ฉบับที่ 199 สบู่สมุนไพร จำเป็นแค่ไหน (สูตรสิว)

ในเล่มที่ผ่านมาเราเคยเสนอประเด็นว่าสบู่ฆ่าเชื้อเพื่อสุขภาพมีความจำเป็นแค่ไหนกันไปแล้ว คราวนี้กลับมาอีกครั้งกับ “สบู่สมุนไพร” ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้รักสุขภาพไม่แพ้กัน เพราะผู้บริโภคหลายคนมักรู้สึกว่า สบู่สมุนไพรน่าจะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าสบู่ประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีส่วนผสมของธรรมชาติและให้สรรพคุณที่ดีกว่าอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีสบู่สมุนไพรยี่ห้อต่างๆ และหลากหลายสูตรเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยสรรพคุณตามคำโฆษณาของสบู่สมุนไพรเหล่านี้ ส่งผลให้ราคาสบู่สมุนไพรหลายยี่ห้อสูงกว่าสบู่ธรรมดาหลายเท่าตัว จนหลายคนอาจคิดไปว่าสบู่สมุนไพรมีฤทธิ์ในการรักษาโรคกันเลยทีเดียว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาส่องฉลากของสบู่สมุนไพรที่เน้นสรรพคุณว่าช่วยแก้ปัญหาสิว ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างหรือแตกต่างจากสบู่ธรรมดาทั่วไปอย่างไร ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยสบู่สมุนไพรสูตรสิว ลดสิวได้จริงหรือแม้สบู่จะมีหลายสูตร เช่น สบู่ใส สบู่ขุ่น แต่ส่วนประกอบและหน้าที่หลักของสบู่ยังคงคล้ายกันคือมีส่วนประกอบสำคัญของเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ เกลือโซเดียม หรือเกลือโปแตสเซียม หรือเกลือแอมโมเนียม หรือเกลือเอมีน ที่ได้จากการใช้ไขมันสัตว์ และ/หรือน้ำมันพืชต่างๆ มาผสมกับด่างชนิดต่างๆ และมีหน้าที่หลักคือชะล้างสิ่งสกปรก ดังนั้นเราต้องไม่ลืมว่า สบู่ คือเครื่องสำอางประเภทหนึ่งที่มีไว้เพื่อทำความสะอาดผิว และกฎหมายได้กำหนดความหมายของเครื่องสำอางไว้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาดหรือความสวยงาม ซึ่งไม่สามารถช่วยรักษา บรรเทา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ เพราะไม่ใช่ยารักษาโรค และที่สำคัญต้องมีเลขที่จดแจ้ง 10 หลักบนฉลาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของสารอันตรายและได้รับอนุญาตให้จำหน่ายแล้วหากสบู่ชนิดใดมีส่วนประกอบที่เข้าข่ายเป็นยา ก็ต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นยาและปฏิบัติตามกฎหมายยา พร้อมแสดงเลขทะเบียนยาไว้บนฉลากเช่นกัน ดังนั้นสบู่ที่ไม่มีเลขทะเบียนยา แต่เป็นเพียงเครื่องสำอางประเภทหนึ่งก็ไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะเป็นยารักษาโรคได้นอกจากนี้ด้วยหน้าที่หลักของสบู่คือเพื่อทำความสะอาดผิว และสัมผัสกับผิวเราเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จากนั้นก็จะถูกชะล้างออกไป จึงเป็นเรื่องยากที่วิตามินหรือสารสกัดต่างๆ ซึ่งผสมในสบู่จะช่วยถนอม บำรุงผิวหรือแม้แต่รักษาสิวให้เราได้ สรุปการเปรียบเทียบฉลากจากสบู่สมุนไพรที่นำมาทดสอบทั้งหมด 18 ตัวอย่าง พบว่า- มี 2 ตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบฉลากได้ เนื่องจากไม่มีการระบุส่วนประกอบสำคัญไว้บนภาชนะบรรจุ ได้แก่ยี่ห้อ 1. ปิยะมาศ (PIYAMAS) สูตรโบราณ ไม่ระบุส่วนประกอบสำคัญ ปริมาณสุทธิและเลขที่จดแจ้ง และ 2. เอ็ดการ์ด (Edguard) สูตรสมุนไพร ไม่ระบุส่วนประกอบสำคัญ- หลายตัวอย่างมีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ดังนี้1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง พบว่า ยี่ห้อ ไหมทอง (MAITHONG) ทั้งสูตรสบู่ใส มังคุด และสูตรมังคุด มีส่วนผสมของ Sodium Laureth Sulfate 2. กลุ่มสารที่มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide พบว่า ยี่ห้อ 1. SUPAPORN สุภาภรณ์ สูตรสูตรเย็น (ผงฟ้าทะลายโจร+สารสกัดมะเฟือง) 2. V.11 วี. วันวัน สูตรมะขาม+สครับขัดผิว 3. อิงอร สูตรมะขาม และ 4. ไหมทอง (MAITHONG) ทั้งสูตรสบู่ใส มังคุดและสูตรมังคุด มีส่วนผสมของ Sodium Hydroxide3. สารกลุ่มกรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สามารถทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย พบว่า ยี่ห้อ ไหมทอง (MAITHONG) สูตรสบู่ใส มังคุด มีส่วนผสมของ Stearic acid, Palmitic acid และ Lauric acid4. สารกลุ่มน้ำหอม ได้แก่ Perfume, Fragrance, Parfum อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือคะคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม มี 4 ตัวอย่างที่ไม่พบส่วนผสมของน้ำหอมตามที่ระบุบนฉลาก ได้แก่ 1. ว่านไทย (Wanthai) สูตรผสมโสม 2. MAITHONG ไหมทอง สูตรสบู่ใส มังคุด 3. เบนเนท (Bennett) สูตรวิตามินE ผสมว่าน และ 4. ซันซิง สูตรขิง5. มี 3 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมของสารต้านแบคทีเรีย ได้แก่ 1. นกแก้ว สูตรสะเดา ไพล น้ำผึ้ง มีส่วนผสมของ Triclosan 2. อิงอร สูตรมะขาม มีส่วนผสมของ Triclosan 3. ดร.มนตรี สูตร Dark spot remover มีส่วนผสมของ Triclocarban ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปแล้วว่า มีผลต่อการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย และถูกแบนแล้วที่อเมริกา----------------------------ตลาดสบู่ ตลาดรวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. สบู่บิวตี้ 43% 2. สบู่ฆ่าเชื้อเพื่อสุขภาพ 25% 3. สบู่สมุนไพร 17% 4. สบู่เด็ก 10% 5. อื่นๆ 5%ที่มา: ลอรีอัล, มีนาคม 2560 (Marketeer) แนะวิธีลดสิวเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจก่อนว่า สิวเกิดจากความผิดปกติหรือการอักเสบของรูขุมขน เช่น เซลล์ที่เส้นขนแบ่งตัวมากผิดปกติ จนปิดกั้นทางออก ทำให้ไขมันและขี้ไคลสะสมอยู่ในต่อมขนเกิดเป็นตุ่มสิวขึ้นมา หรือต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป และมีการสะสมอยู่ในต่อมขนจนเกิดเป็นตุ่มสิวในที่สุด หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย (Propionibacterium acnes)  ซึ่งเป็นการอุดตันจากภายใน ไม่ใช่จากภายนอก และสิวจะเริ่มเป็นมากขึ้นเมื่อเราอยู่ในช่วงวัยรุ่น เพราะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการแพ้สารเคมีในเครื่องสำอาง รวมทั้งกรรมพันธุ์ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองหรือความสกปรกจากภายนอกแต่อย่างใด ดังนั้นการรักษาสิวอย่างปลอดภัยและได้ผลในระยะยาว สามารถทำได้ด้วยหลักง่ายๆ 2 วิธี คือ1. ทำความสะอาดผิวหนังและใช้ยาทารักษาสิวหัวใจของการทำให้ผิวสะอาดคือ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผิวหน้า โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารประกอบที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น น้ำหอม สารกันเสีย หรือแอลกอฮอล์ รวมทั้งเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสภาวะกรดอ่อนๆ เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีความเป็นด่างสูง และอาจมีการรักษาเสริมด้วยการกดสิวหรือฉีดสิวกับแพทย์อย่างถูกวิธี2. รับประทานยารักษาสิวการรับประทานยาเพื่อรักษาสิว สามารถทำได้หากอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยารักษาสิวบางยี่ห้อ อาจผสมสเตียรอยด์ ซึ่งสามารถทำให้สิวยุบเร็วขึ้นได้ แต่มีข้อแทรกซ้อนตามมามากมาย ความเชื่อว่า อาหารบางประเภทสามารถทำให้เกิดสิวได้ เช่น ช็อกโกแลต พบว่ายังไม่มีงานวิจัยใดชี้ว่าอาหารดังกล่าวทำให้สิวขึ้นจริง แต่อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม ขนมปังขาว ผลิตภัณฑ์จากนม สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ การล้างหน้าบ่อยๆ ก็ไม่สามารถช่วยลดการเกิดสิวหรือทำให้หน้ามันน้อยลงได้ เพราะทุกครั้งที่เราล้างหน้า ผิวจะผลิตน้ำมันมาเคลือบผิวใหม่เพื่อทดแทนน้ำมันที่หลุดออกไป ยิ่งทำให้หน้ามันมากขึ้น (ข้อมูลอ้างอิง: http://dst.or.th/userfiles/Acne-edit.pdf)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point