เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ

เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ        พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง แต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ใน 1 ตัวอย่าง  (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) นักวิชาการชี้ สารก่อมะเร็ง 2 ชนิดที่พบ แม้จะไม่เกินมาตรฐานหรือเกินเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสนอหน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ผู้ผลิต ติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าในยุโรปที่หากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนจะนำสินค้าออกจากตลาดทันทีวานนี้ 28 เมษายน 2566 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับ  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ ที่สุ่มตัวอย่างจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565   ผลการทดสอบตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal รุ่น Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว        นอกจากนี้ยังพบฟอร์แมลดิไฮด์ใน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ GENTLEWOMAN sports club ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“สารที่ตรวจพบทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง อาจส่งผลต่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดการเป็นหมัน การตรวจพบสารดังกล่าว แม้จะเป็นไปตามมาตรฐานก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายได้        “กระบวนการที่เราจะได้รับอันตราย มี 2 กระบวนการ คือหนึ่ง กระบวนการ migration เมื่อสีย้อมผ้าหลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงกับเรา และสอง กระบวนการ penetration คือการซึมผ่าน ทั้งสองกระบวนการทำให้สารเคมีซึมผ่านร่างกายเราได้ทั้งนั้น เนื่องจากสารเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ยังปล่อยออกมาสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น หรือระยะเวลาที่เราสัมผัส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีสารเคมีเหล่านี้”“เรื่องสารเคมีอันตราย เราไม่มีโอกาสได้เลือก ถ้าไม่มีข้อมูลการทดสอบ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถทำได้คือให้ผู้ผลิตติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นการประกาศตัวเองของผู้ผลิต ในกรณีของยุโรป มีกติกาว่าหากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสินค้า จะต้องนำสินค้านั้นออกจากตลาดทันที บริษัทต่างๆ ก็ปฏิบัติตาม”“ภาครัฐต้องกำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกกฎหมายที่มีความเข้มข้น ทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวัง และทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่มีสารเคมีเป็นของแถม ผมคิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญและปรับลดค่าสารเคมีต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยอาจทบทวน ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี ถ้าประเทศเรามีมาตรฐานในประเทศดี สินค้าของเราก็จะได้รับความน่าเชื่อถือไปด้วย ผมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแล ออกมาทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอ” คุณทัศนีย์  แน่นอุดร   บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสวมใส่สปอร์ตบราได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ได้ใส่แค่ตอนออกกำลังกาย แต่เป็นแฟชั่นการแต่งตัวด้วย ซึ่งหากยิ่งใช้ประจำยิ่งต้องพิจารณาถึงคุณภาพ รูปทรง ความทนทานต่างๆ  การทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า สินค้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่สินค้าที่ราคาแพงที่สุด ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อจากการศึกษาข้อมูลประกอบอย่างมีเหตุผล         “ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การผลิตเส้นใยจนไปถึงเมื่อทิ้งยังปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อสินค้าได้ผลิตออกมาแล้ว ยังมีกำลังคนในการเฝ้าระวังน้อย การร่วมกันป้องระวังตั้งแต่ด่านแรก ย่อมดีกว่า”   ติดตามอ่าน “ผลทดสอบสปร์ตบรา” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4212

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 เรื่องทดสอบ สปอร์ตบรา

        ปัจจุบัน “สปอร์ตบรา” ไม่ได้จำกัดการสวมใส่เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนยังจัดเป็นเสื้อชั้นในเพื่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวันด้วย         สปอร์ตบรานั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของการป้องกันสรีระช่วงอกในขณะออกกำลังกายของผู้หญิง เนื่องจากชุดชั้นในธรรมดาไม่อาจรองรับการเคลื่อนไหวของหน้าอกในระหว่างการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ ได้ ซึ่งอาจนำมาถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรืออาการปวดเมื่อยบริเวณดังกล่าว ยังรวมไปถึงเรื่องความสบายในการสวมใส่ ความคล่องตัวและความมั่นใจที่ชุดชั้นในธรรมดาไม่อาจให้ได้         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไป ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 ส่งตรวจกับห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน  โดยเป็นการทดสอบด้านความปลอดภัย 2 รายการได้แก่ สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัวและปริมาณฟอร์แมลดิไฮด์ และอีก 1 รายการเป็นการทดสอบเรื่อง การจัดการความชื้น (Liquid Moisture Management Properties) รวม 3 รายการ          หมายเหตุการทดสอบ         ในการทดสอบเรื่องการจัดการความชื้น เนื่องจากเนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบรานั้นไม่เหมือนเสื้อชั้นในและเสื้อผ้าทั่วไป เพราะประกอบด้วยผ้าผสมหลายชนิดรวมถึงดีไซน์การตัดเย็บที่ต่างกัน ดังนั้นจึงทดสอบการจัดการความชื้นในสามบริเวณได้แก่ ด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและด้านหลัง (บางชุดวัสดุตรงกลางและด้านข้างต่างกัน)  ผลการทดสอบ        ·     ด้านความปลอดภัย        สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบ สารสองชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว        ฟอร์แมลดิไฮด์ พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (มาตรฐานต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ได้แก่ ตัวอย่างยี่ห้อ GENTLEWOMAN sports club GST060 อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์         ·     การจัดการความชื้น ผลการทดสอบพบว่า ค่า One-way transport capability (R)   ส่วนใหญ่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ส่วนบริเวณด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและบริเวณด้านหลัง มี 3 ยี่ห้อที่ผลการทดสอบน่าพอใจ ดูรายละเอียดได้ที่ การเลือกสปอร์ตบรา         1.เลือกตามการใช้งาน ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นสามระดับของการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง การเล่นกีฬาหนักๆ ควรเลือกชนิด  High Support สำหรับการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวไม่มาก เลือกแบบ Medium Support หรือ Light Support  ซึ่งเหมาะสำหรับ เวทเทรนนิ่ง บอดี้เวท การปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ พิลาทีส เป็นต้น         2.เลือกให้พอดีกับขนาดของหน้าอก การทดลองสวมที่ร้านจะดีที่สุด ทั่วไปแล้วสปอร์ตบราจะมีขนาดที่เล็กกว่าไซส์ชุดชั้นในเล็กน้อย ควรเลือกที่ใส่แล้วไม่อึดอัดหรือคับเกินไป ไม่มีเนื้อส่วนเต้าล้นออกมา และไม่มีตะเข็บที่จะก่อให้เกิดการเสียดสี        3.เลือกจากวัสดุที่ช่วยระบายความชื้นและความร้อนได้ดี จะช่วยทำให้รู้สึกแห้งสบาย ไม่เหนอะหนะในระหว่างการใช้งาน วัสดุที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ ไนลอน โพลีเอสเตอร์ สแปนเด็กซ์ ไลครา อีลาสติน         4.สาวที่มีช่วงไหล่กว้างอาจใส่สปอร์ตบราบางรุ่นแล้วรู้สึกว่าสายสปอร์ตบรารั้งตรงไหล่ ใส่นานๆ มีอาการปวดเมื่อยอาจเลือกเป็นประเภทที่ปรับสายได้ เพื่อให้รองรับพอดีกับช่วงไหล่        5.การดูแลรักษา เนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบรานั้นส่วนใหญ่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ หากดูแลได้ถูกวิธีจะช่วยให้ใช้งานได้นาน   ข้อมูลอ้างอิง        1.มอก.2346-2550 เสื้อผ้าสำเร็จรูป        2.มอก.เอส 6-2561 เสื้อกีฬา

อ่านเพิ่มเติม >