ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 25 บาททำได้จริง ไม่ใช่ฝัน

        สภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นแล้ว เปิดตัวงานแรกคัดค้านประกาศกรุงเทพมหานครที่ให้จ่ายค่ารถไฟฟ้า 104 บาทต่อเที่ยวร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค การคัดค้านนี้เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอ 104 บาท และสภาฯ ยังยืนยันว่า 25 บาททำได้จริงเพราะรถไฟฟ้าเป็นระบบบริการขนส่งมวลชน (Public Goods)  ราคาค่าบริการจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เช่นเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่เกิน 10% ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวที่สร้างปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ         ทำไม 25 บาทถึงทำได้จริง จากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมที่ได้เสนอราคาของระบบสายสีเขียวนี้ อยู่ที่ 49.83 บาท ต่อเที่ยว ซึ่งจะทำให้สายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาทเมื่อหมดสัมปทานในปี 2602 สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ลดค่าโดยสารลง 50% คือ 25 บาท ก็ยังทำให้ กทม. มีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท         หากถามว่า ทำไมไม่พิจารณาค่าโดยสารในปัจจุบัน เพราะบริษัท BTS มีสิทธิใช้ราคา 44 บาท ต้องให้ความคุ้มครองในส่วนนี้ จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ส่วนหนี้สินกับ BTS ประมาณ 30,000 ล้านกทม. และรัฐบาลต้องชำระในส่วนนี้ แต่เมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้ว รัฐมีหน้าที่จัดบริการขนส่งมวลชน ต้องพิจารณาให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้จริง        ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า หาก กทม. ใช้ราคา 65 บาท จะทำให้กรุงเทพมหานครมีรายได้ 240,000 ล้านบาท คำถามไปยังกทม. ว่า ทำไมต้องกำไรมากขายขนาดนั้น ไม่ว่าจะ 240,000 ล้านบาท หรือ 380,200 ล้านบาทก็ตาม         ที่สำคัญไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแม้แต่กรรมาธิการการคมนาคมหรือกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร จนมีมติให้นายกชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน หากพิจารณารายได้ที่ในการคำนวณเพื่อต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าเพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี ข้อเท็จจริงรายได้ของบริษัทจากรายงานประจำปี 2562 พบว่า บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 39,937 ล้านบาท จากการขนส่ง 32,076 ล้านบาท จากสื่อโฆษณา 5,735 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 8,817 ล้านบาท         ขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้ราคา 25 บาท คือ ต้องหยุดการพิจารณาของครม.ในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า เพราะหาก ครม.มีการพิจารณาประเด็นนี้ ประชาชนต้องปฏิบัติตามราคาค่าโดยสารที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทนั้นแพงเกินกว่าความสามารถของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยจะไม่สามารถใช้เพื่อการเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางกรุงได้ ทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการใช้ระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดความแออัดของจราจรบนท้องถนนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ         สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ กำหนดให้ราคาสูงสุดที่มวลชนจะสามารถจ่ายได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เร่งดำเนินการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนกับทุกระบบเมื่อมีการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้า และให้มีการจัดระบบตั๋วร่วมหรือระบบบัตรใบเดียวเพื่อใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทั้งระบบซึ่งรวมทั้งรถเมล์ เรือเมล์เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ทำความรู้จัก ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เป็นปากและเป็นเสียงให้ผู้บริโภค

      ทุกวันนี้เวลาซื้อสินค้าหรือบริการแล้วไม่เป็นอย่างที่โฆษณา สินค้าไม่ตรงปก บริการไม่เป็นธรรมและอีกสารพัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. จะเป็นหน่วยงานแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง           เอาล่ะ เรื่องการทำหน้าที่ของ สคบ. เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะคุยกันตรงนี้ ประเด็นคือ สคบ. เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ ‘ตัวแทนผู้บริโภค’        เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา ตัวแทนผู้บริโภคก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้บริโภคมีตัวแทนผู้บริโภคที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยตรวจสอบผู้ประกอบการ เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคหรือยัง?        คำตอบคือ ยังไม่มี        ทั้งที่แนวคิดนี้ก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อย่างว่าในประเทศที่รัฐสนใจเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิของผู้บริโภค (และประชาชน) การจะได้ตัวแทนผู้บริโภคย่อมต้องต่อสู้ให้ได้มา ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าเราจะได้เห็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เกิดขึ้น        ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภคแบบเป็นกันเอง ถาม-เส้นทางการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างไรตอบ-แนวคิดเรื่ององค์กรอิสระของผู้บริโภคปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในมิติต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น โดยในมาตรา 57 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค’        10 ปีผ่านไปจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 ยังคงบัญญัติเรื่องนี้ไว้และขยายความเพิ่มเติมให้มีหน้าที่ ‘ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’        เช่นเคย ยังไม่ทันที่องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้อีกครั้งในมาตรา 46 ว่า ‘สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ’        ในที่สุด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังต้องรอคอยถึง 23 ปี ถาม-สภาองค์กรของผู้บริโภคคืออะไร?ตอบ-พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ให้นิยามสภาองค์กรของผู้บริโภคเพียงว่าคือ ‘สภาขององค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้’ ทำให้ต้องดูต่อว่า ‘องค์กรผู้บริโภค’ คืออะไร ซึ่งกฎหมายให้นิยามว่า         ‘องค์กรที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย’         ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภคตามนิยามของกฎหมายมี 2 รูปแบบคือองค์กรที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคก็ได้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร แบบที่ 2 คือนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน ดูเพียงว่าเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า         เมื่อนำนิยามทั้งสองมารวมกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คือสภาที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถาม-อำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคมีอะไรบ้างตอบ-กฎหมายกำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคอำนาจหน้าที่ ดังนี้        1.ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง        2.สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้        3.รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ        4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภค        5.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการด าเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค        6.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล        7.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค แล้วแต่กรณี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความด้วย        8.จัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ถาม-แล้วจะจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-กฎหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขอย่างน้อย 150 องค์กรสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้กับนายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบและประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทั้ง 150 องค์กรที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเรียกประชุมสมาชิกและร่างข้อบังคับสภาภายใน 30 วันนับจากประกาศจัดตั้ง เช่น วัตถุประสงค์ของสภา โครงสร้างการบริหาร การคัดเลือกกรรมการ ข้อบังคับ แนวทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ถาม-ขณะนี้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นหรือยังตอบ-ยัง ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2563 พบว่ามีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันได้ 151 องค์กรที่ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การตรวจสอบเอกสารของนายทะเบียนกลาง พบว่ามี 7 องค์กรที่ต้องแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสาร หากนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงจะประกาศการจัดตั้งสภาองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในภายในปี 2564 นี้ ถาม-ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถทำได้หรือไม่ตอบ-ทำได้ หากเข้าเกณฑ์ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคพบอุปสรรคสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่        ประการแรก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยมองเป็นแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น เช่น บางจังหวัดนายทะเบียนมองว่าองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพหรือคุ้มครองสิทธิ์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ ไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่การรักษาพยาบาลถือเป็นบริการอย่างหนึ่ง        ประการที่ 2 การสร้างภาระขั้นตอนเกินจำเป็น เช่น การจะตั้งองค์กรผู้บริโภคตัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะต้องไปยืนยันตัวตน ณ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนายทะเบียนจังหวัด ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคเกินจำเป็น ทำให้การจดแจ้งมีความยุ่งยาก ทั้งที่ในมาตรา 6 ระบุว่า ‘ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย’        ประการที่ 3 การตีความเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการองค์กรผู้บริโภคที่บางองค์กรเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั่วไป การจะทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ย่อมต้องมีนักวิชาการมาสนับสนุน ประเด็นคือหากกรรมการด้านวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ นายทะเบียนจะตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เนื่องจากนักวิชาการที่มาให้ความเห็นไม่สามารถครอบงำองค์กรได้เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการจะแก้ไขรายชื่อกรรมการและข้อบังคับไม่ใช่เรื่องง่าย การตีความลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถจดแจ้งได้ ถาม-จะป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจสวมรอยเข้ามาเป็นองค์กรผู้บริโภคและจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-เพราะต้องการให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจึงมีการกำหนดคุณลักษณะขององค์กรผู้บริโภคที่จะมีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคในมาตรา 5 ว่าต้องไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง และไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล        บวกกับการมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น การตรวจสอบชื่อกรรมการองค์กรว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทใดหรือไม่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่จากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้มีการร้องคัดค้านหากเห็นว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 5ถาม-ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมตอบ-กรณีการควบรวมกิจการของ CP และเทสโก้ โลตัส ซึ่งทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ควบรวมได้ ทั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาด กรณีเช่นนี้กฎหมายให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคตรวจสอบมติของ กขค. ได้ โดยทำความเห็นได้ว่าลักษณะการควบรวมแบบนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสินค้าและบริการบางประเภท แต่เมื่อ กขค. เห็นชอบให้ควบรวมได้แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคหากเห็นว่ามีผลกระทบ หรือกรณีการแบนพาราควอต สมมติว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากเห็นว่าพาราควอตปลอดภัย มีคำสั่งไม่แบน แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้กันทั่วโลก มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พิสูจน์ได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติได้เช่นกันข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือมีข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ในการทำหน้าที่ในข้อ 1, 2, 3, 7 หรือ 8 ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด ถาม-เราจะตรวจสอบการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-ความรับผิดรับชอบ (accountability) เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกล่าวถึงในมาตรา 17 ว่า        ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตามระยะเวลาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด การประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน หรือในด้านอื่นตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น’        และในมาตรา 18        ‘ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาจขอให้ประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจาได้’ ถาม-เมื่อเกิดสภาผู้บริโภคขึ้นแล้ว ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรตอบ-สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นพื้นที่รวมตัวของสมาชิกองค์กรผู้บริโภค ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองที่มีการรวมกลุ่มและต้องการการสนับสนุนก็สามารถทำเรื่องขอรับการสนับสนุนได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ภารกิจหลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคควรรีบผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วคือการทำให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในทุกจังหวัด จัดการบริการแบบ one stop service ให้แก่ผู้บริโภคในการร้องเรียน ขอข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในไทยมีความเข้มแข็งขึ้นกว่าในอดีต        เพราะในโลกทุนนิยม พลังของ ‘ผู้บริโภค’ คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้ทุนนิยมอ่อนโยนลงกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >