ฉบับที่ 261 คดีแพ้ คนไม่แพ้ ตีแผ่ฟิตเนสเอาเปรียบผู้บริโภค

        “นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเจ้าปัญหา แต่เป็นเรื่องว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคในการรับบริการ ถ้าเราชำระเงินค่าบริการครบถ้วนแล้ว เราได้รับบริการที่ครบถ้วนตามนั้นหรือไม่ เมื่อผมเห็นว่าไม่ได้ ผมสมัครได้ก็เลิกได้สิครับ”         ด้วยความคิดนี้ คุณจตุพล ปัทม์วิชัยพร จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลผู้บริโภคว่าเขาถูกละเมิดสิทธิจากฟิตเนสแห่งหนึ่งซึ่งเขาเป็นสมาชิกรายปีอยู่ ในกรณีที่ฟิตเนสปฏิเสธการขอยกเลิกสมาชิกของเขา         ถึงแม้ในวันนี้เขาจะแพ้คดี แต่เขายังคงเชื่อมั่นในพลังของผู้บริโภค และยินดีมาคุยกับ “ฉลาดซื้อ” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้เท่าทันการถูกเอาเปรียบจากธุรกิจฟิตเนส สมัครเป็นสมาชิกฟิตเนสนานแค่ไหน แล้วทำไมถึงจะขอยกเลิก         ตั้งแต่ปลายปี 2561 ผมสมัครสมาชิกประเภทรายปี คือชำระเงินในวันแรกที่สมัครเต็มจำนวน แล้วก็มาเล่นให้ครบหนึ่งปี พอเข้าปีที่สองตอนจะต่ออายุทางฟิตเนสแจ้งว่าเขาเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนชื่อใหม่ สัญญาที่เซ็นครั้งที่สองก็เลยเป็นชื่อของที่ใหม่ เริ่มประมาณสัญญาใหม่เดือนมกราคม ปี 2563 พอดีมีการระบาดของโควิดเข้ามาช่วงกุมภาพันธ์ ต่อมารัฐบาลก็สั่งล็อคดาวน์ ฟิตเนสก็ต้องปิด พอเริ่มผ่อนคลายให้เปิดได้บางช่วง ผมก็ไปใช้บริการอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะปิดอีกในช่วงตุลาคมแล้วยาวเลย เพราะโควิดระบาดหนักมาก         ฟิตเนสกลับมาเปิดได้ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ผมก็มาออกกำลังกาย แต่ว่าบริการต่างๆ ตามที่ตกลงกันไว้ถูกตัดออกไปหมด ทั้งห้องซาวน่า (ห้องอบไอน้ำ) คลาสโยคะ คลาสออกกำลังกายก็ไม่เปิด เปิดเฉพาะส่วนยกน้ำหนัก ลู่วิ่ง ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะต้องให้บริการอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าช่วงนี้ยังไม่พร้อม ผมก็บอกว่าถ้าคุณจะทำอย่างนี้ คุณต้องมีมาตรการชดเชยให้ลูกค้านะ ก็คือว่าคุณมาเปิดแล้ว แต่คุณให้บริการไม่ครบ คุณต้องมีอย่างอื่นมาตอบแทน ผมก็ต่อว่าไป เจ้าหน้าที่เขาก็เถียงว่าไม่ใช่เจ้าของ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ผมก็ขอคุยกับเจ้าของ เขาก็เลี่ยงไม่ให้เจ้าของมาเจอผม พอผมเข้าไปที่ฟิตเนส เขาก็ทำเฉยกัน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่พอใจ         แล้วผมก็ยังกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดจากลูกค้าท่านอื่นที่มาใช้บริการด้วย เพราะไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย แล้วบางทีเขาก็ให้เข้ามาโดยไม่ได้วัดอุณหภูมิ ไม่ได้ตรวจอะไร ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งคือพอผมมาออกกำลังกายแล้วผมใส่หน้ากากอนามัย ผมก็หายใจไม่สะดวกด้วย ทีนี้ผมก็บอกเขาไปว่าจะขอยุติไว้เท่านี้ ส่วนที่เล่นไปแล้วก็ให้จ่ายเงินตามปกติ เพราะผมให้เงินไปแล้ว แต่ส่วนที่ผมไม่มาเล่นจะขอคืนตามสัดส่วนไป ก็พูดกันตรงๆ อย่างนี้เลย แล้วทางฟิสเนสตอบกลับมาว่ายังไงบ้าง         เจ้าหน้าที่เขาก็พูดว่าจะขอแจ้งเจ้าของก่อน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เขาจะซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ จนดูว่าเริ่มไม่จริงใจกับสิ่งที่ผมเรียกร้องไปแล้ว ผมก็บอกไปว่าขอหยุดวันนี้เลยแล้วกัน คุณมีเอกสารใบลาออกหรือใบอะไรไหม ผมจะเขียนเลยว่าขอคืนเงิน ขอยุติ เขาก็บอกว่าไม่มี ผมก็เลยบอกว่าผมพูดปากเปล่าวันนี้เลยนะว่าผมหยุดตั้งแต่วันนี้ แล้วผมจะทำหนังสือมาให้คุณเซ็น ผมก็กลับไปทำหนังสือมาให้เซ็น เขาก็ยังไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่เราเตรียมไปให้ แค่ลงชื่อว่ารับเรื่องไว้เท่านั้น พออีกประมาณสองอาทิตย์ ผมก็เข้าไปตามเรื่อง เขาก็มีหนังสือปฏิเสธว่าไม่ให้ยกเลิกมา อ้างว่าผมกลัวโควิดไปเองอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลเขาให้เปิดแล้วคุณก็ต้องมาเล่น แต่ว่าเขาไม่ได้ดูไงว่าคนที่เขามาเล่นจริงๆ เขาได้รับผลกระทบอย่างไร         ผมก็เลยบอกว่าสัญญาที่เราเซ็นกันไว้คือตกลงกันในสถานการณ์ปกติ แต่วันนี้มีโควิดแล้วไปต่อไม่ได้ในการที่จะออกกำลังกายในสถานการณ์อย่างนี้ ทิ้งไปเลยก็เสียเงินฟรี คุณได้ผลประโยชน์ ผมเสียประโยชน์ ก็ต้องยุติกันไว้ เขาก็ไม่ยอม ผมก็เลยต้องไปฟ้องศาลผู้บริโภค แล้วทำไมเลือกไปฟ้องศาลผู้บริโภค         ผมได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าลองมาใช้บริการช่องทางนี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วผมก็ลองค้นหาจากอินเทอร์เน็ตดู เขาก็จะพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่าศาลผู้บริโภคเขาค่อนข้างอยู่ข้างผู้บริโภค มีอะไรเรามาทางนี้ดีกว่า ถ้ามีความจริงใจ มีปัญหา ตรงไปตรงมา ก็มาเคลียร์มาพิสูจน์กันที่นี่ ก็เลยไปยื่นเรื่องที่นี่ ซึ่งพอผมเข้ากระบวนการต่างๆ แล้ว ผลออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้บริโภคคาดหวัง ในด้านของคำตัดสินต่างๆ แล้วก็การยกเลิก ก็สรุปว่ายกเลิก (สัญญา) ไม่ได้ ที่ศาลผู้บริโภค ไปดำเนินการคนเดียวเลย        ผมก็ไม่เคยขึ้นศาล ผมติดต่อสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทางไลน์ เขาให้ผมส่งเอกสารข้อมูลเพื่อทำสำนวนคำฟ้อง ต่อไปก็เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ผมก็ไม่รู้ว่าบทบาทของศาลในกระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร แต่เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วทางฝ่ายฟิตเนสเข้าไม่ยอมคืนเงิน ผมเห็นว่าทางผู้ประกอบการเขาจ้างทนายมา แล้วเขาคงมองว่าไม่แพ้หรอกคดีอย่างนี้ เพราะถูกรัฐบาลสั่งปิดไม่ได้อยากหยุดเอง ตัวผมเองก็ไม่ได้โทษรัฐบาลที่สั่งปิด ที่ผมยกเลิกเพราะว่าคุณเปิดแล้วบริการไม่เหมือนเดิม ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก และประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ อันนี้คือประเด็น ผมก็ไม่รู้ว่าไปตีความกันอย่างไร ไปโทษเป็นทำนองว่าผู้บริโภคเจ้าปัญหา หาเรื่อง เรื่องแค่นี้มาขึ้นศาลทำไม ตอนที่ไปขึ้นศาล ต้องมีทนายฝั่งเราไหม หรืออย่างไร         เขาบอกว่าศาลนี้เหมือนเป็นศาลพิเศษ คือเป็นศาลผู้บริโภค เป็นคดีผู้บริโภค เขาบอกว่าผู้บริโภค คุณไม่ต้องไปจ้างทนาย คุณมาที่นี่แล้วเดี๋ยวเขาจะมีคนร่างคำฟ้องให้คุณ ตอนแรกผมก็ว่าดีนะ คือได้ช่วยผู้บริโภคจริงๆ แต่พอไปเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่ไง กลายเป็นผมไม่รู้เรื่องไปเลยและไม่มีคนแนะนำด้วย พอผมจะถามเพื่อขอคำแนะนำ เขาโยนไปทนายอาสา ไปถามทนายอาสา คุยกันเอาเอง ที่นี่คือทำสำนวนให้แล้วก็จบแค่นี้ แล้วไม่เกี่ยวอะไรแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคุณแล้ว ไม่ได้แจ้งอะไรผมเลย เขาไม่ได้ยุ่งอะไรกับผมด้วย เขาให้เราไปขึ้นศาล ผมก็ไปแบบไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่มีทนาย ก็ไปพูดเอง สืบเอง เตรียมเองหมด แต่ผมก็มองว่าไม่น่าจะยาก เพราะว่าผมก็เชื่อว่าผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือไปประเด็นแค่นี้ ไม่ได้ไปหาเรื่องอะไรใคร ผมก็เขียนไปชัดเจนแล้ว หลักฐานเราก็มีหมด ปัญหาที่ผมไปร้องคือ คุณเปิดแล้ว ผมไปใช้บริการแล้ว แต่ไม่ได้เป็นบริการตามที่ตกลงกัน อันนี้คือประเด็น ผมไปศาลเพราะเรื่องนี้ นอกจากศาลผู้บริโภคแล้วได้ไปที่อื่นอีกไหม หรือจบแค่นี้         ผมมาตรงนี้ ผมไม่ได้ต้องการมาเอาแพ้ชนะ ผมต้องการสิทธิผู้บริโภค ให้เห็นว่าเขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคเสียหายอย่างไร คือมาร้องกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เห็นว่ามีเรื่องอย่างนี้นะ ในประสบการณ์ตรงนี้ผมจึงคิดว่าผมมาทางช่องทางของผู้บริโภคดีกว่า         ศาลตัดสินอย่างไรไม่เป็นไร ผมจบตรงนั้นไป ผมมาให้ความรู้ผู้บริโภคดีกว่า ให้ระวังป้องกัน แล้วเดี๋ยวจะเกิดมาตรฐานเอง เพราะผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ถ้าเขารู้ว่าผู้บริโภครู้ทันแล้ว เขาจะมาหลอกก็หลอกไม่ได้ เมื่อหลอกไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ไม่เปลี่ยนคุณก็ต้องเจ๊ง ต้องปิดกิจการไปเพราะว่าเขาอยู่ไม่ได้ นี่คือให้ผู้บริโภคเป็นผู้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปวิ่งเรื่องกฎหมายเรื่องอะไร ไม่มีประโยชน์ แนะนำให้ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร         หนึ่ง-ถ้าไม่จำเป็น อย่าทำสัญญาลักษณะที่จ่ายเงินก่อนแล้วมาผ่อนรับบริการทีหลัง และอย่าไปจ่ายผ่านบัตรเครดิต คุณรูดเต็มจำนวนไป เขารับเงินไปแล้ว แต่ว่าคุณไปเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกต่อ คือเขาจะพยายามดำเนินธุรกิจที่ได้เปรียบเรา ในด้านของการรับเงินก่อนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องระวังไว้ก่อนว่า ตรงนี้คุณจะเดินเข้าไปสู่ทางที่เสียเปรียบ         สอง-เรื่องสัญญา ก่อนจะลงชื่อต้องดูให้เรียบร้อย ถ้าเห็นจุดไหนที่เสียเปรียบ ไม่ต้องเซ็น แต่หากอยากสมัครจริงๆ ก็ต้องมีสัญญาพ่วง (สัญญาพ่วง หมายถึง สัญญาที่ผู้บริโภคร่างเตรียมไปเองเพื่อให้สถานประกอบการลงนาม) ระบุให้ละเอียดเลยว่ามีเครื่องออกกำลังกายตัวไหน ณ วันที่ออกกำลังกายกัน คลาสออกกำลังกาย ห้องออกกำลังกายอะไรพวกนี้ มีบริการอะไรบ้าง เขียนให้ครบถ้วนเลย แล้วถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าคุณผิดสัญญากับเรา เรามีสิทธิบอกเลิกได้ อันนี้เป็นสัญญาของเรา ให้เขาเซ็นไว้เลย อย่าไปเซ็นฝ่ายเดียวเพราะถ้าเซ็นของเขา เขาจะเขียนเฉพาะประโยชน์ของเขา เช่น ไม่คืนเงินให้ ยกเลิกสัญญาไม่ได้ บริการต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถ้ามีปัญหาอะไรในการใช้บริการทางสถานบริการจะไม่ขอรับผิดชอบใดๆ คือเขาจะเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเดียว ผู้บริโภคไม่ได้อะไร         คือถ้าคุณเซ็นให้เขา เขาต้องเซ็นให้คุณด้วย แล้วคุณต้องรู้ว่าผู้บริหารของเขาชื่ออะไร เวลาที่คุณเอาสัญญาของคุณไปให้เขาเซ็น เขาจะต้องเซ็นโดย หนึ่ง-ลงนามพร้อมประทับตรา สอง-แนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัทอายุไม่เกิน 6 เดือนมาด้วย ให้เราไว้ชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อันนี้จะเป็นทางที่ช่วยได้ เพื่อให้เวลามีปัญหาในอนาคตจะได้มีทางออกว่า คุณก็ตกลงกับฉันไว้แบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นสัญญาทางเดียว         สาม-แนะนำให้สมัครเป็นรายเดือน คือผู้ประกอบการเขาอยากได้รายปี อยากได้หลายๆ ปีเพราะเขาอยากได้เงินก้อนเยอะๆ แต่อย่างที่ผมบอกคือผู้บริโภคเสียเปรียบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นอย่างมากที่สุดคือชำระเป็นรายเดือน เดือนนี้ขอเล่นก่อน สมมติเล่น 1 มกราคม ถึง 30 มกราคม วันที่ 30 ค่อยจ่ายเงิน พยายามให้เป็นแบบนี้ให้ได้ ถ้าจะขอยกเลิกต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน อย่าเป็นลักษณะทุ่มเงินก้อนระยะยาว เพราะพวกนี้ถ้าหนีไปแล้วคุณตามไม่ได้เลย มีโดนมากันเยอะแล้ว ฝากตรงนี้ให้ระมัดระวัง         สุดท้าย พอหลังจากผมไปฟ้องศาลผู้บริโภคได้ไม่นาน เจ้าของฟิตเนสเขาก็ขายกิจการทิ้งเลย คือ นิสัยของผู้ประกอบการอย่างนี้ลูกค้าก็ขยาดหมด เขาก็เข็ด คุณบริการไม่เต็มที่ เขาจะเลิกก็เลิกไม่ได้ แต่เงินของลูกค้าคุณก็เก็บไปเต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว อย่างนี้ก็ทำให้ลูกค้าเขาก็หนีกันหมด ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้นในธุรกิจนี้ในวงการนี้ ปากต่อปากลูกค้าก็หายหมด         “ผมว่าพลังผู้บริโภคอย่างของมูลนิธิฯ หรือว่าสภาฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกเลยนะ สำคัญกว่าทุกองค์กรของภาครัฐด้วยซ้ำ เพราะว่าผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญและเป็นหลักของการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจเขาอยู่ได้เขาต้องมีลูกค้า มีผู้บริโภค แล้วการปฏิบัติของผู้บริโภคจะสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบธุรกิจเอง”

อ่านเพิ่มเติม >