ฉบับที่ 251 เป็นพุทธมามกะนั้น..ยาก

        วิกิพีเดียไทยให้ข้อมูลว่า พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และ www.trueplookpanya.com อธิบายต่อว่า ในชีวิตประจำวันนั้นพุทธมามกะมีหน้าที่ปฏิบัติตน 6 ประการคือ 1) ศึกษาหลักธรรมให้เป็นสัมมาทิฏฐิคือ แนวคิดที่ถูกต้อง มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว 2) ฟังธรรมหรือสนทนาธรรมตามกาล 3) ทำบุญตักบาตร 4) ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน 5) ปฏิบัติตนตามศีล 5 เป็นอย่างน้อย 6) ปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าสำรวจกันตามหลักวิชาทางสถิติแท้ ๆ แล้ว ผลที่ได้ออกมาอาจเป็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่าตนเป็นพุทธมามกะเพราะยังทำตามศีล 5 ไม่ได้         ศีลที่ผู้อ้างว่าเป็นพุทธมามกะมักบกพร่องคือ ศีลข้อที่ 5 พิสูจน์จากข้อมูลในเว็บของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 มีประเด็นข่าวว่า 'XXX' ห่วงคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเนื้อข่าวให้ข้อมูลว่า มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15–19 ปี เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ต่อปี เพราะคนไทยใช้เวลาเดินเพียง 4.5 นาที ก็ถึงร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นี่แสดงว่าประชาชนซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก และองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและก่อปัญหาสังคมอื่นตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ และอาชญากรรมอื่น ๆ         เว็บ https://alcoholrhythm.com มี infographic ที่อ้างข้อมูลจากหนังสือ ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2559-2561 ซึ่งมี สาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นบรรณาธิการและพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหมิตรพัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2562 ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 มีนักดื่มในประเทศไทยราว 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในจำนวนนี้มีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มากถึง 6.98 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป (แสดงว่ายังมีอีก 8.91 ล้านคนดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ใช่ไหม) โดยเชียงรายครองอันดับหนึ่งของจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดร้อยละ 45.3 ตามด้วยลำพูน (ร้อยละ 44.1) พะเยา (ร้อยละ 44.0) น่าน (ร้อยละ 42.4) และสุรินทร์ (ร้อยละ 40.6) ทำให้เห็นได้ว่าชาวเหนือและอีสานมีจำนวนผู้ละเมิดศีลข้อ 5 เยอะ ส่วนจังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุดอยู่ในภาคใต้คือ ยะลามีนักดื่มเพียงร้อยละ 2.3 ตามด้วย ปัตตานี (ร้อยละ 3.9) นราธิวาส (ร้อยละ 4.9) สตูล (ร้อยละ 9.9) และสงขลา (ร้อยละ 13.2)         คนไทยวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน พบว่าผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19 ปี (ปีที่เริ่มเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา) ซึ่งโดยเฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ส่วนผู้หญิงเริ่มดื่มหลังที่อายุได้ 24 ปี (น่าจะเพราะเริ่มมีรายได้จากการทำงานและคิดว่าตนเป็นผู้ใหญ่พอ) ซึ่งดื่มโดยเฉลี่ย 12-50 กรัมต่อวัน         ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจในปี 2560 สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศไทยมี 583,880 แห่ง หรือเท่ากับ 1 ร้านสามารถให้บริการประชากรได้ 113 คน นอกจากนี้ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด เบียร์ได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่าคนไทยดื่มเบียร์มาก ถึงร้อยละ 47.4 ของการดื่มทั้งหมด รองลงมาเป็นสุราขาวหรือสุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 26.6) และสุราสีหรือสุราแดง (ร้อยละ 22.0)         ข้อมูลจากเว็บ www.expensivity.com เผยข้อมูลดัชนีเบียร์โลกประจำปี 2021 ว่า กาตาร์ขายเบียร์แพงที่สุดในโลก เพราะเรียกเก็บภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์เกินร้อยละ 100 เบียร์จึงมีราคาประมาณ 400 บาทต่อขวด ส่วนแอฟริกาใต้มีเบียร์ราคาถูกที่สุดคือ 51 บาทต่อขวด สิ่งที่น่าละอายใจคือ ตำแหน่งขี้เมาเบียร์ประจำเอเชียตกเป็นของคนไทย เพราะคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี (จริงแล้วคงมากกว่านี้เพราะคนไทยอีกหลายคนไม่เคยเมาเลยแต่ถูกนำมารวมเป็นตัวหารในการคำนวณหาค่าเฉลี่ย) ตามด้วยคนเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และ คนจีน 127 ขวด/คน/ปี นอกจากนี้น่าอดสูใจมากที่คนไทยยังหมดเงินไปกับการดื่มเบียร์มากที่สุดโดยเฉลี่ยราวคนละ 21,093 บาทต่อปี ตามมาด้วยคนเกาหลีใต้และคนญี่ปุ่นตามลำดับ         ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะนั้นน่าจะถูกนับว่าผิดศีลข้อที่ 4 ด้วยเพราะพูดปด โกหกมดเท็จ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอยเพิ่มอีก 1 ข้อ ดังนั้นจึงมีผู้พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมคนไทยถึงชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคำตอบนั้นมีหลากหลายประมาณว่า เพื่อคลายเครียด เพื่อให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องง่ายซึ่งบางกรณีมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และที่น่ากังวลคือ การอ้างผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณดีต่อสุขภาพ         เคยมีนักวิชาการด้านสุขภาพของประเทศทางตะวันตกกล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่น ลดโอกาสมีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังในบทความเรื่อง Effect of alcohol consumption on biological markers associated with risk of coronary heart disease: systematic review and meta-analysis of interventional studies ในวารสาร BMJ (British Medical Journal) ของปี 2011ได้ให้ข้อสรุปว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดูเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของหลอดเลือดและหัวใจหลายประการเช่น เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางจะมีการเพิ่มขึ้นทั้ง HDL (คลอเรสเตอรอลตัวดี) และ adiponectin ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ไขมันและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน/เบาหวาน ต้านการอักเสบ และลดการแข็งตัวของเลือดที่เกินพอดี โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกันที่เป็นการสนับสนุนทางอ้อมถึงการป้องกันต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และในบทความเรื่อง Mediterranean alcohol-drinking pattern and mortality in the SUN (Seguimiento Universidad de Navarra) Project: a prospective cohort study ในวารสาร British Journal of Nutrition ของปี 2014 ซึ่งให้ข้อมูลว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพคือ ดื่มพอประมาณ (moderate drinking) ราว 10–50 กรัม แอลกอฮอล์ต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 5–25 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงนั้น มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเลยหรือดื่มมากเกินคำแนะนำ         อย่างไรก็ดีคำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่เกี่ยวกับสุขภาพในปัจจุบันได้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2018 เว็บ www.bbc.com/thai มีบทความเรื่อง ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ระดับปลอดภัย" ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง ซึ่งทำให้หลายคนที่เชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยดีต่อสุขภาพ อาจต้องทบทวนในความคิดนี้ใหม่ ยืนยันได้จากบทความเรื่อง No level of alcohol consumption improves health ใน www.thelancet.com เมื่อ 22 กันยายน 2018 รายงานผลการศึกษาใน 195 ประเทศ ให้ข้อมูลสรุปประมาณว่า ความเชื่อเดิมว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองจำต้องเปลี่ยนไป เพราะความเสี่ยงต่อโรคภัยโดยรวมที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินจนไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้จากการดื่มเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพบางประการ และชี้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล (ที่ไม่ได้หวังภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นรายได้หลัก) ควรออกคำเตือนให้ประชาชนงดเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง พร้อมไปกับการพิจารณายกเลิกคำแนะนำเรื่องปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยที่มีอยู่เดิมเสีย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เช่นมะเร็ง หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 หน่วย (มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 10 กรัม) มีความเสี่ยงต่อโรคภัยและการบาดเจ็บสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย 0.5% ส่วนคนที่ดื่มวันละ 2 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7% และคนที่ดื่มวันละ 5 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 37%         สำหรับ www.mayoclinic.org ซึ่งเคยให้ข้อมูลเห็นด้วยเกี่ยวกับประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะพอเหมาะแก่สุขภาพมานานได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีแล้ว จากการเข้าดูข้อมูลของเว็บนี้ในปี 2021 พบตอนหนึ่งในบทความเรื่อง Alcohol use: Weighing risks and benefits กล่าวว่า ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของแอลกอฮอล์นั้นค่อนข้างน้อยและอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ประกอบกับคำแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกัน (American Dietary Guidelines) ล่าสุดกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครควรเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หรืออ้างประโยชน์ต่อสุขภาพจึงดื่มบ่อยขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่อาจมีนั้นไม่ได้มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดถ้าหวังมีสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >