ฉบับที่ 159 วิตามินอีกับมะเร็ง

ผู้เขียนได้รับข่าวงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ (มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง) ฟรีจากวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ใจกว้างมากฉบับหนึ่งเป็นประจำ ในข่าวประจำวันที่ 29 เดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พบหัวข้อข่าวที่น่าสนใจว่า “Study suggests supplements such as vitamin E promote tumour growth.” ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า มีการศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินอีนั้นเป็นการสนับสนุนการเจริญของเนื้องอก เนื้อข่าวกล่าวว่า ในการทดลองให้หนู mouse(ซึ่งคล้ายหนูถีบจักรสีขาวที่มีขายที่สวนจตุจักร) กินสารต้านออกซิเดชั่น(ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า สารต้านอนุมูลอิสระ) คือ วิตามินอี หรือ เอ็น-อะเซ็ตติลซิสตีอีน  (N-acetylcysteine (NAC)) แล้วกลับพบว่า เป็นการสนับสนุนการขยายขนาดของเนื้องอก ไม่ใช่ไปยับยั้งตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine ซึ่งคงไม่ถูกใจพระเดชพระคุณนับล้านคนที่กลืนเม็ดวิตามินอีในลักษณะอาหารเสริมเป็นประจำ ในสหรัฐอเมริกานั้นเคยมีการสำรวจว่า ผู้ใหญ่ราวร้อยละ 11 กินวิตามินอีเสริมในขนาด 400 IU หรือมากกว่า(ซึ่งขนาดที่นักวิชาการแนะนำว่า มนุษย์ธรรมดาควรได้รับจากอาหารคือ 22.4 IU) ด้วยความหวังว่าวิตามินอีและสารต้านออกซิเดชั่นอื่นๆ จะไปช่วยสกัดกั้นอนุมูลอิสระที่เป็นผลพลอยได้จากการใช้พลังงานและการทำงานในระบบภูมิต้านทานของร่างกาย(ส่วนใหญ่เป็นอนุมูลที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบที่มีความไวในการทำปฏิกิริยาชีวเคมีกับสารอื่นในเซลล์) ไม่ให้ไปทำอันตรายชีวโมเลกุลอื่นๆ ในเซลล์   เพราะบางครั้งเกิดมากเกินจำเป็น จนก่อความเสียหายแก่ดีเอ็นเอ (ตัวกำหนดการทำงานของเซลล์) ซึ่งความเสียหายนั้นอาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอกและมะเร็ง   โดยปรกติแล้วเรามักคิดว่า สารต้านออกซิเดชั่นนั้นเป็นตัวลดการเกิดอันตรายในลักษณะนี้ได้ จึงนำไปสู่ธุรกิจการขายสารต้านออกซิเดชั่นต่าง ๆ เช่น วิตามินอี เบต้าแคโรทีน วิตามินซี สารสกัดจากใบไม้ เปลือกไม้ เปลือกผลไม้ เมล็ดพืช และอื่นๆ อีกมากมาย ให้แก่ผู้บริโภคที่ประเมินตนเอง(ตามคำแนะนำของผู้ขายสินค้า วิทยากรในรายการโทรทัศน์ดาวเทียมและฟรีทีวีต่างๆ) ว่ามีความเสี่ยงต่ออันตรายดังกล่าว รายงานการวิจัยใน 1994 เกี่ยวกับการที่เบต้าแคโรทีนไปส่งเสริมการเกิดมะเร็งปอดของอาสาสมัคร 29,133 คนที่เป็น สิงห์อมควันนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงหลายครั้งในหลายโอกาสแล้ว เพราะข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นตำนานในการเรียนการสอนด้านระบาดวิทยาของโรคที่ไม่ติดต่อในมนุษย์ที่พบว่า การเสริมสารเคมีเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านระบบที่ไม่ใช่การกินจากอาหารแล้วส่งผลเสียได้เหมือนกัน ข่าวจาก Nature เล่าถึงกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกเต็นเบอร์ก ประเทศสวีเดน (University of Gothenburg เขียนเป็นภาษาสวีดิชว่า  Göteborgs universitet) ที่พบว่า การให้สาร NAC แก่หนู mouse ที่ตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นมะเร็งปอดได้ง่ายนั้น แทนที่จะเป็นการไปลดการเกิดมะเร็งกลับเป็นการเพิ่มการเกิดมะเร็งถึง 3 เท่าของกลุ่มที่ไม่ได้รับสารนี้ ก่อนอื่นต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า NAC หรือ N-acetylcysteine นั้นเป็นยาที่ลดอาการไอจากเสลด ใช้ล้างพิษพาราเซตตามอลที่มากเกินไป แต่ปัจจุบันถูกขายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพราะต้านการออกซิเดชั่นได้ดีกว่า L-Cysteine และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไธโอนในร่างกาย จึงมีการโฆษณาขาย(โดยไม่ขออนุญาต อย.) ว่า กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน บำรุง และปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษ ควบคุมการผลิตเม็ดสีเมลานินในร่างกาย รักษาแผลหลังผ่าตัดหรือแผลที่เกิดจากรอยไหม้ ปกป้องผิวจากการถูกรังสีเผาไหม้ และป้องกันการเกิดมะเร็งจากสารเคมีในควันบุหรี่ ฯลฯ ดังนั้นผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกเต็นเบอร์ก จึงไปลบล้างคำโฆษณาเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งปอด ทั้งที่ความจริงแล้วถ้ากลูตาไธโอนเกิดขึ้นเองในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว สารนี้จะเป็นสารที่ใช้จับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย สิ่งที่น่าสนใจจาก Nature ต่อไปคือ คณะนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ทำการวิจัยลึกลงไปอีกว่า การเสริมสารต้านออกซิเดชั่นคือ วิตามินอีให้แก่หนูในขนาดที่มากกว่าที่มนุษย์ควรได้รับในแต่ละวัน 5 ถึง 50 เท่า(ซึ่งปรกติถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขายให้คนนั้นจะมากกว่า  4 ถึง 20 เท่า) นั้น ไปเสริมการเกิดมะเร็งที่ปอดถึงสามเท่า เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการเสริมสารต้านออกซิเดชั่น ที่หนักไปกว่านั้นคือ การเสริมสารต้านออกซิเดชั่นทั้งสองชนิดนั้น ทำให้หนูตายด้วยมะเร็งเร็วกว่าปรกติถึงสองเท่า ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ในการศึกษาโดยใช้เซลล์มะเร็งปอดจากหนูหรือคนในห้องปฏิบัติการนั้น พบว่า สารต้านออกซิเดชั่นที่ผสมในอาหารเลี้ยงเซลล์กลับช่วยปกป้องหน่วยพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงไว้ให้เข้มแข็ง จึงทำให้ผู้วิจัยเข้าใจว่าสารต้านออกซิเดชั่นนั้นไปลดการทำงานของยีนที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบและทำลายดีเอ็นเอที่กลายพันธุ์ไปแล้วของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดีเนื่องจากผลการศึกษานั้นเป็นการทำให้ห้องปฏิบัติการ ผู้ทำวิจัยจึงระบุในการแถลงข่าวว่า มันอาจยากที่จะแปลผลไปสู่มนุษย์ และที่สำคัญยีนมะเร็งของหนูที่ใช้ทดลองนั้นได้ถูกกระตุ้นให้ทำงานแล้ว(เนื่องจากหนูนั้นถูกตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นมะเร็งได้ง่าย) ซึ่งต่างกับมนุษย์ทั่วไปที่ยีนมะเร็งอาจอยู่สงบเป็นพรหมลูกฟักตลอดไป ถ้าไม่มีสารก่อมะเร็งไปกระตุ้นให้ตื่น ดังนั้นการทดลองของผู้วิจัย(จึงเหมือนเสียเปล่าเพราะ) ไม่ได้ระบุว่าสารต้านออกซิเดชั่นมีผลอะไรต่อคนที่มีสุขภาพดีทั่วไป แต่แนะให้สนใจถึงผลของสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีต่อสิงห์อมควันทั้งหลาย ซึ่งใครจะรู้ว่าขณะอมควันแล้วเกิดอาการหายใจไม่สะดวกเนื่องจากมีเมือกมากในปอดจึงต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่น เช่น NAC เพื่อให้หายใจคล่องนั้น จะมีปรากฏการณ์เหมือนที่เกิดในหนูทดลองและเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงในห้องทดลองหรือไม่ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเมือง Houston รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาคือ  University of Texas MD Anderson Cancer Center ได้กล่าวในการประชุมหนึ่งว่า สารต้านออกซิเดชั่นนั้นป้องกันการเกิดความเสียหายของดีเอ็นเอเนื่องจากอนุมูลอิสระได้ แต่ทันทีที่เกิดเซลล์มะเร็งแล้ว สารต้านอนุมูลอิสระน่าจะกลับทำงานปกป้องการถูกทำลายของเซลล์มะเร็งด้วยระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริโภคมักสับสนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่นักวิชาการควรแนะนำผู้บริโภคคือ สารต้านการออกซิเดชั่นนั้นมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งได้ตราบที่ได้รับจากการกินอาหาร แต่เมื่อใดที่เริ่มมีเซลล์มะเร็งแล้ว การกินในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจไปส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งอยู่รอดปลอดภัยจากการต่อสู้ของระบบทำลายสารพิษในร่างกายเรา   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point