ฉบับที่ 195 ประเมินความเสี่ยงสภาพจิตกับ Smile Hub

สังคมในปัจจุบันที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและเครียด เราจึงต้องพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น  เพราะหากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาพวกนี้ได้ ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่ไม่ดีตามมา  คำว่าสุขภาพจิตนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมถึงความดีงามภายในใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดจากภาวะกดดันและความเครียดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่ราบรื่น สิ่งที่สามารถแก้ไขและทำได้นั่นคือ การฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการสะสมสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุข ซึ่งควรฝึกปฏิบัติเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย และที่สำคัญควรรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ ฉบับนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต มีชื่อว่า “Smile  Hub” เป็นแอพพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิตที่ใส่ใจและห่วงใจสุขภาพจิตของประชาชน แอพพลิเคชั่น “Smile  Hub” จะแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 11 ปี วัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี วัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี และสูงวัย 60 ปีขึ้นไป โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นการทำแบบประเมินเพื่อประมวลผลลัพธ์ออกมา พร้อมกับมีวิดีโอแนะแนวทางการพัฒนาในส่วนของการประเมินกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 11 ปี จะให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำแบบประเมิน โดยแบ่งออกเป็นเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี จะเน้นโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี และเด็กอายุ 6 ถึง 11 ปี จะเป็นแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์กลุ่มวัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า สำหรับกลุ่มวัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 4 ส่วน คือ แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้ใหญ่ และแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น  ส่วนกลุ่มสูงวัย 60 ปีขึ้นไป จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้น และแบบประเมินภาวะซึมเศร้าผู้เขียนไม่ได้คิดว่าการใช้แอพพลิเคชั่นนี้จะใช้เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิต แต่มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ลองทำแบบประเมินเพื่อวัดสภาพจิต ซึ่งหมายถึงการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก เพียงเพื่อให้รู้เท่าทันความเสี่ยงและป้องกันสภาวะสภาพจิตที่มีความกดดันและความเครียดของตนเองที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >