ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >