ฉบับที่ 240 ควันหลงการอภิปรายสายสีเขียว ต้องหยุดราคา 65 บาทในการต่อสัมปทาน

        การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวล่วงหน้า 38 ปี  และการประมูลสายสีส้ม เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกี่ยวข้องกับกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภคมากที่สุด         คนอภิปรายไม่ไว้วางใจทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งภาพรวม ช่องว่าง ช่องโหว่ของการทำงานเรื่องนี้ ส่วนคนตอบก็ตอบแบบนิ่มๆ ตรงคำถามหรือไม่ย้อนกลับไปดูกัน ดูจะเป็นเทคนิคการตอบคำถามในการอภิปรายเที่ยวนี้        หากย้อนไปติดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 กรุงเทพมหานครยอมรับการโอนหนี้การก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว จำนวน 51,785,370 ล้านบาท จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กระทรวงคมนาคมคิดตัวเลขหนี้จนถึงวันหมดสัญญาสัมปทาน 76,000 ล้านบาท และได้คำนวณค่าโดยสารที่อัตราต่างกัน เช่น 65 บาท 42 บาท และ 49.83 บาท พบว่า อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return : IRR) ตั้งแต่ 15.02% , 4.47% 9.65% ตามลำดับ โดยใช้จำนวนผู้โดยสารจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)         พบว่า หากคิดราคาค่าโดยสาร 49.83 บาท ตามข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้สูงถึง 380,200 ล้านบาท ทำให้สภาองค์กรผู้บริโภค ได้ทดลองคำนวณเก็บค่าโดยสารที่ราคา 25 บาท โดยยังคงค่าใช้จ่ายเท่าเดิมในการดำเนินการ พบว่า รัฐยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้จำนวน 23,200 ล้านบาท         การคำนวณราคาของกรุงเทพมหานคร เกิดจากการการใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดรวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน โดยใช้ตัวเลขหนี้จำนวน 148,716.2 ล้านบาท (หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 14 กุมภาพันธ์ 64) ทั้งที่กทม.เป็นหนี้เพียง 34,837 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นหนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602 ล้านบาท         มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคตจนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ตั้ง ปี 2562-2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของกทม.เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี         ข้อเสนอสำคัญขององค์กรผู้บริโภค ต้องทำให้ราคาบริการรถไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เขาทำได้         ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากกรุงเทพมหานครต้องยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานทันที และรอผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง ตัดสินใจเรื่องนี้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น หนี้สิน ดอกเบี้ย การคิดค่าจ้างเดินรถ รายได้จากการเดินรถ รายได้จากการพัฒนาสถานี การโฆษณา เป็นต้น         ราคา 65 บาทตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 39.27% ของค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทในกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคยาวนานถึง 38 ปี จนถึงปีพ.ศ. 2602 ทั้งที่เราสามารถทำได้ในราคา 25 บาท         การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าครั้งนี้ นอกจากสร้างภาระให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้บริการรถไฟฟ้าไม่สามารถเป็นบริการขนส่งมวลชนได้จริง ไม่สามารถลดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คาดหวังและชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 235 ขวากหนามสุดท้าย สภาองค์กรผู้บริโภค

        วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ซึ่งพรบ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้ออกแบบให้ปลัด สปน.ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัดในการรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค           องค์กรผู้บริโภคเกิดจากการรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 10 คน ทำงานอย่างเป็นอิสระไม่ใช่องค์กรที่ถูกจัดตั้งทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 2 ปี องค์กรผ่านการประกาศจากนายทะเบียนกลาง จำนวน 150 องค์กร สามารถขอริเริ่มเป็นผู้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ หากมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผ่านการจดแจ้งซึ่งขณะนั้นมีองค์กรผู้บริโภค จำนวน 156 องค์กร  ให้สปน.พิจารณาการจดจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน         คุณศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ไปยื่นคัดค้านว่าองค์กรผู้บริโภคว่า มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 2 ปี หรือไม่ จะเป็นเหตุให้ต้องชะลอการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคหรือไม่ ตามกฎหมายมาตรา 8 เขียนไว้ว่า เมื่อผู้ใดเห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งไว้ มีลักษณะไม่ถูกต้อง ให้มีสิทธิยื่นคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลาง และให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยโดยเร็ว ให้เพิกถอนการรับแจ้ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องและองค์กรของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนกลางให้เป็นที่สุด         ดังนั้นการร้องคัดค้านของคุณศรีสุวรรณ เป็นการร้องคุณสมบัติขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้ง ซึ่งไม่ส่งผลต่อการขอริเริ่มการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค แต่หากองค์กรผู้บริโภคไหนขาดคุณสมบัติ ขณะที่ยังไม่มีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่า จำนวนองค์กรที่ขอริเริ่มครบถ้วน 150 องค์กรหรือไม่ แต่หากการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย สำเร็จภายใน 30 วัน ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที        คุณศรีสุวรรณอ้างว่า หากมีองค์กรผู้บริโภคจำนวนมากขนาดนี้ปัญหาผู้บริโภค น่าจะไม่มี แต่คุณศรีสุวรรณ คงลืมไปแล้วว่า คุณศรีสุวรรณทำเรื่องคอรัปชั่นมานาน? และมีองค์กรหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้มากมาย แต่ปัญหาคอรัปชั่นในประเทศไทยก็ยังเต็มบ้านเต็มเมืองให้พบเห็นได้ ปัญหาของสังคมไทย ชี้ไปที่ไหนก็เห็นหรือพบปัญหา ยิ่งปัญหาผู้บริโภคด้วยแล้ว ยิ่งมีความซับซ้อนรวดเร็วเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การระบาดของโรคโควิด19         เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค หวังว่า ขวากหนามสุดท้ายจะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และสามารถเดินหน้า “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” ตัวแทนของผู้บริโภคในการรักษาผลประโยชน์ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (2)

        อีกบทบาทสำคัญของสภาองค์กรผู้บริโภค คือการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่  โดยช่วยเหลือในการปฏิบัติการในชุมชน เฝ้าระวังการจำหน่ายหรือโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การเฝ้าระวังยาชายแดน หรือการเฝ้าโฆษณาวิทยุที่เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชวนเชื่อให้เข้าใจผิดเรื่องการลดความอ้วน รักษาโรค เสริมสมรรถภาพทางเพศ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงจากโฆษณา  ในทุกวันนี้ เราต้องยอมรับว่าปัญหาผู้บริโภคมีหลากหลาย ลำพังเพียงหน่วยงานรัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงมีความสำคัญในการช่วยสอดส่อง เฝ้าระวัง และรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของผู้บริโภค ในพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคได้ง่าย และองค์กรผู้บริโภคต่างๆ ก็จะทำหน้าที่เก็บข้อมูล ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหา และเอาผลการดำเนินการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนในการทำงานระดับจังหวัดหรือภูมิภาค        อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้บริโภคที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่แสวงหากำไร ดังนั้น รายได้ขององค์กรจึงมาจากเงินบริจาค หรือการขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ  และต้องทำโครงการของงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ ทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องมี สภาองค์กรผู้บริโภคในการให้ความสนับสนุนทั้งในเรื่องงบประมาณและพัฒนาคนทำงาน  ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคก็จะเข้าไปสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ มีคนทำงานที่มีศักยภาพ เช่น สนับสนุนการจัดอบรมพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสิทธิ กฎหมายผู้บริโภคใหม่ๆ พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูล การทำงานเฝ้าระวัง เป็นต้น  และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้บริโภคซึ่งได้รับการช่วยเหลือ อยากนำประสบการณ์และความรู้ของตนเองกลับมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานองค์กรผู้บริโภค ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคก็มีส่วนส่งเสริมให้อาสาสมัครผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นได้รับการพัฒนาศักยภาพความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค เพื่อมาช่วยเหลือผู้บริโภคคนอื่นๆ ต่อไป         แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคมีความล่าช้า เห็นได้จากกฎหมายต้องการเพียง 150 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งมารวมตัวกันเป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค แต่ ณ วันนี้ เวลาผ่านไปกว่า 8 เดือนมีองค์กรผู้บริโภคมากกว่า 1,000องค์กรขอจดแจ้ง แต่มีเพียง 58 องค์กรเท่านั้นที่มีผ่านการจดแจ้งและได้รับการประกาศชื่อเป็นทางการ  จึงเกิดคำถามต่อการทำงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ในฐานะนายทะเบียนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อรับจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค อาจมีคนสงสัยว่ากฎหมายไม่กำหนดกรอบเวลาในการรับจดแจ้งไว้หรือ คำตอบคือไม่ใช่ การรับจดแจ้งกฎหมายกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่านายทะเบียนต้องเร่งดำเนินการพิจารณาคำขอจดแจ้งให้เสร็จภายใน 60 วัน และหากทำไม่ทันสามารถขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน หรือสรุปสั้นๆ คือเต็มที่มีเวลาตรวจสอบนานถึง 4 เดือน แต่ปรากฏว่าจนทุกวันนี้ เวลาที่กฎหมายให้ไว้ก็หมดไปแล้ว หลายองค์กรยังไม่ได้รับการประกาศผลจดแจ้ง หลายองค์กรนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบผ่านแล้ว ส่งชื่อมาให้ สปน.ประกาศ ก็ยังไม่มีการดำเนินการ          บางองค์กรที่ได้รับแจ้งผลว่าไม่ผ่านการจดแจ้ง ก็ถูกตีความกฎหมายในเรื่องการเป็นองค์กรที่ถูกครอบงำหรือจัดตั้งโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ  ซึ่งการตรวจสอบจะพิจารณาจากเพียงการดูว่ากรรมการคนใด มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทที่ไหนบ้าง หรือเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐใดบ้าง ไม่ได้มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมหรือพฤติการณ์ครอบงำหรือได้จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคนั้นอย่างไรบ้าง         นอกจากปัญหาการตีความกฎหมายไปในทางจำกัดสิทธิองค์กรผู้บริโภคของนายทะเบียนที่รับจดแจ้งทั้งส่วนกลางและนายทะเบียนจังหวัดแล้ว พบว่ามีการใช้อำนาจเกินกฎหมาย ในหลายจังหวัดนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบองค์กรและออกหลักฐานรับจดแจ้งไปแล้ว แต่ สปน. กลับตรวจสอบเอกสารหลักฐานซ้ำ และให้ขอให้นายทะเบียนจังหวัดกลับไปตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งที่อำนาจในการตรวจสอบและรับจดแจ้งเป็นของนายทะเบียนจังหวัด สปน.ไม่มีสิทธิและมีหน้าที่เพียงแค่ประกาศชื่อองค์กรที่รับจดแจ้ง ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสร้างขั้นตอนเกินสมควรทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค        จากหลายปัญหาที่กล่าวข้างต้น องค์กรผู้บริโภคก็ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ สปน. ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้ตรวจสอบและเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบของ สปน. รวมถึงการตีความกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิองค์กรผู้บริโภค ร้องเรียนต่อศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภครวมถึงจัดเวทีวิชาการ รวมตัวองค์กรผู้บริโภคไปแสดงเจตนารมณ์ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ สปน.เร่งรัดประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคให้ครบ 150 องค์กรโดยเร็ว          อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความล่าช้าในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค ส่งผลทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้า ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกวัน สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคระดับประเทศเป็นพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ดังนั้น หากมีสภาองค์กรผู้บริโภคเร็วเท่าใด ก็ย่อมสามารถป้องกันปัญหา ยุติ ยับยั้งการละเมิดสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผู้บริโภค         ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสภาองค์กรผู้บริโภคได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงช่วยกันโพสต์ปัญหาผู้บริโภคที่ท่านพบในสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุค อินสตราแกรม หรือทวิตเตอร์ และติดแฮชแท๊ก “สภาองค์กรผู้บริโภค” “สิทธิผู้บริโภค”  

อ่านเพิ่มเติม >