่อกัลยาณมิตรของเราได้ดังนี้ 1. เราอยู่ในช่วงอายุขัยอะไร  เป็นเด็ก  หนุ่มสาว  หรือผู้สูงวัย  การแพทย์แผนไทยเรียกว่า อายุสมุฏฐาน ถ้าเป็นปฐมวัย (เกิด-16 ปี) กระดูกของเราอยู่ในช่วงขาขึ้น  มีการสะสมแคลเซียมมากกว่าการใช้  จึงเป็นช่วงเวลาในการเก็บออมแคลเซียมให้มากที่สุด  ถ้าเป็นมัชฌิมวัย (16-32 ปี) เป็นช่วงที่การสะสมและการใช้แคลเซียมเท่ากัน  จึงต้องรักษาสมดุลนี้ไว้ให้นานที่สุด  และเมื่อเป็นปัจฉิมวัย (32-สุดท้ายของชีวิต) กระดูกของเราอยู่ในช่วงขาลง  มีการสะสมแคลเซียมน้อยกว่าการใช้  โดยเฉพาะผู้หญิงที่เริ่มหมดประจำเดือน (อายุ 49 ปี)  กระดูกจะบางตัวอย่างรวดเร็ว  ดังนั้นจึงต้องลงอย่างช้าๆ และสง่างาม 2. ผลการศึกษาพบว่า กระดูกของคนไทยมีความแข็งแรงเท่าๆกับกระดูกของฝรั่ง  ทั้งๆ ที่อาหารไทยมีโปรตีนน้อยกว่า  การกินนมก็น้อยกว่า  แคลเซียมก็น้อยกว่า  แสดงว่า  อาหารไทยนั้นเหมาะสมกับคนไทยและกระดูกของคนไทย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปกินอาหารตามแบบฝรั่งเพราะเชื่อว่าอาหารฝรั่งจะดีกว่า  การส่งเสริมให้เด็กไทยและผู้สูงอายุดื่มนมวัวให้มากๆ เพื่อให้กระดูกแข็งแรงนั้น  อาจนำมาซึ่งโรคภัยหลายอย่าง  ความจริงแคลเซียมและโปรตีนที่ดีและปริมาณมากนั้นสามารถหาได้จากพืช ผัก และถั่วต่างๆ ปลาตัวเล็กตัวน้อย ในอาหารไทยอยู่แล้ว  ซึ่งมีคุณค่าและไม่มีอันตราย  นอกจากนี้ในถั่วและธัญพืชยังมีเอสโตรเจนจากพืช  ซึ่งช่วยทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน   3. วิตามินดีในผู้สูงอายุของคนไทยและเอเชียนั้นไม่ได้ลดลง  เนื่องจากเราได้รับแสงแดดเพียงพอ  ไม่เหมือนฝรั่งที่ยิ่งอายุมาก วิตามินดีในเลือดยิ่งลดลง  คนไทยจึงไม่ต้องกินวิตามินดีเสริมเลย  เดินอาบแดดช่วงเช้าวันละ 15 นาทีดีกว่า ฟรีอีกต่างหาก  ยกเว้นแต่รัฐบาลเพิ่งคิดได้ว่าจะเก็บภาษีการใช้แดดเหมือนเก็บภาษีการใช้น้ำธรรมชาติ 4. ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ พันธุกรรมของคนไทยและเอเชียส่วนใหญ่(ร้อยละ 85) เป็นพันธุกรรมที่มีมวลกระดูกสูง ดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ได้ดี  กระดูกแข็งแรง มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่มีพันธุกรรมที่ดูดซึมแคลเซียมไม่ดี  ส่วนฝรั่งนั้นมีพันธุกรรมที่ดูดซึมแคลเซียมไม่ดีถึงร้อยละ 22  ดูดซึมแคลเซียมปานกลางร้อยละ 50  ดังนั้นคนไทยมีพันธุกรรมที่ดีกว่าชาวตะวันตกมากมาย  อาหารการกิน  อาหารเสริม วิตามิน ยา ที่ชาวตะวันตกต้องกินนั้น  ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในคนไทย ดังนั้น ควรภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย 5. สุดท้าย  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ  การออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ  การทำกิจวัตรประจำวัน  การเคลื่อนไหว  การทำงานประจำที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา  พยายามให้การออกกำลังกายนั้นอยู่ในวิถีชีวิตปกติ  ไม่จำเป็นต้องหาเวลาเฉพาะเพื่อมาออกกำลังกายเท่านั้น  การทำงานบ้าน  การเดินไปตลาด  พูดคุยกับเพื่อนบ้าน  การทำสวน  การใช้รถให้น้อยลง  เหล่านี้จะช่วยให้กระดูกแข็งแรง  และช่วยให้อายุยืน  ทำชีวิตให้ลำบากไว้เถอะ  เพราะชีวิตที่ลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ 6. สุดท้ายของสุดท้าย  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  ในช่วงระยะเวลา 5 ปีหลังหมดประจำเดือนต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ  การดูแลที่จำเป็นได้แก่  การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  การฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและข้อ  การกินธัญพืชที่ไม่ขัดขาวและถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่วเหลือง  การฝึกสมาธิ  และการมีกลุ่มกัลยาณมิตรที่พูดคุย ปรับทุกข์สุข  และการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือผู้คนที่ขาดโอกาส  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 รู้เท่าทันแคลเซียมและวิตามินดี ตอนที่ 2

ในฉบับที่แล้ว ท่านผู้อ่านได้รับรู้ข้อเท็จจริงพื้นฐาน 5 ข้อแล้ว  ในฉบับนี้ขอต่อข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก 4 ข้อ คือ ข้อที่หก พันธุกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมและกำกับปริมาณสูงสุดของมวลกระดูกและอัตราการสลายกระดูก  ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมหรือองค์ประกอบของยีนชนิด bb จะมีมวลกระดูกสูงกว่าผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมชนิด Bb ซึ่งจะมีมวลกระดูกสูงกว่าผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมชนิด BB   รศ.นพ.บุญส่ง  องค์พิพัฒนกุลจากคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดีศึกษาพบว่า คนไทยร้อยละ 85 มีลักษณะทางพันธุกรรมชนิด bb   ร้อยละ 14  มีลักษณะทางพันธุกรรมชนิด Bb   และร้อยละ 1 มีลักษณะทางพันธุกรรม BB ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกับลักษณะทางพันธุกรรมของชาวตะวันตก ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมชนิด bb, Bb และ BB เป็นร้อยละ 28, 50, 22 ตามลำดับ การกระจายตัวของลักษณะทางพันธุกรรมในคนไทยใกล้เคียงกับของคนญี่ปุ่นมาก   การศึกษาพบว่า  คนไทยจำนวนมากที่มีลักษณะทางพันธุกรรมชนิด bb สามารถดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ได้ดีกว่าคนไทยที่มียีนชนิด Bb และ BB อย่างมีนัยสำคัญ  การที่คนไทยมีลักษณะทางพันธุกรรม bb ถึงร้อยละ 85 ซึ่งแตกต่างจากชาวตะวันตกซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรม bb เพียงร้อยละ 28 เท่านั้น  ดังนั้นคนไทยจึงมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดูดซึมแคลเซียมได้ดีกว่าชาวตะวันตกอย่างมากมาย ข้อที่เจ็ด ฮอร์โมนที่มีบทบาทในการย่อย ดูดซึมและใช้แคลเซียมคือ  วิตามินดี ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เองเมื่อแสงอุลตราไวโอเล็ทถูกต้องผิวหนัง และวิตามินดีที่สังเคราะห์ขึ้นจะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ ควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต และควบคุมการสะสมแคลเซียมบนเนื้อของกระดูก ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ตลอดทั้งปี  จากการศึกษาของ         ดร.ละออ ชัยลือกิจ จากคณะแพทยศาสตร์โรงเพยาบาลรามาธิบดี  พบว่า  ระดับวิตามินดีในเลือดของคนไทยทั้งชายและหญิงมีปริมาณสูงพอเพียงและระดับไม่ได้ลดลงเมื่ออายุสูงขึ้น ทั้งนี้มีความแตกต่างกับชาวต่างชาติทางตะวันตกซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นระดับวิตามินดีในเลือดจะลดลง ข้อที่แปด การกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์และเกลือแกงมากจะมีผลกระทบต่อแคลเซียม จากการศึกษาของ ศ.นพ.สุรัตน์  โคมินทร์ พบว่าคนไทยในกรุงเทพมหานครกินแคลเซียมในปริมาณน้อย คือโดยเฉลี่ย 361 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน นอกจากนี้ น.ส. นพวรรณ เปียซื่อ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดียังศึกษาพบด้วยว่าคนไทยรับประทานโปรตีนและเกลือแกงน้อยกว่าคนอเมริกัน  ประเด็นนี้มีความสำคัญเนื่องจากการรับประทานโปรตีน (จากเนื้อสัตว์) มากเกินไปจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ลดลง  และการรับประทานเกลือแกงมากเกินไปจะทำให้ไตขับถ่ายแคลเซียม ออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ข้อที่เก้า การกินแคลเซียมปริมาณสูงจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง จากวารสารฉลาดซื้อฉบับตุลาคม 2555 กล่าวว่า การดื่มนมแคลเซียมสูงไม่ได้พิเศษไปกว่าการดื่มนมธรรมดา ร่างกายจะไม่ดูดซึมเอาแคลเซียมไปใช้ได้ทั้งหมดจะดูดซึมไว้แค่ประมาณร้อยละ 30 – 40 ส่วนที่เหลือก็ถูกร่างกายขับถ่ายออกไป ถ้าอาหารยิ่งมีแคลเซียมสูงการดูดซึมจะเกิดขึ้นน้อยกว่าอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ การกินแคลเซียมเม็ดก็เช่นเดียวกัน  ปริมาณแคลเซียมที่กินในแต่ละครั้งจะผกผันกับการดูดซึม  พูดง่ายๆ ก็คือ  ยิ่งกินแคลเซียมมากหรือสูง  การดูดซึมกลับลดลง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดอันตรายจากภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเกิน หน้ากระดาษหมดอีกแล้ว  คงต้องขอต่อบทสุดท้ายในฉบับหน้าว่า  เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเรียกว่า รู้เท่าทัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 รู้เท่าทันแคลเซียมและวิตามินดี ตอนที่ 1

ทุกวันนี้  คนมีอายุยืนยาวกว่าสมัยก่อนมากมายเพราะอาหารการกินอุดมสมบูรณ์มากกว่าก่อน  รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ  ยาปฏิชีวนะ และยารักษาโรคต่างๆ ดีขึ้นมาก ทำให้อายุขัยของคนทั่วโลกยืนยาวขึ้น  การที่คนมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้มีปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายมากขึ้นเช่นเดียวกัน โรคหนึ่งที่พบและเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมากในปัจจุบันก็คือ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนคือ  ภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลง  เนื่องจากแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียมในกระดูกลดลง  ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักง่าย  โดยเฉพาะที่บริเวณ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง (ให้ลองนึกภาพของกิ่งไม้หรือท่อนไม้สดที่เพิ่งตัดมาใหม่กับกิ่งไม้หรือท่อนไม้ที่แห้งและกรอบ) โรคนี้พบมากในผู้สูงอายุ  พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า  และผู้ที่มีพี่น้องเป็นโรคกระดูกพรุน  จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป การโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อต่างๆ ที่ให้ผู้สูงอายุต้องกินนมที่มีแคลเซียมสูง(ราคาสูงตามไปด้วย)  และต้องกินวิตามินดี(เพื่อให้กระดูกดีสมชื่อ)  นั้นคงทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่คล้อยตามและเสียเงินเสียทองตามไปด้วย  ซึ่งถ้าได้ผลดีตามโฆษณาก็คงดีไม่น้อย  แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่เป็นไปตามโฆษณาชวนเชื่อ  ทำให้ผู้สูงอายุเสียโอกาสในการมีวิธีการที่ดีกว่า  ประหยัดกว่า  และได้ผลมากกว่าในการดูแล ป้องกันกระดูกพรุน   การจะรู้เท่าทันเรื่องกระดูกพรุนนั้น  จะต้องรู้และเข้าใจข้อเท็จจริงพื้นฐาน ดังนี้ ข้อที่หนึ่ง กระดูกของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีชีวิต  มีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา  เมื่อสร้างกระดูกใหม่จะมีการดึงแคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไป  ในขณะเดียวกันก็มีการสลายแคลเซียมจากเนื้อกระดูกเก่าออกมาในเลือดและขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ   ข้อที่สอง ในเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าสลาย  มวลกระดูกจะแข็งแรงเต็มที่เมื่ออายุ 25-35 ปี  หลังจากนั้นจะเริ่มมีการสลายมวลกระดูกมากกว่าสร้าง  ดังนั้นในผู้สูงอายุ  ภาวะกระดูกบางตัวลงเป็นธรรมชาติของการสูงวัย   ข้อที่สาม ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน  มีการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนอย่างรวดเร็ว  ทำให้กระดูกบางลงอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือน  และค่อยๆ บางช้าลง   ดังนั้นช่วงเวลานี้มีความสำคัญ  ต้องดูแลและชะลอการบางตัวของกระดูกไว้   จากการศึกษาของนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน (ปัจจุบันเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล) และคณะนักวิจัยเรื่องกระดูกของคนไทยมีคุณค่าอย่างยิ่ง พบว่ามีปัจจัยที่แตกต่างจากของชาวต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่ง  ดังนี้ ข้อที่สี่ คนไทยกินแคลเซียมน้อยกว่าฝรั่งแต่กระดูกมีความแข็งแรงเท่ากับฝรั่ง เด็กไทยทุกกลุ่มอายุได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อยกว่าความต้องการคือได้เพียงประมาณหนึ่งในสอง ถึง สามในสี่ของปริมาณที่ควรได้รับประจำวัน (ตามข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยที่จัดทำเมื่อ พ.ศ. 2532) แต่ความหนาแน่นกระดูกของเด็กไทยมีค่าเท่ากับหรือมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กสวิสและอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบกับเด็กชาวออสเตรเลีย   ข้อที่ห้า ในการศึกษาเดียวกันพบว่า  การออกกำลังกายประเภทที่มีการรับน้ำหนักได้แก่การเล่นกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล และแบดมินตัน มีผลในทางบวกต่อความหนาแน่นกระดูกบริเวณต่างๆ ในเด็กชาย ส่วนในเด็กหญิงพบว่าการเล่นบาสเกตบอลมีผลดีต่อความหนาแน่นกระดูก บริเวณกระดูกสันหลัง แต่กีฬาประเภทที่ไม่มีการรับน้ำหนัก ได้แก่ ว่ายน้ำและขี่จักรยาน ไม่พบว่ามีผลในทางบวกต่อความหนาแน่นกระดูกใดๆ   หน้ากระดาษหมดเสียแล้ว  คงขอต่อในฉบับต่อไป  เรายังมีข้อเท็จจริงอีกหลายข้อที่ผู้สูงอายุควรรู้  เพื่อที่จะได้ดูแล จัดการ และชะลอการบางตัวของกระดูกด้วยวิธีการที่เหมาะสมและได้ผลอย่างแท้จริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point